ข้องใจยื่นแบบ 'บิ๊กตู่'สั่งสอบ 'เทอร์มินอล2'


เพิ่มเพื่อน    

    "บิ๊กตู่" สั่ง ทอท.ตรวจสอบประกวดราคาออกแบบเทอร์มินอล 2 สุวรรณภูมิว่าถูกต้องหรือไม่ ด้าน "ไพรินทร์" ปัดปมกลุ่ม "ดวงฤทธิ์" ก๊อปงาน ย้ำประมูลถูกต้องทุกขั้นตอน ด้าน ทอท.แจงขั้นตอนประกวดแบบสุวรรณภูมิโปร่งใส หลังถูกผู้ได้คะแนนนำเทคนิค แต่สอบตกร้องขอความเป็นธรรม
    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. มีมติเห็นชอบให้กลุ่มนิติบุคคล ที่มีนายดวงฤทธิ์ บุนนาค เป็นผู้ชนะการออกแบบโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (terminal 2) ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดในการประกวดการออกแบบว่า ขณะนี้ได้ให้ทาง ทอท.หารือและตรวจสอบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าเรื่องนี้จะเดินหน้าอย่างไรต่อไป รวมถึงการหารือด้านกฎหมายและขั้นตอนต่างๆ อย่างเรื่องการยื่นแบบว่าดำเนินการถูกต้องหรือไม่ อย่างไร
    "ทั้งนี้ รัฐบาลนี้เข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหา เมื่อมีเรื่องร้องเรียนหรือมีเรื่องที่เป็นประเด็นในสังคม ก็ต้องสอบสวนดำเนินการให้ถูกต้อง หน้าที่ของรัฐบาลเป็นอย่างนี้ทุกเรื่อง" นายกฯ กล่าว
    นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม เปิดเผยถึงกรณีผลการประกวดราคางานออกแบบอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 2 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.)วงเงิน 329 ล้านบาท ซึ่งได้ผู้ชนะการประกวดราคา คือ กลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน ดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก-อีเอ็มเอส-เอ็มเอชพีเอ็ม-เอ็มเอสอี-เออาร์เจ (DBALP) คือกลุ่มดวงฤทธิ์ บุนนาค ถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าลอกงานออกแบบของสนามบินที่ญี่ปุ่นมานั้น ยืนยันว่าไม่ใช่ความจริงแต่อย่างใด เนื่องจากผู้ชนะประมูลเป็นกลุ่มกิจการร่วมค้า ดีบีเอแอลพี ซึ่งมีบริษัทที่เคยชนะงานออกแบบสนามบินในประเทศญี่ปุ่นที่เป็นประเด็นวิจารณ์ดังกล่าวเข้ามาร่วมทุนด้วยคือกลุ่มนิเคนเซกเก
    “ดังนั้นจึงทำให้งานออกแบบนี้อาจมีความคล้ายคลึงกันบ้าง เพราะเป็นบริษัทเดียวกันกับที่เคยได้รับงานสนามบินญี่ปุ่น ส่วนประเด็นเรื่องการใช้วัสดุที่ทำจากไม้จนอาจไม่คงทนแข็งแรงนั้น ตนยืนยันว่างานตกแต่งนั้นอยู่ภายในอาคาร มิใช่งานกลางแจ้ง ดังนั้นเรื่องของการใช้ไม้มาดีไซน์คงไม่ใช่สาระสำคัญ ส่วนด้านความปลอดภัยว่าจะติดไฟได้ง่ายจนเสี่ยงต่อผู้โดยสารหรือไม่นั้น อยู่ที่การพิจารณาของ ทอท.” นายไพรินทร์กล่าว
    นายไพรินทร์กล่าวยืนยันว่า การประมูลครั้งนี้ถูกต้อง เป็นไปตามขั้นตอนของการประกวดราคา ซึ่ง ทอท.มีหลักฐานในทุกขั้นตอนทั้งหมด อีกทั้งยังเห็นได้ชัดเจนอยู่แล้วว่าบริษัทแรกที่ชนะคะแนนนั้นไม่ยื่นเอกสารตามกติกาของ ทอท. จึงต้องถูกคัดออกไป
    นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. เปิดเผยว่า ตามที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับผลการประกวดแบบอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 2 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ซึ่งได้ผู้ชนะการประกวดราคา คือ กลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน ดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก-อีเอ็มเอส-เอ็มเอชพีเอ็ม-เอ็มเอสอี-เออาร์เจ (DBALP) นั้น ทอท.ได้จัดให้มีการประกวดแบบอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 2 รวมทั้งสิ้น 2 ครั้ง โดยการยื่นซองประกวดราคา ครั้งที่ 1 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2560 ซึ่งการยื่นซองในครั้งนั้น ถึงแม้จะมีผู้สนใจซื้อซองจำนวน 8 ราย แต่ไม่มีผู้สนใจมายื่นซอง ทอท. จึงได้มีการเปิดประกวดราคาอีกเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2560 โดยใช้ข้อกำหนดและขอบเขตงาน (TOR) เดิมทุกประการ ซึ่งในครั้งนี้มีผู้สนใจมาซื้อซองจำนวน 9 ราย
    อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงกำหนดยื่นซองในวันที่ 6 พฤศจิกายน 60 ได้มีผู้ยื่นซองรวมทั้งสิ้น 4 ราย โดยในการพิจารณาผลการประกวดราคา ทอท.ได้มีการตั้งคณะกรรมการจัดหาพัสดุเพื่อพิจารณาคะแนนเทคนิค แต่เนื่องจากเป็นงานประกวดแบบเชิงคุณภาพ และต้องการให้เป็นที่ยอมรับ ทอท.จึงได้เชิญผู้แทนจากสมาคมสถาปนิกสยามเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการฯ ซึ่งคณะกรรมการฯ ประกอบด้วยกรรมการ 5 ท่าน
    นอกจากนี้ มีผู้สังเกตการณ์จากสภาสถาปนิกอีก 2 ท่าน อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการจัดหาพัสดุได้พิจารณาให้กลุ่มบริษัทร่วมทำงาน S.A. ได้คะแนนเทคนิคสูงสุด และได้คะแนนเกินกว่าร้อยละ 80 ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดที่กำหนดไว้ จึงได้รับพิจารณาเป็นรายแรกในการเปิดซอง เสนอราคาตามระเบียบพัสดุของ ทอท. และคณะกรรมการจัดหาพัสดุได้เชิญกลุ่มบริษัทร่วมทำงาน S.A. มาเปิดซองราคา เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2561 โดยเมื่อผู้แทนกลุ่มบริษัทร่วมทำงาน S.A. ได้ตรวจสอบเอกสารซองราคาที่ยื่นไว้ว่ามีสภาพสมบูรณ์ คณะกรรมการฯ จึงได้เปิดซองเสนอราคา แต่ปรากฏว่าไม่มีเอกสารใบเสนอราคาตามข้อกำหนดและขอบเขตงาน (TOR) ตามที่ ทอท.ได้กำหนดไว้ในข้อ 4 เรื่องการยื่นซองเสนองาน โดยในข้อ 4.2 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า "ผู้เสนองานต้องใช้ต้นฉบับใบเสนอราคาที่ได้รับจาก ทอท.นี้เท่านั้น ใบเสนอราคานอกเหนือจากนี้จะไม่รับพิจารณาโดยเด็ดขาด" นอกจากนี้ ตามข้อกำหนดใน TOR ข้อ 13.3 ได้กำหนดว่า “ซองข้อเสนอด้านราคาประกอบด้วยอย่างน้อยที่สุดรายการต่างๆ และจำนวนเงินค่าจ้างแบบเหมารวม (Lump Sum) เป็นเงินสกุลบาท
    อย่างไรก็ตาม โดยในข้อ 13.3.1 ระบุว่า “ผู้เสนอราคาต้องใช้ต้นฉบับการเสนอราคาที่ได้รับจาก ทอท. เท่านั้น ใบเสนอราคานอกเหนือจากนี้จะไม่รับพิจารณาโดยเด็ดขาด” ซึ่งกลุ่มบริษัทร่วมทำงาน S.A. ก็ได้ยอมรับว่าไม่มีเอกสารดังกล่าวจริง คณะกรรมการจัดหาพัสดุจึงไม่สามารถใช้ดุลยพินิจเป็นอื่นได้ โดยต้องดำเนินตามระเบียบพัสดุของ ทอท. และข้อกำหนดและขอบเขตงาน (TOR) ในการให้ผู้ได้คะแนนเทคนิคในลำดับที่ 2 ซึ่งคะแนนเกินกว่าร้อยละ 80 ได้แก่ กลุ่ม DBALP เข้าเปิดซองราคาเป็นลำดับถัดไป
