ธนาธรขี่คออภิสิทธิ์! โพลยกเป็นเต็ง3ขึ้นนายกฯ ปูด'สหายธง'นั่งกุนซืออนค.


เพิ่มเพื่อน    

     "นิด้าโพล" เผย ปชช.ส่วนใหญ่ยังหนุน "บิ๊กตู่" นั่งนายกฯ อีกครั้ง "ธนาธร" แรง! คะแนนนิยมพุ่งแซงหน้า "อภิสิทธิ์" เสียงเชียร์พรรคการเมือง "เพื่อไทย" นำโด่ง "พลังประชารัฐ" ปาดหน้า "ประชาธิปัตย์" โพลสวนดุสิตระบุคนไทยเบื่อพวกสร้างภาพ เชื่อหาเสียงผ่านสื่อโซเชียลดีและทันสมัย แต่ห่วงคุมยาก "ไพศาล" เตือนอย่ามองข้ามอนาคตใหม่หลังได้ "อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์" นั่งกุนซือพรรค "หมอวรงค์" เปิดตัวชิงหัวหน้า ปชป. 27 ก.ย.นี้
     เมื่อวันอาทิตย์ นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง ประชาชนอยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ตามกฎหมายการเลือกตั้งปัจจุบัน (ครั้งที่ 4) โดยสำรวจระหว่างวันที่ 17-18 ก.ย.2561 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,251 หน่วยตัวอย่าง ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0 ถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนอยากให้เข้ามาเป็นรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งต่อไป 
    ปรากฏว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 61.63 ระบุ อยากได้พรรคการเมืองพรรคใหม่ๆ เพราะอยากเห็นคนใหม่ๆ นโยบายใหม่ๆ แนวคิดใหม่ๆ เข้ามาบริหารและพัฒนาประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้น ขณะที่บางส่วนระบุ เบื่อการบริหารงานของพรรคการเมืองพรรคเก่า ร้อยละ 37.49 ระบุว่าพรรคการเมืองพรรคเก่า เพราะมีความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ ชอบการบริหารงานแบบเก่าๆ บริหารงานดีอยู่แล้ว การทำงานมีระบบ เคยเห็นผลงานมาแล้ว มั่นใจในผลงาน รู้จัก คุ้นเคยกับประชาชนเป็นอย่างดี มีความเข้าใจและสามารถแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าพรรคการเมืองพรรคใหม่ และร้อยละ 0.88 ระบุว่าไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
    ถามถึงบุคคลที่ประชาชนอยากให้เป็นนายกรัฐมนตรี ตามกฎหมายการเลือกตั้งปัจจุบัน (10 อันดับแรก) พบว่า ส่วนใหญ่อันดับ 1 ร้อยละ 29.66 ระบุเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) รองลงมาอันดับ 2 ร้อยละ 17.51 เป็นคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคเพื่อไทย), อันดับ 3 ร้อยละ 13.83 เป็นนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่), อันดับ 4 ร้อยละ 10.71 เป็นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์), อันดับ 5 ร้อยละ 5.28 เป็น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส (หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย) และ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ (รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย) ในสัดส่วนที่เท่ากัน 
