เขื่อนจ่อระบายนํ้า! ทบ.สั่งทหารพร้อม


เพิ่มเพื่อน    

 เขื่อน-อ่างเก็บน้ำทั่วประเทศใกล้วิกฤติ  "กรมชลฯ" เผยปริมาณน้ำใกล้เต็มอ่าง "เขื่อนแก่งกระจาน" เร่งระบายน้ำลงท้ายเขื่อน "รัฐบาล" เปิดศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ เฝ้าระวังตลอด 24 ชม. "มท.1" สั่งผู้ว่าฯ ประเมินสถานการณ์ ย้ำหากจำเป็นต้องอพยพคนออกก่อน "ผบ.ทบ." จัดทหาร 203 กองร้อยเตรียมพร้อมช่วยเหลือ "แม่น้ำโขง" ยังเอ่อล้นตลิ่งใน 5 จว.ภาคอีสาน "ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ" จี้รัฐแจ้ง ปชช.เขื่อนน้ำอูนล้นสปิลเวย์แล้ว 

    เมื่อวันที่ 3 ส.ค. เว็บไซต์ระบบฐานข้อมูลน้ำในอ่างเก็บน้ำ กรมชลประทาน เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์เขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ ทั่วประเทศไทย  เริ่มจากเขื่อนวชิราลงกรณ ที่กั้นแม่น้ำแควน้อย บริเวณต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ซึ่งมีความจุ 8,860 ล้าน ลบ.ม. แต่ขณะนี้มีปริมาณน้ำในอ่างถึง 7,351.00 ล้าน ลบ.ม. หรือ 82.97% แสดงให้เห็นถึงปริมาณน้ำที่ใกล้จะเต็มอ่าง เช่นเดียวกับเขื่อนศรีนครินทร์ ที่กั้นแม่น้ำแควใหญ่ บริเวณบ้านเจ้าเณร ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ที่จุน้ำได้ 17,745 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้มีน้ำในอ่างเก็บน้ำถึง 15,296 ล้าน ลบ.ม. หรือ 86.20% และที่เขื่อนแก่งกระจาน ที่กั้นแม่น้ำเพชรบุรี ต.แก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี จุน้ำได้ 710 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำในอ่างเก็บน้ำถึง 607 ล้าน ลบ.ม. หรือ 94.93% ทำให้แหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งหมดนี้ต้องเร่งปล่อยและระบายน้ำที่มีอยู่ลงสู่พื้นที่ท้ายเขื่อนอย่างต่อเนื่อง    เขื่อนน้ำอูน ซึ่งเป็นเขื่อนดินกั้นแม่น้ำอูน อ.พังโคน จ.สกลนคร ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 54 กิโลเมตร ปกติจุน้ำได้ 520 ล้าน ลบ.ม. แต่ขณะนี้มีน้ำในอ่าง 525.17 ล้าน ลบ.ม. หรือ 100.99% ซึ่งเกินกว่าปริมาณความจุแล้ว 
    ในส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง เช่น อ่างเก็บน้ำห้วยรังแร้ง อ่างเก็บน้ำน้ำซับคำโรงสี อ่างเก็บน้ำบ้านดงมะไฟ อ่างเก็บน้ำห้วยคำผักหนาม อ่างเก็บน้ำห้วยซวง อ่างเก็บน้ำห้วยโทห้วยยาง อ่างเก็บน้ำห้วยหวด อ่างเก็บน้ำห้วยกระเฌอ และอ่างเก็บน้ำห้วยหินชะแนนใหญ่ ที่อยู่ใน จ.สกลนคร แสดงตัวเลขปริมาณน้ำเกินกว่าที่จุไว้เช่นกัน
    นอกจากนี้ อ่างเก็บน้ำในจังหวัดอื่นๆ ที่มีปริมาณน้ำเกินกว่าที่จุไว้ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยสหาย และอ่างเก็บน้ำห้วยซำ ใน จ.บึงกาฬ, อ่างเก็บน้ำบุ่งหมากโมง อ่างเก็บน้ำห้วยหินชะแนน อ่างเก็บน้ำห้วยส้มโฮง อ่างเก็บน้ำห้วยแคน อ่างเก็บน้ำห้วยกะเบาใน จ.นครพนม, อ่างเก็บน้ำห้วยชะโนด อ่างเก็บน้ำห้วยไร่ อ่างเก็บน้ำห้วยไร่ 2 อ่างเก็บน้ำห้วยหินลับ อ่างเก็บน้ำห้วยพุง อ่างเก็บน้ำห้วยหอย อ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ ใน จ.มุกาดหาร, อ่างเก็บน้ำลำพันชาด อ่างเก็บน้ำลำพันชาดน้อย ใน จ.อุดรธานี, อ่างเก็บน้ำห้วยสังเคียบ อ่างเก็บน้ำห้วยสะทด อ่างเก็บน้ำห้วยฝา อ่างเก็บน้ำห้วยแกง อ่างเก็บน้ำห้วยโพธิ์ อ่างเก็บน้ำหนองหญ้าม้า อ่างเก็บน้ำห้วยจุมจัง ใน จ.กาฬสินธุ์, อ่างเก็บน้ำห้วยวังนอง อ่างเก็บน้ำห้วยพุงใหญ่ จ.ร้อยเอ็ด, อ่างเก็บน้ำห้วยสะแบก จ.ยโสธร, อ่างเก็บน้ำห้วยถ้ำแข่ อ่างเก็บน้ำห้วยโดน จ.อุบลราชธานี, อ่างเก็บน้ำน้ำเลย จ.เลย, อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ตอนบน, อ่างเก็บน้ำทับลาน จ.ปราจีนบุรี, อ่างเก็บน้ำด่านชุมพล จ.ตราด ซึ่งฝ่ายงานเกี่ยวข้องได้ทำการเร่งระบายน้ำที่มีอยู่ไปยังพื้นที่ด้านล่างโดยเร็วต่อไป
