ปชป.หลังจบศึกชิงหัวหน้าพรรค


เพิ่มเพื่อน    

 ปชป.ต้องเปลี่ยนจุดยืน แพ้หยั่งเสียง ถอนตัวทันที

 

                การดีเบต ชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ของ 3 ผู้ลงสมัคร อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ-นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม-อลงกรณ์ พลบุตร เสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา ส่วนการหยั่งเสียงสมาชิกพรรค ปชป.ทั่วประเทศ เพื่อออกเสียงเลือกหัวหน้าพรรค ปชป.จะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้าเป็นต้นไป แยกเป็นการเลือกผ่านแอปพลิเคชัน วันที่ 1-3 พ.ย.61 และการเลือกผ่านจุดลงคะแนน แบ่งเป็นภาคเหนือ-กลาง-กทม. วันที่ 1 พ.ย.61 ภาคใต้และอีสาน วันที่ 5 พ.ย.61 โดยคาดกันว่า ช่วงเย็นวันที่  5 พ.ย. อาจจะทราบผลการหยั่งเสียงว่า ผู้สมัครชื่อไหนได้รับการหยั่งเสียงจากสมาชิกพรรค ปชป.มากที่สุดให้เป็นหัวหน้าพรรค ปชป.

                ถาวร เสนเนียม อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตแกนนำ กปปส. ในฐานะคีย์แมน กุนซือสำคัญของกลุ่มเพื่อนหมอวรงค์ ที่ชูสโลแกน กล้าเปลี่ยน เพื่อประชาชน ให้สัมภาษณ์ที่บ้านพักหลังประชุมวอร์รูมทีมงาน ที่มี นพ.วรงค์และแกนนำกลุ่มเพื่อนหมอวรงค์อีกหลายคน ร่วมหารือกันหลายชั่วโมง ในช่วงใกล้โค้งสุดท้ายก่อนการหยั่งเสียง

                ถาวรสงวนท่าที ไม่ขอให้ความเห็นมากนักต่อความมั่นใจว่า นพ.วรงค์จะได้รับเสียงโหวตจากสมาชิกพรรคทั่วประเทศให้มาอันดับ 1 ชนะคู่แข่งอย่าง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เป็นหัวหน้าพรรค ปชป.มายาวนาน 13 ปี หรือไม่ โดยบอกว่าช่วงนี้ก็ต้องทำเต็มที อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าหากผลหยั่งเสียงออกมา นพ.วรงค์ไม่ได้เสียงมาอันดับ 1 ทางทีมงานก็จะขอถอนตัวแน่นอน ไม่รอให้ไปถึงการโหวตในที่ประชุมใหญ่พรรควันที่ 11 พ.ย. ซึ่งจะเป็นการโหวตที่มีผลตามกฎหมาย 

                “ถ้าทีมผมแพ้ บายเลย ไม่ต้องให้เป็นเรื่องหนักใจของกรรมการบริหารพรรค ที่ประชุมใหญ่พรรค แล้วก็จะร่วมมือกับทีมที่ชนะอย่างเต็มที่” ถาวรกล่าวย้ำ หลังถามว่า ถ้าผลการหยั่งเสียงสมาชิกพรรคออกมา ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแพ้การหยั่งเสียง ก่อนประชุมใหญ่พรรค 11 พ.ย.จะเป็นอย่างไร

                ถาวร-แกนนำกลุ่มเพื่อนหมอวรงค์ กล่าวถึงจุดชี้ขาดว่า ผู้สมัครคนไหนจะได้ชัยชนะในการหยั่งเสียงที่จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้าว่า หลักใหญ่จะอยู่ที่การทำความเข้าใจกับสมาชิกพรรค ปชป.ทั่วประเทศ ส่วนการดีเบตอย่าคิดว่าสมาชิกจะได้บริโภคข้อมูลข่าวสารทุกคน แต่ข้อเท็จจริงสะสมมายาวนานหลายปี สมาชิกพรรคเขาเรียนรู้ว่าพรรค ปชป.ควรมีจุดยืนอย่างไร ควรมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ควรจะมีอะไรใหม่บ้าง

                ...นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามดูถูกเราเป็นระยะๆ ในยุคที่ยังมีสภาฯ เพราะเหตุว่าพรรคควรได้ขยายฐานไปยังภาคอีสาน ภาคเหนือ ในยุคที่ผมเป็น ส.ส.ใหม่ๆ เมื่อปี 2538-2539 พรรค ปชป.เคยมี ส.ส.อีสาน 30 กว่าคน ส.ส.ภาคเหนือ 20 กว่าคน แต่ล่าสุดเรามี ส.ส.เขตภาคอีสาน เมื่อการเลือกตั้งปี 2554 แค่ 4 คน ภาคเหนือไม่ถึง 10 คน ผมคิดว่าสมาชิกพรรค ปชป.ไม่พึงพอใจอยู่กับการที่ว่าเราเป็นพรรคที่ไม่เคยทำผิดแม้แพ้การเลือกตั้งก็ตาม ซึ่งผมคิดว่านั่นไม่ใช่ความพึงพอใจ แต่ความพึงพอใจ ความต้องการของสมาชิกพรรคต้องการเห็นพรรค ปชป.เป็นพรรคการเมืองที่มีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและเอานโยบายไปใช้ เช่น นโยบายคนจน เกษตรกร ต้องมาก่อน หรือแม้แต่สังคมผู้สูงอายุ และรวมถึงความเท่าเทียม การเป็นประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมหรือแม้แต่คนรุ่นใหม่ที่อยากมีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองกับบ้านเมือง

