งัดม.44คลายล็อก! 'นิพิฏฐ์'ปูดเพื่อไทยสูญพันธุ์/อยากเลือกตั้งขู่บอยคอต


เพิ่มเพื่อน    

    โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง! "บิ๊กตู่" ย้ำเลือกตั้งเร็วสุดวันอาทิตย์ที่ 24 ก.พ.2562 คสช.เคาะแล้วใช้ ม.44 คลายล็อกพรรคการเมือง หลัง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.โปรดเกล้าฯ ลงมา ก็จะสามารถให้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ในบางเรื่อง "วิษณุ" เผยปรับเปลี่ยนไพรมารีโหวต ให้พรรคการเมืองตั้งกรรมการ 11 คนไปฟังความเห็นแต่ละพื้นที่แทน "นิพิฏฐ์" ชี้โพรง 200 เพื่อไทย คุณสมบัติขัดรัฐธรรมนูญหมดสิทธิ์สมัครเลือกตั้ง 
    เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุม คสช. ก่อนที่จะเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมีสมาชิก คสช.เดินทางเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง 
    ทั้งนี้ ก่อนการประชุม ผู้สื่อข่าวถามนายกรัฐมนตรีว่า ในการประชุม คสช. จะพิจารณาคลายล็อกพรรคการเมืองในประเด็นใดบ้าง โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “ดูก่อน”
    ต่อมาหลังการประชุมเสร็จสิ้น นายกฯ แถลงว่าวันนี้เป็นการหารือร่วมกันของ คสช.ทั้งหมดในประเด็นคลายล็อกให้กับพรรคการเมือง ในการหารือได้มีการพูดคุยในรายละเอียดว่าจะทำอย่างไรไปสู่การเลือกตั้งตามกำหนดเวลาที่มีอยู่ รัฐบาล คสช. ไม่ได้มุ่งหวังที่จะทำให้การเลือกตั้งล่าช้าออกไปจากโรดแมปที่กำหนดไว้ 
    เขากล่าวว่า ในที่ประชุมได้มีการหารือในประเด็นการคลายล็อก เมื่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.โปรดเกล้าฯ ลงมา ก็จะสามารถให้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ในบางเรื่อง เช่น การประชุม การแก้ข้อบังคับ การตั้งกรรมการบริหารพรรค การรับสมาชิก เป็นต้น 
    รวมถึงการแก้ไขข้อขัดข้องตามที่พรรคการเมืองเสนอมา จากที่ได้มีการประชุมร่วมกับพรรคการเมืองต่างๆ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เช่น ห้วงเวลาที่จัดให้มีทุนประเดิม การหาสมาชิก และการสรรหาผู้สมัครของแต่ละพรรคเน้นหลักการให้สมาชิกมีส่วนร่วม ส่วนเรื่องการทำไพรมารีโหวตก็เช่นกัน ทั้งหมดถือเป็นเพียงการหารือเท่านั้น และยืนยันว่าจะเป็นไปตามกรอบเวลาเดิม เลือกตั้งเร็วที่สุดจะเป็นในเดือน ก.พ.2562
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การเลือกตั้งจำเป็นต้องพิจารณาตามที่ กกต.เสนอมา คือจะต้องเป็นในวันอาทิตย์ เพื่อให้เกิดความสะดวกในการเตรียมการและการลงคะแนน วันอาทิตย์แรกที่กำหนดไว้คือวันอาทิตย์ที่ 24 ก.พ. ซึ่งก็ยังเป็นตามกรอบเวลาเดิม เร็วสุดตามนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือเราต้องดูว่าจากนี้เป็นต้นไป เราจะต้องทำอย่างไรกันต่อไป 
    เขากล่าวว่า วันนี้เรากำลังรอกฎหมายอีกฉบับหนึ่งลงมาในเดือน ก.ย. เมื่อกฎหมายลงมาจะมีเวลาอีก 90 วัน ซึ่งการปลดล็อกต่างๆ ให้สามารถดำเนินการได้ในช่วง ก.ย.-ธ.ค. ก็เป็นระยะเวลา 90 วัน ซึ่งก็จะแก้ปัญหาได้ทั้งหมด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม สำหรับทุกพรรคการเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบัน เมื่อทำคำสั่งเสร็จแล้ว ก็ค่อยๆ ว่ากันอีกที
