รำลึก 150 ปีชาตกาลคานธี


เพิ่มเพื่อน    

     ปีนี้ครบรอบ 150 ปีชาตกาลท่านมหาตมา คานธี เป็นโอกาสที่จะได้รำลึกถึงอิทธิพลและความยิ่งใหญ่ของมหาบุรุษแห่งปรัชญา "อหิงสา" และ "ความปรองดอง" ที่ยิ่งใหญ่และทันยุคทุกสมัย
    ผมสัมภาษณ์อาจารย์สุรัตน์ โหราชัยกุล ผู้อำนวยการแห่งศูนย์อินเดียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากที่ได้อ่านข้อความที่ท่านเขียนไว้ในเฟซบุ๊กของท่านว่า 
    มหาตมา คานธี เกิดวันที่ 2 ตุลาคม ปี ค.ศ.1869 ดังนั้นปีนี้จึงเป็น 150 ปีชาตกาลมหาตมา คานธี  (เริ่มตั้งแต่ 2 ตุลาคมนี้ไปถึงปลายปี 2019) ศูนย์อินเดียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขอใช้โอกาสสำคัญนี้จัดกิจกรรมทางวิชาการเกี่ยวกับหลักคิดและแนวปฏิบัติของคานธี คอยติดตามทางเฟซบุ๊กผมหรือเฟซบุ๊กศูนย์อินเดีย จุฬาฯ นะครับ 
    สำหรับวันนี้ขอทิ้งท้ายด้วยข้อความตอนหนึ่งโดยจูดิธ บราวน์ (Judith Brown) ผู้ประพันธ์หนังสือ  "Gandhi: Prisoner of Hope" ที่กล่าวถึงคานธีว่า 
    "คานธีไม่ใช่นักบุญปูนปั้น และก็ใช่ว่าเขาจะพบทางออกที่ถาวรและเป็นจริงต่อปัญหาหลายประการที่เผชิญ เป็นไปได้ด้วยซ้ำว่า เขาไม่เห็นแม้แต่ความสำคัญของปัญหาบางประการ เขาเป็นคนของยุคสมัยและสังคมที่เขาใช้ชีวิตอยู่ ผู้ซึ่งมีภูมิหลังทางปรัชญาและศาสนาอันเฉพาะเจาะจง ที่เผชิญสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมอันเฉพาะเจาะจง เขามีความเป็นมนุษย์อย่างลึกซึ้ง หยั่งได้ถึงความสูงและความลึกของผัสสะและวิสัยทัศน์ ของการรู้แจ้งอันยิ่งใหญ่และความสงสัยอันน่ากลัว รากเหง้าของทัศนคติและการกระทำของเขาลึกซึ้ง และพัวพันสับสนดุจเดียวกับของคนส่วนใหญ่ เขาตัดสินใจเลือกทางที่ดีบ้างแย่บ้าง เขาทำให้บางคนเสียใจ แต่ก็ปลอบใจและรักษาน้ำใจอีกหลายคน เขาต้องประนีประนอมในชีวิตสาธารณะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่โดยพื้นฐานแล้ว เขาเป็นมนุษย์แห่งวิสัยทัศน์และการกระทำ ผู้ซึ่งถามคำถามลึกซึ้งที่เผชิญเผ่าพันธุ์มนุษย์ในการต่อสู้ดิ้นรนที่อยู่กันเป็นชุมชน คือการเผชิญความเป็นจริงแห่งมนุษยชาตินี้เองที่ทำให้เขาสูงส่งอย่างแท้จริง และทำให้การต่อสู้และการมองความจริงของเขาคงอยู่อย่างสำคัญ ในฐานะมนุษย์ผู้ถามคำถามลึกซึ้ง แม้ตัวเขาเองจะไม่มีคำตอบให้ เขาได้กลายเป็นบุคคลแห่งทุกกาลเวลาและสถานที่"
    ใครติดตามอ่านชีวประวัติของคานธีก็ต้องจำจุดผันเปลี่ยนชีวิตที่สำคัญใน ค.ศ.1893 ที่เขาเดินทางไปแอฟริกาใต้ ซื้อตั๋วรถไฟชั้นหนึ่งไปยังเมืองที่ลูกความต้องการ แต่ผู้โดยสารชั้นหนึ่งผิวขาวเห็นผิวคล้ำอย่างคานธีมาอยู่ร่วมชั้นหนึ่งด้วยจึงประท้วง เจ้าหน้าที่สั่งให้คานธีย้ายไปตู้ชั้นสามทั้งๆ ที่คานธีเสียเงินซื้อตั๋วชั้นหนึ่งมาอย่างถูกต้อง 
    พอเจอกับเรื่องอย่างนี้ หนุ่มคานธีไม่ยอมและเกิดเรื่องบาดหมาง ถึงขั้นที่คานธีถูกเจ้าหน้าที่ทำร้าย ไม่แต่เท่านั้นเขายังถูกผู้โดยสารผิวขาวโยนออกมาจากรถไฟ 
    เหตุผลของเจ้าหน้าที่คือ รถไฟชั้นหนึ่งสร้างเพื่อคนผิวขาวเท่านั้น!
