จากคยาสู่พาราณสี  


เพิ่มเพื่อน    

สถานีรถไฟ Gaya Junction อำเภอคยา จังหวัดมคธ รัฐพิหาร

สองปีก่อน พินทุ เจ้าของ Gauri Guest House แห่งตำบลพุทธคยา บอกผมไว้ว่าเขาจะแต่งงานในอีก 1 ปี เมื่อผมกลับมาพุทธคยาคราวนี้เขาก็มีภรรยาเรียบร้อยแล้วตามแผนที่ได้วางไว้ Gauri นั้นแปลว่า “ขาว” เป็นอีกชื่อของ “ปารวตี” พระมเหสีของพระศิวะ ผู้มีผิวพรรณขาวเนียนผุดผ่อง ผมนึกนิยมพินทุที่ตั้งชื่อเกสต์เฮาส์ตามองค์เทพีที่เขานับถือ ไม่ได้เอาชื่อ Buddha มาขายเหมือนชาวฮินดูทั่วไปที่เปิดเกสต์เฮาส์หรือโรงแรมในพุทธคยา

นอกจากเกสต์เฮาส์เล็กๆ แล้ว ไม่นานมานี้พินทุได้ซื้อออโต้ริคชอว์ 2 คันเพื่อปล่อยเช่า ก่อนจะเช็กเอาต์ผมขอให้เขาโทรเรียกให้คันหนึ่ง เขาบอกราคา 300 รูปีซึ่งคงเป็นราคามาตรฐาน ออโต้มาตามเวลานัด 9 โมงครึ่ง จากพุทธคยาถึงสถานีรถไฟ Gaya Junction ระยะทาง 16 กิโลเมตร ออโต้ใช้เวลาราว 1 ชั่วโมง นานกว่าการเดินทางจากสถานีรถไฟไปยังพุทธคยาเพราะเส้นทางบังคับให้รถอ้อมเพื่อเลี่ยงปัญหาจราจรติดขัดในเขตเมืองคยา จ่ายค่าโดยสารพร้อมทิปให้โชเฟอร์ 20 รูปีแล้วผมก็เดินเข้าสถานีรถไฟ

ผมเคยนั่งรถไฟจากสถานี Gaya Junction นี้ไปเมืองพาราณสีมาก่อนแล้ว แต่คราวนั้นซื้อตั๋วจากเอเยนต์ในพุทธคยาจึงไม่รู้ว่าจุดขายตั๋วของสถานีอยู่ตรงไหน เข้าไปถามกับเจ้าหน้าที่ในช่องที่ดูเหมือนช่องขายตั๋วในอาคารของสถานีติดๆ กับชานชาลาที่ 1 เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลเรื่องขบวนรถไฟได้ครบถ้วนแต่ขายตั๋วให้ไม่ได้เพราะตรงนี้ไม่ใช่จุดขายตั๋ว ชี้ให้เดินไปทางซ้ายมือหลังออกจากสถานี

เจ้าหน้าที่ในโถงขายตั๋วโถงแรกชี้แจงว่าถ้าเดินทางวันนี้ต้องเดินไปอีกโถงที่อยู่ติดกัน ผมได้ทำความเข้าใจระบบตั๋วรถไฟของอินเดียที่ค่อนข้างซับซ้อนในภายหลังทราบว่าตั๋วจะปิดจองทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ก่อนเวลาขบวนรถไฟออกจากสถานีเป็นเวลา 4 ชั่วโมง โดยจะมีการทำบัญชีและแผนผังที่นั่งของผู้โดยสาร 15 นาทีแล้วส่งให้กับผู้ควบคุมหรือนายขบวนรถไฟ จากนั้นก็จะทราบว่ามีที่นั่งเหลือตรงไหนบ้างจึงเปิดขายอีกรอบโดยมีค่าธรรมเนียมเพิ่ม และจะปิดก่อนเวลาเดินรถ 30 นาที แผนผังใหม่นี้ก็จะถูกส่งให้นายขบวนรถต่อไป ในตั๋วระบุข้อความ JOURNEY CUM RESERVATION TICKET AFTER CHARTING ซึ่ง CHARTING ก็คือการทำแผนผังที่นั่งผู้โดยสาร    

