ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ก็ไม่ขออยู่


เพิ่มเพื่อน    

 ผู้ว่าฯ กกท.คนของใครไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงก็ไม่อยู่

                1 ตุลาคม 2561 คือวันเริ่มต้นการปฏิบัติหน้าที่วันแรกตามปีงบประมาณของข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐทั่วประเทศ โดยเฉพาะข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง ที่เลื่อนตำแหน่งหรือถูกแต่งตั้งโยกย้ายมาทำหน้าที่ใหม่ เช่นเดียวกับ ดร.ก้องศักดิ์ ยอดมณี-ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทยคนใหม่ ที่จะเริ่มงานผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ที่แวดวงกีฬาเรียกตำแหน่งนี้ว่า บิ๊กหัวหมาก อย่างเป็นทางการวันแรกในวันจันทร์ที่ 1 ต.ค.นี้

                การที่ ดร.ก้องศักดิ์ ผู้ว่าฯ กกท. คนที่ 13 ในวัย 45 ปี ได้รับเลือกและเห็นชอบให้เป็นผู้ว่าฯ กกท. จากกรรมการสรรหาผู้ว่าฯ กกท.และคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทยที่มีบิ๊กป้อม พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน แวดวงกีฬาต่างบอกว่า พลิกล็อก บางเสียงก็วิจารณ์กันว่า เขาที่เคยลงสมัคร ส.ส.กทม.ของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นคนของ คสช. ที่มีการล็อกเก้าอี้ไว้ให้ เสียงวิจารณ์ต่างๆ ก้องศักดิ์ บอกว่า ก่อนจะเข้าทำงานในวันที่ 1 ต.ค. ก็เจอใบปลิวก่อนจะเข้าทำงาน โดยยอมรับว่าการเข้าไปทำงานในฐานะคนนอกที่ไม่ได้เป็นลูกหม้อของ กกท.และไม่เคยอยู่ในสมาคมกีฬาอะไรมาก่อน ก็อาจต้องเจอคลื่นใต้น้ำในการทำงานบ้าง แต่ก็จะตั้งใจทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพื่อผลักดันสิ่งที่ต้องการเห็นในวงการกีฬาของประเทศไทย เช่น การตั้งโรงพยาบาลกีฬา เพื่อรักษานักกีฬาที่ได้รับบาดเจ็บ-การตั้งเนชั่นแนล สปอร์ตพาร์กรูปแบบใหม่ ที่บริเวณ ราชมังคลากีฬาสถาน หรือการให้มีอนุญาโตตุลาการศาลฎีกา เพื่อไว้แก้ปัญหาข้อพิพาทของคนในวงการกีฬา ทั้งหมดจะถูกผลักดันให้เกิดขึ้นในช่วงที่นั่งเป็นผู้ว่าฯ กกท.

เริ่มต้นการสนทนา เราถามถึงการได้เข้ามาเป็นผู้ว่าฯ กกท. ที่ถือเป็นผู้บริหารระดับสูงของวงการกีฬาประเทศไทย มีเสียงวิจารณ์ว่าเข้ามาแบบพลิกล็อก คนพูดกันว่าเป็นคนของ คสช. เป็นคนของพลเอกประวิตร คำถามนี้ ก้องศักดิ์-ผู้ว่าฯ กกท. ยอมรับว่า มันก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะมีข่าว เพราะผมเองก็ไม่ได้เป็นรองผู้ว่าฯ กกท. ไม่ได้มีตำแหน่งในวงการกีฬาอะไร เป็นคนนอกวงการ แต่สิ่งที่ผมวิเคราะห์ของผมเอง สิ่งที่คณะกรรมการสรรหาผู้ว่าฯ กกท.เห็นผม ก็คือความตั้งใจในด้านกีฬา มีความสุขกับกีฬา และอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง และผมเข้าใจว่าผู้ใหญ่ที่อยู่ในคณะกรรมการสรรหาฯ และในคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย ต่างอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้ผมได้เปรียบรองผู้ว่าฯ กกท.ทั้ง 3 คนที่มาสมัคร โดยทั้ง 3 ท่านผมก็ยอมรับว่าท่านมีความเก่ง ความเชี่ยวชาญในเรื่องที่ท่านทำ เรื่องกีฬา ท่านอาจรู้มากกว่าผม รู้ดีกว่าเยอะ แต่เรื่องอื่น เช่น เรื่องกฎหมาย การจัดการ การเงิน ซึ่งผมคิดว่าการที่ผมเป็นนักกฎหมายก็มีความสำคัญเหมือนกัน

เพราะปัจจุบันเรามีกฎหมายใหม่ๆ ด้านกีฬา เช่น พระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.2556 พระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ.2555 พ.ร.บ.กีฬาฯ ที่เพิ่งปรับปรุงใหม่ รวมถึง พ.ร.บ.มวย ที่กำลังแก้ไข มีเรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมายอยู่มาก ตลอดจนระเบียบข้อบังคับของกองทุนพัฒนากีฬา ก็ต้องมีการปรับปรุง ในฐานะเคยทำงานเกี่ยวกับกฎหมายมาก่อน เช่น สมัยทำงานอยู่ธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงตอนไปช่วยงานนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมัยเป็นผู้นำฝ่ายค้านฯ ที่สภาฯ ก็เป็นทักษะที่อาจทำให้กรรมการเห็นว่ามีความเหมาะสมในช่วงเวลานี้ ซึ่งหากเป็นช่วงอื่นอาจไม่เหมาะก็ได้ คือเป็นช่วงที่มีสิ่งใหม่ๆ อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง มีการออกกฎหมาย ระเบียบต่างๆ ที่ต้องมีการปรับเกณฑ์ใหม่ อันนี้เดาความคิดของกรรมการ ที่อาจเห็นในจุดนี้ แต่หากเป็นอีกสัก 3-4 ปีข้างหน้า ผมอาจไม่เหมาะก็ได้ อาจเป็นรองผู้ว่าฯ กกท.คนอื่นที่เหมาะจะมาเป็นผู้ว่าฯ กกท.ก็ได้

