'ปาบึก’ พายุโซนร้อนเกิดขึ้นครั้งแรกในรอบ 67ปี สัญญาณเตือน 'ฤดูกาลเปลี่ยน-โลกปรับตัว'


เพิ่มเพื่อน    

 

ปกติฤดูกาลพายุทางตอนใต้ของไทยมักเกิดปลายปี (จากสถิติที่แสดง) แต่'ปาบึก'เกิดขึ้นมกราคม 62 สะท้อนฤดูกาลเปลี่ยน

 

 

     แม้สถานการณ์พายุโซนร้อนปาบึกจะคลี่คลายและกลับเข้าสู่สภาวะปกติ คลื่นลมสงบ เรือประมงทั้งเล็กและใหญ่ออกทะเลทำการประมงได้ตามปกติ ประชาชนกลับไปอยู่อาศัยในบ้านพัก แต่พิษปาบึกที่มีความรุนแรงยังทิ้งร่องรอยความเสียหายในพื้นที่ 23 จังหวัด ที่พายุได้พัดผ่าน   โดยจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ จ.นครศรีธรรมราช จ.นราธิวาส และ จ.ชุมพร

      ปรากฏการณ์พายุโซนร้อนปาบึกที่เกิดขึ้นในเดือนมกราคม 2562 จากปกติที่ฤดูกาลของพายุทางตอนใต้ของไทยมักเกิดขึ้นช่วงปลายปี ประมาณตุลาคม-ธันวาคม ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในรอบ 60 ปี ซึ่งทำให้นักอุตุนิยมวิทยา นักวิจัยด้านภูมิอากาศตั้งข้อสังเกตว่า หรือฤดูกาลของพายุเปลี่ยนไป!!!

 

ความรุนแรงของพายุโซนร้อนปาบึก 

      นายบุญธรรม ตั้งล้ำเลิศ นักอุตุนิยมวิทยาชำนาญการ กองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า จากสถิติพายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยคาบ 67 ปี (พ.ศ.2494-พ.ศ.2560) เฉลี่ยเกิดขึ้น 2-3 ลูกต่อปี แต่พายุโซนร้อนที่เกิดขึ้นในเดือนมกราคม เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2494  และเคยเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อเดือนเมษายน ปี 2504

      ส่วนเดือนพฤษภาคม เกิดพายุครั้งเดียว ในปี 2550     จากนั้นเดือนมิถุนายน-ธันวาคม เป็นฤดูกาลพายุปกติทางตอนใต้ของไทย พายุโซนร้อนปาบึกจึงเป็นพายุโซนร้อนที่เกิดขึ้นครั้งแรกในรอบ 68 ปี แต่พฤติกรรมของพายุตัวนี้คล้ายพายุในฤดูกาลปกติ ซึ่งไม่ควรจะเกิดขึ้น แต่มีปัจจัยที่ก่อให้เกิดพายุตัวนี้ได้ มาจากทั้งอุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่มีค่าสูงกว่า 26 องศาเซลเซียส ส่งผ่านความร้อนก่อให้เกิดความกดอากาศต่ำและกลายเป็นพายุในที่สุด นอกจากนั้น ยังมีความชื้นที่เสริมความรุนแรงของพายุ อีกทั้งปัจจัยเรื่องลม ที่ช่วยเสริมซึ่งกันและกัน

 

     

      สำหรับพายุปาบึกที่ส่งผลกระทบกับไทย นายบุญธรรมกล่าวว่า มีความใกล้เคียงพายุโซนร้อนแฮเรียต แต่รุนแรงน้อยกว่า แฮเรียตความเร็วลมสูงสุดใกล้จุดศูนย์กลางต่ำกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่พายุปาบึก 60-70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก่อให้เกิดพายุฝนตกหนักจนน้ำเอ่อขึ้นมาบนฝั่ง แต่ไม่พัดข้ามแหลมตะลุมพุก ส่วนแฮเรียตน้ำกวาดจากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่ง เสียหายรุนแรงกว่า ขณะที่พายุไต้ฝุ่นเกย์ความเร็วลมเกินกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีกำลังแรงมาก ฝนตกหนักมาก 

