เพื่อไทย ถ้าไม่ปฏิรูป พรรคไปไม่รอด


เพิ่มเพื่อน    

 พท.ไปไม่รอด ถ้าไม่ปฏิรูป ไม่ปิดประตูจับมือกับ ปชป.

            พรรคเพื่อไทย พรรคใหญ่ที่ชนะการเลือกตั้งมาแล้ว 4 ครั้งติดต่อกัน ตั้งแต่สมัยยังเป็นไทยรักไทย-พลังประชาชน มาถึงเพื่อไทย โดยหลังการประชุมรักษาการกรรมการบริหารพรรคเมื่อวันศุกร์ที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา มีการนัดประชุมใหญ่พรรควันที่ 3 ต.ค.เพื่อรับรองข้อบังคับพรรค, นโยบายและอุดมการณ์พรรค จากนั้นจะนัดประชุมใหญ่เพื่อเลือกหัวหน้าพรรค, เลขาธิการพรรค, กรรมการบริหารพรรคในวันอาทิตย์ที่ 28 ต.ค. 

            การเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทยที่คาดว่าจะได้ ส.ส.ในการเลือกตั้งมากที่สุด ถูกจับตามองทุกฝีก้าวในฐานะพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ทิศทางต่อจากนี้ โภคิน พลกุล แกนนำพรรคเพื่อไทยและฝ่ายกฎหมายพรรค ผู้ที่เคยมีตำแหน่งสำคัญการเมืองมากมายในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เช่น ประธานรัฐสภา,  รองนายกรัฐมนตรี, รมว.มหาดไทย ย้ำถึงทิศทางว่าสิ่งที่พรรคต้องทำอย่างหนึ่งก็คือ การปฏิรูปและปรับโครงสร้างพรรค เพราะในสังคมยุคปัจจุบันที่เป็นสังคมยุคดิจิทัล หากไม่ปฏิรูปตัวเองก็จะกลายเป็นพรรคโบราณ จะอยู่ไม่ได้ เพื่อไทยต้องทำให้เป็นพรรคของมวลชน ซึ่งหลายแนวทางการปฏิรูปพรรคก็มีอาทิ การพยายามให้เพื่อไทยมีรายได้จากเงินบริจาคของสมาชิกพรรคและคนในวงกว้างมากขึ้น เพื่อไม่ให้พรรคมีเงินสนับสนุนแค่จากคนเพียงไม่กี่คน

            โภคิน-แกนนำเพื่อไทย เปิดเผยว่า หลัง คสช.คลายล็อกให้พรรคการเมืองต่างๆ ทำกิจกรรมการเมืองได้ ตอนนี้พรรคก็ได้ทำหนังสือถึง กกต.เพื่อขอดำเนินกิจกรรมพรรคการเมืองไปแล้ว พร้อมกับทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น เปิดรับสมัครสมาชิกพรรคใหม่ รวมถึงได้จัดทำร่างข้อบังคับพรรคฉบับใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายพรรคการเมือง ดังนั้นจะมีการเรียกประชุมใหญ่พรรคเพื่อเห็นชอบข้อบังคับพรรคต่อไป และจากนั้นส่งข้อบังคับดังกล่าวไปให้ กกต.พิจารณาอีกรอบ โดยเมื่อ กกต.ส่งเรื่องกลับมาพรรคจะนัดประชุมใหญ่เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคต่อไป ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายในเดือนตุลาคม 

โภคิน-แกนนำเพื่อไทย กล่าวอีกว่า เห็นว่าข้อบังคับพรรคเป็นจุดสำคัญเหมือนเป็นคัมภีร์ของพรรค โดยในข้อบังคับพรรคตามกฎหมายได้เขียนถึงอุดมการณ์และนโยบายพรรคด้วย ที่ผ่านมา นโยบายพรรคก็จะเขียนว่าแต่ละด้าน เช่น กฎหมาย การเมือง จะมีนโยบายอย่างไร ตอนนี้คนในพรรคก็มาคุยกันเพื่อจะเขียนนโยบายออกมา โดยได้พิจารณาจากองค์ประกอบ เช่น เป้าหมายในอนาคตจะเป็นอย่างไรให้คนเห็นทิศทางว่าจะไปทางไหน แต่นโยบายพรรคจะไม่ใช่นโยบายในการหาเสียงตอนเลือกตั้ง เพราะนโยบายหาเสียงจะเขียนออกมาในเชิงรูปธรรมมากขึ้น

นโยบายหลักๆ ที่จะเขียนไว้ก็เช่น พรรคจะยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย พรรคถือว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และพรรคจะต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ เพราะไม่เช่นนั้นมันจะขัดกัน ไม่ใช่เขียนว่ายึดมั่นระบอบประชาธิปไตย แต่พอเผด็จการเข้ามากลับไม่ว่าอะไร มันก็ทำให้ระบบไม่ต่อเนื่อง  ประเทศนี้ที่มีปัญหาเพราะมีความไม่ต่อเนื่อง หากมีความต่อเนื่องอย่าไปห่วงเลยว่าทักษิณจะผูกขาดหรือใครจะผูกขาด ผมเชื่อว่ามันเป็นไปไม่ได้เพราะคนเขาคิดเป็น วันนี้ใครจะไปผูกขาดอะไรได้นอกจากประเทศเผด็จการ

