ปิดงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ ที่จังหวัดสุรินทร์ ผวจ.มอบบ้านมั่นคง 169 หลัง เตรียมขยายผลทั้งจังหวัด


เพิ่มเพื่อน    

 

สุรินทร์/ พอช.ร่วมกับขบวนเครือข่ายองค์กรชุมชนจัดงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ ที่จังหวัดสุรินทร์เป็นแห่งสุดท้าย  ด้าน ผวจ.สุรินทร์มอบบ้านมั่นคงให้ชาวบ้าน 169 หลัง  และเตรียมขยายผลแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินทั้งจังหวัด

 

ตลอดช่วงเดือนตุลาคมนี้  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ร่วมกับขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศและภาคีเครือข่ายจัดกิจกรรม ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ (องค์การสหประชาชาติกำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็นวันที่อยู่อาศัยโลก  เพื่อให้นานาประเทศตระหนักถึงปัญหาเรื่องการขาดแคลนที่อยู่อาศัยและหาทางแก้ไขปัญหา)  ขึ้นในภูมิภาคต่างๆ  เช่น  เชียงใหม่  อุตรดิตถ์  นครสวรรค์  ปราจีนบุรี  สระแก้ว  ตราด  สตูล  กรุงเทพฯ  และสุรินทร์   โดยในจังหวัดสุรินทร์จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29-30  ตุลาคม

 

โดยในวันที่ 29 ตุลาคม  มีการจัดกิจกรรม “การจัดการสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัยและการจัดการขยะภายในเมืองอย่างยั่งยืน” ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์  มีกิจกรรมต่างๆ เช่น  การจัดเวทีเสวนา  นิทรรศการ  แบ่งกลุ่มเรียนรู้  มีนายประภัสสร์  มาลากาญจน์  ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์  เป็นประธานในพิธี  มีผู้บริหารสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสุรินทร์  และเครือข่ายประชาชนจากจังหวัดต่างๆ เข้าร่วมงานประมาณ  400 คน  ในงานนี้ผู้ว่า จ.สุรินทร์ได้มอบบ้านให้ประชาชนที่จัดทำโครงการบ้านมั่นคงภายในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์  ‘โครงการบ้านมั่นคงสหกรณ์บริการบ้านมั่นคงสุรินทร์  จำกัด’  จำนวน 169 หลัง 

นางสุดใจ  มิ่งพฤกษ์  ผู้ประสานงานโครงการบ้านมั่นคงเมืองสุรินทร์  กล่าวว่า  ชุมชนแออัดในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์มีจำนวนทั้งหมด 32 ชุมชน  ส่วนใหญ่ปลูกสร้างบ้านในที่ดินรกร้างของทางราชการ  มีความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย  สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม  มีปัญหาขยะ  น้ำเน่าเสีย  ฯลฯ  ในช่วงแรกชาวชุมชนยังไม่กล้ารวมกลุ่มพัฒนาชุมชน  เพราะเป็นชุมชนบุกรุก  ชาวบ้านขาดความเชื่อมั่น  ต่อมาในปี 2548  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. เข้ามาสนับสนุนให้ชุมชนหนองบัวจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการพัฒนาที่อยู่อาศัยเป็นชุมชนแรก  จากนั้นจึงขยายไปสู่กิจกรรมกลุ่มเยาวชนรักษาสิ่งแวดล้อม  ฯลฯ  และนำไปสู่การจัดทำโครงการบ้านมั่นคงในปี 2551 จำนวน 200 ครอบครัว  โดยเทศบาลเมืองสุรินทร์สนับสนุนการออกเทศบัญญัติเรื่องการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด  ทำให้ชุมชนสามารถซ่อมแซมและปรับปรุงที่อยู่อาศัยได้

 