เด็กวัยรุ่นที่ต่อแถวกันอยู่บอกให้ผมเดินเข้าไปในช่องเดินออก (มีราวเหล็กกั้นแยกกับช่องเดินเข้า) เพราะพวกเขากำลังรอลุ้นที่นั่งว่างหลังการประมวลผลทำบัญชีแผนผังอยู่ซึ่งเป็นคนละขบวนกับผม และเมื่อรู้ว่าผมเป็นคนไทยหนึ่งในนั้นก็แสดงตัวว่าเป็นนักเซปักตะกร้อเยาวชนทีมชาติอินเดีย เขาบอกว่าอยากเก่งเหมือนนักตะกร้อทีมชาติไทยแต่ยากเหลือเกิน เขากำลังลุ้นตั๋วเพื่อเดินทางไปยังนครมุมไบที่ต้องใช้เวลาอยู่บนรถไฟอย่างน้อย 32 ชั่วโมง

โชคดีผมได้ตั๋วชั้น 3A (Air Conditioned - 3Tier) ราคา 520 รูปี ตอนจะเดินออกต้องเดินถอยหลัง กระเป๋าที่แบกอยู่บนหลังไม่สามารถทำให้กลับตัวเพื่อเดินหน้าได้เพราะช่องทางเดินแคบมาก พวกเขาอวยพรให้ผมโชคดี ผมจึงเดินคล้ายท่ามูนวอล์คของไมเคิล แจ็คสัน จับมือกับพวกเขาทุกคนอย่างกับนักร้องขวัญใจวัยรุ่น ตอนจะหลุดออกจากช่องแคบๆ นี้ก็ไปชนกับชายที่กำลังเดินสวนเข้ามา เขาถามว่ามาจากไหน พอได้ยินว่า “ไทยแลนด์” ก็ตาโตร้อง “โอ้โห” แล้วตามด้วยรอยยิ้ม  

ขณะนั่งรอรถไฟเที่ยว 14.15 น. ในโถงขายตั๋วแห่งเดียวกันนี้ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจถือกระบองไม้ไผ่เรียวๆ มาไล่คนที่นั่งเฉยๆ โดยไม่มีตั๋ว และพวกที่มาก่อกวนทำมาหากินกับผู้เดินทาง ที่นั่งหลับตำรวจก็ตบหัวเบาๆ ให้ตื่น แล้วเอาไม้ไผ่เขี่ยไล่ออกไป ระหว่างที่ผมนั่งเขียนบันทึกเพื่อรอเวลารถไฟออกตำรวจกลุ่มนี้เดินกลับมาตรวจความเรียบร้อยในลักษณะเดียวกันอีก 2 ครั้ง

เนื่องจากการจองตั๋วของอินเดียจะต้องกรอกข้อมูลต่างๆ ลงในแบบฟอร์ม หลายคนไม่ได้พกปากกาก็มองหาคนอื่นที่กำลังกรอกแบบฟอร์มหรือคนที่กำลังนั่งเขียนอะไรอยู่ ผมล้วงเอาปากกาสำรองให้พวกเขายืมไป 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 3 ชายผู้ยืมเอาไปเขียนนานมากจนผมเหลือเวลาแค่ 10 นาที ซึ่งต้องเดินอีกประมาณ 3 – 4 นาทีกว่าจะถึงรถไฟ ผมจึงไปยืนประกบและชี้ไปที่นาฬิกาข้อมือสื่อว่าเวลางวดเข้ามาแล้ว เขาจึงรีบกรอกชื่อผู้โดยสารจำนวน 5 คนที่เดินทางไปด้วยกัน โดยลอกจากแบบฟอร์มใบแรกที่เขียนผิด

เขียนเสร็จเขาก็วางปากกาไว้ผมจึงหยิบมาแล้วเดินไปยังสถานี ข้ามทางลาดขึ้นสะพานลอยไปยังชานชาลาที่ 3 เดินอีกไกลพอสมควรกว่าจะถึงตู้ชั้น 3A ประมาณ 2 – 3 นาทีหลังจากได้ที่นั่งรถไฟขบวน MAHABODHI EXPRESS ก็เคลื่อนออก มาคิดดูว่าถ้าน้าคนนั้นยังเขียนไม่เสร็จผมจะทำยังไง ให้ปากกาไปเลยหรือจะขอคืนมาดื้อๆ