ส่วนเรื่องนโยบายด้านเศรษฐกิจก็เน้นเศรษฐกิจเสรีนิยม สร้างความเป็นธรรมต่อคนส่วนใหญ่ ลดความเหลื่อมล้ำ ลดการผูกขาด และพรรคเห็นว่าสิ่งที่จะทำให้ประเทศเดินไปได้และทำให้ทุกคนมีศักดิ์ศรี คือการเคารพหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชนตามหลักสากล เพื่อไม่ให้ปัญหาวนอยู่ในอ่าง ที่ คสช.อยู่มาจะ 5 ปี มองไปมันก็ดีอย่างคือ รัฐบาลทหารแบบนี้ที่อยู่มา คุณยังอยากได้อีกไหม หากอยากได้อีก ก็เลือกฝ่ายที่บอกว่าจะเอาแบบนี้เข้าไปเลย หากอยากให้ประเทศไทยอยู่ภายใต้บรรยากาศแบบนี้อีกก็เลือกไป ถ้าคนส่วนใหญ่ตัดสินใจแบบนี้ผมยังต้องยอมรับเลย ถ้าประชาชนตัดสินใจเลือกจะเอาระบบแบบนี้ ถ้าเขาบอกว่าดี ก็เหมือนตอนลงประชามติ เมื่อคนส่วนใหญ่ให้ผ่าน แม้ตอนนั้นจะไม่ให้อีกฝ่ายรณรงค์ไม่ให้ลงมติรับร่าง รธน. เราก็ไม่ว่ากัน ก็เดินไปตามนี้

พิมพ์เขียวปฏิรู

เพื่อไทยฉบับโภคิน

            โภคิน-แกนนำเพื่อไทยฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงการปฏิรูปพรรคเพื่อไทยว่า เรื่องการปฏิรูปพรรค เมื่อก่อนหากดูตามพรรคการเมืองหลักๆ ก็อยู่ที่หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค โดยเฉพาะเลขาธิการบางพรรคการเมืองใหญ่ต้องแย่งกัน ส่วนพรรคเพื่อไทยตั้งแต่สมัยไทยรักไทยมาพลังประชาชน คนที่มาเป็นหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค อาจจะถูกทำให้โดนตัดสิทธิ์เพราะพรรคถูกยุบ หากขืนนำคนไปนั่งกันเต็มแบบรุ่น 111-109 ก็จะหมดพรรค ทำให้พรรคก็ต้องหาคนมาช่วยดูแลพรรค ไม่อย่างนั้นจะหมดทั้งพรรคอีก เพราะอย่างที่ผ่านมาก็มีแต่พรรคฝ่ายเราที่ถูกยุบพรรค ตั้งแต่ยุคไทยรักไทยมาจนถึง 109 ยุคพรรคพลังประชาชน

 มาวันนี้ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร พรรคเพื่อไทยต้องปฏิรูปตัวเองโภคินระบุ

...เรื่องการตั้งพรรคใหม่ๆ ในช่วงแรกจำเป็นต้องมีบุคคลที่มีบารมี ศักยภาพมาเป็นหัวหน้าพรรค  แกนนำพรรค เพราะอย่างตอนนี้ที่บางพรรคบอกว่าจะหนุนทหาร แต่ไปดูแกนนำพรรคเหล่านั้นคนไม่รู้จักเลย หากเป็นการเลือกตั้งแบบปกติพรรคเหล่านั้นจะได้ ส.ส.สักคนหรือไม่ ดูแล้วเป็นไปไม่ได้เลย จึงพยายามจะชูพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

            พรรคการเมืองก็ต้องใช้เวลา ค่อยๆ ตกผลึกจนไปสู่คนที่กว้างมากขึ้น พรรคการเมืองไม่ใช่แค่เรื่องของหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรคเท่านั้นแล้ว แต่ที่เราคิดว่าสำคัญต่อจากนี้คือต้องมีสำนักนโยบายพรรค ที่ต้องมาทำเรื่องนโยบาย ทำเรื่องยุทธศาสตร์ โดยไม่ใช่มาทำแค่ตอนเลือกตั้ง แต่ต้องมองทั้งแบบระยะสั้น-กลาง-ยาว ต้องมองถึงการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา

 ก่อนหน้านี้พรรคการเมืองอาจไม่ได้สนใจอันนี้ เพราะอาจเขียนไว้แค่ให้ครบทุกขั้นตอนแล้วไปจดทะเบียน แล้วค่อยมาคิดนโยบายกันตอนหาเสียงกับตอนเข้าไปเป็นรัฐบาล แล้วเลือกตั้งใหม่ก็ค่อยมาคิดกันใหม่ แต่ต่อไปนี้ต้องตามการเปลี่ยนแปลงของบริบทสังคมโลกตลอด บางทีแค่ 2-3 เดือนก็ต้องมารีวิวมาดูกันทีตลอด

            สำนักนโยบายพรรคเพื่อไทยจึงสำคัญมากในการดูเรื่องยุทธศาสตร์ต่างๆ และพรรคต้องมีนักวิชาการเข้ามาทำเรื่องต่างๆ แยกออกไป เช่น เรื่องไอที, ส่งออก, เกษตร, กฎหมาย ก็ให้คนเหล่านี้มาคุยกัน เราต้องมีนักอนาคตมาดูตรงนี้ต้องอย่างนี้เลย

-จะดึงคนนอกพรรค เทคโนแครตมาช่วยทำงานมากขึ้น?