                ยุคผม ยุคคนอายุ 50-60 เป็นยุคที่ทำให้ประเทศนี้พ่ายแพ้มาแล้ว เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ดูไปที่เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม ล้าหลังเราหมด แต่วันนี้เราล้าหลังประเทศเหล่านั้น เพราะเรามัวแต่อนุรักษ์ พอใจแต่กับสิ่งเดิมๆ ความคิดเช่นนี้ต้องทุบทำลายลงไป disruption ต้องทำขึ้นมาใหม่ สร้างวัฒนธรรมทางความคิดใหม่ๆ เช่น สร้างแนวทางการประกอบอาชีพ ขจัดแนวทางทุนสามานย์ ทุกอย่างทำได้ เมื่อดูต่างประเทศแล้ววกกลับมาดูที่บ้านเรา พรรค ปชป.ที่ถูกกล่าวถึงมากในช่วงการเลือกตั้งทุกครั้ง เพราะเป็นพรรคเก่าแก่ ประชาชนมีความหวังอยากให้พรรคได้เข้าไปเปลี่ยนแปลงประเทศ เป็นผู้นำของชาติ ผมยังไม่พอใจที่จะยืนอยู่ ณ จุดเดิม จึงสนับสนุนหมอวรงค์

                ถาวรกล่าวต่อไปว่า จากการที่เราเคยลงไปพบประชาชนตั้งแต่ก่อนหน้านี้คือช่วง 5-6 ปี จนถึงปัจจุบัน เราคิดว่าประชาชนต้องการให้พรรคเปลี่ยนจุดยืนและเปลี่ยนนโยบาย จุดยืนคือเราต้องการเห็นพรรค ปชป.มีภาพลักษณ์ใหม่ มีความก้าวหน้าทั้งด้านนโยบายและภาพลักษณ์ที่ถูกมอง แต่ไม่ได้หมายถึงว่า ปชป.เก่าคร่ำครึ แต่วันนี้สถานการณ์มันเปลี่ยน ผมเคยเสนอแนวทางทฤษฎีกบต้ม ณ วันนี้ ทฤษฎีนี้ยังใช้ได้ เมื่อเราถูกมองว่าเป็นพรรคเชิงอนุรักษนิยม ยึดมั่นแนวทางเดิม ไม่มีเรื่องใหม่ แม้สถานการณ์จะเป็นแบบใหม่ เราจะพูดแต่เรื่องเศรษฐกิจ เสรีนิยม ประชาธิปไตย แต่ปรากฏว่ายุคเสรีนิยมประชาธิปไตยมันหมดไปแล้ว โลกาภิวัตน์และกลไกตลาดเข้ามาแทนที่ ส่งผลให้รวยกระจุก จนกระจาย เพราะความเป็นเสรีนิยม

                จึงเห็นว่าประชาธิปไตยใหม่ พรรค ปชป.จะต้องเปลี่ยนจุดยืนพรรคใหม่จากตรงนั้น มาตรงนี้ คือเป็นประชาธิปไตยที่เพียบพร้อมด้วยสวัสดิการสังคม คนจนต้องมาก่อน เกษตรกรต้องมาก่อน ทั้งหลายทั้งปวง ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่สถานการณ์โลกมันเปลี่ยน แต่เราถูกมองว่าเราอยู่ในจุดเดิม

                “ดังนั้นเราต้องเปลี่ยนแปลงจุดยืนมาสู่จุดยืนใหม่ และเปลี่ยนแนวนโยบายใหม่ ให้มาเข้ากับสถานการณ์ คนก็เห็นเราอยากเปลี่ยน”

                ผมยังไม่กล้าประเมินว่าทีมของเรามั่นใจขนาดไหน แต่สิ่งที่เราพบในการไปคุยกับประชาชนก็คือ ประชาชนต้องการเปลี่ยน แม้แต่กับตัวผู้สมัคร ส.ส. คนเรียกร้องให้มีการทำไพรมารีโหวต ผ่านกฎหมายพรรคการเมือง แต่ คสช.กลับยกเลิก แต่ก็เป็นเรื่องดีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เห็นว่าแม้กฎหมายไม่กำหนด แต่ก็มีใจ การที่กลุ่มกล้าเปลี่ยน ได้รับความสนใจ เพราะเราได้เสนอแนวทางว่า ปชป.ต้องเปลี่ยนทั้งจุดยืนของพรรคจากอนุรักษนิยมมาเป็นประชาธิปไตยแบบใหม่ ที่มุ่งเน้นผสมผสานระหว่างเสรีนิยมบวกสวัสดิการเพื่อให้สังคมอยู่กันได้ อันเป็นสิ่งที่เราต้องการให้เกิดขึ้นใหม่

                “อย่าลืมว่าผลโพลที่เชื่อถือได้ เช่น ของนิด้าโพล ทำติดต่อกัน 3 ครั้ง คะแนนนิยมของพรรค ของผู้นำพรรคตกต่ำ ถามว่าท่านทำผิดหรือไม่ ไม่ใช่ แต่สิ่งที่บอกถึงจุดยืนพรรค นโยบายพรรค แนวทางพรรค ไม่เปลี่ยน ให้ตรงกับความต้องการของประชาชน ผมจึงคิดว่าวันนี้เรามาถูกทาง“

