เร่งส่งถุงยังชีพช่วยลาว ทุกจว.ตั้งศูนย์รับบริจาค


เพิ่มเพื่อน    

    เขื่อนลาวแตกลาม! น้ำทะลักเข้าชายแดนกัมพูชาจนต้องอพยพด่วน คาดกว่า 5 พันครอบครัวได้รับผลกระทบ “พระองค์ภา” ประทานถุงยังชีพ 1,000 ชุด ทอ.เตรียมขนขึ้นซี 130 ไปมอบในวันศุกร์ “บิ๊กตู่” ชี้ประเทศในอาเซียนไม่ทิ้งกันยามยาก เชื่อสถานการณ์คลี่คลายเร็ว ไทยพร้อมช่วยเหลือช่วงฟื้นฟูทุกด้าน กองทัพรอ กต.ประสานงาน สปป.ลาวว่าอยากได้อะไร   
เมื่อวันพฤหัสบดี สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานความคืบหน้าเหตุการณ์เขื่อนโครงการโรงไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อย ที่เมืองสนามไชย แขวงอัตตะปือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) แตก ว่าล่าสุดคร่าชีวิตชาวลาวอย่างน้อย 27 คนและทำให้สูญหายอีก 131 คน นอกจากนั้นน้ำปริมาณมหาศาลที่ได้ไหลบ่าเข้าท่วมหลายหมู่บ้านท้ายน้ำในจังหวัดอัตตะปือของลาว กำลังไหลบ่าลงใต้เข้าสู่ประเทศกัมพูชา ซึ่งมีชายแดนติดกัน ทำให้ทางการกัมพูชาต้องเร่งอพยพชาวบ้านหลายพันคนหนีน้ำ 
    รายงานเอเอฟพีอ้างคำกล่าวของโฆษกรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดสตึงแตรงของกัมพูชาว่า ระดับน้ำยังคงสูงขึ้น จึงต้องอพยพชาวบ้านเพิ่มเติม 
    ขณะที่สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานว่า มีหมู่บ้าน 17 แห่งใน 4 ตำบลของ อ.เสียมปาง จ.สตึงแตรง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชา กำลังได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำที่ไหลมาจากลาว รายงานอ้างคำกล่าวของเขียว วี โฆษกคณะกรรมการจัดการภัยพิบัติแห่งชาติของกัมพูชาว่า ชาวบ้านมากกว่า 5,000 ครอบครัวที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเหล่านี้กำลังได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลัน ทั้งนี้ อ.เสียมปางอยู่ห่างจากเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยทางท้ายน้ำราว 187 กิโลเมตร 
    โฆษกผู้นี้กล่าวด้วยว่า เจ้าหน้าที่รัฐได้อพยพชาวบ้าน 1,289 ครอบครัว รวม 5,619 คน ไปยังที่ปลอดภัยแล้ว แต่ชาวบ้านที่เหลือไม่ต้องการทิ้งบ้าน โดยอ้างว่าระดับน้ำยังเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ 
    ข้อมูลจากคำแถลงกล่าวว่า ระดับน้ำในแม่น้ำเซกองใน อ.เสียมปาง เพิ่มถึงระดับต้องเฝ้าระวังเมื่อค่ำวันพุธที่ 11.5 เมตร เพิ่มจากระดับ 11.3 เมตรในช่วงเช้าวันเดียวกัน เขาย้ำด้วยว่า ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตในกัมพูชา เนื่องจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นปฏิบัติการกู้ภัยอย่างรวดเร็ว
