"เอามื้อสามัคคี" ที่หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ สระบุรี


เพิ่มเพื่อน    

     

     โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปี 6 โดยบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน จัดกิจกรรม “เอามื้อสามัคคี” ครั้งที่ 3 ร่วมสร้างชุมชนกสิกรรมวิถี ตามศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ต.หนองหัวโพ อ.หนองแซง จ.สระบุรี เพื่อรณรงค์ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจให้ประชาชนตระหนักและเห็นความสำคัญในการฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำป่าสัก ด้วยแนวทางศาสตร์พระราชา เพื่อการแก้ปัญหาหยุดท่วม หยุดแล้งในลุ่มน้ำป่าสักอย่างยั่งยืน
    สำหรับโครงการสอดคล้องกับกรอบดำเนินงานฟื้นฟูลุ่มแม่น้ำป่าสัก 9 ปี ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือ อ.ยักษ์ กล่าวว่า ในหลวง ร.9 ได้ทรงรับสั่งกับรัฐบาลที่แล้วเมื่อ 7-8 ปีก่อนว่า ‘ลุ่มน้ำป่าสัก เป็นลุ่มน้ำที่จัดการยากที่สุด เพราะมีความชันเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน เพราะปริมาณน้ำไหลลงอ่างสูงมากหลายเท่าของความจุอ่าง ท่านรับสั่งว่าถ้าออกจากโรงพยาบาลเมื่อไร คงจะช่วยได้มากกว่านี้’ ตนได้ฟังพระองค์รับสั่งแล้วจะไม่ทำอะไรเลยคงเป็นไปไม่ได้ เพราะทำงานกับพระองค์มานาน ตามเสด็จ และจดบันทึกงานตามตลอด เลยตัดสินใจทำเอง ชวนคนมากมายมาทำโครงการต่างๆ ตนคิดว่า ลุ่มน้ำป่าสักมีส่วนทำให้กรุงเทพฯ และพื้นที่อื่นๆ น้ำท่วม หากจัดการได้ไม่ดี ในอดีตกว่าจะมีเขื่อนป่าสัก ก็โดนต่อต้านอย่างรุนแรง ท่านก็ทรงรับสั่งว่าลุ่มนี้จัดการยากถ้าไม่มีเขื่อน เมื่อแล้งจะแล้งอย่างดุเดือด เมื่อท่วมก็จะท่วมอย่างดุเดือด ถึงอย่างไรก็ต้องทำ แต่ทำอย่างไรให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด แล้วก็ดูแลประชาชนให้ดี ต้องไม่มีคอร์รัปชั่นและคอมมิชชั่นแม้แต่เปอร์เซ็นต์เดียว ถ้าหากมี โครงการจะมีปัญหาทันที ก็เลยมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลทุกข์สุขพี่น้อง 

 

