จุดเปลี่ยน ปชป. หลังจบศึกชิงหน.พรรค


เพิ่มเพื่อน    

 บทบาทรุ่นใหม่ ปชป. หลังจบศึกชิง หน.พรรค

                ผลการหยั่งเสียงสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ทั่วประเทศ เพื่อเลือก หัวหน้าพรรค ปชป. ที่ประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันเสาร์ที่ 10 พ.ย.2561 ผลปรากฏว่า ผู้ชนะการหยั่งเสียง คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อย่างไรก็ตาม พรรค ปชป.จะมีการประชุมใหญ่วันอาทิตย์ที่ 11 พ.ย.นี้ ซึ่งที่ประชุมจะมีการเลือกและเห็นชอบบุคคลให้มาเป็นหัวหน้าพรรค ปชป.อย่างเป็นทางการ พร้อมกับรายชื่อกรรมการบริหารพรรคในตำแหน่งอื่นๆ 

ทิศทาง-ก้าวย่างทางการเมืองของพรรค ปชป.ต่อจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป มุมมอง-ทัศนะของ ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกพรรค ปชป. ที่ทุกคนรู้จักเป็นอย่างดีในวันนี้ โดยเฉพาะบทบาทหลักทางการเมืองในเวลานี้ก็คือ การเป็นแกนนำ กลุ่มคนรุ่นใหม่ ของพรรค ปชป.ที่จะมีการแถลงข่าวเปิดตัว-เปิดนโยบายของกลุ่มคนรุ่นใหม่ของ ปชป. ที่มีร่วม 20 คน อย่างเป็นทางการในวันอังคารที่ 13 พ.ย.นี้

“ก็หวังว่าจะได้เห็นอะไรใหม่ๆ จากพรรค ปชป.ที่ไม่ใช่แค่ว่ามีคนหน้าใหม่เข้ามา แต่ต้องใหม่ในสาระ ไม่ใช่ใหม่ในอายุ เป็นคำตอบจาก ไอติม-พริษฐ์-หลานชายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลังเราถามว่า หลังการประชุมใหญ่พรรค ปชป. 11 พ.ย. พรรคจะมีทิศทางอย่างไร

 เนื้อหาการพูดคุยครั้งนี้มีหลากหลายเรื่องราว ทั้งด้านการเมือง-การปฏิรูปพรรค ปชป.-มุมมองต่อเรื่องคนรุ่นใหม่กับการเมืองไทย รวมถึงที่คุยกันลงรายละเอียดมากเป็นพิเศษคือ แนวคิด การเปลี่ยนระบบทหารเกณฑ์มาเป็นระบบสมัครใจ อันเป็นแนวคิดที่ พริษฐ์ ซึ่งเพิ่งพ้นจากการเป็นทหารมาเมื่อ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา ย้ำว่าจะเสนอให้พรรคผลักดันให้เป็นนโยบายของพรรค ปชป.

...ตอนนี้ผมเป็นสมาชิกพรรค ปชป.คนหนึ่งที่ได้เสนอตัวกับพรรค ปชป.ว่าประสงค์จะขอเสนอตัวเป็นผู้ลงสมัคร ส.ส.ของพรรค ปชป. ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น สิ่งนี้คือสิ่งที่ผมอยากจะทำ นอกจากนี้สิ่งที่ผมอยากจะทำกับพรรค ปชป.ก็ยังมีอีกหลายด้าน เช่น เรื่องนโยบายพรรค ซึ่งนโยบายหลักๆ ก็จะมีหลายด้าน เช่น นโยบายด้านเศรษฐกิจ เช่น เราจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างไร อาทิ การหยุดใช้ตัวเลขจีดีพีเป็นตัวชี้วัดเป้าหมายเศรษฐกิจอย่างเดียว นโยบายด้านการป้องกันปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน เช่น การหยุดหรือประหารกฎหมายที่จะไปเอื้อให้เกิดการทุจริต การจ่ายสินบน การผลักดันให้มีการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐให้ละเอียดขึ้น ให้ภาคประชาชนสามารถมีสิทธิ์เข้าไปตรวจสอบได้ ซึ่งผมก็ทำร่วมกับผู้ใหญ่ในพรรค ปชป.

...งานส่วนที่สอง คือนโยบายของคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาพรรค ปชป. ซึ่งผมจะเป็นแกนนำในการชูประเด็นที่คิดว่าคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญ หรือเรื่องที่เราคิดว่าเรามีความเชี่ยวชาญมีประสบการณ์ตรงมากกว่า

ที่ผมทำอยู่ตอนนี้คือเป็นแกนนำของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในพรรค ปชป.ที่มีความต้องการจะมาช่วยพรรค ปชป.และสมัครเป็น ส.ส.ที่จะเปิดตัววันอังคารที่ 13 พ.ย. ที่จะมีประมาณ 20 คน จะมีความหลากหลายจากภูมิภาค หลากหลายพื้นฐาน ประสบการณ์ชีวิต และหลากหลายประเด็นที่แต่ละคนจะร่วมผลักดัน ที่ก็มีความประสงค์จะขอลงสมัคร ส.ส. ที่ก็เป็นเรื่องของหัวหน้าพรรค-กรรมการบริหารพรรค-คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส.ที่จะมีการตั้งในการประชุมใหญ่พรรค ปชป. วันที่ 11 พ.ย.ที่จะพิจารณา

...ถ้าถามว่าคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาพรรค ปชป. เราไม่ได้ต้องการให้แค่คนรุ่นใหม่เข้ามาเพื่อลดอายุเฉลี่ยของคนในพรรค ปชป. เราเข้ามาเราต้องถามตัวเองว่าถ้าพรรคไม่มีเรา ประเทศไม่มีเรา อะไรหายไป

 หนึ่งในนโยบายดังกล่าวก็จะมีเรื่อง ระบบการเกณฑ์ทหาร ที่ผมจะเสนอให้ปรับมาเป็น ระบบสมัครใจ และอีกเรื่องที่ผมให้ความสำคัญคือเรื่อง ความหลากหลายทางเพศ ที่คนรุ่นใหม่ในพรรคก็ให้ความสำคัญ เพราะเรามองว่าตอนนี้กลุ่มเพศหลากหลายที่ไม่ใช่ แค่ชาย-หญิง เรามองว่าเขาไม่ค่อยได้รับความเสมอภาค ที่มีด้วยกันสองรูปแบบคือหนึ่งเรื่องเชิงกฎหมาย ที่เขายังไม่มีสิทธิ์จดทะเบียนแต่งงานได้ ซึ่งมันไม่ใช่แค่เรื่องของความรู้สึกหรือศักดิ์ศรี แต่มีเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น การขอกู้ร่วมกับสถาบันการเงิน เรื่องสิทธิการรักษาพยาบาล การลดหย่อนภาษี การขอรับเลี้ยงดูบุตรบุญธรรม