    “ขอยืนยันว่าการเปิดซองประกวดราคางานออกแบบอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 2 ของ ทสภ.ในครั้งนี้ คณะกรรมการจัดหาพัสดุได้มีการดำเนินงานโดยยึดถือตามหลักธรรมาภิบาลของ ทอท. โดยทุกกระบวนการการจัดหาพัสดุมีความโปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ และเป็นไปตามระเบียบการจัดหาพัสดุ ภายหลังจากที่ผู้ชนะการประกวดราคาได้เข้าทำสัญญาออกแบบกับ ทอท. แล้ว จะสามารถปรับปรุงแบบ แก้ไขข้อด้อยต่างๆ นำเสนอต่อคณะกรรมการตรวจการจ้างต่อไป” นายนิตินัยกล่าว
    นายนิตินัยกล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นที่กลุ่มบริษัทร่วมทำงาน S.A. อ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการประกวดราคาในครั้งนี้ เนื่องจากไม่ได้รับเอกสาร “ต้นฉบับใบเสนอราคาที่ได้รับจาก ทอท.” ในชุดเอกสารสำหรับการเสนองานจาก ทอท.นั้น ทอท.ขอชี้แจงว่า ต้นฉบับใบเสนอราคาถือเป็นเอกสารที่สำคัญในการยื่นข้อเสนอด้านราคา เจ้าหน้าที่พัสดุของ ทอท. จะจัดเตรียมโดยประทับหมายเลขเรียงลำดับพร้อมลงลายมือชื่อกำกับแล้ว จึงบรรจุในซองเอกสารที่จะจำหน่ายให้ผู้ที่สนใจจะซื้อเอกสาร และในขณะที่จำหน่ายเจ้าหน้าที่พัสดุ ทอท. จะชี้แจงให้ผู้ซื้อเอกสารทราบว่ามีเอกสารรายการใดบ้าง ซึ่งตลอดระยะเวลาการขายแบบ การชี้สถานที่ตอบข้อซักถามจนยื่นแบบประกวด ไม่มีผู้ซื้อซองรายใดทักท้วงหรือร้องค้านว่าไม่ได้เอกสารหรือไม่สามารถที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขการประมูลได้ และกลุ่มบริษัทร่วมทำงาน S.A. เองมีผู้มาซื้อซองถึง 2 ราย คือ บริษัท Span และบริษัท ไซน์-เทค เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด ก็ไม่ได้ทักท้วงอะไร จึงเป็นไปได้ยากที่กลุ่มบริษัทร่วมทำงาน S.A. จะไม่ได้รับต้นฉบับใบเสนอราคาจาก ทอท.
    นอกจากนี้ ตามเงื่อนไขและข้อตกลงข้อ 4.5 ที่กำหนดว่า “ก่อนยื่นซองประกวดแบบ ผู้เสนองานจะต้องตรวจดูร่างสัญญา รายละเอียดต่างๆ ให้ถี่ถ้วน และเข้าใจในเอกสารประกวดแบบทั้งหมดเสียก่อนที่จะตกลงยื่นซองประกวดแบบตามเงื่อนไขในเอกสารประกวดแบบ” ดังนั้นจึงเป็นความรับผิดชอบของกลุ่มบริษัทร่วมทำงาน S.A. ที่จะต้องตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของเอกสารก่อนที่จะยื่นซองเสนอราคา
    สำหรับเหตุผลที่ต้องใช้ต้นฉบับใบเสนอราคาที่ ทอท. กำหนดในการยื่นซองเสนอราคา ไม่สามารถใช้ใบเสนอราคานอกเหนือจากนี้ได้นั้น เนื่องจากเอกสารดังกล่าว นอกจากผู้ยื่นซองต้องใส่ข้อเสนอด้านราคาซึ่งระบุเป็นตัวเลขและตัวอักษรแล้ว ยังมีเงื่อนไขที่เป็นสาระสำคัญอื่นๆ ระบุไว้ ได้แก่ ระยะเวลายืนราคา คำรับรองว่าจะเริ่มทำงานตามสัญญาทันทีที่ได้รับแจ้งจาก ทอท. และจะส่งมอบงานตามเอกสารประกวดแบบภายในระยะเวลาที่กำหนด คำรับรองว่าจะเข้าทำสัญญากับ ทอท. ตามแบบและมอบหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาให้แก่ ทอท. ตามที่กำหนด.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"