ยังไงก็ต้องดึง เพราะไม่อย่างนั้นพรรคมันอยู่ไม่ได้ พรรคก็จะเป็นพรรคโบราณ เพราะสำนักนี้เป็นหน่วยความคิด พรรคต้องปักหลักต้องทำ ต้องตั้งต้น นอกจากนี้พรรคจะต้องมีสำนักอื่นๆ เช่น สำนักเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อจะได้สื่อสารเชื่อมกับประชาชนได้ โดยเฉพาะเรื่องที่ใกล้ตัวเขามากที่สุด  ส.ส.ในพื้นที่ก็ต้องสื่อสารกับเขาได้ หากเราไม่สื่อสารแล้วคะแนนจะมาอย่างไรเพราะเราจะเข้าใจเขา แต่การพบปะประชาชนในพื้นที่ การไปเคาะประตูบ้าน จับมือเขา ก็ยังมีความสำคัญ จะเห็นได้ว่าพรรคการเมืองเขาก็เหนื่อย เพราะจะอยู่กันแบบเดิมมันไม่ได้ 

            ...รวมถึงจะต้องมีการจัดตั้งสำนักอื่นๆ เช่น สำนักฝึกอบรมเพื่ออบรมสมาชิก, สำนักสื่อสาร, สำนักกฎหมายและช่วยเหลือประชาชน, สำนักธรรมาภิบาลและตรวจสอบภายใน เพื่อตรวจสอบตัวเองด้วย, สำนักเครือข่ายและกิจกรรมเพื่อสร้างเน็ตเวิร์ก เพื่อจะได้มีกิจกรรมกับประชาชน, สำนักกิจการสาขาพรรค, สำนักงบประมาณและการจัดหารายได้ เพื่อให้พรรคมีการจัดทำงบประมาณและจัดหารายได้ที่เป็นระบบ จะได้พึ่งพาตัวบุคคลให้น้อยที่สุด โดยให้พรรคมีรายได้จากแฟนคลับ คนที่เลื่อมใสศรัทธาพรรคให้เป็นกำลังหลัก ที่ไม่นับเงินสนับสนุนพรรคการเมืองจากสำนักงาน กกต.

“เราตั้งเป้าไว้ว่าเงินบริจาคส่วนบุคคลจะไม่ใช่สัดส่วนหลักของพรรค แต่จะต้องเป็นรายได้ที่เข้ามาจากสมาชิกพรรค เช่น เงินค่าสมาชิก เงินบริจาคในวงกว้าง มากกว่าจะมาจากผู้บริจาครายใหญ่ เพราะก่อนหน้านี้ของพรรคก็จะมาจากเงินบริจาครายใหญ่ ซึ่งทุกพรรคก็เหมือนกันหมด หากเราสามารถทำแก้ตรงนี้ได้ พรรคก็จะเป็นพรรคของมวลชนในอนาคตได้ เป็นพรรคการเมืองของทุกคน

การสื่อสารต่างๆ ระหว่างพรรคกับประชาชนมีความสำคัญ ที่ต้องทำทั้งในระดับพรรค เช่น เฟซบุ๊ก,  เว็บไซด์พรรค ขณะเดียวกันพวก ส.ส.ก็ต้องมีการสื่อสารกับประชาชนโดยตรงผ่านช่องทาง เช่น ทวิตเตอร์ เพื่อสื่อสารกับประชาชน เช่นจะนำเขาไปในทางไหน จะสร้างอนาคตที่ดีได้อย่างไร ทั้งหมดเป็นองค์ประกอบในการสื่อสารเพื่อให้เราอยู่ร่วมกันได้และแข็งแรง ที่ผ่านมาฝ่าย คสช.เอาแต่ดูถูกนักการเมือง แถมเหยียดหยามด้วย ถามว่าทำแบบนี้เพื่ออะไร ทั้งที่พวกเขาสัมผัสกับประชาชนมากกว่าพวกคุณอีกเป็นพันเป็นหมื่นเท่า 

ผมก็เสนอในพรรคเพื่อไทยว่า ต่อจากนี้ไปเพื่อไทยต้องนำระบบเอไอหรือปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในพรรค นำมาพัฒนาต่อไปเพราะพรรคต้องสื่อสารกับคนเป็นล้านคนที่เป็นแฟนคลับ เพราะต่อไปสมาชิกพรรคอาจจะลดน้อยลง เนื่องจากกฎหมายพรรคการเมืองไปกำหนดคุณสมบัติเกือบจะเท่ากับ ส.ส. ต่อไปก็ต้องเป็นแฟนคลับหรือผู้นิยมพรรค พรรคก็ต้องสื่อสารกับเขา ดูฟีดแบ็กที่กลับมาหรือการสื่อสารสองทาง เมื่อโลกมันเปลี่ยนหมดจะไปฝืนมันก็จะฝืนไม่ได้ 

...อย่างไรก็ตามทั้งหมดเราต้องเตรียมการ ไม่ใช่เกิดในช่วงข้ามคืน ไม่ใช่บางคนมาคอยแต่ด่าเขา  แต่พอจะไปตั้งพรรคก็เที่ยวไปดูดคนของคนอื่นหมด มันน้ำเน่ากว่าไหม

จะสลัดภาพพรรคทักษิณอย่างไร?

-ที่บอกปฏิรูปพรรค แต่ภาพของเพื่อไทยยังปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นพรรคของทักษิณและตระกูลชินวัตร?

