แม้วคุมสมุนสู้เลือกตั้ง บินมาฮ่องกงเคาะ'เพื่อไทย-เพื่อธรรม'/เชิด'หน่อย'ถือธงนำ


เพิ่มเพื่อน    

    สะพัด! "แม้ว" บินมาฮ่องกงเคลียร์ปัญหาภายในพรรค เหตุแกนนำเพื่อไทย-เพื่อธรรมเห็นไม่ตรงกัน หลังผุดเพื่อธรรมรองรับเพื่อไทยถูกยุบ แต่คนมากุมบังเหียนยังชู พท.สู้ศึก "หญิงหน่อย" มาแรง จ่อถือธงนำเมื่อหลายกลุ่มเริ่มหนุน ส่วน "สมชาย" ถูกดัน 1 ใน 3 ชื่อนายกฯ เพื่อธรรม ทีม ปชป.ยุคใหม่ตบเท้าเข้าสมัครสมาชิก ขณะที่ศึกชิงหัวหน้ายังเดือด “มาร์ค” ล่องใต้พบสมาชิก จ.สงขลา "หมอวรงค์” เดินสายอีสานเจาะอุบลฯ เผยอดีต ส.ส.แม่ฮ่องสอนคนจุดประกาย “กลุ่มเพื่อนหมอฯ” หลังความนิยม ปชป.ลดลงและอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง 
    เมื่อวันพฤหัสบดี มีรายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทยเปิดเผยว่า หลังจากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บินเข้าเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค. ซึ่งล่าสุดบรรดาแกนนำพรรคและอดีต ส.ส. หลายพื้นที่นัดแนะกันเพื่อเดินทางไปพบ เนื่องจากตอนนี้เกิดปัญหาภายในพรรค โดยในวันประชุมพรรคเมื่อวันที่ 3 ต.ค. หลังการประชุมยังมีการหารือนอกรอบของแกนนำพรรค อดีต ส.ส.ของพรรคถึง 2 วง โดยชั้น 4 ที่ทำการพรรค เป็นวงของพรรคเพื่อธรรม มีนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ แกนนำพรรค พร้อมกับสมาชิกพรรคที่จะเดินไปในแนวทางพรรคเพื่อธรรม ได้ร่วมหารือร่วมกันในยุทธวิธีการเมือง เนื่องจากยุทธศาสตร์แรก มีการตกลงจะให้สมาชิกพรรคเพื่อไทยย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อธรรมให้หมด ปล่อยให้พรรคเพื่อไทยร้าง เพราะมีการประเมินกันไปในทิศทางเดียวกันว่าพรรคเพื่อไทยมีโอกาสถูกยุบพรรคค่อนข้างสูง แต่ต่อมายุทธศาสตร์เปลี่ยน คนมากุมบังเหียนค่อนข้างแน่ชัด คนที่จะมาถือธงสู้ศึกเลือกตั้งที่ไม่ค่อยกินเส้นกัน จึงทำให้เกมเปลี่ยน ยังคงหลักการมีการรักษาพรรคหลักคือพรรคเพื่อไทยไว้เหมือนเดิม
     ขณะเดียวกัน ในวงหารือชั้น 8 ที่ทำการพรรค เป็นวงของพรรคเพื่อไทย นำโดยแกนนำพรรคชุดปัจจุบัน ซึ่งได้วางยุทธศาสตร์การเมือง รวมถึงนโยบายไปไกลมากแล้ว ไม่อยากให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกิดความสับสน จะยังชูพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคหลักเหมือนเดิม นอกจากนี้ที่ไม่ลงตัวอีกประการคือ ในส่วนของอดีต ส.ส.เขตหลายคน จากที่ตกลงว่าจะไปอยู่กับพรรคเพื่อธรรม แต่ภายหลังเกิดเปลี่ยนใจ เมื่อเห็นแนวทางที่ชัดเจนของพรรคหลัก ขอปักหลักสู้ตายกับพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าพรรคจะถูกยุบหรือไม่ถูกยุบ 
