รวมกันแพ้แยกชนะ 'ตุ๊ดตู่-ตู้เย็น'ผุดเพื่อชาติ! สะพัดดัน'นพดล'หัวหน้า


เพิ่มเพื่อน    

     “ประวิตร” ลั่นไม่ผิดไม่ต้องกลัวถูกยุบพรรค “กกต.” โดดรับลูกสอบ “ทักษิณ” บงการเพื่อไทยแล้ว รวมถึงกรณีพลังดูด แต่ยังไม่ถึงขั้นตั้ง กก.เพราะแค่เป็นข่าว สะพัด! “เพื่อชาติ” จตุพร-ยงยุทธ-สงคราม ดัน "นพดล" นั่งหัวหน้าพรรค ดึง "ชัชชาติ" ขึ้นบัญชีนายกฯลำดับ 1 "ตุ๊ดตู่" แจงยิบที่ตั้งพรรคเพื่อให้มวลมิตรมีช่องหายใจตามยุทธศาสตร์ "รวมกันแพ้ แยกกันชนะ" ด้านเสื้อแดงใน พท.โวยตัดคะแนนกันเองมากกว่าเก็บทุกเม็ด
     เมื่อวันอังคาร ยังคงมีความต่อเนื่องจากกรณีแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) เดินทางไปหารือกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกง เพื่อวางยุทธศาสตร์การเลือกตั้งแยกกันเดินร่วมกันตี โดยเฉพาะการจัดตั้งพรรคสำรองเพื่อป้องกันการถูกยุบ พท. โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวในเรื่องนี้ว่า ไม่ทราบ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เท่านั้น ส่วนที่นายทักษิณแสดงตัวอยู่เบื้องหลังพรรค พท.นั้น หากทำผิดเรื่องการเมืองก็เป็นเรื่องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
     “ยืนยันว่า คสช.ไม่ได้มีแผนจะยุบพรรคเพื่อไทย คสช.จะไปรู้ได้อย่างไร ถ้าจะถูกยุบพรรคก็ต้องเป็น กกต.จะมาโทษ คสช.ได้อย่างไร และตอนนี้ คสช.ยังไม่ได้ประชุมอะไรเลย” พล.อ.ประวิตรกล่าว
     ถามถึงกรณี พท.กังวลว่าพรรคจะถูกยุบเพราะเป็นกลยุทธ์ของการเลือกตั้ง พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เขาทำผิดหรือไม่ ทำไมต้องกลัว ถ้าไม่ทำผิด พรรคการเมืองอื่นๆ ไม่เห็นกลัว เพราะเขาไม่ทำผิด
     พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ให้สัมภาษณ์ครั้งแรกถึงกรณีนี้ว่า ได้ให้สำนักงาน กกต.ติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงอยู่ เพราะขณะนี้ปรากฏเป็นแค่ข่าว โดยจะรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงทุกเรื่องที่เคลื่อนไหวในช่วงนี้ ทั้งที่กล่าวหาว่ากลุ่มสามมิตรดูดอดีต ส.ส., การเก็บบัตรประชาชน และคลิปวิดีโอนายทักษิณชี้นำพรรคเพื่อไทย ถ้ามีหลักฐานเพิ่มเติมถึงขั้นดำเนินการได้ ก็จะดำเนินการ
“ทุกเรื่องยังเป็นเพียงข่าว ยังไม่มีมูลไปถึงขั้นว่าเข้าข่ายครอบงำ กกต.ก็ได้รับทราบข้อมูลต่างๆ และให้นโยบายกับสำนักงานว่า ถ้าพบว่ามีมูลก็ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวน แต่ตอนนี้ข้อมูลที่มียังไม่ถึงขั้นครอบงำ จึงยังไม่มีเรื่องการตั้งคณะกรรมการสอบสวนที่จะนำไปสู่การพิจารณายุบพรรคเพื่อไทย” พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าว
