ผู้สื่อข่าวเป็นเพียงองค์ประกอบของการทำข่าว


เพิ่มเพื่อน    

    กรณีหมูป่าและโค้ชรวม 13 คนติดอยู่ในถ้ำ ถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์วิกฤติที่ประชาชนสนใจติดตามการกอบกู้สถานการณ์กันอย่างใกล้ชิด ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ การตั้งศูนย์บัญชาการด้านการค้นหาและช่วยเหลือเด็กๆ ออกมาจากถ้ำอย่างปลอดภัยนั้น ต้องยอมรับด้วยความชื่นชมว่าคณะทำงานทำงานได้ดีมาก ภายใต้การนำของอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ที่ปัจจุบันเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ด้วยความสามารถและน้ำใจของผู้ที่เข้ามาช่วยเหลือ ทั้งด้านเทคนิคและด้านบริการอื่นๆ ที่ทำให้ชาวโลกทึ่งทั้งความสามารถ ความมีน้ำใจ ความรักสามัคคี และความมุ่งมั่นของทุกฝ่ายที่ร่วมมือกันในการจะนำเอาเด็กๆ ออกจากถ้ำอย่างปลอดภัย และในที่สุดเด็กๆ ก็ได้ออกมาจากถ้ำอย่างปลอดภัย ไม่เพียงแต่ความสำเร็จในการช่วยเหลือเด็กๆ เท่านั้น ยังมีการทำงานเชิงรุกในการวางแผนเยียวยาเด็กๆ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ หลังจากที่เด็กๆ ออกจากถ้ำ จนบัดนี้เด็กๆ ต่างก็พ้นขีดอันตราย มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี เพราะแผนงานที่ดีตั้งแต่ความพยายามที่จะช่วยเหลือนำเด็กออกมาจากถ้ำ การเยียวยาดูแลฟื้นฟูร่างกายและจิตใจเด็กหลังจากออกมาจากถ้ำ และความมุ่งมั่นในการจะช่วยให้เด็กกลับคืนสู่ชีวิตปกติโดยไม่มีบาดแผลในใจ ไม่รู้สึกว่าพวกเขาเป็นคนผิด และในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ฮีโร่ที่จะหลงละเลิงไปกับชื่อเสียงและความนิยมของสังคม
    ในขณะที่ฝ่ายปฏิบัติการช่วยนำเด็กๆ ออกมาจากถ้ำได้รับความชื่นชมจากสังคมทั่วโลกในระดับสูง ทั้งผู้นำประเทศต่างๆ ดารา นักร้อง นักกีฬาทั้งไทยและเทศ แต่สื่อมวลชนกลับสอบตก โดนต่อว่าต่อขานหลายเรื่อง ทั้งในด้านการทำงานและการนำเสนอข่าว การตำหนิสื่อปรากฏอย่างชัดเจนบนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ ประเด็นการต่อว่ามีมากมาย เช่น เข้าไปในสถานที่ต่างๆ ที่ไม่ควรจะเข้าไป ถืออภิสิทธิ์อย่างไม่เหมาะสม เกะกะขวางทางการทำงานของเจ้าหน้าที่ในขณะกำลังปฏิบัติงาน พยายามสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ในขณะกำลังทำงานอย่างไม่รู้กาลเทศะ นำเสนอข่าวล้ำหน้าฝ่ายปฏิบัติการ ด้วยการนำเสนอเรื่องที่เขายังไม่ต้องการเผยแพร่ มีข่าวหลอก ข่าวลวง ข่าวไม่จริงที่เกิดขึ้นจากความจงใจบ้าง ไม่รู้จริงบ้าง พยายามที่จะได้ข่าว exclusive ที่ไม่เหมือนใคร จึงมีวิธีการหาข่าวที่ไม่เหมาะสม เน้นความรวดเร็วในการนำเสนอ ข่าวจึงขาดการตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง ต้องการได้ข่าวลึกกว่าคนอื่น ทำให้การหาข่าวบางเรื่องก็เป็นการละเมิดสิทธิ์ของคนอื่น วิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เห็นตามความรู้สึกนึกคิดของตน ถูกบ้าง ผิดบ้าง เพราะไม่มีความรู้จริง ให้ความสำคัญกับการแข่งขันสร้างความนิยม (rating) จนลืมจรรยาบรรณ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ไม่ได้หมายถึงสื่อมวลชนทุกคน แต่เป็นเรื่องของสื่อมวลชนบางคน บางราย บางสำนักเท่านั้น (ย้ำ บางคน บางสำนักเท่านั้น ไม่ได้เหมารวม ใครไม่ได้เป็นอย่างที่ว่าไม่ต้องเดือดร้อน ถ้าคุณไม่ได้เป็นเช่นที่ว่า คนที่เขาว่าก็คงไม่ได้ว่าคุณ)