    "ทำให้นายทักษิณที่รับรู้ปัญหาต้องเดินทางมายังฮ่องกงเพื่อหาข้อยุติให้ได้ เพราะการเลือกตั้งกระชั้นชิดเข้ามามากแล้ว จึงต้องวางยุทธศาสตร์การเมือง การเลือกตั้งให้ชัด ไม่อยากให้เกิดภาพความไม่เป็นเอกภาพในพรรค โดยทริปการเดินทางครั้งนี้ที่จะไปหาเต็มไปด้วยแกนนำพรรคทั้ง 2 พรรค รวมถึงอดีต ส.ส.ที่พื้นที่ทับซ้อน และอดีต ส.ส.ที่ยังไม่แน่ใจว่าจะได้ลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ ขณะที่พรรคเพื่อชาตินั้นลงตัวแล้วไม่ค่อยมีปัญหา เพราะเป็นพรรคของสายคนเสื้อแดง ที่มีนายยงยุทธ ติยะไพรัช เป็นแกนนำในการควบคุมทิศทาง ยุทธศาสตร์ของพรรค" แหล่งข่าวกล่าว
    แหล่งข่าวจากแกนนำพรรคเพื่อไทยเปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้มีความเป็นไปได้สูงที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย อาจจะได้เป็นผู้นำพรรคในการเลือกตั้งครั้งหน้า เนื่องจากแกนนำพรรคเพื่อไทยได้มีการหารือในทางลับถึงรายชื่อแคนดิเดตทั้งหมดแล้วว่า เมื่อคนในตระกูลชินวัตรจะไม่ลงสนามเลือกตั้งครั้งนี้ ทำให้คุณหญิงสุดารัตน์ถือว่าโดดเด่นกว่าแคนดิเดตคนอื่นๆ เนื่องจากคุณหญิงสุดารัตน์ มีฐานเสียง ส.ส.กทม.ในมือคอยสนับสนุน ขณะที่แคนดิเดตคนอื่นๆ อาทิ นายจาตุรนต์ ฉายแสง, นายโภคิน พลกุล และนายพงศ์เทพ เทพกาญจนานั้น แม้ว่าแต่ละคนจะมีจุดเด่นของตัวเอง แต่บางคนถือว่ามีความเป็นตัวของตัวเองสูงเกินไป รวมทั้งไม่มีฐานเสียงสนับสนุน ขณะที่นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ถือว่าอดีตส.ส.ให้ความเคารพ แต่ที่ผ่านมามีธุรกิจมากมายที่ต้องดูแล และไม่เคยแสดงความจำนงว่าต้องการจะมาเป็นผู้นำพรรคเพื่อไทยเลย
"หญิงหน่อย"มาแรง
    นอกจากนี้ ยังเป็นที่ทราบกันดีภายในพรรคขณะนี้ว่า คุณหญิงสุดารัตน์ได้รับแรงสนับสนุนจากคุณหญิงพจมาน ชินวัตร อดีตภริยานายทักษิณ จึงยิ่งทำให้เสียงคัดค้านลดน้อยลงไปอีก ขณะที่ปัญหาเรื่องอดีต ส.ส.หลายกลุ่ม โดยเฉพาะในภาคอีสานคัดค้านคุณหญิงสุดารัตน์นั้น เวลานี้ถือว่าจบลงด้วยดี เนื่องจากที่ผ่านมาเป็นความเข้าใจผิดว่าคุณหญิงสุดารัตน์ให้การดูแลแค่เฉพาะ กทม.เท่านั้น ดังนั้น หลังจากที่คุณหญิงสุดารัตน์ได้เข้ามาบริหารพรรค จึงมีการดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นคณะทำงานชุดต่างๆ โดยไม่ได้มีแค่ กทม.เท่านั้น และให้อดีต ส.ส.ที่ใกล้ชิดเข้าไปช่วยเหลือเมื่อมีการร้องขอมาอีกด้วย ทำให้อดีต ส.ส.จากหลากหลายภาคให้การยอมรับมากขึ้นแล้วในเวลานี้
    แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า สำหรับกลุ่มอดีต ส.ส.ที่เป็นคนเสื้อแดงนั้น ที่ผ่านมาก็ถูกมองว่าไม่ได้รับการสนับสนุนจากคุณหญิงสุดารัตน์เช่นกัน เป็นเพราะว่าที่ผ่านมาคุณหญิงสุดารัตน์ไม่เคยออกหน้าว่าให้ความช่วยเหลือ แต่เบื้องหลังนั้น คุณหญิงสุดารัตน์เป็นคนสั่งให้อดีต ส.ส.ที่เป็นคนใกล้ชิดเข้าไปดูแลและให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่มาตลอด ทำให้ขณะนี้อดีต ส.ส.ที่เป็นคนเสื้อแดงเริ่มหันมาให้การสนับสนุนคุณหญิงสุดารัตน์ด้วยเช่นกัน ขณะที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ นั้น ขณะนี้มีความเป็นไปได้สูงที่นายสมชายจะถูกเสนอชื่อเป็น 1 ใน 3 ของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกฯ ในส่วนของพรรคเพื่อธรรม จึงทำให้การประชุมนัดสำคัญของพรรคเพื่อไทยที่ผ่านมาหลายครั้งนายสมชายไม่ได้เดินทางมาร่วมประชุมด้วย
