ถึงเวลาที่ประเทศไทย ต้องมีสภาดิจิทัลฯ


เพิ่มเพื่อน    

ในขณะที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในบริบทไทยแลนด์ 4.0 ที่จะต้องพัฒนาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และประเทศไทยจะต้องกลายเป็นสังคมของผู้คนที่เป็นพลเมืองดิจิทัล เรายังขาดองค์กรที่เป็นการรวมตัวของผู้ประกอบธุรกิจดิจิทัลเพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนาธุรกิจดิจิทัล เป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่จะพัฒนาธุรกิจดิจิทัลร่วมกับภาครัฐ เหมือนกับการรวมตัวของผู้ประกอบการธุรกิจอื่นๆ การรวมตัวกันของผู้ประกอบการธุรกิจดิจิทัลจะมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยภาครัฐขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศตามแผนพัฒนาเทคโนโลยี และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยให้เป็นไปตามแนวคิดของการเป็นดิจิทัลไทยแลนด์ เรื่องนี้เป็นเรื่องด่วนที่ไม่อาจจะรอได้ เพราะจะทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสในการพัฒนา และจะทำให้ศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทยไม่ได้รับการเสริมสร้างอย่างที่ควรเป็น

องค์กรดังกล่าวนี้จะต้องทำหน้าที่จัดทำนโยบาย และแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ธุรกิจดิจิทัล เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและสังคมดิจิทัล เสนอการออกกฎหมายที่จำเป็นที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลในทุกมิติ เสนอนโยบายและทิศทางของการลงทุนของภาครัฐ กำจัดปัจจัยต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคและปัญหาของการพัฒนาดิจิทัล กำหนดกฎเกณฑ์ในการพิจารณาการร่วมลงทุนในการพัฒนาดิจิทัลระหว่างภาครัฐและเอกชน และสุดท้ายจะต้องเสนอแนวทางแก่รัฐบาลในการบริหารแผนยุทธศาสตร์ตามนโยบายที่ได้กำหนดไว้ ติดตามประเมินผล วิเคราะห์และเสนอแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงการทำงานของภาครัฐ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการเป็นประเทศไทย ดิจิทัลในบริบทของประเทศไทย 4.0 ที่ต้องการก้าวข้ามกับดักการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง

สถานะของสภาดังกล่าวนี้จะต้องเป็นองค์กรหลักของภาคเอกชนที่ร่วมมือกับรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศไทย ต้องมีทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ทรัพยากรมนุษย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัล ข้าราชการภาครัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีดิจิทัล และประชาชนของประเทศไทยมีวัฒนธรรมดิจิทัลที่เหมาะสม ทั้งการมีเทคโนโลยีดิจิทัลใช้ มีความสามารถในการใช้ และใช้อย่างเหมาะสม การขับเคลื่อนองคาพยพด้านดิจิทัลทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การส่งเสริมให้มีการนำนวัตกรรมดิจิทัลไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ การให้บริการประชาชน และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของประชาชนที่จะร่วมกันผลักดันประเทศไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน มีศักยภาพในการแข่งขันอย่างโดดเด่นในเวทีโลก

ปัจจุบันนี้หลายประเทศทั่วโลกได้มีการรวมพลังขององค์กรเอกชนด้านเทคโนโลยีในการปรับเปลี่ยนประเทศให้เป็นประเทศดิจิทัลอย่างแท้จริง บางประเทศก่อตั้งโดยรัฐบาลเป็นเจ้าภาพ บางประเทศเอกชนรวมตัวกันเองด้วยการสนับสนุนของรัฐบาล ในขณะที่หลายประเทศมีการจัดตั้งองค์กรที่เป็นการรวมตัวกันของเอกชนผู้ประกอบการธุรกิจดิจิทัลมาหลายปีแล้ว ประเทศไทยยังไม่มีองค์กรดังกล่าว ดังนั้นจึงต้องดำเนินการจัดตั้งให้มีองค์กรดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจดิจิทัลเอกชนกับหน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศไทย ให้เป็นประเทศดิจิทัลที่พัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เป็นเศรษฐกิจดิจิทัลและพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมดิจิทัล โดยที่สภาดังกล่าวนี้จะต้อง (1) ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลเหมือนอย่างที่เป็นอยู่ในหลายๆ ประเทศ (2) ต้องขับเคลื่อนโดยกลุ่มคนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัล และจะต้องเป็นบุคลากรในองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือ (3) จะต้องเป็นองค์กรที่มีเครือข่ายครอบคลุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยทั่วประเทศ โดยจะต้องมีส่วนช่วยพัฒนาทุกกลุ่มธุรกิจและทุกมิติของการดำเนินธุรกิจ และ (4) ทำงานร่วมกับองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อให้บรรลุประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดของการปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประเทศดิจิทัลทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ ที่มีการจัดตั้งองค์กรดังกล่าวมาแล้ว