ถ้าเราปล่อยให้เขาเดินต่อเนื่องจนวันนี้ พรรคนี้อาจเป็นสถาบันการเมืองมากเลยก็ได้ แต่พอไปเบรกตลอดเวลา ทำให้สกัดคณะกรรมการบริหารพรรคทั้ง 111 และ 109 ทำให้เห็นว่าฉันจะไม่ให้มีใครอยู่แล้ว มันก็เดินยาก แล้วมาเขียนกฎหมายห้ามครอบงำ บงการ  มาชี้นำ ทำไปทำไม ไม่ได้เป็นประโยชน์อะไร แต่เมื่อเขียนเพื่อตอบโจทย์คนคนเดียว สมมุติผมเชื่อถือนักวิชาการสักคน กลายเป็นยุ่งไหม ไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลย จะเป็นใครที่ไหนในโลก ถ้าเขาช่วยคิดแล้วเป็นประโยชน์ ทำแล้วเป็นผลดี เราก็จะไม่เอาอีก ผมว่าไม่ใช่ประเด็น

ดังนั้นถ้าเรามองอย่างยุติธรรม ต้องมองว่าท่านทักษิณและครอบครัวจะทำอะไรถูกหรือไม่ถูกต้อง  ตรงนั้นผมไม่ยุ่งด้วย ผมไม่แตะ แต่ถ้าถามว่าการยืนบนเส้นทางประชาธิปไตย เขายืนถูกต้องตามหลักนะ แล้วไปจัดการทุกอย่างที่เลยด้วยซ้ำ ถามว่ายุติธรรมหรือไม่ จัดการตามระบบปกติผมว่าทุกคนรับได้  แต่กลับใช้ระบบไม่ปกติมาจัดการ

ถามย้ำว่าหากสุดท้ายเพื่อไทยไม่ปฏิรูปพรรคจะเป็นอย่างไร โภคิน-แกนนำเพื่อไทย ตอบชัดว่า  ถ้าไม่ปฏิรูป ต่อให้ใครยิ่งใหญ่แค่ไหนก็ไปไม่รอด สังคมเปลี่ยนไปมหาศาลในอีก 5-10 ปีข้างหน้า  เกินกว่าเราจะคาดการณ์ ต้องปฏิรูปพรรค ต้องเปิดกว้าง ระดมสมองเข้ามา ใช้เทคโนโลยีทุกอย่าง มองสังคมให้ออก วิเคราะห์สภาพการณ์ทุกอย่างให้ชัด หาวิธีเดินให้เหมาะสม นี่คือเป็นภาระพรรคการเมือง แล้วต้อง professional ไม่ใช่ทหารเข้ามาแล้วก็ไป แต่ไม่ได้นั่งในใจเขา โดยไม่เข้าใจ

-ยังคงเปิดประตูพรรคนำคนนอกมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ หรือหัวหน้าพรรคอยู่?

ถ้าถามผมนะ ใครก็ตามที่ว่าเหมาะสมแล้วประชาชนพอใจ แล้วถ้าเราไม่เอามันก็ประหลาด ถ้าเขาเห็นด้วยกับอุดมการณ์แนวทางเรา อยากมาร่วมด้วย แล้วดูแล้วคนก็เชียร์ชอบ แต่ไม่เอาเพราะไม่ใช่คนที่นายกฯ ทักษิณสั่งมา มันก็ค่อนข้างจะแปลกๆ แต่ถ้าสมมุติคนในตระกูลเขามา เก่งดี แล้วเราไม่เอา บอกว่าเป็นคนในตระกูลทักษิณ การเมืองเป็นอย่างนี้หรือ มันพิลึก แต่กลายเป็นว่าจากตระกูลนี้ไม่ได้ แม้จะเป็นคนดี คนเก่ง คนรุ่นใหม่ ก็ห้าม แต่จะเป็นไม่เป็นอีกประเด็น แต่เราต้องยุติธรรม เราคิดด้วยอารมณ์อคติหมดจะบริหารประเทศได้อย่างไร

            ถาม โภคิน ในฐานะแกนนำเพื่อไทยที่เวลานี้เข้าประชุมคณะทำงานชุดสำคัญๆ ของพรรคอย่างต่อเนื่องว่า คิดว่าจะชนะเลือกตั้งหรือไม่ รวมถึงโอกาสจัดตั้งรัฐบาล เขาตอบว่าเราก็ยังไม่รู้ ถ้าพรรคตอบโจทย์ต่างๆ ได้ดี เราเคยชนะเกินครึ่งมาแล้ว ถ้ายึดตามฐานเดิมเหมือนการเลือกตั้งเดิม ก็จะหายไป 30-40 ที่ แต่ครั้งนั้นไม่ใช่ระหว่างทหารกับไม่ทหาร คือประชาธิปไตยกับเผด็จการ แต่ครั้งนี้ชัดเจน พรรคที่โดดเด่นที่สุดเรื่องต่อสู้เรื่องประชาธิปไตย โดดเด่นเรื่องผลงาน ชัดเจนที่สุด ถูกรังแกมากสุด คือพรรคเพื่อไทย

