ผู้บริโภคกลุ่มเฮ! ฟอร์ดพ่ายชดใช้ ‘308ราย’23ล้าน


เพิ่มเพื่อน    

 "ศาลแพ่ง" สั่งบริษัทฟอร์ดชดใช้ค่าเสียหายเหยื่อรถยนต์ 23 ล้าน เหตุผลิตรถยนต์บกพร่องอันตรายต่อผู้บริโภค สร้างประวัติศาสตร์คดีฟ้องกลุ่มรายแรกของประเทศไทย

     เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561 เวลา 10.00 น. ที่ห้องพิจารณา 1005 ชั้น 10 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ถ.เจริญกรุง 63 นายโอภาส อนันตสมบูรณ์ อธิบดีอัยการผู้พิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้, นายรัฐวิชญ์ อนันตวิทยานนท์ เลขานุการศาลแพ่งกรุงเทพใต้ พร้อมองค์คณะ 3 คน อ่านคำพิพากษาคดีผู้บริโภค หมายเลขดำ ผบ.492/2560 ที่กลุ่มผู้ใช้รถยนต์ฟอร์ดรุ่นเฟียสต้าและรุ่นโฟกัส จำนวน 308 ราย ยื่นฟ้องบริษัท ฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการสั่งผลิตและจำหน่ายรถยนต์ฟอร์ดในประเทศไทย เป็นจำเลย เรื่องสั่งผลิตและจำหน่ายรถยนต์ชำรุดบกพร่อง สินค้าไม่ปลอดภัย ไม่ได้มาตรฐาน ไม่เป็นไปตามคำโฆษณา ทำให้ผู้บริโภคเสี่ยงอันตราย โดยโจทก์เรียกค่าเสียหายตามราคารถยนต์ ค่าซ่อม ค่าขาดประโยชน์การใช้รถ ค่าเสียหายเชิงลงโทษ และค่าเสียหายต่อจิตใจ สำหรับสมาชิกร่วมฟ้องทั้ง 308 ราย รวมเป็นเงินค่าเสียหายที่เรียกร้องประมาณ 600 ล้านบาท
    ศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จในเวลา 11.15 น. โดยให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์และสมาชิกกลุ่ม จำนวน 291 ราย เป็นค่าเสื่อมราคาจากการเข้าซ่อม และค่าขาดประโยชน์ในการใช้รถตามจำนวนวันที่เข้าซ่อม รายละตั้งแต่ 20,000 บาทเศษ ถึง 200,000 บาทเศษ ขึ้นกับระดับความเสียหายของรถแต่ละคัน พร้อมชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับแต่วันฟ้อง รวมการชดเชยเป็นเงินประมาณ 23 ล้านบาทเศษ และให้บังคับคดีตามคำพิพากษาให้เสร็จภายใน 7 วัน ทั้งนี้ ศาลให้ยกฟ้องสมาชิกจำนวน 12 ราย ที่มีการดัดแปลงระบบเชื้อเพลิงเป็นการใช้แก๊ส หรือไม่เคยได้รับการเปลี่ยนชุดคลัตช์และกล่องควบคุมเกียร์จากศูนย์บริการ
    นายจิณณะ แย้มอ่วม ทนายโจทก์ นำทีมทนาย โจทก์ และผู้เสียหายเกือบ 300 ราย เข้าฟังคำพิพากษาด้วยตนเอง โดยนายจิณณะเปิดเผยว่า การยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่มของผู้เสียหายจากการใช้รถยนต์ฟอร์ดครั้งนี้ ได้ยื่นฟ้องไปเมื่อวันที่ 3 เม.ย.60 และศาลได้รับฟ้องไปเมื่อเดือน พ.ค.61 ที่ผ่านมา โดยเป็นการฟ้องตาม พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ฉบับที่ 26 เรื่องการดำเนินคดีแบบกลุ่มที่เริ่มบังคับใช้เมื่อ พ.ศ.2558 และนับเป็นคดีประวัติศาสตร์ เพราะเป็นคดีแบบกลุ่มคดีแรกของประเทศไทยที่ศาลมีคำพิพากษา