    อันดับ 7 ร้อยละ 4.64 เป็นนายชวน หลีกภัย (อดีตนายกรัฐมนตรี), อันดับ 8 ร้อยละ 1.92 เป็น ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล (หัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย),    อันดับ 9 ร้อยละ 1.76 เป็นนายวิษณุ เครืองาม (รองนายกรัฐมนตรี), อันดับ 10 ร้อยละ 1.52 เป็นนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (ว่าที่หัวหน้าพรรคประชาชาติ) และอันดับ 11 ร้อยละ 1.44 เป็นนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (รองนายกรัฐมนตรี) และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ (พรรครวมพลังประชาชาติไทย) ในสัดส่วนที่เท่ากัน
คะแนนนิยม 'ธนาธร' พุ่ง
    อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาผลจากการสำรวจครั้งที่ 3 เทียบกับครั้งที่ 4 จะพบว่าประชาชนอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ลดลงร้อยละ 1.6, คุณหญิงสุดารัตน์เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.55, นายธนาธรเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.35, นายอภิสิทธิ์เพิ่มขึ้น 0.21  
    เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนอยากให้ได้คะแนนเสียงมากที่สุด และเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล (10 อันดับแรก) พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 28.78 พรรคเพื่อไทย, อันดับ 2 ร้อยละ 20.62 พรรคพลังประชารัฐ, อันดับ 3 ร้อยละ 19.58 พรรคประชาธิปัตย์, อันดับ 4 ร้อยละ 15.51 พรรคอนาคตใหม่, อันดับ 5 ร้อยละ 4.16 พรรคเสรีรวมไทย, อันดับ 6 ร้อยละ 2.56 พรรคประชาชาติ, อันดับ 7 ร้อยละ 2.40 พรรครวมพลังประชาชาติไทย, อันดับ 8 ร้อยละ 1.44 พรรคพลังชาติไทย, อันดับ 9 ร้อยละ 1.12 พรรคชาติไทยพัฒนา และอันดับ 10 ร้อยละ 0.96 พรรคประชาชนปฏิรูป   
    ส่วนปัจจัยสำคัญสุดที่ใช้ในการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พบส่วนใหญ่ร้อยละ 49.80 ระบุเป็นบุคคลที่มีผลงานประจักษ์ ทำประโยชน์ในพื้นที่หรือต่อประเทศไทย รองลงมา ร้อยละ 22.54 ระบุชอบพรรค/นโยบายของพรรค ที่ผู้สมัครสังกัด, ร้อยละ 12.07 ระบุชื่นชอบเป็นการส่วนตัว (เช่น บุคลิก หน้าตา ท่าทาง มีแนวคิดคล้ายตนเอง เป็นคนบ้านเดียวกัน เป็นต้น), ร้อยละ 10.15 ระบุต้องการได้ ส.ส.หน้าใหม่, ร้อยละ 2.32 ระบุต้องการได้นายกรัฐมนตรี ตามมติของพรรคที่ผู้สมัครสังกัด, ร้อยละ 1.52 ระบุเป็นอดีต ส.ส. หรือนักการเมืองในพื้นที่ หรือเป็นญาตินักการเมืองเดิมในพื้นที่, ร้อยละ 0.80 ระบุผู้สมัครสังกัดพรรคที่จะได้เป็นรัฐบาลแน่นอน, ร้อยละ 0.16 ระบุผู้สมัครสังกัดพรรคที่อยู่ตรงข้ามกับพรรคที่ตนเองไม่ชอบ และร้อยละ 0.64 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ   
    สำหรับปัญหาที่อยากให้นายกฯ คนต่อไปเข้ามาแก้ไขมากที่สุด พบส่วนใหญ่ร้อยละ 41.81 ระบุปัญหาปากท้องและหนี้สินของประชาชน รองลงมา ร้อยละ 25.42 ระบุปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ, ร้อยละ 11.67 ระบุปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน การใช้อำนาจโดยมิชอบ ผู้มีอิทธิพล, ร้อยละ 6.07 ระบุปัญหาการควบคุมราคาสินค้า, ร้อยละ 5.91 ระบุปัญหายาเสพติด อาชญากรรม มิจฉาชีพ, ร้อยละ 3.60 ระบุปัญหาการว่างงานและแรงงานนอกระบบ เป็นต้น
    ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความเชื่อมั่นจะมีการเลือกตั้ง ภายในเดือน ก.พ.2562 โดยไม่มีการเลื่อนออกไปอีก พบประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.76 ระบุไม่เชื่อมั่น เพราะยังไม่มีความพร้อม ไม่ชัดเจนในหลายๆ เรื่อง สถานการณ์บ้านเมืองยังไม่ปกติ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และเลื่อนการเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้งเลยทำให้ขาดความเชื่อมั่น รองลงมาร้อยละ 45.16 ระบุเชื่อมั่น เพราะสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มเข้าสู่สภาวะปกติ เป็นไปตามโรดแมปที่รัฐบาลวางไว้ และเชื่อมั่นในความสามารถและความพร้อมของรัฐบาล และร้อยละ 2.08 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
    ขณะที่ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่องประชาธิปไตยแบบไทยๆ ในฝัน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวนทั้งสิ้น 1,128 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 19-22 ก.ย.ที่ผ่านมา พบส่วนใหญ่หรือร้อยละ 96.7 ระบุประชาธิปไตยเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศไทย ในขณะที่เพียงร้อยละ 3.3 ระบุไม่จำเป็น เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจจะดีขึ้นหลังเลือกตั้ง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.1 เชื่อมั่นมากขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 15.9 เชื่อมั่นน้อยลง 
    ถามถึงลักษณะของประชาธิปไตยแบบไทยๆ ในฝันที่ต้องการ พบส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.6 ต้องการ นักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับซื่อสัตย์สุจริต ไม่โกง มาตรฐานคุณธรรมจริยธรรมสูง รองลงมาร้อยละ 83.0 ต้องการการมีส่วนร่วมปกครองบ้านเมืองและท้องถิ่นต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่เลือกตั้งแล้วจบ 
    ส่วนสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง ผู้สมัคร ส.ส. หาเสียงแบบใด? จึงจะถูกใจประชาชน พบร้อยละ 41.93 ระบุเน้นสิ่งที่ทำได้จริง พูดแล้วทำจริง ทำตามที่พูด ไม่สร้างภาพ รองลงมา ร้อยละ 32.29 ระบุมีนโยบายที่ทำเพื่อประชาชน ไม่เป็นประชานิยม มีแนวทางการทำงานที่เป็นรูปธรรม และร้อยละ 23.27 ระบุลงพื้นที่จัดเวทีปราศรัย หาเสียงผ่านสื่อโซเชียลต่างๆ ไลฟ์สด 
    เมื่อถามว่า ผู้สมัคร ส.ส.หาเสียงแบบใด? ที่ประชาชนไม่ชอบ พบร้อยละ 35.92 คุยโม้โอ้อวด อวดอ้าง ขายฝัน ทำไม่ได้ตามที่พูดไว้    , ร้อยละ 34.24 ซื้อเสียง ติดสินบน กระทำผิดกฎกติกาที่กำหนด, ร้อยละ 25.84 หาเสียงด้วยวิธีการรบกวนผู้อื่น เช่น รถแห่เสียงดัง ติดป้ายสมัครบังทาง รบกวนเวลาส่วนตัว, ร้อยละ 18.28 ใส่ร้ายผู้สมัครฝั่งตรงข้าม โจมตี สาดโคลนกันไปมา    
    ถามถึงประชาชนคิดอย่างไร? กับการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. ผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดีย พบร้อยละ 48.15 ระบุ เป็นวิธีการที่ดี ทันสมัย ช่วยประหยัดเวลาและงบประมาณ, ร้อยละ 34.57 ระบุประชาชนเข้าถึงได้ง่าย สะดวก สามารถแสดงความคิดเห็นถามตอบได้, ร้อยละ 25.93 ระบุควบคุมได้ยาก ตรวจสอบไม่ได้ อาจเกิดการใส่ร้ายโจมตีกัน    
อย่ามองข้ามอนาคตใหม่
    นายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า มีคนมาเล่าเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของพรรคอนาคตใหม่ว่า 1.กำลังพิจารณาประกาศนโยบายปลดล็อกกัญชาเพื่อใช้ในทางการแพทย์ 2.มีข่าวว่าสหายธง แจ่มศรี อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเข้าเป็นกุนซือพรรคแล้ว จึงเป็นพรรคที่มีหลักทฤษฎี "ว่าด้วยการสร้างพรรคการเมืองของประชาชน" ที่ชัดเจนที่สุด 
