เด็กเทคโนปทุมวัน อาสาแต้มสีเติมฝัน


เพิ่มเพื่อน    

 

            การสร้างสรรค์ แต่งแต้ม เติมสีสันให้โรงเรียนน่าอยู่มองไปทางไหนก็สดใสสดชื่น นอกจากจะทำให้โรงเรียนนั้นดูเจริญหูเจริญตา เป็นระเบียบเรียบร้อยแล้ว ยังเป็นการปลูกจิตสำนึกให้ใครหลายคนหันกลับมาใส่ใจดูแลรักษาพื้นที่ ช่วยกันลงมือคนละเล็กละน้อย รวมพลังกันจนกลายเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม

            ดังเช่น กิจกรรมดีๆ ของน้องๆ นักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ที่หันมามุ่งทำงานด้านจิตอาสา อย่างต่อเนื่องล่าสุดลงพื้นที่ 3 วัน 2 คืน เพื่ออาสาทาสี ซ่อมแซม พัฒนาห้องเรียนและอาคารเรียน เพื่อคืนห้อง คืนอาคารเรียนหลังใหม่ให้น้องๆ ที่โรงเรียนวัดเจ้าแปดทรงไตรย์ อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภายใต้โครงการปกป้องเด็กและเยาวชน ลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน

            “น้องอ้น” หรือนายไชยา อิ่มจิตร นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน สะท้อนความรู้สึกของการทำงานครั้งนี้ว่า โรงเรียนแห่งนี้เป็นพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยเกือบทุกปี ซึ่งก่อนหน้านี้ทีมงานนักศึกษาคณะวิศกรรมศาสตร์ได้ลงพื้นที่สำรวจโรงเรียนล่วงหน้า 3 เดือน เพื่อประชุมวางแผนการทำงาน ต่อจากนั้นนักศึกษาจากชมรมจำนวน 30 คน ได้แบ่งกันทำงานเป็นกลุ่ม โดยกำหนดระยะเวลาให้เสร็จภายใน 3 วัน ทั้งนี้ จากการสำรวจโรงเรียนพบอาคารเรียนชำรุดพอสมควร ส่วนสนามเด็กเล่นก็ชำรุดเช่นกัน ตนและทีมงานจึงเร่งซ่อมแซมเพื่อให้เสร็จทันกำหนดการ

            “บรรยากาศในการทำงานตลอดระยะเวลา 3 วัน ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากทางโรงเรียน อย่างไรก็ตาม แม้ผมเคยผ่านงานจิตอาสามาแล้ว 2 ครั้ง แต่ก็ยืนยันว่าหากมีกิจกรรมเช่นนี้ก็จะขอไปร่วมอีก ผมมองว่างานจิตอาสาช่วยให้นักศึกษามีจิตสาธารณะ อยากทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม และยังเป็นความรู้นอกห้องเรียน หลังจากสำเร็จการศึกษายังสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ และอยากให้สังคมมองสถาบันเทคโนโลยีปทุมวันในมุมที่สร้างประโยชน์ให้สังคมบ้าง ไม่อยากให้สังคมมองแต่ภาพลักษณ์ที่ไม่ดี และถ้ามีโอกาสอยากชวนเพื่อนต่างสถาบันมาทำกิจกรรมจิตอาสาด้วยกัน เพื่อสร้างสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน” นายไชยากล่าว

            “น้องเต้ย” นายกฤษณะ เทียมหมอก นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมไฟฟ้า สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน บอกว่า ทุกสถาบันควรมีกิจกรรมจิตอาสา เพื่อสร้างจิตสำนึกให้นักศึกษาได้พัฒนาตนเอง สำหรับตนผ่านงานจิตอาสามาถึง 5 ครั้ง จึงทราบว่ากิจกรรมเล็กๆ ที่ทำด้วยใจส่งผลดีอย่างไรต่อตนเองและคนรอบข้าง

            ที่สำคัญกิจกรรมดังกล่าวยังสร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์ที่ดีให้กับทางสถาบันอีกด้วย ส่วนการทำกิจกรรมทาสีโรงเรียนในครั้งนี้ รู้สึกอบอุ่นมาก เพราะได้รับความอนุเคราะห์จากทางโรงเรียนเป็นอย่างดี อาทิ ที่พัก อาหารกลางวันและเครื่องดื่ม เป็นต้น นอกจากนี้ น้องๆ ในโรงเรียนก็มาช่วยทาสีร่วมกัน ตนได้เห็นรอยยิ้มของเด็กๆ แล้วรู้สึกอบอุ่นและทำให้มีกำลังใจที่จะพัฒนางานให้ดีขึ้น