     พ.ต.อ.จรุงวิทย์ยังกล่าวถึงอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยตั้งพรรคสำรองว่า เป็นเสรีภาพ คนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองรวมกัน 500 คน มีทุนประเดิม 1 ล้านบาท มีข้อบังคับพรรคและอุดมการณ์ที่ไม่ขัดกฎหมาย หากมายื่นขอจัดตั้ง กกต.ก็ต้องดำเนินการให้ ส่วนตั้งแล้วจะสนับสนุนใคร ก็เป็นเรื่องแนวนโยบายของพรรค เหมือนที่บางพรรคประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ก็มีหลายพรรค ส่วนพรรคจะตกอยู่ภายใต้การครอบงำของบุคคลภายนอกที่ไม่ได้เป็นสมาชิกหรือกรรมการบริหารพรรคหรือไม่ ต้องดูการดำเนินการของพรรคในอนาคต หากเกิดขึ้นก็ต้องมาว่ากันตามกฎหมาย
ข้องใจรัฐบาลเปลี่ยนไป
     ขณะที่นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีคณะนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ ท่าทีที่เปลี่ยนไปของคนในรัฐบาล ระบุว่า ค่อนข้างแปลกใจกับท่าทีและจุดยืนของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ที่ระบุว่าการเดินทางไปพบนายทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ของแกนนำพรรคเพื่อไทยเป็นเสรีภาพ คสช.ปล่อยแล้ว และยังบอกว่าใครจะตั้งพรรคสำรองกี่พรรคก็เป็นสิทธิที่ทำได้ ถ้ามีทุนและมีสติปัญญา
“ที่ผมเป็นห่วง เพราะการพูดเช่นนี้อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของ กกต.ที่กำลังตรวจสอบการกระทำที่เข้าข่ายผิดมาตรา 28 และ 29 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่ห้ามพรรคการเมืองยินยอมให้บุคคลภายนอกยุ่งเกี่ยวกับกิจการในพรรค ซึ่งมีผู้ร้องต่อ กกต.ในกรณีพรรคเพื่อไทยไปแล้ว อาจทำให้การทำงานของ กกต.มีปัญหาตามมาได้” นายสุริยะใสกล่าว และว่า การตั้งพรรคสำรอง แม้เป็นสิทธิที่ทำได้ แต่วิธีดังกล่าวจะทำลายเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ทำให้พรรคการเมืองจมอยู่กับคะแนนเสียงเลือกตั้ง ไม่ว่าจะได้มาโดยวิธีใด ทำให้การปฏิรูปการเมือง โดยพรรคการเมืองไม่ประสบความสำเร็จ
      นายสิระ พิมพ์กลาง ว่าที่หัวหน้าพรรคเพื่อนไทยกล่าวถึงกรณีการก่อตั้งพรรคเพื่อชาติ (พช.) และพรรคเพื่อธรรม (พธ.) ตามยุทธศาสตร์แยกกันเดิน ร่วมกันตี ว่าดูแล้วไม่น่าใช่ น่าจะเป็นรวมกันเราอยู่ แยกหมู่กันตาย เสียมากกว่า โดยแกนนำคนเสื้อแดงเคยบอกเอาไว้จะไม่ออกมาทำพรรคการเมือง แต่วันนี้ดูแล้วไม่ต่างอะไรจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. ที่เคยยืนยันจะไม่ยุ่งการเมือง 
“คนเสื้อแดงที่มาทำพรรคเพื่อชาติจะต่างอะไรกัน เป็นเหมือนการกลืนน้ำลายตัวเอง ถ่มน้ำลายขึ้นฟ้า แล้วรดหน้าตัวเอง สุดท้ายหากจะเดินหน้าพรรคการเมืองจริงๆ ก็ขอให้ผู้สนับสนุนทั้งหลายเปิดหน้าออกมาให้หมด ขออย่ามาเล่นเกมใต้ดิน ที่บางคนเคยด่าผมเป็นแดงเทียมไปทำพรรค แล้วกรณีนี้จะว่าอย่างไร” นายสิระกล่าว
      นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สมาชิกพรรค พท.และแกนนำคนเสื้อแดง กล่าวถึงการก่อตั้งพรรค พช.ว่า เข้าใจว่าเป็นความหวังดีของสมาชิกบางคนที่กังวลว่า พท.ที่เป็นพรรคหลักผู้สมัครล้นไม่พอลงสมัคร จึงตั้งพรรคขึ้นมา และคงกังวลถึงกระแสข่าวถูกยุบ โดยการตั้งพรรค พช.เพื่อหวังไปเก็บตกคะแนนเสียง เก็บคะแนนทุกเม็ด ดูแล้วจะเป็นการมาตัดคะแนนกันเองกับ พท.มากกว่า เราควรมีพรรคหลักพรรคเพื่อไทยพรรคเดียวเป็นหัวหอกหลักในการต่อสู้ เพื่อให้ได้คะแนนเป็นกอบเป็นกำ  
ไล่พ้น นปช.หากตั้งพรรค
    ส่วนนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ สมาชิก พท.และแกนนำ นปช. กล่าวถึงกระแสข่าวการตั้งพรรค พช.ว่า ส่วนตัวและในนาม นปช.ไม่เคยร่วมหารือกับคณะผู้ก่อตั้งพรรคเพื่อชาติ แต่คงมีการพบปะพูดคุยกันในกลุ่มผู้สนใจมาระยะหนึ่งแล้ว เมื่อนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ออกจากเรือนจำ ก็ได้ยินว่าสนใจเรื่องนี้ต่อเนื่อง ในส่วนของ นปช.เคยหารือนอกรอบในหมู่แกนนำ ได้ข้อสรุปว่า เราเป็นขบวนการต่อสู้ภาคประชาชน ไม่มีแนวคิดตั้งพรรคการเมือง ส่วนสมาชิกหรือแกนนำคนไหนสนใจร่วมงานกับพรรคการเมืองใด ตราบเท่าที่พรรคนั้นยืนบนหลักการประชาธิปไตย ถือเป็นเสรีภาพ ถ้ามีจุดยืนที่เปลี่ยนแปลงไป ก็ถือว่าสิ้นสภาพความเป็น นปช. 
“ที่ผ่านมาเข้าใจตรงกันแบบนี้ หากพรรคเพื่อชาติยืนยันหลักการประชาธิปไตยก็ไม่มีอะไรเป็นข้อขัดแย้ง การตัดสินใจของแต่ละคนให้เป็นไปตามที่ได้ตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้” นายณัฐวุฒิกล่าว และว่า ไม่คิดว่าพรรคไหนจะเป็นนอมินีให้กันได้เมื่อลงสนาม ในความเป็นจริงน่าจะเป็นแนวร่วมกันในทางหลักการมากกว่า เพราะเลือกตั้งคราวนี้มี 2 ฝ่ายเท่านั้น คือพรรคประชาธิปไตยกับพรรคเผด็จการ
    ส่วนนายจตุพรกล่าวในรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ ถึงกรณีกระแสข่าวการแยกกับนายณัฐวุฒิมาจับมือกับนายยงยุทธ ติยะไพรัช แกนนำพรรคเพื่อไทยมาตั้งพรรคเพื่อชาติ ว่าตนอยู่ในสถานะไม่มีสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกพรรคการเมืองก็ไม่ได้ แต่ได้พูดเอาไว้ที่สมาคมนักข่าวฯ คือ รวมกันแพ้ แยกกันชนะ เพราะอีกมุมหนึ่ง มีพรรคการเมืองอีกฝั่งแยกออกเป็น 5 พรรคอยู่ครบถ้วนหมด และเมื่อมีหมู่มิตรมาหารือร่วม ต้องการสู้ในเวทีรัฐสภา คนที่ไม่มีพื้นที่ในพรรคเดิมทั้งหมด แล้วยังไม่ได้เป็น ส.ส. พรรคเพื่อชาติเขาเปิดเวทีให้ เห็นว่าช่องทางนี้จะทำให้เขาเหล่านั้นเข้าไปทำหน้าที่เป็น ส.ส.ได้ รวมถึงบรรดาหมู่มิตรที่ร่วมต่อสู้กันมาแล้วก็ไม่มีโอกาส ไม่มีพื้นที่ เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 ออกแบบไว้ดังนี้ ก็ถือว่านี่เป็นโอกาสในการเข้าไปทำหน้าที่ 