อาจารย์ยักษ์ - ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร


    ดร.วิวัฒน์กล่าวต่อว่า ท่านก็ยังรับสั่งเรื่องปัญหาน้ำท่วมอีกว่า ‘ถ้าทำทฤษฎีใหม่ ขั้นก้าวหน้า’ ก็อาจจะช่วยได้ ซึ่งทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้าก็คือ ทุกบ้านต้องมีแหล่งน้ำขนาดเล็ก หรือเรียกว่าหลุมขนมครก ถ้าฝนตกแล้วไหลมารวมกันจะเหมือนถาดขนมครก ถ้าในถาดไม่มีหลุมเลย ฝนตกก็จะมารวมกันอยู่ที่เดียว แล้วตรงที่ต่ำก็จะท่วมหมด แล้วก็การทำโคก หนอง นา คือปั้นคันนาสำหรับเก็บน้ำไว้ในนา แล้วขุดหนองเก็บน้ำไว้ในหนอง แล้วก็ขุดคลองเก็บไว้ในคลอง ดินที่ขุดก็เอาไปทำโคกสูงๆ ปลูกป่า แล้วป่าก็จะซึมซับน้ำลงไปใต้ดิน ทั้งในโคก หนอง นา จะกลายเป็นที่เก็บน้ำ ถ้าเป็นเช่นนั้นทุกบ้านจะไม่มีแล้งเลย แล้วอาชีพจะมั่นคงตามด้วย
    ในส่วนของภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า ในปีที่ 6 ของการดำเนินโครงการยังคงยึดแนวคิด ‘แตกตัวทั่วไทย เอามื้อสามัคคี’ ในการจัดกิจกรรมใน 4 พื้นที่ คือ กรุงเทพมหานคร จันทบุรี สระบุรี และน่าน ซึ่งแต่ละแห่งมีสภาพภูมิสังคมที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพื่อจะได้สร้างต้นแบบที่หลากหลาย เป็นแรงบันดาลใจต่อไปในทุกกลุ่มสังคมในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยโครงการมี 3 ระยะ คือ ระยะแรก ตอกเสาเข็ม สร้างความรับรู้, ระยะสอง แตกตัว ขยายผล และระยะสาม ขยายผลเชื่อมทั้งระบบ โดยปีนี้เป็นปีสุดท้ายของระยะสองเน้นการขยายผลในระดับทวีคูณ ด้วยการ สร้างคน สร้างครู หรือคนต้นแบบ และสร้างเครื่องมือในการยกระดับศูนย์เรียนรู้สู่การศึกษาตลอดชีวิตด้วยโครงสร้าง ‘บวร’ หรือบ้าน วัด โรงเรียน และได้ทำต่อเนื่องโดยนำภารกิจเอามื้อสามัคคี หรือการลงแขกช่วยเหลือกันในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเป็นประเพณีดั้งเดิมของไทยมาเป็นกลวิธีในการขับเคลื่อน โดยกิจกรรมปีนี้อยู่ในลุ่มน้ำป่าสัก ที่ จ.สระบุรี เป็นจุดเริ่มต้นของการรณรงค์ให้สร้างหลุมขนมครกเพื่อหยุดท่วม หยุดแล้ง มาตั้งแต่การดำเนินโครงการในปีแรก และขยายผลออกไปยังลุ่มน้ำอื่นๆ ทั่วประเทศ ทำให้เกิดพื้นที่และคนต้นแบบมากมาย อาทิ อ.บุญล้อม เต้าแก้ว แห่งสวนล้อมศรีรินทร์ จ.สระบุรี ซึ่งเป็นตัวอย่างของผู้ที่ใช้ศาสตร์พระราชาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต และปัจจุบันท่านเป็นคณะทำงานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่ศาสตร์พระราชา 

 


  