    มีรายงานอีกว่า หลังจากรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งประกาศออกมา ซึ่งหนึ่งในเงื่อนไขที่แตกต่างไปจากเดิม ในการคำนวณส.ส.ในระบบจัดสรรปันส่วนผสม แม้จะมีการนำทุกคะแนนเสียงมาคำนวณแบบไม่ทิ้งน้ำ แต่ขณะเดียวกัน หากพรรคใดได้จำนวน ส.ส.เขตตามเกณฑ์ที่มีการกำหนดไว้แล้ว ทำให้โอกาสที่จะได้ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อเข้ามานั้นยิ่งน้อยลงไป ทำให้ขณะนี้บรรดาอดีตรัฐมนตรี อดีต ส.ส.เกรดเอ ต่างแย่งชิงขอลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบเขตเลือกตั้ง โดยใน กทม. ย่านฝั่งพระนคร ปรากฏชื่อทั้งนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง และนายสุธรรม แสงประทุม ต่างแย่งชิงขอลงสมัครรับเลือกตั้ง ส่วนย่านฝั่งธนฯ นายวัฒนา เมืองสุข ก็ขออาสาลงสมัครแข่งขันท้าชนกับผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์
     ขณะที่แกนนำของพรรคเพื่อไทย มีนโยบายสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้ลงแข่งขัน แย่งคะแนนเสียงจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคอนาคตใหม่ จึงปรากฏชื่อทั้งนายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส หนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในข่ายได้รับการพิจารณาลง ส.ส.เขตบางกะปิเช่นกัน นอกจากนี้ ในส่วนของพื้นที่เหนือ อีสาน นอกจากนักการเมืองที่มีฐานเสียงเหนียวแน่นที่จะได้ลงค่อนข้างแน่นอนแล้ว แต่ก็มีบางคนจะวางมือทางการเมือง สนับสนุนทายาทลงเลือกตั้ง เช่น นายนิสิต สินธุไพร อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด ผลักดันบุตรสาวลงสมัครรับเลือกตั้ง ทำให้แม้แต่นายวิเชียรชนินทร์ สินธุไพร น้องชายนายนิสิต นายคารม พลพรกลาง ทนายความเสื้อแดง ไม่มีพื้นที่ จึงย้ายไปร่วมงานกับพรรคอนาคตใหม่ เช่นเดียวกับใน จ.หนองคาย ที่มีการวางตัวคนรุ่นใหม่ลงสมัครแข่งขันทั้ง 3 เขต ทำให้ว่าที่ ร.ต.พงศ์พันธ์ สุนทรชัย อดีต ส.ส. ไม่มีพื้นที่ ตัดสินใจไปร่วมงานกับพรรคภูมิใจไทย
ปชป.ยุคใหม่สมัครสมาชิก
    ด้านนายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.การต่างประเทศ กล่าวว่า กรณีที่มีข่าวว่ามีชื่อจะไปเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อชาติ เพื่อเป็นพรรคสำรองของพรรคเพื่อไทยอีกพรรคหนึ่งนั้น ไม่ทราบว่ามีข่าวนี้มาได้อย่างไร ไม่มีใครมาคุยกับตนเรื่องนี้เลย รู้สึกแปลกใจว่ามีข่าวนี้ได้อย่างไร ไม่ทราบเรื่อง ไม่รู้ที่มาที่ไป ไม่เคยมีใครทาบทาม แล้วก็ไม่เคยแบ่งรับแบ่งสู้ เพราะไม่เคยมีใครมาพูดคุยเรื่องนี้ ส่วนที่บอกว่าอดีตนายกฯ ทักษิณจะมาฮ่องกงนั้น ไม่ทราบ และหากมาจริงก็ไม่มีโปรแกรมจะไปพบ แล้วตนก็ไม่ได้คุยกับท่านมานานพอสมควรแล้ว
