คลายล็อก เลิกแช่แข็งพรรคการเมือง 2 พรรคใหญ่ พท.-ปชป. ขยับชิงหัวหน้า-แคนดิเดตนายกฯ


เพิ่มเพื่อน    

          หลังมีการโปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง ที่เป็น พ.ร.บ.ประกอบ รธน.2 ฉบับสุดท้าย คือ พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.บ.การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 ก็ทำให้การเมืองเริ่มคึกคักขึ้นมาทันที กับการนับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง

                ความคึกคักทางการเมืองดังกล่าวยิ่งมีมากขึ้นเมื่อปรากฏว่า คำสั่งคลายล็อกพรรคการเมือง ที่ทุกพรรคการเมืองรอคอยมานาน คลอดออกมาแล้วเมื่อ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองนับจากนี้น่าติดตามยิ่ง หลังที่ผ่านมาพรรคการเมืองถูกแช่แข็ง ขยับไม่ได้อย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะการประชุมใหญ่พรรคที่ว่างเว้นมาร่วม 4 ปีกว่า

                ทั้งนี้ คำสั่งคลายล็อก-เปิดพื้นที่ เลิกแช่แข็งพรรคการเมือง ดังกล่าว เกิดขึ้นเนื่องจาก แม้ พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว แต่เนื่องจากการมีผลบังคับใช้ต้องรอไปอีก 90 วัน คือ ประมาณวันที่ 12.ธ.ค.2561 และเมื่อ คสช.ยืนกรานไม่ยอมปลดล็อกพรรคการเมือง จนกว่าจะใกล้เลือกตั้ง ทำให้ทุกพรรคการเมืองกระทุ้ง คสช.โดยพร้อมเพรียงว่า หากไปปลดล็อกช่วงเดือน ธ.ค.2561 พรรคการเมืองจะไม่สามารถดำเนินการเตรียมเลือกตั้งได้ทัน

                ข้อเรียกร้องดังกล่าว ผนวกกับคำแนะนำของฝ่ายต่างๆ เช่น อดีต กกต.ชุดที่แล้ว ที่เห็นด้วยว่าหากปลดล็อกช้าจะมีผลต่อการจัดเลือกตั้งได้ ทำให้สุดท้าย คสช.ก็ยอมถอยหนึ่งก้าว คือ ยืนยันไม่ปลดล็อก แต่ใช้วิธีคลายล็อกแทน

                จึงเป็นที่มาซึ่งทำให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2561 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) อันมีสาระคัญหลายประเด็น

อาทิ ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นที่เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายพรรคการเมือง จะไม่มีการให้พรรคการเมืองต้องทำ ไพรมารีโหวต หรือการให้สมาชิกพรรคการเมืองแต่ละพรรคในแต่ละพื้นที่เลือกตั้งที่พรรคการเมืองส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้ง ได้ไปออกเสียงเลือก-เห็นชอบ ชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งที่พรรคการเมืองจะส่งลงเลือกตั้งในพื้นที่นั้นๆ รวมถึงในระบบบัญชีรายชื่อด้วย

คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2561 แม้จะเขียนให้การส่งคนลงเลือกตั้งต้องรับฟังความคิดเห็นของหัวหน้าสาขาพรรคการเมือง-ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด และสมาชิกมาประกอบการพิจารณาด้วย แต่ในทางปฏิบัติ ถึงเวลาจริงๆ ก็จะเป็นแค่พิธีกรรมการเมืองที่พรรคการเมืองจะทำแค่พอเป็นพิธีเท่านั้น รูปแบบดังกล่าวตามคำสั่ง 13/2561 จึงมี ดีกรี-ความเข้มข้นน้อยกว่าไพรมารีโหวต อย่างมาก เพราะอำนาจหลักจะไปอยู่ที่ คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งประกอบด้วยกรรมการบริหารพรรคจำนวน 4 คน และตัวแทนสมาชิกที่พรรคการเมืองเลือกจำนวน 7 คน รวม 11 คน

