"ทักษิณ" ออกอาการ สู้เป็นรัฐบาลหรือแค่เปิดเจรจา?


เพิ่มเพื่อน    

          11 ปี หลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549 ทักษิณ ชินวัตร ยังไม่ได้กลับมาประเทศไทย แต่การเมืองภายใต้ "แบรนด์" ของ "ทักษิณ" ยังขายได้ และยังทำให้พรรคเพื่อไทยขับเคลื่อนความเป็น "ตัวแทน" ของ "ทักษิณ" ให้ดำรงอยู่ และหลายครั้งดูเหมือนว่าเขาอาจจะได้กลับมา เพราะ "ดีล" เปิดการเจรจาต่อรองทางการเมืองที่นำไปสู่ "สูตรการเมืองสมานฉันท์และปรองดอง

                แต่ก็เป็นเพียง ข่าวลือ เพราะหากเป็นจริง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คงไม่ทำการเมืองในลักษณะคงอำนาจ คสช.หลังการเลือกตั้ง และไม่ปฏิเสธที่จะมีชื่อของตนเองเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

                นั่นทำให้ปฏิกิริยาของ "ทักษิณ" ในช่วงหลัง ออกอาการ มากขึ้น โดยเฉพาะปรากฏการณ์ของ "พลังดูด" ที่เริ่มได้ผล มีนักการเมืองที่ถูก "ป้ายยา" เข้ามาร่วมวงศ์ไพบูลย์กับ คสช.มากขึ้นเรื่อยๆ ถึงขนาดที่มีคำ "แรงๆ" หลุดจากปาก แสดงถึง "อำนาจ-บุญคุณ" ในอดีตที่มีต่อนักการเมืองเหล่านั้น

                ในคลิปวันเกิดของ "ทักษิณ" ล่าสุด เต็มไปด้วยบรรยากาศที่แสนสุข มีครอบครัว ส.ส. เพื่อนพ้องที่รักห้อมล้อมด้วยความชื่นมื่น แต่ถ้อยคำที่กล่าวออกมาล้วนเต็มไปด้วยความ "คับแค้น" และมีความปรารถนาแรงกล้าทางการเมือง

                "เป็นคืนเฉลิมฉลองวันเกิดที่คิดว่าผมมีความสุขมากที่สุดในชีวิตคืนหนึ่ง ผมไม่ได้สนใจอะไรกับสิ่งที่เป็นไปในการเมืองขณะนี้ มันเริ่มต้นจากการที่รัฐประหารโดยผู้นำที่พยายามที่จะดึงการเลือกตั้งให้ยืดออกไป เขานึกว่าสิ่งที่เขาทำอยู่ในขณะนี้จะได้รับความนิยม แต่ยิ่งอยู่นานเขายิ่งจะสูญเสีย เพราะเขาไม่สามารถเข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจของประชาชน เขาไม่เคยนั่งอยู่ในหัวใจของประชาชนเลย ไม่เคยรู้ว่าประชาชนต้องการอะไร จุดไหนที่เป็นความคาดหวังของประชาชน คนระดับกลางและระดับล่าง..

                ...ทั่วโลกนั้นค่าใช้จ่ายในชีวิตความเป็นอยู่สูงขึ้น แต่รายได้ในอนาคตของเขามันตีบตัน นั่นคือทำไมเขาถึงต้องมองหาพรรคการเมืองที่จะมาแก้ปัญหาให้กับเขา ผมเชื่อว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไป พรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย สไลด์มากกว่าแลนด์สไลด์ด้วยซ้ำ"

                ขณะที่กระแสเสียงจากรัฐบาลและ คสช.ไม่ตอบโต้ในประเด็นดังกล่าว เพราะเป้าหมายในขณะนี้คือ การเดินหน้า "ทำการเมือง" ตามแผนที่วางไว้ อีกทั้งปรากฏการณ์ของการเดินสายของ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็คงตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากเดินสายหาเสียง และประทับตรา "พลังดูด" ส.ส.ในจังหวัดที่ได้ไปเหยียบ