 เราเคยได้ยินว่ารัฐบาลมีแนวคิดจะออก พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต แต่ผมมองว่ายังไปไม่ไกลพอ เพราะ พ.ร.บ.คู่ชีวิต เป็นการสร้างนิยามใหม่ที่จะแยกเขาออกไป เพื่อมานั่งตัดสินว่าเขาควรหรือไม่ควรจะได้สิทธิอะไรบ้าง ผมคิดว่าหากเราต้องการความเสมอภาคจริง เราต้องแก้กฎหมายแพ่งฯ ที่ปัจจุบันบัญญัติว่า ”การสมรสเกิดขึ้นระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง” ก็ควรเปลี่ยนเป็น การสมรสเกิดขึ้นระหว่างบุคคลสองคน ตรงนี้จะทำให้ไม่ว่าคุณเกิดมาแล้วจะไปชอบบุคคลเพศไหน คุณเป็นเพศไหน คุณจะได้สิทธิเท่าเทียมกันหมด เป็นต้น

สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนมากสำหรับคนรุ่นใหม่ทุกคนที่เข้ามาพรรค ปชป. คือแต่ละคนจะมีประเด็นมีนโยบายที่เขาต้องการเข้ามาผลักดัน อย่างผมก็มีเรื่องประเด็นการเกณฑ์ทหาร ส่วนเรื่องความหลากหลายทางเพศ LGBT ก็เป็นเรื่องที่คนรุ่นใหม่ก็ให้ความสนใจ แต่ละคนก็มีประเด็นที่เขาอยากผลักดัน เช่น เรื่องอี-สปอร์ต เรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเมื่อเรานำประเด็นเหล่านี้ไปคุยกับคนรุ่นเดียวกัน มันเป็นประเด็นที่สำคัญสำหรับพวกเขา

เรามีการผลักดันแต่ละนโยบายที่คิดว่าตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ อย่างเรื่องนโยบายเกณฑ์ทหาร ก็เป็นอะไรที่ส่งผลกระทบต่อคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง หรือเรื่องนโยบายสิ่งแวดล้อม การคิดค่าถุงพลาสติก การสู้กับเรื่องขยะพลาสติกที่เป็นศัตรูใหญ่ของประเทศเรา เป็นอะไรที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ เพราะเขายังต้องอยู่กับโลกนี้นาน หรือเรื่องนโยบายด้านสุขภาพจิต เพราะตอนนี้มีวัยรุ่นหนึ่งล้านคนที่เป็นโรคซึมเศร้าอยู่ สิ่งเหล่านี้ผมมองว่าตอบโจทย์คนรุ่นใหม่หมดแล้ว เราก็มีแนวทางที่จะนำเสนอเมื่อถึงเวลาที่ประกาศนโยบาย

-นโยบายที่บอก เช่น เรื่องความหลากหลายทางเพศ เรื่องเกณฑ์ทหาร ทางพรรคจะนำไปเป็นแนวนโยบายพรรคอย่างไร?

แต่ละอย่างเราก็มีกระบวนการที่จะไปนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพรรค อย่างเรื่อง LGBTทางพรรคก็พูดไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งคุณอภิสิทธิ์และคุณกรณ์ จาติกวนิช ที่เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายพรรค ก็เคยพูดเรื่องนี้ เรื่องการแก้กฎหมายแพ่งฯ ผมถึงมั่นใจว่าเรื่องนี้ผ่านแน่นอน

ส่วนเรื่องเกณฑ์ทหาร ผมก็ได้พูดคุยกับผู้ใหญ่ในพรรคเหมือนกัน เพราะพอเขารู้ว่าผมจะเข้าไปมีประสบการณ์โดยตรง เขาก็ให้อิสระผมในการไปหาข้อมูล และเสนอแนวทาง ซึ่งที่ผมนำเสนอผ่านสื่อก็เป็นแนวทางที่ผมเคยพูดกับผู้ใหญ่ในพรรคมาแล้ว ผมก็มองว่าก็เป็นเรื่องที่ก็มีแนวโน้มสูงมากที่จะเป็นนโยบายของพรรคจริงๆ

นอกจากนี้ผมก็ยังเข้ามาช่วยเรื่องการสื่อสารของพรรค ปชป. เพราะตอนนี้จะเห็นได้ว่าสิ่งสำคัญคือการสื่อสารออนไลน์ที่เป็นการสื่อสารสองทาง คือพรรคไม่ใช่แค่ให้ข้อมูลผ่านเว็บไซต์อย่างเดียว แต่เว็บไซต์ต้องให้สมาชิก-ประชาชนทั่วไปคุยกับพรรคได้ด้วย เช่น การเสนอนโยบาย การบริจาคให้พรรค

เรามองว่าก้าวสำคัญของพรรค ปชป.คือพรรคการเมืองแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ให้สมาชิกพรรคเลือกหัวหน้าพรรคได้โดยตรง แต่เราไม่ได้จะให้สิ้นสุดแค่นี้ เราต้องการให้สมาชิกมีส่วนร่วมมากกว่านั้น เช่น การมีส่วนร่วมในการเสนอนโยบาย

-คนรุ่นใหม่ในพรรค ปชป.จะมีความหลากหลายแค่ไหน จะมีลูกชาวบ้าน คนชั้นกลาง ธรรมดาอยู่ด้วยหรือไม่?