ถามย้ำว่า ที่เข้ามา ไม่ใช่คนของใคร ไม่ใช่คนที่มีใครส่งเข้าประกวดเพื่อให้มานั่งที่ กกท. ก้องศักดิ์ บุตรชายนายสุวิทย์ ยอดมณี อดีต รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ยุครัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์-คุณหญิงทรงสุดา ยอดมณี สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ บุตรตรีจอมพลถนอม กิตติขจร เล่าให้ฟังว่า เรื่องนี้ความจริงเลย คุณแม่ผม (คุณหญิงทรงสุดา ยอดมณี) เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แล้วใน สนช. บุคคลที่สำคัญในวงการกีฬาก็เป็น สนช. อย่างพลเอกวิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานกรรมการสรรหาผู้ว่าฯ กกท. ก็เป็น สนช. ก็รู้จักกับคุณแม่ผม วันที่ผมตัดสินใจสมัครเป็นผู้ว่าฯ กกท. คุณแม่ที่เป็นห่วงผมก็เฉยๆ ตอนที่ผมไปสมัคร ส่วนคุณพ่อผมไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าใด ทางคุณแม่ได้เอ่ยถามพลเอกวิชญ์ว่า ถามจริงๆ มีใครหรือยัง เขาวางตัวใครไว้หรือเปล่า ทางพลเอกวิชญ์ก็ตอบว่า ไม่มี คุณแม่ผมก็เลยบอกว่า หากไปสมัครก็เสียเวลา หากเขามีใครในใจแล้ว ทางพลเอกวิชญ์ก็ตอบว่า ไม่มี เพราะมีการตั้งกรรมการสรรหาฯ หากคิดว่ามีความพร้อม อยากทำงานก็มาสมัครเลย จากนั้นผมก็ไปสมัคร

พอสมัครเสร็จก็มีข่าวออกมาว่า ผู้ใหญ่จะเอาคนนี้ ไม่เอาคนนั้น แต่ไม่ใช่ผม ผมก็เลยคิดว่า แล้วเราจะเสียเวลาไปทำไม ตอนนั้นยังไม่ได้ไปแสดงวิสัยทัศน์กับกรรมการสรรหา ผมก็คุยกับเพื่อนๆ และคุณพ่อผมด้วย ว่าเราไม่ไปแสดงวิสัยทัศน์ดีกว่า ถอนตัวดีกว่าไหม

...คุณพ่อผม ที่ตอนแรกไม่ได้สนับสนุนให้สมัคร ก็บอกว่าต้องลองคิดดูให้ดี เพราะรู้ว่างานด้านการกีฬามีภารกิจให้น่าปวดหัวมาก และคนในวงการกีฬาก็มีคนอาวุโสที่อยู่กันมานาน ก็เกรงว่าผมจะทำงานไม่ได้อย่างที่ตั้งใจแล้วจะผิดหวัง แต่คุณพ่อผมบอกว่าไม่ควรถอนตัว อย่างน้อยก็ควรไปแสดงวิสัยทัศน์ให้กรรมการสรรหาได้เห็นว่าเราคิดอะไร อยากทำอะไร ก็เป็นประโยชน์แล้ว หากเขาไม่เลือกเรา เขาก็อาจให้เราไปช่วยงานด้านกีฬาอย่างอื่นก็ได้ เมื่อเขาเห็นว่าเราชอบกีฬาอยากทำเรื่องกีฬา ก็ไปแสดงวิสัยทัศน์ตามหัวข้อที่คิดไว้นานแล้ว ไปเล่าสิ่งที่ผมอยากทำให้กรรมการสรรหาฟัง

ก้องศักดิ์-ผู้ว่าฯ กกท. พูดถึงการเข้าไปเป็นผู้ว่าฯ กกท.ต่อจากนี้ว่า ไม่ได้หนักใจอะไร แต่กลับรู้สึกท้าทาย ตื่นเต้น แต่ก็มีคนหนักใจแทนผมเหมือนกัน มีใบปลิวอะไรต่างๆ (หัวเราะ) ซึ่งมันมีความจริง โดยที่ผมก็รู้ตั้งแต่วันแรกที่ไปยื่นใบสมัครแล้วว่ามันต้องเกิดขึ้น เพราะผมไม่ได้เป็นคนใน ก็อาจมีคนที่เขารู้สึกว่าผมไม่เหมาะสม ซึ่งเราก็ต้องยอมรับความคิดเขา คือด้วยผมที่อายุแค่นี้ (45 ปี) มันก็ง่ายมากที่จะพูดว่า ประสบการณ์ไม่มี เป็นคนนอกองค์กร ซึ่งผมก็รู้ตั้งแต่วันไปสมัครแล้ว เพราะผมก็อายุน้อยกว่าหลายคนที่ไปสมัคร อีกทั้งประสบการณ์ตรง อย่างเช่น การเป็นนายกสมาคมกีฬาต่างๆ เราก็ไม่เคยเป็น มันก็มีโอกาสทำให้คนมาบอกว่าผมไม่รู้เรื่อง ทำไม่ได้ แต่สิ่งนั้นกลับทำให้ผมไม่รู้สึกกดดัน เพราะเขาอาจไม่ได้คาดหวังอะไรเราเลย เพราะเขาคิดว่าผมไม่รู้เรื่อง ทำไม่ได้ มันก็เลยกลายเป็นว่า เขาคงไม่ได้มีความคาดหวังสูง มันเลยกลายเป็นว่า มันย้อนกลับ ทำให้ผมเลยไม่รู้สึกกดดัน

ผมก็อยากทำให้ดีที่สุด แล้วทำให้เขาเห็นเองว่าผมทำอะไรได้ ถ้าผมทำไม่ได้อย่างที่เขาว่ากัน ผมก็ไม่อยู่เหมือนกัน เพราะเราเข้าไปเพื่อทำให้มีการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเข้าไปแล้ว มันไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ทำอะไรไม่ได้เลย ผมก็คงไม่อยู่ ไม่มีความจำเป็นต้องอยู่ ไม่มีอะไรที่ต้องไปตอบแทนใคร และไม่ได้มีความเดือดร้อนว่า ไม่ได้ทำที่ กกท.แล้วจะไม่มีอะไรทำ เพราะก็ยังมีทางเลือกได้อีกหลายทาง แต่ที่อยากจะทำ เพราะว่ารักกีฬา เลยไม่กดดันอะไร

ก้องศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับงานเร่งด่วนต่อจากนี้หลังเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ เนื่องจากช่วงนี้จะมีการแข่งขันกีฬาสำคัญต่างๆ เช่น โมโตจีพีที่บุรีรัมย์ ช่วง 5-7 ต.ค., เอเชียนพาราเกมส์ 2018 ที่อินโดนีเซีย, ยูธโอลิมปิกเกมส์ 2018 หรือโอลิมปิกเยาวชนฤดูร้อน ที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา อันนี้คือภารกิจที่ผมต้องดูให้ดีที่สุดก่อน ไปดูแลนักกีฬาเรา ไปดูการจัดการแข่งขันโมโตจีพีให้เรียบร้อย ส่วนเอเชียนพาราเกมส์ ไปให้กำลังใจ สำหรับยูธโอลิมปิกเกมส์ ซึ่งในอนาคตจะร่วมกันกับโอลิมปิก ในการผลักดันให้เราเป็นเจ้าภาพยูธ โอลิมปิก ในปี 2026 ซึ่งก็ไม่ใช่งานง่าย เพราะก็มีประเทศคู่แข่ง