                การดีเบตเป็นเรื่องของประชาชนทั่วไปที่จะได้รู้วิสัยทัศน์ ประสบการณ์ ความมุ่งมั่นของคนที่จะมาทำหน้าที่หัวหน้าพรรค ปชป.ที่อย่างน้อยที่สุดจะต้องได้เข้าไปรับผิดชอบประเทศที่ก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็นตำแหน่งหนึ่งตำแหน่งใด ซึ่งเป็นผู้นำในรัฐบาล ที่เราหาเสียงทำความเข้าใจกับประชาชนไปถึงขั้นหากเราเป็นนายกรัฐมนตรีไปแล้ว เรามองข้ามความเป็นหัวหน้าพรรคไปแล้ว เพราะเรามั่นใจว่าถ้าเราได้สัก 180-190 ที่นั่ง เราจะได้เสียงมาอันดับ 1 ของพรรคการเมือง แล้วเรามีสิทธิ์โหวตที่จะได้รับการเลือกให้เป็นนายกฯ ได้

                สำหรับการเคลื่อนไหวสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรค โดยสนับสนุน นพ.วรงค์ ถาวรยกเหตุผลอธิบายว่า เพราะ นพ.วรงค์มีความมุ่งมั่นมาในแนวทางและจุดยืนใหม่ คือคนจนมาก่อน เกษตรกรมาก่อน คนจนและเกษตรกรต้องมาก่อน เขาช่วยเหลือชาวนา อีกทั้งเมื่อไปดูเรื่องทุจริต โดยเฉพาะก่อนรัฐประหาร คสช. สิ่งที่เขากล่าวหานักการเมือง ก็คือการทุจริตเชิงนโยบาย โดยเฉพาะจำนำข้าว รัฐเสียหายไปห้าแสนล้านบาท ซึ่งสิ่งที่คนกล่าวหานักการเมือง ถึงตอนนี้ผ่านไป 4 ปีกว่า สิ่งเหล่านั้นยังคงมีอยู่และจะอยู่ต่อไปอย่างน่ากลัว เพราะเกิดการจับมือกันระหว่างทุนสามานย์กับระบบราชการ จนเห็นได้จากผลสำรวจความโปร่งใสของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ของไทยตกไปอยู่อันดับที่ 37 ทุจริตปีละสามแสนล้านบาทบวกลบ น่าเป็นห่วง หมอวรงค์เป็นผู้ที่ติดตามจนมีการเอาผิดกับคนทุจริตติดคุกไปร่วม 30 กว่าคน อดีตนายกฯ หลบหนีไป รมต.-พ่อค้านอนคุก สิ่งเหล่านี้ตรงกับความต้องการของประชาชนและเขาเป็นนักการเมืองน้ำดี เป็น ส.ส. 13 ปี เหมือนกับอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรคมา 13 ปี จึงมีความพร้อมที่จะนำพาพรรค ปชป.และนำพาประเทศชาติให้เป็นประเทศระดับแนวหน้าได้

                วันนี้ระบบต่างๆ ไม่ได้แค่ปฏิรูปเท่านั้นแล้ว แต่ต้องทุบทำลายทิ้ง Disruption โดยเฉพาะที่ทุนสามานย์ร่วมมือกับระบบราชการไปสร้างกติกาบางอย่าง จนเอากติกาเหล่านั้นมาปิดปากประชาชน เหตุผลต่างๆ เหล่านี้ ดังนั้นต้องอาศัยคนกล้ามาทำงาน

                ถาวรพูดถึงว่าหาก นพ.วรงค์ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรค ปชป. สิ่งที่ ปชป.จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมทันทีก็คือ “ต้องเปลี่ยนตำแหน่ง จุดยืนพรรคจากพรรคเชิงอนุรักษนิยม ที่ยึดมั่นแต่เสรีนิยมประชาธิปไตย มาเป็นประชาธิปไตยเชิงสวัสดิการ และต้องเป็นพรรคที่ต้องเปิดกว้าง หัวหน้าพรรคต้องใจใหญ่ รับฟังความคิดเห็นประชาชนทุกหมู่เหล่า” พร้อมกับยกตัวอย่างว่า...เมื่อวันที่ 23 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งทีมหมอวรงค์ไปที่ชุมพร ประชาชนในพื้นที่เรียกร้องให้มีการทำไพรมารีโหวต หรือทำโพลระหว่างอดีต ส.ส.กับผู้ที่เสนอตัวจะลงสมัคร ส.ส.ที่เป็นคนหน้าใหม่ แบบนี้เราต้องใจกว้าง เราจะมาบอกว่า มีคนอยู่แล้ว จะทำให้ยุ่งยากทำไม แบบนี้ไม่ได้ รวมถึงต้องเปลี่ยนเรื่องเชิงนโยบาย เช่น สังคมไทยที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่เงินสวัสดิการที่รัฐให้ต่อเดือน ยังไม่เพียงพอต่อการยังชีพ ดังนั้นเรื่องเงินให้กับผู้สูงอายุ บำเหน็จบำนาญให้ผู้สูงอายุทุกกลุ่มคน และต้องมีระบบประกันการว่างงาน ระบบประกันการเจ็บป่วย ระบบการหักภาษีของคนที่กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา สิ่งเหล่านี้ต้องมีการเปลี่ยนในเชิงนโยบาย