“คนจนก็เหมือนกับต้นไม้ที่ถูกกดทับเอาไว้ไม่ให้เติบโต  แต่เราก็ฝันอยากจะมีบ้านใหม่ที่สวยงาม  เด็กก็อยากจะมีห้องส่วนตัว  โครงการบ้านมั่นคงช่วยทำให้ความฝันของพวกเราเป็นจริง  พวกเราคนจนในจังหวัดสุรินทร์จึงรวมตัวกันทำเรื่องที่อยู่อาศัย  เริ่มจากที่ชุมชนหนองบัว  จากนั้นจึงขยายไปยังชุมชนอื่นในเมืองสุรินทร์  รวม 11 ชุมชน  และนอกจากจะทำเรื่องที่อยู่อาศัยแล้ว  เรายังขยายไปทำเรื่องกลุ่มออมทรัพย์  ตอนนี้มีเงินรวมกันทั้งหมดประมาณ 20 ล้านบาท  มีกองทุนสวัสดิการที่ทำร่วมกันทั้งเมือง 23 ชุมชน  สมาชิกกว่า 2,000 คน  มีกองทุนช่วยเหลือดูแลสมาชิกประมาณ 3 ล้านบาท”  นางสุดใจกล่าว

ปัจจุบันเครือข่ายองค์กรชุมชนได้ร่วมมือกับเทศบาลเมืองสุรินทร์และภาคีต่างๆ แก้ไขปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยจำนว11 ชุมชน  รวม 1,250  ครัวเรือน  เช่น  ชุมชนหนองบัว 200 ครัวเรือน, ชุมชนศรีบัวราย 157 ครัวเรือน, ชุมชนประทุมเมฆ-ชุมชนศรีผไทสมันต์-ชุมชนศรีจุมพล 160 ครัวเรือน, ชุมชนบ้านถนน 87 ครัวเรือน, ชุมชนโดนไข 87 ครัวเรือน, ชุมชนเทศบาลอนุสรณ์ 259 ครัวเรือน, ชุมชนพรหมเทพ 88 ครัวเรือน  ชุมชนหมอกวน 51 ครัวเรือน และสหกรณ์บริการบ้านมั่นคงสุรินทร์ จำกัด 169 ครัวเรือน  โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณรวมทั้งหมด 140.3 ล้านบาท แยกเป็นงบพัฒนาสาธารณูปโภค  รวม 36 ล้านบาทเศษ  งบอุดหนุนการก่อสร้างที่อยู่อาศัย 20.7 ล้านบาท  สินเชื่อ 81.9 ล้านบาท  ฯลฯ

 

นางอนงค์  ดัชถุยาวัตร รองประธานชุมชนทุ่งโพธิ์ (สหกรณ์บริการบ้านมั่นคงสุรินทร์ จำกัด) กล่าวว่า  ตนเองมีความรู้สึกดีใจที่คนจนมีโอกาสมีบ้านเป็นของตัวเอง  เพราะส่วนใหญ่คนจนในเมืองสุรินทร์จะปลูกบ้านอยู่ในที่ดินบุกรุกหรือที่ดินรกร้างของทางราช  ส่วนตัวเองเคยเช่าบ้านอยู่มานานหลายปี  ค่าเช่าเดือนละ 3,000 บาท  เมื่อมีโครงการบ้านมั่นคงชาวชุมชนต่างๆ จึงรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการสร้างบ้าน  ออมกันเดือนละ 200-500 บาท

ต่อมาในปี 2560 จึงรวมกลุ่มกันซื้อที่ดินบริเวณทุ่งโพธิ์  เนื้อที่ 7 ไร่ 2 งาน ราคา 16 ล้านบาท  โดยจดทะเบียนเป็นสหกรณ์บริการบ้านมั่นคงสุรินทร์  จำกัด  ขณะที่ พอช.สนับสนุนสินเชื่อ 14 ล้านบาท  ชาวบ้านสมทบจากเงินออม 2 ล้านบาท  และเริ่มก่อสร้างบ้านเมื่อต้นปี 2561 รวมทั้งหมด 169 ครอบครัว  ขนาดบ้าน 6X8 ตารางเมตร  ราคาประมาณ 222,000 บาท  โดย พอช.สนับสนุนสินเชื่อสร้างบ้านและสนับสนุนงบสาธารณูปโภคหลังละ 25,000 บาท  ผ่อนชำระค่าบ้านและที่ดินประมาณหลังละ 2,000-3,000 บาท/เดือน  ระยะเวลา 15 ปี  ขณะนี้บ้านบางส่วนสร้างเสร็จและมีชาวบ้านทยอยเข้าอยู่อาศัยแล้ว