จากนั้นถึงจะได้มีเวลากลับมาดูแลบ้านคือ กกท. รวมถึงการร่วมทำงานกับสมาคมกีฬาต่างๆ รวมถึงเร่งแก้ไขระเบียบ กฎเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับกองทุนพัฒนาการกีฬาที่ตอนนี้ก็คงเคยได้ยินที่ทุกสมาคมกีฬา แข่งเสร็จไปนานแล้ว แต่เบี้ยเลี้ยงนักกีฬายังไม่ออก ซึ่งเรื่องนี้สมาคมกีฬาเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ ต้องการให้เราเข้าไปช่วยดู โดยก็จะทำให้ขั้นตอนการเบิกจ่ายต่างๆ ลดลง แต่ก็ต้องทำอย่างปลอดภัย เพราะเป็นเงินหลวง ทั้งหมดก็เป็นเรื่องที่ผมต้องเข้าไปทำเป็นเรื่องเร่งด่วน 

-จากการที่เป็นคนนอก พอเข้าไปทำงานใน กกท. จะเกิดปัญหาการทำงาน เช่น คลื่นใต้นำในองค์กร กกท.หรือไม่?

แน่นอน ก็ต้องมีแน่นอน มันไม่มีไม่ได้แน่ เพราะการเข้าไปโดยเป็นคนนอก และอายุยังน้อย มันต้องมีการต่อต้านแน่ แต่สิ่งที่ผมพยายามจะทำ ผมก็จะทำให้ดีที่สุด เพราะผมเข้าไป ไม่ใช่ว่าจะไปแย่งงาน หรือไปทำอะไรที่ไม่ดี เพราะการทำงานต้องมีความถูกต้อง ความโปร่งใสชัดเจน และต้องการไปทำงานร่วมกับทุกคนทุกฝ่าย อย่างรองผู้ว่าฯ กกท.ทั้ง 3 คนที่ได้เคยไปสมัครเป็นผู้ว่าฯ กกท.มาด้วยกัน เมื่อเข้าไปทำงานแล้วผมก็จะไปเข้าพบ เพราะท่านเป็นผู้ใหญ่กว่า ไปเพื่อขอคำปรึกษาและขอให้ทำงานร่วมกัน รวมถึงก็จะไปพบฝ่ายต่างๆ ใน กกท. ไปนั่งกินกาแฟโต๊ะเล็กๆ เพื่อคุยกัน เพื่อให้เขาเข้าใจว่าผมมาเพื่ออะไร มาเพื่อทำงานกับทุกคน แล้วประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นก็จะตกกับพนักงาน ลูกจ้างทุกคน เช่น ผมอยากจะยกระดับ กกท.ให้เป็นรัฐวิสาหกิจชั้นนำของประเทศ โดยให้ กกท.ไปร่วมกิจกรรมต่างๆ ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ต้องไปประกวด ไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กร เพื่อทำให้คนภายนอกเห็นว่า กกท.มีการปรับตัวอย่างไร อันจะทำให้การขอปรับเงินเดือน การเพิ่มอัตรากำลังก็จะทำได้ง่าย

หาก กกท.เราไม่ทำอะไรเลย คนภายนอกองค์กรก็จะไม่เข้าใจงานของเรา เพราะอย่างปัจจุบัน กกท.ก็ต้องดูแลกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ปีละร่วม 4 พันล้านบาท ภารกิจงานต่างๆ ก็เพิ่มขึ้น โครงสร้างการทำงานขยาย เรื่องพวกนี้เราต้องอธิบายให้คนภายนอกเข้าใจ สิ่งที่ผมจะทำเหล่านี้ ก็จะพยายามอธิบายให้พนักงานเข้าใจว่าสิ่งที่ผมจะทำ เพื่อยกระดับ กกท.ขึ้นมา จะมีประโยชน์ต่อตัวพนักงานเองทั้งเรื่องสวัสดิการ ค่าตอบแทน

ถามย้อนกลับไปว่า ก่อนหน้านี้ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่สนใจเรื่องกีฬา มององค์กรอย่าง กกท.ที่รับผิดชอบการกีฬาของประเทศไทยอย่างไรบ้าง ก้องศักดิ์-ผู้ว่าฯ กกท.ป้ายแดง พูดแบบไม่อ้อมค้อมว่า ก็มองว่าเป็นองค์กรการกีฬา เป็นหน่วยงานสำคัญในการพัฒนากีฬาของประเทศไทยเช่นเดียวกับโอลิมปิก และผมเห็นความพยายามเขาในสิ่งที่เขาทำอยู่ เช่น โครงการปั้นนักกีฬา แต่โดยรวมมองว่ายังเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจที่ยังไม่โดดเด่นเท่าไหร่ คือหากพูดถึงการกีฬา เราจะนึกถึงรัฐวิสาหกิจที่ธรรมดามาก อยากให้มีบทบาทสำคัญกว่านี้ เพราะกีฬาเป็นเรื่องสำคัญมาก

ผมคิดว่าบทบาทของกีฬา ถ้าเทียบกับรัฐวิสาหกิจชั้นนำ เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือองค์กรของรัฐอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย คนจะรู้สึกว่าองค์กรเหล่านี้มีบทบาทสำคัญ ผมก็อยากให้ กกท.เป็นแบบนั้น คือคนนึกถึงในลักษณะเดียวกัน ไม่ใช่มองว่าเป็นรัฐวิสาหกิจธรรมดาที่ทำงานไปวันๆ แต่ต้องเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีความก้าวหน้า ทำงานเชิงรุกมากกว่านี้

ก่อนที่จะไปสมัครเป็นผู้ว่าฯ กกท. ก็เคยคุยกับพี่ๆ ที่เคยเป็นอดีตพนักงานของ กกท. ที่การทำงานก็จะทำคล้ายๆ กับราชการ คือทำอะไรที่เป็นรูทีน ไม่ได้มีอะไรที่หวือหวาเท่าไหร่ แต่ผมอยากเห็นภาพของ กกท.ที่หวือหวาเป็นผู้นำมากกว่านี้ ความรู้สึกของเราก็คือ ยังไม่มีอะไรที่โดดเด่นน่าสนใจ