เราเอาทุกคนที่มีอุดมการณ์ตรงกันและมีความตั้งใจจะเข้ามาทำงานตรงนี้จริงๆ เราไม่จำกัดว่าต้องเป็นเพศใด อายุเท่าไหร่ ต้องมาจากภูมิภาคไหน ไม่จำกัด กลุ่มที่เรามีก็มีความหลากหลาย พรรค ปชป.เป็นพรรคที่ให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่มาตลอดอยู่แล้ว

ตอนนี้คนพูดเรื่องคนรุ่นใหม่เยอะ ซึ่งผมวิเคราะห์ว่าเพราะเทคโนโลยีทำให้โลกเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น หรือว่าเป็นเพราะเราไม่ได้มีการเลือกตั้งมานานมาก ทำให้คนอยากเห็นอะไรใหม่ๆ ก็ทำให้กระแสคนรุ่นใหม่มาแรงในครั้งนี้ แต่ถามว่า ปชป.ให้ความสำคัญกับแค่ตอนนี้หรือไม่ ก็ตอบว่าไม่ใช่ หากย้อนไปดูประวัติศาสตร์ เราจะเห็นได้ว่าพรรค ปชป.ให้โอกาสกับผู้สมัคร ส.ส.ที่อายุน้อยมาตลอด อย่างคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมัคร ส.ส.ครั้งแรกตอนอายุ 27 หรือคุณเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ก็จะลงสมัคร ส.ส.ตอนอายุน้อยๆ ทั้งนั้น หรือหัวหน้าพรรค คุณอภิสิทธิ์ก็เป็นหัวหน้าพรรคตอนอายุ 41 ปี เป็นตอนอายุที่หลายคนบอกว่าเป็นคนรุ่นใหม่จะไปลง ส.ส.ครั้งแรกกับพรรคการเมืองอื่นอีก และพรรคยังมี ยุวประชาธิปัตย์ ตั้งแต่ปี 2533 ที่เป็นช่องทางให้คนรุ่นใหม่มาเรียนรู้ทางการเมือง พิสูจน์ตัวเอง

ถามไปว่า พรรค ปชป.ถูกมองว่าเป็นพรรคที่ต้องมีการต่อคิว มีระบบอาวุโส ซีเนียร์ หากทางกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่บอกถ้าเข้ามาพรรค ปชป.แล้วไม่ได้อย่างที่คิด จะผิดหวังหรือไม่ พริษฐ์-แกนนำกลุ่มคนรุ่นใหม่พรรค ปชป. กล่าวตอบว่า ต้องบอกว่าผมไม่อยากใช้คำว่าต่อคิว เพราะอย่างคุณอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรคตอนอายุ 41 ปี ถามว่ามันแปลกหรือที่คนจะขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค ปชป.ทำงานการเมืองตอนอายุ 40 ต้นๆ ผมว่าก็ไม่แปลก แต่สิ่งที่พรรค ปชป.จะไม่มีวันเป็น ก็คือการจะไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งที่มีทุนเข้ามา แล้วก็ไต่เต้าขึ้นมาพร้อมทุน ถ้าเราจะไต่เต้าขึ้นมาในพรรค ปชป. เราต้องไต่เต้ามาด้วยความสามารถ พิสูจน์ผลงาน คือโอเค มันอาจไม่ถูกใจหลายคนที่อาจจะต้องการเติบโตเร็ว แต่เราก็ต้องพิสูจน์ด้วยผลงาน ก็เหมือนกับบริษัทเอกชนทั่วไปที่บริหารจัดการอย่างดี คือเริ่มจากเข้ามาเรียนรู้แล้วก็พิสูจน์ความสามารถ จะไปเร็วหรือช้า อยู่ที่ความสามารถของคุณ และความจริงแล้วตำแหน่งอย่างหัวหน้าพรรค ปชป. สมาชิกเป็นคนเลือก จึงไม่ต้องถามเรื่องอาวุโส ให้โอกาสใคร แต่ถามว่าสมาชิกจะเลือกใครก็พอ

-สาเหตุที่คนในพรรคให้ความสนใจในตัวคุณ เพราะคุณเป็นหลานอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือไม่?

ก็เลยวนอยู่แบบเดิม ก็เพราะว่าพอผมจะหลุดออกมาจากตรงนี้ พอผมพูดเรื่องเกณฑ์ทหาร ก็กลับมาตรงนี้ แล้วจะให้ผมทำอย่างไร

ต้องบอกแบบนี้ว่า การเป็นทายาทนักการเมืองก็มีข้อดี-ข้อเสีย ข้อดีคือ การเรียนรู้ทางการงานมันเร็วขึ้น เพราะอย่างคุณพ่อคุณแม่ผมเป็นหมอ ที่ก็จะรู้เรื่องอาชีพหมอมากกว่าอาชีพนักธุรกิจ แต่ข้อเสียก็อาจจะต้องใช้เวลานิดหนึ่ง เพราะต้องพิสูจน์กันด้วยความสามารถ

จุดแข็ง-จุดอ่อนพรรคสีฟ้า

-ก่อนหน้านี้ที่จะเดินเข้ามายังพรรค ปชป.มองว่าพรรค ปชป.มีจุดแข็ง-จุดอ่อนอย่างไร?

จุดแข็งผมมองว่าเป็นเรื่องของการมีประชาธิปไตยในตัว ปชป.จุดเด่นคือ ไม่ใช่พรรคของใครคนใดคนหนึ่ง ทำให้การก้าวหน้าในการงาน การเข้ามามีส่วนร่วมมันไม่ได้จำกัดว่าคุณถูกใจคนที่เป็นเจ้าของพรรคหรือไม่ เพราะ ปชป.มีความเป็นประชาธิปไตยอยู่ในตัวสูง รวมถึงจุดแข็งเรื่องการเป็นสถาบันทางการเมือง ที่มีโครงการอย่างยุวประชาธิปัตย์ การให้คนเข้ามาเรียนรู้ทางการเมืองได้เร็ว

ส่วนจุดอ่อน เราก็ต้องยืดอกและยอมรับ ว่าแน่นอนในฐานะพรรคการเมืองเราก็มีแนวทางการบริหารประเทศที่เราอยากมองว่าดีที่สุดสำหรับประชาชน การบริหารประเทศแบบนั้นได้ เราก็ต้องชนะการเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาล ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็อาจไม่ได้ตรงกับเป้าหมายที่เราตั้งไว้ เราก็สามารถพัฒนาตัวเองให้สามารถตอบโจทย์ประชาชนในการเลือกตั้ง

ผมทำงานการเมืองมา ผมสนใจการเมืองมานานมากแล้ว ผมไม่ได้เข้ามาเพื่อมาพูด แต่มาเพื่อที่จะเข้ามาทำ ผมก็หวังว่าสิ่งที่ผมเสนอไปว่าจะทำอะไรให้กับประเทศจะเป็นอะไรที่ประเทศหรือคนรุ่นใหม่ต้องการ พริษฐ์ แกนนำคนรุ่นใหม่พรรค ปชป.กล่าวย้ำ

เมื่อตั้งคำถามว่า การที่พรรค ปชป.ถูกมองว่าเป็นพรรคอนุรักษนิยม เป็นจุดแข็งหรือจุดอ่อน พริษฐ์ แย้งว่า เราต้องบอกว่าเราไม่ใช่อนุรักษนิยม ผมต้องถามว่าพรรคอนุรักษนิยมจะคิดเปลี่ยนระบบเกณฑ์ทหารมาเป็นระบบสมัครใจหรือไม่ ผมคิดว่าก็ไม่ พรรคอนุรักษนิยมจะเป็นพรรคแรกหรือที่จะบอกว่า ให้ปรับกฎหมายแพ่งฯ เรื่องสิทธิสมรส ความหลากหลายทางเพศ ผมคิดว่าก็ไม่ แล้วพรรคอนุรักษนิยมจะประกาศว่าจะกระจายอำนาจให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ผมก็คิดว่าไม่

-คนก็ยังมองว่า ปชป.เป็นพรรคที่ดี แต่สร้างวาทกรรมการเมือง ดีแต่พูด?