    ส่วนสถานการณ์การช่วยเหลือชาวลาวที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วม ทีมกู้ภัยของไทยจากชมรมกู้ภัยอีสานเหนือแห่งประเทศไทยกว่า 100 คน และทีมกู้ภัยของ สปป.ลาว ได้ร่วมกันวางแผนปฏิบัติการร่วมเจ้าหน้าที่ทหารลาว โดยมีเป้าช่วยเหลือชาวบ้านกว่า 800 รายที่ยังติดอยู่ภายในเกาะของบ้านไซดอนโขง บ้านตามะยอย บ้านห้วยสมอง เมืองสนามไชย แขวงอัตตะปือ ซึ่งเป็นจุดที่น้ำไหลเข้ามาท่วมเกือบทั้งหมด แต่มีจุดภูเขาที่สูง จึงทำให้ผู้ประสบภัยหนีขึ้นไปอยู่ข้างบนได้ โดยเบื้องต้นพบว่ามีคนสูญหายประมาณ 15 คน 
ขณะเดียวกัน นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ได้รับรายงานผลกระทบเบื้องต้นจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ว่ากรณีดังกล่าวไม่มีผลกระทบกับการทดลองเข้าระบบในเดือน พ.ย.2561 และมั่นใจว่าจะสามารถขายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ (ซีโอดี) ได้ตามกำหนดในเดือน ก.พ. 2562
    ส่วนบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ กฟผ.ที่ถือหุ้น 25% ในโครงการโรงไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อย ระบุว่า ภารกิจสำคัญขณะนี้มุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในแขวงจำปาสักและอัตตะปือต่อเนื่อง โดยนอกเหนือจากเงินช่วยเหลือเบื้องต้น 5 ล้านบาท หรือ 1,300 ล้านกีบแล้ว ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ยังได้อนุมัติวงเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมจำนวนหนึ่งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าด้วย 
ชี้อาเซียนรักกัน
    ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจากเหตุการณ์เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ว่าเมื่อวันที่ 25 ก.ค.ได้พูดคุยกับนายทองลุน สีสุลิด นายกฯ สปป.ลาว ท่านก็ขอบคุณ ซึ่งท่านก็ดีใจ ตื้นตัน และเราก็ได้ขอบคุณ สปป.ลาว ซึ่งเป็นประเทศแรกที่ส่งคนมาช่วยภารกิจช่วยเหลือ 13 คนทีมหมูป่าอะคาเดมี แต่ไม่ใช่เรื่องที่เขาส่งคนมาช่วยเหลือ แล้วเราต้องส่งคนกลับไปช่วย 
    “ใครเดือดร้อนก็ต้องดูแล รัฐบาลได้มอบเงินช่วยเหลือไปก้อนหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้พระราชทานข้าวของต่างๆ พอสมควร รวมถึงภาคเอกชนได้ร่วมเข้าไปช่วยเหลือด้วย นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นมาในอาเซียนของเรา อย่ามองแค่ไทยหรือลาวเกิดภัยพิบัติ แต่ให้เรียกว่าเป็นการสร้างวัฒนธรรมของอาเซียน คือการอยู่ร่วมกันอย่างพหุสังคม ทุกประเทศต้องรักกัน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    นายกฯ กล่าวอีกว่า คิดว่าปัญหาเดี๋ยวก็คลี่คลาย