โซล – ปูซาน – โอซาก้า


เพิ่มเพื่อน    

สะพานข้ามทะเล “ควางอันแดเกียว” หรือ “สะพานเพชร” เชื่อมเขตซูยองกับเขตเฮือนแด เมืองปูซาน

จินนี่ทำมื้อเช้าให้กินแล้วก็ออกไปซื้อของเข้าบ้านให้พ่อ-แม่ หลังจากที่ทั้งคู่กลับออกจากโรงพยาบาลมาพักฟื้นที่บ้านในเวลาห่างกันไม่กี่วัน บ้านพ่อ-แม่อยู่ห่างออกไปจากแฟลตของเธอไม่ถึง 1 กิโลเมตร จินนี่เลือกความเป็นส่วนตัวแต่ก็ยังดูแลบุพการีได้อย่างไม่ติดขัด

ผมนั่งรถไฟใต้ดินจากสถานี Digital Media City ไปยังสถานี Hongik University เพื่อไปกินกาแฟและเดินเล่นในย่านฮงแดจนบ่ายก็ลงรถไฟใต้ดินอีกครั้งไปยังสถานี Dongdaemun History & Culture Park เดินอีกหน่อยก็ถึง Dongdaemun Design Plaza

ศูนย์แสดงแฟชั่นและการออกแบบทงแดมุนนี้ถือว่าเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของกรุงโซล เพิ่งเปิดใช้เมื่อปี ค.ศ. 2014 อาคารรูปร่างโค้งเว้ากลมๆ รีๆ ให้ความรู้สึกล้ำยุค ผนังด้านนอกอาคารตกแต่งด้วยแผ่นอลูมิเนียมมากกว่า 4 หมื่นแผ่นโดยที่ไม่มีรูปร่างซ้ำกันเลย ภายในมีพื้นที่ใช้สอยถึงเกือบ 9 หมื่นตารางเมตร ส่วนหนึ่งบนหลังคายังมีสวนสำหรับเดินเล่นด้วย ผมไม่ได้เข้าไปด้านในเพราะขนาดใหญ่เหลือเกิน ไม่รู้จะชมอะไรก่อนหลัง และเวลาก็คงไม่พอ จึงเดินต่อไปยังย่านตลาดทงแดมุน

อาคาร Dongdaemun Design Plaza (DDP) ในย่านทงแดนมุน

ประตูฮังอินจิมุน สมบัติของชาติหมายเลข 1 ตั้งเด่นอยู่ติดๆ กับสี่แยกทงแดนมุน จึงมีคนเรียกว่าประตูทงแดมุนด้วยเช่นกัน เป็น 1 ใน 8 ประตูเมืองในสมัยปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ ป้อมกำแพงใกล้ประตูถูกทำลายไปนานแล้วแต่ประตูนี้ยังอยู่ยงโดยคงสภาพเดิมมาตั้งยุคราชวงศ์โชซอนเมื่อหลายร้อยปีก่อน

หากเดินตรงไปเรื่อยๆ ก็จะพบกับศูนย์กลางศิลปะการแสดงของกรุงโซล มีโรงหนังโรงละครเล็กๆ อยู่เป็นจำนวนมาก เรียกว่าย่านถนนแดฮังโน นอกจากแสดงในร่มแล้วก็ยังมีวัยรุ่น คนหนุ่มสาว วาดลวยลายในสไตล์ถนัดกันริมถนนทั้งกลางวันและกลางคืน แต่ผมไม่ได้เดินไปเพราะรู้สึกปวดฝ่าเท้านิดหน่อยจากการที่เมื่อวานได้เดินไปราว 10 กิโลเมตร ตัดสินใจเลี้ยวซ้ายไปบนถนน Jong-ro ผ่านศูนย์การค้าทงแดมุน ตลาดเสื้อผ้าและสิ่งทอสำหรับขายส่งและขายปลีกขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แต่ถึงแม้จะไม่เข้าห้างทงแดมุนนี้ก็มีร้านเสื้อผ้าอาภรณ์เรียงกันไปริมถนนจนชมให้หมดไม่ไหว