ว่างจากภาระหน้าที่ก็ขอชมวิวเสียหน่อย

รถไฟที่เดินทางในเวลากลางวัน แม้จะเป็นรถนอนก็จะยังไม่มีการจัดที่นอน ทุกคนจึงนั่งเรียงกันแถวละ 3 คน หันหน้าเข้าหาอีกแถว (ไม่นับที่นั่งริมทางเดินอีกฝั่ง อีก 2 ที่) บางคนนั่งไม่ตรงหมายเลขในตั๋วเพราะต้องการนั่งสนทนากับเพื่อนหรือญาติที่เดินทางมาในขบวนเดียวกัน

เมื่อผมไปถึงมีคนนั่งอยู่ครบแล้ว 3 คน เด็กชายคนหนึ่งในฝั่งของผมปีนขึ้นไปนอนบนที่นอนชั้น 3 ซึ่งไม่ต้องปรับเป็นที่นั่ง สตรีคนหนึ่งนั่งริมหน้าต่าง ชายอีกคนนั่งหนีบกระเป๋าล้อเลื่อนติดทางเดิน ผมจึงเข้านั่งตรงกลาง อีกฝั่งมี 2 คน สตรีอายุประมาณ 30 ปี นั่งริมหน้าต่าง อีกคนคือสตรีรุ่นป้านอนตะแคงงอขาอยู่ แกมากับสตรีฝั่งของผมและเด็กชาย โดยที่คณะนี้มีคนนั่งตรงหมายเลขตั๋วแค่คนเดียว

รถไฟออกไปแล้วสักพักสามีภรรยาคู่หนึ่งเดินมาพร้อมขานหมายเลขที่นั่งของตัวเอง ฝ่ายภรรยาพูดว่า “get up” ซึ่งก็คือ “ลุกขึ้น” ผู้ที่ต้องลุกขึ้นคือชายที่นั่งหนีบกระเป๋าอยู่เพราะเขาไม่ได้สำรองที่นั่ง สามีหนวดงามนั่งลงแทน ฝ่ายภรรยาก็นั่งลงตรงข้ามโดยสตรีริมหน้าต่างต้องใช้มือปลุกให้ป้าอ้วนลุกขึ้นเพื่อให้มีที่ว่างพอสำหรับ 3 คน

คู่สามีภรรยาผู้มาใหม่คุยกับสาวริมหน้าต่างเป็นภาษาอังกฤษแม้ว่าพวกเขาจะเป็นคนอินเดียเหมือนกัน เนื่องจากคู่สามีภรรยามาจากทมิฬนาดู รัฐทางใต้สุดฝั่งตะวันออก ใกล้ประเทศศรีลังกา ใช้ภาษาทมิฬเป็นหลัก ส่วนสาวริมหน้าต่างพื้นเพเป็นคนอำเภอคยา จังหวัดมคธ รัฐพิหาร พูดภาษาฮินดี เมื่อต้องสื่อสารกันก็จำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษ และทั้งสองฝ่ายต่างใช้ภาษาอังกฤษได้ดีเลิศ เพียงแต่ว่าสำเนียงของสาวคยานั้นฟังยากสักหน่อย

คณะจากทมิฬนาดูมากัน 10 คน และไกด์อีก 1 คน แต่น้าผู้หญิงบอกว่าตอนนี้ไม่รู้ขึ้นรถไฟกันทันหมดทุกคนหรือเปล่าและนั่งตรงไหนกันบ้างก็ไม่รู้ พวกแกจัดทริปเดินทางด้วยรถไฟแวะสักการะวัดฮินดูที่สำคัญและมีชื่อเสียงตามเมืองต่างๆ เป็นเวลา 7 วัน เริ่มต้นที่โกลกาตา แล้วต่อมาคยา วันนี้กำลังจะไปพาราณสี

สำหรับวัดฮินดูที่มีชื่อเสียงที่สุดในคยาก็คือวัดวิษณุบาท (Vishnupad Mandir) ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา สร้างด้วยหินแกรนิตสีเทา ดูงดงามปนขรึมขลังแถมยังแข็งแกร่ง ภายในประดิษฐานรอยเท้ายาว 40 เซนติเมตรบนแผ่นหินล้อมรอบด้วยอ่างขอบเงิน ชาวฮินดูเชื่อว่าเป็นพระบาทของพระวิษณุที่ได้ประทับลงบนหน้าอกอสูรกาย เรียกกันว่า “กายาอสุรา” (Gayaasura) เป็นที่มาของชื่ออำเภอคยา (Gaya) แต่ชาวพุทธบางคนสงสัยว่าน่าจะเป็นรอยพระพุทธบาท