    ผู้สื่อข่าวถามว่า ไพรมารีโหวตสรุปจะให้พรรคไปหามา แล้วเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า "รอดูก่อน ก็แก้ปัญหานั่นแหละ" เมื่อถามว่าจะออกเป็นมาตรา 44 ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "เร็วๆ นี้"
คลายมากกว่า 6 ข้อ
    ด้าน พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมมีการพิจารณาเรื่องนี้มากกว่า 6 ข้อ เป็นการหารือเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยดี ทั้งนี้ การจะคลายล็อกพรรคการเมืองอาจจะต้องใช้มาตรา 44 ซึ่งมีห้วงเวลาอยู่แล้วตั้งแต่เดือน ก.ย.-ธ.ค.นี้
    นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า เบื้องต้นก็มีการผ่อนปรนให้ตามที่พรรคการเมืองบ่นกัน ซึ่งก็ยังคงสะท้อนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 โดยให้ประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรคมีส่วนร่วม ถือเป็นการแก้ปัญหาชั่วคราวสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยอีก 4 ปีค่อยทำไพรมารีโหวต ถ้าไม่ทำก็ต้องไปแก้ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ 2560
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในที่ประชุมตนได้สรุปและเสนอสาระของเนื้อหาไปทั้งหมด 9 เรื่อง เพราะไม่ได้มีแต่เรื่องคลายล็อก โดยเนื้อหาเป็นเรื่องที่มีการหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รวมถึงเรื่องที่พรรคการเมืองเรียกร้องมาในที่ประชุมร่วมกับพรรคการเมืองเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ทั้งเรื่องค่าสมัครสมาชิกพรรค ค่าธรรมเนียมสมาชิก จำนวนสมาชิกที่ต้องหาในการจัดตั้งพรรค หรือเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง 
    ขณะที่เรื่องไพรมารีโหวต เราจะปรับเปลี่ยนโดยใช้วิธีที่ใกล้เคียง ไม่ใช่วิธีการตามความหมายของคำว่าไพรมารีโหวตทั้งหมด ส่วนรูปแบบทั้งหมดยังไม่สามารถเปิดเผยได้ในขณะนี้ แต่โน้มเอียงมาทางข้อเสนอที่จะให้พรรคตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 11 คน ไปรับฟังความเห็นแต่ละพื้นที่เพื่อเสนอกรรมการบริหารพรรคในการคัดเลือกผู้สมัคร ซึ่งต้องรอให้ คสช.ดูรายละเอียดเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย แต่ไม่ต้องนำเข้าที่ประชุม คสช.แล้ว
    รองนายกฯ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวจะใช้มาตรา 44 ออกเป็นคำสั่ง คสช. ซึ่งจะออกมาภายหลัง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ประกาศใช้แล้ว ดังนั้นเย็นวันที่ 28 ส.ค. ไม่ต้องรอ เพราะทุกอย่างมันคือล็อก เมื่อจะคลายจะต้องคลายด้วยกฎหมาย ไม่เช่นนั้นมันจะเกิดปัญหาความซับซ้อนของกฎหมาย     
    "อะไรก่อน อะไรหลัง อะไรใช้ อะไรไม่ใช้ แล้วพรรคการเมืองจะปฏิบัติไม่ถูก หลักที่ คสช.ถือคือทำให้เกิดประโยชน์และเกิดความเท่าเทียมกันระหว่างพรรคเก่า พรรคใหม่ พรรคใหญ่ และพรรคเล็ก"
คงสะเด็ดน้ำแต่ไม่แห้ง
    ผู้สื่อข่าวถามว่า รอบนี้มั่นใจว่าทุกอย่างจะสะเด็ดน้ำ ไม่ต้องมาแก้ไขใหม่อีกแล้วใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า คิดว่าคงสะเด็ดน้ำ แต่ยังไม่แห้งทั้งหมด   
