ผู้แทนการพัฒนาที่อยู่อาศัยจาก 10 ประเทศในเอเชีย ชื่นชมไทยเป็นตัวอย่างการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน


เพิ่มเพื่อน    

ตลอดช่วงเดือนตุลาคมนี้  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ  และขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศจัดงาน “สร้างไทยไปด้วยกัน :  สร้างบ้าน  สร้างชุมชน  ไทยทุกคนมั่นคง  เข้มแข็ง”  เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก (องค์การสหประชาชาติกำหนดให้ทุกวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็นวันที่อยู่อาศัยโลก) เพื่อรณรงค์ปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย  และให้ทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ไขปัญหา  โดยในปีนี้มีผู้แทนจากประเทศเอเซียที่ทำงานด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย 10 ประเทศ  รวม 57 คน  เช่น  อินเดีย  ปากีสถาน  บังคลาเทศ  เวียดนาม  พม่า  กัมพูชา  ฟิลิปินส์ ฯลฯ  มาร่วมประชุมและศึกษาดูงานการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย          รวมทั้งเข้าพบรัฐมนตรีเพื่อเยี่ยมคารวะและสนทนาการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยร่วมกัน

 

ผู้แทนต่างประเทศดูงานพัฒนาที่อยู่อาศัยในประเทศไทย

                โดยเมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา  ในช่วงเช้า  คณะผู้แทนต่างประเทศ  โดยการประสานงานของมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยแห่งเอเชีย (Asia Coalition  for Housing  Right –ACHR) ได้เข้าพบนายกอบศักดิ์  ภูตระกูล  รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล  โดยคณะฯ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาที่อยู่อาศัยในประเด็นต่างๆ  เช่น การเชื่อมโยงเครือข่ายองค์กรชุมชนในเอเชีย   การบริหารจัดการระบบการเงินเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัย  แผนแม่บทพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะยาว  และการใช้ที่ดินรัฐในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย  รวมทั้งการสร้างความร่วมมือในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในระดับภูมิภาคเอเซีย  ทั้งนี้นายกอบศักดิ์ได้รับว่าจะนำประเด็นการหารือกับผู้แทนต่างประเทศในวันนี้ไปนำเสนอต่อพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีต่อไป

                ในช่วงบ่าย  คณะผู้แทนจากต่างประเทศ เช่น ชีลา ปาเทล ประธานสภาองค์กรชุมชนแออัดนานาชาติ  จากประเทศฟิลิปินส์  คลอง สะเร็ง  รองผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงพนมเปญ  เพ็ง สิถี  ผู้ว่าราชการจังหวัดพระตะบอง  ฯลฯ  ได้เข้าพบพลเอกอนันตพร  กาญจนรัตน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่กระทรวง พม. เพื่อแสดงความยินดีในความสำเร็จของประเทศไทยในการพัฒนาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย  และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อนำไปใช้ในแต่ละประเทศต่อไป  

นอกจากนี้คณะผู้แทนจากต่างประเทศยังขอให้ประเทศไทย ซึ่งจะเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า  ได้นำแนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในประเทศไทยเสนอในเวทีประชุมอาเซียน  เพื่อขยายการเรียนรู้จากประเทศไทยสู่ประเทศต่างๆ ในอาเซียนต่อไป  ทั้งในเรื่องการพัฒนานโยบาย  แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะยาว  ระบบการเงิน  กองทุนเพื่อที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย  องค์กรการเงินชุมชน  รวมทั้งการใช้ที่ดินรัฐในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย ฯลฯ

นอกจากนี้ในวันเดียวกัน  ผู้แทนจากต่างประเทศได้ไปร่วมงานวันที่อยู่อาศัยโลกที่ชุมชน กสบ.หมู่ 5 ริมคลองลาดพร้าว  เขตสายไหม  โดยคณะได้ล่องเรือดูสภาพชุมชนริมคลองในเขตสายไหมที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม  และการสร้างบ้านใหม่ริมคลองลาดพร้าว  ซึ่งขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 31 ชุมชน  จำนวน 4,814 หลัง  และก่อสร้างเสร็จแล้ว 2,942  หลัง  จากเป้าหมายทั้งหมด 50 ชุมชน  จำนวน 7,069  หลัง

 

ส่วนการจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกที่ชุมชน กสบ.หมู่ 5 นั้น  ภายในงานมีเวทีเสวนาและเปลี่ยนประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย  โดยมีผู้แทนต่างประเทศเข้าร่วมในเวที  และมีการมอบบ้านกลางให้แก่ผู้สูงอายุ  ผู้พิการ  ผู้ด้อยโอกาสให้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง  จำนวน 5 หลัง  โดยให้อยู่อาศัยฟรี  จ่ายเพียงค่าน้ำประปาและไฟฟ้า   โดยมีพลเอกสุรศักดิ์  ศรีศักดิ์  ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เป็นประธานมอบบ้าน  ทั้งนี้บ้านทั้ง 5 หลังเป็นบ้านชั้นเดียว  ขนาด 4x7 ตารางเมตร  ราคาก่อสร้างประมาณหลังละ 220,000 บาท  โดยชาวชุมชนร่วมกันสมทบเงินสร้างจำนวน 4 หลัง  และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สนับสนุนงบประมาณก่อสร้าง 1 หลัง