“นายณัฐวุฒินั้นมีพื้นที่ในพรรคเพื่อไทยอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องมา ระบบการเลือกตั้งแบบเดิมทำให้เข้าไปหาพื้นที่ได้ แต่เนื่องจากระบบใหม่มันจะไม่มีพื้นที่ เลยพูดคุยกันว่าคนที่มีพื้นที่อยู่แล้วในพรรคเพื่อไทยไม่ต้องมา แต่คนที่ไม่มีพื้นที่และหมู่มิตรจากส่วนต่างๆ ก็สามารถมาเริ่มต้นที่พรรคเพื่อชาติกันได้ คือแนวพรรคเขาเปิดช่องไว้ดังนี้ ซึ่งผมเห็นด้วยกับคุณยงยุทธว่า ช่องนี้น่าจะดีที่สุดตามรัฐธรรมนูญที่ออกแบบไว้ว่า รวมกันแพ้ แยกกันชนะ" นายจตุพรระบุ
    นายจตุพรยังชี้แจงกรณีนายยงยุทธไม่มีพื้นที่ในพรรคเพื่อไทย จึงมาชวนทำพรรคเพื่อชาติ ว่านายยงยุทธอยู่ตรงไหนก็ได้ นายยงยุทธมีสิทธิ์ทางการเมืองเช่นเดียวกับบ้านเลขที่ 109 และ 111 คนอื่นๆ วันนี้ก็พ้นโทษทางการเมืองแล้ว นายยงยุทธมีแนวความคิดไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งทั้งที่มีสิทธิ์ จึงคิดว่าเราจะได้คนใหม่ๆ เข้าไป รวมทั้งหมู่มิตรที่ค้างๆ กันอยู่ และไม่มีโอกาสทำหน้าที่ส่วนนี้จะได้มีโอกาสเข้าไปต่อสู้ในระบบรัฐสภา
    นายจตุพรยังกล่าวถึงการหารือกับนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และพระพุทธะอิสระ แกนนำ กปปส. ในระหว่างอยู่ในคุกถึงการตั้งพรรคเพื่อชาติ ว่าเคยชี้แจงไปแล้วว่าเราไปอยู่ในสุสานคนเป็น มันไม่มีหัวโขน ก็คุยกัน เกิดปรากฏการณ์ว่าสังคมนี้มันพูดคุยกันได้ถ้ามันอยู่ในจุดความรู้สึกเดียวกัน แต่เป็นคนละส่วนกับพรรคเพื่อชาติที่มีอยู่เดิม และเป็นพรรคที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย การพูดคุยเป็นแนวความคิดที่ไม่ปิดประตูพูดคุยกับทุกฝ่าย เพื่อเปิดช่องให้กับสังคมไทยไม่ย้อนไปสู่วิกฤติเดิมกันอีก ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบุคคลทั้งสองที่ไม่ได้อยู่ในฐานะมาตั้งพรรคการเมืองได้ แต่เป็นความคิดว่าสังคมไทยเมื่ออยู่ในจุดที่มีความรู้สึกเดียวกัน พูดคุยกันได้ 
    แหล่งข่าวจากผู้ร่วมก่อตั้งพรรคเพื่อชาติเปิดเผยว่า ในช่วงเช้าวันที่ 9 ต.ค. ที่ห้างอิมพีเรียล ลาดพร้าว คณะแกนนำผู้ก่อตั้งพรรคเพื่อชาติ อาทิ นายยงยุทธ ติยะไพรัช, นายจตุพร พรหมพันธุ์, นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ และนายอารี ไกรนรา ร่วมหารือถึงผู้เหมาะสมจะมาเป็นหัวหน้าพรรค โดยได้วางตัวนายนพดล ปัทมะ แกนนำพรรคเพื่อไทยและเพื่อนสนิทนายยงยุทธเป็นหัวหน้าพรรค และจะมาเป็นผู้เสนอตัวในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีในลำดับที่ 3 ส่วนลำดับที่ 2 เป็นนายทนง พิทยะ อดีต รมว.การคลัง รัฐบาลไทยรักไทย, นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จะอยู่ในลำดับที่ 1 
