ริมแม่โขงอ่วม! น้ำสูงรอบ10ปี จนท.ระดมช่วย


เพิ่มเพื่อน    

    "บิ๊กตู่" สั่งแจ้งเตือน ปชช.เมื่อเกิดภัยพิบัติทันที พร้อมอพยพชาวบ้านพ้นพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่ม "มท.1" ย้าย 60 ครอบครัวจุดดินสไลด์ จ.น่าน ไปอยู่ที่ปลอดภัยชั่วคราว กำชับ "ผู้ว่าฯ ภาคเหนือ" เฝ้าระวังสถานการณ์ใกล้ชิด "ครม." ไฟเขียวงบ 468 ล้านบาทให้ ทบ.พัฒนาแหล่งน้ำ 47 โครงการ  "ปภ." ห่วง "มุกดาหาร-อุบลราชธานี-ตาก" จมบาดาล "นครพนม" วิกฤติระดับน้ำโขงเพิ่มสูงที่สุดรอบ 10 ปี 
    เมื่อวันที่ 31 ก.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ถึงสถานการณ์น้ำท่วมและดินโคลนถล่มว่า  กรณีดินโคลนถล่มที่จังหวัดน่าน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 8 ราย เบื้องต้น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้ลงพื้นที่เรียบร้อยแล้ว โดยตนได้ติดตามสถานการณ์มาโดยตลอด และหาวิธีการจะทำอย่างไรที่จะให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงปลอดภัย โดยจะต้องมีการชี้แจงทำความเข้าใจต่อประชาชน เพราะการแจ้งเตือนข่าวอย่างเดียวคงไม่พอ ดังนั้นหน่วยงานในพื้นที่รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จะต้องทำความเข้าใจ 
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องนี้ ครม.เห็นว่าจะต้องมีการขยับขยายครอบครัวในพื้นที่เสี่ยงประมาณ 60 ครอบครัว ไปยังพื้นที่ปลอดภัย โดยจะมีการพิจารณาร่วมกับคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เพื่อจัดหาพื้นที่ทำกินให้กับครอบครัวในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งถือเป็นมาตรการเร่งด่วน เนื่องจากโลกมีการเปลี่ยนแปลง จึงได้เกิดภัยพิบัติขึ้นในหลายพื้นที่
    "จังหวัดน่านที่เกิดเหตุดินโคลนถล่มเป็นพื้นที่ป่าเขา มีความอุดมสมบูรณ์ แต่เนื่องจากเป็นภูเขาดินผสมหิน จึงมีโอกาสสูงที่จะเกิดดินโคลนถล่ม ทุกคนจึงต้องระมัดระวังเมื่อได้รับการแจ้งเตือน ไม่ว่าจะเป็นการสัญจรไปมาในเส้นทางที่มีความเสี่ยง พร้อมกับตรวจสอบการกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งรัฐต้องเจรจาขอให้ชาวบ้านไปอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัยในช่วงฝนตก โดยรัฐบาลจะต้องหามาตรการที่ยั่งยืนแก่ประชาชน เช่น หาที่ดินทำกินให้ใหม่" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    นายกฯ กล่าวว่า ทั่วประเทศมีหลายพื้นที่ที่จะต้องได้รับการแก้ไข เช่น พื้นที่ที่ปลูกต้นยางพาราบนภูเขา เพราะต้นยางไม่มีรากแก้วที่จะค่อยพยุงการสไลด์ของดิน จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนที่อยู่อาศัย โดยจะต้องเตรียมการล่วงหน้า เช่น เฝ้าระวังแจ้งเตือน เตรียมแผนการอพยพชั่วคราว เพื่อจะได้ย้ายทันทีเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งต้องถิ่น ผู้ว่าฯ และนายอำเภอจะต้องเข้าไปดู เพื่อป้องกันเหตุการณ์ซ้ำซ้อน
    “วันนี้ได้กำชับให้มีการแจ้งเตือนเหตุไว้ล่วงหน้าเมื่อมีฝนตกหนัก ปริมาณเกินกว่าที่กำหนดไว้ พร้อมกับอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยง แต่ไม่ใช่ว่าแจ้งเสร็จทุกคนก็นอนรออยู่ในบ้าน เพราะหากมาทีทั้งน้ำ โคลน ดิน ก็จะเสียชีวิต ทุกคนจึงต้องให้ความสำคัญ”นายกฯ กล่าว
    ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ขณะนี้ได้ย้ายชาวบ้านในพื้นที่ดินสไลด์ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ไปอยู่ที่วัดและโบสถ์แล้ว เพราะฝนตกต่อเนื่องอาจเกิดเหตุดินสไลด์อีกได้ นอกจากนี้ได้สั่งการไปยังผู้ว่าฯ ภาคเหนือทุกจังหวัด ให้ติดตามสถานการณ์และประเมินอย่างใกล้ชิดว่าเมื่อใดที่ต้องนำคนออกจากพื้นที่ 
    "ส่วนที่มีการบุกรุกป่าทำรีสอร์ต ท่องเที่ยว ก็เป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ไปจัดการตามอำนาจทางกฎหมาย เช่น ถ้าเป็นที่ของป่าไม้ป่าถาวร หรืออุทยาน ก็ให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ เป็นผู้ดูแล" พล.อ.อนุพงษ์กล่าว
แจ้ง ปชช.เฝ้าระวัง
    รมว.มหาดไทยกล่าวว่า ในส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในภาคอีสานขณะนี้ ต้องเร่งระบายน้ำในพื้นที่ชุมชนต่างๆ ซึ่งท้องถิ่นได้ทำตามนโยบายที่รัฐบาลให้ไว้ โดยนำน้ำไปเก็บไว้ในพื้นที่แก้มลิง เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง หากพื้นที่ใดไม่มีที่เก็บน้ำก็ต้องระบายน้ำทิ้งไป ทั้งกรมชลประทานและท้องถิ่นต่างช่วยกันดำเนินการแก้ปัญหา
    พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.ว่า ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงกลาโหมได้เสนอ ขอรับงบสนับสนุนในการปรับปรุงแหล่งน้ำประจำปีงบประมาณ 2561 ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างกองทัพบกกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์  โดยมีโครงการที่ต้องปรับปรุงแหล่งน้ำ 47 โครงการ ในพื้นที่ 9 จังหวัด ประกอบด้วย จ.แพร่, จ.พะเยา, จ.พิจิตร, จ.สุโขทัย, จ.เพชรบูรณ์, จ.นครสวรรค์, จ.บุรีรัมย์, จ.ปราจีนบุรี และ จ.พัทลุง โดยการไปประชุม ครม.สัญจรแต่ละครั้ง จะได้รับการเสนอขอให้ฟื้นฟู และปรับปรุงแหล่งน้ำในหลายๆ พื้นที่ ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นได้รับการสำรวจและดำเนินการโดยกองทัพบก โดยใช้งบประมาณในการดำเนินงาน 468.91 ล้านบาท โดยทางสำนักงบประมาณเสนอให้งบกลางปี 2560
    "ที่ประชุมมีข้อคิดเห็นต่อกองทัพบกให้ไปประสานงานกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อตรวจแผนงานให้ชัดเจนอีกครั้งว่ามีความทับซ้อนกับโครงการไหนหรือไม่ โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกสรุปเข้ากับแผนบริหารจัดการน้ำด้วย" โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว
    ที่กระทรวงกลาโหม พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม (โฆษก กห.) กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้กำชับให้ทุกเหล่าทัพติดตามสถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่สูงขึ้นในหลายจังหวัด รวมทั้งติดตามสภาวะอากาศในหลายพื้นที่ที่มีปริมาณฝนสะสม อันอาจเกิดภาวะเสี่ยงต่ออุบัติภัยและอุทกภัยในพื้นที่ต่างๆ ทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ โดยให้ประสานกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและระดับจังหวัดอย่างใกล้ชิด  ประเมินและเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ แจ้งเตือนและให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนแก่ประชาชนให้ทันต่อเหตุการณ์ เพื่อลดผลกระทบความเสียหายในระดับพื้นที่ที่จะเกิดขึ้น 