การจัดตั้งสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย จะต้องมุ่งหวังให้องค์กรนี้เป็นศูนย์กลางและเป็นผู้นำในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล พัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัล เป็นแหล่งเรียนรู้ที่จะพัฒนาคนไทยให้เป็นผู้มีความสามารถในการใช้ดิจิทัลในระดับสูง สนับสนุน เสริมสร้างองค์กรต่างๆ ในประเทศไทยให้สามารถปรับเปลี่ยนเป็นองค์กรดิจิทัล การจะดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวข้างต้น สภาดิจิทัลฯ จะต้องมีบทบาทในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีความเชี่ยวชาญดิจิทัล ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนอื่นๆ ในการเสริมสร้างให้องค์กรต่างๆ ในประเทศไทยเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเป็นองค์กรดิจิทัลให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี ส่งเสริมและผลักดันให้เกิดธุรกิจต่างๆ ที่เป็นนวัตกรรมด้านดิจิทัล สนับสนุนรัฐบาลในการใช้ดิจิทัลเพื่อบริหารโครงการต่างๆ ของประเทศให้สำเร็จลุล่วงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ร่วมมือกับรัฐบาลรณรงค์ให้องค์กรต่างทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนประชาชนมีความเชื่อมั่นของการพัฒนาองค์กรและพัฒนาตนเองให้เป็นดิจิทัล ทั้งนี้รวมทั้งการเสนอแนะการออกกฎหมาย การยกเลิกกฎหมาย การแก้ไขกฎหมายด้านดิจิทัลให้เป็นการส่งเสริมการเป็นประเทศดิจิทัล กำจัดอุปสรรคต่างๆ ในการปรับเปลี่ยนองค์กรให้เป็นองค์กรดิจิทัล และการเป็นประชาชนดิจิทัลด้วยความมั่นใจด้านความปลอดภัยจากภัยคุกคามไซเบอร์ที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน

เมื่อมีสภาดิจิทัลฯ แล้ว คนไทยต้องมีความเชี่ยวชาญในการเป็นประชาชนดิจิทัล พนักงานของภาครัฐและภาคเอกชนต้องใช้ดิจิทัลด้วยความชำนาญ และสังคมไทยในทุกภาคส่วน ทุกพื้นที่ ทุกระดับสังคมและเศรษฐกิจสามารถใช้ประโยชน์จากการที่ประเทศไทยเป็นประเทศดิจิทัลได้อย่างทัดเทียมกัน ทั้งด้านการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตส่วนตัว ทั้งหมดนี้จะต้องเกิดขึ้นด้วยความร่วมมือขององค์กรเอกชนผู้ประกอบธุรกิจดิจิทัล และองค์กรภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นประเทศดิจิทัลด้วยเศรษฐกิจดิจิทัลและสังคมดิจิทัล

สภาดิจิทัลฯ ควรประกอบด้วยกรรมการดิจิทัล กระทรวงดิจิทัล สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อมีการก่อตั้งสภาดิจิทัลฯ แล้ว สภาธุรกิจอื่นๆ องค์กรธุรกิจอื่นๆ องค์กรภาครัฐ และประชาชนทุกพื้นที่ ทุกระดับ จะได้ประโยชน์จากการทำงานของสภานี้ สภาดิจิทัลฯ จะต้องมีกฎหมายรองรับ และทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ เป็นความร่วมมือที่ปราศจากความขัดแย้ง เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันให้กับประเทศไทย และทำให้ประเทศไทยหลุดออกจากกับดักของการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"