เป็นสิทธิของคนที่จะมองว่าเราทำเท่าที่กับที่เราพูดหรือไม่ ก็ต้องไปถามผู้หลักผู้ใหญ่ที่ผ่านมาว่าเขาประเมินตรงนี้อย่างไร แต่สำหรับผมในอนาคต ผมไม่ได้เข้ามาทำงานการเมืองเพื่อจะพูด แต่เข้ามาทำงานการเมืองเพื่อจะทำ

 ผมก็แปลกใจเวลาที่ผมไปพูดในงานเสวนา หรือผมให้สัมภาษณ์ไปแล้วมาบอกว่าดีแต่พูด ผมก็ไม่เข้าใจว่าคุณจะให้ผมทำยังไงในเวทีเสวนา หรือในบทสัมภาษณ์ นอกจากพูด แต่ว่าผมมาด้วยความตั้งใจที่จะทำ แล้วสิ่งที่ผมเสนอไปถ้าหากว่าผมได้มีโอกาสเข้าไป หรือได้รับเลือกไป ก็ตั้งใจที่จะทำ เช่น อย่างเรื่องนโยบายเกณฑ์ทหารที่ผมเสนอ ผมบอกเสมอว่าผมไม่ใช่คนแรก หรือคนเดียว ที่เห็นว่าเราควรกลับไปสู่ระบบสมัครใจ แต่ที่ผมศึกษาด้วยตัวเองตอนที่เป็นทหารอยู่ 6 เดือน ก็เพื่อไปดูรายละเอียด ไปดูข้อมูล ดูข้อดี-ข้อเสีย ดูผลกระทบต่อทุกภาคส่วนทั้งในส่วนประชาชนและกองทัพ เพื่อที่ว่านโยบายที่ผมจะนำเสนอมันทำได้จริง ผมว่าอันนี้มันเป็นจุดขายหรือแนวทางของผม คือทำได้จริง ไม่ใช่เรื่องที่ว่าใครๆ ก็พูดได้ว่าจะยกเลิกการเกณฑ์ทหารแล้วใช้ระบบสมัครใจ แล้วก็มีคำถามว่าจะมีตัวเลขทหารที่เพียงพอสำหรับกองทัพในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงได้อย่างไร

พริษฐ์ ให้ทัศนะหลังเราตั้งคำถามว่า หลังพรรค ปชป.ได้หัวหน้าพรรคอย่างเป็นทางการแล้ว สิ่งที่พรรคต้องปฏิรูปมีอะไรบ้าง เขาให้มุมมองว่า ผมจะพูดถึงประชาธิปัตย์ยุคใหม่ อย่างแรกก็คือ ผมว่าเราต้องเรียกความมั่นใจกลับคืนมา ว่าเราเป็นตัวแทนของอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตย เราต้องหนักแน่นตรงนี้มากขึ้น

อย่างที่สอง เราต้องเปิดพรรคให้กว้างขึ้น ผมมองว่าพรรคเปิดกว้างกว่าพรรคอื่นเยอะมากในการให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแต่ละอย่างไม่ได้ตกอยู่ที่คนคนเดียว หรือว่ากลุ่มกลุ่มเดียว แต่เราไปไกลมากกว่านั้น และสิ่งที่เรามีตอนนี้ มันช่วยได้ด้วยเทคโนโลยี เช่น การหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรค ที่สามารถโหวตได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ

เรื่องที่สามที่ผมว่าสำคัญที่สุดคือ โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว เราเลือกตั้งครั้งสุดท้าย ตอนที่ ปชป.ลงเลือกตั้งก็ปี 2554 โลกเปลี่ยนไปเยอะมาก โดยมีปัญหาใหม่ๆ เข้ามา เช่น สังคมสูงวัย ความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น ปัญหาแรงงานที่จะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี ผมมองว่า ปชป.ยุคใหม่ก็ต้องมีนโยบายที่ตอบโจทย์โลกยุคใหม่ ก็เป็น 3 หมุดที่ผมอยากจะปักไว้ เพื่อเสนอทางออกที่ผมคิดว่าตอบโจทย์ประชาชน

ถามถึงว่า หากพรรค ปชป.ไม่ปฏิรูปพรรค ไม่ฟังเสียงสะท้อน ไม่ให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่ พรรคจะเดินไปอย่างไร เพราะโดยโครงสร้างพรรคก็ยังเป็นผู้อาวุโส นักการเมืองหลายสมัยอยู่ พริษฐ์-แกนนำกลุ่มคนรุ่นใหม่พรรค ปชป. ย้ำว่า นักการเมืองทุกพรรคอยู่ไม่ได้หรอก ถ้าเราไม่ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในโลก และการที่พรรค ปชป.อยู่มาได้ 72 ปี ผมมองว่ามันก็บ่งบอกว่าพรรค ปชป.มีการปรับมาตลอด เพราะถ้าเราไม่ปรับ เราคงสูญพันธุ์ไปนานแล้ว เมื่ออุดมการณ์เรามั่นคงเรื่องเสรีนิยมประชาธิปไตยแล้ว เราก็ปรับการบริหารให้ตอบโจทย์สิ่งที่ประชาชนต้องการมากขึ้น เช่น การนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามา

พริษฐ์-แกนนำกลุ่มคนรุ่นใหม่พรรค ปชป. ยังให้นิยามคำว่าเสรีนิยมประชาธิปไตยหลังพูดเรื่องนี้หลายครั้งในการสัมภาษณ์ว่า เสรีนิยมประชาธิปไตยเป็นอุดมการณ์เกี่ยวกับการเมืองการปกครอง บางครั้งผมก็เห็นคนตีความผิดไปพูดเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ เสรีนิยมประชาธิปไตยคือการที่เขาเชื่อว่ามีประชาธิปไตย เสียงของคนทุกคนในประเทศเท่าเทียมกัน ซึ่งหากถามว่ารัฐธรรมนูญโดยเฉพาะบทเฉพาะกาลเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าไม่ เช่นการให้ ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากประชาชนแต่มีสิทธิ์โหวตเลือกนายกฯ ซึ่งไม่ใช่แนวทางประชาธิปไตย คุณค่าของประชาธิปไตยคือเราเคารพสิทธิ์และเสียงของทุกคนเท่ากัน เราเคารพการตัดสินใจของเสียงข้างมากแต่เราก็ต้องรับฟังเสียงข้างน้อยเหมือนกัน

ยกตัวอย่าง สมมุติประเทศหนึ่งมีสองภูมิภาค เรียกว่าภาคตะวันตกกับภาคตะวันออก โดยภาคตะวันตกมี 60 คน ภาคตะวันออกมี 40 คน หากภาคตะวันตกรวมตัวกันได้ 60 คนแล้วเข้าไปในสภามีเสียงข้างมาก แล้วเขาออกนโยบายแต่ละอย่างที่เอางบประมาณไปลงแต่ที่ภาคตะวันตก ผมว่าตรงนี้ไม่ตรงกับสปิริตหรือจิตวิญญาณของประชาธิปไตย ที่เราเห็นความสำคัญของทุกคน ทุกภูมิภาคเท่าเทียมกัน คือเป็นเสียงข้างมากแต่กระบวนการบริหารมันไม่ใช่

เสรีนิยมประชาธิปไตยคือประชาธิปไตยที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมาก แต่เราต้องคำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน มีเรื่องของการกระจายอำนาจ เราเชื่อในการถ่วงดุลอำนาจ คือไม่ใช่ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะทำได้ทุกอย่างโดยอยู่เหนือกฎหมาย แต่ต้องมี ศาล องค์กรอิสระ และภาคประชาสังคมที่สามารถตรวจสอบได้เมื่อมีปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน

                - การเลือกตั้งคือคำตอบสุดท้าย คือคำตอบที่ดีที่สุดหรือไม่?

การเลือกตั้งเป็นจุดเริ่มต้นของคำตอบ ประเทศต้องมีการเลือกตั้งแต่ที่สำคัญกว่าคือต้องเป็นการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม และที่สำคัญต่อไปคือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้วก็ต้องรักษาประชาธิปไตยตรงนั้นเอาไว้ ผมเป็นนักประชาธิปไตยแต่ผมก็ยอมรับว่าก็มีหลายคนที่เสียศรัทธากับประชาธิปไตย จึงอยู่ที่จะทำอย่างไรให้รัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตยเรียกความมั่นใจนั้นกลับคืนมา

                - ที่ผ่านมา ปชป.ที่เคยมีสโลแกนเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา แต่หลายปีที่ผ่านมาก็เกิดกรณีเช่นประชาธิปัตย์บอยคอตการเลือกตั้งทั้งปี 2549 และปี 2557 รวมถึงการที่แกนนำพรรค ปชป.ออกมาเล่นการเมืองบนท้องถนน?

ต้องบอกว่าการประท้วงหรือการแสดงความคิดเห็นบนท้องถนนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย อย่างผมเอง สมมุติว่าถ้าผมอยู่พรรค ปชป.ตอนปี 2557ผมก็ไม่อยากให้พรรคบอยคอตการเลือกตั้ง แล้วผมเองตอนที่ผมอยู่เมืองไทยก็ไม่เคยไปร่วมการชุมนุมที่พยายามจะให้มีการล้มรัฐบาลนอกวาระการเลือกตั้ง ถ้าผมอยู่เมืองไทยตอนนั้นผมคงออกไปร่วมการคัดค้านการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเพื่อใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตยต่อต้านการนิรโทษกรรม แต่พอร่างฯ ตกไป ผมก็จะกลับบ้านแล้วผมก็จะรอสองปีในการทำให้เห็นว่านโยบายรัฐบาลชุดนั้นไม่ได้ตอบโจทย์ประชาชนแล้ว เพื่อให้แนวทางอื่นชนะเลือกตั้งได้ตามวาระของมัน คือเอาให้ชัดก่อนว่า การบอยคอยไม่ได้หมายถึงว่าไม่ได้เชื่อมั่นในระบบรัฐสภาเพราะว่าการขัดขวางนั่นใช่ แต่พรรค ปชป.ไม่ได้ไปขัดขวางการเลือกตั้ง เพียงแค่บอยคอยการเลือกตั้ง ไม่ได้มีส่วนร่วม เพราะคิดว่าการเลือกตั้งเวลานั้นไม่ใช่ทางออกของประเทศ

พริษฐ์ ในวัย 25 ปีที่กำลังรอให้พรรค ปชป.อนุมัติให้ลงสมัคร ส.ส.ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นกับดีกรี การศึกษาด้านปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ พูดถึงเป้าหมายทางการเมืองหลังเราถามเขาเรื่องนี้ โดยเขาบอกว่าผมก็ตั้งใจจริงๆ แล้วก็มีแนวทางที่จะตอบโจทย์ทั้งการปรับ ปชป.เข้าไปสู่ยุคใหม่แล้วก็ตอบโจทย์ประเทศชาติ ผมก็พร้อมที่จะเสนอตัวสำหรับพรรคในการเลือกตั้งครั้งนี้ ส่วนจะลงเขตหรือปาร์ตี้ลิสต์ต้องรอพรรคตัดสินใจแต่ส่วนตัวผมเองผมอยากลงเขตถ้าเลือกได้ เพราะผมรู้สึกว่าได้ใกล้ชิดประชาชน ได้เป็นตัวแทนของเขา ผมคิดว่าเป็นอัตลักษณ์ของประชาธิปไตย

ถามถึงเป้าหมายการเมืองวางบันไดไว้อย่างไร พร้อมจะเป็นหัวหน้าพรรคปชป.หรือไม่ พริษฐ์ พูดหนักแน่นว่า ผมมองทีละขั้นตอน ตอนนี้ผมมองไปที่ให้ได้รับการรับรองจากพรรคให้เป็นผู้สมัคร ส.ส.ก่อน เมื่อเป็นผู้สมัครแล้วผมก็ต้องการให้ประชาชนเลือกผมไปเป็นตัวแทนเขา ผมมองทีละขั้นทีละตอน ผมไม่เคยมองไกลกว่าทีละขั้น

- สิ่งที่ตั้งใจไว้หากสุดท้ายไม่ได้รับการตอบสนองคนในพรรค ผู้ใหญ่ในพรรคไม่ผลักดันจะออกจากพรรคหรือเลิกการเมืองไหม?

