สมบัติชาติจีนที่เกาะไต้หวัน


เพิ่มเพื่อน    

ประตูทางเข้าพิพิธภัณฑ์กู้กง หรือ “พิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติ” เขตซื่อหลิน กรุงไทเป

การเดินไปที่พักแห่งใหม่นั้นง่ายมาก แทบจะเป็นเส้นตรงจาก Royal Hours Delux Inn ที่พักเดิมในย่านซิเหมิน ราว 20 นาทีก็ถึง NEOSOHO 24/7 WORK & RELAX CABIN ตั้งอยู่ในย่านจงเจิ้ง เรียงอยู่ด้วยร้านอาหาร ร้านกาแฟ และใกล้ Taipei Main Station แค่ 3 นาทีเดิน

รีเซพชั่นสาวเขียนข้อความลงกระดาษแผ่นเล็กๆ ระบุเวลาเช็กเอาต์ 13.13 น. ของวันถัดไป ซึ่งตรงกับเวลาเช็กอินวันนี้ เท่ากับว่า NEOSOHO 24/7 WORK & RELAX CABIN อนุญาตให้ลูกค้าพักได้ 24ชั่วโมง ไม่ว่าจะเช็กอินเวลาใดก็ตาม    

เมื่อเข้าห้องพัก ผมก็จองผ่านเว็บไซต์เอเจนซี่ต่ออีก 2 คืนทันที ราคาคืนละแปดร้อยกว่าบาท ถือว่าคุ้มค่ามาก เพราะมีกาแฟสดบริการฟรี 24 ชั่วโมง รวมถึงบะหมี่สำเร็จรูป บิสกิต เครื่องดื่มทั่วไป โจ๊กซอง ช็อคโกแลตซอง แถมอาหารเช้าก็ยังฟรีอีก นอกจากนี้เครื่องคอมพิวเตอร์ก็วางไว้ให้ใช้ตามสะดวก 4 – 5เครื่อง ห้องน้ำมีอุปกรณ์เครื่องเคียงครบครัน โถส้วมเป็นแบบน้ำฉีดอัตโนมัติเพียงกดปุ่ม (เหมือนญี่ปุ่น) เครื่องซักผ้าก็ให้ใช้ฟรี

ในห้องพักมีโต๊ะทำงาน มีโซฟาที่ใช้เป็นเตียงนอน ตามชื่อ Work & Relax ผนังกั้นห้อง  3 ด้านกั้นไม่หมด คือ 2 ด้านที่ติดกับห้องข้างๆ และด้านประตูห้อง ปล่อยโล่งตรงส่วนบนราวครึ่งเมตร เลียนแบบพาร์ติชันในออฟฟิศทั่วไป ทำให้ผมรู้สึกกังวลเรื่องเสียงกรนของเพื่อนบ้านขึ้นมาทันที

ผู้พักห้องติดกับผมด้านหนึ่งเป็นชายฝรั่งวัยกลางคนค่อนไปทางปลายๆ ทักผมมา 2 ครั้งในเวลา 2นาทีว่า Hey man! มาทราบทีหลังว่าเป็นอเมริกัน ผมตอบว่า Hello กลับไปทั้ง 2 ครั้ง  

แกเปิดเพลงร็อคหวานๆ บ้าง ป็อปอเมริกันบ้าง เพลงรักอมตะ “เย่ เลี่ยง ต้าย เปี่ยว หว่อ ตี ซิน” ที่แปลเป็นไทยว่า “พระจันทร์แทนใจฉัน” ของ “เติ้งลี่จวิน” ก็มี

ก่อนจะเดินออกจากห้อง (แกเปิดประตูห้องไว้) ผมแกล้งพูดไปว่า “เพลงเพราะดีนะครับ” แกพูดกลับมาอีกยาวยืด ประมาณว่า “เพลงหายไปเยอะ ต้องค่อยๆ เก็บกลับมาใหม่....” แต่ผมยอมเสียมารยาทไม่ฟังให้จบ เดินออกไปก่อน รู้ว่าแกไม่เห็นหน้าผมอยู่แล้วเพราะแกพูดอยู่ในห้อง

ทางเดินเข้าพิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติ โออ่าอย่างกับพระราชวังจริงๆ