      นายอาทิตย์กล่าวอีกว่า ทำโครงการนี้แบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 9 ปี เท่าที่ผ่านมาโครงการประสบความสำเร็จพอสมควร มีตัวอย่างความสำเร็จให้เห็นหลายแห่งกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ทั้งนี้ เชฟรอนจะยังทำงานร่วมกับพันธมิตร พร้อมทั้งเรียนรู้ระหว่างทางไปตลอดว่าต้องทำอย่างไรจึงจะสำเร็จ นอกจากนี้ยังจะมองหา “คอขวด” หรืออุปสรรคต่อการพัฒนา เพื่อเข้าไปช่วยแก้ไขต่อไป ซึ่งคอขวดระยะแรกคือ ประชาชนขาดการตระหนักรู้ จากเดิมที่มีคนที่สนใจเพียงกลุ่มเล็กๆ เชฟรอนได้เชิญดาราเข้าร่วมโครงการเพื่อสร้างจุดสนใจ ทำให้โครงการเป็นที่รับรู้มากขึ้น และเกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่วนคอขวดในระยะที่สองคือ การขาดแคลนวิทยากร เนื่องจากมีคนสนใจอยากลงมือทำมากขึ้น จึงต้องเพิ่มจำนวนศูนย์เรียนรู้ เพิ่มการเรียนการสอน เพิ่มวิทยากร สร้างคน เพื่อให้สามารถออกแบบและอบรมคนได้อย่างเพียงพอกับความต้องการ ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีที่มีคนให้ความสนใจมากมาย  
    ผจก.ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ เชฟรอน เสริมอีกว่า หลังจากนั้นต้องมีการขับเคลื่อนระดับชาติ เพื่อให้เกิดการยอมรับมากขึ้นทั้งในวงการวิชาการและอื่นๆ เชฟรอนจึงได้สนับสนุนให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ทำวิจัยที่มีผลทางวิชาการยืนยันชัดเจนว่า ศาสตร์พระราชาช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นจริง ทั้งมิติด้านสภาพแวดล้อม คือ ดินดี มีแหล่งน้ำ และผลผลิตที่มากขึ้น, มิติด้านสังคม คือ การได้กลับมาเป็นครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา และมิติด้านเศรษฐกิจ คือ ปลดหนี้ได้ สร้างรายได้ พึ่งพาตนเองได้ และกิจกรรมเอามื้อสามัคคีที่บ้านสุขสมบูรณ์ครั้งนี้ มีพนักงานเชฟรอนกว่า 200 คน เข้าร่วมด้วย และยังมีเครือข่ายคนมีใจจากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ และผู้ที่สนใจสมัครผ่านทางเฟซบุ๊กโครงการ รวมทั้งสิ้นกว่า 1,000 คนเข้าร่วมกิจกรรม 

 