    ถามว่า ในที่ประชุม คสช.ได้พูดคุยถึงกรอบเวลาหาเสียงของพรรคการเมืองหรือไม่ รองนายกฯ ตอบว่า เรื่องการหาเสียง ไม่เกี่ยวกับคำสั่ง คสช. เพราะการหาเสียงจะทำได้เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหลักที่ใช้มาตลอด และพระราชกฤษฎีกาจะออกมาต่อเมื่อเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง 150 วัน และตนไม่ขอไปตีความว่าอะไรคือการหาเสียง และไม่ใช่การหาเสียง
    ซักว่าในที่ประชุม คสช.ได้หารือถึงเรื่องการแสดงความเห็นทางการเมืองผ่านโซเชียลมีเดียหรือไม่ นายวิษณุแจงว่า ไม่มี แต่เราจะแก้ไขให้พรรคการเมืองติดต่อกับสมาชิกผ่านช่องทางสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ได้ ถ้าพูดตรงๆ คือทางแอปพลิเคชันไลน์ แต่ถ้าไม่ใช่สมาชิก จะกลายเป็นการหาเสียง ส่วนถ้าเป็นเฟซบุ๊กก็ไม่สามารถเปิดเป็นสาธารณะได้ เพราะนั่นคือวิธีหาเสียง
    พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงการดำเนินการของกระทรวงมหาดไทย หลังจาก คสช.คลายล็อกพรรคการเมืองว่า พรรคการเมืองต่างๆ ได้เตรียมตัวทั้งเรื่องของการหาสมาชิกพรรค หรือการกำหนดข้อบังคับต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องภายใน และเป็นเรื่องของ กกต. แต่หากไปถึงระดับของการหาเสียง น่าจะเป็นหลังจากที่กฎหมายเลือกตั้งมีผลบังคับใช้แล้ว
     ผู้สื่อข่าวถามว่า หลักเกณฑ์เรื่องการหาเสียง ทางกระทรวงมหาดไทยจะต้องช่วยดูหรือไม่ มท.1 ตอบว่า การกระทำของพรรคใครก็แล้วแต่ ต้องอยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย โดยเป็นหน้าที่ของ กกต.ส่วนหนึ่ง และของ คสช.ส่วนหนึ่ง ที่จะดูแลในเรื่องภาพรวมของความสงบเรียบร้อย นอกจากนี้ จะดูแลร่วมกันในการใช้สื่อโซเชียลมีเดียในการหาเสียง โดยพื้นฐานจะต้องสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเท่าเทียมและถูกกฎหมาย
    พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุม ครม.ว่า พล.อ.ประยุทธ์สั่งการในที่ประชุม ครม. เน้นย้ำเมื่อเข้าโหมดการเมืองซึ่งต้องมีการปลดล็อกให้หาเสียงเลือกตั้งได้ แต่ละพรรคการเมืองต้องโปรโมตนโยบายพรรคที่จะทำให้ชีวิตประชาชนดีขึ้น และในฐานะที่เป็นรัฐบาลไม่สามารถไปพูดอะไรก็ได้ ดังนั้นต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้อง อย่าให้มีการบิดเบือน ไม่ไปบอก เดี๋ยวถ้าเข้ามาเป็นรัฐบาลจะให้อย่างนั้นอย่างนี้ ต้องสร้างการรับรู้ให้ตรงและทันเวลา อย่าให้ใครบิดเบือน
จับตากลุ่มใต้ดิน
    พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงการจับตาด้านความมั่นคงเนื่องจากเป็นช่วงที่ คสช. เตรียมคลายล็อกให้กับพรรคการเมืองเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ ว่า รอที่ประชุม คสช.ในวันเดียวกันนี้เสียก่อน ว่าจะมีมติออกมาอย่างไร ว่าจะมีการปลดล็อกอย่างไรบ้าง และทางเราจะต้องเตรียมการอะไรบ้าง แต่สถานการณ์ในช่วงนี้เรียบร้อยดี โดยที่ผ่านมาก็ได้จับตาดูความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองต่างๆ อยู่แล้ว สถานการณ์ในขณะนี้ไม่มีความน่าเป็นห่วงแต่อย่างใด 
    ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจาก คสช.คลายล็อกแล้วมาตรการทางด้านความมั่นคงจะต้องเข้มข้นขึ้นหรือไม่ เลขาฯ สมช.ตอบว่า คงต้องพิจารณาไปตามสถานการณ์ และต้องพิจารณาปรับมาตรการให้มีความเหมาะสมตามสถานการณ์ 
    ถามว่า ความเคลื่อนไหวของนักการเมืองทั้งใต้ดินและบนดินขณะนี้ยังพบว่ามีอยู่หรือไม่ พล.อ.วัลลภ กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่างๆ เขามีอยู่แล้ว ส่วนการเคลื่อนไหวใต้ดินก็ยังมีอยู่ และเราจับตาดูอยู่เช่นกัน แต่อยู่ในภาวะที่เราควบคุมได้
    ซักว่ามีความมั่นใจหรือไม่ว่าเมื่อถึงวันเลือกตั้งแล้วทุกอย่างจะเรียบร้อยดี เลขาฯ สมช.ตอบว่า คิดว่าอย่างนั้น เพราะทุกคนอยากให้มีการเลือกตั้ง ต้องการให้เหตุการณ์บ้านเมืองสงบ และก้าวไปสู่ประชาธิปไตย 
    เลขาธิการ สมช.กล่าวว่า ส่วนเรื่องการกวดขันในเรื่องอาวุธขนาดนี้นั้น ยังมีการตรวจสอบอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่วนความเคลื่อนไหวทางการเมืองในส่วนที่อยู่ต่างประเทศ ก็มีการจับตาดูเช่นกัน
     พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ว่า 6 ข้อที่จะคลายล็อกให้ประชุมพรรคการเมืองได้ ไม่จำเป็นต้องรอ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญการเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศใช้ก่อน แต่การชุมนุมเกิน 5 คน ยังไม่สามารถทำได้ ส่วนกรอบเวลาที่เหมาะสมจะเป็นช่วงไหนนั้น ยังไม่รู้ คงต้องถึงช่วงเลือกตั้ง
    เมื่อถามถึงกรณีผู้นำท้องถิ่นไปพูดคุยกับกลุ่มสามมิตร พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เขาอยู่พรรคไหน เวลานี้ในงานเสวนาต่างๆ ก็มีการพูดเรื่องการเมือง แล้วทำไมจึงไม่ไปเอาเรื่องเขา เราปล่อยให้มีการเสวนากันได้ตั้ง 40-50 คน
    ถามถึงกรณีเพจมุมน่ารักของลุงป้อม พล.อ.ประวิตรว่า “ไม่ทราบว่ามีเพจแบบนี้ มีแต่เพจที่เขาว่าผม”
มุมน่ารักของลุงป้อม
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ส.ค.นี้ มีการแชร์ข้อความและลิงค์ของเพจที่ชื่อว่า “มุมน่ารักของลุงป้อม” ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ และมีการเริ่มกดติดตามแล้วประมาณ 600 ไลค์ โดยเพจดังกล่าวมีการเปิดตัวและเคลื่อนไหวโพสต์ข้อความต่างๆ ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งคลิปหลักที่ใช้เปิดตัว “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้เชิญชวนว่า “มาทำความรู้จักบิ๊กป้อม แบบไม่มีอคติ” พร้อมทิ้งท้ายด้วยประโยคว่า “เปิดตา เปิดใจ อะไรที่คิดว่าไม่ใช่ ก็อาจจะโดนใจได้นะคะ”
    คลิปดังกล่าวมีการนำเสนอภาพภารกิจ ประวัติ และการรับราชการในอดีต รวมถึงบทบรรยายถึงความเป็นพี่ใหญ่ บิ๊กบราเธอร์ของแก๊งบูรพาพยัคฆ์ พี่ชายที่แสนดี และอบอุ่น จนกลายเป็นที่รักของเพื่อนพ้องน้องพี่ในกองทัพ พร้อมอธิบายถึงความเป็นคนธรรมดา ที่เป็นผู้นำ ผู้กล้า เมตตา ใจกว้าง โดยทุกลมหายใจของบิ๊กป้อม ทำเพื่อประเทศชาติ รวมถึงเพื่อน พี่น้อง ครอบครัว จนกลายเป็นที่ยอมรับและไว้วางใจของคนในกองทัพ
    นอกจากนั้นยังอธิบายถึงความแข็งแกร่งจากที่โดนมรสุมข่าวกระหน่ำรายวัน ทั้งกรณีแหวนแม่ นาฬิกาเพื่อน ซ่อมไม่ตาย แต่เจ้าตัวกลับเป็น "ป้อมปราการ"  เข้าแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ  