เราถามว่า ก็คือมอง กกท.ดูแล้วไม่ได้เป็นเชิงบวกมาก ก้องศักดิ์ ตอบว่า ถ้าพูดก็คือเขาก็ทำเหมือนกับข้าราชการประจำที่คอยดูแลนักกีฬา คอยคุยกับสมาคมกีฬาต่างๆ และสิ่งที่อาจจะเป็นเชิงลบหน่อย ซึ่งผมก็ยังไม่ได้เข้าไปดูจริงๆ ว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้างก็คือ การที่เราเบิกจ่ายให้สมาคมกีฬาต่างๆ ค่อนข้างช้า ที่เป็นความรู้สึกของสมาคมกีฬาฯ ส่วนใหญ่ที่รู้สึกว่า ทำไม กกท.ไม่ช่วยเร่งรัดในการเบิกเบี้ยเลี้ยงนักกีฬา เบิกจ่ายเงินให้กับสมาคมกีฬาต่างๆ ซึ่งหากไปถาม กกท. เขาจะตอบว่า มันเป็นเงินของรัฐ เราต้องมีความละเอียดรอบคอบ ต้องมีขั้นตอนต่างๆ มันก็เหมือนแต่ละฝ่ายต่างก็มีเหตุผล เรื่องนี้ก็เป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่ผมต้องเข้าไปแก้ไขโดยเร็ว

ส่วนสาเหตุที่มาสมัครเป็นผู้ว่าฯ กกท. เพราะก่อนหน้านี้เคยเป็นที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. ทั้งสมัยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน และ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่ตอนนั้นรับผิดชอบงานด้านกีฬาของกรุงเทพมหานคร เพราะผู้ใหญ่ทั้ง 2 ท่านรู้ว่าผมชอบกีฬา เล่นกีฬาตั้งแต่เด็ก ก็ลาออกไปเพื่อไปเรียนให้จบปริญญาเอกด้านการจัดการกีฬา ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พอเรียนจบก็ไปเป็นที่ปรึกษาสมาคมจัดการกีฬา ทำให้รู้เรื่องกีฬามากขึ้น พอมีการเปิดรับสมัครผู้ว่าฯ กกท.คนใหม่ ก็มีคนยุให้ไปสมัคร

-คิดว่ามีอะไรเป็นจุดแข็งจุดเด่นถึงไปยื่นสมัคร?

เพราะเราอยู่นอกวงการ ส่วนตัวก็อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในการผลักดันนโยบายด้านการกีฬา และตัวผมเองไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับสมาคมกีฬาใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีส่วนได้เสียกับโครงการต่างๆ ที่ กกท.ทำอยู่ ผมจึงเป็นคนนอกร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงสามารถนำสิ่งใหม่ๆ ประสบการณ์ที่ผมอยู่ข้างนอก เช่น ประสบการณ์สมัยทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยที่ทำอยู่ร่วม 10 ปี ทำเรื่อง Banking การเงินการคลัง ทำเรื่องกฎหมาย แล้วก็มีประสบการณ์เคยทำงานทั้งที่กรุงเทพมหานคร, กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ, กระทรวงการคลัง, สำนักนายกรัฐมนตรี จึงทำให้มีประสบการณ์ด้านการบริหาร ผนวกกับมีใจรักกีฬาตั้งแต่เด็ก เพราะแม้จะเรียนกฎหมายมา แต่เวลาทำเรื่องกฎหมายไม่ได้รู้สึกสนุกตื่นเต้น เพราะพอทำไปสัก 7-8 ชั่วโมง ก็ล้าเหนื่อย แต่ผมชอบที่จะไปอยู่กับกีฬา ไปเล่นกีฬา และอยู่ได้ทั้งวันไม่เคยเบื่อ ตอนเด็กผมก็เล่นกีฬาทุกอย่าง เช่น เล่นปิงปอง ตอนเด็กก็ไปแข่งของกรมพลศึกษา แต่ไม่เก่งสักอย่าง (หัวเราะ)

-ตอนสมัครมีคนใน กกท.ที่เป็นรองผู้ว่าฯ กกท. 3 คนก็ไปสมัครด้วย แต่คุณไปสมัครในฐานะคนนอก?

เพราะเราชอบกีฬา ติดตามข่าวการแข่งขันกีฬาทุกวัน ติดตามผลงานนักกีฬาไทยและต่างประเทศ รวมถึงผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับวงการกีฬาว่าใครทำอะไรบ้าง จึงเข้าใจเรื่องเกี่ยวกับการกีฬาพอสมควร เพียงแต่ตอนนั้นยังไม่มีโอกาสได้เข้าไปทำงาน แต่ก็อยากจะทำ ก็เข้าใจในสิ่งที่รองผู้ว่าฯ กกท.ที่ไปสมัคร ซึ่งมีด้วยกัน 3 คน มีแต่ผมไม่มี เช่น การรู้ระบบงานภายในของ กกท., การคุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่ พนักงานของ กกท. แต่สิ่งที่ผมมี แล้วรองผู้ว่าฯ ทั้ง 3 คนที่มาสมัครอาจจะมีไม่เท่าผมในบางเรื่อง เช่น การเงิน บัญชี การบริหาร

ผมคิดว่าทักษะเหล่านี้สามารถนำมาใช้ในการบริหารองค์กรอะไรก็ได้ เราไม่จำเป็นต้องจบพลศึกษาเพื่อจะมาบริหารการกีฬา เพราะมันคนละทักษะ แล้วผมก็มีแผนงานแล้วว่าต่อไปคนการกีฬาฯ จะต้องรู้รอบตัว รู้มากกว่าพลศึกษา วิทยาศาสตร์การกีฬา เพราะไม่อย่างนั้นเราจะไม่สามารถไปสื่อสารกับหน่วยงานอื่นได้ดีเท่าที่ควร อย่างเช่น สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง เราก็ยังไม่สามารถสื่อสารกับเขาได้เท่าที่ควร เขาก็ยังไม่เข้าใจเรา เราก็ยังไม่สามารถไปโต้แย้งในเรื่องงบประมาณกับเขาได้อย่างที่เขาอยากเห็น ก็อยากจะเติมความรู้ ทักษะต่างๆ เช่น การจัดโครงการอบรมต่างๆ ให้กับเจ้าหน้าที่ของ กกท.เพื่อให้คนขององค์กรมีคุณภาพ ไม่ใช่เก่งแค่เรื่องกีฬา แต่ต้องรู้เรื่องการจัดการ การเงิน กฎหมายด้วย