จากนั้นออกไปนั่งเมโทรสายสีแดงที่ Main Taipei Station ไปลงสถานีซื่อหลิน (Shilin) แล้วต่อรถเมล์ไม่ไกลก็ถึงพิพิธภัณฑ์ “กู้กง” หรือพิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติ เรียกในภาษาอังกฤษว่า National Palace Museum มีหลายอาคาร ซึ่งอาคารแสดงหลักนั้นขนาดใหญ่มาก นักท่องเที่ยวเต็มแน่น ส่วนมากมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ มีค่าเข้าชม 250 ดอลลาร์ไต้หวัน หรือเกือบๆ 300 บาท ผู้เข้าชมจะต้องฝากกระเป๋าและกล้องถ่ายรูปในล็อกเกอร์แบบหยอดเหรียญ (ได้เหรียญคืนเมื่อเอากุญแจกลับมาไข) เป็นอันว่าอดนำภาพจากภายในพิพิธภัณฑ์มาฝากท่านผู้อ่าน

พิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติ เดิมทีเรียก “พิพิธภัณฑ์พระราชวัง” (Palace Museum) ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1925 หลัง ดร. ซุน ยัต-เซ็น สถาปนาสาธารณรัฐจีน (Republic of China) ภายในพื้นที่ของพระราชวังต้องห้าม กรุงปักกิ่ง นี่จึงเป็นที่มาว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีคำว่า “พระราชวัง” ติดมาด้วย

สมบัติมีค่าจำนวนนับไม่ถ้วนที่ก่อนหน้านั้นถูกเก็บไว้เชยชมภายในสมาชิกราชวงศ์ก็ได้รับการเปิดเผยต่อสายตาสาธารณชน   

ในปี ค.ศ. 1933 ประธานาธิบดีเจียง ไค-เช็ค ได้สั่งให้เคลื่อนย้ายของสะสมและสิ่งแสดงไปยังเมืองทางด้านตะวันตกเฉียงใต้เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดจากการรุกรานของญี่ปุ่นที่กำลังคืบคลาน และแม้ว่าการต่อสู้ที่ดุเดือดในหลายพื้นที่แต่สมบัติชาติทั้งหมดก็ไม่ได้รับความเสียหาย ในปี ค.ศ. 1934พิพิธภัณฑ์พระราชวังได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น The Palace Museum of Beiping ซึ่ง Beiping ก็คือชื่อที่ใช้เรียก “ปักกิ่ง” ก่อน Beijing และยังใช้ในระหว่างปี ค.ศ. 1928 – 1949 ด้วย

            ช่วงปลายปี ค.ศ. 1948 ขณะที่รัฐบาลจีนคณะชาติกำลังเพลี่ยงพล้ำให้กับจีนคอมมิวนิสต์ในสงครามกลางเมือง รัฐบาลจีนคณะชาติก็ได้ขนสิ่งของมีค่าราว 600,000 ชิ้นจาก “พิพิธภัณฑ์พระราชวัง” และ “สำนักงานจัดเก็บพิพิธภัณฑ์กลางแห่งชาติ” ไปยังเกาะไต้หวันโดยเรือหลายลำ จัดตั้งคลังเก็บแรกเริ่มขึ้นที่หยางเหม่ย และ เถาหยวน จากนั้นที่ไถจง

            จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1965 เนื่องในโอกาศครบรอบ 100 ปีชาตกาลของ ดร.ซุน ยัต-เซ็น พิพิธภัณฑ์ได้รวมกับสำนักงานจัดเก็บพิพิธภัณฑ์กลางแห่งชาติ กลายเป็นชื่อใหม่ National Palace Museum หรือ “พิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติ” ในเขตซื่อหลิน กรุงไทเป จนถึงปัจจุบัน

            ตลอดระยะเวลามากกว่า 60 ปีที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้พัฒนาไปสู่พิพิธภัณฑ์ที่ทันสมัยเต็มรูปแบบ ไม่เพียงความสามารถและศักยภาพในทางการศึกษาและการสำรวจวิจัยที่มีความก้าวหน้าอย่างมาก ในส่วนของสิ่งแสดงและของสะสมก็ได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่า 697,000 ชิ้น กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวมศิลปะและวัฒนธรรมจีนเอาไว้ไม่น้อยกว่าที่ใดในโลก อีกทั้งได้รับการยกย่องว่าสามารถจัดแสดงนิทรรศการได้ดีเยี่ยมติด 1 ใน 3 ของพิพิธภัณฑ์ทั่วทั้งโลก แม้ว่าจะสามารถนำมาแสดงได้เพียงรอบละประมาณ 3 พันชิ้นเท่านั้น

            พิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติได้สร้างสาขาภาคใต้ขึ้นที่นครเจียอี้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว บนพื้นฐานของคอลเล็กชั่นจำนวนมหาศาลของพิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติที่ตั้งอยู่ทางภาคเหนือนี้ สาขาใหม่ที่เกิดขึ้นได้รับการนำเสนอในฐานะพิพิธภัณฑ์ศิลปะและวัฒนธรรมโดยรวมของเอเชีย โดยทั้ง 2 แห่งจะผนึกกำลังทำงานควบคู่กัน โดยมีภารกิจหลักทางด้านการศึกษาและวัฒนธรรม ส่งเสียงประสานความเป็นจีนและเอเชียสู่ชาวโลก

 มุมมองจากชานหน้าอาคารแสดงหลักลงไปยังประตูทางเข้า

            ไม่กี่ปีที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์ยังได้มีบทบาทอย่างสูงในโครงการจดหมายเหตุแห่งชาติในรูปแบบ “ดิจิตอล” ทำให้คอลเล็กชั่นหรือของสะสมของพิพิธภัณฑ์ถูกบรรจุในรูปแบบใหม่เพิ่มขึ้นมา การจัดแสดงนิทรรศการมีชีวิตชีวามากขึ้น ระบบใหม่นี้ช่วยให้พิพิธภัณฑ์มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมและการสร้างสรรค์ศิลปะ เป็นตัวอย่างของพิพิธภัณฑ์แห่งอนาคต

ขอวกกลับไปยังคำว่า “ดิจิตอล” สักหน่อยนะครับ หน่วยงานที่ดูแลการใช้ภาษาไทยได้กำหนดให้เขียนใหม่ว่า “ดิจิทัล” ทำให้ในอดีตที่คำนี้ (Digital) ออกเสียงในหมู่คนไทยว่า “ดิจิต้อว” และ “ดิจิต้อน” ปัจจุบันนอกจากการอ่าน 2 แบบนั้นยังดำรงไม่ไปไหนแล้ว การออกเสียงใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ดิจิทัน, ดิจิเท่า, ดิจิโท่ว, ดิจิท่อน, ดิจิท่อว แม้แต่บทประชาสัมพันธ์ของ “กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” ยังถูกอ่านออกเสียงเป็น “ดิจิทั่น”

Digital ออกทะเลเป็น “ดิจิทั่น” ไปได้อย่างไรกันครับ ผมหัวเราะด้วยความสมเพชทุกครั้งที่ได้ยิน

หากจะว่าไป การกำหนดให้เขียนใหม่นี้ทำให้การอ่านออกเสียงยิ่งห่างจากต้นฉบับภาษาอังกฤษไปมากกว่าแบบเดิมด้วยซ้ำ เพราะภาษาอังกฤษนั้นจะอ่านออกเสียงคล้ายๆ “ดิจิเตา” ซึ่งการเขียน “ดิจิตอล” ย่อมใกล้เคียงกว่า

การกำหนดให้เขียนอย่างไรนั้นย่อมทำได้ แต่ควรคาดการณ์ถึงการอ่านที่หลากหลายไม่รู้จบแบบไทยๆ ตามมาด้วย เรื่องนี้คิดๆ ไปก็มองได้ว่าการซุกซนของผู้ใหญ่สร้างความปวดหัววุ่นวายกว่าพฤติกรรมของเด็กๆ หลายเท่า (ยังมีอีกหลายตัวอย่าง แต่ขอไม่ยกมาในวันนี้)  

กลับมาเรื่องเที่ยวไต้หวันกันต่อนะครับ ผมดูตามห้องนิทรรศการถาวรอยู่ได้ไม่กี่ห้อง โดยติดอยู่ที่ห้องพุทธศาสนาแบบธิเบตนานไปหน่อย อาการปวดฝ่าเท้าก็กำเริบขึ้นพร้อมๆ กับปวดท้องหิวข้าว จึงตัดสินใจเดินออกจากพิพิธภัณฑ์แล้วนั่งรถเมล์กลับไปย่านเมโทรสถานี Shilin

ด้วยความหิวก็เลยเดินเข้าร้านบะหมี่แรกที่เจอ เข้าไปในร้านแล้วถึงรู้ว่าเป็นแนวเกาหลี ซดน้ำซุปเผ็ดๆ ไปได้แค่สองสามช้อน กินเส้นจนหมดก็เดินต่อจะเข้า “ตลาดกลางคืนซื่อหลิน” (Shilin Night Market) ที่ใหญ่และโด่งดังไม่แพ้ใครในบรรดาตลาดกลางคืนด้วยกัน  แต่เมื่อแวะกดเงินจากตู้เอทีเอ็มเงินไม่ยอมไหลออกมา ในกระเป๋ามีเหลืออยู่แค่ประมาณ 100 ดอลลาร์ไต้หวัน เท้าก็ปวดจนไม่อยากเดินหาตู้ใหม่ จึงซื้อเบียร์ไต้หวันที่ถูกสุดในมินิมาร์ทใกล้ๆ ราคา  32 ดอลลาร์ นั่งดื่มหน้าป้ายรถเมล์บริเวณวงเวียนก่อนเข้าตลาด (ด้านหลัง)