อากาศในช่วงปลายเดือนกันยายนอบอุ่นในเวลากลางวันและเย็นในเวลากลางคืน จินนี่บอกผมว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดในการไปเยือนเกาหลีใต้ ผมถูกใจเสื้อยืดผ้าหนาแขนยาวที่แขวนโชว์อยู่หน้าร้านเล็กๆ ร้านหนึ่ง ราคาประมาณ 300 บาท จึงเข้าไปแจ้งพนักงานว่าต้องการลองเสื้อ ได้ไซส์ที่พอดีแล้วก็ซื้อไว้ไปใส่ที่ญี่ปุ่นในอีกสามสี่วันข้างหน้า แล้วเดินหา Wifi สาธารณะเพื่อติดต่อกับจินนี่

หนุ่มเกาหลีรุ่นใหญ่กำลังตั้งวงครื้นเครงในเวลาเย็นหลังเลิกงาน เมื่อก่อนสมาชิกคงเคยมีมากกว่านี้ และอีกไม่นานก็อาจจะลดจำนวนลงไป

ที่หน้าประตูทางเข้าศาลเจ้าชงเมียว มีสัญญาณ Wifi แต่เบาบางมากๆ ไม่สามารถเข้าอินเตอร์เน็ตได้ เดินต่ออีกสักพักก็ยังหาไม่ได้ จึงคิดว่าค่อยไปใช้ในร้านอาหารที่ไหนสักแห่ง ระหว่างนี้ผมแวะนั่งดูความเคลื่อนไหวยามเย็นของผู้คนแห่งกรุงโซลตามที่นั่งสาธารณะริมทางสองครั้ง แล้วตัดเข้าถนนเส้นด้านในซึ่งมีแม่น้ำสายเล็กๆ ไหลเลียบเคียงกันไป เจอย่านที่เขียนป้ายไว้ว่า Avenue of Youth หรือถนนคนหนุ่มสาวอยู่ด้านขวามือซึ่งเชื่อมกับถนน Jong-ro ที่เดินก่อนหน้านี้ จึงไม่รีรอที่จะเดินเข้าไป

ร้านอาหารตะวันตกชื่อ Radost โฆษณาขายเบียร์ Kozel ของสาธารณรัฐเช็กเตะตาแต่ยังไม่แวะ เดินไปเรื่อยๆ จนไปออกที่แยกชุงกัก เห็นตึกชุงโนทาวเวอร์ (Jongno Tower) ความสูง 132 เมตร มี 33 ชั้น อยู่ฝั่งตรงข้าม เจ้าของตึกคือ Samsung Security บริษัทในเครือของซัมซุง อาคารนี้รูปทรงโมเดิร์นโดดเด่นกว่าใครโดยเฉพาะในเวลาฟ้ามืดยามนี้ ช่วงบนของอาคารโล่งเหมือนรูโหว่ระหว่างชั้นที่ 23 ถึงชั้นที่ 30 ส่วนชั้นบนสุดเป็นที่ตั้งของบรรดาร้านอาหารและบาร์เครื่องดื่ม เหมาะสำหรับชมวิวเขตชุงโนและกรุงโซลย่านอื่นๆ ด้วย

หอระฆังโพชินกัค เมื่อก่อนตีทุกวัน เดี๋ยวนี้ตีปีละครั้ง

ฝั่งที่ผมยืนอยู่เป็นที่ตั้งของหอระฆังโพชินกัค หอระฆังที่สร้างมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1396 แต่ก็ถูกทำลายลงโดยสงครามและเพลิงไหม้หลายครั้ง ในอดีตใช้ตีสำหรับบอกเวลาเปิด-ปิดประตูเมือง คือเวลาตี 4 และ 4 ทุ่มของแต่ละวัน ในปัจจุบันตีแค่ปีละครั้งคือในวินาทีแรกของวันขึ้นปีใหม่ ผู้คนจึงมารวมตัวกันบริเวณนี้มากเป็นพิเศษ   