ถามถึงกรณีเป็นผู้ว่าฯ กกท.ที่อายุยังไม่มาก แต่ต้องไปทำงานร่วมกับสมาคมกีฬาต่างๆ ที่มักจะมีบิ๊กๆ วงการต่างๆ โดยเฉพาะวงการทหาร ตำรวจ นักการเมือง มานั่งอยู่ในสมาคมกีฬาต่างๆ จะไปประสาน ไปดีลกับคนเหล่านี้อย่างไร ก้องศักดิ์ เผยว่า ผู้ใหญ่ที่อยู่ในวงการกีฬา ผมก็เคารพและรู้จักหลายคน ที่คุ้นเคยจริงๆ ก็มี คิดว่าการทำงานกับผู้ใหญ่ ผมทำมาตลอดชีวิตอยู่แล้ว ก็จะรับฟังคำแนะนำ ขอคำปรึกษา ที่ปัจจุบันผมก็ทำอยู่ ก็ไปรับฟังแลกเปลี่ยนความเห็น ก็จะพูดตรงไปตรงมา เพราะผู้ใหญ่ที่จะเป็นผู้บังคับบัญชาในอนาคตของผม อย่างพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ที่เป็นประธานบอร์ดการกีฬาแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยด้วย ท่านก็ให้โอวาทผมว่า ให้ทำงานถูกต้อง ถูกหลักการ เป็นตัวของตัวเอง หากใครสั่งอะไรที่เห็นว่าไม่ถูกต้อง ก็อย่าไปสนใจ ถ้าคิดว่าไม่ถูกต้อง ก็ไม่ต้องไปฟัง แต่ในอนาคต การทำงานก็อาจมีปัญหาบ้าง แต่ก็ต้องไปทำความเข้าใจกับผู้ใหญ่หลายคน

สำหรับการทำงานต่อจากนี้ “ก้องศักดิ์” กางแผนงานที่จะเริ่มทำในฐานะบิ๊กวงการกีฬาของไทยว่า ลักษณะการทำงานจะเน้นการทำงานแบบคณะทำงาน ทำงานเป็นทีม เพราะคงไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ โดยจะเน้นการผลักดันนโยบายต่างๆ ที่ได้นำเสนอไว้ตอนแสดงวิสัยทัศน์ เช่นเรื่องการทำ โรงพยาบาลกีฬา ที่จะมีการศึกษาแนวทางความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมี รพ.กีฬาเกิดขึ้น โดยให้สังกัด กกท. โดยจะศึกษาข้อดี-ข้อเสีย และหากจะจัดตั้งจะดำเนินการอย่างไร

หากการตั้ง รพ.กีฬาดังกล่าว เป็นไปไม่ได้ เพราะมีข้อเสียมากกว่าข้อดี ไม่สามารถตั้งได้ แล้วจะทำอย่างไรให้นักกีฬาได้มีหลักประกันว่า ได้สร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติ รัฐจะดูแลสวัสดิการ การรักษาพยาบาลอย่างไร การผ่าตัด จะทำอย่างไรเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้นักกีฬา หรือจะใช้แนวทางการตั้งศูนย์การแพทย์ หรือการไปร่วมมือกับ รพ.ของรัฐที่มีความพร้อมมากกว่ามาช่วยสนับสนุน คณะทำงานที่จะตั้งขึ้นเพื่อศึกษาเรื่องนี้ก็ต้องไปศึกษาและสรุปแนวทางต่างๆ ออกมา รวมถึงงบประมาณ เช่น การจัดหาทุน

ดันบิ๊กโปรเจ็กต์  เนชั่นแนล สปอร์ตปาร์ก

ผู้ว่าฯ กกท. กล่าวถึงนโยบายที่จะผลักดันให้เกิดผลสำเร็จว่า จะมีการตั้งคณะทำงานมาศึกษาเรื่อง การตั้งเนชั่นแนล สปอร์ตปาร์ก ผมจะแปลงโฉมราชมังคลากีฬาสถานและหัวหมาก เราจะมีรถไฟฟ้าขึ้นตรงด้านหน้า และจะขอขัดใจคนใช้รถ โดยจะปิดพื้นที่เป็นที่ให้คนเดินทำเป็นสวน แล้วใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์ต่อการกีฬาให้มากที่สุด เพราะสไตล์อาคารอเนกประสงค์มันล้าสมัยแล้ว คืออาจใช้ได้เมื่อยี่สิบปีที่แล้ว แต่ตอนนี้แต่ละประเทศเขาจะมีสนามเฉพาะ อย่างปีที่แล้วที่เราจัดการแข่งขันแบดมินตันโธมัส-อูเบอร์คัพ 2018 เขามาดูอาคารอเนกประสงค์ อินดอร์สเตเดียมหัวหมาก แต่สุดท้ายก็ต้องไปใช้ที่เมืองทองธานี เพราะมันได้มาตรฐานระดับโลกในการแข่งขันแบดมินตัน

 เราจะทำแบบเดิมที่ให้ทุกอย่างมาอยู่ในที่เดียวกันไม่ได้ ต้องสร้างให้มีความเฉพาะตัว โดยก็จะตั้งกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งมาออกแบบบริเวณดังกล่าวใหม่ โดยนำสถาปนิก นักจัดผังเมือง นักกฎหมาย  นักกีฬา มาร่วมกันพิจารณาว่าในพื้นที่จำกัดบริเวณดังกล่าวควรต้องมีอะไรบ้าง แต่อย่างน้อยต้องมี สปอร์ตมอลที่มีร้านอาหารดีๆ มีร้านค้าขายเครื่องกีฬา เราจะให้มีสิ่งดีๆ ตรงนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ ดนตรี ศิลปะ กีฬา มีร้านต่างๆ ครบถ้วน มีโรงเรียนสอนกีฬา โดยสปอร์ตปาร์กจะเป็นหัวใจสำคัญ โดยให้แต่ละสมาคมกีฬามีกิจกรรมของตัวเองในสปอร์ตปาร์กแวะเวียนกันไปทุกสัปดาห์ เช่น สัปดาห์นี้เป็นเรื่องฟุตบอล ก็ให้มีกิจกรรมเช่น คลินิกฟุตบอล สัปดาห์ถัดไปเป็นเรื่องกีฬาแบดมินตัน  แบบนี้ก็เวียนกันไป คือนำพื้นที่มาใช้ในเรื่องกีฬาให้คุ้ม ที่หากนึกภาพก็อย่างที่สิงคโปร์ที่มีเนชั่นแนล  สปอร์ตฮับ คือตอนนี้เรามีห้องสมุดกีฬา มีพิพิธภัณฑ์กีฬา แต่คนยังไปใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่าเท่าที่ควร  เพราะคนไปสนามราชมังคลาฯ ก็ไปเพื่อไปดูฟุตบอลหรือไปออกกำลังกาย โดยเราจะทำให้พื้นที่ตรงนั้นเป็นจุดที่ทำให้คนนึกถึงสปอร์ตปาร์ก คนจะได้ไม่ต้องไปเดินห้างช็อปปิ้ง โดยมีการแจ้งข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนติดตามได้ทางเว็บไซต์ว่าแต่ละวันมีเรียนกีฬาอะไร หรือมีคอนเสิร์ตอะไร ประชาชนก็จะมาใช้ชีวิตอยู่ตรงนั้น