                ในทางการเมืองก็ยากที่จะปฏิเสธคำพูดของ "ทักษิณ" ว่าเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่า ยากที่จะได้เป็น "รัฐบาล" เพราะปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น คสช.ไม่ได้คิดกวาดต้อน ส.ส.มาเลี้ยงอยู่ในคอก แต่ต้องการทำให้ "เพื่อไทย" แตก

                ในพื้นที่ "อีสาน" ที่ถือเป็น ฮาร์ดแลนด์ ทางการเมือง และเป็นฐานที่มั่นของ "เพื่อไทย" เป็นเรื่องยากที่ คสช.จะปักธงได้ แม้ที่ผ่านมา ทหาร จะเข้าไปทำพื้นที่ รับฟังความรู้สึกของประชาชน ไปแก้ไขปัญหาที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งทำไม่ได้ ทั้งการอัดฉีดเม็ดเงิน โครงการต่างๆ เข้าไปในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

                แต่กระนั้นก็ไม่อาจยืนยันได้ว่า "ชาวบ้าน" จะเลือกนักการเมืองที่ "แปรพักตร์" ไปสนับสนุนรัฐบาล คสช. เพราะความรู้สึกภักดีต่อ แบรนด์ทักษิณ ยังมีอยู่ เหมือนที่ "ทักษิณ" กระหยิ่มใจว่า ในครั้งหน้าพรรคเพื่อไทยจะชนะยิ่งกว่า แลนด์สไลด์

                ทว่า โครงการต่างๆ และโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลได้อนุมัติในแต่ละแห่งล้วนแล้วแต่เอื้อให้ "ทุน" พื้นที่ ซึ่งผูกเกี่ยวกับนักการเมือง

                อย่างการประชุม ครม.สัญจร ที่ จ.อุบลราชธานี ครม.เห็นชอบตามที่ประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 ให้ดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใน จ.อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญ 19 โครงการ วงเงินลงทุน 59,000 ล้านบาท ระหว่างปี 2562-2567 โดยแต่ละโครงการอยู่ในขั้นตอนที่ต่างกัน บางขั้นตอนยังอยู่ในขั้นศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) บางโครงการเตรียมเสนอ ครม.แล้ว

                ทั้งนี้ ในส่วนโครงการคมนาคมด้านอากาศ โครงการสนามบิน จ.อุบลราชธานี ครม.ได้รับข้อเสนอเอกชนในพื้นที่ที่ขอให้เลื่อนโครงการบางส่วนให้มาดำเนินการเร็วขึ้น เช่น โครงการอาคารจอดรถ โครงการก่อสร้างแท็กซี่เวย์ สะพานเทียบเครื่องเพิ่มจาก 2 เป็น 4 สะพาน หลุมจอดเครื่องบินเพิ่มจาก 5 เป็น 10 หลุมจอด เป็นต้น ส่วนที่ภาคเอกชนเสนอให้พัฒนาสนามบินเลิงนกทา จ.ยโสธร ครม.ให้ไปศึกษาความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับสนามบินมุกดาหาร

                สำหรับระบบรางให้เร่งรัดโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่เส้นทางจิระ-อุบลราชธานี 318 กม. ลงทุน 36,800 ล้านบาท คาดว่าจะเข้า ครม.ในเดือน ต.ค.นี้ นอกจากนี้ ครม.ยังอนุมัติให้ศึกษาเส้นทาง 3 เส้นทาง เพื่อให้ระบบรางอีสานเหนือ-ใต้สมบูรณ์ คือ ศรีสะเกษ-ยโสธร-ร้อยเอ็ด, วารินชำราบ-มุกดาหาร และอุบลราชธานี-ช่องเม็ก ส่วนโครงสร้างพื้นฐานทางถนน ครม.อนุมัติหลายเส้นทางให้ขยายจาก 2 เป็น 4 ช่องทาง และศึกษาโครงการใหม่ๆ เพิ่มเติม

