จับตาการประชุม IAU กฎของฮับเบิล อาจถูกเปลี่ยนชื่อ!?


เพิ่มเพื่อน    

12 ก.ย.61-สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page รายงานว่า  กฎของฮับเบิล อาจถูกเปลี่ยนชื่อ!?

กลุ่มนักดาราศาสตร์จากทั่วโลกเข้าร่วมประชุมเพื่อพิจารณาเปลี่ยนชื่อกฎที่สำคัญทางดาราศาสตร์ ในงานประชุมสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (International Astronomical Union: IAU) ครั้งที่ 30 ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ระหว่างวันที่ 20-31 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา เมื่อมีผู้เสนอมติให้พิจารณาแก้ไขชื่อ กฎฮับเบิล (Hubble’s law) เป็น กฎฮับเบิล-เลอแม็ทร์ (Hubble-Lemaitre’s law)

การประชุมเพื่อลงมติดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อให้เกียรติแก่ผลงานของ ฌอร์ฌ เลอแม็ทร์ (Georges Lemaitre) นักดาราศาสตร์ชาวเบลเยียม หนึ่งในบุคคลที่อธิบายการขยายตัวของเอกภพในช่วงเวลาเดียวกับ เอ็ดวิน ฮับเบิล (Edwin Hubble) โดยวิธีการลงมติ จะมีการโหวตแบบไม่เป็นทางการก่อนที่จะลงคะแนนแบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นทางการอีกครั้งในภายหลัง โดยวิธีการลงมติในลักษณะนี้จะเป็นลักษณะเดียวกันกับกรณีมติถอดดาวพลูโตออกจากสถานภาพดาวเคราะห์ ในปี พ.ศ. 2549

กฎของฮับเบิล คือ กฎที่อธิบายอัตราการขยายตัวของเอกภพ ถูกตั้งชื่อตามนักวิทยาศาสตร์ เอ็ดวิน ฮับเบิล ที่อธิบายและตีพิมพ์งานวิจัยจากข้อมูลที่ศึกษาและรวบรวมได้ในปี พ.ศ. 2472 แต่ก็มีหลักฐานที่พบงานวิจัยในลักษณะเดียวกันก่อนหน้าฮับเบิล ในปี พ.ศ. 2470 โดย ฌอร์ฌ เลอแม็ทร์ ที่กล่าวถึงอัตราการขยายตัวของเอกภพในภาษาฝรั่งเศสและตีพิมพ์ในวารสารเบลเยียม ซึ่งเป็นวารสารที่ยังไม่เป็นที่สนใจในวงกว้างในช่วงเวลานั้น โดยทั้งคู่ยังใช้ข้อมูลในงานวิจัยจากแหล่งข้อมูลเดียวกันอีกด้วย

แต่ทำไมถึงเป็นกฎฮับเบิล ไม่ใช่ กฏเลอแม็ทร์?

ย้อนกลับไปในช่วงเดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2473 มีการประชุมของราชสมาคมดาราศาสตร์ ณ ประเทศอังกฤษ ซึ่งมีการยกประเด็นเกี่ยวกับการขยายตัวของเอกภพที่ยังขาดทฤษฎีที่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว เมื่อฌอร์ฌทราบข่าว จึงได้เสนองานวิจัยของตัวเองที่ตีพิมพ์ไปก่อนหน้านี้และเร่งทำการแปลเนื้อหาจากภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาอังกฤษ แต่โชคไม่ดีที่ระหว่างการแปลข้อมูล ฌอร์ฌได้ตัดย่อหน้าส่วนที่ตัวเขาได้กล่าวถึงการประมาณค่าอัตราการขยายตัวของเอกภพออกจากงานวิจัยในฉบับภาษาอังกฤษด้วย

ในขณะเดียวกัน ฮับเบิล และนักดาราศาสตร์ชาวอเมริกันอีกคนชื่อ มิลตัน ฮูมาสัน (Milton Humason) ก็ได้ตีพิมพ์งานวิจัยในลักษณะเดียวกันในวารสารฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ที่อ้างอิงวัตถุที่ศึกษาจำนวนมากขึ้นกว่าครั้งก่อน

จากสิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้คนที่ไม่คุ้นเคยงานวิจัยของฌอร์ฌที่เคยถูกตีพิมพ์ก่อนหน้านี้เข้าใจว่า ฮับเบิลคือบุคคลแรกที่ตรวจพบการขยายตัวของเอกภพ และดูเหมือนว่าฌอร์ฌก็ไม่ได้สนใจจะโต้แย้งว่างานวิจัยของใครได้รับการตีพิมพ์ก่อน ทำให้ชื่อของ ฮับเบิล ถูกใช้เป็นชื่อของกฎที่อธิบายอัตราการขยายตัวของเอกภพจนถึงปัจจุบัน และเป็นเหตุผลที่สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล ยกประเด็นดังกล่าวเพื่อเปลี่ยนชื่อและเป็นเกียรติแก่ ฌอร์ฌ เลอแม็ทร์

สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล หรือไอเอยู จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2462 หนึ่งในหน้าที่ที่รับผิดชอบ คือ การกำหนดชื่อและนิยามต่างๆทางดาราศาสตร์ ซึ่งปัจจุบัน ไอเอยู มีสมาชิกจำนวน 12,000 คน จาก 101 ประเทศทั่วโลก หน่วยงานระดับชาติกว่า 79 หน่วยงาน เช่น สถาบันวิทยาศาสตร์ หรือ สมาคมดาราศาสตร์ระดับประเทศ ซึ่งการประชุมที่จัดโดยสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลเพื่อพิจารณาหรือตกลงหลักการบางอย่าง จะไม่เกี่ยวข้องกับข้อบัญญัติหรือกฎหมายใดๆ แต่การตัดสินที่เกิดขึ้นจะถูกรับรองโดยความเห็นส่วนใหญ่ของผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและนักดาราศาสตร์ของสถาบันวิทยาศาสตร์จากทั่วทุกมุมโลก
อย่างไรก็ดี การพิจารณาเปลี่ยนชื่อกฎฮับเบิล ยังมีข้อกังวลอื่นที่น่าสนใจ เช่น เนื้อหาวิชาดาราศาสตร์ทั่วโลกจะปรับเปลี่ยนตามผลการพิจารณาหรือไม่ รวมไปถึง ยังมีกฎ สมการ และค่าคงที่ต่างๆทางวิทยาศาสตร์ ที่ไม่ได้อ้างถึงบุคคลที่ค้นพบอย่างถูกต้อง หากตัองมีการพิจารณาทั้งหมดใหม่อีกครั้งเหมือนกรณีของกฎฮับเบิล จะต้องใช้เวลาและความพยายามอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีของกฎฮับเบิลครั้งนี้ จะมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่อย่างไร จะต้องรอผลการพิจารณาและประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

อ้างอิง : https://phys.org/…/2018-08-game-changing-resolutionwhose-la…

เรียบเรียง :นายเจษฎา กีรติภารัตน์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"