ชูบ้านหาดเล็กเป็นต้นแบบบ้านมั่นคงในที่ดินกรมเจ้าท่า 5 องค์กรร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย


เพิ่มเพื่อน    

อ.คลองใหญ่ จ.ตราด/  ชูบ้านหาดเล็กเป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยของกรมเจ้าท่า    5 หน่วยงาน  เทศบาล-ชุมชนตำบลหาดเล็ก  จังหวัดตราด  พอช.  กรมเจ้าท่า  ฯลฯ  ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือพัฒนาคุณภาพชีวิตและที่อยู่อาศัย  โดยกรมเจ้าท่าออกใบอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำแก่ชาวบ้านเพื่อซ่อมสร้างบ้านเฟสแรกแล้ว  60 หลัง  และอยู่ในระหว่างการพิจารณารวมทั้งหมด 738  หลัง  ขณะที่ พอช.มอบงบสนับสนุนชุมชน 31 ล้านบาท  และจะร่วมกับกรมท่าแก้ปัญหาทั่วประเทศ

 

ความไม่มั่นคงในที่ดินที่อยู่อาศัยของประชาชนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนในที่ดินกรมเจ้าท่าเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานหลายสิบปี  เนื่องจากที่ดินริมแม่น้ำและชายฝั่งทะเลที่กรมเจ้าท่าดูแลอยู่ทั่วประเทศ  มีประชาชนเข้าไปปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยต่อเนื่องมานาน  แต่ส่วนใหญ่ปลูกสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง  เมื่อบ้านเรือนทรุดโทรมก็ไม่สามารถซ่อมแซมหรือปรับปรุงสภาพให้ดีขึ้นได้  เนื่องจากติดขัดกฎระเบียบของกรมเจ้าท่า  เช่น  พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย,พ.ร.บ.การประมง  ฯลฯ  อย่างไรก็ตาม  ที่ผ่านมา  รัฐบาลชุดปัจจุบันได้พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว  โดยใช้ชุมชนในเขตเทศบาลตำบลหาดเล็ก  อ.คลองใหญ่  จ.ตราด  เป็นพื้นที่นำร่องในการแก้ไขปัญหาที่ดินกรมเจ้าท่า

 

                โดยในวันนี้ (11 ตุลาคม) ที่เทศบาลตำบลหาดเล็ก  มีการจัดงานเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก  ซึ่งองค์การสหประชาชาติกำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็นวันที่อยู่อาศัยโลก  เพื่อให้นานาประเทศให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของประชาชน  โดยเทศบาลตำบลหาดเล็กร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. จัดงานนี้ขึ้น  สาระสำคัญของงานในวันนี้คือ  การลงนามบันทึกความร่วมมือการพัฒนา ‘โครงการบ้านมั่นคงในพื้นที่กรมเจ้าท่า’  โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  5 องค์กรร่วมลงนาม  มีพลเอกสุรศักดิ์  ศรีศักดิ์  ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  และนายธีระพงษ์  รอดประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม   ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนาม  มีประชาชนเข้าร่วมงานประมาณ 1,000 คน

 

นายสมชาติ  ภาระสุวรรณ  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช.กล่าวว่า  การลงนามบันทึกความร่วมมือในวันนี้เป็นการลงนามระหว่าง 5 องค์กร  คือ  กรมเจ้าท่า  กระทรวงคมนาคม  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  เทศบาลตำบลหาดเล็ก  ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดตราด  และจังหวัดตราด  เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของกรมเจ้าท่าในเขตเทศบาลตำบลหาดเล็ก ให้มีความมั่นคง มีสภาพแวดล้อม  สังคม และเศรษฐกิจที่ดี โดยชุมชนมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา

 

การลงนามในครั้งนี้ทั้ง 5 องค์กรจะร่วมกันดำเนินการ  เพื่อให้ 1.ชุมชนมีกระบวนการออกแบบวางผัง วางแผนการพัฒนาชุมชน ทั้งในด้านที่อยู่อาศัย สาธารณูปโภค สภาพแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาชุมชนที่ครอบคลุมทุกมิติต่อไป  2. เพื่อร่วมกันพิจารณาวางหลักเกณฑ์การใช้ที่ดินแบบแปลงรวมที่จะเอื้ออำนวยต่อการจัดระบบ    การอยู่อาศัยและการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน โดยกำหนดกติกา หลักเกณฑ์และจัดระบบการบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกัน และป้องกันการปลูกสร้างอาคารล่วงล้ำลำน้ำขยายเพิ่มขึ้น