                ยังไม่นับ ครม.สัญจรก่อนหน้านี้ เดินทางไปในพื้นที่เป้าหมายที่หวังนักการเมืองมาร่วม พร้อมทั้งอนุมัติหลายโครงการ และใช้งบประมาณมหาศาล

                ดูแล้วการทำงานการเมืองของ คสช.ก็ไม่ต่างจาก ระบอบทักษิณ ที่มีการปูพรม ใช้โครงการและงบประมาณในเชิงสร้างความนิยม และหวังผลทางอ้อมในการเอื้อประโยชน์ให้นักการเมือง เพียงแต่โครงการเหล่านั้นต้องใช้เวลาในการสร้างให้เกิดเป็นรูปธรรม และไม่มีหลักประกันว่า "ประชาชน" จะเลือก

                แต่อย่าลืมว่า ภายใต้โครงสร้างอำนาจทั้งหมด "คสช." คือผู้ที่กำหนดเกม และ "มีไพ่" การเลือกตั้งอยู่ในมือ แม้ตามกฎหมายจะเป็นไปตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดก็ตาม

                 แม้จะมีการพูดถึงวันเลือกตั้งไว้ตามคำพูดของ "วิษณุ เครืองาม" ที่ได้แถลงไว้เมื่อวันที่ 24 ก.ค.นี้ ที่ได้นัดหารือกับพรรคการเมือง ที่สโมสรทหารบก โดยกำหนดให้เป็นทุกวันอาทิตย์สิ้นเดือน ซึ่งนอกจากเดือน ก.พ. และ พ.ค. ยังมีวันที่ 31 มี.ค.2562 และ 28 เม.ย.2562 

                โดย "วิษณุ เครืองาม" ก็ย้ำว่า "นี่เป็นเพียงตุ๊กตา" เพราะผู้มีอำนาจในการกำหนดวันเลือกตั้งคือ กกต. ไม่ใช่รัฐบาล คสช.

                ส่วนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไรนั้น นายวิษณุชี้ว่าขึ้นอยู่กับปัจจัย 5 ประการ ประกอบด้วย 1.ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองในช่วงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2.การได้รับพระราชทานร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. 3.การผลัดเปลี่ยนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่ 4.การเลือกตั้งท้องถิ่นจะจัดขึ้นเมื่อใด และ 5.ความสงบเรียบร้อยโดยทั่วไปของบ้านเมือง

                "หากเป็นอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ถือว่าวางใจได้ แต่ถ้าจะเกิดเหตุใดในอนาคต ก็อาจจะกระทบต่อกำหนดเวลาของการเลือกตั้ง" นายวิษณุกล่าว

                ดูจาก 5 เหตุผล "ทักษิณ" คงประเมินได้ว่า ผู้เปิดเกมเลือกตั้งไม่ใช่ตัวเอง การพูดเรื่อง "แลนด์สไลด์" จึงไกลกว่าเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นตรงหน้า 

                การต่อสู้ของ "ทักษิณ" จึงไม่ได้รอวัดกันที่สนามเลือกตั้งที่ดูไม่มีหลักประกัน แต่น่าจะหมายถึงการ "ต่อรอง" และพร้อมเปิดทุก "ดีล" เพื่อพูดคุย เพียงแต่เวลานี้ไม่มีสัญญาณบวกให้เขา

                ประชาธิปไตยในสนามเลือกตั้งของ "ทักษิณ" จึงเป็นวิธีการ แต่ไม่ใช่อุดมการณ์ เพราะเป้าหมายหลักคือ "อำนาจ" และการได้กลับบ้าน "ล้างผิด" ทางคดีในชีวิตวัยเข้า 70 ปีที่ยังปลงไม่ตก!!.

 

                                                                                                                                ทีมข่าวการเมือง


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"