เท่ากับว่า ที่หลายคนอยากเห็นไพรมารีโหวตเกิดขึ้นในการเมืองไทยแบบเต็มรูปแบบ ก็จะไม่ได้เห็นในการเลือกตั้งใหญ่ที่จะมีขึ้น

ขณะที่ รูปธรรมที่เห็นชัดในคำสั่งที่ 13/2561 ดังกล่าว ที่เป็นการ เปิดรูระบายพรรคการเมือง ได้ทำกิจกรรมการเมืองหลังถูกแช่แข็งมานาน ก็จะไปอยู่ในข้อ 2 ของคำสั่งที่ให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองบางเรื่องได้ เช่น การจัดประชุมใหญ่พรรคเพื่อให้ความเห็นชอบการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรค-การประชุมใหญ่พรรคเพื่อเลือกหัวหน้าพรรค เป็นต้น

เมื่อคำสั่งคลายล็อกพรรคการเมืองดังกล่าวประกาศออกมา ก็ทำให้แต่ละพรรคการเมืองเตรียมขยับเพื่อเตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่การปลดล็อกอย่างเต็มรูปแบบในเดือนธันวาคมที่ถึงตอนนั้นก็ใกล้เลือกตั้งเข้ามาทุกขณะโดยทันที

จุดที่น่าสนใจก็คือ การให้พรรคการเมืองจัดประชุมใหญ่พรรคเพื่อเลือกหัวหน้าพรรค-กรรมการบริหารพรรค มีการเขียนไว้ว่าต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนครบ 90 วันนับจาก พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังนั้นเมื่อ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.ประกาศเมื่อ 12 ก.ย.61 นั่นหมายถึงการเลือกหัวหน้าพรรค-กรรมการบริหารพรรค ทุกพรรคการเมืองจะต้องทำให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 12 ธ.ค.61

เมื่อเป็นดังนี้ เรื่องการเลือก หัวหน้าพรรค-เลขาธิการพรรค-กรรมการบริหารพรรค ต้องส่องกล้องขยายไปที่ พรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค คือ

พรรคเพื่อไทย-พรรคประชาธิปัตย์

ที่มีบทบาทสำคัญทางการเมืองและถูกคาดหมายว่าจะเป็นพรรคที่ได้เสียง ส.ส.อันดับที่ 1 และ 2 ตามลำดับ หากผลการเลือกตั้งไม่พลิกล็อกแบบคาดไม่ถึง

เริ่มที่ พรรคประชาธิปัตย์

พบว่าขยับตัวกันอย่างรวดเร็ว พอ คสช.คลายล็อกก็มีข่าวว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคได้นัดประชุมกรรมการบริหารพรรค ปชป.ในวันจันทร์ที่ 17 ก.ย.นี้ทันที และคาดว่าจะนัดประชุมใหญ่พรรค ปชป.ที่ต้องมีผู้เข้าร่วมประชุมอย่างน้อย 250 คน ในวันที่ 24 ก.ย. โดยมีวาระสำคัญคือ การรับรองข้อบังคับพรรคประชาธิปัตย์ฉบับใหม่ที่มีประเด็นสำคัญคือ การให้สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์มีส่วนร่วมในการเลือกหัวหน้าพรรคด้วยการหยั่งเสียงผ่านโทรศัพท์มือถือ

ที่ตามขั้นตอน เมื่อที่ประชุมใหญ่รับรองข้อบังคับพรรคแล้ว จากนั้นก็จะเว้นช่วงไปสักระยะเพื่อให้มีการรับสมัครผู้จะลงสมัครชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และให้มีการหยั่งเสียง จากนั้นจึงจะมีการนัดประชุมใหญ่พรรค ปชป.อีกครั้งเพื่อเลือกหัวหน้าพรรค ปชป. โดยมติการเลือกหัวหน้าพรรค ปชป.คะแนนหยั่งเสียงที่ทำไว้ไม่ใช่คะแนนชี้ขาดต่อผลการเลือกหัวหน้าพรรคแต่อย่างใด เพราะในข้อบังคับพรรค ปชป.เขียนแค่ว่า การเลือกผู้สมัครเป็นหัวหน้าพรรคของที่ประชุมใหญ่พรรค ปชป. ที่ประชุม ให้พึงคำนึงถึงสมาชิกที่ได้รับการเลือกตั้งจากการหยั่งเสียงเบื้องต้นเพื่อเลือกหัวหน้าพรรค ที่ก็คือที่ประชุมใหญ่จะไม่นำผลการหยั่งเสียงมาพิจารณาก็ได้ ไม่ได้บังคับ เพราะมติเลือกหัวหน้าพรรคต้องเกิดในห้องประชุมใหญ่