เมื่อซักถาม โภคิน-แกนนำพรรคเพื่อไทย ถึงนโยบายที่จะประกาศและใช้ตอนหาเสียงเลือกตั้ง จะชูนโยบายหลักๆ เรื่องไหนบ้าง มีเรื่องแก้ไข รธน.หรือล้างมรดก คสช.หรือไม่ เขาเผยว่าเรื่องนี้คนในพรรคยังไม่ได้คุยในรายละเอียดมากนัก แต่ที่แน่ๆ คงมีด้านใหญ่ๆ ไม่มากนัก อย่างนโยบายด้านการเมืองการบริหาร แน่นอนว่าก็ต้องตอบโจทย์และอุดมการณ์พรรค คือต้องไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์  ประชาชนต้องเป็นคนตัดสินใจอนาคตของตัวเอง เราจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้านไม่สำคัญ แต่สำคัญคือประชาธิปไตยต้องเดินหน้า สิ่งนี้คือเป้าหมาย เป้าหมายถามว่าเราทำอะไรบ้าง แก้รัฐธรรมนูญเป็นส่วนหนึ่งถ้าจะเดินไปสู่จุดนี้

 ส่วนนโยบายเรื่องการบริหารประเทศ ต้องตอบกับทุกโจทย์ในแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ก็พูดเองว่า ระบบราชการเป็นตัวปัญหา ไร้ประสิทธิภาพ แต่ของเราต้องปรับตรงนี้ ที่สำคัญความรู้สึกระบบราชการ  เขารู้สึกเป็นเจ้าขุนมูลนาย แต่ต้องเป็นรัฐประชาชน รับใช้ประชาชน ไม่ใช่รับใช้นาย รัฐมนตรี ต้องไม่ใช่สิ่งเหล่านั้น เหมือนเกณฑ์ทหารแต่เอาไปเลี้ยงไก่ ต้องไม่ใช่ระบบนี้ คุณต้องไปดูแลประชาชน สร้างระบบเศรษฐกิจรากหญ้า เป็นรัฐวิสาหกิจชุมชน ดึงเขาเข้ามาด้วยกัน ต้องทำให้คนที่ทำมาหากินรู้สึกง่าย สะดวก โดยรัฐเป็นผู้สนับสนุน ส่งเสริม ไม่ใช่ไปนำเขาหรือไปสั่งเขา

อีกเรื่องที่สำคัญ ที่ผ่านมารัฐบาลบอกว่าจะกิโยตินกฎหมาย แต่ยังไม่เห็นทำ แต่เราทำแน่นอน  อะไรที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะการอนุมัติอนุญาตจะยกเลิกให้หมดเลย ที่ไม่จำเป็นให้ทำไปก่อน แล้วมาขออนุญาตภายใน 90 วัน ถามว่าทำไมทำแบบนี้ ต้องสันนิษฐานว่าเขาอยากทำโดยสุจริตให้ถูกต้อง แต่ทำไมต้องขออนุมัติอนุญาตจนเป็นบ่อเกิดคอร์รัปชัน มาจากที่ให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจอนุมัติอนุญาต ไปดูธุรกิจผิดกฎหมายเคยขออนุญาตใครไหม ไม่ได้ขอ แต่อยู่กันทั้งนั้น เราไปวางกฎระเบียบให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจมาก จนคนสุจริตเขาไม่อยากทำอะไร

...เอสเอ็มอี 90% บอกไม่อยากเป็นนิติบุคคล ต้องทำให้เขารู้ว่าการเป็นนิติบุคคลไม่จำเป็นต้องเป็นระบบห้างร้าน เป็นรัฐวิสาหกิจชุมชนก็ได้ แล้วรัฐจะส่งเสริม ต้องชัดเจน เอาเกษตรบวกท่องเที่ยว วัฒนธรรม จะเกิดคลัสเตอร์ใหม่แบบบูรณาการ ของที่มีอย่างเดียวแม้ยังไม่แปรรูปก็ขายเพิ่มได้อีก แต่ต้องเติมบางอย่าง และยิ่งเติมมูลค่าได้อีกทำให้เขายิ่งมีกำไร แต่วันนี้ประชารัฐเอาเจ้าสัวมา กลายเป็นส่งเสริมเจ้าสัวเป็นหลัก คนข้างล่างก็ไม่ได้อะไรเหมือนเดิม เป็นประเด็นที่เป็นปัญหา

วกกลับมาคุยเรื่องคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2561 ดังกล่าว โภคิน-ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคยังมีข้อสงสัยอยู่บางเรื่อง เช่นเรื่องการขยายเวลาการตั้งสาขาพรรคให้ครบ 4 ภาค ที่ขยายออกไปอีกหนึ่งปีนับแต่วันที่ออกคำสั่งเมื่อ 14 ก.ย.61 แต่ในคำสั่งเดียวกันบอกว่า การส่งคนลงรับสมัครรับเลือกตั้งที่ให้ใช้กรรมการพิจารณาสรรหาจำนวน 11 คน ที่ต้องรับฟังความเห็นสาขาพรรค ซึ่งการขยายเวลาการตั้งสาขาพรรคดังกล่าวเลยมีเนื้อหาที่ขัดกันในคำสั่ง เพราะการขยายเวลาออกไปหนึ่งปีดังกล่าว ก็จะเลยการเลือกตั้งออกไปแล้ว พรรคจึงจะทำหนังสือถาม กกต.ไปแล้วว่าต้องปฏิบัติอย่างไร