เมื่อได้พิกัดแล้วผมก็กลับไปนั่งที่ร้าน Radost สั่งอาหารและเบียร์ดำ Kozel ขนาด 1 ไพนต์ แล้วขอรหัส Wifi เพื่อแจ้งจินนี่ว่าอยู่ตรงไหนของกรุงโซล เธอตามหาจนเจอได้ไม่ยากตอนที่ผมกำลังจะสั่ง Kozel แก้วที่ 4 จินนี่ดื่มไป 1 แก้วเราก็เปลี่ยนร้าน ซึ่งร้านใหม่เป็นร้านแบบเกาหลี พนักงานเสิร์ฟและกัปตันล้วนเป็นหญิงสาวหน้าตาดี คงตั้งใจคัดมาเพื่อดึงดูดลูกค้าหนุ่มน้อยหนุ่มมากให้เข้าใช้บริการจนเต็มร้าน ผมกับจินนี่ดื่มกันคนละแก้วก็ลุกเดินต่อ จินนี่จะโชว์ย่านหนึ่งอีกฝั่งถนน Jong-ro แต่เธอว่าน่าจะปิดแล้ว โดยที่ไม่ได้บอกว่าน่าสนใจตรงไหน จากนั้นเราก็นั่งรถเมล์กลับที่พักแล้วแยกย้ายกันนอน

ตลาดสดเฮือนแด ตลาดอาหารทะเลในเมืองปูซาน

เช้าวันต่อมาจินนี่ทำอาหารให้กินเหมือนเดิม และเธอก็ยังต้มไข่ไก่ให้อีก 2 ใบใส่ถุงสำหรับกินเป็นมื้อเที่ยงในรถไฟไปเมืองปูซาน จากตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศวิ่งทแยงมุมไปยังเมืองชายทะเลทางตะวันออกเฉียงใต้ เราร่ำลากันที่สถานีรถไฟใต้ดิน Digital Media City ผมนั่งรถไฟใต้ดิน 2 ต่อไปยังสถานีรถไฟกรุงโซล ได้ตั๋วรถไฟเที่ยว 11.45 น. ซึ่งกำลังจะออก เป็นรถไฟธรรมดาที่วิ่งเกือบ 5 ชั่วโมง ราคา 42,600 วอน หรือประมาณ 1,250 บาทซึ่งถูกกว่ารถด่วนที่วิ่งประมาณ3 – 4 ชั่วโมง แต่สำหรับผู้ที่มาจากประเทศที่รถไฟออกไม่ตรงเวลาและถึงช้ากว่ากำหนดย่อมถือว่าดีมากๆ แล้ว และเมื่อได้ใช้บริการก็รู้สึกว่าคุ้มค่าและมาตรฐานไม่ได้เป็นรองรถไฟญี่ปุ่น

รถไฟจอดที่สถานีปูซานเกือบๆ 5 โมงเย็น นั่งรถไฟใต้ดินต่อไปโผล่ที่สถานี Seomyeon มีน้ำพุสวยงามอยู่บนหัวถนน Seomyeonmunhwa เมื่อปรับทิศทางได้แล้วก็เดินไปบนถนนเส้นนี้ เข้าเช็กอินที่ Seri Inn Guesthouse ตามที่ได้จองไว้ก่อนแล้ว

ห้องของผมเป็นแบบห้องนอนรวมจำนวน 4 เตียง มีห้องน้ำอยู่ภายในห้อง แต่สำหรับคืนนี้ผมเป็นแขกคนเดียว จึงเท่ากับว่าไม่ต่างจากการพักห้องเดี่ยว โดยจ่ายเงินน้อยลงไปประมาณครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 750 บาท อาบน้ำอาบท่าแล้วก็เดินดุ่มๆ ด้วยแผนที่กูเกิลที่ได้แคปเจอร์หน้าจอไว้ไปยังตลาดขนาดค่อนข้างใหญ่ชื่อ Market of Memory ขายทั้งอาหารสดที่ส่วนมากเป็นอาหารทะเล อาหารแห้ง ผัก ผลไม้ และมีร้านอาหารแซมอยู่ด้วย ผมเลือกได้ร้านหนึ่ง สั่งปลาทอด เต้าหู้ราดซอส และซุปมากินกับข้าวสวย มีผักดองจานเล็กๆ เคียงมาอีกสองสามจาน แก้คาวด้วยเบียร์ Hite Extra Cold ผมจำราคาอาหารไม่ได้แต่จำความรู้สึกได้ว่าถูกมาก เพราะเมืองปูซานคือแหล่งใหญ่ของอาหารทะเล