            “วันนี้ผมอาจไม่สามารถเปลี่ยนมุมมองด้านลบที่สังคมมีต่อสถาบันได้ แต่ผมขอแค่ให้สังคมเปิดใจดูผลงานที่สร้างสรรค์ในด้านอื่นบ้าง และถ้ามีโอกาสอยากชวนเพื่อนๆ ต่างสถาบันมาร่วมกิจกรรมจิตอาสาด้วย ระหว่างร่วมกิจกรรมจะได้พูดคุยถึงปัญหาที่ผ่านมามากขึ้น” นายกฤษณะระบุ

            ด้านอาจารย์บุญชู สมบุญเพ็ญ รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ฝ่ายพัฒนานักศึกษา สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน กล่าวว่า ทางสถาบันได้คัดเลือกโรงเรียนวัดเจ้าแปดทรงไตรย์เพื่อทำกิจกรรมจิตอาสา เนื่องจากพื้นที่ของโรงเรียนเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ส่งผลให้สีอาคารเรียนและอุปกรณ์ต่างๆ ชำรุดทรุดโทรมเร็ว ทางสถาบันจึงได้คิดโครงการนี้เพื่อหาพื้นที่ให้นักศึกษาทำงานด้านจิตอาสาในช่วงเวลาปิดภาคเรียน การทำงานด้านจิตอาสาในครั้งนี้เป็นการทำงานเพื่อส่วนรวมทั้ง 2 ฝ่าย โรงเรียนได้รับการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้น่าเรียน ส่วนคนที่ร่วมงานจิตอาสาได้ความภาคภูมิใจ เกิดการใฝ่ทำความดีมากกว่าทำเรื่องด้านลบ และยังได้พัฒนาฝีมือแรงงาน เมื่อมีความชำนาญมากขึ้น นำไปเป็นอาชีพติดตัวได้ในอนาคต 

            “ในการฝึกฝนฝีมือบางอย่างต้องปฏิบัติงานจริง การทาสีโรงเรียน ได้ฝึกความมานะและความอดทน อย่างไรก็ตาม การปลุกพลังบวกของนักศึกษาต้องมีพื้นที่ให้เขาทำความดี ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐควรสนับสนุน มีงบประมาณด้านนี้ เพื่อเปิดช่องให้นักศึกษาทำความดี โดยในอนาคตอาจเชิญสถาบันอื่นทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อลบภาพเก่าๆ ที่ไม่ดีออกไป” อาจารย์บุญชูกล่าว

            ด้านนายวิรัช บุญนาค ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเจ้าแปดทรงไตรย์ กล่าวว่า โรงเรียนวัดเจ้าแปดทรงไตรย์เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียนเพียง 70  คน ช่วงฤดูน้ำหลากจะพบปัญหาน้ำท่วมเกือบทุกปี ในระหว่างน้ำท่วมนักเรียนต้องไปเรียนที่ศาลาวัดแทน ภายหลังจากน้ำลด อาคารเรียนและอุปกรณ์ต่างๆ ชำรุดเสียหายทุกปี ส่วนงบประมาณจากทางภาครัฐมีจำนวนจำกัด จึงไม่เพียงพอต่อการซ่อมแซม

            ดังนั้นจึงต้องขอบคุณนักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน และโครงการที่มาช่วยทาสีและซ่อมแซมอุปกรณ์ที่สึกหรอ การมาทำงานด้านจิตอาสาทางโรงเรียนไม่เพียงแต่ได้ประโยชน์จากการซ่อมแซมอาคารเท่านั้น แต่ยังได้การเเลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักศึกษาและนักเรียนอีกด้วย นักศึกษาถือเป็นแบบอย่างที่ดีในการกระตุ้นจิตสำนึกด้านจิตอาสาให้กับนักเรียนที่อยู่ในสังคมชนบท เพราะนักเรียนในชนบทมีโอกาสน้อยที่ได้รับการอบรมเชิงสร้างสรรค์ หากมีจิตอาสาเข้ามาทำกิจกรรมในโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้นักเรียนเปิดโลกการเรียนรู้ได้