                ...ขอย้ำว่า เกษตรกรและคนจนต้องมาก่อน แต่ที่ผ่านมาเช่นรัฐบาลชุดนี้ เน้นเรื่องอีอีซีต้องมาก่อน คนกรุงเทพฯ ต้องมาก่อน จัดรถไฟฟ้าให้ 10 กว่าสาย แต่ระบบชลประทานให้เกษตรกรกลับมีไม่ทั่วถึง โรงเรียนในชนบทไม่ได้มาตรฐานเกือบ 30,000 กว่าโรงเรียน ที่สำคัญคนแก่นอนติดเตียงติดบ้านเยอะ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลทุกรัฐบาลโปรยยาหอม แต่ไม่ทำจริง เราจึงเห็นว่าคนจนต้องมาก่อน ทั้งคนจนเมืองและคนจนชนบท อย่างปัญหาของเกษตรกรหลายเรื่อง มองว่าแก้ไขปัญหาได้ อย่างเรื่องยาง เราปลูกยางได้ปีละ 3-4 ล้านตัน แยกเป็นส่งไปขายเป็นวัตถุดิบ 85 เปอร์เซ็นต์ นำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ในประเทศ 15 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นไม่กี่แสนตัน แต่ส่วนหลังสามารถนำเงินเข้าประเทศได้มากกว่า จึงควรมีนิคมอุตสาหกรรมยางหรือเมืองยาง อย่างน้อย 6 พื้นที่พร้อมกันทั่วประเทศ หรือกลุ่ม 5 เสือ ไปขายยางล่วงหน้า แล้วมากดราคาในประเทศ โดยมีโรงงานยาง มีบริษัทร่วมทุนกับต่างประเทศ แล้วมากดราคาในการซื้อยางจากเกษตรกร สิ่งเหล่านี้ เราถึงประกาศว่าเราจะเป็นศัตรูกับ 5 เสือผู้ส่งออกยางพารา เราจึงเห็นว่า คนจนในชนบท และเกษตรกร จะต้องได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลที่มาจากหมอวรงค์ที่เป็นหัวหน้าพรรคก่อน

                นอกจากนี้ เราเรียนรู้จากความล้มเหลวของทหาร เกือบ 5 ปีที่ผ่านมา กองทัพใหญ่โตขึ้น งบประมาณไปอยู่ที่นั่นจำนวนเยอะ เราเรียนรู้ว่าคนที่ทำหน้าที่ในยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็น สนช.หรือคนที่อยู่ฝ่ายบริหาร อยู่ในรัฐบาล รวมถึงข้าราชการประจำ มีการจับมือกับทุนสามานย์ เอาเปรียบคนจน มีการทุจริตคอร์รัปชันสูงมาก เราจะต้องเน้นเรื่องการป้องกันปราบปรามการทุจริต คดีทุจริตต้องไม่มีอายุความ หากมีทุจริต ประชาชนในฐานะผู้เสียหายต้องฟ้องคดีเอาผิดเองได้

                มีพรรคการเมืองบางพรรค นักเคลื่อนไหวการเมืองบางคน ยังยึดมั่นกับทฤษฎีแนวคิดมาร์กซิสต์ คือล้มสถาบันฯ สร้างความเท่าเทียมตามจินตนาการของแนวคิดนี้ ทั้งที่ระบบนี้มันล่มไปแล้ว จีนและยุโรปตะวันออกเปลี่ยนไปแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่ระบบเผด็จการแล้ว เปลี่ยนจากเผด็จการอำนาจเบ็ดเสร็จมาเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตย ใช้กลไกตลาด แต่ทิ้งคนจนไว้ข้างหลัง ต่อจากนี้เราจะทำความเข้าใจกับประชาชนว่า ระบบมาร์กซิสต์ใช้ไม่ได้แล้ว การที่จะมาแก้มาตรา 112 เราไม่ยอมเด็ดขาด การต่อสู้กับคนที่มีแนวคิดสุดโต่ง เราจะไม่ยอม ไม่ถอย ข้ามศพเราไปก่อน นอกจากนี้เราต้องกระจายอำนาจ เราต้องใจใหญ่รับฟังจากทุกฝ่าย เมื่อประชาชนเขาต้องการให้ทำโพลผู้สมัคร ส.ส.เพื่อให้สมาชิกพรรค สาขาพรรคมีส่วนร่วม เราต้องกระจายอำนาจ

                เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ เรื่องนี้เราจะเปลี่ยนกองทุนหมู่บ้านมาเป็นธนาคารชุมชนเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุน จะต้องมีการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการทำธุรกิจร่วมกันในชุมชนในรูปแบบต่างๆ เช่น สหกรณ์ การให้มีองค์กรธุรกิจอาสาสมัครการกุศล และธนาคารเฉพาะกิจจะต้องดูแลภาคเอกชนมากขึ้น ต้องมีการลดช่องห่างระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้ลง เพราะทุกวันนี้ธนาคารพาณิชย์มีกำไรแต่ละปีจำนวนมากเป็นหมื่น-แสนล้านบาท แต่ประชาชนกลับจนลง