 

          3. เพื่อให้เกิดการปรับปรุง ซ่อมแซมหรือก่อสร้างที่อยู่อาศัยให้มีความมั่นคงแข็งแรงเหมาะสมในการอยู่อาศัย ควบคู่กับการดูแลรักษาสภาพแวดล้อม การพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจชุมชน  4. เพื่อให้เกิดการผนึกพลังร่วมกันระหว่างชุมชนกับหน่วยงานที่ร่วมกันสนับสนุนการพัฒนาตามแผนงานของชุมชน บูรณาการการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า เกิดรูปธรรมการพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ ที่เห็นผลการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน  และ  5. เพื่อให้เกิดรูปธรรมในการพัฒนาชุมชนและการพัฒนาคุณภาพชีวิตในเขตเทศบาลตำบลหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด เป็นตัวอย่างหรือต้นแบบขยายผลการเรียนรู้สู่ชุมชนอื่นที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของกรมเจ้าท่า

 

นายธีระพงษ์  รอดประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคมกระทรวงคมนาคม  กล่าวว่า  กรมเจ้าท่าได้อนุญาตให้ชาวบ้านในเขตเทศบาลตำบลหาดเล็กปลูกสร้างอาคารล่วงล้ำลำน้ำในพื้นที่รับผิดชอบของกรมเจ้าท่า  ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 32/2560 เรื่องการบรรเทาความเสียหายแก่ประชาชนในกรณีปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นล่วงล้ำลำน้ำ  โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่ก่อสร้างที่อยู่อาศัยริมน้ำได้มาแจ้งสิทธิการครอบครอง  มีการตรวจสอบข้อมูลความถูกต้องและยืนยันรับรองสิทธิ  หลังจากนั้นกรมเจ้าท่าจึงออกใบอนุญาตสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำให้แก่ชาวบ้านในเขตเทศบาลตำบลหาดเล็กชุดแรกจำนวน  60 ครอบครัวตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา  และยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการพิจารณาอนุญาตอีกประมาณ 700 ครัวเรือน

 

“ตำบลหาดเล็กถือเป็นต้นแบบของชุมชนประมงชายฝั่งที่ชุมชนต้องการอาศัยอยู่ในที่ดินเดิมที่กรมเจ้าท่าดูแลอยู่  โดยกรมเจ้าท่ามีหน้าที่จัดระเบียบการใช้ประโยชน์ร่วมกัน  เช่น  ช่วยกันดูแลไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม  กรมเจ้าท่าจึงอนุญาตตามกฎหมาย  ส่วนชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศหากจะดำเนินการตามแบบอย่างของบ้านหาดเล็กก็สามารถทำได้” นายธีระพงษ์กล่าว

 

พลเอกสุรศักดิ์  ศรีศักดิ์  ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  กล่าวว่า  กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีภารกิจที่สำคัญในการดูแลประชาชนที่มีความเดือดร้อน  โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่อาศัยในที่ดินของรัฐ  ชุมชนแออัด  ชุมชนที่ถูกไล่ที่  โดยมีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ รับผิดชอบ  ซึ่งการพัฒนาที่อยู่อาศัยในที่ดินของกรมเจ้าท่าที่บ้านหาดเล็กนี้  พอช.ได้มอบงบประมาณสนับสนุนการซ่อมแซมบ้านเรือนและสาธารณูปโภคให้แก่ชุมชนที่อยู่อาศัยในที่ดินกรมเจ้าท่าทั้งหมด 738 ครัวเรือน  รวมงบประมาณ 31 ล้านบาทเศษ 

 

“หากมีชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศที่อยู่อาศัยในที่ดินกรมเจ้าท่าจะดำเนินการในลักษณะเดียวกับบ้านหาดเล็ก  กระทรวง พม.และ พอช.ก็จะให้การสนับสนุนเช่นกัน  และไม่ใช่เฉพาะการซ่อมหรือสร้างบ้านเท่านั้น  แต่จะรวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิต  การสร้างอาชีพ รายได้  เพื่อให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยอย่างมั่นคงและมีความมั่งคั่ง  แต่ประชาชนจะต้องรวมตัวกันเป็นกลุ่มหรือเป็นสหกรณ์  ขณะที่ พอช.ก็จะมีงบประมาณสนับสนุนและให้สินเชื่อในการพัฒนาที่อยู่อาศัยด้วย”  พลเอกสุรศักดิ์กล่าว