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่น่าสนใจคือการโพสต์ข้อความที่ระบุถึงประเด็นนาฬิกาหรูที่ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยระบุว่า “นาฬิกาลุงป้อม วาระแห่งชาติ (นี้) จะยาวไปถึงชาติหน้าไหมหนอ? โดยอ้างข้อมูลจากเฟซบุ๊กของผู้สื่อข่าว
    ทั้งนี้ ในแต่ละข้อความที่ทยอยโพสต์ลงในเพจ มีการใช้กราฟฟิกและข้อความสั้นๆ ในการอธิบายเหตุผลของการทำเพจดังกล่าวว่า “แค่อยากเป็นติ่ง นำเสนอเรื่องลุงป้อม กัดบ้าง หยิกบ้าง อันไหนดีชม อันไหนไม่มีเตือน แค่เป็น FC ธรรมดา ไม่มีกำลังวังชา พาพวกไปถล่มใครจริงๆ นะจ๊ะ เรายังไม่เคยโจมตีคนที่คุณรัก คุณเลิกเอาเวลามาสนใจเราเถอะ ปล่อยให้คนที่รักกันเขาสื่อสารกันเถอะ” รวมไปถึงการอธิบายความเป็น “ลุง” และชี้แจงในประเด็นต่างๆ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ของสังคม
    สำหรับรัฐมนตรีที่มีข่าวว่าจะลาออกไปสมัคร ส.ส.ในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ต่างออกมาปฏิเสธว่าไม่เป็นเรื่องจริง 
เปล่าลาออก
    นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงกระแสข่าวจะลาออกไปเป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐว่า ไม่เป็นความจริง ยืนยันจะทำงานต่อไป ส่วนเรื่องที่จะไปเป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐนั้น เป็นเพียงกระแสข่าว ส่วนในอนาคตจะเป็นไปได้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องของอนาคต ยังไม่ได้คิดถึงเรื่องนั้น ทุกอย่างต้องไปติดตามดู
    ผู้สื่อข่าวถามว่า วันที่ 15 ก.ย. ที่พรรคพลังประชารัฐจะประชุมพรรคเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรค จะไปเปิดตัวในวันดังกล่าวหรือไม่ รมว.พาณิชย์ปฏิเสธว่า ไม่ทราบกำหนดการดังกล่าว เมื่อถึงเวลาที่คิดว่าต้องตัดสินใจก็ต้องตัดสินใจ ส่วนเวลาที่เหมาะสมนั้น ต้องดูสถานการณ์การเมืองตอนนั้นว่าเป็นอย่างไร จะมีการเลือกตั้งเมื่อไร เมื่อการเลือกตั้งชัดเจนแล้ว สถานการณ์การเมืองชัดเจนแล้ว ก็จะดูว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นจะดำเนินการอย่างไร หรือหยุดเพียงแค่นี้ ต้องตัดสินใจตอนนั้นอีกที
    เมื่อถามว่า ที่ผ่านมามีชื่อเกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมืองมาตลอด เป็นไปได้หรือไม่ที่ในอนาคตจะมาทำงานการเมือง นายสนธิรัตน์ตอบว่า ตนได้พูดคุยกับนักการเมืองมาโดยตลอด จุดประสงค์เพื่อรับฟังข้อมูลจากนักการเมืองที่พูดคุยกับประชาชนว่าอยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาในเรื่องใด เพราะรัฐบาลชุดนี้ไม่มี ส.ส. หรือไม่มีตัวแทนที่มาจากภาคประชาชน จึงต้องอาศัยคุยกับอดีต ส.ส. แน่นอนว่าการพูดคุยกันย่อมต้องมีเรื่องการเมือง และถึงอนาคตของการเลือกตั้ง จึงทำให้ตนมีชื่อมากกว่าคนอื่น
    ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวถึงกระแสข่าวจะลาออกจากรัฐมนตรีไปเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐว่า ไม่จริง ตนยังทำหน้าที่ รมว.อุตสาหกรรมต่อไป ดังนั้นข่าวที่ออกมาไม่เป็นความจริง ในเดือน ก.ย.ก็ไม่มีการลาออก