            ที่ผ่านมาเพื่อไทยตั้งใจจะทำตามกฎหมายพรรคการเมือง แต่กลับมาออกมาตรา 44 ไม่เอาไพรมารีโหวต มาทำให้เรื่องยุ่งไปหมด ไม่เข้าใจว่าทำไม คสช.ทำอะไรให้ยุ่งยาก มาออกกฎหมายบังคับพรรคการเมืองให้ทำงานยากและเขียนให้เอาผิดในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง โดยอ้างว่าเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างพรรคใหม่กับพรรคเก่า ทั้งหมดไม่เห็นว่าจะมีความเป็นธรรมตรงไหน แล้วมาบอกว่าทำเพื่อปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปพรรคการเมือง เช่นสร้างระบบไพรมารีโหวต แต่พอถึงเวลากลับไม่เอา หรือการเขียนในกฎหมายพรรคการเมืองว่าไม่ให้คนที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคเข้ามายุ่งเกี่ยวครอบงำพรรค แต่ในทางปฏิบัติก็อาจเกิดปัญหาในทางปฏิบัติโดยสุจริต

...เช่นสมมุติมีนักวิชาการที่เก่งมาแนะนำพรรคในเรื่องของนโยบาย แล้วเราไปเอาข้อแนะนำนั้นมาดำเนินการเพราะเห็นว่าเป็นข้อแนะนำที่ดี แบบนี้ถือว่าครอบงำหรือไม่ ก็จะกลายเป็นว่าเขียนกฎหมายเพื่อให้เบลอๆ ให้กว้างๆ ที่จะทำให้เจ้าหน้าที่อาจเลือกปฏิบัติได้ง่าย อย่างที่ผ่านมากฎหมายก็เขียนกันชัด แต่ก็ยังมีการเลือกปฏิบัติได้ แล้วแบบนี้หรือที่เรียกว่าการปฏิรูปการเมือง ส่งเสริมพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันการเมือง

พรรคการเมืองจะคิดแบบเดิมเข้าใจแบบเดิมแคบๆ ก็ไม่ได้อีกต่อไป เพราะไม่อย่างนั้นก็อยู่ไม่ได้  จะเป็นพรรคการเมืองโบราณ แล้วที่พยายามจะมาดูดอะไรต่างๆ แล้วมาบอกว่าไม่ใช่ ซึ่งก็ไม่เป็นไร แต่ถามว่ากระบวนการวิธีการแบบนี้มันตอบโจทย์โลกยุคดิจิทัลหรือไม่ หรือเป็นยุคโบราณ โลกตอนนี้คนรุ่นเก่าก็ต้องเปลี่ยนตามเทคโนโลยีสมัยใหม่

-การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นเป็นการแข่งกันระหว่างสองขั้ว คือฝ่ายหนุน คสช.กับฝ่ายไม่เอาคสช.?

ก็จะเป็นแบบนั้น เท่าที่จากสื่อและที่ทำโพลต่างๆ ก็คือจะเอาคนที่เชียร์ทหารหรือไม่เอาทหาร คือจะเอาประชาธิปไตยหรือเผด็จการ เรื่องนี้ไม่ใช่เราเป็นคนทำ แต่เขาไปทำให้คนเห็นเองอย่าไปโทษคนอื่น

พท.คุย ปชป.ประตูไม่ปิดล็อก 

                -ความเป็นไปได้ที่เพื่อไทยกับประชาธิปัตย์จะจับมือกัน?

ผมคิดว่าถ้าเราไม่ปฏิเสธระบอบประชาธิปไตย ไม่ปฏิเสธพรรคการเมืองด้วยกันโดยอคติ ทุกอย่างทำได้หมด ถ้าเรามีอคติหรือออเดอร์มามันก็จะกลายเป็นอีกเรื่อง ในอดีตก็รวมกันได้หมด กลับไปกลับมายังได้ แต่ไม่ใช่กลับไปกลับมาแบบงูเห่า อันนั้นไม่มีจริยธรรม ด่าเขาแหลกลาญเลยแล้วมาจับมือกัน บอกว่าประชาชนต้องการ ไอ้อย่างนี้มันเป็นไปได้อย่างไร ผมคิดว่าให้การเมืองเป็นอย่างที่ควรจะเป็น  ถ้าถึงทางตันต้องไม่เอาทหารมาปฏิวัติ ก็คุยกันได้ เดี๋ยวก็แก้ปัญหาด้วยตัวมันเองได้ ที่เราต้องเชื่อในระบบ

-นักการเมืองระดับแกนๆ เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ คุยกันได้หมด?

(ตอบสวนทันที) ก็เพื่อนกันทั้งนั้น เพียงแต่ช่วง 10 กว่าปีมาเกิดการสร้างบรรยากาศอึดอัด ไม่พอใจกัน จนกระทั่งเลยจะกลายเป็นคุยกันไมได้ ไม่มีประโยชน์ โลกสมัยใหม่เป็นโลกที่ทุกคนก็ต้องหันหน้าเข้าหากัน ปรึกษาหารือกัน

                -ตัวอาจารย์โภคินก็คุยกับนายอภิสิทธิ์ได้?       

ผมคิดว่าถ้ามีความปรารถนาดีคุยกันได้ทุกคน อย่าไปสร้างล็อก อย่าไปกีดกัน ตัวผมไม่ได้เป็นศัตรูกับใคร ผมเป็นศัตรูกับสิ่งที่ไม่อยุติธรรม

            -อาจารย์เคยไปคุยมาแล้ว?

ไปคุยที่ไหน

-ที่สำนักกฎหมายธรรมนิติ?

ใครไปบอก (ตอบแบบยิ้มๆ)

-มีหรือไม่?

