สตาร์ทเครื่องรอ 7 เสือ กกต.ชุดใหม่


เพิ่มเพื่อน    

 สตาร์ทเครื่องรอ 7 เสือ กกต. เลือกตั้ง 4 พันล้าน มีวอร์รูมคุมโซเชียล

                หลังได้ชื่อ ว่าที่ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คนใหม่คือ อิทธิพร บุญประคอง  อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่าได้นำชื่อนายอิทธิพรและว่าที่ กกต.อีก 4 คนที่ สนช.ลงมติเห็นชอบขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายไปแล้วเมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา 

                ระหว่างรอให้ 5 เสือ กกต.ชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ การสรรหา กกต.อีก 2 ชื่อเพื่อให้ครบ 7 ชื่อก็จะเริ่มต้นนับหนึ่งในสัปดาห์หน้านี้ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ในฐานะพ่อบ้านหรือฝ่ายเสนาธิการใหญ่ กกต. ที่ก่อนหน้านี้เดินทางไปให้ข้อมูลภารกิจหลังเข้ารับตำแหน่งแก่ กกต.ชุดใหม่ 5 คน เมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่รัฐสภา โดยกางแผนงานภารกิจสำคัญที่รอให้ กกต.ชุดใหม่เข้ามารับไม้ต่อ โดยเฉพาะ 3 ภารกิจสำคัญคือ การจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ในปีหน้าตามโรดแมปของคสช., การได้มาซึ่ง ส.ว. และการจัดเลือกตั้งท้องถิ่น         

                เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า วันใดที่มีการโปรดเกล้าฯ กกต.ชุดใหม่ กกต.ชุดปัจจุบันก็ไม่ต้องทำหน้าที่ จะมีความเชื่อมต่อกัน งานต่างๆ กกต.ชุดใหม่เข้ามาก็สานต่อได้เลย เพราะ กกต.ชุดปัจจุบันก็ได้เตรียมไว้ทุกอย่าง เช่น ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ที่มาแทน กกต.จังหวัด ซึ่งหลัง กกต.ตั้งแล้วก็ต้องนำรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้งแต่ละจังหวัดไปติดประกาศรายชื่อไว้ที่จังหวัดเพื่อเปิดโอกาสให้มีการคัดค้านได้ เพื่อให้พิจารณาว่าชื่อที่ตั้งไปมีความเหมาะสมจะมาทำหน้าที่ผู้ตรวจการเลือกตั้งหรือไม่ หากมีการคัดค้านรายชื่อ กกต.ก็ต้องมาพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร สืบสวนดูข้อเท็จจริง เมื่อเสร็จขั้นตอนดังกล่าวก็ประกาศรายชื่อ เรื่องผู้ตรวจการเลือกตั้งเมื่อรายชื่อเรียบร้อยหมดทุกอย่างแล้ว ต้องมีการอบรมด้วยเพราะเขาไม่ใช่เจ้าหน้าที่ กกต. ก็ต้องมีการเทรนกันทั้งเรื่องข้อกฎหมาย วิธีการทำรายงาน

...ขั้นตอนการได้มาซึ่งผู้ตรวจการเลือกตั้งต้องใช้เวลาพอสมควรเป็นเดือนๆ ไม่ใช่ว่าประกาศชื่อวันนี้แล้วพรุ่งนี้จะเป็นได้เลย ต้องทำไว้ล่วงหน้า เพราะหากมีการโปรดเกล้าฯ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.บ.การได้มาซึ่ง ส.ว.ทั้งสองฉบับลงมา แล้วเราไม่ได้ทำอะไรต่างๆ ไว้ก็อาจไม่ทัน

เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า คงประเมินไม่ได้ว่าผู้ตรวจการเลือกตั้งที่เป็นเรื่องใหม่ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนกับ กกต.จังหวัด แต่ว่าเป้ามันแตกต่างกัน เพราะตอนมี กกต.จังหวัดเน้นที่การให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นหลักในการจัดการเลือกตั้ง แต่ผู้ตรวจการเลือกตั้งต้องการให้การเลือกตั้งสุจริตเที่ยงธรรม จึงเน้นเรื่องการให้ไปดูว่ามีการซื้อเสียงหรือไม่ การเลือกตั้งสุจริตหรือไม่ ให้ไปเป็นมือเป็นไม้ของ กกต. เน้นการทำงานลงพื้นที่ไปตรวจในเขตเลือกตั้งว่ามีการกระทำความผิดหรือไม่ ไปตรวจหาความผิดอย่างเดียว ทำให้ถูกต้องสุจริตเที่ยงธรรม หากพบว่ามีอะไรผิดก็รายงานมายังส่วนกลาง ส่วนการควบคุมการทำงานของผู้ตรวจการเลือกตั้งก็จะใช้วิธีการประเมิน เขาต้องรายงานการทำงานเข้ามา เราจะดูจากรายงานซึ่งสามารถเช็กได้ว่าเขาทำหน้าที่อะไรบ้าง

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า ภารกิจหลักที่รอ กกต.ชุดใหม่อยู่ ก็คือการดำเนินการตาม พ.ร.บ.เลือกตั้งส.ส.และ พ.ร.บ.การได้มาซึ่ง ส.ว. ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่นตอนนี้เรายังไม่ทราบแน่ชัดว่ากฎหมายจะออกมาอย่างไร เพราะก็ไม่รู้ว่าในตัวกฎหมายที่เกี่ยวข้องจะบัญญัติต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายในกี่วัน ก็อาจมาก่อนได้เหมือนกัน แต่จากที่ได้เคยไปร่วมประชุมกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายรัฐบาลก็ถามเหมือนกันว่าการจัดเลือกตั้ง ส.ส.กับท้องถิ่น ควรจัดในช่วงเวลาเดียวกันหรือจัดเลือกตั้งให้ห่างออกไป เราก็เสนอไปว่าควรห่างกันประมาณสามเดือน ไม่อย่างนั้นมันอาจจะวุ่นเพราะมีเรื่องต้องทำเยอะมาก