หาดเฮือนแด เมืองปูซาน

วันต่อมาฝนตกตั้งแต่เช้า ผมหยิบร่มของเกสต์เฮาส์ออกไปซื้อบะหมี่ถ้วยจากมินิมาร์ทกลับมากินกับไข่ต้มของเกสต์เฮาส์ที่บริการมื้อเช้าฟรีแต่ออกไปทางอาหารตะวันตก จำพวกซีเรียล ขนมปัง เนย และแยม ซึ่งหากมีทางเลือกอื่นผมก็จะขอผ่าน แต่ก็ยังมีกาแฟสด ชาหลายชนิด และน้ำผลไม้ให้ดื่มได้ทั้งวัน

กาแฟหมดถ้วยพร้อมๆ กับฝนที่ซาเม็ดลงไปจนเกือบหยุดสนิท ผมก็จ่ายเงินกับพนักงานต้อนรับขอพักต่ออีกวัน แล้วออกไปนั่งรถไฟใต้ดินไปยังชายทะเลย่านเฮือนแด (Haeundae) โดยระหว่างสถานีรถไฟใต้ดิน Haeundae กับชายหาดในชื่อเดียวกัน ต้องเดินผ่านถนน Gunam-ro ความยาวเจ็ดแปดร้อยเมตรเห็นจะได้ เมื่อเดินไปครึ่งทางของถนนทางด้านซ้ายมือก็เป็นที่ตั้งของตลาดเฮือนแด มีทั้งส่วนที่เป็นตลาดสดขายอาหารทะเล และส่วนที่เป็นร้านอาหารเล็ก-ใหญ่หลายร้าน เพื่อไม่ให้มาแล้วสูญเปล่าผมจึงกินมื้อเที่ยงเสียในร้านแบบบ้านๆ ร้านหนึ่ง ซึ่งก็ไม่พ้นปลาทอดกับข้าวสวยและบรรดาผักดอง

จากนั้นก็เดินไปยังชายหาดเฮือนแด มีลักษณะเป็นอ่าวขนาดพองาม หาดทรายค่อนข้างกว้างในช่วงน้ำลงจนมีคนทำสนามฟุตบอลชายหาดขึ้น เล่นกันฝั่งละเจ็ดคนสบายๆ หาดแห่งนี้แม้ไม่สวยงามจนต้องติดดาวแต่ก็ไม่ขี้เหร่ วันนี้คลื่นค่อนข้างแรง ส่วนท้องฟ้านั้นหม่นด้วยหมู่เมฆ นักท่องเที่ยวมีไม่มากนัก

ผมมีภารกิจต่อที่จะต้องถ่ายรูปสะพานควางอัน (Gwangandaegyo) สะพานเชื่อมเขต Haeudae-gu กับ Suyeong-gu ทางด้านทิศใต้ ส่งไปให้เพื่อนชาวเกาหลีใต้คนหนึ่งที่เธอบอกว่าชื่นชอบสะพานแห่งนี้เป็นพิเศษและอยากจะมาเยือนอีกครั้งแต่ยังไม่มีเวลาว่าง ขอเพียงได้เห็นรูปถ่ายก็ยังดี ผมเดินเลียบชายหาดเฮือนแดไปหลายร้อยเมตรก่อนขึ้นสู่ถนนใหญ่แล้วนั่งรถไฟใต้ดินสถานี Dongbaek ไปโผล่ที่สถานี Geumnyeonsan แล้วเดินอีกประมาณสองสามร้อยเมตรลงไปยังหาดควางอัลลี (Gwangalli) ซึ่งเป็นทางลงทางด้านทิศใต้

หาดควางอัลลี ยามเย็น

ทางเดินริมถนนเลียบชายหาดได้รับการตกแต่งแบบมีรสนิยม ดูเก๋ไก๋ กระจุ๋มกระจิ๋ม หาดควางอัลลีนี้มีลักษณะเป็นอ่าวเช่นเดียวกับหาดเฮือนแด ขนาดก็พอๆ กัน แต่เหนือกว่าตรงที่พอมองออกไปในทะเลก็เห็นสะพานควางอันที่เลื่องลือ

สะพานแขวนแห่งนี้มีความยาวรวมผิวถนน 7.4 กิโลเมตร (ยาวเป็นอันดับ 2 ของประเทศรองจากสะพานอินชอน) ส่วนที่อยู่เหนือน้ำทะเลนั้นยาวเพียง 900เมตร เปิดใช้งานระหว่างเอเชียนเกมส์ปี ค.ศ. 2002 ที่เมืองปูซานเป็นเจ้าภาพ ชื่อ “ควางอันแดเกียว” นั้นแปลว่า “สะพานเพชร”