      เมื่อถามถึงแนวโน้มในการไปร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ รมว.อุตสาหกรรมตอบว่า ยังไม่ได้มีอะไรชัดเจน เพราะเรื่องของอนาคตต้องดูว่าความชัดเจนเป็นอย่างไร ซึ่งตนเคยพูดไว้ในเรื่องการที่จะทำประโยชน์ให้บ้านเมือง เพียงแต่จะเป็นในรูปแบบไหน อย่างไร ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจน แต่ยืนยันว่าไม่ได้ลาออกอย่างที่เป็นข่าว และไม่ได้มีแผนที่จะลาออกในเวลาอันใกล้นี้
เพื่อไทยสูญพันธุ์
    นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายวิษณุระบุการทำไพรมารีโหวตมีแนวโน้มจะให้มีกรรมการของพรรคขึ้นมาเพื่อไปรับฟังความคิดเห็นประชาชนเพื่อมาเสนอกรรมการบริหารพรรคว่า รูปแบบดังกล่าวคล้ายกับแนวทางที่ กรธ.เคยร่างไว้ก่อนที่ สนช.จะเปลี่ยนให้ใช้ระบบไพรมารีโหวต โดยให้มีกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งขึ้นมา มีองค์ประกอบเป็นตัวแทนสาขาพรรค ร่วมกับกรรมการบริหารพรรค ซึ่งเป็นการให้สมาชิกมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญ มองว่าเป็นแค่พิธีกรรมให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 45 ความฝันจะให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมกับการคัดเลือกผู้สมัครของพรรคอย่างกว้างขวางคงต้องรอไปก่อน เนื่องจากเหตุผลเพื่อเอื้อประโยชน์ให้พรรคตั้งใหม่ที่ไม่สามารถทำไพรมารีฯ ตามแนวทางของ สนช. สามารถส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งได้
    นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศเป้าหมายว่าพรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส. ไม่ต่ำกว่า 260 ที่นั่ง และประเมินว่าพรรคประชาธิปัตย์จะลำบากในการเลือกตั้งรอบหน้าว่า นายทักษิณเรียกกำลังใจสมาชิกมากกว่า ขณะนี้พรรคเพื่อไทยอยู่ในภาวะเสียขวัญ ไม่ใช่พรรคประชาธิปัตย์ที่เสียขวัญ นายทักษิณจึงต้องปลุกพระสกัดการไหลของเลือด 
    รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ตามกติการัฐธรรมนูญใหม่กระทบกับเพื่อไทยมากจนเกือบสูญพันธุ์มันก็เป็นไปได้ เช่น ถ้าจะพูดว่าสมาชิกพรรคเพื่อไทยที่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจากการถูกยุบพรรคทั้ง 2 รอบ จะสามารถกลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้ได้หรือไม่ ก็เป็นปัญหาทางกฎหมายอยู่ เพราะเดิมคนที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง พอพ้นระยะเวลาเพิกถอนสิทธิ 5 ปี ก็กลับมาลงสนามได้ ขณะเดียวกันตามรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุบุคคลใดเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าการกระทำอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง หมายความว่าทำให้การเลือกตั้งเกิดความไม่สุจริตเที่ยงธรรม คนเหล่านี้จะถูกเพิกถอนสิทธิตลอดชีพ ต้องออกจากวงการเมืองไปตลอดไปเลย