ถามถึงกรณีที่ได้ไปให้ข้อมูลร่วมประชุมกับว่าที่ประธาน กกต.และว่าที่ กกต.ชุดใหม่เมื่อ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่าที่ กกต.ชุดใหม่สอบถามอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ เปิดเผยว่า ก็ไปอธิบายให้ฟังว่าต้องมีการเตรียมการอะไรไว้บ้าง เพราะตอนนี้ก็อยู่ในช่วงรอการโปรดเกล้าฯ รายชื่อ กกต. หากมีการโปรดเกล้าฯ ลงมาแล้วร่าง พ.ร.บ.ประกอบ รธน.ทั้งสองฉบับ หากร่าง ส.ว.ประกาศใช้ก็มีผลทันทีก็จะต้องมีกระบวนการรับสมัคร การคัดเลือกมีขั้นตอนอยู่พอสมควร ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.ต้องรอ 90 วันถึงจะมีผลบังคับใช้ ก็เป็นประโยชน์พอสมควร เพราะระบบการเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะมีขึ้นมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมค่อนข้างมาก เช่นการทำไพรมารีโหวต และระบบเลือกตั้งเปลี่ยนก็ต้องมีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ รวมถึงระบบพรรคการเมืองก็แตกต่างจากเดิม เช่นต้องหาสมาชิกพรรคทำไพรมารีโหวตก่อนถึงวันเลือกตั้ง มีกระบวนการค่อนข้างมาก ระยะเวลา 90 วันก็ถือว่าค่อนข้างมีประโยชน์  พรรคการเมืองก็ต้องหาสมาชิกพรรค แต่ขั้นตอนเวลานี้ก็ยังติดเรื่องข้อกฎหมาย เรื่องความสงบเรียบร้อย ที่เป็นเรื่องซึ่ง คสช.วิเคราะห์ว่าอาจเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น อาจดูสงบแต่เขาอาจวิเคราะห์ว่าอาจเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นก็ได้ ก็เลยยังไม่ได้ปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมการเมือง ที่เราก็ไม่ทราบเหตุผลที่สำคัญของเขาที่เป็นฝ่ายความมั่นคง

เราก็อยากให้พรรคการเมืองมีเวลามากๆ เพื่อให้ไปเตรียมตัวทำไพรมารีโหวตเพราะระบบพรรคการเมืองเปลี่ยนมากก็ต้องให้เวลาพรรคการเมืองในการปรับตัวด้วย อย่างที่ผ่านมาก็มีบางพรรคการเมืองปรับตัวไม่ได้ เช่นพรรคประชาราชที่ยุบพรรคไปแล้ว เพราะต้องหาทุนประเดิมพรรค หาสมาชิกพรรค  ขณะเดียวกันก็อาจมีการควบรวมพรรคการเมือง ตอนนี้ก็ได้ข่าวมาว่าอาจจะมีหลายพรรคการเมืองใช้วิธีควบรวม

เลขาธิการ กกต. กล่าวอีกว่า เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งเพื่อให้เวลาพรรคการเมืองจะได้ไปทำไพรมารีโหวต ขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 55 วัน หลักเกณฑ์ก็คือนำจำนวนประชากรคือ 66 ล้านคน หารด้วยจำนวนเขตเลือกตั้ง ส.ส. 350 เขต ก็ได้ตัวเลขที่ 1 แสน 9 หมื่นหรือประมาณ 2 แสนคน ของจำนวนประชากรต่อตัวเลข ส.ส.หนึ่งคน ในหนึ่งเขตเลือกตั้ง จากนั้นก็ไปดูแต่ละจังหวัดว่ามีประชากรมากน้อยแค่ไหน แล้วก็ไปแบ่งเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้นๆ แล้วก็ดูองค์ประกอบ เช่น การติดกันของพื้นที่แต่ละเขตในแต่ละอำเภอและจังหวัด ซึ่งตอนนี้ กกต.ได้วางโมเดลการแบ่งเขตเลือกตั้งไว้แล้ว

...และเมื่อแบ่งเขตเลือกตั้งออกมาก็จะไปทำการรับฟังความเห็นประชาชนในพื้นที่ โดยจะนำไปติดประกาศไว้ในสถานที่ราชการต่างๆ เช่น สำนักงานจังหวัด เทศบาล ประชาสัมพันธ์จังหวัด ให้ประชาชนรับรู้และแสดงความเห็น ติดไว้ 10 วัน พรรคการเมืองก็คัดค้านได้ ขั้นตอนการแบ่งเขตเลือกตั้ง เป็นกระบวนการปฏิบัติที่ยากพอสมควร จากประสบการณ์ที่พบก่อนหน้านี้เวลา กกต.มีการแบ่งเขตเลือกตั้งแต่ละครั้ง ก็จะมีผู้คัดค้านจำนวนเยอะ แต่สุดท้ายก็อยู่ที่ กกต.จะทำการชี้ขาด ภารกิจสำคัญประการหนึ่งของ กกต.ชุดใหม่ก็คือ การชี้ขาดการแบ่งเขตเลือกตั้งเหมือนกับกรณีการให้ใบเหลืองใบแดง

...เมื่อแบ่งเขตเลือกตั้งเสร็จ พรรคการเมืองก็จะไปทำไพรมารีโหวต ที่เป็นหน้าที่ของพรรคการเมือง กกต.จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่พรรคการเมืองก็ต้องทำตามกฎหมายพรรคการเมือง ซึ่งหากไม่ทำคนในพรรคก็ไปแจ้งความได้ว่าพรรคไม่ยอมทำไพรมารีโหวต อันเป็นความผิดทางอาญา หรือไปทำบิดเบี้ยว มีการไปซื้อกัน ทำในเรื่องไม่ดี ตอนทำไพรมารีโหวตหากมีเรื่องร้องเข้ามา เราก็ส่งให้ตำรวจไป หรือจะไปแจ้งความดำเนินคดีกับตำรวจโดยตรงก็ได้เพราะถือเป็นความผิดทางอาญา