เพราะน้ำลดลง ปัญหาต่อไปที่ลำบากคือการฟื้นฟู เขาจะอยู่กันอย่างไรเป็นระยะที่สอง ที่เรากำลังเข้าไปช่วย ถนนหนทางจะว่ากันอย่างไร รวมถึงบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ก็เหมือนน้ำท่วมบ้านเรา ซึ่งยิ่งกว่านี้เราก็ยังผ่านมาได้ เราก็ต้องให้กำลังใจเขา ต้องเชื่อมั่นในรัฐบาลของเขา โดยวันนี้รัฐบาลเปิดบัญชีรับบริจาคเพื่อไปช่วยเหลือ รวมถึงหลายภาคส่วนก็ร่วมเปิดบัญชีช่วยเหลือด้วยเช่นกัน ซึ่งคิดว่าในช่วงแรกขณะนี้จะได้เอาเงินส่วนนี้ไปช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น ส่วนระยะที่สองที่จะช่วยเหลือจำนวนเงินต้องเยอะ เพราะมีเรื่องที่อยู่อาศัย ซึ่งเรื่องการประสานงานกระทรวงมหาดไทยเขาคุยกันในระดับปฏิบัติอยู่แล้ว 
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวว่า ขณะนี้มีการช่วยเหลือ 3 ส่วนด้วยกัน คือ 1.กระทรวงการต่างประเทศกำลังประสานงานไปว่า สปป.ลาวต้องการอะไรบ้าง ซึ่งเท่าที่ทราบตอนนี้เขาขาดเรือในการใช้ช่วยเหลือ 2.เราได้ส่งทหารทุกเหล่าทัพไปช่วยเหลือแล้ว และ 3.เราได้ส่งเงินช่วยเหลือเบื้องต้น 5 ล้านบาท รวมทั้งยังได้เปิดช่องทางรับของบริจาคทั้งโดยสำนักนายกฯ และ อสมท ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี
    พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ได้ติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบภัยของกองทัพต่อเนื่อง โดยตอนนี้ต้องฟัง กต.ที่กำลังประสานงานกับ สปป.ลาวว่าจะร้องขอความช่วยเหลืออย่างไร ซึ่งเราพร้อมสนับสนุนเครื่องมือและยุทโธปกรณ์ในการช่วยเหลือผู้มีชีวิตและช่วยค้นหาผู้สูญหาย รวมทั้งช่วยเหลือตอนฟื้นฟูช่วงน้ำลดด้วย
    ส่วน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ได้มอบหมายให้นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ประชาสัมพันธ์ว่าพื้นที่ใดบ้าง ต้องการรับสิ่งของบริจาคประเภทไหน ซึ่งของที่ต้องการรับบริจาคในขณะนี้ คือของที่สามารถใช้ได้เลย เช่น อาหาร น้ำดื่ม เสื้อผ้า และสิ่งของจำเป็น
    นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า เบื้องต้นสมาชิก สนช.ได้ระดมเงินรวมกันช่วยเหลือเพื่อมอบให้ สปป.ลาวส่วนหนึ่งแล้ว และจะตั้งโต๊ะเปิดรับบริจาคเพิ่มเติมอีก
กองทัพรอ กต.ประสาน
    ด้าน พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวว่า ได้นำสิ่งของพระราชทานขึ้นเครื่องบินลำเลียงแบบ C-130 ไปแล้ว 2 เที่ยว ซึ่งกองทัพภาคที่ 2 ได้มอบหมายมณฑลทหารบกที่ 22 (มทบ.22) ที่ติดกับ สปป.ลาว เตรียมส่งกำลังไปช่วยเหลือ และได้สั่งศูนย์แพทย์ทหารบกให้เตรียมไปช่วยเหลือด้วยเช่นกัน แต่ทั้งหมดเราต้องรอการประสานงานจากกระทรวงการต่างประเทศก่อนว่าลาวร้องขอมาหรือไม่ 