ผมถ่ายรูปสะพานเพชรนี้อยู่ตั้งแต่ฟ้ายังไม่มืด โดยมีเบียร์ Max กระป๋องเป็นเพื่อนรอจนฟ้ามืด ไฟบนสะพานสว่างขึ้น จึงได้ถ่ายรูปสะพานอีกเวอร์ชั่น

ด้านหลังของถนนเลียบหาดคือร้านอาหารและผับบาร์ที่เรียงรายกันเต็มพื้นที่สำหรับให้ลูกค้ากินดื่มแกล้มชายหาด น้ำทะเล และสะพานงาม อากาศเย็นขึ้นเรื่อยๆ ตามเวลานาฬิกาที่เพิ่มขึ้น ผมเดินขึ้นเหนือไปโดยไม่แวะที่ร้านไหน เลี้ยวซ้ายเข้าซอย Gwangan-ro ไปยังถนนใหญ่ Suyeong-ro นั่งรถไฟใต้ดินที่สถานีGwangan กลับสถานี Seomyeon แวะกินมื้อค่ำง่ายๆ จากรถเข็นใกล้ๆ ห้าง Lotte อาหารจานนี้มีลักษณะคล้ายๆ หอยทอดบ้านเราแต่ใส่ปลาหมึกและผักหลากหลายชนิดลงไปแทนหอย

คืนนี้ผมมีเพื่อนร่วมห้อง 1 คน อายุไม่น่าเกิน 30 ปี เป็นพนักงานออฟฟิศ บ้านอยู่ในชานเมืองปูซานแต่พรุ่งนี้ต้องขึ้นเครื่องบินตอนเช้าจึงมานอนในเขตเมืองที่ไม่ห่างสนามบินมากนัก เขามีวันหยุด 6 วัน จึงวางแผนจะไปเที่ยวฝรั่งเศส 3 วันและสเปน 3 วัน ถามผมว่ามีอะไรจะแนะนำไหม จึงตอบไปว่าระวังแขกขาวแขกดำไว้ให้ดีก็แล้วกัน ไม่ล้วงกระเป๋าก็เข้ามาหากินในรูปแบบที่คุณจะนึกไม่ถึง  

หาดควางอัลลี และสะพานควางอัน

เขาตื่นนอนตั้งแต่ยังไม่สว่างและรีบอาบน้ำออกไป ผมตื่นเกือบ 8 โมง ลงไปดูตารางรถแอร์พอร์ตลิมูซีนที่ติดไว้ตรงล็อบบี้ เที่ยวบินไปโอซาก้าของผมออกเวลา 12.30 น. อาบน้ำกินกาแฟแล้วก็ออกไปรอแอร์พอร์ตลิมูซีนซึ่งก็คือรถบัสไปสนามบิน ปรากฏว่าพลาดเที่ยวที่เล็งไว้ ต้องรออีกครึ่งชั่วโมงคันถัดไปถึงจะมา จึงตัดสินใจลงรถไฟใต้ดินและต่อด้วยรถไฟที่เรียกว่า Light Rail ทำหน้าที่เชื่อมรถไฟใต้ดิน 2 สายกับสนามบินกิมเฮ สุดเขตตะวันตกของเมืองปูซาน

จินนี่เป็นคนซื้อตั๋วสายการบินโลว์คอสต์ Eastar Jet ค่าโดยสารประมาณ 2 พันบาทส่งไปให้ทางอีเมลตั้งแต่ก่อนผมมาถึงกรุงโซลเมื่อสัปดาห์ก่อนเพื่อเอาไว้ยืนยันกับ ตม. สนามบินอินชอนว่ามีตั๋วออกนอกประเทศ ไม่ได้ตีตั๋วเที่ยวเดียวหวังจะโดดร่มทำงานในเกาหลีใต้

จาก “ปูซาน” ถึง “โอซาก้า” ใช้เวลาบินประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น และนี่คือวิธีที่ขออนุญาตแนะนำให้กับท่านที่อยากเที่ยวทั้งเกาหลีใต้และญี่ปุ่นในทริปเดียวกัน ไทย – เกาหลีใต้ – ญี่ปุ่น – ไทย ทั้งสองประเทศไม่ต้องขอวีซ่าและบินไป-กลับรวมเพียง 3 เที่ยวบิน. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"