เลขาธิการ กกต. ยืนยันความพร้อมของ กกต.ในการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ในปีหน้า โดยบอกว่า ทางเราต้องพร้อมตลอดเวลาอยู่แล้ว หน้าที่หลักก็คือจัดการเลือกตั้ง ส.ส.หรือการให้ได้มาซึ่ง ส.ว.ให้เหมือนกันทั้งประเทศ ซึ่งนอกจากระเบียบต่างๆ ที่จะต้องออกมาแล้ว ก็จะต้องมีการไปฝึกปฏิบัติให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กกต.ในแต่ละจังหวัด เช่นเรื่องการคัดเลือก ส.ว.ก็ต้องไปบอกเขาถึงขั้นตอนต่างๆ  ขณะที่เรื่องการกำหนดเขตเลือกตั้งเราขอไปว่า เมื่อกฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ในช่วง 90 วันที่รอให้มีผลบังคับใช้ ในช่วงนี้ก็ขอให้มีการแบ่งเขตเลือกตั้ง แต่ต้องออกมาเป็นกฎหมายพิเศษ คือมาตรา 44 ที่เราก็คุยกับ ดร.วิษณุที่สโมสรกองทัพบก

เลือกตั้ง 62 ได้งบ 4 พันล้าน  หลังขอไป 5,500  ล้านบาท

                สำหรับงบประมาณในการจัดการเลือกตั้ง เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า สำนักงาน กกต.ทำเรื่องของบไปประมาณ 5,500 ล้านบาท ได้มา 4000 ล้านบาทที่ก็คงยังไม่พอ ก็ยังพยายามอยู่ตอนนี้ เพราะกฎหมายมีการเพิ่มมา เราก็ขอไปตามกฎหมาย ไม่ใช่ขอไปแบบรูทีน หน่วยงานอื่นที่บอกว่าปีนี้ทำโปรเจ็กต์อะไร แต่ของ กกต.เป็นเรื่องของกฎหมายที่บัญญัติเพิ่มขึ้นมา ที่เรียกว่าปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เพิ่มเยอะมาก จนกระทั่งตัวเราเองก็ยังปรับตัวแทบไม่ทัน

การเลือกตั้งปี 2557 ใช้งบ 3,700 ล้านบาท เหตุที่งบเพิ่มขึ้นเพราะใช้กฎหมายการเลือกตั้งฉบับใหม่ที่มีการเปลี่ยนเยอะ เช่น การให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งต้องให้ค่าตอบแทน แล้วการทำงานหากข้ามเขต ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าที่พัก และอีกมาก การเลือกตั้งแต่ละครั้งก็ใช้เงินมาก ต้องใช้ในช่วงการเลือกตั้งประมาณ 3-4เดือน

-กลไกป้องกันการซื้อเสียงจะแตกต่างจากที่ผ่านมาอย่างไร?

ที่ผ่านมากระบวนการปราบการซื้อเสียง จะพบว่าฝ่ายที่ไม่ได้ส่วนใหญ่ก็จะมาร้อง กกต.ว่าอีกฝ่ายซื้อเสียงหรือทำผิดกฎหมายอะไรบ้าง แล้วก็นำพยานมาให้ กกต. แต่หากไม่มีพยานมาให้ การให้เราไปหาพยานเองก็จะพบว่ามักไม่ค่อยมีใครมาให้การกับ กกต. แต่ปัจจุบันก็มีการเพิ่มกลไกต่างๆ ขึ้นมา

...เช่นกระบวนการไต่สวน อาทิ หากมีการทุจริตเลือกตั้ง คนที่นำพยานหลักฐานมาให้ กกต.จะได้สินบนรางวัล มีการร่างระเบียบจะให้เป็นเงินหลักแสนต่อคดี หากสุดท้ายศาลตัดสินว่ามีความผิดจริงจะได้เป็นแสน นอกนี้เจ้าหน้าที่ กกต.สามารถออกไปหาข้อมูลข่าวสารได้ มีเงินให้สายลับต่างๆ ส่วนพยานที่มาให้การในคดีจะมีโครงการคุ้มครองพยานให้ แล้วหากพยานมีการทำผิดด้วยแต่เป็นความผิดเล็กน้อย เช่นรับเงิน แต่ถ่ายรูปมาให้ กกต. เราสามารถกันไว้เป็นพยานได้ ที่ผ่านมาไม่เคยมีแบบนี้ มีแค่ กกต.ขอความร่วมมือตำรวจให้ส่งคนไปช่วยคอยคุ้มกัน เมื่อเป็นแบบนี้เช่นพอมีเรื่องคุ้มครองพยาน เราก็ต้องมีเงินให้พยานเป็นเบี้ยเลี้ยง เรื่องสินบนรางวัล ก็ทำให้ต้องมีการใช้งบประมาณส่วนนี้ ถึงเป็นเหตุว่าทำไมงบประมาณจัดการเลือกตั้งถึงเพิ่มขึ้น หรือการมีผู้ตรวจการเลือกตั้งที่จำนวนจะมากกว่า กกต.จังหวัด ก็ทำให้งบเพิ่มขึ้นมา

-สิ่งที่พูดกันมาตลอดว่า คนไทยเงินไม่มา กาไม่เป็น กกต.จะทำอย่างไรให้เรื่องเหล่านี้หายไป?

ต่อไปก็จะมีสินบนรางวัลให้ ได้รับแจกหนึ่งพันแลกกับหนึ่งแสน จะเอาอะไร เช่นสมมุติมีการแจกเงินให้หนึ่งพันบาท ก็เก็บหลักฐานไว้แล้วมาเอาเงินหนึ่งแสนที่เป็นสินบนรางวัลดีกว่า และยังเป็นการช่วยประเทศชาติด้วยให้ระบบแบบนั้นมันหมดไป ก็ต้องทำให้มันลด

ปัจจุบันก็จะมีมาตราการต่างๆ อย่างมาตรการอันหนึ่งที่สำคัญและค่อนข้างจะแรง คือเดิมการเลือกตั้ง ส.ส. หากสุดท้ายคดีนั้นศาลฎีกาให้ใบแดง แล้วให้จัดการเลือกตั้งใหม่ ศาลจะมีคำสั่งออกมาด้วยว่าให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง จากเดิมพอศาลฎีกาตัดสินเสร็จ กกต.ต้องไปฟ้องแพ่ง คดีต้องเริ่มจากศาลชั้นต้น แต่ต่อจากนี้ไปไม่ต้องแล้ว ศาลฎีกาจะชี้ออกมาเลยว่าให้คนนั้นต้องชดใช้ค่าเสียหายในการเลือกตั้งทันทีทันใดภายในไม่เกินหกเดือน ตกเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา เขตเลือกตั้งหนึ่งๆ ตกประมาณสิบล้านบาท หากไม่ยอมชดใช้จะถูกสืบทรัพย์ ยึดทรัพย์ ยึดบ้าน ยึดหมด