    ส่วนความเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ใช้ชื่อว่า “ทีมประชาธิปัตย์ยุคใหม่” ได้รวมตัวกันมาสมัครสมาชิกพรรค ปชป.อย่างเป็นทางการ นำโดยนายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ บุตรชายนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ อดีต ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรค ปชป., นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ และ น.ส.วิพัตรา โตเต็มโชคชัยการ โดยนายพรพรหมให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้เป็นเพียงการนัดพบของเพื่อนๆ ไม่กี่คนที่ได้ทำงานด้วยกันมา และต้องการเข้ามาสมัครสมาชิกพรรค เพื่อมีส่วนร่วมในการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรค เพราะต้องการช่วยสนับสนุนให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าสู่ยุคใหม่ได้จริงก่อนที่การเลือกตั้งใหญ่
    นายพรพรหมกล่าวถึงกระแสการเปิดตัวคนรุ่นใหม่ของแต่ละพรรคการเมืองว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่คนรุ่นใหม่เข้ามาในวงการการเมือง พรรคของเรามีกลุ่มคนหน้าใหม่ที่เข้ามาทำงานร่วมกันตั้งแต่ต้นปี 2561 แต่เวลานี้อาจยังไม่เหมาะสมสำหรับการเปิดตัวทุกคน เพราะอยากให้สมาชิกและประชาชนให้ความสนใจและใส่ใจเต็มที่กับการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรค ซึ่งถือเป็นการปฏิรูปการเมืองที่ให้สมาชิกเป็นเจ้าของพรรคอย่างแท้จริง โดยพรรค ปชป.เป็นพรรคแรกในประเทศไทยที่ทำ และเป็นพรรคเดียวที่ดูเหมือนจะทำได้ และเมื่อได้หัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่แล้วในกลางเดือน พ.ย. กลุ่มของพวกตน จะเปิดให้ประชาชนทุกคนได้ทำความรู้จักกับคนรุ่นใหม่ของเราอย่างแน่นอน 
    นายพรพรหมกล่าวว่า ในส่วนของนายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม ซึ่งถือเป็นคนรุ่นใหม่คนแรกๆ ที่ปรากฏตัวในสนามการเมืองเมื่อต้นปี ขณะนี้ยังรับราชการทหารอยู่ จึงไม่สามารถมาสมัครด้วยกันได้ในวันนี้ แต่คาดว่าได้ดำเนินการสมัครผ่านแอปพลิเคชัน D-connect เรียบร้อยแล้ว และพร้อมจะเข้ามาสู่สนามการเมืองในนามพรรค ปชป. หลังจากปลดประจำการในวันที่ 31 ตุลาคมนี้  
    ขณะที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรค ปชป. โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า หลายคนคงแปลกใจ ทำไมกลุ่มเพื่อนหมอวรงค์จึงทำงานร่วมแรงร่วมใจเป็นทีมเวิร์กที่เข้มแข็งมาก เพราะทุกคนอยากให้พรรค ปชป.ของเราเข้มแข็งและเป็นหลักในการช่วยกันดูแลแผ่นดินนี้ได้อย่างแท้จริง ซึ่งความคิดของทุกคนอยู่ในหัวใจที่จะเปลี่ยนแปลงพรรค ปชป.ให้ดีขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่ คนที่มาคุยกับตนคนแรก ไม่ใช่ใครที่มีอิทธิพลใดๆ ในพรรค แต่มาจากอดีต ส.ส.