การพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืน : ประสบการณ์จากอาเซียน “การพัฒนาเมืองไม่ได้หมายความว่าต้องไล่คนออกไป”


เพิ่มเพื่อน    

ศูนย์ประชุมเมืองทองธานี/ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จัดงาน  ‘Thailand Social Expo 2018’ ซึ่งเป็นมหกรรมด้านสังคมครั้งแรกของประเทศไทย  ระหว่างวันที่ 3 – 5 สิงหาคม 2561 ณ ฮอลล์ 5-8  ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค  เมืองทองธานี  ขณะที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และขบวนองค์กรชุมชนได้จัดเวทีวิชาการ “นวัตกรรมชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”  มีการเสวนาในประเด็นต่างๆ  เช่น  เรื่อง  “Inslusive City Development” โดยวิทยากรจากประเทศอาเซียน

ศาสตราจารย์ Yap Kioe Sheng  (Urban Poverty and Housing Advisor)  จากประเทศสิงคโปร์กล่าวว่า  ก่อนหน้านี้ผู้คนอาศัยอยู่ในชนบท แต่ปัจจุบันคนย้ายเข้ามาอยู่ในเมือง  และตอนนี้เรามีเมืองที่ใหญ่มาก ทั้งคนที่รวย  คนจนมาอาศัยอยู่ร่วมกัน การพัฒนาเมืองก็มีข้อดี  เพราะทุกคนเข้าเมืองมาเพื่อทำงานหาเงิน โอกาส  เทคโนโลยี  ความรู้ก็มีมาก ในเมืองใหญ่สิ่งที่ยากคือ การหาที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม และต้องเรียนรู้การอยู่อาศัยร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างในพื้นที่ ซึ่งแตกต่างจากในชนบทที่ทุกคนเป็นเพื่อนเป็นพี่น้องกัน

อย่างไรก็ตาม  ทุกคนที่อาศัยอยู่ในเมือง ต่างก็เป็นพลเมืองของพื้นที่และได้ทำหน้าที่ที่สำคัญ  ไม่ว่าจะขายอาหารริมถนน   ขับรถมอเตอร์ไซค์  คนเก็บขยะ  ฯลฯ  เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเมือง ดังนั้นทุกคนในเมืองจึงควรได้รับการดูแลและได้รับการสนับสนุน

“กรุงเทพฯ ควรเป็นพื้นที่ของทุกคน เป็นเมืองของทุกคน  คนจน คนแก่ เด็ก เยาวชน แต่ในบางครั้งเมืองก็กลับกลายเป็นพื้นที่ของคนรวยเท่านั้น กรุงเทพฯ เป็นเมืองของคนขับรถ ไม่มีพื้นที่สำหรับเดิน ไม่มีระบบขนส่งสาธารณะที่ถูก (มีรถไฟฟ้าที่ราคาแพง) ไม่มีพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับคนพิการที่ใช้รถเข็น”ศาสตราจารย์  Yap กล่าว  และว่า  เราคงไม่ได้ร้องขอให้รัฐบาลมาทำอะไรให้เราเพียงฝ่ายเดียว แต่ในฐานะประชาชนเราต้องลุกขึ้นมาจัดการปัญหาต่างๆ ของเราเองได้

 

นอกจากนี้เวลาเราพูดถึงเรื่องการพัฒนา มักพูดถึงแต่เรื่องเงิน  เศรษฐกิจแต่เพียงเท่านั้น  แต่ยังไม่พอ  เราควรมองถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดี  การมีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต  ทุกคนมีอยู่มีกิน   เข้าถึงการรักษาสุขภาพ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่มีกระทรวง พม. ซึ่งเป็นกระทรวงหลักในการดำเนินการเรื่องเหล่านี้

Marco  Kusumawijaya (Senior Advisor, Center for Urban Studies Jakarta) ประเทศอินโดนีเซีย  กล่าวว่า  เมืองในยุค 1.0เป็นเมืองที่รัฐเป็นผู้จัดการ  แต่เมือง 4.0 คือชุมชนและรัฐร่วมกันจัดการเมือง  เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เมืองจาการ์ตา (เมืองหลวงของประเทศ) เผชิญกับการไล่รื้อครั้งใหญ่   เราได้ดำเนินการอย่างหนักในการต่อสู้เรื่องการไล่รื้อ เรานำเสนอแนวทางการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม โดยได้รับความรู้และประสบการณ์จาก พอช. และกรณีตัวอย่างจากประเทศไทย