    “ประเด็นนี้คุณทักษิณอาจจะลืมก็ได้ว่ากลุ่มคนที่ถูกยุบพรรคทั้งสองครั้งมีจำนวนเกือบ 200 คน คุณทักษิณจะต้องกลับไปดูคนเหล่านี้ว่าลงสมัครรับเลือกตั้งได้ไหม ผมยังไม่กล้าพูดเลย เดี๋ยวพรรคเพื่อไทยจะตกใจ เราไม่ประเมินหรอกว่าเขาได้เท่าไหร่ จะถล่มทลายแค่ไหนก็ว่ากันไป แต่สิ่งที่ผมพูด ถ้าเกิดขึ้นจริง จำนวนผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยจะเหลือถึงร้อยคนไหม ถ้าคุณส่งคนกลุ่มที่มีปัญหาลงสนามแล้วเกิดมีคนไปยื่นเรื่องคัดค้านคุณสมบัติจะทำอย่างไร ถ้าผมเป็นพรรคเพื่อไทย ผมคงไม่กล้าส่งคนที่ถูกเพิกถอนสิทธิทั้งสองครั้งมาลงเลือกตั้งรอบนี้ ดังนั้นคนของเขาจะหายไปเกือบ 200 ผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตก็จะว่าง เกือบ 200 ก็ไปวิเคราะห์พรรคตัวเองเถิด ไม่ต้องมาเป็นห่วงพรรคประชาธิปัตย์หรอก” รองหัวหน้าพรรค ปชป.กล่าว
ไม่อยากเลือกตั้งแล้ว
    ขณะที่โบว์ ณัฏฐา มหัทธนา แกนนำคนอยากเลือกตั้ง ทวีตข้อความว่า ถ้ามีการยุบพรรคเพื่อไทย อนาคตใหม่ ก่อนการเลือกตั้งจนทำให้ลงสนามแข่งขันไม่ได้ ประชาชนควรทำอย่างไร ก็ต้องบอยคอตการเลือกตั้งค่ะ ขนาดการเลือกตั้งที่พรรค ปชป.เคยตัดสินใจบอยคอตไม่ลงสมัครเอง ยังเคยถูกทำให้เป็นโมฆะมาแล้ว ท่าทีของประชาชนต่อเผด็จการจากวันนี้ถึงการเลือกตั้งต้องหนักแน่นชัดเจน
    นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกกลุ่มสามมิตร เปิดเผยว่า การคลายล็อกเมื่อไหร่นั้น ไม่ได้ส่งผลอะไรกับกลุ่มสามมิตร เพราะทุกวันนี้กลุ่มสามมิตรภายใต้การนำของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน เน้นไปที่การช่วยเหลือประชาชนให้พ้นจากความยากจนเป็นหลัก โดยเฉพาะการสร้างความเข้มแข็งให้กับพี่น้องเกษตรกร อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าอีกไม่นาน คสช.คงจะคลายล็อกให้พรรคการเมืองอย่างแน่นอน และในวันนั้นกลุ่มสามมิตรเองก็คงจะมีความชัดเจนในเรื่องของการสังกัดพรรคการเมืองด้วย
     พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง กล่าวว่า สิ่งแรกที่ต้องรอดูคือคำสั่งคลายล็อกของ คสช. จะมีผลบังคับใช้ก่อนหรือหลังการลงประกาศราชกิจจานุเบกษาของ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส.หรือไม่ เพราะยังไม่แน่ใจว่ามีความจำเป็นต้องรอตัว พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งเป็นกฎหมายแม่ ลงในราชกิจจาฯ คือมีกฎหมายแม่ก่อนแล้วจึงจะดำเนินการได้หรือไม่ ซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่ต้องหารือกันอีกที
     เลขาฯ กกต.กล่าวว่า หากมีผลบังคับใช้และดำเนินการได้แล้ว กกต.ก็จะสามารถออกระเบียบและดำเนินการแบ่งเขตได้เลย โดยไม่ต้องรอช่วงการชะลอการบังคับใช้ของ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. 90 วัน และระหว่างนั้นก็จะให้พรรคการเมืองแสดงความคิดเห็นเพื่อประกอบการตัดสินใจแบ่งเขต 
     “กรอบใหญ่ๆ ของการคลายล็อกครั้งนี้ ที่จริงคือเพื่อให้แบ่งเขตได้ทัน ทำไพรมารีโหวตได้ทัน ซึ่งการทำไพรมารีโหวตก็จะเป็นเรื่องของพรรคที่จะไปดำเนินการเอง โดยต้องมีสมาชิกให้ครบตามเงื่อนไข มีการประชุมใหญ่ของพรรคเพื่อแก้ไขข้อบังคับพรรค ซึ่งหลังจากมีมติจากที่ประชุมใหญ่แล้วต้องแจ้งนายทะเบียนพรรคการเมืองเพื่อตรวจสอบภายใน 15 วัน จากนั้นจะมีผลเมื่อนายทะเบียนพรรคนำไปลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป” พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"