    ในปี ค.ศ.1901 คานธีกลับอินเดียแต่มีเสียงเรียกร้องจากชาวอินเดียในแอฟริกาใต้ให้มาช่วย เขาจึงกลับไปที่นั่นเพื่อต่อสู้อีกรอบหนึ่ง
    แต่ดูเหมือนจะไม่ได้ผลนัก เขาตัดสินใจใช้แนวทาง "สัตยาเคราะห์" ซึ่งหมายถึงการไม่ร่วมมือกับกฎกติกาที่ไม่ยุติธรรม แต่เน้นไม่ใช้กำลังและหลีกเลี่ยงความรุนแรงทุกวิถีทาง
    ผลปรากฏว่าวิธีนี้ได้ผล คานธีเชื่อว่าการประท้วงโดยไม่ใช้กำลังให้ผลดีกว่าที่เคยคาดคิดเอาไว้
    คานธีปักหลักต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมอย่างสันติจนถึง ค.ศ.1914 จึงเดินทางออกจากแอฟริกาใต้
    ปีต่อมาคานธีกลับถึงบอมเบย์ ตัดสินใจเลิกการแต่งกายแบบตะวันตกอย่างที่ทำมาตั้งแต่ยังหนุ่มแน่น หันมาแต่งกายด้วยเสื้อผ้าแบบดั้งเดิมของแคว้นคุชราต
    วันที่เขาไปถึง คนอินเดียไปชุมนุมต้อนรับคานธีกลับบ้านอย่างล้นหลาม 
    หลังจากนั้นไม่กี่วัน คานธีไปหา รพินทรนาถ ฐากูร มหากวีแห่งอินเดีย
    รพินทรนาถขนานนามคานธีว่า "มหาตมา" อันแปลว่า ผู้มีจิตใจสูงส่ง
    เขากลายเป็น "มหาตมา" คนแรกของอินเดีย จากนั้นคานธีได้เดินทางไปทั่วประเทศอินเดีย เป้าหมายคือการเรียนรู้อินเดียอย่างแท้จริงด้วยการสัมผัสกับผู้คนที่เป็นชาวบ้าน
    เขาใช้เวลาแสวงหา "อินเดียที่แท้จริง" อยู่ 1 ปีเต็ม
    ปี ค.ศ.1916 คานธีตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้แก่อินเดีย เขาใช้วิธีขอความร่วมมือผนึกกำลังคนละเล็กคนละน้อยจนกลายเป็นพลังมหาศาลที่สั่นคลอนเจ้าผู้ครองนครจากอังกฤษ
    ปี 1919 ผู้ปกครองอังกฤษประกาศกฎหมายโรว์แลตต์ซึ่งมีเนื้อหากดขี่ชาวอินเดียหนักหน่วงขึ้นอีก  คานธีประกาศว่าในวันที่ 30 มีนาคม 1919 ขอความร่วมมือให้คนอินเดียหยุดงาน
    ผลปรากฏว่าคนอินเดียเป็นล้านๆ คนพร้อมใจกันผละงาน เป็นการสั่นคลอนอำนาจรัฐบาลอังกฤษอย่างชัดเจน 
    คานธีใช้ "อหิงสา" ทำให้อังกฤษต้องยอมคืนเอกราชให้อินเดีย
    แต่แล้ว 30 มกราคม ค.ศ.1948 ในตอนเย็น ขณะที่คานธีอยู่กลางสนามหญ้า กำลังสวดมนต์ไหว้พระตามกิจวัตร ขณะที่คานธีกำลังพูดว่า "เห ราม" แปลว่า "ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า" นาถูราม โคทเส ชาวฮินดูผู้คลั่งศาสนา ไม่ต้องการให้ฮินดูสมานฉันท์กับมุสลิมยิงปืนใส่คานธี 3 นัด คานธีล้มลงทันที มหาบุรุษผู้นี้สิ้นลมหายใจในวัย 78 ปี
    คำคมของคานธีที่ฝากไว้กับชาวโลกถึงวันนี้ มีว่า
    "ใช้ชีวิตให้เสมือนว่าพรุ่งนี้ท่านจะไม่มีชีวิตอยู่แล้ว เรียนรู้ให้เสมือนว่าท่านจะอยู่ในโลกนี้ตลอดไปไม่มีวันสิ้นสุด"
    Live as if you were to die tomorrow. Learn as if you were to live forever.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"