มั่นใจเอาอยู่น้ำท่วมเพชรฯ


เพิ่มเพื่อน    

     "ประยุทธ์" เตรียมลงขันนอตพื้นที่แก่งกระจาน ดูแลบริหารจัดการน้ำ ชม "ผู้ว่าฯ เมืองเพชร" รับมือเยี่ยม "บิ๊กป้อม" รับ 9 จังหวัดริมโขงน่าวิตก "กฤษฎา" แจงใช้ 3 วิธีระบายน้ำ เชื่อเอาอยู่หากไม่มีฝนซ้ำ ลั่นไม่ซ้ำรอยปี 2554 แน่
     เมื่อวันอังคาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานให้ทราบว่ามีการเตรียมการเป็นอย่างดี จึงขอชมเชยผู้ว่าราชการจังหวัดที่เตรียมการรับมือ โดยวันที่ 8 ส.ค. จะลงพื้นที่เพื่อไปดูระดับน้ำ เนื่องจากมีระดับน้ำที่สูง จึงต้องไปดูแผนที่เตรียมการไว้ว่าครบถ้วนหรือไม่ พร้อมตรวจดูการทำงานของหน่วยป้องกันภัยของพลเรือนที่ร่วมบูรณาการทำงานกับฝ่ายทหาร เตรียมการรองรับกรณีน้ำเข้ามามากกว่าปริมาณที่สามารถรองรับ 
     “วันนี้คาดว่าปริมาณน้ำยังคงทรงตัวและลดลงหลังจากที่ได้ระบายน้ำออกแล้ว ทั้งนี้ หลายคนเป็นห่วงการระบายน้ำบริเวณเขื่อนกรณีน้ำล้นสปิลเวย์ โดยการระบายน้ำออก จะต้องดูว่าเขื่อนมีความแข็งแรงที่จะพอรองรับได้หรือไม่ พร้อมดูน้ำที่ระบายออกมาว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ เพื่อที่ภาคประชาชนจะได้เตรียมการรองรับ” นายกฯ ระบุ
     พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า จะไปตรวจงานในเรื่องเหล่านี้ หลายพื้นที่อาจต้องมีแผนอพยพประชาชน จึงขอให้ทุกคนติดตามสถานการณ์ฝนและสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา จากสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือหรือกูเกิล ว่าเดือน ส.ค.น้ำแต่ละจังหวัดเป็นอย่างไร ซึ่งบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ท้ายน้ำ เขตการระบายน้ำออกต้องเตรียมการรับมือ โดยเก็บข้าวของไว้ในที่สูง พร้อมเตรียมอพยพไปในพื้นที่ปลอดภัย หากมีปริมาณน้ำมากขึ้น โดยรัฐบาลได้พยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหา ได้ตัดตอนน้ำทั้งก่อนเข้าเขื่อนและท้ายเขื่อน พร้อมทำทางระบายน้ำเพิ่มเติม เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับชาวบ้านให้ได้มากที่สุด
     “แนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัยสอดคล้องกับที่ผมได้สั่งการไปแล้ว ว่าให้ขุดขยายเส้นทางน้ำตามธรรมชาติ เพื่อเก็บกักและระบายน้ำไว้ในพื้นที่แก้มลิง พร้อมชดเชยประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และเตรียมสนับสนุนสร้างอาชีพให้กับประชาชน เช่น ทำประมงพื้นบ้านเหมือนที่ได้ทำไปแล้วที่ จ.พิษณุโลก และ ต.บางระกำ จ.พระบครศรีอยุธยา โดยประชาชนมีความพอใจ วันนี้มีปลาเยอะแยะ และวันนี้ก็ได้ขอห้องเย็นมาอีกเพื่อเก็บปลาจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นอาชีพเสริมขึ้นมาในช่วงตอนทำนาไม่ได้ รัฐบาลคิดทุกมิติ เพราะเป็นเรื่องของภัยธรรมชาติที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ทำอย่างไรจึงจะเสียหายน้อยที่สุด และรัฐบาลต้องดูแล ที่สำคัญคือสร้างความเข้าใจกับประชาชนว่าต้องเตรียมการอย่างไร โดยกำนัน ผู้ใหญ่บ้านต้องช่วยกัน ซึ่งพรุ่งนี้ผมจะบังคับบัญชาในเรื่องนี้” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
     พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่า ได้ให้แนวทางที่จะแก้ไขปัญหาอุทกภัยได้ในอนาคต เพราะหลายพื้นที่ทำโครงการใหม่ๆ แล้วสามารถระบายน้ำได้ เช่นเดียวกับที่เขื่อนแก่งกระจาน ในประตูระบายน้ำคลอง D9 โดยตอนนี้ทำได้แล้ว 50% ซึ่งได้สั่งให้เปิดการระบายน้ำออกด้านข้างด้วย เพราะจะลดปริมาณน้ำได้กว่า 50 ล้านลูกบาศก์เมตร จากนั้นจะเหลือกว่า 100 ล้าน ลบ.ม. เพราะถ้าปล่อยออกช่องทางเดิมทั้งหมด น้ำก็จะท่วมทั้งหมด รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำอย่างมาก โดยให้ความสำคัญตั้งแต่แรก ก่อนมีสถานการณ์น้ำเกิดขึ้น
เตรียมตรวจคลอง D9
     สำหรับกำหนดการการลงพื้นที่ของคณะ พล.อ.ประยุทธ์ในวันที่ 8 ก.ค.นั้น จะออกเดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์จากสนาม ฮ.พล ม.2 ในเวลา 08.30 น.ไปยัง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี และเดินทางต่อด้วยรถยนต์ไปยังเขื่อนเพชร เพื่อดูการบริหารจัดการน้ำที่มาจากเขื่อนแก่งกระจาน รวมทั้งตรวจระดับน้ำและรับฟังการบรรยายสรุปก่อนมอบนโยบายให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ปฏิบัติ หลังจากนั้นจะเดินทางไปยังประตูระบายน้ำคลอง D9 เพื่อดูการขยายคลองชลประทานเชื่อมต่อกับคลองระบายน้ำ D9 และในช่วงบ่ายจะเดินทางไปยังวัดคุ้งตำหนัก ต.บางตะบูน อ.บ้านแหลม เพื่อตรวจการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำและระดับน้ำเปรียบเทียบก่อนเดินทางกลับ กทม. 
     พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักรัฐมนตรี กล่าวว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ฉัตรชัยได้รายงานถึงการลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำที่ จ.เพชรบุรี ว่ามีการพร่องน้ำอย่างไร และเหตุใดถึงมีการพร่องน้ำตอนนี้ โดย พล.อ.ฉัตรชัยชี้แจงว่า มีมาตรการในการรักษาระดับน้ำให้อยู่ 60% ส่วนที่ห่วงใยว่าเขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร เขื่อนแก่งกระจานมีระดับเต็มความจุของเขื่อน ขณะที่เขื่อนศรีนครินทร์  เขื่อนวชิราลงกรณ และเขื่อนปราณบุรี มีระดับน้ำเกือบเต็มความจุเขื่อนนั้น ขอให้มั่นใจเขื่อนมีศักยภาพรับน้ำได้ เนื่องจากมีสปิลเวย์หรือทางรับน้ำที่จะยืดหยุ่น ยืนยันว่ายังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ไม่มีโอกาสที่น้ำจะล้นสันเขื่อน 
     “นายกฯ ได้สั่งผู้ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เพื่อไปดูรายละเอียดเครื่องวัดแรงสั่นสะเทือนในแต่ละเขื่อน ซึ่งเป็นเทคนิคที่สูงว่าสปิลเวย์ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าแม้เกิดแผ่นดินไหวเขื่อนก็จะรับได้ โดยยืนยันที่ประชุมไม่ได้มีการเปรียบเทียบตัวเลขน้ำเทียบกับน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 แต่อย่างใด” พล.ท.สรรเสริญระบุ 
     ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวว่า ได้สั่งให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แจ้งเตือนประชาชนเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งเตรียมการในด้านอุปกรณ์ในการช่วยเหลือในพื้นที่ที่คาดว่าน้ำจะไปถึง ไม่ว่าจะเป็นภาคใต้ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือกำลังดำเนินการขุดทางระบายน้ำ 418 จุด ส่วนการฟื้นฟูบ้านเรือนประชาชนนั้น ก็เป็นหน้าที่ที่เขาดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งการแจ้งเตือนไม่ถือว่าช้าเกินไป เพราะยังไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าเกิดขึ้น หรือเรารู้ว่าฝนจะมา ปริมาณน้ำมากขึ้น ก็แจ้งเตือนให้ประชาชนทราบ
     เมื่อถามถึงปริมาณน้ำปีนี้ที่ใกล้เคียงกับปี 2554 พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เขาบริหารจัดการน้ำอยู่ แต่ยังมี 9 จังหวัดบริเวณริมแม่น้ำโขงที่ปริมาณน้ำยังสูงอยู่ ไม่รู้ว่าปล่อยมาจากที่อื่น หรือมาจากฝนที่ตกลงมาสะสม นอกนั้นก็มีการบริหารจัดการน้ำที่ดีและเราเตรียมการป้องกันไว้ทั้งหมด
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงสถานการณ์การระบายน้ำที่เขื่อนแก่งกระจานว่า มั่นใจว่าจะบริหารจัดการและรับมือสถานการณ์ได้ แม้มีน้ำล้นสปิลเวย์หรือมีน้ำทะเลหนุนในช่วง 2 วันนี้ แต่สถานการณ์ไม่รุนแรง มีการระบายน้ำได้ โดยจะมี 4 อำเภอที่อาจได้รับผลกระทบบ้างคือ อ.เมืองฯ อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด และ อ.บ้านแหลม โดยได้กำชับให้ฝ่ายปกครองเฝ้าระวัง และเตรียมพร้อมสำหรับการแจ้งเตือน คาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบมาก มีเพียงบริเวณที่อยู่ใกล้น้ำเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ
ลั่นไม่ซ้ำรอยปี 2554
     ขณะที่นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำของเขื่อนแก่งกระจานได้ใช้ 3 ช่องทาง คือ ประตูปิด-เปิดธรรมดา ช่องทางน้ำล้น (สปิลเวย์) และเครื่องสูบน้ำออก ซึ่งน้ำทั้งหมดจะลงมาสู่แม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งมวลน้ำใหญ่กำลังเคลื่อนตัวลงมา โดยกระทรวงและสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) แยกมวลน้ำดังกล่าวให้ออกไปทางซ้ายและขวาของแม่น้ำเพชรบุรี โดยส่วนหนึ่งใช้เครื่องสูบน้ำเป็นทางลัดสู่อ่าวไทย อีกส่วนกำลังดูพื้นที่ว่างที่ยังไม่มีการทำเกษตรให้น้ำลงพื้นที่นั้น เป็นโมเดลเดียวกับที่ทำในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา อย่างไรก็ตาม การใช้เครื่องสูบน้ำ และการผันน้ำออกทางซ้ายขวา ทำให้น้ำที่จะลงไปสู่ตัวเมืองเพชรบุรีลงไปช้าและมีปริมาณน้อยลง จึงมีเวลาให้ประชาชนในพื้นที่เตรียมความพร้อม