 ส่วนชุมชน กสบ.หมู่ 5   มีบ้านที่สร้างใหม่ทั้งหมด 127 หลัง  เป็นบ้านแถว 2 ชั้น  ขนาดห้องละ 4x7 ตารางเมตร   ราคาหลังละ 220,000-350,000 บาท  ขณะนี้สร้างเสร็จไปแล้ว 72 หลัง  ส่วนที่เหลือคาดว่าจะเสร็จทั้งหมดภายในเดือนตุลาคมนี้  เช่าที่ดินช่วงแรก 30 ปีจากกรมธนารักษ์  ราคาตารางวาละ 1.50 บาทต่อเดือน  รวมเนื้อที่ทั้งชุมชน  8 ไร่เศษ  โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ฯ สนับสนุนงบประมาณสร้างบ้านและสาธารณูปโภค  เฉลี่ยครัวเรือนละ 147,000 บาท  ส่วนที่เหลือสนับสนุนสินเชื่อไม่เกินครัวเรือนละ 360,000 บาท  อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาทต่อปี  ชำระคืนภายใน 15 ปี

พลเอกสุรศักดิ์ (กลาง) มอบบ้านกลางให้ผู้ด้อยโอกาส 5 หลัง

 

ต่างชาติยกไทยเป็นต้นแบบแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

การจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกในปีนี้  ขบวนองค์กรชุมชนและสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ร่วมกันจัดขึ้นทั่วทุกภูมิภาค   เช่น  ที่สำนักงานองค์การสหประชาชาติ  ถนนราชดำเนินนอก,  ชุมชนริมคลองลาดพร้าว  กสบ.หมู่ 5  กรุงเทพฯ, อำเภอปากช่อง จ.นครราชสีมา, อุตรดิตถ์  สตูล  สุรินทร์  นครสวรรค์  และเทศบาลตำบลหาดเล็ก อ.คลองใหญ่  จ.ตราด  โดยผู้แทนจากต่างประเทศได้เดินทางไปศึกษาดูงานในพื้นที่ต่างๆ ด้วย

 

จันนา  ไท  ผู้นำชุมชนปุงโร (ริมน้ำ) กรุงพนมเปญ  ประเทศกัมพูชา  กล่าวว่า  การเข้ามาลงทุนในประเทศของนักลงทุนต่างชาติ  โดยเฉพาะจากประเทศจีน  ทำให้ที่ดินมีราคาแพง  คนจนในต่างจังหวัดที่นักลงทุนเข้าไปจะได้รับผลกระทบ  เช่น  ถูกไล่ที่  แต่ในกรุงพนมเปญ  ขณะนี้คนจนจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก  เพราะรัฐบาลมีมาตรการในการช่วยเหลือหรือป้องกันผลกระทบ  เช่น  จัดหาที่ดินที่อยู่อาศัยให้ใหม่  จ่ายค่าชดเชย  ฯลฯ

 

                “เมื่อก่อนหน่วยงานของรัฐไม่สนใจที่จะแก้ปัญหาให้คนจน  ปล่อยให้คนจนอยู่อย่างลำบาก  ที่ชุมชนของฉันเป็นสลัมอยู่ริมน้ำ  มี 150 ครอบครัว  ปลูกสร้างบ้านอยู่บนทางเดิน  มีความกว้างประมาณ  5-6 เมตร  เวลาฝนตกน้ำจะท่วมถึงเข่า  ชาวบ้านอยู่อย่างยากลำบาก  ส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นกรรมกรแบกของ  ขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง  บางครอบครัวก็เก็บผักในบึงมาขาย  มีรายได้เล็กน้อยๆ  บ้านเรือนก็ผุพัง  บางหลังมุงหลังคาด้วยหญ้าคา  บางหลังก็หาถุงหรือพลาสติกมาเป็นหลังคา  แต่ตอนนี้สภาพดีขึ้น  เพราะชาวบ้านรวมตัวกันแก้ไขปัญหา  หน่วยงานรัฐก็เข้ามาช่วย  เช่น  ทำท่อระบายน้ำ  ทำประปา  ไฟฟ้า  ทางเดินเท้า  และชาวบ้านก็ช่วยกันปรับปรุงบ้านเรือนทำให้ชุมชนมีสภาพดีขึ้น”  ผู้นำชุมชนแออัดในกรุงพนมเปญกล่าว