                และสิ่งที่ผมคิดว่าจะต้องสร้าง และหากทำไม่ได้ก็จะพิจารณาตัวเองก่อนเลย แต่อันนี้ไม่ได้อยู่ที่ผมคนเดียวแต่อยู่ที่หลายๆ ฝ่าย ก็คือวันกีฬาแห่งชาติ วันที่ 16 ธันวาคมของทุกปีที่กำเนิดมาจากพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ท่านทรงได้เหรียญทองซีเกมส์เรือใบ ตอนนี้เรือใบอยู่ที่พิพิธภัณท์ แต่ผมอยากทำเรือใบใหญ่เลย เป็นอนุสาวรีย์ของพระเจ้าอยู่หัว ท่าทรงเรือใบ จำลองจากภาพถ่าย เป็นอนุสาวรีย์ที่หัวหมาก และทำเป็นน้ำล้อมรอบ เป็นจุดเด่นที่ทุกคนมาก็ต้องมาถ่ายรูปที่นี่

ผมอยากให้เยาวชนทุกคนมีแรงบันดาลใจในการเล่นกีฬา นอกจากนี้สปอร์ตฮีโร่ของเราไม่ว่าจะเป็น โผน กิ่งเพชร ในสวนสปอร์ตปาร์ก เราก็จะทำเป็นรูปปั้นไปไว้โดยเขียนประวัติเอาไว้ ประชาชนก็ไปถ่ายรูปได้ในฐานะเป็นฮีโร่ มันก็จะกระตุ้นความรู้สึกให้อยากเล่นกีฬา อยากเป็นนักกีฬาให้กับเด็กๆ คณะทำงานที่จะมาศึกษาเรื่องการทำเนชั่นแนล สปอร์ตปาร์ก ต้องเป็นคณะทำงานระดับชาติ เป็นโครงการของรัฐบาล เพราะต้องใช้งบประมาณในการรีโนเวตราชมังคลากีฬาสถาน ต้องเป็นดิจิทัลสเตเดียม ต้องเป็นชั้นนำ ปัจจุบันสิงคโปร์, มาเลเซียดีกว่าเรา สนามเสนายันที่อินโดนีเซียตอนนี้รีโนเวตแล้วดีกว่าของไทย  ส่วนเวียดนามก็แซงหน้าเรา ไทยเราอยู่อันดับห้า

วิสัยทัศน์ของผมที่บอกไทยเราจะไทยแลนด์ สปอร์ตเนชั่น จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไทยยังตามหลัง 4-5 ป ระเทศนี้ นี่แค่นับในอาเซียน ไม่ได้นับรวมในทวีปเอเชีย ของไทยเรายังอยู่อันดับกลางๆ แล้วไม่รู้ว่าปีหน้าเราจะลงไปตามหลังใครอีก ที่ผมบอกตอนแสดงวิสัยทัศน์ว่าอยากให้ไทยเป็นประเทศแห่งกีฬา และเป็นศูนย์กลางของกีฬาในอาเซียน มันจะเป็นไปไม่ได้ถ้าไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกและไม่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านกีฬา แต่ถ้าเรามีกิจกรรมกีฬาต่างๆ มีโครงสร้างพื้นฐานด้านกีฬา ผมว่าสิ่งต่างๆ  มันจะดีขึ้น และเราจะไม่ได้ทำแค่ในกรุงเทพฯ แต่เราจะทำในทุกภาคเช่นที่เชียงใหม่ เรามีสนามกีฬา  700 ปี เราก็จะทำแบบนี้ทำเนชั่นแนล สปอร์ตปาร์กที่นั่นเช่นเดียวกันกับที่ภาคใต้ อีสานก็ต้องมี ให้มีเป็นเซ็นเตอร์

                ส่วนเรื่อง เมืองกีฬา Sport City เรื่องนี้ผมยังไม่ได้คุยกับผู้บริหารระดับสูงว่าเขาจะทำอย่างไรต่อ  ยังไม่ได้ทราบนโยบายจากผู้ใหญ่ แต่โดยส่วนตัวไม่ค่อยเห็นด้วยในการทำเมืองกีฬา หากผู้ใหญ่ถามผม  ผมก็จะบอกว่าไม่อยากให้มีการประกวดรางวัลแบบนี้ พอประกวดเสร็จก็ไม่รู้ว่าแล้วจะทำอะไรต่อ คือผมคิดว่าเมืองทุกเมืองต้องเป็นสปอร์ตซิตี ไม่ใช่ว่าเมืองนี้เป็นสปอร์ตซิตี เช่น กระบี่เป็น แล้วทำไมภูเก็ต ไม่ได้เป็น ทั้งที่ก็มีกิจกรรมกีฬาเยอะ ผมอยากให้มีความโดดเด่นของแต่ละเมืองให้ชัดเจน ให้ทุกเมืองเป็นสปอร์ตซิตีให้ได้ เพื่อต่อไปก็จะเกิดความรู้สึกว่าก็ไม่ได้น้อยหน้าด้านกีฬา ก็มีสิ่งดีๆ 

 เรื่องสปอร์ตซิตี ผมก็พูดตอนแสดงวิสัยทัศน์ว่าผมไม่เห็นด้วย คืออาจไม่เห็นด้วยทางความคิดได้  แต่หากผู้ใหญ่อธิบายว่ามีแนวทางอย่างไร ผมก็อาจจะคล้อยตามก็ได้ ถ้าเห็นว่ามีเจตนาอย่างไร แต่ตอนนี้ผมยังไม่เห็นเพราะยังอยู่ข้างนอก ก็เห็นมีการมอบรางวัลกัน แล้วก็ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมต่อ ก็อยากให้เป็นรูปธรรมโดยไม่ต้องมีการมอบรางวัลกัน แต่หากจะมีการมอบก็ไม่ขัดข้อง แต่ไม่ใช่เรื่องที่ผมจะไปผลักดัน เพราะอยากผลักดันเรื่องกิจกรรมมากกว่า เช่นการนำกีฬาลงไปในภูมิภาคให้มากที่สุด การทำศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาให้ทั่วถึง ซึ่งเรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬาผมจะเน้นมากที่สุด โดยจะให้ลงไปถึงระดับประถม มัธยม มีการออกแบบหลักสูตรขึ้นมาตั้งแต่ระดับประถม ปลูกฝังตั้งแต่เด็ก เช่นควรออกกำลังกายแบบไหน ซึ่งเรื่องนี้ต้องใช้ความร่วมมือหลายฝ่าย ก็เป็นงานที่หนักและท้าทาย.