ดังนั้น คะแนนการหยั่งเสียงไม่ใช่ตัวตัดสินว่าให้คนที่ได้คะแนนตอนหยั่งเสียงมากที่สุดได้เป็นหัวหน้าพรรค แต่ให้ยึดมติการออกเสียงตอนประชุมใหญ่พรรค ปชป. ที่คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นช่วงเดือน พ.ย.61 ที่ถึงตอนนั้นจะได้รู้กันว่าหัวหน้าพรรค ปชป. จะเป็น อภิสิทธิ์ ที่สามารถรักษาเก้าอี้ไว้ได้อีกสมัยหลังนั่งเป็น หน.ปชป.มาตั้งแต่ปี 2548 หรือร่วม 13 ปี หรือจะเป็นชื่ออื่น ที่จะลงสมัครแข่งเช่น นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ที่มีผลงานเรื่องการเกาะติด โกงจำนำข้าว จนทำให้เกิดคดีจำนำข้าวในศาลฎีกาฯ หรือจะมีชื่ออื่นๆ นอกเหนือจากนี้

อย่างไรก็ตาม แม้ในข้อบังคับพรรคจะให้เสียงส่วนใหญ่ตอนประชุมพรรคคือเสียงชี้ขาดการเลือกหัวหน้าพรรค ไม่ใช่คะแนนตอนหยั่งเสียง แต่ในความเป็นจริง หากมีผู้ได้คะแนนตอนหยั่งเสียงด้วยคะแนนจำนวนมาก อันเป็นคะแนนจากสมาชิกพรรคทั่วประเทศ เช่น หากสมมุติว่าอภิสิทธิ์เกิดได้คะแนนตอนหยั่งเสียงผ่านโทรศัพท์มือถือเข้ามา 6 หมื่นคะแนน ได้เสียงมาอันดับหนึ่ง แล้วที่ประชุมใหญ่พรรคซึ่งต้องมาประชุมไม่ต่ำกว่า 250 คน ที่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นพวกอดีต ส.ส.-กรรมการบริหารพรรค-ประธานสาขาพรรค เกิดไปเลือกบุคคลอื่นที่ไม่ใช่อภิสิทธิ์ที่ได้คะแนนตอนหยั่งเสียงมากที่สุด

เท่ากับว่า ผู้ร่วมประชุมที่มีเป็นหลักร้อยไม่สนใจเสียงสมาชิกร่วม 6 หมื่นคนที่เลือกอภิสิทธิ์ แบบนี้รับรอง พรรค ปชป.ป่วนแน่ ถูกด่าหูชาว่า มติหยั่งเสียง เป็นแค่ปาหี่ ไม่ให้ความสำคัญกับเสียงของสมาชิก

ด้วยเหตุนี้ แม้ในข้อบังคับพรรค ปชป.จะให้คะแนนเสียงตอนประชุมใหญ่พรรคคือเสียงชี้ขาดว่าใครจะได้เป็นหัวหน้าพรรค แต่คะแนนการหยั่งเสียงที่มาจากสมาชิกพรรคทั่วประเทศก็จะมีผลต่อการตัดสินใจของที่ประชุมแน่นอน