    ทั้งนี้ คณะผู้ร่วมก่อตั้งพรรคเห็นตรงกันว่า ต้องเน้นที่การแก้ไขปัญหาปากท้องให้ประชาชนเป็นหลัก นำหน้าเรื่องการเมือง จึงมีการวางตัวผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ การเงินการคลัง การศึกษา เอาไว้ทั้ง 3 อันดับ ส่วนที่ไม่ดันนายชัชชาติเป็นหัวหน้าพรรคด้วยนั้น เนื่องจากไม่ถนัดเดินสายปราศรัยหาเสียง ซึ่งคนที่เป็นหัวหน้าอย่างนายนพดล มีความเชี่ยวชาญการปราศรัยมากกว่า นอกจากนี้ยังมีการกำหนดเปิดตัวพรรคอย่างเป็นทางการในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคม ในที่ประชุมยังหารือแคมเปญที่เหมาะกับพรรคเอาไว้เบื้องต้น อาทิ ด้านการศึกษา มีผู้เสนอว่าควรเปิดให้มีการเรียนฟรีตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงปริญญาตรี ด้านสาธารณสุข มีผู้เสนอว่าควรใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกโรค และรักษาได้ทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ เป็นต้น
ลูกสนธิเดือดซัดตู่-ตู้เย็น
     ทางด้านนายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสื่อในเครือผู้จัดการ บุตรชายนายสนธิ ลิ้มทองกุล กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่านายสนธิจับมือกับนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และนายยงยุทธ สลายสีเสื้อก่อตั้งพรรคเพื่อชาติว่า ไม่จริง และขอประณามนายจตุพรและนายยงยุทธ ที่เอานายสนธิมาทำมาหากิน เพราะได้ไปเยี่ยมบิดามา ซึ่งบิดาบอกว่านายจตุพรเข้ามาพูดอยากทำอย่างโน้นอย่างนี้ ซึ่งบิดาก็รับฟัง ไม่ได้ปฏิเสธอะไรอย่างไร โดยจุดยืนของบิดาคือประเทศมันไปต่อไม่ได้ถ้าเกิดไม่มีการปฏิรูป
    “ขอเลย คุณสนธิอยู่ในเรือนจำก็ลำบากพออยู่แล้ว อย่าเอาชื่อของคุณสนธิไปทำมาหากิน ผมขอร้อง แค่นี้ก็โดนทุกฝ่ายจ้องจับตา จ้องจับผิดกันอยู่แล้ว ให้พ่อผมได้อยู่อย่างสงบซักทีเถอะ ถ้าคุณไม่คิดจะปฏิรูปเพื่อชาติ คุณจะไปเล่นการเมืองก็เรื่องของคุณเลย คุณจตุพร คุณยงยุทธ เข้าใจกันนะครับ อย่าเอาคุณสนธิมาทำมาหากิน ผมไม่ชอบ ปฏิรูปเพื่อชาติเท่านั้น ไม่ใช่มาตั้งพรรคการเมืองบ้าๆ บอๆ" นายจิตตนาถกล่าว
    วันเดียวกัน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ยังกล่าวเตือนถึงการทำกิจกรรมของพรรคการเมืองในขณะนี้ว่า ต้องอยู่ภายในกรอบที่คำสั่งหัวหน้า คสช. 13/2561 อนุญาต เพราะต้องเข้าใจว่าคำสั่ง คสช.ที่ 57/2557 ที่ห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมเกิน 5 คนมีผลบังคับใช้อยู่ หากฝ่าฝืนเจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องเข้าไปดูแล และมีโทษทางอาญาด้วย
     พ.ต.อ.จรุงวิทย์ยังระบุว่า สำนักงาน กกต.ได้ปรับกรอบหลักเกณฑ์ในการพิจารณารับจดแจ้งตั้งพรรคการเมืองใหม่ โดยให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน นับแต่วันที่มียื่นคำขอจัดตั้งพรรค เนื่องจากเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้าย ซึ่งไม่ใช่ทำเพื่ออำนวยความสะดวกให้พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เพราะเราอำนวยความสะดวกให้กับทุกกลุ่มการเมืองที่มายื่นจัดตั้ง 
     ล่าสุด พรรคพลังแรงงานไทย นำโดยนายพิเชษฐ์ ภูแก้ว ว่าที่หัวหน้าพรรค พร้อมด้วยว่าที่กรรมการบริหารพรรค นำเอกสารหลักฐานเข้ายื่นจดทะเบียนจัดตั้งกับ กกต.แล้ว
