“กิจกรรมบำบัด”...ช่วยผู้สูงวัยป่วยจิตเวช


เพิ่มเพื่อน    

(ทวีรัตน์ ทองดี)

      การดูแลผู้สูงอายุที่ป่วยด้านจิตเวช นอกจากเน้นความเอาใจใส่ และดูแลท่านโดยการให้เกียรติคุณพ่อคุณแม่แล้ว “กิจกรรมบำบัด” ของหน่วยโอที (หน่วยฝึกอบรมด้านการงานอาชีพ) รพ.ศรีธัญญา ถือได้ว่าเป็นการฝึกทั้งสมาธิ และผลพลอยได้ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การสร้างให้ผู้ป่วยเห็นคุณค่าในตัวเอง ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้อยากที่จะใช้ชีวิตอยู่ต่อไปเพื่อตัวเอง และเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้กับลูกหลาน พี่นก-ทวีรัตน์ ทองดี พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.ศรีธัญญา ให้ข้อมูลไว้น่าสนใจ

        พยาบาลทวีรัตน์บอกให้ฟังว่า สำหรับกิจกรรมบำบัดของ “หน่วยโอที” ที่ก่อตั้งขึ้นภายใน รพ.ศรีธัญญา ได้มีการจัดทำกิจกรรมนี้ขึ้นเพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ป่วย ทั้งกลุ่มคนไข้จิตเวชทุกวัย รวมถึงผู้สูงอายุ โดยเบื้องต้นนั้นนักกิจกรรมบำบัด จะทำการสอบถามผู้สูงอายุที่ป่วยว่า ท่านชอบทำอะไร เนื่องจากงานบำบัดในส่วนนี้ จะต้องเกิดจากความชอบ กระทั่งอาศัยเรื่องประสบการณ์ที่ผู้สูงวัยเคยทำงานชิ้นนั้นมาก่อนด้วย  เพื่อที่ว่ากิจกรรมบำบัดดังกล่าวจะได้ตรงกับความสนใจของผู้ป่วยจิตเวช โดยไม่ใช่ลักษณะของการบังคับ เช่น ผู้สูงอายุบางคนขอไปทำดอกไม้ บางคนก็ขอไปวาดภาพ เป็นต้น

(ตัวอย่าง “ทำดอกไม้จันทน์” กิจกรรมฟื้นฟูสร้างสมาธิ และฝึกกล้ามเนื้อแขนผู้ป่วยจิตเวชแข็งแรง)

        ที่ผ่านมาได้มีการจัด “ทำดอกไม้จันทน์” ในลักษณะของการรับดอกไม้สำเร็จมา และให้ผู้ป่วยเข้าช่อ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวก็ทำให้ญาติสงสัยไม่น้อยว่า จะทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพจิตดร็อปลงหรือไม่??? ทั้งนี้จะมีเจ้าหน้าที่หน่วยบำบัดทางด้านจิตเวช ใช้การพูดคุยและแนะนำกับญาติผู้ป่วย ว่าอันที่จริงแล้วกิจกรรมที่จัดขึ้นนั้นเราต้องการเน้นให้คนไข้มีสมาธิ และการใช้กล้ามเนื้อมือหรือแขน ไม่ได้เน้นที่ผลงาน เมื่อทำไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้ผู้สูงวัยเกิดสมาธิ ทำไปคุยไป ได้การมีสังคม ที่สำคัญผู้สูงวัยบางคนทำได้ดี ตรงนี้ก็เป็นผลพลอยได้ นำไปขาย พอทำสวยท่านก็จะเกิดความภูมิใจ และมีอยู่ช่วงหนึ่งที่เรามีคนไข้เยอะ และก็ขอไปทำกิจกรรมนี้ จากนั้นก็มีการทำขาย เพราะมีคนสั่งเข้ามาเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ผู้สูงวัยที่ป่วยจิตเวชบางคน ที่สนใจเย็บผ้าก็จะเลือกไปทำ หรือบางคนสนใจเพนต์ภาพก็สามารถเลือกไปทำได้ กระทั่งบางคนชอบทำพรมเช็ดเท้า ซึ่งอันที่จริงไม่ได้ต้องการขายผลงาน แต่อยากให้ท่านมีสมาธิ

(ตัวอย่าง “ผู้วัยป่วยจิตเวช” ทำกิจกรรมปลูกผัก ที่ช่วยสร้างกำลังใจจากการเห็นพืชผักเติบโต และกระตุ้นการเห็นคุณค่าตัวเอง ให้ใช้ชีวิตอยู่ต่อไปเพื่อคนที่รัก)