                สิ่งเหลานี้ต้องได้รับการแก้ไขโดยทีมกล้าเปลี่ยนเพื่อประชาชนของพรรคประชาธิปัตย์ที่พร้อมจะเข้าไปดำเนินการทันที รวมถึงการพิจารณาเรื่องการเปลี่ยน สปก.ให้เป็นโฉนดที่ดิน ก็ควรต้องพิจารณาให้เป็นนโยบาย เพราะสินทรัพย์ถ้าเปลี่ยนจากการทำกินในที่ดินของรัฐมาเป็นที่มีกรรมสิทธิ์ แต่ไม่ให้มีการจำหน่ายจ่ายโอนภายใน 20 ปี เขาก็จะมีความมั่นคงในชีวิตในเรื่องการเข้าถึงแหล่งทุนได้ แต่ก็ต้องดูองค์ประกอบอื่นด้วย เช่น ได้ทำกินในที่ สปก.มาแล้วกี่ปี เช่น ต้อง 10-20 ปี ถึงจะได้โฉนด โดยให้มีการตั้งคณะทำงานมาพิจารณา 

                ถาวร-แกนนำพรรค ปชป. ระบุว่า หากทีมของ นพ.วรงค์ชนะในการหยั่งเสียง ได้เป็นหัวหน้าพรรค การเปลี่ยนแปลงภายในพรรคต้องเกิดขึ้นแน่ก่อนการเลือกตั้ง เช่น เรื่องการทำไพรมารีโหวตเลือกผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค แม้คำสั่งหัวหน้า คสช.จะแก้ไข พ.ร.บ.พรรคการเมือง ให้ใช้การตั้งคณะกรรมการจำนวน 11 คนมาพิจารณาแทน เพราะรูปแบบดังกล่าวก็ยังเปิดช่องให้มีการตั้งคนที่เขาตั้งคนที่เขาสั่งได้ ทางกลุ่มก็เห็นด้วยกับไพรมารีโหวตในเขตเลือกตั้งที่มีเหตุผลเพียงพอที่จะทำเ พราะการทำไพรมารีโหวตก็มีค่าใช้จ่าย เช่น ตัวผู้เสนอตัวลงสมัคร ส.ส.ในเขตที่จะทำมีศักยภาพพอที่จะมาทำไพรมารีโหวต

                เมื่อถามว่า อยู่พรรค ปชป.มาร่วม 23 ปี ในฐานะคนในพรรคมองเข้ามา อะไรคือที่พรรคต้องเปลี่ยนแปลงเป็นอันดับแรกๆ ถาวรย้ำว่า “ก็ต้องเรื่องจุดยืน จุดยืนที่ถูกมอง ก็คือเราถูกมองว่าเราไม่ก้าวหน้า เรียกว่าถูกมองว่าเป็นพรรคอนุรักษนิยม ไม่มีอะไรใหม่ ทั้งการผลิตนโยบายและวัฒนธรรมภายในพรรค และนโยบายของพรรคไม่เข้ากับสถานการณ์ ซึ่งวิธีการเปลี่ยนแปลงทำได้โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม”

                ...หลายคนบอกว่าอยากเข้ามาอยู่กับพรรค ปชป. แต่ว่าเกรงต้องไปตามหลังคนอื่น ไปต่อแถว เปลี่ยนได้ไหม ต้องพิจารณาให้คนเข้ามาทำงานตามความรู้ความสามารถ เช่น คนรุ่นใหม่ คนหัวสมัยใหม่ ที่อาจอายุมากก็ได้ เช่น เขตเลือกตั้งบางเขตที่ประชาชนบอกเบื่ออดีต ส.ส.ของพรรคคนนี้แล้ว พรรคต้องฟังและมีกระบวนการที่ยุติธรรม เปิดโอกาสให้คนอื่นได้เข้ามา การผลิตนโยบายต้องเปิดโอกาสให้สมาชิกและผู้รู้เข้ามามีส่วนร่วม การจะนำพรรคไปร่วมรัฐบาลหรือไม่ร่วมรัฐบาล ต้องให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วม ส่วนเหตุที่คะแนนนิยมจากผลสำรวจต่างๆ ในช่วงหลัง คะแนนพรรคลดลงก็มองว่าเป็นเพราะคนเขามองว่า ปชป.เป็นพรรคอนุรักษนิยม ไม่มีอะไรใหม่

 

ให้คำมั่นหากชนะไม่ล้างบาง

แต่ต้องยกเครื่องส่งคนลง ส.ส.

                -ตอนนี้เริ่มมีอดีต ส.ส.พรรค ปชป.บางคน ออกมาบอกว่า หากกลุ่มหมอวรงค์เข้ามาบริหารพรรค จะเข้าไปล้างบางคนในพรรค เช่น อดีต ส.ส.เดิม?

                ไม่มีครับ จะเป็นคนเก่าเหมือนเดิมหรือจะเป็นคนใหม่ จะได้เข้ามาหรือไม่ได้เข้า ต้องอยู่ที่สมาชิกพรรค แม้แต่นายถาวร เสนเนียม ก็ต้องถูกพิสูจน์จากสมาชิกพรรค หากในเขตเลือกตั้งที่ 6 จังหวัดสงขลาที่ผมเป็นอดีต ส.ส.อยู่ ถ้ามีผู้เสนอตัว พรรคเห็นว่าต้องทำไพรมารีโหวต แบบนี้ก็ต้องทำ อย่างนี้ไม่ใช่ล้างบาง ต้องใจกว้าง เห็นกับพรรค เห็นกับบ้านเมือง บางคนอาจเข้าใจผิด เพราะไพรมารีโหวตในกฎหมายพรรคการเมืองไม่ได้ยกเลิก เพียงแต่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น แต่ ปชป.จะต้องเป็นพรรคที่ทันสมัย เพราะเราไม่มีเถ้าแก่พรรค ไม่มีผู้มีบารมี ที่จะมาชี้เป็นชี้ตายให้กับพรรค

                -หาก นพ.วรงค์มาเป็นหัวหน้าพรรค จะทำให้พรรค ปชป.ชนะการเลือกตั้งได้ ส.ส.มากกว่าพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นได้เลยหรือไม่?