     ส่วนความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่างๆ นั้น พล.ต.ท.สาคร ทองมุณี อดีตผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยวคนแรก (ผบช.ทท.) และอดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 9 (ผบช.ภ.9) ได้เดินทางมาสมัครสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์แบบตลอดชีพ 
เจ้าเก่าปรับลุคส์เป็น FFFE
     นายศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนสมาชิกพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงกระแสข่าวที่ พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ยื่นหนังสือลาออกเพื่อมาทำงานทางการเมืองกับพรรค ว่าถ้า พ.อ.เศรษฐพงค์มาร่วมจริง น่าจะเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งต้องติดตามว่าในวันที่ 12 ต.ค. ซึ่งเป็นวันเสนอแนวทางจัดทำนโยบายพรรค พ.อ.เศรษฐพงค์จะมาปรากฏตัวหรือไม่ ถ้ามาก็จะเห็นความชัดเจนในระดับหนึ่ง
     ขณะเดียวกัน ที่คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ในฐานะแกนนำเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง พร้อมตัวแทนกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) สหพันธ์นักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยไทย กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ตัวแทนเครือข่ายแรงงาน และสมัชชาคนจน ร่วมแถลงเปิดตัวเครือข่ายประชาชนเพื่อการเลือกตั้งที่เสรีเป็นธรรม และมีผลในทางปฏิบัติ (Free, Fair & Fruitful Election) หรือ FFFE ซึ่งเครือข่าย FFFE จะจัดกิจกรรมแรก “การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมกับอนาคตสังคมและการเมืองไทย” ในวันที่ 14 ต.ค.2561 ที่ห้อง LT1 คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เวลา 12.00-16.30 น. โดยภายในงานจะประกาศจุดยืนผ่านแถลงการณ์ร่วมของภาคประชาชนและพรรคการเมือง
     นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงความคืบหน้ากระบวนการคัดสรร ส.ว.และการเลือกตั้งท้องถิ่นว่า   ไม่ช้า เพราะมีเวลาอยู่ โดยการคัดเลือก ส.ว.นั้น คสช.อาจตั้งคณะกรรมการคัดเลือกก่อนวันที่ 2 ม.ค.2562 ได้ เพราะคณะกรรมการต้องคัดเลือกบุคคลให้ได้ 400 คนก่อนส่งรายชื่อให้ คสช.ภายในวันที่ 9 ก.พ.2562 และ คสช.มีเวลาเป็นเดือนเพื่อคัดเลือกให้เหลือ 194 คน เพราะกฎหมายระบุให้ประกาศชื่อภายใน 3 วันหลังวันประกาศผลการเลือกตั้ง ซึ่งก็เป็นเวลานาน ทั้งนี้ ยังไม่ทราบว่าใครเป็นคณะกรรมการคัดเลือก และไม่ทราบว่ากระบวนการของ คสช.จะเป็นอย่างไร ส่วนการพิจารณากฎหมายลูก 6 ฉบับเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยืนยันแล้วว่าจะเสร็จทันภายในสิ้นปีนี้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"