ไม่ห่างจากที่นั่งของเรามีคนพูดกันเสียงดังดุเดือดคล้ายกับเสียงทะเลาะกัน น้าผู้หญิงจากรัฐทมิฬนาดูฟังภาษาฮินดีออกบางคำแล้วแกก็ขำ แกว่าพวกเขาเถียงกันแรงอยู่เหมือนกัน มีหญิงมุสลิมอุ้มทารกทาขอบตาสีดำ เป็นกุมารีหัวโล้นเกลี้ยงเกลา ผมได้ยินคำว่า “มุสลิม” ด้วย อาจจะพูดกันเรื่องศาสนา สักพักก็มีเสียงหัวเราะระเบิดออกมา

รถไฟขบวนนี้ถือว่าสะอาดพอสมควร มาตรฐานของห้องน้ำเหมือนจะดีกว่ารถไฟไทย

คงเป็นธรรมดาของคนอินเดียที่เถียงกันได้แต่ไม่มีความรุนแรงเพราะพวกเขาผ่านวันเวลาแห่งความขัดแย้งมาได้หลายสิบปีแล้วแม้อาจจะยังอึมครึมอยู่บ้างในบางแห่ง ตอนผมเดินไปเข้าห้องน้ำก็เห็นพวกเขาทั้งสองฝ่ายหัวเราะและยิ้มๆ กันอยู่ และมีสตรีมุสลิมคลุมฮิญาบอีกคนนอกจากแม่ที่อุ้มลูก

รถไฟขบวนนี้ไม่ได้ผ่านกรุงพาราณสีหากแต่เลี้ยวไปอีกทาง ผมจึงต้องลงที่สถานี DD Upadhyaya ห่างจากกรุงพาราณสีประมาณ 15 กิโลเมตร สถานีนี้ตั้งตามชื่อ Deen Dayal Upadhyaya อดีตนักการเมืองคนสำคัญของอินเดีย เมื่อ 2 ปีก่อนสถานียังชื่อ Mughalsarai อยู่เลย คู่สามีภรรยาจากทมิฬนาดูก็ลงที่สถานีนี้เช่นเดียวกับสาวริมหน้าต่างซึ่งเธอจะเดินทางเข้ากรุงพาราณสีเช่นกัน ผมจึงขอตามเธอไปด้วยเพื่อจะนั่งสามล้อแขกแบบแชร์ค่าโดยสาร ผมได้ยินเธอบอกชื่อตัวเองออกเสียงคล้ายๆ “ดรุชมา” เอาเป็นว่าผมขอเรียก “ดรุณี” ก็แล้วกัน

ลุงกุลีรับจ้างแบกของเดินมาหาดรุณีเพราะเธอมีกระเป๋าเดินทางแบบล้อเลื่อนใบใหญ่มาก สถานีนี้มี 8 ชานชาลา คับคั่งเป็นอันดับที่ 11 ของอินเดีย และย่านสับเปลี่ยน (Marshalling Yard) นั้นมีขนาดใหญ่สุดในเอเชียเลยทีเดียว ดรุณีบอกว่าราคาที่ลุงเสนอนั้นแพงไปแต่ลุงแกก็ยกกระเป๋าขึ้นทูนบนหัวอยู่ดี คงยินยอมให้กับการต่อรองของหญิงสาว หุ่นแกผอมแห้งแต่แข็งแรงอย่างเหลือเชื่อ เดินขึ้นทางลาดสะพานลอยโดยไม่มีอาการเซหรือเอียงแม้แต่น้อย ผมเองเสียอีกที่รู้สึกว่ากระเป๋าบนหลังทำไมหนักเหลือเกิน

ระหว่างทางมีโชเฟอร์ออโต้เข้ามาทาบทามหลายครั้ง ผมก็บุ้ยปากให้ไปคุยกับดรุณี เธอปฏิเสธแค่คำเดียวเหล่าสารถีตุ๊กตุ๊กแขกก็หยุดตอแย คงเพระว่าเธอเป็นคนอินเดีย คุยกันรู้เรื่อง แต่หากผมเดินคนเดียวรับรองได้ว่าจะมีคนเดินตามถึงทางออกสถานีรถไฟและอาจมีการแย่งผู้โดยสารกันเกิดขึ้นเหมือนที่ประสบเมื่อคราวที่แล้ว

