อย.เผยเป้าหมายแก้พรบ.ยา เปิดทางให้อาชีพอื่นจ่ายยาได้ อยู่ที่พยาบาลรพ.สต.ไม่ใช่ร้านสะดวกซื้อ 


เพิ่มเพื่อน    


30ส.ค.61-"หมอวันชัย"เปิดใจ แก้ให้อาชีพอื่นจ่ายยา เป้าหมายอยู่ที่พยาบาลรพ.สต .ไม่ได้หวังเอื้อประโยชน์ร้านสะดวกซื้อ  ส่วน90%เป็นความเห็นชอบ "เนื้อหา"ในพรบ.ไม่ได้หมายถึงความเห็น


 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีการแถลงข่าว ในโอกาสครบรอบ 1 ปี อย.ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพ  นพ.วันชัย  สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการ อย.ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถามว่า  เกี่ยวกับ การใช้ ม.44 ปลดล็อคการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งจะต้องแก้กฎหมาย จะเกี่ยวข้องในร่าง พ.ร.บ.ยาใหม่ หรือไม่ นพ.วันชัย กล่าวว่า จากคำสั่ง คสช กำชับว่า ต้องดำเนินการ พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องกับอาหารและยาซึ่งมีทั้งหมด 7 ฉบับ ซึ่งขณะนี้เหลือ พ.ร.บ.ยาที่กำลังยกร่างอยู่ ซึ่งต้องนำ คำสั่ง 77/ 2559 เข้าไปด้วย กลับไม่มีการพูดถึง แต่ไปมุ่งเน้นที่ประเด็นอื่น โดยในการแก้ไขนั้นก็เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น พ.ร.บ.เดิมในการขึ้นทะเบียนยาไม่มีวันหมดอายุ ซึ่งน่าจะเป็นประเทศเดียวที่ยังมีแบบนี้ ซึ่งเราอยากให้มีวันหมดอายุ การจำแนกยาเป็นกลุ่ม หากเป็นยากลุ่มเสี่ยงให้สั่งได้โดยแพทย์เท่านั้น และในการปรับแก้ตามคำสั่ง คสช 77/59 นั้นจะช่วยในการประหยัดงบประมาณ เพราะ พ.ร.บ.เดิม ไม่อนุญาตให้เก็บเงินจากผู้ประกอบการ แต่คำสั่งให้เก็บเงินได้ตามความเหมาะสม ซึ่งเห็นประโยชน์ชัดเจนในการคุ้มครองผู้บริโภค

"ทั้งนี้ตามที่ตนได้บอกว่าจากการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องพบว่าส่วนใหญ่เห็นด้วยกับเนื้อหา 90 % ตามมาตราทั้งหมดของ พ.ร.บ.ฉบับใหม่   และยังมีเนื้อหาอีก 10 % ที่ยังเห็นต่าง ไม่ได้บอกว่าคนส่วนใหญ่ 90 % เห็นด้วยกับพ.ร.บ.ฉบับใหม่   ก็ให้มีการเสนอทางออกเข้ามา อย.จะเป็นตัวกลางในการพูดคุย ซึ่งข้อสรุปเป็นอย่างไรก็จะออกมาตามนั้น ซึ่งต้องยืนตามหลักการที่ประชาชนได้ประโยชน์"นพ.วันชัย กล่าว.

ผู้สื่อข่าวสอบถามความคิดเห็น พล.อ.ฉัตรชัย ว่า ในมุมมองรัฐบาลการแก้ไขพ.ร.บ.ยาฯ มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีที่เป็นประธานแถลงข่าว กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้เข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนทั้งหมด ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบาย ว่าต้องมุ่งประโยชน์ประชาชนเป็นสำคัญ การทำงานทุกเรื่องประชาชนต้องได้ประโยชน์ ซึ่งตนเชื่อมั่นว่า แนวคิดและวิธีการของกระทรวงสาธารณสุข และอย. ได้เดินตามนโยบายอย่างชัดเจน เพียงแต่วันนี้การสร้างการรับรู้ให้แก่พี่น้องประชาชนโดยทั่วไปอาจไม่ครอบคลุม ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น ตนเชื่อว่าเมื่อได้สร้างความเข้าใจกันแล้ว โดยเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ทุกอย่างก็จะผ่านไปได้

เมื่อถามต่อว่ากรณีมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า การกแก้พ.ร.บ.ยาฯ ฉบับนี้จะเอื้อต่อนายทุน หรือร้านสะดวกซื้อหรือไม่ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่จริง อย่างที่เรียนไปก่อนหน้านี้ ว่า การแก้ปัญหาของรัฐบาลจะมุ่งไปสู่พี่น้องประชาชนเป็นหลัก นี่พูดเป็นครั้งที่ 2 แล้ว ดังนั้น สิ่งที่พูดแบบนั้นไม่ได้อยู่บนพื้นฐานความถูกต้องเลย ตนได้ย้ำกับท่านเลขาฯอย.แล้วว่า การสร้างการรับรู้ และการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จ