“การเริ่มงานในจาการ์ตา เริ่มต้นเหมือนที่ดำเนินการในโครงการบ้านมั่นคงในประเทศไทย มีการดำเนินงานสำรวจข้อมูล 23 ชุมชนในเมืองจาการ์ตา แต่ 23 ชุมชนเป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการดำเนินงานเมืองเทียบกับประชากรทั้ง 10 ล้านคนในประเทศอินโดนีเซีย  เราได้สร้างกลยุทธ์ในการออกแบบชุดให้กับคนหาบเร่แผงลอย  เพื่อใช้ในการพูดคุยชักชวนเจ้าหน้าที่รัฐให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ  แต่ก็ยังมีปัญหา  เช่น ความเชื่อมั่นจากหน่วยงานรัฐ ที่ไม่เชื่อมั่นในเรื่องการเปลี่ยนแปลง  โดยใช้การสร้างที่อยู่อาศัยเป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนจากเดิมที่รัฐเป็นหน่วยงานที่ไล่รื้อ  ต้องเปลี่ยนมาเป็นสนับสนุน”  Marco กล่าว และบอกว่า ระบบการบริหารของรัฐต้องเปลี่ยนมาสนับสนุนชุมชน  แต่หน่วยงานที่สนับสนุนการดำเนินงานของชุมชนก็ไม่มีอย่างชัดเจน  อีกทั้งคนทำงานในพื้นที่ก็ยังไม่เข้มแข็ง

อย่างไรก็ตาม  ตอนนี้เรามีหน่วยงานใหม่ในการสนับสนุนทุนเพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัยในหน่วยงานที่มีอยู่เดิม  พร้อมทั้งมีการจัดสรรที่ดินที่เหมาะสม   และขณะนี้เราพยายามตั้งองค์กรที่คล้ายๆ พอช.ในระดับจังหวัด  รวมทั้งมีความพยายามในการร่างยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยในประเทศอินโดนีเซีย

Murali Ram จากโครงการ Think city ประเทศมาเลเซีย  ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อสังคมที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล  โดยสนับสนุนงบประมาณลงไปสู่ชุมชน  ร่วมงานกับหน่วยงานท้องถิ่นและชุมชนในพื้นที่ปีนัง  โดยการอนุรักษ์บ้านเก่า ตึกเก่า  อนุรักษ์วัฒนธรรมและพื้นที่ทางวัฒนธรรม

“200 ปีที่แล้ว ปีนังเป็นเมืองท่าที่คึกคัก แต่ปัจจุบันเมืองได้เปลี่ยนไป กลายเป็นอาคารบ้านช่องที่ทรุดโทรม ผู้คน จึงอพยพย้ายออกจากเมือง  โครงการฯ จึงมาหาจุดแข็งของเมืองว่าเรื่องใดที่เราจะฟื้นฟูเมืองได้ ซึ่งก็คือเรื่องวัฒนธรรม อาคารบ้านเรือน  และเรื่องอาหาร เราจึงเริ่มฟื้นฟูโดยทำงานร่วมกับชุมชนมัสยิดในการอนุรักษ์มัสยิด เพื่อสร้างความเชื่อมั่น  สร้างความเชื่อใจของคนในพื้นที่   โดยทำการอนุรักษ์อาคารเก่าในพื้นที่ และพัฒนาปรับปรุงจนกลายมาเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจของเมือง เช่น  มีการจัดงาน Grorge Town Festival ซึ่งเป็นงานที่มีชื่อเสียง มีการบันทึกเรื่องราว ดนตรี จนสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์” Murali Ram  กล่าว

Murali Ram  กล่าวด้วยว่า  เมือง Grorge Town เป็นเมืองเล็กๆ แต่ก็สามารถพัฒนาให้เป็นเมืองที่มีชีวิต  มีผู้คนเข้ามาใช้ชีวิตและดำเนินธุรกิจในเมืองได้ ไม่จำเป็นต้องย้ายมาอยู่อาศัยในเมืองใหญ่ มีการปรับปรุงพื้นที่สาธารณะในเมืองด้วยการทำงานร่วมกับคนในเมือง ทำให้คนรู้สึกอยากกลับเข้ามาอยู่ในเมืองเพราะมีพื้นที่ที่ดี  มีคุณภาพชีวิตที่ดี

การปรับปรุงกลุ่มบ้านแถว จากเดิมที่มีแผนในการไล่รื้อคนที่อยู่อาศัยออก จึงลงพื้นที่เข้าไปดำเนินการกับกลุ่มเจ้าของบ้านเช่าและผู้เช่าในการปรับปรุงอาคาร ทำงานร่วมกับ ACHR(มูลนิธิที่อยู่อาศัยแห่งเอเชีย)  มีการจัดกระบวนการการมีส่วนร่วม เพื่อให้คนที่อาศัยอยู่เดิมได้มีที่อยู่อาศัย ซึ่งคนเป็นหัวใจสำคัญของพื้นที่นั้นๆ

