'โจ๊ก'ถอยฟันแรปประเทศกูมี


เพิ่มเพื่อน    

    "เทพโจ๊ก" มาแล้ว! ฟันฉับ "ประเทศกูมี"  ผิด ก่อนถอยกรูด อ้างยังไม่ได้รับมอบหมาย ถือเป็นการสะท้อนความเห็นเยาวชน "นักวิชาการ" ชี้เนื้อเพลงแค่วิจารณ์ไม่ถึงขั้นทำประเทศเสียหาย แนะอย่าถึงขั้นจับติดคุก "โอ๊ค" เหน็บปล่อยเพลงแค่ 4 วันดังกว่าคืนความสุขฯ อีก "จตุพร" ระบุเป็นบทเรียนภาครัฐ ยิ่งใช้อำนาจยิ่งเกิดการต่อต้าน
    เมื่อวันที่ 28 ต.ค. พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รักษาราชการแทนผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(รรท.ผบช.สตม.) ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) กล่าวถึงกรณีเพลงประเทศกูมี ที่บัญชียูทูบ Rap Against Dictatorship ได้เผยแพร่ จนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า ขณะนี้ได้แบ่งผู้ที่เกี่ยวข้องออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.ผู้ที่ทำการอัพโหลดคลิปเพลงนี้ลงในยูทูบ 2.ผู้ที่ทำ-แต่งคลิปเพลงดังกล่าว และ 3.ผู้ที่เข้าไปกดไลค์ กดแชร์คลิปดังกล่าว ซึ่งอยู่ระหว่างการพิสูจน์ คาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะทราบตัวบุคคล 
    "จากนั้นจะรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขอหมายจับเรียกผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพราะทำให้ประเทศเสียหาย เป็นการนำข้อมูลอันเป็นเท็จลงสู่ระบบคอมพิวเตอร์ มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 10,000 บาท" พล.ต.ต.สุรเชษฐ์กล่าว
    ต่อมาในช่วงเย็น เพจสุรเชษฐ์ หักพาล ได้โพสต์ข้อความในหัวข้อว่า “ประเทศไทย ประเทศของพวกเราทุกคน อย่าสับสนกับกระแสข่าวที่ออกไป" โดยมีเนื้อหาว่า ยุคนี้เป็นยุคที่เปิดกว้างให้ประชาชนทุกคน มีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมในทุกๆ ด้าน ซึ่งผู้ใหญ่ต้องยอมรับความจริงที่ว่า ไม่สามารถห้ามหรือจำกัดความคิดเห็นส่วนบุคคลได้ โดยเฉพาะความคิดเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ ถือเป็นการสะท้อนความคิดเห็นอีกมุมมองหนึ่ง ที่ผู้ใหญ่ควรรับฟังและสำหรับประเด็นข้อถกเถียง ของการเผยแพร่เนื้อหาเพลงประเทศกูมี เมื่อขอบเขตการแสดงความคิดเห็นบางส่วนถูกมองว่ากระทบประเทศชาติ หรือกระทบหัวใจใครก็แล้วแต่ การดำเนินคดีตามกฎหมาย ต้องว่ากันไปตามข้อเท็จจริงอย่างมีเหตุผล ให้ความเป็นธรรมกับกลุ่มนักแต่งเพลงและทุกฝ่าย เพื่อให้ทุกอย่างคลี่คลายไปด้วยดี
    "สืบเนื่องมาจากสื่อหลายสำนักโทร.เข้ามาสัมภาษณ์ผมถึงประเด็นดังกล่าว ซึ่งยังไม่มีผู้บังคับบัญชามอบหมายให้ดูแลคดีนี้โดยตรง เพื่อไม่ให้ข้อมูลการนำเสนอผิดพลาด หรือเบี่ยงประเด็น จึงขอให้ข้อมูลผ่านทางนี้เท่านั้นนะครับ" เพจสุรเชษฐ์ระบุ
    พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน จะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ โดยพ.ต.อ.ไพบูลย์ น้อยหุ่น รรท.ผบก.ปอท. ได้สั่งการให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบเนื้อหาของเพลงว่าเข้าข่ายความผิดหรือไม่ ซึ่งไม่มีบุคคลนอกเข้าร่วม ผู้พิจารณาในเรื่องนี้เป็นกลุ่มพนักงานสอบสวนของ ปอท. ที่จะหาข้อสรุป คาดว่าจะมีความชัดเจนในสัปดาห์หน้า 