...นอกจากนี้การหาเสียงจะมีความเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ว่าผู้สมัครมีเงินซื้อป้ายติดรูปหาเสียงเยอะ แต่ผู้สมัครที่จนไม่มีเงินซื้อป้ายติดรูป แต่การเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ต่อไปผู้สมัครไม่ต้องซื้อป้ายติดรูปหาเสียง  กกต.จะเป็นผู้ดำเนินการหาป้ายให้ในลักษณะการประกาศแล้วไปติดไว้ที่ต่างๆ เช่น สำนักงานจังหวัด  เทศบาล หรือสถานที่ชุมชน เพื่อให้ประชาชนรู้ว่าในเขตเลือกตั้งนั้นๆ มีผู้สมัครบุคคลใดบ้าง เราต้องการให้เท่าเทียมกัน พวกป้ายหาเสียงริมถนนริมรั้วต่อไปไม่ต้องทำแล้ว ผู้สมัครอาจทำแค่ใบปลิวแผ่นพับ  ส่วนตามบ้านเรือน เราจะทำเป็นเอกสารเล่มส่งไปที่พักว่าในเขตเลือกตั้งนั้นๆ มีผู้สมัคร ส.ส.มีเบอร์อะไรบ้าง ซึ่งเราก็คิดว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดเพราะจะได้เปิดเอกสารดูข้อมูลได้ และยังมีแอปพลิเคชัน "ฉลาดเลือก" ที่เพียงกดใส่เลขบัตรประชาชนก็จะรู้ได้ทันที เช่นมีการเลือกตั้งวันไหน ในเขตเลือกตั้งของตนเองมีใครบ้างที่ลงสมัคร

ส่วนการลงโฆษณาในสื่อเช่นหนังสือพิมพ์ ก็ต้องดูเรื่องความเท่าเทียมกันด้วย ตรงนี้จะทำได้หรือไม่ต้องไปดูรายละเอียดอีกครั้ง แล้ว กกต.จะมีการจัดเวลาการออกอากาศทางโทรทัศน์ให้ด้วยในช่วงเลือกตั้ง โดยเราจะมีการไปซื้อเวลาการออกอากาศ ส่วนเวทีดีเบตก็อาจต้องจัด แต่การจัดของเราคงเป็นแบบเช่าเวลาออกอากาศ ที่อาจจัดที่ กกต.แล้วถ่ายทอด จะเห็นได้ว่าค่าใช้จ่ายของ กกต. แค่เรื่องการหาเสียงก็เพิ่มขึ้นแล้ว ไม่มีฟรี ค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งของ กกต.เลยเยอะขึ้นเป็นพันล้าน

สรุปว่ารูปแบบการหาเสียงตอนเลือกตั้งของผู้สมัคร ส.ส. พรรคการเมืองก็จะไม่เหมือนเดิม แต่ก็อาจมีการจัดเวทีให้เขาไปหาเสียงได้ แต่ก็คงต้องรอไปคุยกับตัวแทนพรรคการเมืองก่อน

ตั้งวอร์รูคุมสื่อโซเชียลมีเดีย

เลขาธิการ กกต. กล่าวถึงการควบคุมการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียที่หลายฝ่ายมองว่าคุมได้ยากว่า กกต.เรากำลังพิจารณาร่างระเบียบเรื่องนี้อยู่ หลังมีการตั้งคณะกรรมการมาศึกษาพิจารณาที่มีตัวแทนจากหน่วยต่างๆ เช่น กระทรวงไอซีที กสทช. มาพิจารณาเรื่องการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดีย เช่นการหาเสียงใส่ร้าย ก็ต้องไปดูว่าจะสามารถตัดออกไปจากระบบได้หรือไม่ โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะมีการประชุมกันในวันที่ 22 สิงหาคม 2561 เรื่องนี้เราต้องจัดการให้ได้

-พวก Facebook หรือ Line จะไปควบคุมดูแลอย่างไร?

ก็จะมีการมอนิเตอร์ เจ้าหน้าที่ของเราต้องคอยดู หรืออาจจะให้คนมาโทร.แจ้งเราว่ามีการโพสต์เฟซบุ๊กกันอย่างไร ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะมีเทคนิคเข้าไปลบตรงนี้ได้อย่างไร ให้สั่งลบได้โดยไม่ต้องอาศัย  พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ อาศัยอำนาจศาล แต่ขอบเขตจะทำได้แค่ไหนต้องรอผลการประชุมวันที่ 22 ส.ค.นี้ โดยเราก็จะมุ่งไปที่เช่นการโพสต์ในลักษณะหมิ่นประมาทใส่ร้ายกัน  โดยก็จะมีมาตรการเช่นการดำเนินคดีอาญา ก็จะมีทางฝ่ายกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ที่จะอยู่ในคณะกรรมการชุดนี้ของ กกต.เข้ามาดูด้วยเช่นกัน.ที่ไม่ใช่แค่ดำเนินคดีอาญาแต่ต้องการให้ลบออกไปด้วย แต่การหาเสียงผ่านเฟซบุ๊กก็ยังทำได้ แต่ขอบเขตจะทำได้แค่ไหนก็ต้องมาคุยกัน เรื่องนี้ไม่ได้มีปัญหาแค่ประเทศเราประเทศเดียวแต่ประเทศอื่นก็มี เพราะเดิมก็แค่ห้ามหาเสียงหลัง 18.00น.ในช่วงวันก่อนลงคะแนนเสียงหนึ่งวัน ห้ามหาเสียง แต่ในความเป็นจริงก็ไม่มีใครไปคอยเก็บป้ายหาเสียง จนเมื่อลงผ่านไปหนึ่งวันป้ายหาเสียงก็ยังวางกันไว้อยู่

สำหรับเรื่องไลน์ค่อนข้างยาก เพราะเป็นเรื่องเฉพาะ เช่นบอกว่าคุยกันส่วนตัวแล้วเราเข้าไม่ถึง แต่หากเป็นไลน์กลุ่มแล้วมีคนมาแจ้ง ก็โดนได้เหมือนกัน แต่หากเป็นลักษณะใส่ร้ายก็จะโดนความผิดอาญา