      “ลักษณะภูมิอากาศตั้งแต่ปี 2560-2561 เกิดความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะปี 2561 ฤดูฝนเลื่อนมา 15 วัน  ฤดูหนาวมาช้ากว่าปกติ นี่คือข้อบ่งชี้เกิดการเลื่อนของฤดูกาล ภูมิอากาศโลกของเราขยับค่าสถิติจากเดิม 2 สัปดาห์  สำหรับประเทศไทยเดือนมกราคมนี้ยังไม่หมดพายุ จากนี้ไปยังต้องติดตามและประเมินผลพยากรณ์อากาศระยะยาว  อีกตัวอย่างที่สะท้อนการเลื่อนฤดูกาลชัดเจนคือ วันที่ 20-25 มกราคมนี้ พายุจะเข้าทางตอนเหนือของฟิลิปปินส์ ไม่ลงทะเลจีนใต้ จากแบบจำลอง ณ วันนี้ (11 ม.ค.62 ) ไม่มีผลกระทบต่อไทย แต่เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ควรเกิด จากปกติที่ฤดูกาลพายุของฟิลิปปินส์จะเกิดมิถุนายน นี่เกิดก่อนถึง 4 เดือน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่เห็นชัดในปี 61 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะเอเชียแปซิฟิก เปลี่ยนแปลงมาก" นายบุญธรรมให้ภาพสิ่งที่เกิดขึ้น

      หากถอดบทเรียนจากพายุปาบึกตั้งแต่การก่อตัวของหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณเกาะบอร์เนียวในทะเลจีนใต้ตอนล่าง ในวันที่ 31 ธ.ค.2561 จนพายุโซนร้อนปาบึกอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำตามลำดับ และเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลอันดามันในวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา

      นักอุตุนิยมวิทยาชำนาญการย้ำว่า ลักษณะพายุนอกฤดูกาลเกิดขึ้นได้ ไม่ควรมองเฉพาะฤดูกาลปกติ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่เฉพาะกรมอุตุนิยมวิทยา ต้องเฝ้ามองเส้นทางพายุปี 63, 64, 65 การทำงานพยากรณ์ ค่าสถิติภูมิอากาศต้องเข้มข้นมากขึ้น ทุกหน่วยงานต้องร่วมกลั่นกรอง วิเคราะห์ข้อมูลกระแสลมเปลี่ยนแปลง อุณหภูมิโลกเปลี่ยนแปลง เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรในภูมิภาคนี้ เพื่อช่วยในการปรับปรุงการคาดการณ์พายุหมุนเขตร้อน และการเตรียมรับมือและเตือนภัยอย่างทันท่วงที ซึ่งการคาดการณ์พายุยากขึ้นเรื่อยๆ เราต้องพึ่งพาตนเองให้ได้ โดยขณะนี้ทางกรมอุตุนิยมวิทยาเร่งสรุปเหตุการณ์ มีการประชุมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร อีกบทเรียนจากปาบึกคือ การให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนเรื่องการรับข้อมูลข่าวสาร ช่วงปรากฏการณ์ปาบึกมีข่าวลือเกินจริงแพร่กระจาย ทั้งความเร็วลมของพายุ ความสูงของคลื่น ระดับน้ำที่ท่วมพื้นที่ ซึ่งอยากให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุฯ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องที่ได้รับมอบหมายเป็นหลัก

 

บ้านเรือนราษฎรริมชายฝั่งเสียหายจากพิษปาบึก

 

      โลกร้อนส่งสัญญาณทั่วโลก และเป็นปัจจัยเร่งการพัฒนาตัวของพายุ นายบุญธรรมกล่าวว่า อุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้น อุณหภูมิน้ำทะเลอุ่นขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ฝนตกหนักน้ำท่วมทะเลทรายซาอุดีอาระเบีย พายุหิมะถล่มหลายประเทศ ฤดูร้อนในต่างประเทศเกิดคลื่นความร้อนถี่ขึ้น เดิมฮีโร่ ลานีญา เกิดขึ้น 3-5 ปีครั้ง แต่ปัจจุบันเกิดปีเว้นปีเลยทีเดียว สภาพภูมิอากาศไม่เหมือนอดีต แสดงถึงโลกกำลังปรับตัว