(ยิ้มอีกครั้ง) จากนั้นนายโภคินได้ขอตัวไปประชุมต่อ โดยที่ไม่ได้ตอบคำถามสุดท้ายของเรา

.......................................

หวั่นจะไม่มีใครอยากเป็น กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย!

ด้าน สามารถ แก้วมีชัย คณะทำงานฝ่ายกฎหมายและอดีต ส.ส.เชียงรายหลายสมัยพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าหลังมีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2561 พบว่าประเด็นที่ในคำสั่งไปแก้ไข พ.ร.บ.พรรคการเมืองมีหลักๆ ก็เช่น 1.พรรคตั้งใหม่ที่ต้องจ่ายเงินทุนประเดิม 1 ล้าน ก็เลื่อนออกไปให้อีก 180 วัน นับแต่วันที่ 14 ก.ย. ก็ยืดออกไปให้ 2.กรณีพรรคตั้งใหม่ต้องมีสมาชิก 500 คน พร้อมชำระเงินค่าบำรุงสมาชิกพรรค ก็ยืดเวลาให้หาสมาชิก และ 3.ภายใน 1 ปีหลังตั้งพรรค พรรคจะต้องมีสมาชิก 5,000 คน ก็ยืดออกไปให้ โดยให้นับจาก 14 ก.ย.61

สามารถ ระบุว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ออกมาก็เพื่อจะช่วยพรรคการเมืองตั้งใหม่ คือพรรคของเขาเอง แต่เขาทำไม่ได้ก็เลยมาช่วย เช่น การทำไพรมารีโหวตที่พรรคของเขาทำไม่ได้ แต่พรรคอย่างเพื่อไทยทำได้ไม่เดือดร้อน แต่พรรคตั้งใหม่มีปัญหาเรื่องขั้นตอน เช่นการหาสมาชิกพรรคในจังหวัดมาโหวตออกเสียงทำไพรมารีโหวต เพราะคนมาเป็นสมาชิกพรรคจะต้องจ่ายเงินค่าบำรุงพรรคด้วย แค่ชวนมาเป็นสมาชิกพรรคยังไม่ค่อยจะมีใครมาสมัครหากไม่มีอะไรไปจูงใจ แล้วกฎหมายมาเขียนให้ต้องจ่ายเงินค่าบำรุงพรรคด้วย คนก็ไม่สมัคร พอพรรคการเมืองบางพรรคไม่มีสมาชิกพอในพื้นที่ก็เลยทำไพรมารีโหวตไม่ได้

 “คำสั่งที่ออกมาจึงเป็นการแก้เพื่อพรรคของเขา เพราะคนร่างกฎหมายมีอคติ พยายามเขียนขั้นตอนพวกนี้ให้ยากเข้าไว้ เพราะไม่เคยปฏิบัติ พอเขียนออกมาคนปฏิบัติทำไม่ได้ ก็เลยใช้วิธีออกคำสั่ง คสช."

สามารถ-อดีต ส.ส.เชียงราย กล่าวต่อไปว่าหลังจากนี้เมื่อมีการคลายล็อกพรรคการเมืองแล้ว  นอกจากการจัดประชุมใหญ่พรรคแล้ว ก็จะมีการรณรงค์หาสมาชิกพรรค โดยการจะเป็นสมาชิกพรรคต่อไปต้องติวเข้มกันด้วย เพราะกฎหมายพรรคการเมืองไปบัญญัติว่าไม่ให้สมาชิกกระทำการที่ผิดกฎหมายการเลือกตั้ง กฎระเบียบ กกต. โดยหากสมาชิกพรรคไปทำผิดกฎหมาย กรรมการบริหารพรรคต้องรับผิดชอบ

...จากเดิมแค่ห้ามไม่ให้ผู้สมัครกระทำผิด แต่ปัจจุบันห้ามไปถึงสมาชิกพรรค ดังนั้นหากพรรคไหนมีสมาชิกเยอะแล้วไม่รู้เรื่องกฎหมาย ไม่มีการติวเข้มกับสมาชิกพรรค เกิดสมาชิกพรรคไปทำผิดพลาดอะไรมา กรรมการบริหารพรรคต้องรับผิดชอบ

วันนี้ก็ยังหวั่นๆ ว่าในพรรคใครจะมาเป็นกรรมการบริหารพรรค เพราะหากเกิดมีการทำผิดเอาผิดขึ้นมา กรรมการบริหารพรรคจะโดนตัดสิทธิ์เลือกตั้ง สิทธิ์การเมืองถึง 20 ปี จากเดิม 5 ปี ทั้งหมดทุกพรรคการเมืองต้องเตรียมพร้อม

            ส่วนการเลือกหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค ทุกอย่างก็จะจบหมดภายในเดือนตุลาคม  โดยกระบวนการเลือกหัวหน้าพรรคก็จะเขียนไว้ในข้อบังคับพรรค เช่นการเสนอชื่อต้องมีผู้รับรองกี่คน

                สามารถ ยังกล่าวถึงปัญหาการตีความคำสั่งหัวหน้า คสช.13/2561 ที่ออกมาว่าก็ยังมีข้อสงสัยบางประเด็น เช่นในคำสั่งที่ให้พรรคอาจใช้เทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสารกับสมาชิกพรรค หรือผู้มีตำแหน่งในพรรคได้ แต่ต้องไม่มีลักษณะเป็นการหาเสียง ตรงนี้ขัดกับข้อเท็จจริง เพราะยกตัวอย่างผมอยู่เพื่อไทย  แล้วจะติดต่อกับสมาชิกพรรคเพื่อไทย โดยใช้สื่อเพื่อบอกกับสมาชิกพรรคว่าพรรคเพื่อไทยมีนโยบายแบบนี้ แล้วก็อธิบายนโยบายพรรคให้เขาเข้าใจ เพื่อให้เขาไปอธิบายกับประชาชนอีกที