     นายกฤษฎากล่าวว่า ส่วนราชการทั้งระดับพื้นที่และส่วนกลางจะพยายามเร่งระบายน้ำตามวิธีดังกล่าวให้เกิดผลกระทบกับประชาชนในเมืองเพชรบุรีให้น้อยที่สุด โดยรายงานล่าสุดเมื่อเวลา 07.00 น. ระดับน้ำยังอยู่ในระดับล่าง ไม่ขึ้นมาริมตลิ่ง ซึ่งการบริหารจัดการน้ำยังเป็นไปตามแผน แต่ปัจจัยที่เรายังไม่กล่าวถึงคือ ฝนที่จะตกลงมาใหม่หรือไม่ โดยตลอด 24 ชม. ที่ผ่านมายังไม่มีฝนมากตกลงมา แต่หากตกลงมาต้องดูปริมาณน้ำก่อน ถ้ามีปริมาณน้ำไหลอยู่ที่ประมาณ 70-80 ลบ.ม.ต่อวินาทีไม่มีปัญหา แต่ถ้าขึ้นมา 200-300 ลบ.ม.ต่อวินาที จะทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำในเมือง จ.เพชรบุรี น้ำท่วม แต่จะไม่ท่วมกระจายเหมือนเมื่อก่อน เพราะเรามีพนังกั้น และเครื่องสูบน้ำคอยรองรับไว้จากกรมชลประทาน 35 เครื่อง ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มสูบน้ำออกไปแล้ว
     “เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี ใช้หลักการระบายน้ำแบบเดียวกัน ส่วนพื้นที่อื่นตามลุ่มแม่น้ำโขง ที่ตอนนี้ประสบปัญหาเช่นกันนั้น ขณะนี้ยังบริหารจัดการได้ แต่ด้วยน้ำในแม่น้ำโขงมีปริมาณที่มาก ทำให้ระบายได้ช้า ทั้งนี้ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ยังคงรับน้ำได้อยู่ น้ำจะไม่ท่วมแบบปี 2554 แน่นอน” นายกฤษฎายืนยัน
     พล.ร.อ.นริส ประทุมสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) กล่าวถึงการสนับสนุนความช่วยเหลือจากกองทัพเรือในการรับมือสถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.เพชรบุรี ว่าได้ส่งเรือผลักดันน้ำจำนวน 20 ลำ เพื่อเร่งระบายน้ำ และยังได้ส่งหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) ไปช่วยเหลือประชาชนขนย้ายสิ่งของ ช่วยเหลือเรื่องการเดินทาง และลาดตระเวนตรวจการณ์ระดับน้ำที่ริมแม่น้ำโขง ซึ่งมีน้ำเอ่อล้น เชื่อว่าการสนับสนุนของกองทัพเรือจะช่วยผ่อนคลายความเสียหายของสถานการณ์อุทกภัยได้บางส่วน
     นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬากล่าวถึงข้อวิตกกังวลของสถานประกอบการกรณีที่ปริมาณน้ำเริ่มท่วมทะลักเข้ามายังตัวเมืองเพชรบุรี ว่าได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจเรียบร้อยแล้ว แต่เบื้องต้นเท่าที่ได้รับรายงานยังไม่ได้รับผลกระทบอะไรมากนัก ผู้ประกอบการและเจ้าของรีสอร์ตต่างๆ มีความตื่นตัว
     นพ.โอภาส การย์กวินพงษ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวหลังประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีอุทกภัยว่า นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สธ. ได้สั่งให้ทุกฝ่ายมีการเตรียมความพร้อมรับมือ จึงได้มีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการทางการแพทย์ตอบโต้สถานการณ์ในพื้นที่เสี่ยงแล้ว
     “ตอนนี้ที่เฝ้าระวังอย่างเข้มข้นคือที่ รพ.พระจอมเกล้า และ รพ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี เพราะมีการเบี่ยงทางน้ำที่ปล่อยจากเขื่อนแก่งกระจาน ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีการท่วม ก็สั่งการให้วางกระสอบทรายเป็นแนวกั้นน้ำเตรียมไว้ และมีการวางแผนว่าหากจำเป็นต้องอพยพจะขนผู้ป่วยวิกฤติออกจาก รพ.อย่างไร โดยประเมินสถานการณ์กันวันต่อวัน พร้อมทั้งเปิดศูนย์ติดต่อสำหรับประชาชนตลอด 24 ชม. หรือสามารถโทร.มาที่สายด่วน 1669 ได้” นพ.โอภาสกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"