อาการปวดเท้าทุเลาลงหน่อยผมก็เดินเข้าตลาด มีเสื้อผ้า รองเท้า และข้าวของต่างๆ อีกมากมาย ที่เป็นร้านแบรนด์เนมก็มี วางขายบนแผงก็เยอะ อาหารรถเข็นก็มีหลากหลายอยู่ในบางซอกซอยและริมถนนใหญ่ ผมอยากจะซื้อรองเท้าฟุตบอลอาดิดาสที่ราคาถูกกว่าบ้านเราค่อนข้างมาก แต่ไม่มีเงิน เจอตู้เอทีเอ็มก็ยังกดเงินไม่ออก เดินจนปวดเท้าอีกรอบก็แวะเข้าไปซื้อเบียร์ด้วยเงินก้อนสุดท้ายในร้าน 7-11 แล้วออกมานั่งดื่มหน้าร้าน หันกลับไปเห็นป้ายเขียนว่าในร้าน 7-11 มีตู้เอทีเอ็มก็เข้าไปถามพนักงาน ได้ความว่าอยู่มุมด้านในของร้าน คราวนี้เงินไหลออกมาแต่โดยดี เสียค่าธรรมเนียม 100 บาท แต่พอคิดจะเดินไปซื้อรองเท้าก็เดินไม่ไหวแล้ว จึงค่อยๆ ขยับทีละก้าวไปขึ้นเมโทรที่สถานี Jiantan ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ตลาดซื่อหลินมากกว่าสถานี Shilin เสียอีก

กลับถึงที่พักก็อาบน้ำทันที โดยใช้น้ำอุ่นฉีดเท้าอยู่นานกว่าจะรู้สึกดีขึ้น เอนหลังลงบนโซฟาในห้องได้ครู่หนึ่งก็ซ่าจะไปเดินตลาดซิเหมินติง เพราะวันนี้เป็นวันศุกร์ รู้สึกมั่นใจว่าบาร์ย่านหลังตึกแดงคงมีคนเยอะ แต่เดินไปได้ประมาณครึ่งทางก็ปวดเท้าขึ้นมาอีก เห็นบาร์ชื่อ Oxygen ซึ่งเป็นร้านของโฮสเทลในชื่อเดียวกันก็เข้าสั่งเบียร์สดแบบเอลมาดื่ม 2 ไพนต์

อเมริกันหนุ่มหน้าเกย์สอนภาษาอังกฤษอยู่ที่เมืองจีนเข้ามาคุยด้วย เขาพักที่นี่ โชคดีของผมที่เบียร์หมดจึงไม่เสียมารยาทที่จะขอลาออกมา

ขากลับแวะมินิมาร์ทข้างที่พัก ซื้อซิงเกิลมอลต์วิสกี้ยี่ห้อ MACALLAN ขวดขนาด 350 มิลลิลิตรมาลองในราคาเกือบๆ  800 ดอลลาร์ พร้อมขนมขบเคี้ยวอีกนิดหน่อย

ทางเดินด้านข้างออกจากพิพิธภัณฑ์

เวลาประมาณตี 1 เตรียมตัวจะเข้านอน หนุ่มหน้าตี๋เข้ามาคุยด้วย เขาเป็นคนสิงคโปร์แต่ไปอยู่ฮอลแลนด์ตั้งแต่เด็กๆ ขณะนั้นประเด็นอังกฤษออกจากอียูและอนาคตอียูกำลังอยู่ในกระแส เราเลยคุยกันถึงเรื่องนี้อย่างออกรส ตอนหลังผมเผลอพูดออกไปว่า “รู้นะคุณเป็นเกย์” เขาถึงกับผงะ ผมเสริมไปว่า “ผมเคารพพวกคุณนะ ผมเองก็มีเพื่อนเป็นเกย์หลายคน”

เพื่อชดเชยที่เสียมารยาท ผมต้องดื่มวิสกี้เพียวๆ สนทนากับเขาจนเกือบตีห้า ถึงได้เข้านอน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"