'ป.ป.ช.'ฟุ้่งเมินงานเล็ก  จากนี้จับคดีใหญ่เท่านั้น 


เพิ่มเพื่อน    

    ป.ป.ช.ยุคใหม่ เล็กไม่ ใหญ่ๆ ทำ "วัชรพล" เผยต่อไปจะทำเฉพาะคดีสำคัญๆ ที่สังคมให้ความสนใจ เร่งรัดจากนี้ 1 ปีคดีจบ ชี้กฎหมายใหม่ทำให้งานของ ป.ป.ช.มีผลสัมฤทธิ์มากขึ้น ตรรกะนรก! "โอ๊ค" งอแงไม่พอใจ "มีชัย" บอกตำรวจอารักขาอดีตนายกฯ ได้ แต่ต้องไม่ติดคดี แขวะเขียนใน รธน.ห้ามชินวัตรเล่นการเมือง ห้ามอารักขา จบ
    เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ความว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 28 มาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 37 และมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ 
    เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา
         ทั้งนี้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มีทั้งสิ้น 200 มาตรา ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป โดยมีสาระสำคัญในการดำเนินคดีอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดี หรือระหว่างการพิจารณาของศาล มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ, คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีวาระดำรงตำแหน่ง 7 ปี 
    พร้อมกำหนดกรอบการทำงานที่จำเป็นต้องมีการไต่สวน ต้องไต่สวนและมีความเห็นหรือวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนด ซึ่งต้องไม่เกินสองปีนับแต่วันเริ่มดำเนินการไต่สวน
    พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า สำนักงาน ป.ป.ช.จะเตรียมร่างอนุบัญญัติกว่า 50 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพราะในกฎหมายใหม่บริบทการทำงานของ ป.ป.ช.จะเปลี่ยนไป โดยจะกำหนดกรอบระยะเวลาการทำงานที่เร่งรัดมากขึ้น จึงต้องมีกลไกในการควบคุมดูแล รวมถึงต้องมีระเบียบที่เกี่ยวกับความร่วมมือเกี่ยวกับทางราชการ 
    เช่น กรณีที่ข้าราชการไม่ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินกับป.ป.ช. ก็จะต้องยื่นกับผู้บังคับบัญชา พร้อมกันนี้กฎหมายใหม่เปิดโอกาสให้มอบหมายให้หน่วยงานอื่นไปดำเนินการ หากไม่ใช่เรื่องสำคัญและไม่มีผลกระทบต่อวงกว้าง ซึ่ง ป.ป.ช.สามารถที่จะทำเฉพาะเรื่องใหญ่ๆ ที่สังคมให้ความสนใจ
    พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องกรอบระยะเวลาที่ ป.ป.ช.จะต้องดำเนินการในคดีต่างๆ ไม่เกิน 2 ปีนั้น ยอมรับว่าจะมีปัญหากับการดำเนินงานบ้าง โดยเฉพาะคดีที่ยังค้างคาอยู่ ซึ่งจะส่งผลให้เจ้าหน้าที่กดดันกลัวจะทำคดีไม่ทัน 
    "เรื่องนี้ถือว่าไม่ได้เป็นปัญหามากนัก เพราะหากเจ้าหน้าที่สามารถชี้แจงได้ว่าทำคดีล่าช้าด้วยเหตุผลใด ก็ไม่ถือว่าเป็นปัญหา ทั้งนี้ ในอดีตบางเรื่องไม่ถูกหยิบยกมาพิจารณา แต่นับจากนี้ทุกเรื่องจะต้องถูกยกมาพิจารณาทั้งหมด แม้งาน ป.ป.ช.จะหนักขึ้นก็ตาม วันนี้เรามีการตั้งเป้าว่า ภายใน 1 ปี ซึ่งจะมีคดีอะไรบ้างที่ต้องพิจารณาให้เสร็จ เพื่อให้การติดตามการทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมั่นใจว่าหลังจากกฎหมายใหม่ออกมา งานของ ป.ป.ช.จะมีผลสัมฤทธิ์มากขึ้น" ประธาน ป.ป.ช.กล่าว 
    หลังนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร ทวีตข้อความถึงกรณีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดจัดระบบตำรวจติดตามบุคคลสำคัญว่า "สำหรับคนระดับนายกรัฐมนตรี แม้จะพ้นตำแหน่งไปแล้ว ก็ควรต้องมีตำรวจอารักขา เพราะถือว่าเป็นเกียรติ แต่อดีตนายกฯ คนนั้นจะต้องไม่มีคดีติดตัว ส่วนใครบ้างที่เป็นอดีตนายกฯ แล้วสมควรมี ก็ให้ ครม.ตัดสิน"
     โดยนายพานทองแท้ทวีตข้อความว่า "โถ่พี่ พูดงี้ระบุตัวไปเลยเหอะ ตั้งแต่ รธน.ล่ะ ห้ามชินวัตรเล่นการเมืองเลิกแล้วห้ามอารักขาจบ"
       ทันทีที่ข้อความทวีตของนายพานทองแท้เป็นข่าวเผยแพร่ใน LINE TODAY ได้มีผู้เข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่วิพากษ์วิจารณ์โจมตีนายพานทองแท้, นายทักษิณ และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างรุนแรง!
    ด้านนายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต่อต้านการคอร์รัปชัน โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก วิพากษ์วิจารณ์เครือข่ายรัฐบาล คสช.อย่างต่อเนื่อง โดยโพสต์โจมตีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ว่า "เขียนกฎหมาย ก็เขียนเปิดช่องไว้ ตีความก็ช่วยกัน ในรัฐธรรมนูญยังเขียนยกเว้นโทษเอาไว้ล่วงหน้า พวกคุณทำอะไรก็ได้ ไม่เป็นความผิด แต่คนอื่นทำไม่ได้ ผิดหมด verybad rayam จริงๆ"
    นายวีระยังโพสต์ถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ว่า "ทราบว่า พล.อ.ประวิตร เคยผ่านการอบรมลูกเสือสามัญ เมื่อครั้งเรียน วปอ. คุณยังจำคำปฏิญาณและกฎของลูกเสือสามัญได้หรือไม่? ที่สำคัญคุณมีเกียรติเชื่อถือได้หรือไม่?"
     นอกจากนี้ นายวีระได้นำเอาคำให้สัมภาษณ์ของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ที่ระบุว่า "สำนึกบาป กฎหมายที่ออก ไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เพราะตกอยู่ในมือคนที่มีภาวะโลภ โกรธ หลง มีพรรคพวกและวัฒนธรรมแบบไทยๆ" มาโพสต์ด้วยว่า "แต่กว่าจะสำนึกบาปได้ คุณมีชัยก็ได้ทำบาปอย่างมหันต์ กฎหมายของคุณ ได้สร้างความไม่เป็นธรรมให้แก่ประชาชน คุณมีชัยจะรับผิดชอบการกระทำของคุณอย่างไร แค่รู้สึกสำนึกบาปคงไม่เพียงพอหรอกนะ" 
    นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กว่า  "ณ เวลานี้ คงเห็นได้ว่างานเข้าเผด็จการหลายเรื่อง เช่น เรื่องป่าแหว่ง เรื่องนาฬิกา เรื่องใช้ไอ้เณรเลี้ยงไก่และไปรับใช้โหร เรื่องเร่ดูดนักการเมืองที่...(คิดเอาเองได้เลยนะ) ซึ่งแสดงว่า งานพวกมันล้มเหลว เพราะพวกมันบริหารไม่เป็นจนเกิดปัญหาเศรษฐกิจ และเวลาของมันใกล้หมดแล้ว ในที่สุดพวกมันจะแพ้ไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"