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ในร่างพ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่มีข้อไหนที่ทำให้เกิดความเชื่อว่าจะไปเอื้อร้านสะดวกซื้อ หรือนายทุนหรือไม่ นพ.วันชัย กล่าวว่า ในพ.ร.บ.ยาฯ ฉบับปัจจุบัน รวมถึงกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ระบุชัดเจนว่า การเปิดร้านขายยา ไม่ว่าจะเป็นร้านเฉพาะ หรือเป็นชั้นวาง เขียนไว้ชัดว่า ต้องมีเภสัชกร และในการแก้ไขพ.ร.บ.ยาฯฉบับใหม่ไม่ได้ไปแตะ ร้านขายยาต้องมีเภสัชกรเหมือนเดิม ไม่ได้เอื้อให้เกิดช่องในการเปิดร้านขายยาใหม่โดยไม่มีเภสัชกร  โดยประเด็นที่เป็นปัญหาเป็นเรื่องระหว่างวิชาชีพตามที่เห็นในข่าว เพราะพยาบาลที่ทำงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ต้องจ่ายยาตามแพทย์สั่ง เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีเภสัชกรในรพ.สต. อยู่เลย ซึ่งฎหมายยังไม่รองรับ จึงต้องการให้อย.มีกฎหมายรองรับการจ่ายยาของพวกเขาในรพ.สต. ประเด็นมีแค่นี้ แต่กลับมีการขยายความว่า จะไปเปิดช่องให้ร้านขายยา เอาคนที่ไม่ใช่เภสัชกรมาขาย ไปกันใหญ่ และในร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ ร้านเดิมๆที่ไม่มีเภสัชกร ก็มีการควบคุม โดยหากเปลี่ยนเจ้าของร้านขายยาเมื่อไหร่ ก็ต้องมีเภสัชกร หากหาไม่ได้ก็ต้องปิดร้าน ดังนั้น ในอนาคตหมายความว่า ร้านขายยาเดิมที่ยังคงเปิดโดยไม่มีเภสัชกร ซึ่งอาจเปิดตั้งแต่พ.ศ.2510 ร้านพวกนี้จะค่อยๆหมดไป เพราะกฎหมายจะควบคุมหมด

เมื่อถามว่า แง่การจ่ายยาของพยาบาลในรพ.สต. มีกฎหมายอื่นๆเอื้ออยู่แล้วหรือไม่ นพ.วันชัย กล่าวว่า พ.ร.บ.ยา ฉบับเดิมไม่ได้เขียนไว้ ที่ผ่านมาก็อาศัยว่า รพ.สต.อยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลในเขตนั้นๆ การจ่ายยาจึงอยู่ภายใต้แพทย์ที่สั่งจ่ายอยู่ดี แต่กลุ่มพยาบาลอยากให้เขียนเป็นตัวหนังสืออยู่ในพ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ ซึ่งก็ต้องมาคุยกัน ตนเชื่อว่าประเด็นนี้มีทางออก ซึ่งเราก็เสนอทางออกว่าให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพูดคุยกัน โดย อย.ยินดีเป็นตัวกลาง ในการนำความเห็นที่ต่างกันมาค่อยๆ แกะทีละประเด็น ซึ่งเชื่อว่ามีทางออก เพราะแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทำงานเป็นทีมกันอยู่แล้ว ขอเพียงสื่อมวลชนช่วยกัน อย่าให้ประเด็นนี้ไปสู่ประเด็นไม่เป็นความจริง อย่าไปพูดกันว่าเปิดช่องให้บริษัทใหญ่ๆ ซึ่งไม่ใช่เลย

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ระบบสุขภาพต้องทำงานร่วมกันทุกวิชาชีพ  ซึ่งประเทศไทยมีความหลากหลาย เพราะฉะนั้นต้องเอื้อประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง พ.ร.บ..ยามีมา 51 ปีแล้ว แต่แก้ไขไม่ได้ประเทศอื่นไม่มี แต่พอจะออกก็มีปัญหาหากมองข้ามผลประโยชน์บางส่วนก็จะเห็นประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งประเด็นที่เป็นปัญหา ไม่ได้บรรจุไว้ในร่างว่าใครจะจ่าย ไม่จ่าย ซึ่งการที่ใครจะจ่าย ไม่จ่ายต้องออกกฏกระทรวงตามมา แต่กฎกระทรวงยังไม่ออกมาเลย อย่าตีตนไปก่อนไข้ รวมทั้งคนที่ไปออกในโซเชียลมิเดีย แล้วไม่รับผิดชอบ แต่กระทรวงสาธารณสุข และรัฐบาลต้องรับผิดชอบทุกอย่างที่เราออกมาเป็นกฎหมาย โดยทั้งหมดขอย้ำว่าเราต้องถือปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของประชาชน อย่าเอาเรื่องบางอย่างมาทำให้หมองใจกันดีกว่า มาคุยกันเรามีกรรมการตัดสิน อีกทั้ง ร่างพ.ร.บ.นี้เมื่อส่งไปที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณา หากเห็นชอบก็ไม่ได้สิ้นสุด ยังต้องผ่านไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งก็จะมีเวทีในการพูดคุยอีก และก็ต้องไปสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) อีก ซึ่งก็จะมีการให้ความคิดเห็นได้อีก.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"