            “เมื่อเห็นนักศึกษาปทุมวันทำงานเพื่อสังคม ทำให้ผมลืมเรื่องกระแสข่าวนักเรียนตีกันในทันที วัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่มีความคิดแตกต่างกัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สังคมต้องหนักใจ ภาพการทำงานด้านจิตอาสาเป็นภาพที่เห็นเขามีพลัง ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนในเชิงบวก พลังดีจากนักศึกษาจะตามมามากมาย และผมเชื่อว่าการรวมกลุ่มของคนมีพลังสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้หลายอย่าง” ผอ.โรงเรียนวัดเจ้าแปดทรงไตรย์กล่าวทิ้งท้าย

            ขณะที่ นายเตชาติ์ มีชัย เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน กล่าวว่า กิจกรรมที่ทุกฝ่ายมารวมตัวกันครั้งนี้ เราต้องช่วยกันทำให้เด็กๆ มีจิตสาธารณะ รับใช้สังคม ให้มองสังคมในมุมบวก ขณะเดียวกันสังคมต้องมองเขาในมุมบวกเช่นเดียวกัน ทั้งอุเทนถวายกับปทุมวัน ทราบดีว่าเขาทำกิจกรรมกับสังคมมาตลอด เช่น ออกค่ายอาสา ซ่อมรถ ดูแลผู้สัญจรเดินทาง การช่วยเหลือเรื่องสายไฟในชุมชน หมู่บ้านต่างๆ แต่เรื่องราวดีๆ แบบนี้สังคมไม่รับทราบ ยังมีคนหนุมสาวที่ยังซุกอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ที่ลุกขึ้นมาทำกิจกรรม เอาเวลาว่างมาทำประโยชน์ แม้มันจะไม่ยิ่งใหญ่ แต่แค่เขายอมเอาต้นทุนเวลาที่เขามีอยู่มาเสียสละให้คนอื่น มันก็เป็นสิ่งที่ดีแล้ว

            เชื่อว่าการทำความดีด้วยพลังจิตอาสาของเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ จะเป็นตัวอย่างดีให้สถาบันต่างๆ เดินตาม และมั่นใจว่าจะสามารถลบภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของเด็กช่างกลให้หมดไปได้.   

 

วางยุทธศาสตร์อ่านในชุมชน 

            นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า ในปี พ.ศ.2561 ศูนย์ประสานงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านในชุมชนท้องถิ่น ทางแผนงานฯ สร้างยุทธศาสตร์เชิงรุกด้วยการวางทิศทางการทำงาน ทั้งส่วนงานขับเคลื่อนเชิงนโยบาย การพัฒนาองค์ความรู้ และงานสื่อสาธารณะ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติเป็นรูปธรรม ก่อประโยชน์ต่อการใช้หนังสือและกิจกรรมการอ่าน เพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะโครงสร้างโอกาสให้เกิดการเข้าถึงหนังสือดี มีคุณภาพ ด้วยกองทุนสุขภาพในท้องถิ่น

            ด้านนางสาววรรณพร เพชรประดับ ประธานศูนย์ประสานงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านในชุมชนท้องถิ่น กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำงานในปีนี้มีการรวมพลังจาก 15 พื้นที่ทั่วทุกภูมิภาค โดยวางยุทธศาสตร์การดำเนินงาน 4 ส. คือ สาน สร้าง เสริม สื่อสาร ดังนี้ ข้อ 1 สานความร่วมมือภาคีเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมสร้างวัฒนธรรมการอ่านในชุมชนท้องถิ่นอย่างมีพลัง ข้อ 2 สร้างพื้นที่และนวัตกรรมส่งเสริมการอ่านในชุมชนท้องถิ่น ข้อ 3 เสริมศักยภาพเครือข่ายให้เกิดการปฏิบัติการส่งเสริมการอ่านในชุมชนท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ และ ข้อ 4 สื่อสารสาธารณะสู่สังคมเพื่อสร้างวัฒนธรรมการอ่าน

 

ผู้สนใจติดตามความก้าวหน้าขยายการดำเนินงานสร้างวัฒนธรรมการอ่านได้ใน www.happyreading.in.th และ www.facebook.com/SMARTReadingThailand (อ่านยกกำลังสุข).

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"