แวดวงการเมือง รวมถึงคนในพรรค ปชป.จึงยังเชื่อว่าอภิสิทธิ์ยังมีโอกาสมากที่สุดที่จะรักษาเก้าอี้หัวหน้าพรรค ปชป.ไว้ได้อีกสมัย เพราะชื่อชั้น-ดีกรีของอภิสิทธิ์ยังพอให้ พรรค ปชป.นำไปขายตอนหาเสียงเลือกตั้งได้ ส่วนคนอื่นๆ อย่างหมอวรงค์ คนก็ยังมองว่าช่วงเวลายังไม่สุกงอม เสียงหนุนยังไม่พีกพอที่จะมาวัดรอยเท้าอภิสิทธิ์ได้ ต้องรออีกสักระยะ เว้นเสียแต่กำลังภายในที่จะหนุนหมอวรงค์ทั้งภายในและภายนอกพรรค ปชป.เอาจริง ถ้าออกมาแบบนี้การแข่งขันชิงหัวหน้าพรรค ปชป.ก็อาจเข้มข้นขึ้น และยิ่งหากมีชื่ออื่น โดยเฉพาะ คนนอก ที่ชื่อชั้นไม่ธรรมดา ไม่ใช่พวกสร้างราคาตัวเอง อย่าง อลงกรณ์ พลบุตร แต่เป็นคนนอก คนอื่นที่ชื่อเสียงดีมาลงแข่งขันด้วย แบบนี้การชิงหัวหน้าพรรค ปชป.เข้มข้นแน่

ส่วน พรรคเพื่อไทย เป็นพรรคที่ไม่ต้องพูดอะไรมากเพราะรู้กันดีทั้งคนในพรรค-นอกพรรคมาตั้งแต่สมัยไทยรักไทย-พลังประชาชน จนถึงเพื่อไทย ว่า พรรคเพื่อไทยก็คือ พรรคชินวัตร-พรรคทักษิณ

ทุกสิ่งทุกอย่างในพรรค ทุกตำแหน่ง ทุกเก้าอี้ในพรรคเพื่อไทยและยามเพื่อไทยเป็นรัฐบาลมีอำนาจ ต้องผ่านการเห็นชอบจาก ทักษิณ ชินวัตร ทั้งสิ้น โดยมีเครือญาติ-คนใกล้ชิดคอยช่วยให้คำปรึกษา ให้ข้อมูล ช่วยสกรีน ไม่ว่าจะเป็นคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร เจ๊แดง เยาวภา และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นต้น โดยที่ผ่านมาเรื่องเก้าอี้ หัวหน้าพรรค-ผู้นำพรรค-แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคเพื่อไทยอยู่ในสภาพอึมครึมมาตลอด หลายชื่อถูกโยนมาวัดกระแสคนในพรรค-กองเชียร์ ตลอดจนฝ่ายตรงข้ามอย่าง คสช. เพื่อเช็กปฏิกิริยา แรงหนุน-แรงต้าน ไม่ว่าจะเป็น สมชาย วงศ์สวัสดิ์-คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์-จาตุรนต์ ฉายแสง-โภคิน พลกุล-ชัชชาติ สิทธิพันธุ์-พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ เป็นต้น

 จนบางครั้งพวกคีย์แมน-อดีต ส.ส.เพื่อไทย เวลาบินไปหาทักษิณที่ต่างประเทศ หากสบโอกาสก็มักถามความเห็นของทักษิณเสมอ เพื่อจะได้รู้สัญญาณและจับทิศทางได้ถูกว่าทักษิณจะดันใคร แต่คำตอบที่ได้รับมาตลอดก็คือ ยังไม่ถึงเวลา-ให้ใกล้ๆ เลือกตั้งก่อน ไม่ต้องรีบ ซึ่งทุกคนในเพื่อไทยต่างก็พยักหน้าถ้วนกัน เพราะรู้กันว่าหากทักษิณเคาะชื่อไหนทุกอย่างก็จบ ไม่มีใครกล้าขวาง ไม่เอาด้วย

แต่เมื่อถึงตอนนี้กรอบเวลาชัดเจนแล้วว่าต้องได้ชื่อ หน.เพื่อไทยก่อน 12 ธ.ค. ดังนั้นเก้าอี้ หน.-ผู้นำพรรคเพื่อไทยที่อึมครึมมานาน ก็ได้รู้กันเสียทีว่าทักษิณจะเลือกใคร.

                                                                                                ทีมข่าวการเมือง

....................................


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"