-จะมีการตั้งวอร์รูม ช่วงเลือกตั้งเพื่อคอยติดตามการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดีย

ใช่ ถูกต้อง เป็นโปรเจ็กต์ของเราที่ต้องทำในส่วนนี้

-พยานที่มาให้ข้อมูลกับ กกต. จะรู้ได้อย่างไรว่าไม่ได้มาเพื่อกลั่นแกล้งอีกฝ่าย

เราก็มีมาตรการเช่นกัน เช่นเราก็จะมีบัญชีคนที่แจกเงินซื้อเสียง บัญชีคนแจกเงิน ไว้ตรวจเช็กกลับอีกทีว่าเท็จหรือไม่เท็จ มีหลายอย่างที่เราจะเก็บหลักฐานไว้ล่วงหน้า

ถามถึงว่า กลไกดังกล่าวจะทำให้ไม่เกิดไข้โป้งกับพวกพยานที่มาให้การกับ กกต.หรือ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ เปิดเผยว่า ทุกวันนี้การเลือกตั้งแต่ละครั้งก็มีให้ใบแดงตลอด ผมก็ไม่เห็นมียิงอะไรกันเลย บางคนไปคิดว่าเป็นพยานแล้วน่ากลัว จริงๆ มีการให้ใบแดงเยอะ เราฟ้องเรียกทางแพ่งเยอะแยะไปหมดที่จัดเลือกตั้งใหม่ มีพวก ส.ส.มาขอผ่อนส่งเยอะแยะ แต่ไม่ได้เป็นข่าว

-รอบนี้กลไกกฎหมายทุกอย่างเข้มข้นขึ้นกว่าเดิม?

ใช่ ต้องไม่มีซื้อเสียง

ถามถึงเรื่องการ พิมพ์บัตรเลือกตั้ง ที่ถือเป็นขั้นตอนสำคัญไม่ใช่น้อยในการจัดเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม พ.ต.อ.จรุงวิทย์ บอกว่า การพิมพ์บัตรเลือกตั้งจะทำหลังจากที่ปิดรับสมัครผู้ลงสมัคร ส.ส. ที่จะทำให้รู้จำนวนผู้สมัครแต่ละเขต จากนั้นก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการพิมพ์บัตรเลือกตั้ง โดยบัตรเลือกตั้งจะไปกระจายพิมพ์ไม่ได้เพราะว่าของเราเคยมีประวัติศาสตร์ เช่นปี 2500 ที่มีบัตรปลอม การพิมพ์บัตรเลือกตั้งจึงต้องมีมาตรการ security ที่มีหลายขั้นตอน ส่วนการหาโรงพิมพ์ก็จะต้องใช้โรงพิมพ์ที่ต้องมีศักยภาพในการพิมพ์เพราะต้องใช้เวลาที่ไวมาก ต้องส่งบัตรเลือกตั้งไปยังนอกราชอาณาจักรด้วย จึงต้องมีโรงพิมพ์ที่มีศักยภาพพอสมควร ที่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นของเอกชน แต่จะต้องมี security สูง นอกจากนี้ในหน่วยเลือกตั้งก็จะเห็นมีตัวแทนพรรคการเมืองที่ร่วมสังเกตการณ์ เช่นส่งตัวแทนไปจดการนับคะแนน ดูว่าบัตรเลือกตั้งนับถูกต้องหรือไม่

 ตั้งเป้าผู้ใช้สิทธิ์ 80%

เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า สำหรับเป้าหมายจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์ที่สำนักงาน กกต. ตั้งเป้าไว้ก่อนหน้านี้ที่ 80 ของผู้มีสิทธิ์ สำนักงาน กกต.เราก็มีโครงการต่างๆ เช่น โครงการพลเมืองดี วิถีประชาธิปไตย เรามีการเสริมสร้างประชาธิปไตยที่ลงไปตำบลหมู่บ้าน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมให้กับประชาชน ตอนนี้ลงไประดับตำบลแล้ว เพื่อให้หมู่บ้านไม่ขายเสียง ตั้งแต่หลังรัฐประหารพวกโครงการเหล่านี้ของ กกต.เราเปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่ เน้นลงไปถึงระดับตำบล หมู่บ้าน รวมถึงเครือข่ายต่างๆ เช่น โครงการ รด.จิตอาสา เกี่ยวกับภาคประชาชนเราลงไปทำเยอะมาก ที่ผ่านมาจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ก็จะอยู่ที่ประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ แต่เราก็ต้องตั้งไว้แบบนี้แล้วพยายามให้มากที่สุด แต่ถึงเวลาจริงๆ บางทีก็มีอุปสรรค เช่น คนไม่ได้อยู่ในพื้นที่เลือกตั้งของตัวเอง เพราะต้องไปทำงานในต่างจังหวัด เราก็พยายามหาวิธีการ เช่น การเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต จะทำอย่างไรให้เขามาใช้สิทธิ์

สำหรับ กลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก ที่เคยมีข่าวว่ามีหลายล้านคนที่จะได้ใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งปีหน้า พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวถึงการรณรงค์ให้คนกลุ่มนี้ออกมาใช้สิทธิ์กันให้มากที่สุดว่า ทางสถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัย ตอนนี้ กกต.เราทำ MOU กับสมาคมมหาวิทยาลัยเอกชน ที่เราจะขอให้ฝ่ายกิจกรรมนักศึกษาของแต่ละมหาวิทยาลัยเข้าไปเสริมสร้างวัฒนธรรมการเมือง สร้างการเรียนรู้ประชาธิปไตย พวกนี้เราเข้าไปในระดับมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ก็ยังมี เช่น สถานศึกษา หรือโรงเรียนคริสตจักร ที่ก็มีการเซ็น MOU ไปแล้ว พวกโรงเรียนต่างๆ ถ้าเราเข้าไปได้เราเข้าไปแน่อน เวลาเช่น มีการเลือกตั้งสภานักเรียน หัวหน้านักเรียน เราก็นำเครื่องลงคะแนนไปให้ ไปอธิบายให้เขาฟัง สร้างการเรียนรู้ ซึ่งก็มองว่าคนกลุ่มนี้น่าจะตื่นตัว