    3.พรรคอนาคตใหม่ได้จัดตั้งคณะกรรมการมวลชนขึ้นในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ยกเว้นจังหวัดเล็กๆ เพียง 3 จังหวัด ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ 4.มีการลงพื้นที่ในทุกจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือความพยายามเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่อายุ 18 ถึง 25 ปี จำนวนเกือบ 10 ล้านคน ซึ่งมีพลังถึง 1 ใน 3 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งโพลของสถาบันการศึกษา 19 สถาบันออกผลที่น่าตื่นตะลึงไม่น้อย 5.เตรียมแนวรบโซเชียลมีเดียและแนวรบสื่อครั้งใหญ่เพื่อการรณรงค์เลือกตั้ง
    "ดูไปแล้วถ้าหากพรรคอนาคตใหม่ประกาศนโยบายหลัก เสริมสร้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้มั่นคง ก็จะลดจุดอ่อนของพรรคนี้อย่างมีนัยสำคัญ ผู้ที่เห็นและเข้าใจพลังของประชาชน ไม่อาจมองข้ามการเคลื่อนไหวของพรรคนี้โดยเด็ดขาด" นายไพศาลกล่าว
    วันเดียวกัน นายปิยบุตร แสงกนกกุล ว่าที่เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ลงพื้นที่รับฟังปัญหาจากกลุ่มประชาชนผู้เดือดร้อนจากปัญหาที่ดินทำกิน  ต.สำนักท้อน อ.บ้านฉาง จ.ระยอง โดยทั้งหมดเป็นผู้ได้รับผลกระทบที่ดินทำกินทับซ้อนกับพื้นที่ป่าไม้ ทำให้ไม่มีเอกสารสิทธิครอบครอง 
    นายปิยบุตรกล่าวว่า สิ่งที่อนาคตใหม่อยากนำเสนอแนวนโยบายการจัดการปัญหาที่ดินทับซ้อนในภาพกว้างนั้น ระยะสั้น อะไรที่มีปัญหาตกทอดมานานต้องยุติเป็นการชั่วคราว เช่น ผู้ถูกดำเนินคดี ให้ยุติลงไปก่อน ใครติดคุกอยู่ต้องนิรโทษกรรม เพราะคนที่โดนดำเนินคดีเรื่องนี้ไม่ใช่อาชญากรโดยสันดาน แต่ที่ผิดเพราะเขาอยู่ของเขามาก่อน แล้วจู่ๆ กฎหมายมาบอกว่าผิด เรื่องนี้ต้องหยุดชั่วคราว ตีเส้นว่าอย่ารุกล้ำเพิ่ม และรัฐต้องไม่ดำเนินการจับกุมคุมขัง 
    ด้าน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ในวันที่ 27 ก.ย. ตนพร้อมด้วยนายถาวร เสนเนียม อดีตรองหัวหน้าพรรค จะร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวอย่างเป็นทางการถึงการลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ปชป. โดยจะใช้สถานที่ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก เวลา 13.00 น. 
    "สาเหตุที่เลือกใช้สถานที่ จ.พิษณุโลก เป็นที่เปิดตัวแถลงข่าว เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยมีใครใน จ.พิษณุโลกกล้าลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ปชป.มาก่อน ครั้งนี้เป็นครั้งแรกของชาวพิษณุโลก และที่นี่ก็เป็นพื้นที่บ้านเกิดของผม" นพ.วรงค์กล่าว
    นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนายสุรบถ หลีกภัย บุตรชายนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค ปชป. สมัครเป็นสมาชิกพรรคว่า เป็นสัญญาณที่ดีของพรรคประชาธิปัตย์ เปรียบเสมือนคลื่นลูกใหม่ และเชื่อว่าจะมีคนรุ่นใหม่เข้ามามากขึ้นยิ่งถ้ามีการปฏิรูปพรรคอย่างต่อเนื่องจริงจัง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"