 

นายธีรพงศ์  พร้อมพอชื่นบุญ  ผู้อำนวยการสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า  การพัฒนาที่อยู่อาศัยในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์  ขณะนี้ขบวนองค์กรชุมชนจังหัดสุรินทร์ร่วมกับ พอช.และภาคีเครือข่ายดำเนินการไปแล้ว 11 ชุมชน  รวม 1,250 ครัวเรือน  นอกจากนี้ยังจัดทำโครงการบ้านพอเพียงชนบท ซึ่งเป็นการสนับสนุนการซ่อมแซมบ้านเรือนที่ยากจนในชนบท  โดย พอช.สนับสนุนงบฯ ครัวเรือนหนึ่งไม่เกิน 18,000 บาท  ใช้แรงงานจากชุมชน  และท้องถิ่นร่วมสนับสนุนงบประมาณ  ดำเนินไปแล้ว 113 ครัวเรือน  และในปีงบประมาณ 2562 จะดำเนินการอีก 150 ครัวเรือน

 

“นับตั้งแต่ทำโครงการบ้านมั่นคงในปี 2548  ที่ชุมชนหนองบัว  ปัจจุบันเป็นเวลา 13 ปี  ถือว่าชุมชนต่างๆ ในเมืองสุรินทร์มีความเข้มแข็ง  ประสบความสำเร็จ  จากชุมชนแออัดชาวบ้านได้ร่วมกันพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตดี ขึ้น  จากเดิมที่ต่างคนต่างอยู่   ก็มีการออมทรัพย์ร่วมกัน   มีสวัสดิการช่วยเหลือดูแลสมาชิกตั้งแต่เกิดจนตาย  และนอกจากโครงการบ้านมั่นคงและบ้านพอเพียงชนบทแล้ว  พอช.จะร่วมกับขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสุรินทร์สำรวจข้อมูลปัญหาที่ดินทั้งจังหวัด  เพื่อนำมาจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัยทั้งจังหวัด  รวมทั้งแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินต่อไปด้วย”  นายธีรพงศ์   

 

นอกจากการจัดกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์แล้ว  ในวันที่ 30 ตุลาคม  เครือข่ายประชาชนที่จัดทำโครงการบ้านมั่นคงในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์  รวมทั้งภาคีเครือข่ายต่างๆ  ได้ร่วมกันเดินรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก  ในประเด็น “สร้างบ้าน  สร้างชุมชน  ไทยทุกคนมั่นคง  เข้มแข็ง”  โดยขบวนเดินรณรงค์จากสำนักงานเทศบาลเมืองสุรินทร์ไปยังโครงการบ้านมั่นคงสหกรณ์บริการบ้านมั่นคงสุรินทร์  จำกัด ชุมชนทุ่งโพธิ์  โดยมีนายสมเมือง  ตันฑเลขารักษาการนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองสุรินทร์เป็นประธาน  มีผู้ร่วมเดินรณรงค์ประมาณ 300 คน  นอกจากนี้นายสมเมืองยังเป็นประธานในพิธีมอบป้าย ‘บ้านต้นแบบการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม’  ให้แก่ผู้แทนชุมชนในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์จำนวน 32 ชุมชน  เพื่อเป็นต้นแบบในการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมทั้งเมืองสุรินทร์


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"