      “ความผันแปรและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเชื่อมโยงกันหมด ไม่เฉพาะปาบึกถล่ม แม้แต่ปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานในกรุงเทพมหานครตั้งแต่ปลายปี และลากนานถึงขณะนี้ เป็นผลจากกำลังลมที่เปลี่ยนแปลงไป ปกติฤดูกาลนี้ในกรุงเทพฯ ลมจะแรง ลมเหนือจะพัดพาฝุ่นไปทางใต้หรือทะเล แต่เวลานี้พัดไม่ไป สภาพอากาศนิ่ง ทำให้ฝุ่นละอองสะสม กลุ่มฝุ่นจากภาคเหนือ อีสาน ก็มากองที่ กทม. คุณภาพอากาศแบบนี้อันตรายต่อสุขภาพของประชาชน นี่คือความผิดปกติ ทุกอย่างเปลี่ยนไปไม่เหมือน 20 -50 ปีที่ผ่านมาแล้ว" นายบุญธรรม สะท้อนปัญหา

      สำหรับบทบาทนักวิจัยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) นายบุญธรรมกล่าวว่า มีโครงการชื่อ "การพัฒนาและใช้ประโยชน์การพยากรณ์คลื่นในทะเล คลื่นชายฝั่ง และเส้นทางพายุสำหรับประเทศไทย" (Development and Implementation of Ocean Wave, Coastal Wave, and storm Path Predictions for Thailand) เสนอต่อ สกว. ฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ แก่นสำคัญคือการพยากรณ์คลื่นและการพยากรณ์เส้นทางพายุ โมเดลจากโครงการนี้พยากรณ์เส้นทางพายุ จับตั้งแต่หย่อมความกดอากาศที่มีศักยภาพเกิดพายุรุนแรงได้ เพราะแม้แค่หย่อมความกดอากาศต่ำส่งผลให้น้ำท่วมฉับพลันได้ อย่างปี 61 พายุถล่มสกลนคร พายุเข้าแล้ว ถอยกลับมาอีก โมเดลนี้พยากรณ์ได้ ก็ส่งข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้กรมอุตุฯ ประกอบตัดสินใจออกคำเตือน สมมติว่าพายุเข้าทุกเดือน โมเดลที่ตนพัฒนาขึ้นจะสนับสนุนงานพยากรณ์ของประเทศไทย นอกจากนี้ ตนก็เดินหน้าศึกษาค้นคว้าเทคนิคเพื่อปรับปรุงการพยากรณ์อากาศให้ทันสมัยตลอดเวลา ซึ่งในวันที่ 17 มกราคมนี้ ในฐานะนักวิจัย สกว. จะถอดบทเรียนปาบึกและนำเสนอโครงการเกี่ยวกับการพยากรณ์ต่างๆ ต่อ สกว. เพื่อเป็นประโยชน์ต่อไป 

      อย่างไรก็ตาม สังคมไทยยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับพายุ ซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวล และเพื่อให้ประชาชนปลอดภัยจากพายุต้องสร้างความตระหนักในการเตรียมพร้อมรับมืออย่างเหมาะสม โดยเฉพาะท้องถิ่น นายบุญธรรมกล่าวในท้ายว่า กรณีปาบึก มีชาวสุราษฎร์ธานีโทรเข้าสายด่วนพยากรณ์อากาศ 1182 เมื่อเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลว่า พายุจะขึ้นฝั่งที่นครศรีธรรมราช ก็บอกว่าโล่งใจ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด คิดว่าปลอดภัยแล้ว ไม่มีผลกระทบ ซึ่งข้อเท็จจริงชุมพร สุราษฎร์ธานี ฝนตกหนักมาก และปัจจุบันปริมาณฝนตกเพียง 20 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ไม่ต้องหนักถึง 50-100 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ก็ท่วมแล้ว เพราะผังเมืองไม่รองรับการระบายน้ำ มีสิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำ ตลอดจนการใช้ประโยชน์ที่ดินเปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตาม ท้องถิ่นจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างความรู้ความเข้าใจชุมชนและชาวบ้าน เพราะคำว่าเส้นทางพายุ ไม่รุนแรงแค่พื้นที่จุดศูนย์กลางพายุ แต่รวมน้ำท่วม คลื่นลมแรง ภัยพิบัติ วาตภัย สตอร์มเซิร์จ ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินประชาชนได้.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"