     “เราเคารพคำตัดสินของศาลในวันนี้ สิ่งสำคัญคือทีมทนายและผู้บริโภคต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทำคดีนี้ให้เป็นคดีตัวอย่าง สร้างบรรทัดฐานไม่ให้ผู้ประกอบการหาช่องว่างเอาเปรียบผู้บริโภค และสังคมต้องไม่เพิกเฉยหรือยินยอมให้เกิดการเอาเปรียบ กว่าปีครึ่งที่ทุกคนร่วมต่อสู้กันมา และรอคอยวันนี้ เรามีหลักฐานความเสียหายที่เกิดกับผู้บริโภคที่ชัดเจน ดังนั้น ประเด็นหลักในวันนี้จึงไม่ใช่ผลทางคดีอย่างเดียว แต่เราอยากผลักดันพลังของผู้บริโภค ให้นำไปสู่การออกกฎหมายที่เป็นธรรมและเป็นมาตรฐานเดียวกัน” นายจิณณะกล่าว 
    เมื่อถามถึงกรณีที่คำพิพากษาของศาลไม่ได้สั่งการเรียกรถคืนนั้น นายจิณณะกล่าวว่า เรื่องการเรียกรถคืนที่ศาลไม่ได้สั่งนั้น เป็นเรื่องของ พ.ร.บ.สินค้าไม่ปลอดภัยฯ ซึ่งตรงนี้ศาลได้มีคำวินิจฉัยว่ากรณีดังกล่าวไม่ได้เข้าข่ายสินค้าที่ไม่ได้ปลอดภัย โดยประเด็นนี้เราก็ยังขอสงวนสิทธิ์ไว้ก่อนว่าจะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาหรือไม่ 
    นายกอปรศักดิ์ นุ่มน้อย หนึ่งในโจทก์ผู้ร่วมฟ้องคดีนี้ กล่าวว่า รอคอยวันนี้มานาน ที่ผ่านมาตนเองได้ทำหน้าที่เรียกร้องสิทธิของผู้บริโภคอย่างดีที่สุดแล้ว การต่อสู้ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นพลังความสามัคคีของทุกคน ทุกคนเคารพในคำตัดสินของศาล
    “ทุกคนอยากเห็นกระบวนการเยียวยาอย่างสมเหตุสมผล และหวังว่าคดีนี้จะเป็นคดีตัวอย่างให้สังคมตื่นตัวไม่ก้มหัวให้กับผู้ประกอบการที่จ้องจะเอาเปรียบ มันพิสูจน์ให้เห็นว่าคนเล็กคนน้อยกล้าลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ สามารถต่อกรกับบริษัทยักษ์ใหญ่ได้ ขณะเดียวกันหากไม่มีบทลงโทษ ไม่ควบคุมพฤติกรรมของผู้ประกอบการ การปัดความรับผิดชอบและการฉวยโอกาสก็จะเกิดขึ้นไม่จบสิ้น” นายกอปรศักดิ์กล่าว
     ขณะที่ น.ส.วราภรณ์ แช่มสนิท หนึ่งในผู้เสียหาย กล่าวว่า ตนเองเข้าร่วมกับกลุ่ม “เหยื่อรถยนต์” มาตั้งแต่ปี 2559 หลังประสบปัญหาการใช้รถยนต์ฟอร์ด รุ่นเฟียสต้า และได้ร่วมกับสมาชิกกลุ่มเดินทางไปร้องเรียนปัญหาความเดือดร้อนกับหน่วยงานต่างๆ หลายแห่ง รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แต่ก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ สมาชิกกลุ่มจึงตัดสินใจรวมตัวฟ้องร้องต่อศาลกันเอง โดยได้รับความช่วยเหลือจากทีมทนายเอกชน
     “พวกเราผู้บริโภครวมตัวต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมกันมานาน อย่างน้อยวันนี้พวกเราก็ภูมิใจที่ได้ต่อสู้ร่วมกันมา และได้พิสูจน์ให้สังคมเห็นแล้วว่า ผู้บริโภคชาวไทยไม่ได้นิ่งเฉยยอมให้ผู้ประกอบการเอารัดเอาเปรียบ และหวังว่าการต่อสู้ของกลุ่มเราจะช่วยยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย ให้มีมาตรฐานดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา” น.ส.วราภรณ์กล่าว.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"