 

 

นางสาวกิจปภา  ประสิทธิเวช  นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลหาดเล็ก  กล่าวว่า  เทศบาลและชาวบ้านในตำบลหาดเล็กได้รับใบอนุญาตปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำจากกรมเจ้าท่าเมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา ทำให้ชาวบ้านสามารถซ่อมแซมบ้านเรือนที่ทรุดโทรมได้  โดยก่อนหน้านี้เทศบาลฯ และชาวบ้านได้ทำเรื่องเพื่อขออนุญาตจากกรมเจ้าท่าตามระเบียบและขั้นตอนที่กรมเจ้าท่ากำหนดเอาไว้  เช่น  ต้องเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม  เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำที่ไม่เคยได้รับอนุญาตหรือได้รับอนุญาตแต่ปลูกสร้างไม่เป็นไปตามรูปแบบที่ได้รับอนุญาตก่อนวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560  และไปแจ้งต่อกรมเจ้าท่าภายใน 60 วันนับแต่มีคำสั่ง คสช.ที่ 32/2560 (คำสั่งเมื่อ 4 กรกฎาคม 2560) จะได้ยกเว้นโทษทางอาญาและโทษปรับ  และกรมเจ้าท่าสามารถอนุญาตให้ซ่อมแซมบ้านเรือนได้

 

ขณะที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ได้อนุมัติงบประมาณเพื่อสนับสนุนการซ่อมแซมบ้านเรือนที่มีสภาพทรุดโทรมเฟสแรก จำนวน 60 หลัง  งบประมาณไม่เกินหลังละ 25,000 บาท  และงบพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในชุมชนอีก ครัวเรือนละ 25,000 บาท  โดยเริ่มซ่อมแซมบ้านระหว่างวันที่  16-24 กันยายนที่ผ่านมา   มีช่างอาสาจากเครือข่ายบ้านมั่นคงทั่วประเทศ   ทหารหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน 182  ช่างจากเทศบาลฯ และชาวบ้านในตำบลมาช่วยกันซ่อมบ้านประมาณวันละ 100 คน  ขณะนี้ซ่อมบ้านเฟสแรกเสร็จแล้ว 

 

“หลังจากซ่อมแซมบ้าน 60 หลังแรกเสร็จแล้ว  เทศบาลตำบลหาดเล็กและชาวชุมชนจะร่วมกันซ่อมแซมบ้านเรือนที่ทรุดโทรมและมีฐานะยากจนอีกประมาณ 230 หลังให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ จากเป้าหมายครอบครัวยากจนและบ้านเรือนทรุดโทรมทั้งหมด 738 ครอบครัว  โดยจะทยอยสร้างเป็นเฟส  ใช้แรงงานจากชุมชน  ช่างอาสาบ้านมั่นคง  และทหารนาวิกโยธินมาช่วยกันซ่อม  ทำให้ประหยัดงบประมาณ  เพราะงบสนับสนุนจาก พอช.หลังละ 25,000 บาท  ถือว่าไม่มากนัก  เพราะวัสดุต่างๆ มีราคาแพงขึ้น  ดังนั้นบ้านที่ต้องซ่อมแซมมาก  เจ้าของบ้านจะต้องควักเงินออกมาร่วมสมทบ  และต้องไปช่วยบ้านอื่นๆ ซ่อมบ้านด้วยจะทำให้ซ่อมแซมบ้านได้เร็วขึ้น”  นายกเทศมนตรีฯ กล่าว 

 

ทั้งนี้ในจังหวัดตราดมีชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในที่ดินกรมเจ้าท่าและมีความเดือดร้อนเนื่องจากสภาพบ้านเรือนที่ปลูกสร้างมานานอยู่ในสภาพทรุดโทรม  ไม่สามารถซ่อมแซมและปรับปรุงได้  รวมทั้งหมด 26 ตำบล   6 อำเภอ  รวม 5,196 ครัวเรือน  นอกจากนี้ยังมีชุมชนที่อยู่อาศัยในที่ดินกรมเจ้าท่าทั่วประเทศอีกจำนวนมาก  โดยตัวแทนชุมชนจากจังหวัดระยองและภูเก็ตที่มาร่วมงานในวันนี้บอกว่าจะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาที่บ้านหาดเล็กไปเป็นตัวอย่างเพราะมีปัญหาเหมือนกัน

 