ก็เป็นเรื่องของอนาคต ตอนนี้ผมก็คิดอย่างเดียวว่าจะเสนอนโยบายอะไรที่จะตอบโจทย์สำหรับประเทศ แล้วผมก็คิดว่าพรรค ปชป.เป็นพรรคที่ตรงกับที่ผมจะเสนอนโยบายมากที่สุด

- หากพรรค ปชป.ให้ลงสมัคร ส.ส.จะทำให้เกิดความกดดันหรือไม่ ยิ่งหากคุณอภิสิทธิ์ได้เป็นหัวหน้าพรรคก็จะยิ่งทำให้โดนเพ่งเล็ง?

ก็อาจโดนเพ่งเล็งมากขึ้น แต่ผมว่าผมพร้อม แต่หากเปรียบเทียบกับคุณอภิสิทธิ์ก็ได้ลงสมัคร ส.ส.ครั้งแรกตอนอายุ 27 ปี ถ้าเขาพร้อมทำไมผมจะไม่พร้อม ถ้าเขาพร้อมตอนนั้นทำไมผมจะไม่พร้อมตอนนี้

........................         

ต้องปฏิรูปกองทัพ เหตุผล ปรับ-เลิก ทหารเกณฑ์?

พริษฐ์ วัชรสินธุ์ ที่เพิ่งพ้นจากการเป็นพลทหารเมื่อ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา หลังสมัครเป็นทหารกองประจำการสังกัดกองทัพบกเป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยทันทีที่พ้นจากการเป็นพลทหารเขาก็ได้เสนอแนวคิดการปรับเปลี่ยนจากระบบทหารเกณฑ์มาเป็นระบบสมัครใจ และย้ำว่าจะเสนอเรื่องนี้เป็นนโยบายของคนรุ่นใหม่ในพรรค ปชป.เพื่อเสนอต่อพรรค ปชป.ต่อไป

ที่มาที่ไปของเรื่องนี้ว่าจะมีแนวทางอย่างไร พริษฐ์ อธิบายให้ทราบโดยละเอียด ด้วยการเกริ่นนำว่า เรื่องเกณฑ์ทหารที่เสนอให้เปลี่ยนมาเป็นระบบสมัครใจ ซึ่งผมไม่ใช่คนแรกที่พูด แต่ของผมได้ศึกษาตัวเลขมาแล้ว มีการสร้างโมเดลขึ้นมา

...ถ้าเราดูตัวเลข จะมีสองตัวเลขที่สำคัญ ตัวเลขแรกประมาณ 1 แสนคนต่อปีที่กองทัพต้องการ ตัวเลขที่สองคือกว่า 4 หมื่นคนที่สมัครเมื่อปีที่แล้ว เมื่อต้องการ 1 แสนคนแล้วสมัครเรียกว่า 5 หมื่นคนก็ได้ เท่ากับก็ขาดอีกประมาณ 5 หมื่นคนที่จะเกณฑ์เข้ามาผ่านระบบใบแดงใบดำ

ระบบสมัครใจของผมคือไม่ว่ายอดจะเท่าใดก็ไม่มีการบังคับ คือ ถ้าเราแค่เปลี่ยนจากระบบเกณฑ์มาเป็นสมัครใจโดยไม่แก้ไขอะไรอื่นเลย สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนสมัครก็อยู่แค่ที่ 5 หมื่นคน ช่องว่างตรงนี้ก็ยังมีอยู่

ผมเลยเสนอแนวทางที่ว่าแค่ยกเลิกยังไม่พอ แต่เราต้องทำโดยต้องลดยอดกำลังพลที่ทหารตั้งไว้ คือ แสนคน ซึ่งถามว่าเป็นไปได้ไหม ผมก็ศึกษาโดยดูจากอัตราทหารต่อประชากรของประเทศอื่นที่มีอันตรายหรือภัยคุกคามเท่ากับไทย เราก็เห็นว่าความจริงแล้วที่อื่นอัตราทหารต่อจำนวนประชากร ประมาณ 3-4 เปอร์เซ็นต์ น้อยกว่าประเทศไทย ประเทศที่สูงกว่าเราหรือเท่าๆ กับเราจะมีเช่น เกาหลีใต้ที่มีการเกณฑ์ทหาร เพราะเขามีภัยคุกคามเกาหลีเหนือ หรือรัสเซียที่เราก็รู้อยู่แล้วเรื่องอำนาจกองทัพที่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย หรือสิงคโปร์ที่เป็นประเทศเล็ก เขาจึงต้องการจำนวนประชากรที่เป็นทหารเยอะ ที่หากเทียบกับประเทศอื่น เช่น เวียดนาม มาเลเซีย หรือในยุโรป

ผมคิดว่าตรงนี้เราลดลงได้ เพราะในอนาคตภัยคุกคามก็จะเปลี่ยน ก็จะยิ่งมีความเป็นไปได้อีกที่จะลดลงมา เพราะภัยคุกคามตอนนี้ไม่ได้ต่อสู้ในสนามรบแล้วแต่ต่อสู้ในเชิงเศรษฐกิจ เชิงความคิด และแสนคนที่กองทัพนอกจากจิ๋วแต่แจ๋วขึ้น

“แสนคนนี้ยังรวมถึงทหารรับใช้ ซึ่งถามว่าทหารรับใช้ทำให้ประเทศมั่นคงหรือไม่ ผมก็คิดว่าไม่ใช่ หากเราตัดทหารรับใช้ออกไปแล้วทำให้กองทัพจิ๋วแต่แจ๋วขึ้น ก็ทำให้ตัวเลขที่ตั้งไว้ 1 แสนคน จะลดลงมาได้เยอะ อาจจะลงมาถึงประมาณ 6-7 หมื่น”

...เมื่อตั้งไว้ที่ 6-7 หมื่นคน สิ่งที่คิดต่อไปคือจะทำอย่างไรให้คนมาสมัครเป็นทหารมากขึ้นจากยอดเดิมประมาณ 4-5 หมื่นคน ผมมองว่าเราต้องพัฒนาคุณภาพชีวิตของพลทหารที่เป็นอยู่ตอนนี้ ที่มีด้วยกันสามแนวทาง