                เป็นไปได้ ก็ด้วยนโยบายที่ทางทีมประกาศไว้ ซึ่งที่บอกยังแค่เป็นเรื่องคร่าวๆ แต่จะต้องมีการกลั่นให้ตกผลึกอีกจากการรับฟังความเห็นทุกฝ่าย เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพียงแต่เราต้องทำงานให้หนัก เพราะวันนี้ข้อมูลข่าวสารมันเดินไวมาก การสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียจะทำให้เราทำความเข้าใจกับประชาชนเร็วขึ้น

                -การเลือกตั้งใกล้จะเกิดขึ้นแล้วเหลือไม่กี่เดือน ที่ผ่านมาฝ่ายนายอภิสิทธิ์และทีมงาน เช่น กรณ์ จาติกวณิช ก็มีการไปรับฟังความเห็นกลุ่มอาชีพต่างๆ เช่น กลุ่มชาวนา ทางทีมอภิสิทธิ์มีการจัดเตรียมนโยบายไว้แล้ว หากสุดท้ายต้องมาเปลี่ยนแม่ทัพพรรคจริงจะมีผลต่อการเลือกตั้งของพรรค ปชป.หรือไม่?

                ถ้าสิ่งที่นายกรณ์ทำไว้ดี ชุดของหมอวรงค์ก็นำมา เพราะพรรค ปชป.ไม่ใช่พรรคของนายอภิสิทธิ์ นายกรณ์ หมอวรงค์ หรือนายถาวร ถ้าคุณนำทรัพยากรของพรรคไปจัดทำนโยบาย แล้วคุณไม่ส่งมอบก็ใช้ไม่ได้ ถ้าสิ่งที่หมอวรงค์และทีมงานทำไว้ดี แต่คุณใจคับแคบไม่ส่งมอบให้ทีมของอภิสิทธิ์ที่หากชนะ ก็ถือว่าใช้ไม่ได้ อย่ามาอยู่พรรค ปชป. อย่ามาเป็นนักการเมือง ทางเราก็ยินดีส่งมอบสิ่งที่เราศึกษา เก็บข้อมูล ส่งมอบให้หมดและยืนยันเรายังอยู่ในพรรค ปชป. เพราะเป็นพรรคของเรา อภิสิทธิ์มี 1 หุ้น ถาวรก็มี 1 หุ้นเท่ากัน ไม่ต่างกันเลย และยืนยันว่า ผลการเลือกหัวหน้าพรรคที่จะออกมา จะไม่ส่งผลทำให้พรรคแตกแน่นอน ยกเว้นคนที่ใจน้อยใจไม่กว้าง เวลาพรรคจะทำไพรมารีโหวตก็ออกมาโวยวาย แบบนี้ไม่ได้ ส่วนเรื่องของความมั่นใจของทีมเพื่อนหมอวรงค์ อย่าตอบว่ามั่นใจเลย ก็ทำงานเต็มที่ ทำความเข้าใจให้เต็มที่ แพ้ชนะเป็นเรื่องที่เราทำประโยชน์ให้กับพรรคได้

 

..........................

 

ปชป.ตั้งรบ.-จะหนุนบิ๊กตู่หรือไม่ “มาร์ค” ไม่ใช่ผู้ตัดสิน

 

         ถาวร-แกนนำพรรค ปชป.-คีย์แมนกลุ่มเพื่อนหมอวรงค์ ในการชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ปชป. วิเคราะห์การเมืองการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นว่า ขณะนี้ยังประเมินอะไรไม่ได้ เพราะยังไม่ถึงช่วงที่แต่ละพรรคการเมืองจะเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.-เปิดนโยบายพรรค อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าสนใจคือ ตอนนี้มีการพูดกันไปถึงเรื่องพรรคนอมินี พรรคแนวร่วม ที่มีความเป็นไปได้ แต่เบื้องต้นก็ประเมินว่าการที่จะมีพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งจะได้ ส.ส.เกิน 200 เสียง คงเป็นไปได้ยาก นอกนั้นก็จะมีพรรคนอมินี พรรคแนวร่วม ซึ่งถ้าประชาชนได้เรียนรู้ เขาก็จะไม่เลือก สิ่งสำคัญ เขาเลือกนักการเมือง พรรคการเมืองที่เขาคิดว่าจะได้เข้าไปนั่งในสภาฯ จริงๆ เขาไม่ได้เลือกเพื่อจะให้ไปสร้างคะแนนสะสม

                ...อันนี้ผมพูดจากประสบการณ์ คือเลือกคนที่คิดว่าเลือกไปแล้วน่าจะได้เป็น ส.ส.น่าจะได้รับเลือกตั้ง น้อยมากที่จะเลือกเพราะความสงสาร อยากให้ได้คะแนนบ้าง อย่างไรก็ตาม ระบบที่เอาความเป็นพรรค ความเป็นผู้สมัครไว้ในบัตรเลือกตั้งใบเดียว ทำให้ประชาชนตัดสินใจยาก ประชาชนจะเอาตัวบุคคลเป็นตัวตั้งก่อน พรรคจะมาทีหลัง

                -มองว่าฝ่ายขั้วเพื่อไทยกับพรรคแนวร่วม เช่น พรรคประชาชาติ เพื่อธรรม เพื่อชาติ พวกนี้รวมกันแล้วจะได้ ส.ส.เกินกึ่งหนึ่ง 250 หรือไม่?