    นายประเสริฐ อินทับ ผู้อำนวยการเขื่อนศรีนครินทร์   การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ปัจจุบันวันที่ 3 ส.ค.2561 เวลา 07.00 น. อยู่ที่ระดับ 173.89 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นปริมาณน้ำ 15,296.48 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 86.20% ซึ่งถ้านำมาเปรียบเทียบกับสถานการณ์น้ำช่วงเดียวกันของปี 2560 อ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์มีข้อมูลระดับน้ำอยู่ที่ระดับ 167.92 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นปริมาณน้ำ 13,122.56 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 73.93% ถือได้ว่าปริมาณน้ำของเขื่อนศรีนครินทร์ในปีนี้ได้เพิ่มขึ้นกว่าปีที่แล้ว 12.27%
เขื่อนเร่งระบายน้ำ
    นายประเสริฐกล่าวว่า เมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา มีน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์เพิ่มขึ้น 52.81 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนศรีนครินทร์ที่สามารถใช้ได้มีจำนวน 5,031.48 ล้านลูกบาศก์เมตร และได้ระบายน้ำออกตามแผนการระบายน้ำโครงการชลประทานวันละ 12.09 ล้านลูกบาศก์เมตร และตอนนี้ยังสามารถรับน้ำได้อีก 2,448.52 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 13.80% จึงทำให้มั่นใจได้ว่าอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ยังคงสามารถรองรับน้ำฝนได้อีก โดยไม่เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงและปลอดภัยของตัวเขื่อน รวมไปถึงความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนชนท้ายน้ำอย่างแน่นอน
    "เขื่อนศรีนครินทร์มีการออกแบบและก่อสร้างตามมาตรฐานสากล โดยจะมีหน่วยงานด้านตรวจสอบและบำรุงรักษาเขื่อน ทำการตรวจสอบเขื่อนเป็นประจำทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุก 3 เดือน ด้วยเครื่องมือตรวจวัดพฤติกรรมเขื่อน ที่ติดตั้งไว้กับตัวเขื่อนตั้งแต่การก่อสร้างเขื่อน และทุกๆ 2 ปี จะมีการตรวจสอบประเมินความปลอดภัยเขื่อน ตามมาตรฐานเขื่อนใหญ่โลก ซึ่งช่วงนี้ที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง จึงได้เพิ่มการตรวจสอบเขื่อนให้มีความถี่มากขึ้นกว่าเดิม" ผอ.เขื่อนศรีนครินทร์กล่าว 
    ขณะที่นายไววิทย์ แสงพานิชย์ ผู้อำนวยการเขื่อนวชิราลงกรณ กล่าวว่า ข้อมูลสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ ซึ่งมีความจุอ่าง 8,860 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ระดับ 155 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) ณ วันที่ 3 ส.ค. เวลา 07.00 น. มีปริมาณน้ำในเขื่อน 7,361 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 83% โดย กฟผ.เขื่อนวชิราลงกรณ มีแผนการระบายน้ำ วันที่ 3-5 ส.ค.นี้ ระบายน้ำเฉลี่ย 36 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน 
    "สาเหตุที่ต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำ เนื่องจากมีปริมาณฝนตกเหนือเขื่อนมาก จึงจำเป็นต้องระบายน้ำ เพื่อให้มีพื้นที่รับน้ำเพียงพอ ซึ่งอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณยังสามารถรับน้ำได้อีก 1,499 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งทางเขื่อนวชิราลงกรณรับทราบปัญหาผลกระทบของประชาชนและผู้ประกอบการทางด้านท้ายน้ำ และได้ติดตามสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา แต่เนื่องจากเวลานี้มีปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างมากกว่าวันละ 100 ล้าน ลบ.ม. อย่างต่อเนื่อง จึงต้องมีการบริหารจัดการน้ำในอ่างให้อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถควบคุมได้ และถ้าปริมาณน้ำฝนที่ไหลเข้าอ่างลดลง ก็จะทำการลดการระบายน้ำลงเท่าที่จะทำได้" นายไววิทย์กล่าว