แนวทางที่หนึ่ง ประเมินรายได้เรื่องยอดสมัครเป็นทหาร พบว่ามีอยู่ปีหนึ่งขึ้นสูงมาก คือปีที่เพิ่มจาก 9 พันบาท ผมมองว่าถ้ามีการให้รายได้ที่เหมาะสมต่อค่าครองชีพปัจจุบัน และเป็นรายได้ที่มั่นคง คือบอกว่าได้เท่าไหร่ก็ให้เท่านั้น ไม่มีการหักที่ไม่จำเป็น เช่น ให้เราตัดสินใจว่าหากเราอยากมีชุดฝึกสัก 2-3 ชุด มีการประมูลใหม่ว่าชุดที่บริษัทผลิตขึ้นมาให้ราคาถูกกว่านี้ได้ไหม ผมคิดว่าตรงนี้จะตอบโจทย์ได้

สอง คือเรื่องสวัสดิการ มีอยู่อีกปีหนึ่งที่ยอดสมัครทหารพุ่งสูงมาก คือปีที่การศึกษานอกระบบหรือ กศน.เข้ามาในค่ายทหาร หากถามว่าอะไรคือสวัสดิการที่ทหารต้องการ ตอนที่ผมได้ถามเพื่อนๆ ในค่ายทหารเรื่องนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องค่ารักษาพยาบาลสำหรับลูกของเขา เพราะตอนนี้หากคุณเป็นพลทหาร คุณได้สวัสดิการรักษาพยาบาลแค่กับตัวเอง แต่ถ้าเป็นนายสิบ นายร้อยขึ้นไป คุณได้สวัสดิการนี้ทั้งครอบครัว ก็ต้องถามว่าเราจะขยายตรงนี้ให้กับพลทหารได้หรือไม่ อาจจะเป็นเรื่องค่าเล่าเรียนลูก เพราะพลทหารหลายคนกำลังเริ่มมีครอบครัวของตัวเองอยู่

เรื่องที่สาม ที่ผมว่าสำคัญมากๆ หากเราดูในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา มีสองปีที่ยอดสมัครทหารตก เหตุเพราะสองปีดังกล่าวมีข่าวความรุนแรงที่มีการพูดถึงกันเยอะในข่าวสารในช่วงมีการเปิดรับสมัครทหาร  

ซึ่งอันนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่าเรื่องเกณฑ์ทหารหรือไม่เกณฑ์ทหารด้วยซ้ำ เพราะหากคุณเปลี่ยนจากระบบเกณฑ์ทหารมาเป็นระบบสมัครใจ แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาความรุนแรง ผมว่ามันเกาไม่ถูกจุด

เพราะอย่างกรณี น้องเมย ที่เป็นเรื่องสะเทือนใจทุกคน เขาสมัครใจ หากคุณเปลี่ยนมาเป็นระบบสมัครใจจากเดิมเกณฑ์ทหาร มันไม่ได้กำจัดตรงนี้ออกไป เราจึงต้องมาจริงจังในการหาทางออกจากเรื่องความรุนแรง ซึ่งผมมองว่าแนวทางหนึ่งก็คือการเปิดให้คนภายนอก อาจจะเป็นตัวแทนภาคประชาชนเข้าไปสังเกตการณ์และตรวจสอบได้ในค่ายทหาร ซึ่งก็ต้องถามว่าหากผมเป็นคนที่มีตำแหน่งในกองทัพ แล้วผมบริสุทธิ์ใจจริงๆ ผมไม่อยากเปิดให้คนเห็นความบริสุทธิ์ใจของผมหรือ ผมก็ต้องอยากให้กองทัพของผมพ้นข้อหาที่ว่าเป็นสถาบันอำนาจนิยม อยากให้ประชาชนมั่นใจในองค์กรมากขึ้น หากเขามีความบริสุทธิ์ใจ มีแรงผลักดันให้ต้องหายอดผู้สมัครให้มีกำลังพอเพียงพอตามที่วางไว้ ทำไมเขาจะไม่อยากแสดงให้เห็นถึงความบริสุทธิ์ใจของเขา

- ที่บอกว่าควรลดไม่ให้มีทหารรับใช้ เป็นการไปตัดแขนตัดขาทหารชั้นผู้ใหญ่หรือไม่ เท่ากับไปลดการมีทหารมาประดับบารมีแล้ว เท่าที่เห็นมีไหม?

ถ้าเหตุผลที่เขาต้องการให้มีระบบเกณฑ์ทหารเพื่อให้เขามีบารมี ผมว่าผิดโจทย์แล้ว คือถ้าเราจะบังคับให้ใครคนใดคนหนึ่งไม่มีอิสรภาพในการที่จะเลือกทำงานอะไร แล้วเข้าไปเป็นทหารมีเหตุผลเดียวคือเรื่องความมั่นคง ถ้ามีภัยสงครามเข้ามาแล้วต้องใช้กำลังพลจริงๆ ผมเข้าใจ แต่ถ้าคุณจะไปบังคับให้มาเป็นทหารรับใช้ มาบริการคุณผมว่าผิดแล้วเพราะหากคุณต้องการคนมาทำงานตรงนั้นจริง ก็ต้องเปิดรับสมัคร อย่างถามว่าข้าราชการอื่นๆ อย่าง หมอ ครู เขาทำประโยชน์ให้กับชาติน้อยกว่าทหารหรือไม่ ก็อาจไม่ใช่ หากเขาต้องการให้คนมาขับรถให้ เขาจะทำอย่างไร เขาก็ต้องจ้างคนมาขับให้ ไม่ใช่ไปใช้ทรัพยากรของรัฐมาเกณฑ์

- เห็นสภาพทหารรับใช้นายมีเยอะไหม?

มันไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน ผมก็พยายามหาข้อมูล (หัวเราะ) แต่ถามว่ามีไหม ก็มี

- ส่วนใหญ่ทำอะไร ก็ไปอยู่ตามบ้าน?