                ไม่น่าจะเกิน พรรคที่น่าจะได้ ส.ส.มากสุดก็คือพรรคเพื่อไทย ประชาชนเขาก็อยากเลือกคนของเพื่อไทย เว้นเสียแต่เพื่อไทยจะแบ่งคนที่เป็นตัวแม่เหล็กไปลงในพรรคอื่นสัก 10-20 คน เขาจะแบ่งหรือไม่ แต่หากแบ่งไปมันก็ยิ่งชัดเจนขึ้น ตอนนี้ยังเห็นแค่ 2-3 คน ที่กระโดดออกมาไปเป็นตัวจักร ก็ไม่น่าจะได้รับความนิยมมากนัก

                ถามความเห็นว่า มองกลยุทธ์การเมืองของทักษิณนี้อย่างไร ถาวรเอ่ยขึ้นมาว่า “เขาเป็นคนที่มีความฉลาดทางการเมืองมากๆ หาตัวจับยาก” พร้อมกับกล่าวเสริมว่า...คือมีการเขียนกติกามาอย่างไร เขาพลิ้วได้หมด อย่าง รธน.ปี 2540 เขียนเพื่อให้รัฐบาลเข้มแข็ง เขาก็นำนักการเมือง พรรคการเมือง หลังเลือกตั้งเสร็จมายุบรวม จนหลายคนบอกว่าไทยรักไทย เหมายกเข่ง เซ้งยกพรรค จนฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ไม่ได้ หลังจากนั้นก็มาทำนโยบายประชานิยมให้คนติด ออกนโยบาย ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ มาครอบงำพรรคเพื่อไทย ประกาศอย่างโจ่งแจ้งเลย มาถึงวันนี้ กรธ.เขียนสูตรใหม่ไม่ให้พรรคใหญ่ได้เสียงเกินครึ่งในสภาฯ เขาก็ทำสูตรใหม่ ทำพรรคนอมินี พรรคแนวร่วมขึ้นมา พรรคแนวร่วมบางพรรคหยิบเอาคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์การเมือง ก็เน้นไปที่เสรีนิยมประชาธิปไตยโดยไม่ได้คำนึงถึงความอยู่รอดของชาติบ้านเมือง เพราะรู้ว่าคนรุ่นใหม่ชอบความเป็นเสรี โดยไม่ได้มุ่งไปที่คนยากจน เกษตรกร เขาเลือกตลาดอีกหนึ่งตลาด นั่นเป็นความฉลาดของทักษิณ

                -ถ้ามองว่าฝ่ายขั้วดังกล่าวจะไม่ได้เกิน 250 ที่นั่ง แสดงว่ามองว่าอีกฝ่าย เช่น พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ พรรครวมพลังประชาชาติไทย จะได้เกินกึ่งหนึ่ง?

                ไม่ชัวร์หรอก เขาก็ไม่ชัวร์ เราก็ไม่ชัวร์ ณ วันนี้ เพราะยังไม่ได้เปิดตัวนโยบาย ผู้สมัคร อันนี้สันนิษฐานจากกติกา

                ส่วนพื้นที่เลือกตั้งในภาคใต้ ที่ตอนนี้มีพรรคประชาชาติ และคนในพรรคอย่างอดีต ส.ส. 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ออกจากพรรค ปชป.ไป เช่น แจะอามิง โตะตาหยง ทางถาวร-แกนนำ ปชป. ยอมรับว่า มีผลกระทบแน่ ก็แบ่งกันไป ผมไม่ต่อว่าใคร เพราะเราก็ต้องมองตัวเองว่าเรามีเสน่ห์เพียงพอ มีคุณงามความดีเพียงพอหรือไม่ ที่จะให้คนอยู่กับเรา มีอนาคตที่สดใสให้เขาไหม ผมคิดว่าในพื้นที่ยะลา ปัตตานี นราธิวาส น่าจะแบ่งกันหลายพรรค อันนี้พูดตามความเป็นจริง ไม่ได้เข้าข้างตัวเอง ส่วนจังหวัดที่เหลือตั้งแต่ชุมพรจนไปถึงสตูล ประชาธิปัตย์ก็ยังคงได้เปรียบพรรคอื่น เว้นเสียแต่เป็นข้อยกเว้นของบางเขตบางจังหวัดที่ประชาชนเขามองว่า ไม่เคยทำหน้าที่ให้เขาเต็มที่ ซึ่งถ้ามีแบบนี้อยู่ในพรรค ปชป. ถ้าผมกับหมอวรงค์เป็นผู้บริหาร ต้องให้ทำไพรมารีโหวต คือถ้าใครเคยเป็นแล้วจะมาผูกขาดตลอดกาล ไม่ได้ เพราะยุคนี้สมาชิกพรรคเป็นเจ้าของพรรคอย่างแท้จริง เขาต้องมีส่วนในการคัดเลือกผู้สมัคร ไม่ใช่มาตีขุมว่า ถาวร เสนเนียม เป็น ส.ส.มาแล้ว 6 สมัย สมัยที่ 7 ต้องมีสิทธิ์ได้ลงอีก เพราะในช่วงนั้นนายถาวรอาจไม่มีศักยภาพ อาจละเว้นหน้าที่ ไม่ใส่ใจประชาชน ประชาชนเขาต้องมีสิทธิ์เปลี่ยนได้