ที่ผ่านมา เราก็เผยแพร่บอกกล่าวไปแล้วว่าประชาชนที่สนใจและช่วยเป็นหูเป็นตา เราก็จะมีรางวัลต่างๆ ให้ ส่วนพวกประชาสังคม องค์กรภาคเอกชนต่างๆ ปัจจุบันก่อนหน้านี้ก็มาร่วมเป็นกรรมการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งในทุกจังหวัด เรามีสำนักงาน กกต.จังหวัดทั่วประเทศที่เข้าไปทั่ว สามารถประสานงานกับองค์กรต่างๆ ได้ มีสำนักงานส่งเสริมประชาธิปไตยตำบล มีการลงไปถึงระดับข้างล่างเพื่อเผยแพร่ประชาธิปไตย

สอบคนนอกคุมพรรคหลักฐานต้องชัด

เมื่อถามว่าในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง กรณีการตรวจสอบ พรรคการเมืองที่บุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคยินยอมหรือมิให้ผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการควบคุม ครอบงำ ชี้นำกิจกรรมของพรรคในลักษณะที่ทำให้พรรค หรือสมาชิกขาดความอิสระไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันเป็นความผิดตามกฎหมายพรรคการเมืองมาตรา 28 และมาตรา 29 เช่น กรณีคลิปอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่ปรากฏเป็นข่าว เรื่องนี้จะมีการตรวจสอบอย่างไร พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง แจงว่า หลักของกฎหมายในส่วนนี้อยู่ตรงที่ว่าพรรคการเมืองยินยอมให้บุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกมาครอบงำหรือชี้นำพรรคการเมืองที่เป็นนิติบุคคล หลักอันดับแรกคือ เมื่อพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคล การทำหน้าที่นิติบุคคลก็คือ กรรมการบริหารพรรคการเมืองก็เหมือนบริษัท แต่ตอนนี้พรรคการเมืองยังประชุมไม่ได้ กรรมการบริหารพรรคยังประชุมพรรคไม่ได้ เพราะตอนนี้ยังติดเรื่องเงื่อนไขต่างๆ ความมั่นคง เมื่อพรรคประชุมไม่ได้ แล้วพรรคยินยอมให้เขาครอบงำแล้วหรือยัง พรรคประชุมไม่ได้ก็เลยไม่รู้ว่าเขาครอบงำหรือไม่ กรรมการบริหารพรรคยังประชุมไม่ได้ เพราะมีข้อห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมือง บุคคลภายนอกจะมาครอบงำพรรคการเมือง จะดูจากตรงไหนได้ ก็ต้องดูที่การประชุมกรรมการบริหารพรรคว่าพรรคยินยอมให้ครอบงำหรือไม่ ก็เหมือนกับบริษัท การจะยินยอมให้ใครเข้ามาก็ต้องมีการประชุมบริษัท เมื่อยังไม่ได้ประชุมแล้วจะบอกว่าเขามาครอบงำได้ยังไง จึงต้องดูจุดที่กระทำความผิด

เมื่อถามอีกว่า สมมุติว่าหากช่วงเลือกตั้งมีการนำรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. เช่น โผปาร์ตี้ลิสต์ นำไปคุยกันที่ต่างประเทศ แบบนี้จะเป็นอย่างไร นายทะเบียนพรรคการเมือง ย้ำว่าก็ต้องนำสืบ ดูหลักฐานตามกระบวนการยุติธรรม ต้องมีพยานบุคคล พยานวัตถุ พยานเอกสาร ต้องดูเหมือนกันว่าจะต้องดูอะไรบ้าง แต่เท่าที่ลงข่าวกันมายังเป็นพยานไม่ได้ อาจเป็นแค่ประกอบเข้ามา ส่วนคลิปอะไรเราก็ดู แต่ต้องดูคนพูดเป็นใคร เป็นสมาชิกพรรคหรือไม่ แล้วพูดกับใคร คนที่ฟังเป็นสมาชิกหรือไม่ ก็ต้องมาดูตรงนี้อีก เสร็จแล้วก็ต้องมาดูว่าแล้วครอบงำพรรคหรือยัง พรรคประชุมหรือยัง เมื่อยังประชุมไม่ได้เลย อะไรแบบนี้

...กระบวนการยุติธรรม ต้องมีพยาน แล้วก็ต้องมีองค์ประกอบของกฎหมายที่ระบุเป็นสเต็ปๆ ของความผิด เช่น ครอบงำพรรค คำว่าพรรคก็คือนิติบุคคล มีกรรมการบริหารพรรค แล้วกรรมการบริหารพรรคยอมให้ครอบงำหรือยัง ยังประชุมไม่ได้เลย ตัวผมเองมีประสบการณ์ในเรื่องการทำคดี ก็ต้องดูเป็นสเต็ป แต่เรื่องนี้เราไม่ได้ทิ้ง เราติดตามต่อ หรือกรณีคำร้องเรื่อง "ดูด" เราก็ตามอยู่ ก็เหมือนกัน ก็ต้องดูเรื่องพรรค

“ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมที่ต้องมีพยานวัตถุ พยานเอกสาร พยานต่างๆ หากรวบรวมออกมาแล้วถ้าฟังแล้วเป็นความผิด มันก็เลี่ยงไม่ได้ที่ต้องดำเนินการ เราพูดอย่างยุติธรรม เพราะถ้าไม่มีกระบวนการยุติธรรมบ้านเมืองเราคงอยู่ไม่ได้

เราอยากให้พรรคการเมืองหลีกเลี่ยงการทำผิดตามกฎหมายพรรคการเมือง ไม่มีนายทะเบียนพรรคการเมืองที่อยากจะยุบพรรคการเมือง ยกเว้นถ้ามีการทำผิดแล้วมีพยานหลักฐานก็เลี่ยงไม่ได้ เพราะหากเลี่ยงก็คือละเว้น ดังนั้นพรรคการเมือง แกนนำหรือใครก็ตาม ก็ต้องดูแลสมาชิกพรรคไม่ให้กระทำความผิด เพราะกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่าให้กรรมการบริหารพรรคต้องดูแลไม่ให้สมาชิกพรรคกระทำความผิด หากสมาชิกพรรคกระทำความผิด นายทะเบียนก็จะทำหนังสือแจ้งไปเพื่อให้หามาตราการดำเนินการ” พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ระบุ

- จากประสบการณ์ทั้งอดีตตำรวจกองปราบปราม อดีตรองเลขาธิการ กกต. เมื่อมาเป็นเลขาธิการ กกต. ตรงนี้จะนำประสบการณ์มาบริหารจัดการดูแลการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีหน้าให้เรียบร้อยได้อย่างไร?