ก็ใช่ครับ ผมไม่ได้มีโอกาสไปถึงบ้าน แต่ก็รู้ว่ามีอยู่

พริษฐ์ กล่าวอีกว่าแนวคิดเรื่องใช้ระบบทหารสมัครใจดังกล่าวมีมาก่อนที่จะไปเป็นทหาร เพราะสนใจประเด็นนี้ตั้งแต่ผมอยู่มัธยม เพราะผมเรียนมัธยมต่างประเทศ ไม่ได้เรียน รด. ผมก็จะรู้ตัวแล้วว่าต้องมาทำตรงนี้ ก็เลยสนใจว่ากฎหมายนี้เป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

ปัญหาสามอย่างที่ผมเห็นก่อนผมเข้าไปมี หนึ่ง ปัญหาการคัดเลือกคน เราจะได้ยินคำพูดที่ว่า 'ชายไทยทุกคนต้องเป็นทหาร' แต่อันนี้มันไม่จริง ผมเข้าไปสัมผัสผมเห็นเลยว่าคนที่เข้าไปเป็นทหารร่วมกับผม ส่วนมากมักจะเป็นคนที่ไม่ได้มีโอกาสศึกษาระดับมัธยมปลาย เลยไม่ได้เรียน รด. เป็นคนที่โอกาสในชีวิตน้อยกว่าคนอื่น อย่างกองร้อยผม 74 คน น่าจะมีไม่ถึง 5 คนที่จบปริญญาตรีมันก็สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่ว่าชายไทยทุกคนจะต้องเป็นทหาร แต่มันกลายเป็นว่าภาระนี้กลับไปตกอยู่กับคนที่มีโอกาสในชีวิตน้อยกว่า

สอง คือเรื่องความรุนแรง ซึ่งได้พูดไปแล้วคือไม่ว่าจะเข้ามาเป็นทหารด้วยการเกณฑ์หรือสมัครเข้ามา มันไม่ควรมี

สาม เรื่องระยเวลาการรับราชการ หากคุณให้เขาไปเป็นทหารสองปี ถ้ามีเหตุผลเรื่องความมั่นคงผมเข้าใจ แต่ผมเห็นหลายคนมีรายได้น้อยลงเพราะต้องเป็นทหาร บางคนก็ต้องแตกแยกกับครอบครัว ผมถามว่าแล้วเพื่อนทหารผมเหล่านี้ ต้องเสียสละขนาดนี้ไหม หากว่าไม่ได้มีความจำเป็นเรื่องความมั่นคง ก็อยากให้มาประเมินใหม่ว่าต้องการกำลังพลเยอะขนาดนั้นหรือไม่

ถามความเห็นว่าแล้วการเรียน รด.ควรยกเลิกด้วยหรือไม่ อดีตพลทหารพริษฐ์ วัชรสินธุ มองว่า ต้องยอมรับว่าคนอยากเรียน รด.เพราะไม่อยากเป็นทหาร หากเราเปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจก็เชื่อว่ายอดเรียน รด.ก็จะน้อยลง ซึ่งก็จะมีสองปัจจัยที่เราต้องคิดเรื่องการเรียน รด. เรื่องแรกคือ ทางกองทัพบอกว่าต้องมี รด.ต่อเพราะต้องการคนที่ผ่านการฝึกมาแล้ว เพื่อเป็นกำลังพลสำรอง เผื่อว่าหากเกิดสงคราม ภัยคุกคามจริงๆ จะได้หยิบอาวุธไปสู้เพื่อชาติได้ อันนี้ต้องมาถามว่าจริงหรือไม่ เพราะการฝึก รด.ทำให้คุณพร้อมขนาดนั้นเลยหรือ ผมดูจากเพื่อนๆ ที่เรียน รด.มา เขาก็บอกว่าไม่แน่ใจ จึงต้องมาถามว่ายังต้องมี รด.เพื่อประโยชน์ตรงนั้นจริงหรือไม่ ซึ่งผมคิดว่าอาจไม่จำเป็น

อย่างที่สองคือ หลายคนก็ไม่เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์ทหาร แต่เห็นด้วยว่าเยาวชนควรมีจิตสาธารณะ ทำประโยชน์ให้กับชาติ ซึ่งหากว่าบ่ายวันศุกร์ที่เขาไปเรียน รด. ถ้าเราเปลี่ยนให้เยาวชน เด็ก ม.ปลาย มาทำประโยชน์ให้สังคม เช่น ดูแลผู้สูงอายุ เก็บขยะในชุมชน เป็นผู้ช่วยครู ผู้ช่วยพยาบาลในพื้นที่ ผมว่าก็ดี เพราะคือการทำประโยชน์ให้ประเทศชาติจริงๆ เด็กได้ทำงานนอกห้องเรียน โดยให้เด็กได้เลือก ที่ก็อาจมีเด็กที่เขาอยากเรียน รด.อยู่

- มีความจำเป็นต้องปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปทหารหรือไม่?

ผมคิดว่ามีความจำเป็น

- ที่บอกว่าควรต้องมีการปฏิรูปกองทัพควรทำอย่างไร?

ก็มีเรื่องกำลังพล ความรุนแรง การเกณฑ์ทหารที่ได้พูดไปแล้ว แต่ก็ยังมีเรื่องที่คนก็ตั้งข้อสงสัยเรื่องความโปร่งใสของงบประมาณกองทัพ ซึ่งเรื่องความโปร่งใสงบประมาณเป็นประเด็นที่ใหญ่กว่าแค่กองทัพแล้ว แต่ผมก็อยากเห็นหลายอย่างเกิดขึ้น เช่น ควรเปลี่ยนภาระการพิสูจน์ คือแทนที่เราจะขอให้เขาเปิดเผยบางอย่าง แล้วก็มาพิสูจน์ซึ่งไม่ใช่เรื่องเกี่ยวข้องกับข้อมูลความมั่นคง เราควรพลิกว่า ควรต้องเปิดเผยทั้งหมด หากจะไม่เปิดเผยเพราะเกี่ยวข้องกับความมั่นคงก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นเรื่องความมั่นคงจริงๆ หรือเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ที่ตอนนี้หลายหน่วยงานมีการทำสัญญาคุณธรรม ที่ให้ตัวแทนภาคประชาชนไปนั่งอยู่ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างได้ สอบถามข้อมูลได้แล้วทั้งฝ่ายรัฐและผู้ประมูล ก็มีภาระหน้าที่ต้องตอบคำถาม แต่เข้าใจว่ายังไม่มีการใช้ระบบนี้ในกองทัพ

- แต่ที่ผ่านมาพรรค ปชป.ไม่ค่อยพูดหรือแตะเรื่องกองทัพ?

ผมตอบแทนคนอื่นไม่ได้ แต่ว่า ปชป.ยุคใหม่ก็เสนอแล้ว แต่แนวทางเหล่านี้ขอให้รอการเปิดนโยบาย เพราะเราก็ต้องรอดูหัวหน้าพรรค-กรรมการบริหารพรรค ปชป.เหมือนกัน ผมก็หวังว่าสิ่งที่ผมเสนอจะเป็นอะไรที่ทางพรรค ปชป.ตอบรับ และรับข้อเสนอไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"