    ด้าน พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก กล่าวว่า ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพบก ยังคงติดตามสถานการณ์อุทกภัยและสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีปริมาณฝนสะสม เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย ดินสไลด์ และภาวะน้ำล้นตลิ่ง ซึ่งขณะนี้มีจุดต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด คือระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่สูงขึ้น ทำให้หลายจังหวัดในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มได้รับผลกระทบ 
    นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ของประเทศได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักในหลายจังหวัดของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ 3 จังหวัด รวม 11 อำเภอ 45 ตำบล 224 หมู่บ้าน ได้แก่ มุกดาหาร อุบลราชธานี และตาก ซึ่งได้ร่วมกับหน่วยทหาร จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย และระบายน้ำออกจากพื้นที่ รวมถึงขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง
    จ.มุกดาหาร ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงสูงเกินวิกฤติแล้ว วัดที่ศูนย์อุทกวิทยามุกดาหาร ล่าสุดอยู่ที่ 12.54 เมตร เกินระดับวิกฤติ 4 เซนติเมตร คาดจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะน้ำที่ไหลมาจากทางเหนือ และเขื่อนน้ำงึม 5 ของ สปป.ลาว ปล่อยน้ำออกจากเขื่อน ทำให้น้ำกำลังไหลเข้าท่วมตลาดอินโดจีนชั้นใต้ดินแล้ว ทำให้ผู้ประกอบการร้านค้าเตรียมเก็บสิ่งของ ส่วนผู้เลี้ยงปลานิลในกระชัง มีผลกระทบจากน้ำเพิ่มสูงและไหลเชี่ยว ต้องระมัดระวังเชือกที่ผูกกระชังปลาขาด และมีเศษไม้ที่ไหลมากับน้ำมาเกี่ยวกระชังปลาขาด ต้องเฝ้าสังเกตการณ์ตลอดเวลา
จว.ริมน้ำโขงจ่อท่วม
    นายไพฑูรย์ รักษ์ประเทศ ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า ได้สั่งการให้เตรียมพร้อมรับมือ สถานการณ์น้ำท่วม เนื่องจากมีน้ำไหลจากจังหวัดนครพนม และทาง สปป.ลาวได้ปล่อยน้ำออกเขื่อนน้ำงึม 5 ลงสู่แม่น้ำโขงทางจังหวัดหนองคาย แล้วไหลผ่านที่จังหวัดมุกดาหาร 
    "ได้ประกาศให้พื้นที่อำเภอเมืองมุกดาหารและอำเภอดงหลวงเป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยแล้ว และได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้ว ส่วนวัดศรีมงคลเหนือ ที่อยู่บริเวณปากน้ำมุก มีการสร้างเขื่อน ได้กำชับให้โยธาธิการและผังเมืองเฝ้าระวังสังเกตการณ์ เนื่องจากน้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง" ผู้ว่าฯ มุกดาหารกล่าว