                ส่วนการเดินทางมาศึกษาดูงานในเมืองไทยครั้งนี้   จันนากล่าวว่า  ได้เห็นหลายพื้นที่ที่มีการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยระหว่างหน่วยงานรัฐกับชาวบ้าน  รวมทั้งชุมชนได้ร่วมมือกันทั้งชุมชน  เพราะบางชุมชนมีทั้งคนที่มีอาชีพเป็นข้าราชการ  เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ  เป็นชาวบ้านธรรมดาที่ยากจน  แต่ทุกคนร่วมมือกัน  ไม่แบ่งแยก  ทำให้ตนประทับใจมาก  และที่อยากจะนำกลับไปใช้ที่พนมเปญคือการปลูกพืชผักสวนครัวเอาไว้กินเองในชุมชน  เพราะที่พนมเปญส่วนใหญ่ชาวชุมชนจะซื้อกิน

 

ชีลา ปาเทล ประธานสภาองค์กรชุมชนแออัดนานาชาติ  จากประเทศฟิลิปปินส์  กล่าวว่า  ที่ประเทศของตนก็มีการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคล้ายกับเมืองไทย  เช่น  มีการรวมกลุ่มผู้ที่เดือดร้อน  มีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นกองทุนแก้ไขปัญหา  มีหน่วยงานท้องถิ่นเข้าร่วม  มีการสำรวจข้อมูลหมู่บ้านและชุมชนที่เดือดร้อนว่ามีปัญหาเรื่องอะไร  ชาวบ้านอยู่ในที่ดินของใคร  เพื่อนำข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ไปเจรจากับรัฐบาลเพื่อให้แก้ไขปัญหา  ซึ่งการมาศึกษาดูงานที่ประเทศไทยในครั้งนี้ได้ไปที่อำเภอปากช่อง  (จ.นครราชสีมา) และได้เห็นว่ารัฐบาลได้ยึดคืนที่ดิน (ส.ป.ก.) จากผู้ที่ครอบครองไม่ถูกต้องเอามาให้คนจนที่ไม่มีที่ดินได้อยู่อาศัยและทำมาหากิน  ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก

 

“เรื่องที่จะยึดคืนที่ดินจากคนรวยเอากลับมาให้คนจนเป็นเรื่องที่ไม่ทางที่จะเป็นไปได้ในประเทศฟิลิปินส์  แต่ประเทศไทยทำได้  ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์มาก  ซึ่งฉันอยากจะกลับไปทำที่ฟิลิปินส์บ้าง  และฉันอยากจะบอกคนทั่วไปว่า  คนจนไม่ใช่ปัญหา  หรือเป็นโรคร้ายของเมือง  แต่คนจนคือส่วนหนึ่งของเมือง  และจะต้องมีส่วนในการแก้ไขปัญหาของเมืองและของตัวเองด้วย  และคนจนจะต้องมีที่ยืน  โดยหน่วยงานต่างๆ ต้องเปิดโอกาสให้ชุมชนและคนจนได้แก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง  เพื่อคนจนจะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป  และคนจนจะต้องอยู่ร่วมกันกับเมืองอย่างมีความสุข”   ผู้แทนจากฟิลิปินส์กล่าว

ผู้แทนจากกรุงการาจี  ประเทศปากีสถาน  กล่าวว่า  ได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่บ้านหาดเล็ก จังหวัดตราด  ซึ่งเป็นที่ดินริมทะเล,  ที่ชุมชนเกาะขวาง อ.เมือง  จังหวัดจันทบุรี  เป็นการแก้ไขปัญหาทั้งเมือง  และชุมชนริมคลองในกรุงเทพฯ  ซึ่งชุมชนต่างๆ เหล่านี้เป็นปัญหาที่คล้ายๆ กันในประเทศเอเชีย  ในกรุงการาจีก็มีปัญหาคล้ายกัน  บางชุมชนถูกเจ้าของที่ดินเผาไล่ที่เป็นจำนวนมาก  แต่ชาวบ้านก็ได้รวมตัวกันแก้ไขปัญหา  เช่น  มีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์  จัดตั้งกองทุนต่างๆ  เพื่อเป็นกองทุนสำหรับแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย  แต่ยังไม่สามารถทำได้เหมือนประเทศไทย

 

“ประเทศไทยถือว่าเป็นดาวรุ่งในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย  เป็นตัวอย่างที่ดี  ทำให้เห็นว่าคนจนก็สามารถสร้างบ้านที่ดีๆ และสวยงามได้  ซึ่งประเทศอื่นๆ ยังไม่ได้ทำ  แต่ประเทศไทยได้ทำแล้ว  และสิ่งที่ทำนี้ไม่ใช่แค่การสร้างบ้าน  แต่เป็นวิสัยทัศน์ที่สำคัญมาก  โดยการร่วมมือกันของหน่วยงานต่างๆ  และประชาชนที่ยากจน  โดยมีรัฐบาลสนับสนุน  และควรจะได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับประเทศต่างๆ ในเอเชียและคนยากคนจนอื่นๆ ทั่วโลก”  ผู้แทนจากปากีสถานกล่าว  และบอกในตอนท้ายว่า  เมื่อตนกลับไปการาจีแล้ว  จะนำประสบการณ์จากเมืองไทยไปเริ่มต้นก้าวแรกที่นั่น

บ้านกลางชุมชน กสบ.หมู่ 5

บ้านริมคลอง กสบ.หมู่ 5 เขตสายไหม

      

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"