อย่างไรก็ตาม ปัญหาของการทำข่าวที่มีการประเมินกันว่าสื่อสอบตกนั้น จะโทษผู้สื่อข่าวแต่เพียงฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ เพราะพวกเขาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบและกระบวนการในการทำข่าว และพวกเขาก็ต้องการสร้างผลงานให้โดดเด่น จะบอกว่าการเกิดวิกฤติครั้งนี้อาจจะเป็นโอกาสในการแจ้งเกิดของพวกเขาก็ได้ ถ้าหากว่าเขาได้โผล่หน้าจอบ่อยๆ และสามารถเล่าข่าวต่างๆ ในลักษณะที่เป็นข่าว exclusive ที่แตกต่างไปจากการนำเสนอของสื่ออื่นๆ หากเราจะมาถอดบทเรียนจากการทำข่าวของสื่อมวลชนในครั้งนี้ เราคงต้องมองรอบด้าน อย่าโทษผู้สื่อข่าวแต่เพียงข้างเดียว ต้องเริ่มต้นตั้งแต่ขณะทำงานที่จะต้องกำหนดให้มีศูนย์สื่อ ทำให้เป็นพื้นที่ในการทำงานของสื่อ มีการกำหนดชัดเจนว่าสื่อมวลชนสามารถเข้าพื้นที่ไหนได้บ้าง และพื้นที่ไหนไม่ได้ มีการกำหนด Spokesperson ที่ไม่ได้แปลว่าโฆษกที่ทำหน้าที่แถลง แต่เป็นผู้ที่ควบคุมกระแสข่าว (Control the flow of information) กำหนดว่าเรื่องอะไรพูดได้ หรือพูดไม่ได้ เรื่องแต่ละเรื่องนั้นจะให้ใครเป็นผู้แถลง และจะแถลงเวลาใด ผ่านช่องทางใด เพื่อให้ผู้สื่อข่าวได้เนื้อข่าวที่ถูกต้องในการนำเสนอแก่สาธารณชน นอกเหนือจากการกำหนดพื้นที่ของสื่อมวลชน การแถลงข่าวอย่างเป็นทางการแล้ว ยังต้องมีการสนับสนุนด้านอุปกรณ์และเครื่องมือในการทำข่าว เช่น สัญญาณโทรศัพท์ WiFi เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องแฟกซ์ ทีวีวงจรปิดที่ทำให้พวกเขาได้เห็นการทำงาน ณ จุดต่างๆ เพื่อให้พวกเขารู้สึกว่าเขาได้รับรู้ความก้าวหน้าของฝ่ายปฏิบัติการ หากไม่มีศูนย์ดังกล่าว และไม่มีระบบและกระบวนการดังกล่าว ผู้สื่อข่าวย่อมดิ้นรนหาข่าวทุกวิถีทาง แล้วก็จะเกิดพฤติกรรมอย่างที่เห็นกัน
    ผู้บริหารสื่อวางนโยบายอย่างไร ออกคำสั่งอย่างไร ถ้าหากออกคำสั่งให้ทำข่าวแบบ investigative คือสืบค้นให้แน่ใจก่อนว่าถูกต้องแล้วนำเสนอ ให้ความสำคัญกับความถูกต้องมากกว่าความเร็ว ข่าวต่างๆ ที่ออกมาน่าจะถูกต้องแม่นยำ ไม่มีความผิดเพี้ยน ในขณะเดียวกันได้มีนโยบายในการกำชับการทำงานของผู้สื่อข่าวหรือไม่ว่าอย่าวิ่งหาข่าวจนรบกวนการทำงานของคนอื่น อย่ากีดขวางการทำงาน อย่าละเมิดสิทธิ์ของใครในการหาข่าว พวกเขาก็คงไม่ทำข่าวที่จะต้องเจาะลึกเกินความพอดี ฝึกอบรมผู้สื่อข่าวในการตั้งคำถาม ไม่ควรถามคำถามที่สร้างความรู้สึกเจ็บปวดให้แก่คนที่ถูกถาม ไม่ควรถามคำถามที่น่าจะรู้คำตอบอยู่แล้ว ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากผู้บริหารวางนโยบายที่จะต้องให้ผู้สื่อข่าวทั้งหลายต้องทำข่าวให้ลึกและเร็ว ผู้สื่อข่าวทั้งหลายที่พยายามจะตอบสนองนโยบายก็คงจะมีการหาข่าว และพยายามสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานครั้งนี้อย่างไม่รู้จักกาละและเทศะ รวมทั้งการเข้าไปในพื้นที่บางแห่งที่กีดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่
    นอกจากนั้นแล้ว คนอ่านข่าวที่สถานีก็อยากจะมีส่วนร่วมในการได้เสนอข่าว exclusive ก็มักจะโยนไปที่จุดเกิดเหตุ และขอให้ผู้สื่อข่าวที่อยู่ในพื้นที่รายงานสดสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในลักษณะที่เป็น reality show เมื่อมีการโยนไป ผู้สื่อข่าวก็ต้องทำหน้าที่หาเรื่องราวอะไรบางอย่างมาเล่า ความพยายามดังกล่าวนี้ก็ถูกที่ ถูกเวลา ถูกเรื่อง แต่บางอย่างก็ผิดที่ ผิดเวลา และไม่ถูกเรื่อง การวิพากษ์สิ่งที่ตนเองเห็นว่ากำลังเกิดขึ้นก็ถูกบ้าง ผิดบ้าง เพราะมีความรู้อยู่อย่างจำกัด ก็จะตีความและอธิบายสิ่งที่เห็นไปตามความเข้าใจของตนเอง หากใครติดตามดูข่าวหลายช่องก็จะสับสนไม่น้อย เพราะบางทีข้อเท็จจริงก็ไม่ตรงกัน บางทีการวิเคราะห์เรื่องเดียวกันก็ไม่ตรงกัน
    หากจะแก้ไขคงต้องแก้ทั้งฝ่ายปฏิบัติการที่ต้องตั้งศูนย์สื่อเหมือนอย่างที่ทำกันใน 3-4 วันหลังก่อนที่หมูป่าจะออกจากถ้ำ ฝ่ายบริหารของสื่อ คนอ่านข่าวที่สถานี และผู้สื่อข่าว เราจึงจะเห็นการทำงานด้านการข่าวในภาวะวิกฤติที่ดีกว่าครั้งนี้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"