    จ.นครพนม นายสมชาย วิทย์ดำรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า ระดับน้ำโขงของสถานีตรวจวัดชุมชนหนองแสง เขตเทศบาลเมืองนครพนม ล่าสุดวัดได้ 11.85 เมตร ซึ่งต่ำกว่าระดับตลิ่งเพียง 1.15 เมตร ถือว่าเป็นการเพิ่มระดับน้ำสูงที่สุดในรอบ 10 ปี จากสถิติย้อนหลังพบว่าปี 2554 แม่น้ำโขงมีระดับ 12.66 เมตร และปีต่อๆ มาก็ลดระดับลง แม้ปี 2560 ที่ผ่านมา เกิดอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ ระดับแม่น้ำโขงอยู่ที่ 10 เมตรเท่านั้น จึงแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ติดกับแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาให้ระมัดระวังเหตุน้ำท่วมฉับพลัน 
    ผู้ว่าฯ นครพนมกล่าวว่า จากรายงานทราบว่ามี 56 ตำบล 398 หมู่บ้าน ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมแล้ว มีบ้านเรือนราษฎรเสียหาย 9 หลัง วัด 2 แห่ง ถนนถูกตัดขาด 30 สาย ฝายน้ำล้น 5 แห่ง พื้นที่การเกษตร 1,280,000 ไร่ โดยได้ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติแล้ว 8 อำเภอ ประกอบด้วย 1.ท่าอุเทน 2.โพนสวรรค์ 3.บ้านแพง 4.เรณูนคร 5.ปลาปาก 6.ธาตุพนม 7.เมืองนครพนม และ 8.นาแก แต่จะประกาศเพิ่มอีก 1 อำเภอ คือ อ.วังยาง ซึ่งเป็นอำเภอแรกที่รับมวลน้ำจากพื้นที่จังหวัดสกลนคร
    นายปริญญา คัชมาตย์ ผู้อำนวยการชลประทานฯ นครพนม กล่าวว่า จากการคาดการณ์ของนักวิชาการลุ่มน้ำโขงแจ้งเตือนว่า วันที่ 2 ส.ค.นี้ น้ำโขงจะขึ้น 12.45 เมตร และวันที่ 3 ส.ค. จะขึ้นสูงถึง 13.7 เมตร ซึ่งเป็นจุดเกินการแจ้งระดับวิกฤติ เพราะทางประเทศลาวปล่อยน้ำจากเขื่อนลงสู่แม่น้ำโขง อาจมีผลกระทบกับฝั่งไทย 
    จ.เชียงราย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น้ำป่าจากเทือกเขาดอยนางนอนไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรในตำบลโป่งงาม อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และถนนพหลโยธินสายแม่สาย-เชียงราย ยาวประมาณ 2 กิโลเมตร มีเพียงบ้านเรือนที่ราบลุ่มกว่า 20 หลังคาเรือนมีน้ำท่วมขังเล็กน้อย ในขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารมณฑลทหารบกที่ 37 ทหารหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่ 3 กองกำลังผาเมือง และเจ้าหน้าที่วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งเข้าทำการช่วยเหลือทำพนังกั้นน้ำไม่ให้ไหลเข้าบ้านและสูบน้ำออกจากบ้าน ซึ่งน้ำที่ลดจากด้านบนก็ได้ไหลลงท่วมถนนที่นาของชาวบ้านที่ปลูกข้าวไว้แล้วในพื้นที่ท้ายน้ำใน หมู่ 3 บ้านสันกอสา และหมู่ 6 บ้านถ้ำปลา ตำบลโป่งงามกว่า 500 ไร่ ความสูงจมมิดต้นข้าว จากข้อมูลขององค์การบริการส่วนตำบลโป่งงามพบว่าบ้านเรือนราษฎรที่โดนน้ำท่วมเบื้องต้น 7 หมู่บ้าน กว่า 500 หลังคาเรือน ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจเพื่อเข้าทำการช่วยเหลือ
    ส่วนสถานการณ์น้ำโขงด้านจังหวัดเชียงรายยังคงน่าเป็นห่วง เพิ่มระดับขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช้าวันนี้ระดับน้ำโขงหน้าที่ว่าการอำเภอเชียงแสน วัดได้ 7 เมตร 6 เซนติเมตร สูงกว่าเมื่อวาน 8 เซนติเมตร ในขณะที่จุดวิกฤติอยู่ที่ 10 เมตร และได้เอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ด้านล่างทั้งตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน และอำเภอเชียงของ และอำเภอเวียงแก่นแล้ว. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"