.........................................

มาเฟียวงการกีฬา อาจจะลดน้อยลง

ก้องศักดิ์-ผู้ว่าฯ กกท.คนใหม่ ในฐานะผู้บริหารระดับสูงของวงการกีฬาไทย กล่าวหลังเราถามถึงผลการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ อันดับเหรียญทองไทยลดลง ฟุตบอลไทยตกรอบแรก หลายฝ่ายเป็นห่วงว่ากีฬาของประเทศไทยกำลังย่ำอยู่กับที่ จะถูกเพื่อนบ้านแซงหน้า โดยให้ความเห็นว่า เอเชียนเกมส์ที่ผ่านไปมีกีฬาหลายประเภทที่ไทยเราทำได้ดีขึ้น อย่างกีฬาร่มบินที่ได้สองเหรียญทอง ก็เป็นกีฬาใหม่ที่คนไทยมีความสามารถทำผลงานได้ดี หรือวอลเลย์บอลหญิงที่ไทยได้เหรียญเงิน เมื่อนักกีฬาทำได้ดี ทำเต็มที่ เราเห็นความพยายาม การได้เหรียญเงินหรือเหรียญทองแดงก็เป็นฮีโร่ได้ เราอาจได้เหรียญทองน้อย แต่หากดูจำนวนเหรียญที่ได้ ไทยได้เหรียญเงิน เหรียญทองแดงเยอะ แสดงว่าเรายังมีศักยภาพที่จะแข่งกับประเทศอื่นได้อยู่ เราอาจจะตกไปบ้างในบางประเภทกีฬาที่ผลงานตกลง แต่หลายประเภทกีฬาเราก็เกือบจะสู้ได้ ก็ต้องมาสนับสนุนเพิ่มเติมในเรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬา

“จะบอกว่ากีฬาเราดีขึ้น ผลออกมาแบบนี้ใครไปพูดแบบนี้ก็บ้าแล้ว ไม่ต้องถามผมก็ได้ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่เป็นแฟนกีฬาไทยอยู่แล้ว ผมเห็นแบบนี้ผมก็ต้องผิดหวังกับผลการแข่งขัน แต่ว่าถ้าไปดูวิเคราะห์แต่ละประเภทกีฬา หลายประเภทกีฬาถ้าเราสนับสนุนส่งเสริมอีกบางส่วนมันก็จะไปได้มากขึ้น หากเราอยู่กับที่ไม่ได้พัฒนามาก แล้วคนอื่นเขาพัฒนาเร็วกว่าเรา เราก็โดนแซง  ถึงต้องใช้วิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาช่วยให้มากที่สุด" ผู้ว่าฯ กกท.ยืนยัน 

-มองปัญหาความขัดแย้งของนักกีฬาทีมชาติกับผู้บริหารสมาคมต้นสังกัดอย่างไร เพราะที่ผ่านมามีความไม่ลงรอยกันจนนักกีฬาบอยคอตเลิกเล่นทีมชาติไปเลยก็มี

เห็นที่เอเชียนเกมส์ที่เพิ่งจบไปที่อินโดนีเซีย ที่เป็นปัญหาระหว่างนักดาบไทยกับสมาคมฟันดาบฯ  เรื่องแบบนี้จริงๆ กกท.ต้องดูแลทั้งสมาคมและนักกีฬาด้วย คนที่เป็นตัวกลางที่ดีที่สุดก็คือ กกท. ปัจจุบันปัญหาต่างๆ มันก็มาที่ กกท.เยอะ โดยกลไกต่างๆ เรายังไม่มีรองรับ พอเกิดเรื่องเช่นกรณียิงปืน  ที่ก็มีปัญหาจนเรื่องไปค้างที่ศาล มันก็คาราคาซังไม่จบเสียที จนความรู้สึกไม่ดีต่อกันก็เกิดขึ้นมากเรื่อยๆ

ก้องศักดิ์ ย้ำว่า สิ่งที่ผมก็อยากจะเร่งแต่อาจทำไม่ได้ทันที ในหนึ่งถึงสองปีข้างหน้านี้ แต่จะทำทันที ก็คือการตั้ง อนุญาโตตุลาการศาลกีฬา เป็นองค์กรอิสระที่ไม่ได้ขึ้นกับ กกท. ทำหน้าที่ในการไกล่เกลี่ย หาจุดลงตัวในปัญหาความขัดแย้งของวงการกีฬา จะเป็นองค์กรที่ประสานรอยร้าว จัดการปัญหาของนักกีฬากับสมาคมกีฬา โดยก็จะเร่งผลักดันให้เร็วที่สุด จะมีการขอความร่วมมือกับศาลกีฬาโลกซีเอเอส (CAS) และจะให้มีการจัดสัมมนาเรื่องนี้ในประเทศไทยเพื่อให้ได้ถึงประโยชน์ของการมีศาลกีฬา และร่วมมือกับหน่วยงานยุติธรรม เช่น อนุญาโตตุลาการของศาลยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ตอนนี้ก็เริ่มคุยกับสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อสร้างนักกฎหมายกีฬาขึ้นมา โดยตอนนี้ได้คุยกับคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ในเรื่องนี้แล้ว ซึ่งคณบดีก็สนใจ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ ทว่าในต่างประเทศมีการสอนเรื่องนี้กันแล้ว โดยการดำเนินการต้องมีความพร้อมโดยเฉพาะบุคลากรที่จะมาเป็นอนุญาโตตุลาการได้ เรามีพอสมควรแล้ว แต่เรายังขาดนักกฎหมายด้านกีฬา