    "บก.ปอท.มีข้อมูลของบุคคลในคลิป ทั้งนักร้อง คนแต่งเพลง แต่ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด ขณะนี้ยังไม่มีการเชิญบุคคลที่อยู่ในคลิปเพลงมาสอบสวน อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลรวบรวมพยานหลักฐานอื่นๆให้ครบถ้วนก่อน ถ้าหากพบว่าเข้าข่ายมีความผิด จึงจะเชิญมาสอบสวนตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป" พ.ต.อ.ศิริวัฒน์กล่าว
    ถามถึงกรณีมีการแชร์คลิปวันที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เชิญหรือไปควบคุมตัว หรือไปพบบรรดาศิลปินแรปเตอร์ แล้วมีคนไม่เห็นด้วยโห่ไล่ รองโฆษก ปอท.กล่าวว่า ตรวจสอบแล้วเป็นภาพเหตุการณ์เมื่อหลายเดือนก่อน ขณะนี้ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยไหนไปพบ หรือควบคุมตัวบุคคลในคลิปเพลงประเทศกูมีเลย 
    ซักว่าเรื่องนี้สังคมจับตาการทำงานของตำรวจเพราะส่วนมากไม่เห็นด้วยกับการตั้งข้อหากลุ่มศิลปิน รองโฆษก บก.ปอท.กล่าวว่า ทาง ปอท.ไม่กดดัน เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่ปฏิบัติตามกรอบกฎหมาย และว่ากันตามข้อเท็จจริง ถ้าฝ่ายกฎหมายพิจารณาแล้วว่าไม่มีความผิด ก็จะไม่ดำเนินการใดๆ
    ขณะที่ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว Prinya Thaewanarumitkul ถึงกรณีที่กลุ่ม Rap Against Dictatorship แต่งเพลงแรปประเทศกูมี ตอนหนึ่งระบุว่า กรณีนี้ไม่มีประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิผู้อื่น ก็มีแต่เรื่องละเมิดกฎหมาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกมาเตือนว่าเพลงนี้อาจผิดพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ แต่การที่ในเนื้อเพลงอาจมีบางข้อความที่มีความคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค ยังไม่ถูกยกเลิก หรือคดีเสือดำก็มีการดำเนินการอยู่ แต่ก็ไม่น่าถึงขนาดผิดพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ เพราะการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตามมาตรา 14 ต้องก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน (มาตรา 14 (1)) หรือเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือเศรษฐกิจของประเทศ (มาตรา 14(2)) ด้วย
ชี้ไม่ทำให้ ปท.เสียหาย
    "ถ้าจะบอกว่าเพลงนี้กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ หรือทำให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศ เราก็ต้องแยกแยะก่อนว่า ความมั่นของของรัฐ กับความมั่นคงของรัฐบาล เป็นคนละเรื่องกัน เราไม่ควรจะชังชาติ หรือว่าร้ายประเทศตัวเอง แต่การพูดถึงปัญหาของประเทศตนเอง ไม่ได้หมายความว่าเป็นการให้ร้ายประเทศตนเองเสมอไป ถ้าความตั้งใจคือการวิจารณ์รัฐบาลที่บริหารประเทศ ว่าทำไมทำให้เกิดปัญหานั้น  ผมเห็นว่าเพลงนี้ก็เป็นแค่การวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ได้ถึงกับทำให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศ และจะว่าไป เพลงนี้ก็คือเพลงเพื่อชีวิต แบบสมัย 14 ตุลา และ 6 ตุลานั่นแหละ แต่เป็นดนตรีแบบสมัยนี้ ข้อเท็จจริงในเพลงเพื่อชีวิตสมัยก่อนก็ไม่ได้ตรงทุกเรื่อง หลายเพลงที่มีเนื้อหาคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงปัจจุบันก็ยังร้องอยู่ ไม่ได้เป็นปัญหาตรงไหน" ผศ.ดร.ปริญญากล่าว 
    รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิตฯ กล่าวว่า โดยสรุปคือ นี่เป็นแค่การแสดงออก จะเห็นด้วยหรือเห็นต่างก็ว่ากันไป แต่อย่าถึงขนาดจะเอามาติดคุกให้ได้เลยครับ แล้วก็อย่าไปกล่าวหาหรือใส่ร้ายป้ายสีอย่างมักง่ายว่ามีผู้อยู่เบื้องหลัง เว้นแต่ว่ามีหลักฐานก็ดำเนินคดีกันไปเลย และที่สำคัญกว่านั้นคือ ฝ่ายคนที่เห็นต่างก็อย่าไปขับไล่ไสส่งให้ไปอยู่ประเทศอื่น เผด็จการไม่ได้หมายถึงว่าต้องเป็นผู้มีอำนาจ แต่เผด็จการหมายถึงการเอาตนเองเป็นที่ตั้ง ไม่ฟังคนอื่น ถ้ามีอำนาจขึ้นมาก็จะจับคนที่เห็นต่างมาขัง หรือถ้าไม่มีอำนาจก็อาจใช้ความรุนแรงใส่ หรือไล่ไปอยู่ประเทศอื่นแบบนี้แหละ
    ศาสตราจารย์ ดร.เกษียร เตชะพีระ ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงเพลงประเทศกูมี ในหัวข้อ “ประเทศเรามี: เราต้องเลิกโกหกตัวเองตั้งแต่บัดนี้" ระบุว่า น้อยครั้งที่ผมได้ฟังเพลงแล้วน้ำตาไหลถึงสะอึกสะอื้น เพราะคลื่นเสียงถ้อยคำถูกทุ่มถล่มทะลักจากปากนักร้องเข้าหาโสตประสาทของเราไม่หยุดหย่อนตลอดเวลากว่าห้านาที  มันเป็นความอัปลักษณ์ อุบาทว์ เลวร้าย หน้าไหว้หลังหลอก โหดเหี้ยม ป่าเถื่อน ปลิ้นปล้อนตลบตะแลง หน้าด้าน ถ่อยเถื่อน ไร้ยางอาย ฯลฯ ที่ล้วนเป็นความจริง ที่เราเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันตลอดสี่ปีที่ผ่านมา แล้วเราไม่มีสิทธิเสรีภาพที่จะพูดออกมาอย่างที่เราเห็น วิจารณ์ออกมาอย่างที่เราคิด ด่าว่าสาปแช่งออกมาอย่างที่เรารู้สึก เพราะผู้มีอำนาจไม่ต้องการฟัง
    "ใช่ครับ ไม่เพียงประเทศของพวกเขา มันยังเป็นประเทศเดียวกันของพวกเราด้วย และประเทศของเรามีอย่างนั้นจริงๆ นั่นแหละ ต่อให้จับคนร้องคนฟังไปขังให้หมดทั้งประเทศก็ตาม ก็ไม่อาจเปลี่ยนหรือจับกุมคุมขังความจริงนั้นได้ เมืองไทยมาถึงวินาทีที่เราสบตากันโดยไม่ต้องพูดอะไรแม้แต่คำเดียวก็เข้าใจกันได้ว่าเรากำลังอยู่กันอย่างไร ประเทศเรามีอะไร เราจะรักประเทศ แก้ไขกอบกู้ประเทศเราจากความล้มละลายทางศีลธรรมได้ ต้องเริ่มจากยอมรับความจริงของสิ่งที่ประเทศเรามีก่อนตั้งแต่บัดนี้ เราอาจจะไม่สามารถบอกให้ผู้มีอำนาจเลิกโกหกเรา แต่เราต้องเลิกโกหกตัวเองตั้งแต่บัดนี้" ศาสตราจารย์ ดร.เกษียรกล่าว
    ส่วนนายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก แสดงความเห็นประเด็นเพลงแรปประเทศกูมี ตอนหนึ่งระบุว่า ถ้อยคำเนื้อหายกข้อเท็จจริง และใช้ถ้อยคำที่เสียดสีสังคม เสียดสีงานราชการ หรือเสียดสีผู้บริหารประเทศทั้งที่ผ่านมาและในปัจจุบัน ไม่ได้มีความหมายเฉพาะตัวบุคคล แต่สร้างความรู้สึกให้กับคนฟังโดยเห็นได้ชัดเจนว่า สิ่งที่แสดงออกเป็นการเหยียดหยามประเทศไทยชัดๆ ซึ่งตามเนื้อเพลงในสิ่งที่ได้ยกขึ้นอ้างนั้น แม้จะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งก็เป็นบางเรื่องและเป็นเรื่องของบางคน และเป็นเรื่องที่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงส่วนเสี้ยวของประเทศไทยเท่านั้น ซึ่งสิ่งเหล่านั้นมันไม่ได้ทำให้ประเทศไทยแย่ไปหมดทั้งประเทศ แต่ตามเนื้อหาโดยรวมๆ แล้วกลับทำให้เกิดความรู้สึกและเห็นว่าประเทศไทยไม่มีส่วนดีเลย ผู้นำเสนอเพลงดังกล่าวมีเจตนาสุจริตที่จะกล่าวอ้างเพื่อให้สังคมดีขึ้นหรือไม่
เหน็บดังกว่าคืนความสุข
    ด้านนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ภาพเปรียบเทียบยอดเข้าชมเพลงดังกล่าว กับเพลงคืนความสุขให้ประเทศไทย ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งปล่อยออกมาตั้งแต่เดือน มิ.ย.2014 มีคนชม 2,583,833 ครั้ง แต่เพลงประเทศกูมี ปล่อยออกมาเมื่อ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา มีคนชมมากกว่า 12 ล้านครั้ง พร้อมระบุข้อความว่า “สี่ปีซ่อม สี่วันสร้าง”
    นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า ตอนแรกคนอาจจะไม่สนใจ มีผู้ฟังจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มเฉพาะเท่านั้น แต่เมื่อภาครัฐให้ความสนใจทำให้เกิดเป็นกระแสให้คนตามไปดู จนทำให้ยอดวิวขึ้นอย่างรวดเร็วทะลุหลัก 6 ล้านวิวแล้ว
    “ในกรณีนี้เป็นตัวอย่าง บทเรียนที่สำคัญของภาครัฐในการใช้อำนาจ เมื่อมีความพยายามใช้อำนาจจึงเกิดการต่อต้าน และยิ่งหากมีการจับกุมตามที่ประกาศ เป็นข่าว จะยิ่งทำให้เพลงนี้เป็นที่สนใจ เป็นเพลงฮิตประจำปี ที่มียอดวิวมากที่สุด โดยที่รัฐนั่นเองเป็นคนโฆษณา เพราะฉะนั้น การแก้ไขปัญหาด้วยอำนาจ ก็ไม่ใช่ความสำเร็จเสมอไป นี่เป็นตัวอย่างของความล้มเหลว ท้ายที่สุดก็กลายเป็นไฟลามทุ่ง” นายจตุพรกล่าว
    นายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กในหัวข้อ “อานุภาพ Social Media!!!” ระบุว่า เพียงแค่สัปดาห์เดียว เพลงแรปประเทศกูมี ก็มีผู้เข้าถึงกว่า 9 ล้านวิวแล้ว เห็นหรือยังว่าอภินิหารโซเชียลมีเดียมีพลานุภาพยิ่งกว่าอภินิหารทางกฎหมาย
    "ยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว นี่คือสัญญาณที่จะบอกว่าผลการเลือกตั้งครั้งหน้า ใครคุมหัวใจโซเชียลมีเดียได้ก็จะได้รับชัยชนะ แบบพลิกล็อกถล่มทลาย น่าเวทนา คนหน้าโง่ เอาน้ำมันไปดับไฟ นี่ก็ประเทศกูมีเหมือนกัน เมื่อจะเปิดเทศกาล ด่าประจานกันทั้งเมืองแล้ว ก็ขอวอน ให้ระวังสักหน่อยว่าอย่าด่ากันจนบ้านเมืองพังก็แล้วกัน ศัตรูภายนอกจ้องเขมือบอยู่นะครับ จะเย้าจะด่ากัน ก็ขอให้ถนอมใจกันไว้ คำนึงถึงความสามัคคีในชาติ รักษาบ้านรักษาเมืองไว้ให้มั่นคงด้วย"  กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตรกล่าว
    นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และประธานมูลนิธิมัลลิกาเพื่อประชาชน โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ @MallikaBoon ระบุว่า “พวกดารานักการเมืองทั้งหลายที่คิดจะโหนกระแสเพลงนี้ ประเทศกูมี ฟังแรปทุกท่อนอย่างละเอียดแล้วหรือยัง ถามจริง! ไม่สังเกตอะไรเลยรึ เห็นภาพละเอียดหรือยัง ไม่สังเกตอะไรเลยรึ #โลกสวยหลบไป #มาตรา116 สั่งสอนไปให้รู้ว่าผิดกฎหมาย อย่าหยุด ดำเนินคดีเพียงเพราะกระแส ประเทศต้องมีกติกา”
    นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา ได้แสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊กส่วนตัวเช่นกัน ตอนหนึ่งว่า ได้ฟังและดูเพลงประเทศกูมีแล้ว เห็นว่าเป็นเพลงที่แม้ว่าจะไม่มีดนตรีมากนักตามประสาเพลงแรป ไม่เหมือนเพลงยุค '70s ที่ผมชอบ แต่คำร้องนั้นมีคำร้องที่แสดงความรู้สึกตรงไปตรงมาได้ดีมาก ส่วนมิวสิกวิดีโอก็ทำได้ดี แม้ว่าตอนท้ายจะมีภาพความรุนแรงที่ชัดแจ้งและนานเกินไปนิด 
    "โดยรวมทั้งเพลงแล้วถือเป็นเพลงที่ดีเพลงหนึ่งของยุคสมัย สมควรที่จะทำใจให้กว้างและเป็นธรรมยอมรับความเห็นของสมาชิกของสังคม ว่าเป็นเพลงที่ควรเป็นหมายเหตุของประเทศไทยเพลงหนึ่งที่จะได้บันทึกกันไว้ต่อไป" ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนากล่าว. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"