วัยเก๋าสอนลูกหลานโตมาไม่เป็นหนี้ ยึดหลักพอเพียง พอดี พอประมาณ


เพิ่มเพื่อน    

(ไม่อยากเป็นวัยรุ่นติดหนี้ ชีวิตติดลบ ก่อนใช้ของฟุ่มเฟือยให้พิจารณาว่าสิ่งนั้น เราอยากมี อยากได้ หรือเป็นสิ่งที่จำเป็น)

    ถ้าให้เลือกได้คงไม่มีใครอยากเลือกเป็น “หนี้สิน” ที่หลายคนอาจประสบพบเจอได้ ทั้งคนธรรมดา วัยรุ่น วัยทำงาน และคนดังมีชื่อเสียง ที่หากใช้ชีวิตไม่พอดีก็อาจทำให้ต้องไปหยิบยืมทรัพย์สินของผู้อื่น ที่สำคัญปัญหาการมีหนี้สินยังส่งผลต่อทั้งเรื่องสุขภาพกาย สุขภาพจิต ลามไปจนถึงโรคซึมเศร้าและการคิดฆ่าตัวตาย นี่เองจึงทำให้หลายคนยกให้การ “ไม่เป็นหนี้คือลาภอันประเสริฐ” ...เพื่อเป็นการเตือนสติคนรุ่นลูกหลานไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของบัตรเครดิต ที่สามารถรูดเงินสดได้แบบไม่อั้น หรือเป็นหนี้โดยการนำเงินในอนาคตมาใช้ก่อน ที่อาจพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งชดใช้ไม่หมด ตลอดจนเป็นหนี้เพราะอยากมี อยากได้แบบเพื่อน หรือแม้แต่การยกย่องคนที่มีฐานะร่ำรวย ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นความไม่รู้จักพอ 

(อ.ณรงค์ เทียมเมฆ)

    อ.ณรงค์ เทียมเมฆ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสุขภาพจาก สสส. ให้ข้อมูลว่า “หัวใจสำคัญในการไม่เป็นหนี้ให้ยึดหลักความ พอเพียง พอดี และ พอประมาณ แต่สิ่งที่กล่าวมาอาจจะทำได้ค่อนข้างยาก ดังนั้นก็อยากให้พ่อแม่เป็นแบบอย่างให้ลูกรู้จักความพอดี พอประมาณ รู้จักที่จะอดได้ รอได้ และหากอะไรก็ตามที่ยังไม่ถึงเวลาก็ต้องไม่ตีอกชกตัว ในส่วนของโรงเรียนต้องเป็นเบ้าหลอมที่ดีให้กับเยาวชน เพราะถือเป็นสถานที่ซึ่งเด็กๆ มักจะอวดความมั่งมี เช่น เอาโทรศัพท์มือถือมาอวดเพื่อนๆ หรือการที่พ่อแม่ฐานะดีขับรถหรูมาส่งลูกหลาน เป็นต้น
    “ครูอาจารย์สามารถช่วยป้องกันค่านิยมที่ฟุ้งเฟ้อให้กับเด็ก เพื่อโตไปไม่เป็นหนี้สิน โดยการที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับความดีและความถูกต้องมาก่อนเสมอ เช่น ไม่ยกย่องพ่อแม่ที่มีฐานะ หรือผู้ที่มียศมีตำแหน่งงานใหญ่โตว่าเป็นคนดี หรือควรเลียนแบบ แต่ให้ชื่นชมผู้ปกครองที่ทำความดี เช่น การที่ขี่จักรยานพาลูกมาส่งโรงเรียนเป็นระยะเวลาหลายกิโลเมตร ว่าเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง ชื่นชม และยังมีประโยชน์ในแง่ของการออกกำลังกาย รวมไปถึงเด็กๆ ที่ต้องขี่จักรยานมาโรงเรียนเอง และไม่ยกย่องคนที่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย รวมถึงคนที่ชอบแข่งขันอวดศักดิ์ศรีกันด้วยความมั่งมีหรือความมีหน้ามีตาในสังคม”
    ที่สำคัญอยากบอกว่าผู้ที่เป็นหนี้สินเป็นความทุกข์ที่แสนจะยั่งยืน และปัจจุบันคนไม่กลัวการเป็นหนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นนโยบายจากภาครัฐที่กระตุ้นให้คนมีบัตรเครดิต หรือแม้แต่นโยบายรถคันแรก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนแมงเม่าบินเข้ากองไฟ หรือเป็นแรงกระตุ้นให้คนอยากมี อยากได้ ที่สำคัญไม่ใช่คนไม่กลัวการเป็นหนี้สินเพียงอย่างเดียว แต่ยังทำให้คนไม่คิดถึงอนาคต คิดถึงแต่วันนี้ โดยไม่คิดถึงวันพรุ่งนี้ ในที่สุดก็เป็นหนี้ล้นพ้นตัว ทำให้ชีวิตอับปางลง รวมถึงครอบครัวก็พังทลายลงเช่นเดียวกัน ดังนั้น หากเด็กๆ ยุคใหม่ไม่อยากเป็นหนี้ก็ต้องรู้จัก “ยับยั้งชั่งใจ” ตลอดจน “ผู้ปกครองต้องเป็นแบบอย่างเรื่องการประหยัด อดออม และประมาณตน” รวมถึงสังคมเองก็ต้องร่วมกันเสนอแนวทางที่หลากหลายรูปแบบ เพื่อให้คนรู้จักใช้ชีวิตอย่างพอเพียง เช่น “การยกย่องเชิดหน้าชูตาผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่แบบพอเพียง” เพื่อให้เป็นไอดอลของเด็กยุคใหม่ ลดการฟุ้งเฟ้อและเป็นหนี้สิน