                “เราต้องมีกฎหมายให้อนุญาโตตุลาการศาลกีฬาเป็นองค์กรเอกเทศไม่ฟังคำสั่งใคร เหมือนกับที่ศาลกีฬาโลกแยกตัวออกจากโอลิมปิก คือถ้าหน่วยงานนี้อยู่กับการกีฬาฯ ก็จะไม่ได้รับการยอมรับ หากมาตัดสินกรณีที่สมาคมกีฬา เกิดมาร้องเรียนการกีฬาฯ เราจึงต้องมีกฎหมายเฉพาะให้เป็นองค์กรที่มีความเป็นเอกเทศ ไม่ให้ขึ้นกับการกีฬาฯ และเมื่อมีคำตัดสินออกมา ทางการกีฬาฯ ก็ต้องยอมรับเช่นเดียวกับโอลิมปิกก็ต้องยอมรับ ต่อไปนี้คำว่ามาเฟียวงการกีฬาอาจจะลดน้อยลง

 ถ้าเรามีสถาบันแห่งนี้ที่มีความแข็งแกร่ง เราต้องสร้างให้องค์กรนี้มีความน่าเชื่อถือคล้ายๆ กับสถาบันในวงการศาล แต่จะไม่ใช่องค์กรศาล เพราะจะไม่มีอำนาจไปทำเรื่องคดีอาญา คดีแพ่ง แต่จะมาพิจารณาเช่นเรื่องค่าปรับ การแบนการแข่งขันจากการโด๊ป

-ที่บอกว่ามาเฟียวงการกีฬาหมายถึง?

ผมไม่ได้หมายถึงใครโดยเฉพาะ แต่หมายถึงผู้มีอิทธิพลที่เดิมเราเคยเห็นว่า คนนั้นคนนี้พูดแล้วต้องเกรงใจ แต่ต่อไปก็ต้องไปตัดสินไปว่ากันในอนุญาโตตุลาการ คือไม่ได้มาใช้ความเกรงใจหรือเหตุผลอย่างอื่นในการไปกดดันอะไร แต่ผมไม่ได้หมายถึงใครคนใดคนหนึ่ง อันนี้ยกตัวอย่างมาลอยๆ ว่าจะเข้าไปแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ให้ทุกคนสบายใจ

-ปัจจุบันวงการกีฬากำลังกลายเป็นอุตสาหกรรมการกีฬา ในยุคเป็นผู้ว่าฯ กกท.จะมีแนวนโยบายอย่างไรทำให้วงการกีฬากลายเป็นธุรกิจ มีการสร้างรายได้เม็ดเงิน?

อุตสาหกรรมกีฬาไม่ใช่แค่ขายเครื่องกีฬา ไม่ใช่แค่การทำมาร์เก็ตติงอย่างเดียว จริงๆ อุตสาหกรรมกีฬาใหญ่มาก และเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวจนแยกกันแทบไม่ออก ผมสนับสนุนการทำกีฬาขนาดใหญ่ระดับนานาชาติ อย่างกรณีที่บุรีรัมย์จัดการแข่งขันบุรีรัมย์มาราธอน ที่มีความตั้งใจดีมากในการยกระดับการวิ่งมาราธอนให้เป็นมาราธอนนานาชาติ ที่จะมีการแบ่งออกเป็น bronze-silver-gold สิ่งนี้คือตัวอย่างอุตสาหกรรมกีฬาที่จะสร้างรายได้ ที่ผมก็อยากสนับสนุนการจัดมาราธอนที่เป็นที่ยอมรับในระดับโลก  ทางผู้จัดการแข่งขันบุรีรัมย์มาราธอนก็บอกว่าเขาก็ตั้งใจเช่นเดียวกัน เราก็มาจะมาร่วมกันทำงาน เพราะอย่างที่บางแสนตอนนี้ก็ได้บรอนซ์แล้ว ก็ต้องไปช่วยในการทำให้มีผลทางเศรษฐกิจมากขึ้น

อย่างการจัดการแข่งขันโมโตจีพีก็สร้างรายได้เข้ามามหาศาล ตอนนี้กำลังจะให้ทำข้อมูลว่า ปีแรกที่จะมีการจัดแข่งขันดังกล่าวในไทย จะสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคมอย่างไรบ้าง มีตัวเลขเท่าไหร่  รัฐสามารถหารายได้จากการเก็บภาษีอย่างไร ที่สามารถตรวจสอบได้ ก็จะมีการส่งเสริมให้เป็นอุตสาหกรรมกีฬา โดยร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเพื่อทำให้เกิดเป็น Sport Tourism และจะมีนโยบายชักชวนสหพันธ์กีฬาระดับชาติต่างๆ ให้เข้ามาเปิดออฟฟิศในไทยให้มากขึ้น ให้ไทยเป็นฮับ โดยเขาก็จะได้สิทธิประโยชน์พิเศษบางอย่างเช่นด้านภาษี และเราก็จะทำเซ็นเตอร์อำนวยความสะดวกให้กับองค์กรกีฬานานาชาติเหล่านี้ที่จะเข้ามา ซึ่งเมื่อเขามาเปิดสำนักงานในไทย พวกกิจกรรมการแข่งขันกีฬาระดับโลกที่ผมหวังจะมีการจัดในเมืองไทยก็จะทำได้ง่ายขึ้น ก็จะเข้าไปสู่แนวทางการเป็นไทยแลนด์สปอร์ตเนชั่นได้

                สำหรับ ก้องศักดิ์ ก่อนหน้านี้มีความสนใจทางการเมืองจนเคยลงสมัคร ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ แต่ไม่ได้รับเลือก เมื่อเราถามว่าเห็นมีนโยบายหลายอย่าง แบบนี้แสดงว่าจะอยู่ในวงการกีฬาตลอดไปใช่ไหม ผู้ว่าฯ กกท. ฟังแล้วหัวเราะ และตอบว่าอยู่ในช่วงสี่ปีผมมีเป้าหมายว่าอยากเห็นอะไร สี่ปี ถ้าผมคิดว่าผมทำได้และสนุก ก็คิดว่าจะอยู่เพราะผมมีความสุขกับเรื่องกีฬา แต่หากดูแล้วทำงานไปสี่ปีมีแต่ปัญหา ผลักดันอะไรไม่ได้ ไม่มีผลงานอะไรเลย ผมคงไม่รอให้ใครไล่ ผมก็ต้องไล่ตัวเอง ก็ไม่อยู่ต่อ ไปทำอย่างอื่นที่มีประโยชน์ดีกว่า แต่ในการทำงานสี่ปีต่อจากนี้ก็คาดหวังหลายเรื่อง เช่น เนชั่นแนล  สปอร์ตฮับ ผมก็อยากจะทำให้สำเร็จภายในสี่ปี.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"