    พล.ท.ธรากร ธรรมวินทร แม่ทัพภาคที่ 2 กล่าวว่า ได้เตรียมกำลังพล มทบ.22 กว่า 100 นาย พร้อมด้วยเรือท้องแบน ครัวสนาม ชุดทำน้ำประปาสนาม ทั้งยังได้เตรียมชุดแพทย์จาก จ.อุบลราชธานีและนครราชสีมาไว้ 50 นาย แต่ต้องรอผู้บังคับบัญชาสั่งการมาอีกที ซึ่งขั้นตอนที่สำคัญกว่าหลังจากนี้คือช่วงฟื้นฟูพื้นที่หลังน้ำลด
    “ที่ผ่านมาเราเคยไปช่วยเหลือเหตุการณ์เครื่องบินตกที่ปากเซมาครั้งหนึ่งแล้ว จึงทำให้เรามีความสัมพันธ์กันอยู่ และภาคอีสานที่อยู่ใกล้ก็พร้อมช่วยเหลือทันที เพราะเราประสานงานกับผู้ว่าฯ ไปแล้ว และเราก็เป็นประเทศในเออีซีด้วยกัน” แม่ทัพภาคที่ 2 กล่าว 
    พล.อ.ต.พงษ์ศักดิ์ เสมาชัย รองเจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ ในฐานะโฆษกกองทัพอากาศ (ทอ.) กล่าวว่า เมื่อคืนวันที่ 25 ก.ค. ทอ.ได้จัดเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 8 หรือ C-130 จำนวน 2 เที่ยวบิน นำสิ่งของพระราชทานตลอดจนถุงยังชีพในนามรัฐบาลไทยไปยังท่าอากาศยานนานาชาติปากเซ สปป.ลาวแล้ว โดยมีนายวรวุฒิ พงษ์ประภาพันธุ์ กงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต เป็นผู้แทนรับสิ่งของพระราชทาน และส่งต่อความช่วยเหลือไปยังศูนย์ประสานงานอัตตะปือเรียบร้อยแล้วเมื่อเวลาประมาณ 07.00 น. ของวันที่ 26 ก.ค. 
สำหรับวันที่ 26 ก.ค. ทอ.ได้จัดเครื่องบิน C-130 เพิ่มเติมอีก 2 เที่ยวบินลำเลียงเต็นท์ 1,000 หลัง และถุงยังชีพในนามรัฐบาลไทยอีกจำนวนหนึ่งไปยังท่าอากาศยานนานาชาติปากเซ และได้จัดกำลังพลจิตอาสาพระราชทาน กองทัพอากาศ 20 คน เดินทางไปด้วยเพื่อช่วยลำเลียงสิ่งของที่สนามบินปลายทาง รวมทั้งยังได้เปิดศูนย์รับบริจาคสิ่งของที่กองบิน 21 จ.อุบลราชธานี ตลอด 24 ชม. 
“แผนปฏิบัติในวันที่ 27 ก.ค. กำหนดแผนการบินไว้ 2 เที่ยวบิน พร้อมกำลังพลจิตอาสาพระราชทาน กองทัพอากาศ 30 คน ไปยังท่าอากาศยานนานาชาติปากเซ เพื่อนำถุงยังชีพประทานของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา องค์ประธานกรรมการมูลนิธิอาสา เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย 1,000 ชุด ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่อไป”
    นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินเพื่อให้การสนับสนุนช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่ส่วนกลางและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี โดยมี นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ผู้ตรวจราชการ สธ.เขตสุขภาพที่ 10 เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ 
เฝ้าติดตามเหตุ 24 ชม.