สำหรับบทบาทของหน่วยงานต่างๆ ที่ร่วมลงนามในครั้งนี้มีดังนี้  เทศบาลและชุมชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรมเจ้าท่าตำบลหาดเล็ก  ร่วมกันสำรวจข้อมูลผู้อยู่อาศัย  จัดกลุ่มตั้งกลุ่มออมทรัพย์  อนุญาตให้ผู้อยู่อาศัยปรับปรุงซ่อมแซมบ้านพักอาศัยในพื้นที่รับผิดชอบของกรมเจ้าท่า   ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารภายในขอบเขตและเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่า  จัดระบบป้องกันการขยายพื้นที่เพิ่ม  จัดการขยะ  น้ำเสีย  พัฒนาสภาพแวดล้อมในชุมชน และงานพัฒนาด้านต่างๆ ให้เป็นต้นแบบในการพัฒนาที่อยู่อาศัย  โดยเทศบาลร่วมสนับสนุนบุคลากรและงบประมาณตามแผนพัฒนาท้องถิ่น

 

ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดตราด ประสานสนับสนุนงานพัฒนาด้านต่างๆ ในพื้นที่ตำบลหาดเล็ก   ให้เป็นต้นแบบในการพัฒนาที่อยู่อาศัย  รักษาสิ่งแวดล้อม  จัดการขยะ  และน้ำเสีย  รวมทั้งประสานชุมชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรมเจ้าท่าตำบลอื่น  เพื่อสำรวจข้อมูลวางแผนพัฒนาที่อยู่อาศัย  และร่วมจัดทำแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยระดับจังหวัด

 

กรมเจ้าท่า อนุญาตให้ผู้อยู่อาศัยปลูกสร้างอาคารล่วงล้ำลำน้ำในพื้นที่รับผิดชอบของกรมเจ้าท่า และควบคุมการอนุญาตให้ปรับปรุงซ่อมแซมบ้านพักอาศัยของพนักงานท้องถิ่นให้อยู่ภายในขอบเขตและเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่า ควบคุมดูแลการพัฒนาชุมชน  การปรับปรุงซ่อมแซมที่พักอาศัย  รวมถึงการจัดสาธารณูปโภคในชุมชนมิให้กระทบต่อสภาพแวดล้อมทางน้ำหรือประโยชน์สาธารณะ 

 

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สนับสนุนการจัดทำข้อมูล  ออกแบบ  วางผัง  วางแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยระบบสาธารณูปโภค สภาพแวดล้อม คุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจชุมชน เชื่อมโยงเครือข่ายชุมชน และภาคีหน่วยงาน  เพื่อหนุนช่วยการพัฒนาพื้นที่เทศบาลตำบลหาดเล็กให้เป็นตัวอย่างรูปธรรมในการพัฒนาที่อยู่อาศัยและชุมชนสนับสนุนการจัดแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในพื้นที่กรมเจ้าท่า และแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยระดับจังหวัด

 

จังหวัดตราด  สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยพื้นที่เทศบาลตำบลหาดเล็ก ให้เกิดตัวอย่างรูปธรรมการพัฒนาเชิงพื้นที่ในทุกมิติที่ชัดเจน  ขยายการจัดทำแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยสู่พื้นที่กรมเจ้าท่าตำบลอื่น  รวมทั้งการจัดทำแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยระดับจังหวัดต่อไป 

 

ทั้งนี้การจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกในปีนี้  ขบวนองค์กรชุมชนและสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ร่วมกันจัดขึ้นทั่วทุกภูมิภาค   เช่น  ที่สำนักงานองค์การสหประชาชาติ  ถนนราชดำเนินนอก,  ชุมชนริมคลองลาดพร้าว  กสบ.หมู่ 5  กรุงเทพฯ, อำเภอปากช่อง จ.นครราชสีมา,  จังหวัดอุตรดิตถ์  และจังหวัดสตูล  ส่วนที่เทศบาลตำบลหาดเล็ก อ.คลองใหญ่  จ.ตราด  มีประชาชนจากชุมชนต่างๆ  ที่อาศัยอยู่ในดินกรมเจ้าท่าเข้าร่วมงานประมาณ  1,000 คน  เพื่อศึกษาดูงานการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินกรมเจ้าท่า  นอกจากนี้ยังมีผู้แทนจากประเทศเอเซียที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย  เช่น  อินเดีย  ศรีลังกา ปากีสถาน  บังคลาเทศ   กัมพูชา  พม่า  ฟิลิปินส์  เวียดนาม  ฯลฯ เข้าร่วมงานนี้ด้วย

                                               

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"