    สำหรับกิจกรรมเอามื้อสามัคคีที่บ้านสุขสมบูรณ์ มีขนาดพื้นที่ 47.5 ไร่ เกิดจากคนหลากหลายอาชีพ อาทิ ธุรกิจส่วนตัว รับจ้างอิสระ นักวิเคราะห์แผนงาน นักแสดง นักบิน รวมทั้งเจ้าของที่ดินเดิม รวม 15 ครอบครัว เพื่อทำตามความฝันของตนเองในการร่วมกันสร้างหมู่บ้านสุขสมบูรณ์เป็นชุมชนกสิกรรมวิถี และเป็นชุมชนต้นแบบตามศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น 
    รมช.กระทรวงเกษตรฯ ยังได้กล่าวถึงการรวมกลุ่มของชุมชนอีกว่า หมู่บ้านสุขสมบูรณ์คือหมู่บ้านกสิกรรมวิถี ชุมชนกสิกรรมวิถี ก็คือการรวมตัวกันของกลุ่มคนหลากหลายอาชีพที่มีแนวคิดและอุดมการณ์เดียวกัน สร้างชุมชนพอเพียงที่พึ่งตนเองได้แม้ยามเกิดภัยพิบัติ โดยนำแนวคิดเรื่องทฤษฎีใหม่ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับสภาพภูมิสังคม ด้วยการทำกสิกรรมธรรมชาติ เพื่อการดำรงชีวิตให้อยู่รอดได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งรณรงค์ให้เกษตรกรเลิกใช้สารเคมี หันกลับมาพึ่งพาตนเอง โดยใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดกันมา เพื่อเน้นการทำเกษตรแบบยั่งยืนบนผืนแผ่นดินไทย 
    "จากการที่ติดตามสภาพวิกฤติโลก ตอนนี้กำลังเป็นสงครามแบ่งค่ายทั้งโลก สภาพสังคมไทยตอนนี้ทุกคนก็รู้ดี อดีตสังคมไทยเป็นสังคมที่เอื้อเฟื้อกัน ใครมาถึงก็ต้อนรับแบ่งปันกัน ปลูกพืชผักแบ่งกันกินได้ แต่ตอนนี้สังคมแบบนี้ได้หายไป อีกทั้งสภาพทางการเมืองก็แบ่งเป็นเหล่าอย่างชัดเจน สังคมไทยยังไม่เคารพกัน รวมถึงสภาพแวดล้อมก็ยังเลวร้าย บางพื้นที่น้ำท่วมหนัก บ้านพัง บางแห่งแล้งต้องขนน้ำไปช่วย ไปทำฝนเทียมให้ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อมมันรุนแรงขึ้นทุกวัน เราเชื่อว่าลำพังคนคนเดียวถ้าจะแก้ไขยังไงก็เอาตัวไม่รอด ต้องมีเพื่อน มีกลุ่ม มีสังคม มีชุมชน" 
    อ.ยักษ์กล่าวอีกว่า พลังอำนาจของแต่ละประเทศทั่วโลกกว่า 240 ประเทศ จะอ่อนแอลงเรื่อยๆ เพราะเก็บภาษีใครไม่ได้ ระบบอีคอมเมิร์ซ การค้าออนไลน์ รัฐบาลก็จะเก็บภาษียากขึ้นทุกวัน เพราะฉะนั้นชุมชนต่างต้องดิ้นรนเอาตัวรอดกัน แล้วประเทศไทยมีชุมชนในเมือง 1-2 หมื่นชุมชน ซึ่งพึ่งตนเองไม่ได้เลยเมื่อเกิดน้ำท่วม ภัยพิบัติ เพราะฉะนั้นจึงผลิตอาหารการกินไม่รอด ทำอะไรไม่เป็น ชุมชนชนบทกว่า 7 หมื่นชุมชนวันนี้ก็อ่อนแอ เหลือแต่คนแก่และเด็กเล็กๆ คนที่แข็งแรงพอจะเรียนรู้การอยู่กับดินกับน้ำที่ทำให้มนุษย์อยู่รอด ได้หายไปหมดแล้ว ที่สำคัญความคิดของคนก็ไม่เหมือนกัน คนในเมืองคิดว่าเงินจะทำให้อยู่รอด ขณะที่คนชนบทคิดว่าข้าวปลาอาหารทำให้อยู่รอด ตนคิดว่าถ้าใครศรัทธาแนวทางสองสิ่งคือ 1.แนวทางที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสอนเอาไว้ 2.แนวทางศาสนาของตนเองที่สอนไว้ ให้กลับมาสู่ธรรมชาติ กลับมาสู่ชุมชน และมีเป้าหมายแบ่งปันช่วยเหลือกัน สังคมแบบนี้จะอยู่รอด การทำเป็นชุมชนกสิกรรมจะทำให้เกิดความสุข ตนหวังอยากให้มีชุมชนแบบนี้ 1-2 แห่งในตำบลหนึ่ง เพราะจะช่วยแก้ได้ทั้งเรื่องเกษตร เรื่องของน้ำด้วย 

 

อ.บุญล้อมสอนการทำปุ๋ยให้กับสมาชิกเอามื้อสามัคคี

    สำหรับการทำงานของหมู่บ้านสุขสมบูรณ์ นายบุญล้อม เต้าแก้ว คณะทำงานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ เครือข่ายภาควิชาการกล่าวว่า การออกแบบพื้นที่หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ พื้นที่ 47.5 ไร่ เป็นไปตามวัตถุประสงค์และความต้องการของสมาชิกแต่ละคนว่ามีเป้าหมายอย่างไร และอยากจะทำอะไรบนพื้นที่ โดยนำองค์ความรู้เรื่องหลุมขนมครกมาช่วยออกแบบ ให้คำแนะนำและเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งแต่ละแปลงจะขุดบ่อของตัวเองเพื่อกักเก็บน้ำ นอกจากนี้ยังจัดสรรพื้นที่ส่วนกลางที่จะต้องใช้ร่วมกันด้วย เช่น ถนนทางเข้า คูน้ำ คันดิน เป็นต้น สำหรับผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ได้เรียนรู้หลักการออกแบบพื้นที่ตามหลักภูมิสังคม โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. เข้าใจถึงวิธีการปรับปรุงบำรุงดิน ทำปุ๋ยแห้ง แบบไม่พลิกกลับกอง และทำปุ๋ยน้ำนมด้วยฮอร์โมนนมซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีมากในพื้นที่ นอกจากนั้น ยังได้ร่วมกันปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ทำฝายชะลอน้ำด้วยกระสอบและไม้ไผ่ และสร้างระบบนิเวศและแหล่งอาหาร ด้วยการดำนา ปั้นหัวคันนาทองคำ ทำกระชังเลี้ยงกบและทำแซนด์วิชปลาในนาข้าว ศาสตร์เหล่านี้สามารถนำไปใช้ได้ทุกแห่ง หากสนใจที่จะมาเรียนรู้ 

