ผลักดัน60จังหวัดหาแผนรับมือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


เพิ่มเพื่อน    

ญัี่ปุ่นอุณหภูมิสูงสุด 41 องศา มีคนตาย เครดิตภาพ MATCHA-JP.COM

ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่น มีอุณหภูมิพุ่งสูงสุดเป็นประวัติกาลถึง 41 องศา มีผู้เสียชีวิตไม่น้อยกว่า 30 คน  ขณะที่ ฝั่งยุโรปก็มีรายงานว่าได้เผชิญกับสภาพอากาศแปรปรวน อากาศร้อนไม่ต่ำกว่า 30องศา  หรือที่แย่สุดคือช่วงต้นปีที่ผ่านมาก็มีรายงานว่า ถนนบางแห่งในนครซิดนีย์ ออสเตรเลีย ละลาย จากอุณหภูมิที่สูงขึ้น  หรือที่ประเทศกรีซ เมื่อไม่กี่วันมานี้ ก็เกิดไฟไหม้ป่า    ขณะเดียวกัน ใกล้ๆ  กรุงเอเธนส์กลับเกิดฝนตกหนัก น้ำท่วมเฉียบพลัน 

พอกลับมามองที่ประเทศไทยในช่วงครึ่งปีแรกก็จะเห็นว่า นอกจากอากาศร้อนจัดในฤดูฝนแล้ว ฝนยังทิ้งช่วงเป็นเวลานานอีกด้วย แน่นอนว่าเหตุการณ์ทางธรรมชาติเหล่านี้ ล้วนเกิดจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ ภาวะโลกร้อนนั่นเอง ซึ่งแม้ว่าจะมีการรณรงค์ประเด็นดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง แต่ในประเทศไทยแล้วการรณรงค์อาจจะยังไม่ได้ครอบคลุมทุกพื้นที่เท่าไหร่นัก สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) จึงได้จัดประชุมเปิดตัวโครงการการดำเนินงานด้านนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อผลักดันให้นโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลงไปสู่การดำเนินการในระดับพื้นที่รายจังหวัด     ซึ่งในการประชุม ได้มีหน่วยงานจากหลายภาคส่วนทั้งในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการเกษตร ฯลฯ เข้าร่วมด้วย 

นายสมชัย มาเสถียร รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในที่ประชุมว่า สมัยก่อนทุกคนไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่มาช่วงหลังนี้ ผลกระทบได้เกิดขึ้นมากมายกับโลกอย่างไม่คาดฝัน ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ที่ถ้ำหลวง ที่ทีมฟุตบอลหมูป่าเข้าไปในถ้ำ แล้วเกิดน้ำท่วมฉับพลันจนออกมาไม่ได้ เขาไม่รู้ว่าน้ำจะท่วม เพราะพื้นที่นั้นไม่ได้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมหรือน้ำหลากบ่อยครั้ง แต่ปีนี้กลับมาเร็วและมาจำนวนมาก ขณะที่ต่างประเทศก็เผชิญกับเรื่องภัยธรรมชาติเช่นกัน อย่างญี่ปุ่น ไม่กี่วันที่ผ่านมาอากาศค่อนข้างร้อนมากพุ่งไป 40องศา ถ้าเป็นคนไทยอาจจะอยู่ได้ แต่คนญี่ปุ่นเขาอยู่ไม่ได้ เลยเป็นเหตุให้มีคนเสียชีวิต หรือมาที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว ที่เขื่อนแตก หากไม่นับรวมเรื่องของโครงสร้างเขื่อน ก็น่าจะมาจากการที่ฝนตกหนักมากเกินไปจนเขื่อนรับไม่ไหว ที่ยกตัวอย่างมา ก็อยากจะแสดงให้เห็นว่านับวัน การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเราก็ต้องเตรียมความพร้อมรับมือให้ดี 

ด้าน ดร.รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงโครงการว่า สผ.ทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานงานกลางภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานทั้งในด้านการลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสร้างขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้ประเทศไทยมีการเติบโตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนและตามวิสัยทัศน์ของแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558 - 2593 ดังนั้น สผ. และ GIZ จึงได้ต่อยอดการดำเนินโครงการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายในระดับประเทศสู่การปฏิบัติในพื้นที่ครอบคลุมเพิ่มอีก 60 จังหวัด จากระยะแรกที่มี 17 จังหวัด  ตลอดจนมุ่งหวังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถพัฒนาศักยภาพในการบูรณาการนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าสู่แผนพัฒนาระดับจังหวัด

เลขา สผ. กล่าวอีกว่า การผลักดันให้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เข้าไปอยู่ในแผนการพัฒนาของแต่ละจังหวัด เพื่อสร้างการเตรียมความพร้อมรับมือจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งแผนงานต่างๆของแต่ละแห่งจะไม่เหมือนกัน บางแห่งสนใจเรื่องของงานสาธารณสุข ก็ต้องมาดูว่าสาธารณสุขอะไรที่เกี่ยวกับโลกร้อน เช่น พวกเชื้อโรค โรคอุบัติใหม่ จะมีการเตรียมรับมือยังไง หรือบางแห่งทำเรื่องการจัดการเรื่องของน้ำ ของเสียต่างๆ บางแห่งอาจมีเรื่องของภาคป่าไม้ ภาคการเกษตร หรือการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ การเกิดภัยธรรมชาติ น้ำท่วม การวางผังเมือง ผังชุมชน 