    ส่วน ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า พร้อมให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ฉุกเฉินอย่างเต็มที่ หากมีการร้องขอความช่วยเหลือจาก กต. และ สธ. โดยได้มอบหมายให้ศูนย์นเรนทร สพฉ. เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชม. นอกจากนี้ยังส่งอุปกรณ์จำเป็นไปสนับสนุนการปฏิบัติการของทีมเพื่อให้การช่วยเหลือด้วย
    สำหรับการช่วยเหลือนั้นพบว่า ที่สำนักงานทางหลวงที่ 9 (อุบลราชธานี) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เป็นประธานปล่อยขบวนรถบรรทุกสิ่งของช่วยเหลือ ซึ่งประกอบด้วย สิ่งของยังชีพ 10,000 ชุด, เรือท้องแบนพระราชทาน 4 ลำ, เรือท้องแบบกรมเจ้าท่า 2 ลำ และรถบรรทุก 6 ล้อ โดยได้สั่งการให้เรือท้องแบนทั้ง 6 ลำ และเจ้าหน้าที่ประจำเรืออยู่ปฏิบัติภารกิจให้การช่วยเหลือที่ สปป.ลาว จนเสร็จสิ้นภารกิจ 
    ส่วนที่ จ.ขอนแก่น นายคำไพ พันธุ์ทองดี รักษาการกงสุลใหญ่ สปป.ลาวประจำประเทศไทย ณ จ.ขอนแก่น นำเจ้าหน้าที่ฝ่ายการกงสุลฯ เดินทางมารับมอบสิ่งของที่ประชาชนชาว จ.ขอนแก่น ได้ร่วมบริจาค
    ขณะที่บรรยากาศบริเวณหน้าด่านชายแดนถาวรช่องเม็ก อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ชีพสว่างมงคลศรัทธาได้ขนเรือท้องแบน 2 ลำ เจ็ตสกี 1 ลำ พร้อมอาหารและน้ำดื่มเข้าไปสมทบกับทีมกู้ภัยของไทยที่เข้าไปก่อนล่วงหน้าแล้ว ส่วน รศ.ธรรมรักษ์ ละอองนวล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี พร้อมด้วย พ.อ.จักรพงศ์ จันทน์สุทธิประภา ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 6 นำสิ่งของ อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่ม ที่ได้รับการบริจาคกว่า 5 คันรถ ไปมอบให้กับกลุ่มนักธุรกิจคนไทยที่ทำธุรกิจอยู่ใน สปป.ลาว นำไปแจกจ่ายชาวลาวที่ประสบภัย
    เมื่อเวลา 20.30 น. พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี รับทราบความคืบหน้าการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมใน สปป.ลาว โดยในส่วนของกระทรวงคมนาคมได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเฉพาะกิจขึ้นที่สำนักงานทางหลวงที่ 9 (อุบลราชธานี) พร้อมทั้งระดมสรรพกำลังจากภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะห้างแม็คโคร จ.อุบลราชธานี จัดเจ้าหน้าที่และสิ่งของที่จำเป็นส่งผ่านทางกงสุลใหญ่ไทยประจำแขวงสุวรรณเขต ก่อนส่งมอบต่อให้ทางการ สปป.ลาว ได้แก่ ถุงยังชีพ 10,000 ชุด เรือท้องแบนพระราชทาน 4 ลำ เรือท้องแบน กรมเจ้าท่า 2 ลำ รถบรรทุก 6 ล้อและเรือขนของ รวม 30 คัน รถเทรลเลอร์ 1 คัน เจ้าหน้าที่ประจำรถและเรือ รวม 150 คน สำหรับเรือท้องแบน 6 ลำ และเจ้าหน้าที่ประจำเรือของกรมเจ้าท่านั้น จะอยู่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมจนเสร็จสิ้นภารกิจ หลังจากนั้นจะส่งทีมวิศวกรและเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยทางการ สปป.ลาว สำรวจความเสียหายของถนนและสะพาน เพื่อร่วมฟื้นฟูบูรณะโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ได้รับความเสียหายต่อไป 
    นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยได้รายงานว่า ได้สั่งการให้ทุกจังหวัดที่มีความพร้อมจัดตั้ง “ศูนย์รับบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม สปป.ลาว” ที่ศาลากลางจังหวัดหรือสถานที่ที่เหมาะสม และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ โดยหากประสงค์จะบริจาคสิ่งของจะต้องเป็นสิ่งของที่ สปป.ลาวต้องการ ขณะเดียวกันให้แต่ละจังหวัดเชิญชวนประชาชนจิตอาสา “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” ร่วมกิจกรรมรับบริจาคสิ่งของกับศูนย์แต่ละแห่ง ส่วนการบริจาคเงินช่วยเหลือนั้น สามารถไปบริจาคด้วยตนเองได้ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล หรือบริจาคผ่านบัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาทำเนียบรัฐบาล ชื่อบัญชี “หัวใจไทยส่งไป สปป.ลาว” เลขที่บัญชี 067-0-12886-4.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"