ยี้ปฏิรูปตำรวจ ทำแค่‘บริหาร’ เมินเสียงปชช.


เพิ่มเพื่อน    

  "วิรุตม์" ชี้ กม.ปฏิรูปตำรวจไม่ตอบโจทย์ประชาชน งานสอบสวนยังขาดอิสระ ไร้หลักประกันความยุติธรรม องค์กรสตรีปลุกเคลื่อนไหวค้านประกาศสตช.รับ ตร.สอบสวนชาย ขัด รธน.-กีดกันทางเพศ จ่อยื่นผู้ตรวจแผ่นดินวินิจฉัยให้โมฆะ

    เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร  อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ..... และร่างพ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา พ.ศ..... ตามที่คณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. .... ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ได้พิจารณาวาระที่หนึ่งเสร็จแล้ว ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เผยแพร่เพื่อให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องว่า   ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่นี้ แม้ในภาพรวมจะถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงมาก ซึ่งบางคนอาจคิดว่าเป็นการปฏิรูประบบตำรวจแล้ว แต่ในความเป็นจริง ประเด็นที่แก้ไขหรือเพิ่มเติมล้วนแต่เป็นเรื่องการบริหารงานบุคคล ซึ่งถือเป็นเรื่องภายในองค์กรเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย การช่วยราชการ การมีคณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรม และคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์
     "ไม่ได้มีแนวทางปฏิรูปที่สอดคล้องกับเสียงเรียกร้องต้องการของประชาชนอย่างแท้จริงเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตำรวจจังหวัด ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องมีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายให้คุณให้โทษตำรวจในจังหวัดได้เมื่อผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการตำรวจจังหวัด  หรือ กต.ตร.ปัจจุบัน ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน อยู่แล้ว ซึ่งสามารถปรับโครงสร้างองค์ประกอบให้มีข้าราชการในกระบวนการยุติธรรมฝ่ายอื่นเพิ่มขึ้น รวมทั้งตัวแทนทนายความและสื่อมวลชนและองค์กรเอกชนในจังหวัด" พ.ต.อ.วิรุตม์ระบุ
    สำหรับงานสอบสวน แม้จะกำหนดให้มีสายงานสอบสวน มีตำรวจระดับผู้บัญชาการเป็นหน้าคู่ไปกับผู้บัญชาการพื้นที่ มีอำนาจเสนอแต่งตั้งโยกย้ายและเลื่อนเงินเดือนพนักงานสอบสวน แต่ระบบงานสอบสวนยังไม่มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง โดยเฉพาะสถานี ยังไม่เห็นการกำหนดความเป็นอิสระของหัวหน้างานสอบสวนสถานีในเรื่องการเสนอแต่งตั้งโยกย้ายและการเลื่อนเงินเดือน รวมทั้งการลงโทษทางวินัย ความเป็นอิสระของพนักงานสอบสวนที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอยาก หรือความกลัว เพื่อเป็นหลักประกันความยุติธรรมในการรวบรวมพยานหลักฐานด้วยความสุจริตและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงจึงยังไม่เกิดขึ้น
    ในส่วนของการโอนหน่วยตำรวจและงานสอบสวนเฉพาะทาง 11 หน่วย เช่น ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง  ตำรวจน้ำ ตำรวจทางหลวง กองบังคับการตำรวจจราจร  ตำรวจป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ  ตำรวจป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจคุ้มครองผู้บริโภค ไปให้กระทรวงทบวงกรมที่รับผิดชอบตามมติสภาปฏิรูปแห่งชาติและมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายๆ ด้วยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับปัจจุบันเท่านั้น ก็ไม่มีความชัดเจน  
    พ.ต.อ.วิรุตม์กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนดคีอาญาว่า ยังคงเป็นการกำหนดวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับสอบสวนในเรื่องที่ไม่ใช่สาระสำคัญของปัญหา เช่น ประเด็นการตรวจสอบควบคุมการสอบสวนคดีสำคัญโดยพนักงานอัยการตั้งแต่เกิดเหตุ รวมทั้งคดีที่ประชาชนร้องเรียนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม และการบันทึกภาพเสียงการสอบปากคำผู้กล่าวหา ผู้เสียหาย ประจักษ์พยาน และผู้ต้องหา ยังไม่ได้ถูกกำหนดไว้ ยังคงเป็นช่องว่างที่พยานหลักฐานการกระทำผิดคดีต่างๆ อยู่ในความรับรู้ของตำรวจฝ่ายเดียว โดยเฉพาะการสอบปากคำบุคคลมีโอกาสที่จะเกิดความคลาดเคลื่อนหรือบิดเบือนได้ง่ายอย่างยิ่ง ไม่มีใครหรือองค์กรใดสามารถตรวจสอบระหว่างการสอบสวนได้ว่า พนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานอย่างครบถ้วนเพื่อพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหาด้วยความสุจริตและมีประสิทธิภาพยุติธรรมอย่างแท้จริงหรือไม่
    "ประเด็นการปฏิรูปสำคัญที่ไม่ได้ถูกบัญญัติไว้ในร่างกฎหมายทั้งสองฉบับของคณะกรรมการปฏิรูปชุดนายมีชัย ก็เป็นเรื่องที่ประชาชนจะต้องเรียกร้องต่อรัฐบาลไม่ว่าชุดนี้หรือพรรคการเมืองที่จะอาสามาเป็นรัฐบาลในการหาเสียงการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นให้ดำเนินการปฏิรูปต่อไป" พ.ต.อ.วิรุตม์กล่าว
     ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา สมาคมส่งเสริมศักยภาพสตรี พร้อมองค์กรภาคี จัดเวทีสัมมนาเรื่อง "การเมืองเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศ" พร้อมเสนอความเห็นไปยังคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ ที่มีนายมีชัยเป็นประธาน เพื่อแก้ปัญหาการกีดกันเพศหญิงเข้ารับราชการในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) หลังมีประกาศรับสมัครสอบเข้ารับราชการตำรวจสัญญาบัตรคุณวุฒิเนติบัณฑิต เพื่อทำหน้าที่สายงานสอบสวน ที่จำกัดการรับสมัครเฉพาะเพศชายเท่านั้น
        โดยคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ กรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ กล่าวว่า หลังจากทราบประกาศของสตช.ดังกล่าว ตนนำเข้าที่ประชุมกรรมการฯ และเล่าให้นายมีชัย และนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ กรรมการฯ ทราบ โดยคำตอบที่ได้คือ ประกาศรับสมัครสอบที่จำกัดเฉพาะเพศชายขัดกับรัฐธรรมนูญ ขณะที่ความเห็นของตน มองว่าการประกาศรับสมัครสอบหรือแข่งขันต้องยึดความรู้ ความสามารถ ตามความจำเป็นและเหมาะสมกับตำแหน่งที่ประกาศรับสมัคร ขณะเดียวกัน การดำรงตำแหน่งข้าราชการ ควรยึดระบบคุณธรรม ที่มีหัวใจคือหลักความสามารถ ดังนั้นการเปิดรับสมัครข้าราชการ ที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนด้านการประกอบอาชีพ การระบุหรือจำกัดเพศ เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องและผิดกฎหมายว่าด้วยความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 มาตรา 17
         คุณหญิงทิพาวดีกล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ ที่จัดทำแล้วเสร็จเบื้องต้นว่า มีหลักการปฏิรูปที่สำคัญคือ กำหนดว่าพนักงานสอบสวน ไม่จำเป็นต้องเป็นข้าราชการตำรวจ เพราะเนื้อหากฎหมายบัญญัติให้พนักงานสอบสวนมีอิสระ และมีความเป็นมืออาชีพ ขณะที่ผู้บังคับบัญชางานสอบสวน ต้องเป็นผู้ที่ดูแลและรับผิดชอบโดยตรงเพื่อแก้ปัญหากรณีที่มีผู้มีอำนาจแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงรูปคดี
    ด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก ตัวแทนนักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ประกาศของ สตช.ดังกล่าวอาจเป็นเพราะความไม่รู้กฎหมาย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ ซึ่งมองให้เห็นว่า สตช.หรือหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องนั้น ขาดวิสัยทัศน์ต่อการแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและปัญหาที่ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อของการกระทำความรุนแรง ทั้งที่ในทางสากลเปิดรับพนักงานสอบสวนหญิงเพื่อหวังให้แก้ปัญหาเหล่านี้
        "ประเทศไทยมีพนักงานสอบสวนหญิงประมาณ 400 คน จากตำแหน่งกว่า 10,000 ตำแหน่ง ดังนั้นควรใช้ช่องทางของผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้วินิจฉัยประกาศของ สตช. เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานให้กับหน่วยงานรัฐ ราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรเอกชน หากจะกีดกันการสมัครงาน เพราะเพศสภาพเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง รวมทั้งขอเรียกร้องให้สำนักงานกิจการสตรี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แสดงบทบาทต่อการพิทักษ์สิทธิและความเสมอภาคของสตรีด้วย" น.ส.รัชดาระบุ
         น.ส.ลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ ตัวแทนนักการเมืองจากพรรคเพื่อไทย เรียกร้องให้มีกระบวนการเคลื่อนไหวและกดดันให้ประกาศรับสมัครสอบดังกล่าวเป็นโมฆะ แม้ขณะนี้จะปิดรับสมัครสอบแล้ว ซึ่งภาคการเมือง และองค์กรสตรีต้องช่วยกันทำหนังสือไปยัง สตช. หากยังนิ่งเฉย ต้องทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะผู้กำกับดูแล สตช. เพื่อให้พิจารณา
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเสวนา สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี พร้อมองค์กรภาคีที่ร่วมงาน  มีความเห็นร่วมกันว่าจะทำหนังสือไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ตรวจสอบการออกประกาศของ สตช.ดังกล่าวว่าเข้าข่ายขัดกับรัฐธรรมนูญและกฎหมาย รวมถึงปฏิญญาสากลที่เกี่ยวกับการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และการไม่เลือกปฏิบัติหรือไม่ ขณะเดียวกันเรียกร้องไปยัง สตช. ให้แก้ไขคำประกาศรับสมัครสอบดังกล่าวฯ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิกเฉย อาจต้องยื่นหนังสือนายกฯและเคลื่อนไหวผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"