    ผอ.เขื่อนวชิราลงกรณกล่าวว่า เขื่อนวชิราลงกรณมีการออกแบบและก่อสร้างตามมาตรฐานสากล โดยมีหน่วยงานด้านบำรุงรักษาเขื่อนฯ ทำการตรวจสอบเขื่อน เป็นประจำทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน ทุกปี และโดยคณะกรรมการตรวจประเมินความปลอดภัยเขื่อนฯ ทุกๆ 2 ปี หรือเมื่อมีเหตุการณ์ที่จะส่งผลกระทบกับตัวเขื่อน เช่น ฝนตกหนัก ระดับน้ำในเขื่อนมากกว่า 80% หรือมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้น ก็จะมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเขื่อนด้วยเครื่องมือวัดที่ติดตั้งไว้ภายในตัวเขื่อนและบริเวณใกล้เคียงทันที เพื่อรายงานและวิเคราะห์ผลทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น
    ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือประชาชนหากเกิดเหตุด่วน เนื่องจากขณะนี้มีการประกาศเตือนให้เขื่อนหลายๆ เขื่อนเร่งระบายน้ำว่า ได้มีการแจ้งเตือนประชาชน 4 ขั้นตอน คือ 1.เฝ้าติดตาม 2.แจ้งเตือนเหตุ 3.แจ้งภัย และ 4.อาจจะต้องมีการดำเนินการหรืออพยพ ซึ่งที่สั่งการไปแล้วคือ ในระหว่างที่ได้มีการแจ้งข่าวไป ให้มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจำเป็นที่จะต้องเอาคนออกจากพื้นที่แล้วหรือยัง 
    "ในส่วนของพื้นที่ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องประเมิน เช่น หน่วยงานเกี่ยวกับน้ำ กรมอุตุฯ กรมชลประทาน และกรมทรัพยากรธรณี ทุกส่วนต้องประเมินร่วมกัน และหากจำเป็น ก็ต้องย้ายคนออกก่อน นอกจากนี้ต้องมีการดำเนินการในเรื่องของความปลอดภัย เช่น การเฝ้าสิ่งของไว้ อาจจะใช้อาสาสมัคร อส. ตำรวจ ช่วยกันดูแล" รมว.มหาดไทยกล่าว
รบ.ตั้งศูนย์เฉพาะกิจ
    พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวว่า กองทัพได้เตรียมการไว้ 203 กองร้อย ที่พร้อมออกมาช่วยเหลือได้ทันทีหากเกิดเหตุการณ์ขึ้น โดยให้หน่วยในพื้นที่ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคตะวันตก คือ จ.กาญจนบุรี ที่มีปริมาณฝนมาก ต้องมีการเตรียมการอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบเครื่องมือและทุกอย่างให้มีความพร้อม รวมทั้งผู้บังคับหน่วยในพื้นที่ ต้องไปดูพื้นที่ของตนเอง และประสานงานกับพื้นที่ ซึ่งทางหน่วยจะทราบดีว่าจุดใดจะเจอกับอุทกภัยบ้าง ก็ให้ไปดำเนินการเตรียมการไว้ตั้งแต่เบื้องต้น 
    วันเดียวกัน นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 9 หน่วยงาน 
    นายสมเกียรติกล่าวว่า สทนช.ได้ออกคำสั่งที่ 216/2561 ลงวันที่ 2 ส.ค.2561 เรื่องจัดตั้ง "ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ" ขึ้น เนื่องจากขณะนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทยเริ่มมีน้ำหลาก ประกอบกับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางหลายแห่งมีปริมาณน้ำมากกว่าเกณฑ์ควบคุมที่กำหนดไว้ ดังนั้นเพื่อเป็นการดำเนินการเชิงป้องกัน และไม่ให้เกิดความเสียหายที่เกิดจากน้ำ ทั้งลุ่มน้ำภายในประเทศและลุ่มน้ำระหว่างประเทศ ให้เป็นเอกภาพในการอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งสอดคล้องตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีบัญชาให้เปิดศูนย์เฉพาะกิจติดตามสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง โดยอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี  
    "การทำงานของศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ มีนายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ และมีผู้แทนจาก 9 หน่วยงานเข้าร่วม ประกอบด้วย กรมชลประทาน, กรมทรัพยากรน้ำ, กรมอุตุนิยมวิทยา, สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.), สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น,  กรมประชาสัมพันธ์, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อร่วมบูรณาการข้อมูลต่างๆ" เลขาฯ สทนช.กล่าว 