"ยกตัวอย่างการทำงาน ที่เชียงราย แผนพัฒนาจังหวัดของเขาก็จะเป็นเรื่องของการท่องเที่ยวเมืองหนาว ที่มันเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมคือ  ถ้าวันหนึ่งอากาศไม่หนาว จะมีนักท่องเที่ยวมามั๊ย  ถ้าเป็นอย่างนั้น ชาวเชียงรายจะทำยังไง  ก็ต้องเตรียมพร้อมหาทางรับมือ  และเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราก็จะต้องมาหาทางออกร่วมกัน โดยความร่วมมือกับหลายๆฝ่ายในจังหวัด ” ดร.รวีวรรณ กล่าว

ด้านนางสาวชุติมา จงภักดี ผู้จัดโครงการ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ได้ให้รายละเอียดว่า โครงการฯ มีระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2561-2564 ประกอบด้วยแนวทางการดำเนินงานหลัก 4 ด้าน ได้แก่ 1.การพัฒนาศักยภาพหน่วยงานและบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการบูรณาการนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าสู่กระบวนการจัดทำแผนพัฒนาในพื้นที่ รวมถึงแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมระดับภาค ก็มีเป้าหมาย 4 กลุ่มคือ หน่วยงานส่วนกลางภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หน่วยงานส่วนกลางที่เกี่ยวข้องภายใต้กระทรวงมหาดไทยสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค และก็สถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2. การขยายผลการดำเนินการการบูรณาการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่อีก 60 จังหวัดที่เหลือให้ครอบคลุมทั่วประเทศ  3.การติดตามและประเมินผลการดำเนินงานในพื้นที่ 17จังหวัดและ 32 เทศบาลจากการดำเนินโครงการที่ผ่านมา และ 4.การสนับสนุนกลไกการขับเคลื่อนด้านงบประมาณที่เอื้อต่อการดำเนินโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งโครงการนี้ได้รับงบประมาณ 690 ล้านบาทในการดำเนินโครงการฯ ซึ่งการทำงานต้องร่วมกันในหลายๆ ภาคส่วน ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพลังงาน กระทรวงการเกษตร ฯลฯ 

"จากการดำเนินงานในระยะแรกพื้นที่ 17 จังหวัดเป็นไปได้ด้วยดี  สามารถผนึกนำแผนด้านสิ่งแวดล้อม หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เข้าไปอยู่ในแผนพัฒนาจังหวัดได้  จนนำมาสู่การขยายพื้นที่ออกไปให้ครบทั้ง 77 จังหวัดในประเทศ ซึ่งก็มีความมุ่งหวังว่าทั่วประเทศจะตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม และรับมือกับผลกระทบได้ ในขั้นต่อไปของโครงการก็จะมีการไปติดตามผล 17 จังหวัดที่มีแผนการแล้วว่านำไปบูรณาการอย่างไร เชื่อว่า ถ้าทุกจังหวัดมีแผนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว อย่างน้อยก็จะเป็นส่วนช่วยให้ทุกคนตระหนักในด้านสิ่งแวดล้อม" นางสาวชุติมา กล่าว

ในขณะที่นางกตัญชลี ธรรมกุล ผู้อำนวยการงานนโยบายและยุทธศาสตร์ สผ.  กล่าวถึงการขับเคลื่อนนโยบายด้านการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศไปสู่การดำเนินการในพื้นทีว่า สผ.ได้ร่างแผนแม่บท 2558-2593 โดยมีกรอบการดำเนินงานคือ 1.การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นด้านการจัดการน้ำ อุทกภัย และภัยแล้ง ควรจะสร้างความพร้อมในการรับมือและลดความเสียหายจากอุทกภัยหรือ ภัยแล้ง แล้วก็มุ่งเน้นการจัดการความเสี่ยงในภาคเกษตรด้วย สิ่งสำคัญคือควรเฝ้าระวังโรคที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ 

2.ด้านการลดก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมการเติบโตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ควรเน้นการลดสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิง แล้วก็สัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า แล้วพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่จะสนับสนุนการเติบโตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานภายในอาคารและอนุรักษ์พลังงาน  โดยการลดใช้พลังงานภายในอาคาร และมุ่งเน้นการจัดการด้านเกษตรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ ให้เกิดผลประโยชน์ร่วม เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร การสร้างศักยภาพความพร้อมของเกษตรกร เพื่อรองรับเทคโนโลยีและการจัดการด้านการลดก๊าซเรือนกระจก 

นอกจากนี้ก็ต้องช่วยกันเพิ่มที่สีเขียวให้เป็นแหล่งดูดซับมลพิษ และแหล่งกักเก็บคาร์บอน และ3.การสร้างขีดความสามารถ ด้านการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ควรมุ่งเน้นการพัฒนาข้อมูล ศึกษางานวิจัย และเทคโนโลยี การพัฒนากลไกสนับสนุนการดำเนินงานไม่ว่าจะกลไกสนับสนุนการปรับตัว สนับสนุนการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำ และภาคีที่จะช่วยกันขับเคลื่อน แล้วก็มุ่งเน้นการพัฒนาคน สร้างองค์ความรู้ที่เข้มแข็ง และสร้างให้คนมีจิตสำนึกร่วมต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

อย่างไรก็ตาม นางกตัญชลี กล่าวอีกว่า กลไกในการขับเคลื่อนและการแปลงแผนแม่บทไปสู่การปฏิบัติ จะเสนอให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นวาระแห่งชาติ จะพัฒนาเครื่องมือและกลไกที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น สร้างความเข้าใจเพื่อให้ภาคี ตระหนักถึงความสำคัญของแผนและพร้อมผลักดันแผน ไปสู่การปฏิบัติ สร้างความเข้าใจแก่หน่วยงานที่เป็นแหล่งงบประมาณ และสร้างระบบการกำกับ ระบบการติดตามและประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"