ลักษณะดังกล่าวจะตีความว่าเป็นการสื่อเพื่อหาเสียงหรือไม่ ดูแล้วปัญหาในทางปฏิบัติจะมีมาก  การตีความเพื่อหาเสียงจะเอาบรรทัดฐานจากตรงไหนมาตีความ

...ที่สำคัญมันขัดกับหลักการความเป็นจริง เพราะพรรคการเมืองต้องหาเสียง ซึ่งอันดับแรกก็ต้องหาเสียงกับสมาชิกพรรคของตัวเอง เพื่อให้สมาชิกไปช่วยเผยแพร่นโยบาย เพื่อไปช่วยหาเสียงกับประชาชน แล้วมาห้ามแบบนี้มันก็แปลก หากพรรคการเมืองสื่อกับสมาชิกไม่ได้แล้วจะไปสื่อกับประชาชนอย่างไร ก็จะเป็นประเด็นที่ทางพรรคเพื่อไทยก็จะนำไปสอบถามกับ กกต.ในการประชุมร่วมระหว่าง กกต.กับตัวแทนพรรคการเมืองในวันที่ 28 ก.ย.ที่จะถึง

 สามารถ กล่าวอีกว่า สำหรับการเลือกคนไปใส่ไว้ในบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจำนวนไม่เกิน 3 ชื่อ อาจจะต้องนำไปเขียนไว้ในข้อบังคับพรรคด้วย เพราะในกฎหมายเขียนไว้ว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของพรรคต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกพรรค ส่วนจะใช้รูปแบบไหน จะใช้ที่ประชุมใหญ่พรรคโหวตหรือจะให้มีกรรมการสรรหาก็มีหลายวิธี จึงต้องเขียนไว้ในข้อบังคับพรรค

หน.พรรค-แคนดิเดตนายกฯ คนละคนกัน

ถามถึงเรื่องตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย หลังที่ผ่านมามีความอึมครึมมาตลอด สามารถ-อดีตส.ส.เชียงราย กล่าวว่า หัวหน้าพรรคกับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอาจจะเป็นคนละคนกันก็ได้ พรรคเราก็ไม่ได้ซีเรียสอะไร หัวหน้าพรรคก็อาจเหมือนพ่อบ้าน มาดูแลบริหารจัดการงานของพรรค และอาจเป็นปาร์ตี้ลิสต์อันดับหนึ่ง แต่เขาอาจไม่ได้มีชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีก็ได้

-อาจเหมือนตอนปี 2554 ที่หัวหน้าพรรคคือยงยุทธ วิชัยดิษฐ แต่วางตัวยิ่งลักษณ์ให้เป็นนายกฯ?

ก็อาจเป็นไปได้ แต่ตอนปี 2554 กฎหมายไม่ได้เขียนให้มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ตอนนั้นเป็นแบบพรรคเพื่อไทยได้เสียงข้างมาก แล้วมาดูว่าใครเหมาะสมเป็นนายกฯ แต่รอบนี้ต้องเสนอชื่อก่อนเลือกตั้ง หัวหน้าพรรคก็อาจมีชื่อเป็น 1 ใน 3 หรืออาจจะไม่มี แต่เรื่องนี้ยังมีเวลาคุยกัน

เรื่องหัวหน้าพรรคถึงเวลาพอเข้าระบบมันก็รู้ใครเป็นใคร ใครทำงานทุ่มเทให้พรรค คือก็ต้องมีคุณสมบัติตามกฎหมาย ประชาชนให้การยอมรับ คนที่เป็นหัวหน้าพรรคผมว่าต้องเป็นคนที่ทุ่มเททำงานให้พรรคมาตลอด แล้วก็เสียสละ เป็นที่ยอมรับของสมาชิกโดยเฉพาะนักการเมืองในพรรคเพื่อไทย อันนี้หลักสำคัญ เรื่องนี้เชื่อว่าไม่มีปัญหาอะไร

                “เพื่อไทยก็ยังมั่นใจว่าพรรคจะได้ ส.ส.เกิน 250 ที่นั่ง เพราะเราสัมผัสประชาชน เรารู้ว่าประชาชนอึดอัดขนาดไหน ประชาชนกำลังรอวันที่เขาจะได้ไปใช้สิทธิ์เลือกอนาคตของเขา ที่ผ่านมาประชาชนมีความอัดอั้นตันใจ เหมือนภูเขาไฟที่มันจะระเบิดในวันเลือกตั้ง

 การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นจะแข่งขันกันอยู่สองค่าย คือค่ายประชาธิปไตยกับค่ายสนับสนุนเผด็จการ วันนี้ประชาชนรู้หมดใครเป็นใคร

 ส่วนพลเอกประยุทธ์หากมีชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ อยู่ในบัญชีของพรรคการเมือง โดยมารยาทเขาก็ต้องลาออกจากนายกฯ เพราะหากต้องไปช่วยหาเสียงมันก็จะไม่คล่องตัว”.

โดย วิจักรพันธ์ หาญลำยวง

                วรพล กิตติรัตวรางกูร


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"