ไทม์ไลน์รัฐบาลใหม่


เพิ่มเพื่อน    

   

   ว่าเรื่องปฏิทินโจรไปแล้ว

                คราวนี้มาดูปฏิทินการเมืองกันบ้าง

                วานนี้ (๘ พฤศจิกายน) "วิษณุ เครืองาม" กางให้เห็น ว่าไทม์ไลน์การเลือกตั้งหลังจากนี้ไปจะเป็นเช่นไร

                ....วันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะมีผลบังคับใช้เป็นวันแรก

                สิ่งที่ต้องทำ คือ ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน ๑๕๐ วัน นับแต่วันกฎหมายมีผลบังคับใช้

                นั่นคือไม่เกินวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒

                หลัง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้แล้ว กกต.จะต้องยกร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เลือกตั้ง ส.ส.

                แล้วส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อนำความขึ้นทูลเกล้าฯ

                เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ลงมา ภายใน ๕ วัน กกต.จะต้องออกประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง วันรับสมัคร ส.ส. และจำนวน ส.ส.ในแต่ละเขต

                จากการพูดคุยกับทุกฝ่าย คาดการณ์กันว่า กกต.จะประกาศให้เป็นวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒

                เมื่อเลือกตั้งแล้ว กกต.ต้องประกาศผลภายใน ๖๐ วัน จะตรงกับวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๒

                การเปิดประชุมสภาครั้งแรก จะมีขึ้นภายใน ๑๕ วัน นับแต่ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้ง

                ซึ่งตรงกับวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๒

                จากนั้นจะมีการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา รวมถึงลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อได้นายกฯ แล้ว จะนำรายชื่อกราบบังคมทูลฯ ซึ่งหลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ลงมา นายกฯ จะแต่งตั้ง ครม.เพื่อเสนอขึ้นทูลเกล้าฯ

                วันที่ ครม.ชุดใหม่เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับตำแหน่ง ครม.เดิม และ คสช.จะสิ้นสุดลงในวันนั้น

                ครม.ชุดใหม่จะต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาภายใน ๑๕ วันนับจากปฏิญาณ คาดว่าจะเป็นช่วงเดือนมิถุนายน ๒๕๖๒....

                นั่นคือปฏิทินการเมืองที่ชัดเจนที่สุด ณ เวลานี้

                หากไม่มีอุบัติเหตุใดๆ งานแรกๆ ของรัฐบาลใหม่คือการจัดทำงบประมาณแผ่นดินปี ๒๕๖๓ และโยกย้ายข้าราชการประจำปีพอดิบพอดี

                ยังมีเรื่องต้องทำความเข้าใจจากรณีที่ "ดอน ปรมัตถ์วินัย"  รัฐมนตรีต่างประเทศ พูดถึงการเข้าสังเกตการณ์เลือกตั้งของต่างชาติว่า "ไม่เป็นมงคล" ตามด้วย "น่าอดสู"

                ถ้าสงบปากสงบคำไว้บ้างน่าจะดี เพราะ "ดอน ปรมัตถ์วินัย" กำลังทำตัวเป็นภาระให้กับรัฐบาล คสช.

                การสังเกตการณ์เลือกตั้งจากต่างชาติ เรียกว่าเป็นประเพณีการเลือกตั้งทั่วโลกด้วยซ้ำ

                "พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา" เลขาธิการ กกต. อธิบายเรื่องนี้ว่า

                "การเข้าสังเกตการณ์เลือกตั้งขององค์กรเอกชน และองค์กรนานาชาติเป็นเรื่องปกติ เพราะการเลือกตั้งของไทยทุกครั้งที่ผ่านมาจะมีผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งเข้ามาสังเกตการณ์เลือกตั้ง โดย กกต.ได้เชิญประเทศต่างๆ ในอาเซียนเข้ามา ซึ่งออกค่าใช้จ่ายให้บางส่วนเหมือนอย่างในกรณีของการเลือกตั้งที่กัมพูชาหรือมาเลเซีย ที่ได้เชิญ กกต.ไทยร่วมสังเกตการณ์ เรื่องนี้ จึงเป็นเหมือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ส่วนกรณีของสหภาพยุโรป หรืออียูนั้น ส่วนตัวยังไม่ทราบรายละเอียดในส่วนนี้"

                ฉะนั้น...อย่าสร้างความเชื่อที่น่ากลัวว่าหากต่างชาติมาดู จะเป็นสิ่งชั่วร้าย น่าอาย

                ไม่เช่นนั้นการเลือกตั้งทั้งโลกก็ชั่วร้ายหมด

                การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งที่ผ่านมา ก็มีการเชิญต่างชาติเข้าไปสังเกตการณ์

                องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป หรือ OSCE ส่งทีมผู้สังเกตการณ์ระยะยาวร่วมครึ่งร้อยคน เพื่อสอดส่องว่าการจัดเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐได้มาตรฐานสากลหรือไม่

                ฉะนั้นอย่าคิดว่าการเลือกตั้งภายใต้รัฐบาล คสช.ดีเลิศกว่าที่อื่นในโลก

                หัดคิดในมุมกลับเสียบ้าง การมีต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์เลือกตั้ง จะช่วยประชาสัมพันธ์ให้เห็นว่าการเลือกตั้งในไทยใต้มาตรฐาน

                เว้นเสียว่าท่านต้องการปิดบังอะไร!.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"