 

ขณะที่นารอบข้างน้ำท่วม แต่โคก หนอง นา แก้ปัญหาน้ำท่วมได้


    ด้านนายกษิดิศร์ อนรรฆศิริ อาชีพอิสระ เจ้าของพื้นที่ 2 ไร่ในหมู่บ้าน กล่าวถึงแรงบันดาลใจว่า เพราะศาสตร์พระราชามีเป้าหมาย คือการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของคน โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ให้คนมีความสุข โดยคำนึงถึงเรื่องสภาพภูมิศาสตร์ ความเชื่อทางศาสนา เชื้อชาติ และภูมิหลังทางเศรษฐกิจ สังคม แม้ว่าวิธีการพัฒนามีหลากหลาย แต่ที่สำคัญคือผู้พัฒนาต้องมีความรัก ความห่วงใย ความรับผิดชอบ และการเคารพในเพื่อนมนุษย์ จะเห็นได้ว่าการพัฒนาเกี่ยวข้องกับมนุษยชาติ และเป็นเรื่องของจิตใจ และนี่คือจุดเริ่มที่ทำให้ศึกษาว่าศาสตร์พระราชาคืออะไร ส่วนแนวคิดในการออกแบบพื้นที่ของตน ได้ใช้หลัก โคก หนอง นา โมเดล โดยใช้ความสัมพันธ์ของ 5 ตัวแปรสำคัญ คือ 1.ไฟ หรือทิศทางของแสงแดดในแต่ละช่วงฤดู 2.ดิน ลักษณะของดิน การอุ้มน้ำของดิน 3.น้ำ ทิศทางการไหลของน้ำเข้าและออกจากพื้นที่ 4.ลม ทิศทางการพัดผ่านของลมหนาว ลมฝน และลมร้อน 5.คน เป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยการคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอย วัฒนธรรม ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ก็ได้รับการถ่ายทอดมาจาก อ.ยักษ์ อ.ล้อม 
    “ผมมีเป้าหมายที่จะใช้ที่ดินแปลงนี้ในช่วงเกษียณ ใช้เป็นที่ทำกินในอนาคตโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริของในหลวง ร.9 และใช้บางส่วนของพื้นที่ในการทดลองปลูกพืชเขตร้อน เพื่อการวิจัยและศึกษาผลการเจริญเติบโตและการขยายพันธุ์พืชเศรษฐกิจร่วมกับเพื่อนๆ ในต่างประเทศที่เคยศึกษาด้วยกันเพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยของมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ” นายกษิดิศร์กล่าว

     โครงการจะเผยแพร่องค์ความรู้ศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยส่งเสริมให้ประชาชนลงมือปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีน่าน อ.เวียงสา จ.น่าน ในวันที่ 26-28 ตุลาคม 2561 นำโดยบัณฑิต ฉิมชาติ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีน่าน และสุดาพร พรหมรักษา เจ้าของพื้นที่บ้านน้ำปี้ ต.น้ำมวบ อ.เวียงสา จ.น่าน ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมได้ทางเฟซบุ๊ก : พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"