ออโต้แบบเหมาไปยังเขตเมืองพาราณสีระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตรนั้นราคามาตรฐานอยู่ที่ 200 รูปี ส่วนแบบแชร์ค่าโดยสารจะตกคนละ 40รูปี โดยด้านหลังนั่งได้ 3 คน ด้านหน้าซึ่งเป็นเบาะเล็กๆ ขนาบโชเฟอร์ฝั่งละคนราคาคนละ 40 รูปีเช่นกัน รวมแล้วก็ 200 รูปี แถมออโต้กลุ่มนี้ยังต้องเข้าคิว แต่มีความแน่นอนกว่า พวกที่รอรอบเหมานั้นต้องลุ้นหนัก รถไฟเข้าทีหนึ่งถ้าพลาดแล้วก็อาจจะพลาดเลย บางคนถึงกัดไม่ปล่อยเมื่อเห็นนักท่องเที่ยว

เราเอากระเป๋าวางหลังเบาะนั่ง ดรุณีบอกผมว่าเบาะนี้เป็นของเรา 2 คน โดยขอจ่ายคนละ 60 รูปี ซึ่งโชเฟอร์ได้เงินเท่าเดิมแต่ดีกว่าตรงที่รอผู้โดยสารน้อยลง ผู้โดยสารคนสุดท้ายเป็นชายร่างใหญ่และอ้วนท้วน เดินมานั่งบนเบาะจิ๋วขวามือคนขับได้แค่ครึ่งแก้มก้นและต้องเอามือจับราวโหนไปตลอดทาง ผมนึกสงสารแต่เมื่อดรุณีไม่เอ่ยวาจาใดออกมาก็ไม่กล้าเสนอความเห็น

หน้าสถานี DD Upadhyaya เพิ่งเปลี่ยนชื่อจาก Mughalsarai เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ฟ้าใกล้จะมืดแล้วตอนที่ออโต้ขับออกมาจากหน้าสถานีรถไฟ สภาพเส้นทางย่ำแย่กว่าคราวก่อนมาก ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อเกือบตลอดในช่วงต้น ฝุ่นก็คละคลุ้งจนผมต้องเอาหน้ากากอนามัยออกมาจากเป้ใบเล็ก แต่ไม่อยากให้ดรุณีมองว่าผมรังเกียจฝุ่นอินเดียจึงบอกเธอว่าพยายามแล้วที่จะไม่ใช้มัน เธอว่า “คุณต้องใช้นะ” ผมก็เลยสบายใจ โดยที่เธอไม่สะทกสะท้านกับฝุ่นละอองที่เกินค่ามาตรฐานนี้แต่อย่างใด

วิ่งมาได้ราวครึ่งทางถนนก็ถูกปิดเพื่อจัดงานรื่นเริงบางอย่าง รถที่ขับตามกันมาต้องหักหัวกลับไปทางใหม่กันทั้งยวง กระทั่งมาถึงตรอกเล็กๆ ตรอกหนึ่งก็ต้องหยุดกึกเป็นขบวนและหยุดอยู่นานหลายนาที คนเริ่มลุกออกมาจากรถเพื่อดูว่าเกิดอะไรขึ้น ปรากฏว่ามีรถขับเข้ามาจากอีกฝั่งของตรอกเป็นแถวยาว น่าจะมีการเจรจากันระหว่างหัวแถวของทั้ง 2 ฝ่ายเพราะรถสวนกันไม่ได้ และการทูตของฝั่งโน้นทำได้ดีกว่า เราต้องเป็นฝ่ายถอยไปหลบตามซอกต่างๆ จนรถของอีกฝ่ายผ่านไปจนหมด พอออกไปได้จากตรอกนี้รถก็เลี้ยวขึ้นสะพานรามนคร (Ramnagar Bridge) ข้ามแม่น้ำคงคาไปยังเขตเมืองพาราณสี ไม่นานก็จอดที่ย่านลังกา

ตอนที่ยังนั่งออโต้อยู่ระหว่างทางผมคิดจะให้ยาหม่องตราลิงถือลูกท้อแก่ดรุณีตามปณิธานหลวงพี่ที่มอบให้ผมว่า “เอาไว้ให้ผู้ที่ช่วยเหลือเราระหว่างการเดินทาง เขาจะดีใจมาก”

ดรุณียื่นมือมาให้สัมผัสลา แล้วผมก็ลืมเรื่องยาหม่องเสียสนิท.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"