        หรือบางช่วง “หน่วยกิจกรรมบำบัด” ได้จัด “กิจกรรมทำเกษตร” โดยคิดกันว่าจะปลูกพืชอะไรที่ตรงกับความสนใจของคนไข้ เมื่อปลูกแล้วเก็บไปขายเราก็จะแบ่งปันเงินให้กับคนไข้ แต่ก่อนที่จะให้ผู้ป่วยลงพื้นที่นั้น ก็จะต้องดูจากประสบการณ์ของผู้ป่วยจิตเวช ว่าเคยทำงานด้านเกษตรมาก่อนหรือไม่ เช่น มีคนไข้จิตเวชชายวัยกลางคนท่านหนึ่ง ที่ได้เข้ารับกิจกรรมบำบัดนี้ บอกกับเราว่า ก่อนหน้านี้ได้ชวนท่านมาทำอะไรก็ไม่รู้??? แต่พอวันหนึ่งที่ได้เห็นต้นไม้เติบโต ออกลูกออกผล ที่เกิดจากการรดน้ำพรวนดินของตัวเอง จึงทำให้คิดได้ว่าพึ่งรู้ว่าการปลูกต้นไม้ขึ้นมาสักต้นยากลำบากมาก ไหนจะดูแลรดน้ำ พรวนดิน ทำให้คิดอะไรหลายอย่าง เช่น หากคิดว่าต้นไม้เป็นเรา และกว่าเราจะโตมา พ่อแม่ต้องเลี้ยงดูแลเรา ต้องถนอมดูแลเอาใจใส่เรา ซึ่งคล้ายกับการที่เราปลูกต้นไม้และใส่ปุ๋ยเหมือนกัน ทำให้เขามีความหวังและมีพลังที่จะใช้ชีวิตอยู่ต่อไปเพื่อคนที่รัก สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นการฟื้นฟูสุขภาพจิตไปเองโดยอัตโนมัติ จากกรรมบำบัดที่เราได้จัดขึ้นมา

(ตัวอย่าง “การทำพรมเช็ดเท้า” กิจกรรมฟื้นฟูที่กระตุ้นผู้สูงวัยป่วยจิตเวช เห็นคุณค่าในตัวเอง)

        “ที่ผ่านมายังมีผู้ป่วยสูงวัยด้านจิตเวช ที่เลือกทำ “พรมเช็ดเท้า” ซึ่งท่านใช้เวลาทำช้าและหลายวันกว่าคนอื่น ซึ่งขณะนั้นพี่เลี้ยงของกิจกรรมบำบัดก็ได้แนะนำให้ท่านทำงานดังกล่าว ด้วยสมาธิและจิตใจที่จดจ่อ เพราะระหว่างที่ทำตอนแรก จะรู้สึกไม่มีสมาธิ และจิตใจร้อนรน เมื่อทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ จนกระทั่งผลงานสำเร็จออกมา และจิตก็สงบมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่ได้จากกิจกรรมบำบัดนี้ อีกอย่างหนึ่งนั้น อาจจะไม่ใช่เรื่องของการหารายได้ ที่อาจจะเป็นผลพลอยได้ แต่งานฝีมือดังกล่าว ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกถึงคุณค่าของชีวิตมากขึ้น อีกทั้งเขามีความสุขกับสิ่งที่ได้ทำสำเร็จด้วยฝีมือตัวเอง กระทั่งขอว่าจะซื้อพรมเช็ดเท้าชิ้นนั้นเอง โดยขอไม่ให้เจ้าหน้าที่ขายให้กับใคร และเมื่อใดก็ตามที่เรารู้ว่าชีวิตตัวเองมีคุณค่า ก็จะสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุข และก็จะส่งผลดีไปยังคนรอบข้างค่ะ”

        งานฝีมือที่กล่าวมา ไม่ใช่แค่สร้างความเพลิดเพลิน ให้กับคนทั่วไปที่ชื่นชอบ และหยิบงานดังกล่าวขึ้นมาทำยามว่างเท่านั้น แต่กิจกรรมบำบัดทุกชิ้นที่ระบุนั้น ถือเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยเห็นคุณค่าในชีวิตของตัวเอง จากสิ่งละอันพันละน้อยที่เจ้าตัวได้สร้างขึ้น พร้อมกับการคิดใคร่ไต่ตรองขณะทำ กระทั่งเสร็จเป็นชิ้นงานออกมา และงานฝีมือสุดประทับใจนี้เอง ที่ทำให้ผู้ป่วยที่อาการเริ่มดีขึ้น  อยากใช้ชีวิตต่อไปให้มีความสุข ซึ่งผลพลอยได้ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือเรื่องของสมาธิ...เห็นด้วยไหมค่ะ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"