ผมดูในแง่การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง แล้วมีการเขียนไว้ในกฎหมาย การทำให้เป็นไปตามกฎหมาย ในส่วนของผมเป็นแค่ฝ่ายสนับสนุน แต่อำนาจจริงๆ อยู่ที่ กกต. ยกเว้นงานในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง แต่ก็อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กกต. อำนาจการจัดเลือกตั้ง รวมถึงอำนาจในเรื่องที่มา ส.ว. และเรื่องการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นของ กกต. ผมเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการ เป็นฝ่ายสนับสนุน เพียงแต่ว่ามีประสบการณ์ เราก็นำเสนอให้ท่านตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร ตอนนี้ก็มีการปฏิรูปเยอะ มีการเปลี่ยนแปลงมาก ก็คาดหวังว่าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นก็คงแสวงหาความร่วมมือจากประชาชน ขอให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งออกมาใช้สิทธิ์มากๆ และเจ้าหน้าที่ของเราก็คาดหวังมากว่าขอให้เลือกตั้งอย่างสงบ

การทำงานของ กกต. ยืนยันว่าตั้งแต่โอนย้ายจากตำรวจมาทำงานที่สำนักงาน กกต. ยังไม่เคยเห็น กกต.ถูกแทรกแซงการทำงาน เพราะ กกต.เป็นองค์กรอิสระ และคนก็รู้ว่าบทบาทขององค์กรอิสระเป็นอย่างไร ก็ไม่มีการก้าวก่ายกัน ต่างคนต่างทำหน้าที่ และคนของ กกต.เราจะไปทำอาชีพของเราให้มัวหมองไม่ได้ เมื่อกฎหมายให้เราทำตามหน้าที่แล้วเราจะไม่ทำตามหน้าที่ได้อย่างไร การจะมีปัจจัยภายนอกเข้ามาแทรกจะมาทำให้เราทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์คงไม่ได้

                เลขาธิการ กกต. ย้ำถึงความสำคัญของการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก และน่าจะมีแนวโน้มไปในทางที่ดี ตอนนี้อาจมีประเด็นการเมืองโจมตีกันบ้าง แต่ผมเห็นว่าเราต้องเคารพเจตจำนงของประชาชน เราต้องคิดและสันนิษฐานไว้เลยว่าประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจผ่านการโหวตตามระบอบประชาธิปไตย สิ่งสำคัญคือต้องดูว่าประชาชนจะโหวตให้ใคร ต้องการใครมาเป็นตัวแทนของเขา เมื่อโหวตเสียงข้างมากให้ใครก็ต้องยอมรับตามกติกา หลังประชาชนโหวตให้คนที่จะมาเป็นตัวแทนเขาในการไปออกกฎหมาย มาบริหารประเทศ

หลายปีที่แล้วเราไม่มีการเลือกตั้ง การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นถือเป็นครั้งประวัติศาสตร์เลย เพราะก็ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ เช่น การเลือกตั้งที่ปราศจากทุน คือ หมายถึงผู้สมัครไม่ต้องลงทุนเยอะ ไม่ต้องปิดโปสเตอร์ กกต.ช่วยหาเสียง และเจตจำนงประชาชน เช่น หากประชาชนเลือกพรรคการเมืองที่มีหัวหน้าพรรคเป็นคนคนนี้ ก็เป็นเจตจำนงของเขา

ผมเชื่อว่าประชาชนมีวิจารณญาณขึ้นพอสมควร เพราะจากที่ได้ไปต่างจังหวัด เท่าที่ได้ฟังๆ ดู ดูการโต้เถียง โต้ตอบ เขาคิดเองแบบมีเหตุผลได้ ตัวเขาเองก็คิดได้ว่าเขาจะเลือกใครก็เรื่องของเขา ไม่ใช่มาชี้นำเขาแล้วมาบอกว่าต้องไปเลือกคนนี้ วิจารณญาณในการเลือกก็คงจะสูงพอสมควร และคงเป็นความหวังของประเทศ ที่เราจะได้ ส.ส.ที่เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่ตัวแทนของทุน ของเงินที่ซื้อเสียง หรือระบบอะไรก็ตามที่นอกเหนือไปจากระบบประชาธิปไตย

........................

วิสัยทัศน์-โปรไฟล์ 'อิทธิพร บุญประคอง' ว่าที่ประธาน กกต.คนใหม่

                มติที่ประชุม ว่าที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จำนวน 5 คน เมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเสียงข้างมากเลือกอิทธิพร บุญประคอง อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายและอดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็น ว่าที่ประธาน กกต.คนใหม่ ชนิดพลิกความคาดหมาย หลังก่อนหน้านี้ทุกฝ่ายจับจ้องไปที่คู่ชิงแคนดิเดต คือ ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา กับธวัชชัย เทอดเผ่าไทย อดีตผู้ว่าฯ หลายจังหวัด-อดีตสมาชิก สปท.ในยุค คสช.” แต่สุดท้ายอิทธิพรมาแรงฉีกทุกโผ ได้รับเลือกให้นำทัพ 7 เสือ กกต.ชุดใหม่ แม้ตอนนี้จะมีแค่ 5 ชื่อ ต้องรออีก 2 ชื่อก็ตาม

เมื่อย้อนดูเส้นทางของ อิทธิพร-ว่าที่ประธาน กกต.คนใหม่ จากเอกสารรายงานอย่างเป็นทางการที่ชื่อว่า รายงานการพิจารณสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการการเลือกตั้งของคณะกรรมการสรรหากกต. อันมีนายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกาเป็นประธาน พบว่านายอิทธิพรได้รับเลือกจากที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาฯ ที่มีประธานศาลต่างๆ รวมถึงตัวแทนองค์กรอิสระเป็นกรรมการสรรหาฯ ด้วยคะแนน 5 คะแนนตั้งแต่รอบแรก จึงถือว่าได้รับเลือกจากที่ประชุมกรรมการสรรหาด้วยคะแนนเสียงถึง 2 ใน 3 ของกรรมการสรรหาฯ ที่มีด้วยกัน 7 คน