    ด้านนายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายจังหวัดบริเวณริมแม่น้ำโขง ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณน้ำในเขื่อนหลายแห่งอยู่ในเกณฑ์มาก จำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำ อาจส่งผลให้ปริมาณน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ และพื้นที่การเกษตร จึงได้ประสานให้จังหวัดที่อยู่ติดกับริมแม่น้ำโขงเฝ้าระวังสถานการณ์ระดับน้ำอย่างใกล้ชิด เตรียมพร้อมรับมือระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น โดยติดตั้งระบบสูบน้ำ บริหารการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำ เพื่อป้องกันน้ำเอ่อล้น และระบายน้ำออกตามสภาพพื้นที่ พร้อมทั้งแจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และจัดหาสถานที่ปลอดภัยรองรับการอพยพประชาชน
    "จังหวัดที่มีการพร่องหรือระบายน้ำ และจังหวัดท้ายน้ำ ให้นายอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งสร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารสถานการณ์ภัยในพื้นที่ ผ่านวิทยุกระจายเสียง เสียงตามสาย หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน และกำชับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัคร แจ้งข้อมูลข่าวสารและสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัย และปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการ ส่วนพื้นที่ท้ายเขื่อนให้เฝ้าระวังและติดตามการบริหารจัดการน้ำของหน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิด หากพบว่าปริมาณน้ำที่ระบายมีปริมาณมากและระดับน้ำสูง ให้ชี้แจงประชาชนทราบถึงความเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงความจำเป็นในการต้องอพยพประชาชนไปอยู่ในจุดที่ปลอดภัย" อธิบดี ปภ.กล่าว
แม่น้ำโขงยังล้นตลิ่ง
    ขณะที่นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำที่เขื่อนน้ำอูน อ.พังโคน จ.สกลนคร หลังฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนมาก ตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค.-1 ส.ค.ที่ผ่านมา จนมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนมากถึง 165 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ขณะนี้เต็มความจุอ่างแล้ว 
    นายทองเปลวกล่าวว่า เขื่อนน้ำอูนเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ มีความจุเก็บกัก 520 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยวันที่ 2 ส.ค. น้ำในอ่างมีปริมาตร 525.17 ล้านลูกบาศก์เมตร กรมชลประทานจึงเร่งพร่องน้ำผ่านอาคารระบายน้ำล้นออกสู่ลำน้ำอูน อีกทั้งเสริมท่อกาลักน้ำขนาด 12 นิ้ว จำนวน 10 ชุด เพื่อเพิ่มปริมาตรการระบายน้ำต่อวันให้มากขึ้น ก่อนหน้านี้พร่องน้ำผ่านอาคารระบายน้ำล้นอย่างเดียว ระบายได้วันละ 3.15 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่เมื่อเสริมกาลักน้ำ สามารถระบายน้ำเพิ่มขึ้นอีก 400,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน
    "จะติดตั้งกาลักน้ำเพิ่มอีก 15 ชุด เพื่อให้สามารถระบายน้ำออกจากอ่างเพิ่มขึ้นเป็น 4,150,000 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน ทำให้ระดับน้ำลดลงวันละประมาณ 5 เซนติเมตร และต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักได้ภายใน 7-10 วัน  สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเขื่อนขนาดกลางที่เต็มความจุ 47 เขื่อน กรมชลประทานได้ระบายน้ำออกตลอดเวลา เพื่อป้องกันน้ำล้นและรักษาเสถียรภาพของเขื่อน" อธิบดีกรมชลประทานกล่าว
