ลงตัว‘AIS-DTAC’แบ่งคลื่น


เพิ่มเพื่อน    

  ประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์สุดกร่อย เอไอเอส-ดีแทคสมานฉันท์เคาะเพิ่มคนละ 25 ล้านบาท จบอยู่ที่ใบละ 12,511 ล้านบาท ได้เงินเข้ารัฐอยู่ที่ 25,022 ล้านบาท "ฐากร" ย้ำ กสทช.ทำเต็มที่แล้ว มองไปข้างหน้าเตรียมความพร้อมคลื่น 5 จี ประกาศถือครองคลื่นความถี่ที่ได้รับจาก กสทช.มากที่สุดในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เอไอเอสลั่นเป็นผู้นำด้านดิจิทัลไลฟ์ หลังถือครองคลื่นความถี่มากที่สุด

    เมื่อวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ โดยมีผู้ประกอบการ 2 รายเข้าร่วม ได้แก่ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) บริษัทในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) บริษัทในเครือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส โดยการประมูลเริ่มเคาะราคารอบแรกเวลา 10.00 น. โดยตัวแทนจากเอไอเอสเดินทางมาถึงเวลา 08.15 น. ส่วนดีแทคเดินทางมาถึงเวลา 08.30 น. โดยประมาณ
    พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธาน กสทช. เปิดเผยว่า  สำหรับการประมูลในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นนิมิตหมายอันดีของประเทศไทย ที่มีการจัดการประมูลก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้บริการและการเติบโตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศไทย
        สำหรับหลักเกณฑ์การประมูล กำหนดให้ประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ รวม 45 เมกะเฮิรตซ์  แบ่งออกเป็น 9 ใบอนุญาต ใบละ 5 เมกะเฮิรตซ์ ผู้เข้าร่วมประมูลสามารถประมูลได้สูงสุด 4 ใบอนุญาต หรือ 20 เมกะเฮิรตซ์เท่านั้น โดยผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องเคาะครั้งแรกซึ่งเป็นราคาขั้นต่ำอยู่ที่ 12,486 ล้านบาท และเคาะราคาจะเพิ่มขึ้นครั้งละ 25 ล้านบาท หากผู้เข้าร่วมประมูลไม่มีการเคาะราคาจะถูกยึดหลักประกันตามหลักเกณฑ์การประมูล และภายหลังการประมูลเสร็จสิ้น จะมีการประกาศผลการประมูลภายใน 7 วัน โดย กสทช.จะออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สามให้แก่ผู้เข้าร่วมการประมูล ภายหลังจากผู้เข้าร่วมการประมูลได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินการก่อนรับใบอนุญาตอย่างครบถ้วนถูกต้องภายใน 90 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการประมูล 
    อย่างไรก็ดี สำหรับการประมูลเริ่มเคาะราคารอบแรกเวลา 10.00 น. เพื่อยืนยันราคา 12,486 ล้านบาท มีการเคาะคนละ 1 ใบ รอบที่สองมีการเคาะราคาเพิ่ม 25 ล้านบาท ส่วนรอบที่สามและรอบที่สี่ไม่มีการเคาะราคาเพิ่ม ทำให้ราคาหยุดอยู่ที่ใบละ 12,511 ล้านบาท ในเวลา 11.20 น. รวมเงินในการประมูลอยู่ที่ 25,022 ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยทางเอไอเอสได้เลือกประมูลคลื่นในล็อตที่ 1 ที่เป็นคลื่น 1740-1745 MHz คู่กับ 1835-1840 MHz ส่วนทางดีแทคเลือกประมูลคลื่นล็อตที่ 2 1745-1750 MHz คู่กับ 1840-1845 MHz
       พล.อ.สุกิจกล่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz  ซึ่งมีผู้ประกอบการ 2 รายเข้าร่วม ได้แก่ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ผลการประมูลปรากฏว่าทั้ง 2 รายได้ใบอนุญาตไปคนละ 1 ใบ จำนวนคนละ 5 MHz
    นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แถลงสรุปการประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ว่า ผลการประมูลในภาพรวมถือว่าเป็นที่น่าพอใจ สำนักงานทำเต็มที่แล้ว กสทช.พยายามทำให้การถือครองคลื่นความถี่มีความเหมาะสมที่สุดแล้ว 
    สำหรับการประมูลคลื่นความถี่ในส่วนที่เหลือ  กสทช.จะพิจารณาทบทวนเงื่อนไขการประมูลที่เหมาะสมต่อไป โดยสำนักงานได้ทำการศึกษาหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลไว้หมดแล้ว โดยจะเสนอให้บอร์ดพิจารณา หากจะพิจารณาในประเด็นการถือครองคลื่นความถี่ของผู้ประกอบการถือว่ายังไม่เพียงพอที่จะเข้าสู่ 5 จี ซึ่ง กสทช.จะพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมที่สุดเสนอให้บอร์ดพิจารณาต่อไป เพื่อให้ผู้ประกอบการมีคลื่นความถี่เพียงพอที่จะเข้าสู่เทคโนโลยี 5 จี เพราะหากเข้าช้าเกินไปจะเกิดผลกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศ
    ด้านนายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส กล่าวว่า บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค (เอดับบลิวเอ็น) บริษัทในเครือเอไอเอส ซึ่งเข้าร่วมประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 MHz และสามารถประมูลได้คลื่น 1800 MHz จำนวน 1 ใบอนุญาต จำนวน 5 MHz ด้วยมูลค่า 12,511 ล้านบาท ทำให้บริษัทถือเป็นผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีดิจิทัลไลฟ์ที่ถือครองคลื่นความถี่ที่ได้รับจาก กสทช.มากที่สุดในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม รวมกับการใช้โรมมิงกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ส่งผลให้มีคลื่นในการให้บริการมากถึง 60 MHz โดยเฉพาะคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่มีรวมกันถึง 20 MHz ทำให้ลูกค้ากว่า 40 ล้านเลขหมายทั่วประเทศได้รับประสบการณ์การใช้งานเพิ่มมากขึ้นในเรื่องคุณภาพทั้งบริการผ่านเสียงและบริการดาต้าที่มีประสิทธิภาพสูงสุดตามมาตรฐานเทคโนโลยี 4 จี ที่สำคัญเป็นการยกระดับความแข็งแกร่งของโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมในประเทศไทย เพื่อก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 การประมูลครั้งนี้ ทำให้เอไอเอสมีคลื่นความถี่ 1800 MHz จำนวน 20 MHz ซึ่งถือเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยี 4 จี เพียงรายเดียวที่มีคลื่นความถี่ติดกันมากที่สุด ทำให้รองรับความเร็วของการใช้งานบริการดาต้าของลูกค้าผ่านโทรศัพท์มือถือสามารถรองรับในปริมาณที่มากขึ้นด้วยความเร็วที่สูงขึ้น ซึ่งช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งในการเป็นผู้นำในตลาด รวมทั้งยังสามารถสร้างโอกาสและเตรียมความพร้อมในการรองรับคลื่นความถี่ 5 จีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
    ประธานเอไอเอสกล่าวอีกว่า คลื่นความถี่ 1800 MHz ที่บริษัทประมูลได้มานั้น มีความเหมาะสมและความคุ้มค่าสูงสุดสำหรับการขยายความจุโครงข่ายเพื่อรองรับการเติบโตของ 4 จี โดยเป็นการเพิ่มช่องสัญญาณจากเดิม และใช้ได้กับอุปกรณ์โครงข่าย 4 จี บนคลื่น 1800 MHz ที่มีอยู่ ซึ่งช่วยให้บริษัทประหยัดงบประมาณการลงทุนในระยะยาว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"