พบว่ากรรมการสรรหาที่ลงคะแนนให้นายอิทธิพรประกอบด้วย นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช., นายปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด, นายเจริญศักดิ์ โรจน์ฤทธิ์พิเชษฐ์ กรรมการสรรหาที่เป็นตัวแทนจากศาล รธน., นายประเสริฐ โกศัลวิตร กรรมการสรรหาที่เป็นตัวแทนจาก ป.ป.ช., นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ตัวแทนจากคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน โดยพบว่านายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกาในฐานะประธานกรรมการสรรหาฯ ไม่ได้โหวตเลือกนายอิทธิพรแต่อย่างใด

                ในรายงานดังกล่าว ได้เผยแพร่การสัมภาษณ์และการแสดงความคิดเห็นของนายอิทธิพรในวันที่มาแนะนำตัวและแสดงวิสัยทัศน์ต่อกรรมการสรรหาฯ ที่สรุปประเด็นหลักๆ ได้ดังนี้

                อิทธิพร-ว่าที่ประธาน กกต. เริ่มต้นแนะนำตัวเองว่า งานแรกที่ต้องทำคือ การสร้างความเข้มแข็งให้องค์กร กกต. เพราะมีบทบาทหน้าที่ตามกฎหมายใหม่หลายประการ ประการที่สองคือ ต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน ซึ่งจะเป็นผู้ใช้สิทธิ์โดยตรง ให้เขามีความรู้ความเข้าใจในอำนาจหน้าที่ใหม่ๆ ในบทบาทของเขา แล้วควรที่จะส่งเสริมประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกตั้งมากยิ่งขึ้นด้วยวิธีการต่างๆ เริ่มจากเขต ตำบล อำเภอและจังหวัด การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์ในช่วงการเลือกตั้งจะเป็นเครื่องประกันว่าการเลือกตั้งแต่ละครั้ง จะมีความสุจริตและยุติธรรมมากยิ่งขึ้น ในส่วนที่เกี่ยวกับพรรคการเมืองต้องทำให้มั่นใจว่า พรรคการเมืองและผู้สมัครเข้าใจบทบาทหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายฉบับใหม่ ต้องส่งเสริมสนับสนุนพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันการเมืองที่มีคุณภาพ

                “เมื่อเสาหลักทั้งสาม คือ ตัวองค์กรผู้ดำเนินการเลือกตั้ง คือ กกต.-ประชาชนผู้มีสิทธิ์-พรรคการเมือง มีความเข้มแข็ง จะช่วยทำให้มั่นใจได้อย่างต่อเนื่องว่าการเลือกตั้งจะอยู่บนพื้นฐานของความสุจริตเที่ยงธรรมและยุติธรรม“

                ว่าที่ประธาน กกต. ยังเปิดเผยด้วยว่า ก่อนหน้านี้เคยมีประสบการณ์เป็นปลัดอำเภอเมืองนครราชสีมา โดยครอบครัวเป็นคนมหาดไทยทั้งบ้าน และเห็นว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง อยากให้มีวิชาหน้าที่พลเมืองเหมือนสมัยที่ตนเองยังเป็นเด็ก คิดว่าควรจะผลักดันเรื่องหน้าที่พลเมืองและการเลือกตั้งตั้งแต่ประถมศึกษา ตอนอายุ 11 ปี เพราะอายุของ กกต.คือ 7 ปี พออายุ 18 ปี เขาจะเริ่มต้นเลือกตั้งได้ ต้องรีบให้ความรู้และทำทั่วประเทศ

                ขณะที่ในเอกสารใบสมัครคัดเลือกเป็น กกต.ของ อิทธิพร-ว่าที่ประธาน กกต. ที่จบนิติศาสตร์ธรรมศาสตร์และปริญญาโทกฎหมายจากสหรัฐอเมริกา พบว่า นายอิทธิพรได้แจ้งประวัติส่วนตัวว่ารับราชการอยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศรวมระยะเวลา 36 ปี พร้อมกับระบุถึงการทำงานที่ผ่านมาในตำแหน่งต่างๆ เช่น สมัยอยู่กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ก็ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะรองตัวแทนประเทศไทยในคดีตีความคำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีเขาพระวิหาร ในช่วงเป็นอธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ ช่วงปี 2553-2555

                นอกจากนี้ยังให้รายละเอียดด้วยว่า ขณะเป็นอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ได้ปฏิบัติหน้าที่ในงานอื่นๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบ เช่น การพิจารณาให้ความเห็นทางกฎหมาย กรณีการส่งตัวนายวิกเตอร์ บูต ชาวรัสเซีย ผู้ต้องหาคดีลักลอบค้าอาวุธ เป็นผู้ร้ายข้ามแดนตามคำขอของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเด็นด้านข้อกฎหมายและพันธกรณีตามความตกลงระหว่างประเทศ และเป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อนทางการเมืองระหว่างประเทศที่อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกา และกับรัสเซีย

                ขณะเดียวกัน ในเอกสารสมัครเป็น กกต.ที่มีการให้ผู้สมัครเขียนถึงแนวคิดในการดำเนินงานในฐานะ กกต.

                พบว่านายอิทธิพรได้ระบุถึง วิสัยทัศน์ การเลือกตั้งที่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ว่าจะอยู่ภายใต้หลักคือ “บุคลากรมีคุณภาพ พัฒนางานเชิงรุก ประยุกต์เทคโนโลยี มุ่งสู่ระดับสากล ยึดโยงสุจริตและเที่ยงธรรม” โดยมีการระบุรายละเอียดในหัวข้อต่างๆ

                เช่น เรื่องการพัฒนาบุคลากรของ กกต. พบว่านายอิทธิพรบอกว่าต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการเตรียมความพร้อมของบุคลากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการสืบสวนสอบสวน การดำเนินคดีอาญา การกันผู้กระทำความผิดเป็นพยาน และการคุ้มครองพยาน เป็นต้น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"