                ถามอีกว่า พรรค ปชป.จะได้ ส.ส.ลดลงหรือไม่ หากหมอวรงค์เป็นหัวหน้าพรรค ถาวรออกตัวว่า ไว้รอดู แต่เราก็ตั้งเป้าไว้ 180 ขึ้นไป เพื่อเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

                -ถ้าผลเลือกตั้งออกมา โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงในบัญชีแคนดิเดตนายกฯ ของพลังประชารัฐ โดยผลเลือกตั้งออกมาคือประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.มาอันดับ 2 แต่พลังประชารัฐได้ ส.ส.มาอันดับ 3 ปชป.จะยกมือสนับสนุนพลเอกประยุทธ์หรือไม่?

                ไม่มีอะไรที่เป็นสูตรแน่นอน ยกเว้นสูตรในใจผม ผมร่วมกับพรรคเพื่อไทยไม่ได้ สูตรที่จะจับมือใครให้เป็นนายกฯ ผมคิดว่าให้ถึงวันนั้นเสียก่อน ต้องไปถามสมาชิกในองค์ประชุมใหญ่พรรค ปชป.ก่อนด้วย

                -ไม่จำเป็นต้องแคนดิเดตนายกของ ปชป.จะต้องถูกเลือก?

                ต้องกลับมาถามสมาชิกพรรค แต่เวลาเราชู มันอยู่ที่ว่าถ้าคะแนนนำโด่ง ถ้าคะแนนมาอันดับ 1 ยังไงหัวหน้าพรรค ปชป.ก็ต้องเป็นนายกฯ แต่ถ้าไม่ปฏิเสธความจริง การโหวตกันในที่ประชุม มันต้องล็อบบี้กันมาก่อน มันต้องคุยกันมาก่อน ไม่ใช่คุณมาหลอกประชาชน คุณจะดันทุรังว่าผมจะต้องเป็นนายกฯ ให้ได้ ผมคิดว่าก็ต้องยอมรับความจริง การพูดคุย หาพรรคแนวร่วม เอา ส.ว.เข้ามาร่วมได้หรือไม่ ที่จะให้หัวหน้าพรรคเราได้เป็นหัวหน้ารัฐบาล เขายอมให้เราหรือไม่ ต้องมีการเจรจากัน กว่าจะเข้าห้องประชุม อันนี้มีทุกประเทศที่มีระบบรัฐสภา ถ้าไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงเบ็ดเสร็จ

                ส่วนหากว่าผลเลือกตั้งออกมาโดยพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.อันดับ 1 ประชาธิปัตย์มาอันดับ 2 จะให้เวลาพรรคเพื่อไทยไปตั้งรัฐบาลก่อนหรือไม่ ถาวรยืนยันว่า ถ้าเพื่อไทยก็ต้องแข่งกันก่อน คือผมคิดว่า อันนี้ความคิดผมนะ ผมไม่ยอม ผมไม่ยอมให้ฝ่ายเพื่อไทย ผมไม่ยกมือให้เพื่อไทยเป็นรัฐบาล ผมไม่ยอม ผมไม่ทำ คนอื่นไม่ทราบ เพราะมีเสียงอยู่

                -มีการมองกันว่า การที่พยายามจะดันหมอวรงค์ขึ้นมา เพราะหากหัวหน้าพรรคยังเป็นอภิสิทธิ์ อาจมีปัญหา เพราะอภิสิทธิ์ตั้งท่าค้านพลังประชารัฐและพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา?

                อย่าเพิ่งไปเข้าใจอย่างนั้น อภิสิทธิ์ก็ไม่สามารถที่จะเป็นเผด็จการในพรรคได้ ไม่เหมือนพรรคอื่น ผมว่าคุณอภิสิทธิ์ก็ต้องกลับมาถามที่ประชุมใหญ่พรรคเหมือนกัน ถามกรรมการบริหารพรรคก่อน ส่วนจุดยืนการเมืองของทีมหมอวรงค์ หากได้เป็นหัวหน้าพรรค เรื่องแนวทางการตั้งรัฐบาลนั้น เราจะไม่ร่วมมือกับคนที่ทุจริต และคนที่ล้มล้างสถาบัน รวมถึงจะร่วมมือกับคนที่จะทำหน้าที่เพื่อประชาชน อย่างที่เราบอกคือเราจะโฟกัสไปที่การช่วยเหลือคนจน เกษตรกรก่อน

                -ความเป็นไปได้ร่วมมือกับพลังประชารัฐ เป็นพันธมิตรกัน?

                หากเราพิจารณาแล้วไม่อยู่ในลักษณะต้องห้าม หรือมีองค์ประกอบ คุณสมบัติ ที่เข้ากันได้ ก็จับมือกันได้ ส่วนเพื่อไทยเข้าองค์ประกอบลักษณะต้องห้าม คือทุจริต และพรรคเราเป็นคนที่เอาคนของเพื่อไทยเข้าคุกไปหลายคน

 

....................................................................

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"