โครงการบัตเตอร์เวิร์ธ การฟื้นฟูพัฒนาย่าน เริ่มต้นด้วยการค้นหาจุดเด่นของพื้นที่ ด้วยการเริ่มต้นการสำรวจและการพูดคุยกับคนในเมือง  เพื่อค้นหาอัตลักษณ์และศักยภาพของพื้นที่ร่วมกัน ด้วยกระบวนการเดินสำรวจเมือง ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำให้ผู้คนเข้าใจเมืองตนเองมากขึ้น

Parked Angkera  (Deputy Director General of the Housing)จากประเทศกัมพูชา  กล่าวว่า  การเจริญเติบโตของเมืองพนมเปญดึงดูดให้คนเข้ามาในเมืองมากขึ้น  ประกอบกับปัญหาของภาคชนบท  เกษตรกรรมไม่สร้างรายได้  จึงผลักดันประชากรให้เข้ามาในเมือง ทั้งนี้ผู้คนในพนมเปญ 55% ต้องเผชิญกับปัญหาความยากจน การไม่มีที่อยู่อาศัย  ประชากรต้องอยู่ในสลัม  ประกอบกับทางการไม่ยอมรับว่าในเมืองมีปัญหาคนจนที่อาศัยในสลัม 

“ส่วนแผนการพัฒนาที่อยู่อาศัยระดับประเทศ รัฐบาลมีแผนในการพัฒนาที่อยู่อาศัย 80,000 ยูนิตต่อปี  แผนการพัฒนานี้มีเป้าหมายเข้าถึงกลุ่มคนผู้มีรายได้น้อย  รัฐบาลได้ทำงานร่วมกับเอกชนเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1 แสนบาท)  เพื่อให้คนมีรายได้น้อยเข้าถึง  นอกจากนี้หากเอกชนทำโครงการสำหรับผู้มีรายได้น้อย รัฐบาลจะทำการสนับสนุนงบประมาณให้กับเอกชนด้วย”  Parked  กล่าวและบอกว่า  การจัดการเรื่องที่อยู่อาศัย  รัฐบาลจะมีแผนการพัฒนาแบบองค์รวม เพื่อให้คนรายได้น้อย  ปานกลาง รายได้สูง  สามารถอาศัยอยู่ร่วมกันได้

นอกจากนี้ในส่วนของชุมชน ขณะนี้ได้มีการร่างแผนการพัฒนาชุมชนและจะเป็นเรื่องที่ให้ความสำคัญต่อไป ปัจจุบันมีการประสานความร่วมมือในการทำงานร่วมกัน  ทั้งเอกชน ชุมชน และภาคีความร่วมมืออื่นๆ ในพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย

Natalja Wehmer  จากโครงการที่อยู่อาศัยแห่งสหประชาชาติ (UN-Habitat) กล่าวว่า  เมื่อไหร่ก็ตามที่คนพัฒนา ประเทศนั้นก็จะพัฒนาไปด้วย  แต่ปัจจุบันประชากร 20%  ในประเทศต้องอาศัยอยู่ในสลัม อยู่ในที่ที่มีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี เราจะทำอะไรกับปัญหานี้ได้หรือไม่ ?  ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ และปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องตัดสินใจร่วมกัน  อย่างไรก็ตาม  ในการเข้าถึงที่ดิน การเข้าถึงทรัพยากรจากภาครัฐ เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ UN มีแผนเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

“วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน  มีเป้าหมายบรรลุภายในปี 2573 (SDGs 2030 Agenda) เป็นข้อตกลงที่รัฐบาลทุกรัฐบาลที่เป็นสมาชิก UN   ให้การเห็นชอบในการดำเนินงานตามแนวทางนี้ เป็นข้อตกลงของรัฐบาลในการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ  การออกแบบเมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ผู้มีรายได้น้อยจะเป็นกลุ่มคนที่ได้รับการสนับสนุนจากคนรอบข้าง และตัวเองต้องลุกขึ้นมาพัฒนาตนเองด้วย” ผู้แทนสหประชาชาติกล่าว

นอกจากนี้การพัฒนาที่ยั่งยืนไม่เพียงแต่มีเป้าหมายเพียงข้อใดข้อหนึ่งเท่านั้น แต่ยังมีเป้าหมายในการสร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่นและชุมชน ซึ่งทุกคนสามารถใช้เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเครื่องมือสำคัญในการเจรจาต่อรองกับหน่วยงานรัฐได้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น  ทั้งการแก้ไขปัญหาความยากจน ที่อยู่อาศัย ล้วนแล้วแต่เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งสิ้น อีกทั้งเป็นเรื่องที่รัฐบาลได้ลงนามบันทึกข้อตกลงในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาเหล่านี้แล้ว จึงอยากให้แต่ละเมือง  แต่ละพื้นที่ได้วางเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของตนเอง และพัฒนาต่อยอดเรื่องเหล่านี้ให้ไปสู่ระดับประเทศได้

นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา  ที่ปรึกษาคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กล่าวว่าเมืองต่างๆ ในประเทศไทยและในเอเซียมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากการเปลี่ยนแปลงของเมืองที่จะเกิดขึ้นได้ก็จะเกิดการไล่รื้อ เมือง  ผู้คน ชุมชน ระบบโครงสร้างความสัมพันธ์ผู้คนในเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่ง 1 ใน 7 ประชากรในโลกยังต้องอาศัยอยู่ในที่อยู่อาศัยที่ไม่มั่นคง บางเมืองคนมากกว่าครึ่งต้องอาศัยอยู่ในสลัม

 

แนวโน้มความท้าทายของการพัฒนาในประเทศเอเชีย จะเกิดการเคลื่อนย้ายผู้คนจากชนบทเข้าเมือง รัฐบาลแต่ละประเทศมีแนวโน้มในการรวมศูนย์มากขึ้น เกิดการไล่ที่ เกิดการอพยพย้ายถิ่นเพื่อทำมาหากิน การอยู่อาศัยแบบปัจเจกมากขึ้น ที่อยู่อาศัยอยู่ไกล ต่างคนต่างอยู่  ไม่มีงบประมาณในการพัฒนาเรื่องที่อยู่อาศัย

ตัวอย่างของประเทศสิงคโปร์ ใช้เรื่องที่อยู่อาศัยในการสร้างสถานภาพ สร้างความเป็นพลเมืองให้กับผู้คนในเมือง คนสิงคโปร์มากกว่า 90 % อาศัยอยู่ในแฟลต หลายประเทศทั่วโลกอยากนำแนวทางนี้มาพัฒนาที่อยู่อาศัยเป็นต้นแบบ แต่โมเดลนี้ไม่ได้เหมาะสมกับทุกพื้นที่

“ในเมืองไทย ได้มีกระบวนการคิดค้นเรื่องการแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างก้าวหน้าและรวดเร็ว  คือการแก้ไขปัญหาโดยประชาชน ซึ่งเรื่องของที่อยู่อาศัยไม่ใช่สินค้า ไม่ใช่ให้ใครมาสร้าง แต่ที่อยู่อาศัยคือการสร้างชุมชน ต้องให้คนในชุมชนเป็นหลักในการพัฒนา”  นางสาวสมสุขกล่าว

นางสาวสมสุขกล่าวถึงเรื่องการพัฒนาเมือง 3 ทิศ คือ 1.เศรษฐกิจนำ 2. กายภาพเป็นหลัก (ต้องมีชุมชน  มีเมืองที่ดี สวยงาม ) 3. คนและสังคมเป็นหลัก ดังนั้นเมืองจะพัฒนาไปทำไมถ้าไม่พัฒนาเพื่อคนในเมือง ? และให้ประชาชนมีส่วนร่วม เชื่อมโยง  วางแผน และมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน  ซึ่งการทำเรื่องที่อยู่อาศัย คือระบบการอยู่อาศัยร่วมกัน  ไม่ใช่เฉพาะแต่เรื่องที่อยู่ที่นอน แต่เป็นการสร้างสิทธิขั้นพื้นฐานร่วมกัน มีสวัสดิการ มีสังคมร่วมกัน ช่วยเหลือกัน ชุมชนเป็นรากฐานของการสร้างเมือง เป็นประชาชนที่ตื่นรู้ 

 

“การพัฒนาเมืองไม่ได้หมายความว่าต้องไล่คนออกไป แต่เป็นการเปลี่ยนการพัฒนาใหม่ คนเดิม  ชุมชนเดิม        แต่ปรับปรุงที่อยู่อาศัยใหม่ จัดพื้นที่ใหม่ ได้ inclusive city หมายถึงการที่คนทุกคนในเมืองได้เป็นส่วนหนึ่งของเมือง  ได้มีที่อยู่อาศัยที่ดี  สวยงาม  ปลอดภัยในที่ดินเดิม   ดังนั้นเรื่องบ้านและที่อยู่อาศัย จึงเป็นจุดเริ่มต้น  นำไปสู่การพัฒนาเรื่องอื่นๆ อย่างรอบด้าน เป็นการสร้างระบบใหม่ของเมืองที่มีองค์ประกอบจากท้องถิ่น   ชุมชน  สถาบันการศึกษา  และภาคีอื่นๆ”  นางสาวสมสุขกล่าวสรุป

นอกจากนี้ในงานเสวนาครั้งนี้  ในช่วงท้ายตัวแทนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ และตัวแทนเครือข่ายองค์กรชุมชนได้ร่วมกันมอบเงินบริจาคช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมในแขวงอัตตะปือ  สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวให้แก่ผู้แทนจากลาวที่เข้าร่วมในงานครั้งนี้  จำนวนเงิน 31,000 บาท

 

 

 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"