ธรรมดาคนหนึ่งในพื้นที่ภาคเหนือที่เห็นสภาพพรรควันนี้แล้ว ความนิยมและความเชื่อมั่นลดลงมาก และอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง เขามาคุยกับตนว่าคนที่เหมาะในการนำพาพรรคมากที่สุดในสถานการณ์ปัจจุบันคือตน อยู่ที่ว่าจะกล้าหรือไม่ ซึ่งนั่นคือนายสมบัติ ยะสินธุ์ อดีต ส.ส.แม่ฮ่องสอน พรรคปชป.หนึ่งเดียวในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และเขาคนนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการประสานงานเพื่อนๆ พี่ๆ ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงพรรค ปชป.จนมาเป็นกลุ่มเพื่อนหมอวรงค์ 
"มาร์ค"ไปใต้"วรงค์"ไปอีสาน
    “ผมต้องการสื่อสารว่าพวกเรานั้นเกิดจากอดีต ส.ส.ที่เห็นปัญหา รับรู้ความรู้สึกของคนไทย ต้องการเห็นสิ่งที่ดีแก่พรรคและประเทศชาติบนฐานของอุดมการณ์พรรคและความซื่อสัตย์สุจริต ที่สำคัญทุกการตัดสินใจของพวกเรายืนอยู่บนผลประโยชน์ประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง” นพ.วรงค์ กล่าว
    มีรายงานว่า ในวันที่ 7 ต.ค.นี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะผู้สมัครหัวหน้าพรรค จะเดินสายพบสมาชิกพรรคที่โรงแรมเจบี หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกัน นพ.วรงค์พร้อมกลุ่มเพื่อนหมอวรงค์ จะเดินสายไปยังจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อประกาศนโยบายปั้นข้าวเหนียวเพื่อชาวอีสาน และพบประธานหอการค้าจังหวัด  
    พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า กกต.ได้มีมติการประชุมครั้งที่ 49/2561 (13) เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา เห็นชอบแผนงานการจัดการเลือก ส.ว. ตามกรอบระยะเวลาภายหลังจากที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2561 ซึ่งมีผลบังคับใช้ และระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 มีผลบังคับ โดยมีกรอบระยะเวลาจัดการเลือก ส.ว. คือวันที่ 15-24 ต.ค. รับลงทะเบียนขององค์กร ณ สำนักงาน กกต.จังหวัด,  วันที่ 25-29 ต.ค. ตรวจสอบคุณสมบัติองค์กร, วันที่ 5 พ.ย. กกต.ประกาศผลการลงทะเบียนขององค์กร, วันที่ 6-14 พ.ย. ระยะเวลาการพิจารณาคำร้องคัดค้านขององค์กร
    "กกต.จึงขอประชาสัมพันธ์เชิญชวนองค์กรที่มีสิทธิแนะนำชื่อบุคคล เพื่อสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ที่มีความประสงค์จะลงทะเบียน เตรียมเอกสารและหลักฐานในการยื่นคำขอลงทะเบียนตามกรอบ ระยะเวลาการรับลงทะเบียนขององค์กร ภายในวันที่ 15-24 ต.ค.นี้" เลขาธิการ กกต.ระบุ
    ในช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศ กกต. เรื่อง การลงทะเบียนขององค์กรที่มีสิทธิแนะนำชื่อบุคคลเพื่อสมัครรับเลือกเป็น ส.ว. โดยมีการกำหนดรายละเอียดการยื่นเอกสารและหลักฐานขององค์กรที่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย และองค์กรที่มีกฎหมายจัดตั้ง ในการลงทะเบียนส่งผู้สมัครรับเลือกเป็น ส.ว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"