(ป้ามะลิ พูนสวัสดิ์)

    ด้าน ป้ามะลิ พูนสวัสดิ์ คลังปัญญาผู้สูงอายุ จ.สมุทรปราการและครูเกษียณราชการ ให้แนวคิดว่า หลักการสอนลูกหลานไม่ให้เป็นหนี้สินก่อนวัยอันควร คือ “ความพอเพียง” และที่สำคัญจะต้อง “ไม่ตามเพื่อน” เมื่อเห็นเพื่อนใช้โทรศัพท์มือถือราคาแพง แต่เราสามารถคบเพื่อนได้ ที่สำคัญเด็กๆ ต้องรู้ฐานะของตัวเอง โดยเฉพาะการเก็บเงินไปใช้ในการเรียนหนังสือ หรือซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็น สิ่งเป็นสิ่งที่ต้องมาก่อนเสมอ แต่ไม่ได้หมายความเด็กจะใช้มือถือไม่ได้ แต่อาจเป็นราคาที่ไม่สูงมาก และก็ต้องรู้จักใช้อุปกรณ์เหล่านี้ให้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ไม่ตกเป็นเหยื่อของโซเชียล ทั้งการถูกหลอกให้โอนเงิน หรือทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม 
    “สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเด็กวัยรุ่น คือการมุ่งเน้นการศึกษาหาความรู้ให้มากกว่าระดับปริญญาตรี การใช้ของแพงตามเพื่อน ตรงนี้อยากเห็นเด็กๆ ลองคิดใหม่ว่า เราอายุแค่นี้ยังหาเงินเองไม่ได้ ดังนั้นหากอยากได้อะไรที่ราคาสูง ก็อยากให้มองว่าพ่อแม่ที่ส่งเสียเราอาจต้องทำงานหนักและยากลำบาก แต่จะดีที่สุดหากว่าเด็กๆ อยากได้อะไรแล้วเก็บเงินซื้อเอง หรือน้องๆ ที่อยู่ในวัยมหาวิทยาลัยซึ่งต้องขอเงินจากผู้ปกครอง สามารถฝึกการอดทนอดกลั้นในการไม่ใช้จ่ายเงินเกินตัวได้โดยการหยอดเงินในกระปุกออมสิน เช่น หากได้รับเงินค่าขนมวันละ 200 บาท ขั้นต่ำให้เก็บวันละ 20 บาทไปเรื่อยๆ ตรงนี้มันจะเป็นการฝึกวินัยเรื่องการใช้เงินอย่างพอประมาณ และจะไม่ก่อหนี้เมื่อโตขึ้น” 

(พระครูปลัดมังกร ปัญญาวุฒโฑ)

    ปิดท้ายกันที่ พระครูปลัดมังกร ปัญญาวุฒโฑ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดนาคปรก ให้ข้อมูลว่า “อันที่จริงแล้วหลักของการโตมาไม่ฟุ่มเฟือยคือ “หาได้มาก แต่ใช้ให้น้อย” และสิ่งสำคัญเด็กๆ เยาวชนต้องถามตัวเองว่าเราต้องการอะไร และเรามีเป้าหมายในชีวิตอย่างไร ทั้งนี้ เราสามารถที่จะไปถึงจุดประสงค์ที่เราตั้งไว้ด้วยความพยายามได้ด้วยตัวเราเองหรือไม่ ถ้าคำตอบคือไม่ ในฐานะที่เราเป็นเด็กและเยาวชนก็ต้องรู้จักความพอเพียงและความประมาณตน ที่สำคัญต้องรู้จักฐานะของตัวเราดี หากเด็กๆ อยากได้โทรศัพท์มือถือราคาแพงเหมือนเพื่อน ก็ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าที่เราต้องการมีนั้นเพราะความอยากได้หรือความจำเป็น เนื่องจากวัยรุ่นส่วนใหญ่มักจะอยากได้สิ่งของฟุ่มเฟือยตามเพื่อนมากว่าเรื่องอื่น และหากใครที่ไม่มีเหมือนคนอื่นก็จะถูกมองว่าเป็นคนที่เชย ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วคือเขารู้จักตัวเองและรู้จักประมาณตนนั่นเอง ดังนั้นหากเด็กไม่อยากเป็นหนี้ หรือใช้ชีวิตแบบติดลบตอนโต ก็ให้ยึดหลักความพอเพียง พอดี และพอประมาณ”.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"