กรมควบคุมโรค ยืนยันยังไม่พบผู้ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า จากการกินเนื้อวัวติดเชื้อ


เพิ่มเพื่อน    

 


17 ก.ย. 61-นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวประชาชน จ.นครศรีธรรมราช ชำแหละเนื้อวัวที่ตายจากโรคพิษสุนัขบ้ามาประกอบอาหารและรับประทาน ว่าได้รับรายงานจากทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) จากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จ.นครศรีธรรมราช ร่วมลงพื้นที่กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อสอบสวนโรคและค้นหา ติดตามผู้สัมผัสโรค ยืนยันว่าไม่พบผู้ติดเชื้อและจากอาการตามที่รายงานในข่าว ไม่ใช่อาการของพิษสุนัขบ้า โดยระยะฟักตัวของโรคพิษสุนัขบ้าในคนเฉลี่ย 3 สัปดาห์ - 6 เดือน เนื่องจากระยะเวลาสั้นเกินไป อย่างไรก็ตามทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้ดำเนินการให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว และคอยเฝ้าระวังดูอาการต่อไป

นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า คนที่เสี่ยงได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ามากที่สุดคือคนชำแหละ เพราะมีโอกาสสัมผัสกับเชื้อฯ ผ่านสารคัดหลั่ง และน้ำลายของสัตว์ รองลงมาคือ ผู้ปรุงอาหารหรือสัมผัสเนื้อสัตว์ดิบ ผู้ที่รับประทานเนื้อสัตว์แบบดิบ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบ ผู้รับประทานเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ำ จึงขอเตือนว่าห้ามรับประทานสัตว์ป่วยตายหรือนำไปให้สัตว์อื่นกินเด็ดขาด หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยไม่มีเครื่องป้องกัน ควรแจ้งปศุสัตว์เข้ามาจัดการ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ประชาชนบางส่วนยังมีความรู้และความเชื่อเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าที่ไม่ถูกต้องจึงทำให้ผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มขึ้น เช่น โรคพิษสุนัขบ้าไม่รุนแรงสามารถรักษาให้หายได้ ไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต นอกจากเชื้อพิษสุนัขบ้าแล้วการรับประทานเนื้อสัตว์ที่ป่วยตายผิดปกติ ยังเสี่ยงเป็นโรคแอนแทรกซ์ โรคบรูเซลโลสิส และโรคไข้หูดับอีกด้วย หากมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

ด้าน นพ.ไพศาล เกื้ออรุณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นครศรีธรรมราช กล่าวว่า อาการของประชาชนซึ่งเป็นผู้สัมผัสโรคในขณะนี้ ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคพิษสุขนัขบ้า พร้อมยืนยันว่าทุกรายที่เป็นผู้สัมผัสโรคไม่มีใครป่วย เนื่องจากการติดเชื้อนั้นต้องใช้ระยะเวลา และการปรุงอาหารด้วยความร้อนลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ แต่ที่กังวลคือในกรณีที่เนื้อยังไม่ผ่านความร้อนและผู้สัมผัสมีบาดแผลแล้วไปสัมผัสซึ่งจะทำให้ได้รับเชื้อ

สำหรับการติดตามสอบสวนโรคเพื่อนำผู้สัมผัสโรคมารับวัคซีนเพิ่มเติม พบว่ามีผู้สัมผัสโรคในพื้นที่เกิดเหตุและพื้นที่ใกล้เคียง ประกอบด้วยอ.พรหมคีรี 3 ตำบล คือ ตำบลอินคีรี 46 ราย ตำบลนาเรียง 12 ราย ตำบลพรหมโลก 7 ราย ,อำเภอเมือง พื้นที่ตำบลท่างิ้ว 43 ราย และอำเภอนบพิตำ ที่ตำบลนาเหรง 8 ราย รวมผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว 116 ราย และกำลังติดตามผู้สัมผัสโรคอีก 8 รายในพื้นที่ตำบลท่างิ้ว อำเภอเมืองฯ โดยพบว่าผู้สัมผัสโรคทุกราย ไม่มีอาการป่วยใดๆ แต่มีอาการวิตกกังวล

ด้านนายสัตวแพทย์ธนวัฒน์ พันธุ์สนิท ปศุสัตว์จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่าขณะนี้สำนักงานปศุสัตว์อำเภอพรหมคีรีได้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ สถานีตำรวจภูธรพรหมคีรี เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่ชำแหละซากโคดังกล่าวไปจำหน่ายจ่ายแจกแก่ผู้อื่น ตามพรบ.การฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559 มาตรา 36 ผู้ใดประสงค์จะจำหน่ายสัตว์ที่ตาย ให้แจ้งเจ้าพนักงานตรวจโรคดำเนินการตรวจรับรอง มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท มาตรา 37 ห้ามมิให้ผู้ใดชำแหละและตัดแต่งซากสัตว์เพื่อจำหน่ายเนื้อสัตว์โดยมิได้รับการรับรอง ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 38 ห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่มิได้รับการรับรอง มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พร้อมกันนี้ได้ฝากเตือนไปยังผู้เลี้ยงสุนัขและแมวเพื่อให้นำสัตว์เลี้ยงของตัวเองไปฉีดวัคซีนต่อเนื่องทุกปี รวมทั้งนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดยา/ทำหมันเพื่อควบคุมปริมาณ เพื่อแก้ไขปัญหาสุนัขและแมวจรจัดอย่างยั่งยืน และหากพบเห็นสัตว์ที่สงสัยว่าป่วยให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที ซึ่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดมีโอกาสป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้าาที่ได้เข้าให้คำแนะนำได้คลายความกังวล


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"