    ศูนย์ประมวลวิเคราะห์และสถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน ได้รายงานสถานการณ์อุทกภัยริมลำน้ำโขง ว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนัก ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้น และเอ่อล้นตลิ่งใน 5 จังหวัด ได้แก่ จ.นครพนม มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ รวม 4 อำเภอ ประกอบด้วย อ.บ้านแพง อ.เมือง อ.ธาตุพนม และ อ.ท่าอุเทน ปัจจุบันระดับน้ำยังคงเพิ่มขึ้น จ.มุกดาหาร มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ รวม 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.หว้านใหญ่ อ.เมืองฯ และ อ.ดอนตาล ปัจจุบันระดับน้ำยังคงเพิ่มขึ้น
    ส่วน จ.อำนาจเจริญ มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ รวม 1 อำเภอ คือ อ.ชานุมาน ปัจจุบันระดับน้ำยังคงเพิ่มขึ้น จ.อุบลราชธานี มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ รวม 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เขมราฐ, อ.โพธิ์ไทร, อ.โขงเจียม, อ.นาตาล และ อ.ศรีเมืองใหม่ ปัจจุบันระดับน้ำยังคงเพิ่มขึ้น และ จ.บึงกาฬ มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ รวม 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองฯ, อ.บุ่งคล้า และ อ.ปากคาด ปัจจุบันระดับน้ำยังคงเพิ่มขึ้น
    ที่ จ.ตาก ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในอำเภอแม่สอด เกิดเหตุดินอุ้มน้ำไม่ไหวทรุดตัวและสไลด์ลงมาจากยอดเขา ปิดทับเส้นถนนสายแม่สอด-ตาก เจ้าหน้าที่แขวงทางหลวงตากที่ 2 ต้องเร่งเสริมแนวคันป้องกันดินและหินถล่มซ้ำ พร้อมนำป้ายแจ้งเตือนไปติดและปิดกั้นถนน 1 ช่องจราจร ป้องกันอุบัติเหตุ และจัดชุดเคลื่อนที่เร็วลาดตระเวนป้องกันดินสไลด์ตลอด 24 ชั่วโมง
    นายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ในช่วง 1-2 วันนี้ จะต้องเร่งระบาย เพราะเดือน ส.ค.จะมีปริมาณฝนมากผิดปกติทั้งเดือน รวมทั้งเขื่อนขนาดกลางกว่า 100 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน การระบายน้ำลงแม่น้ำโขงทำได้ยากด้วย ดังนั้นจะเกิดภาวะน้ำอั้นขึ้นมาเจอกันสามน้ำ ทั้งน้ำฝน น้ำเขื่อน น้ำโขงสูง ส่งผลพื้นที่แนวแม่น้ำโขงสถานการณ์ท่วมมากขึ้น
    “การระบายน้ำจากเขื่อน ควรปล่อยในวันสองวันนี้ และต้องแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า ประกาศแผนการระบายอย่างชัดเจนให้ประชาชนได้ทราบน้ำจะท่วมบริเวณไหน กระทบที่ใดบ้าง ระดับน้ำท่วมสูงเท่าไหร่ ท่วมนานแค่ไหน เช่น เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร ขณะนี้ล้นสปิลเวย์แล้ว ต้องบอกให้ชาวบ้านเตรียมรับน้ำท่วม" นายเสรีกล่าว
    ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ กล่าวว่า ในภาคอีสานมีเขื่อนขนาดกลางจำนวนมากเป็นเขื่อนดิน มีความอ่อนไหวเสี่ยงสูง ไม่รู้สภาพความแข็งแรงเป็นอย่างไร อาจเกิดอันตรายมาก เพราะโดยหลักการจะต้องไม่ให้น้ำล้นสันเขื่อน และได้ประเมินหรือไม่เมื่อฝนตกมาทำให้ล้นสันเขื่อนหรือเปล่า ขณะนี้ต้องประเมินให้ได้ก่อน โดยต้องรู้ว่าเมื่อไหร่มีความเสี่ยงจะล้น หากปล่อยตั้งแต่วันนี้ เพราะถ้าล้นสันเขื่อนเสี่ยงมากน้ำตัดสันเขื่อนทำให้เขื่อนขาดได้ 
    "เวลานี้ทุกอย่างขึ้นกับฝน ซึ่งท้องถิ่นควรมีข้อมูลด้วย เช่น 1 เดือนที่ผ่านมา หรือรายสัปดาห์มีน้ำเท่าไหร่ ฝนตกเท่านี้ น้ำเติมเขื่อนเท่าไหร่ ในแต่ละสัปดาห์ปริมาณน้ำเป็นอย่างไร ตอนนี้หลายคนก็สงสัยว่าก่อนหน้านี้ทำไมถึงปล่อยให้เต็มเขื่อน อย่างเช่น เขื่อนวชิราลงกรณ ศรีนครินทร์ แก่งกระจาน น้ำอูน ซึ่งเสี่ยงสูง หากฝนตกมากไม่รู้ปริมาณฝนล่วงหน้า” ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"