รับมือแตกพรรค (ไม่ใช่พรรคแตก) เทียบวิบากกรรมแนวร่วม “บิ๊กตู่”


เพิ่มเพื่อน    

 การแตกตัวของพรรคบริวารในระบอบทักษิณจากแบรนด์หลักพรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของ “เจ๊หน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคไปสู่พรรคสาขา (พรรคเทียม) อาทิ พรรคเพื่อธรรม พรรคเพื่อชาติ และล่าสุดพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ที่เพิ่งเปิดตัวลูกท่านหลานเธอตระกูลชินวัตร

เบื้องต้นอาจมองว่า “นายใหญ่” จัดให้พวกไม่ชอบขี้หน้า “เจ๊เหน่อย” หลังมีอำนาจกำหนดทิศทางพรรค และคัดคนลงรับเลือกตั้ง ประกอบไปด้วย รวมพลคนใกล้ชิด “เจ๊ปู” น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ กลุ่มเจ๊แดง นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และ ส.ส.ภาคอีสาน นายจาตุรนต์ ฉายแสง เป็นต้น

แต่หากวิเคราะห์ให้ลึกเกมนี้ นายทักษิณ ชินวัตร คิดไปไกลกว่านั้น วัตถุประสงค์หลักเพื่อเอาตัวรอดหลายๆ ทาง และชนะรัฐธรรมนูญ คสช.ที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.วางหมากกันพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.เกิน 250 เสียง ก่อให้เกิดเผด็จการรัฐสภา

ด้วยการแก้เกมด้วยกลยุทธ์แตกพรรค (ไม่ใช่พรรคแตก) ชนะกติกาเลือกตั้ง 1 กาได้ 2 (+1) (ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ + นายกฯ) 

ประการแรก ป้องกันการยุบเพื่อไทย และประการสอง รักษาฐานเสียงและมวลชนเดิมเอาไว้ หาก ส.ส.พรรคเพื่อไทยเต็มเพดาน และถูกตัดคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยนำไปฝากไว้ที่พรรคสาขาหรือพรรคเทียม

 ผ่านสูตรแรก คือจัด 2 ทัพสู้ศึก คือพรรคเพื่อไทยส่ง ส.ส.เขตที่มั่นใจว่าชนะ 250 เขต  ส่วนอีก 100 เขตที่คิดว่าแพ้จะไม่ส่งผู้สมัครลง เพื่อไม่ให้เกิดพื้นที่ทับซ้อนตัดคะแนนกันเอง และเปิดทางให้ ทษช.ที่จะมุ่งเน้นเอาคะแนนจากระบบบัญชีรายชื่อใน 100 เขต คาดว่าจะได้ประมาณ 30-40 คน 

 ขณะที่พรรคเพื่อธรรม เครือข่ายของเจ๊แดง ก็ตั้งขึ้นมารองรับหากพรรคเพื่อไทยถูกยุบ และเชื่อว่าจะเกิดแลนด์สไลด์ หรือหิมะตกในเมืองไทย เพราะสังคมมองว่าถูกกลั่นแกล้งทักษิณรอบ 3 อีกแล้ว

ยังมีอีกสูตรที่จะนำมาใช้ควบคู่ในพื้นที่ฐานเสียงเข้มแข็งชนะ และมีระบบหัวคะแนนบริหารจัดการพื้นที่ดีเยี่ยม ในหลายจังหวัดในภาคอีสานและภาคเหนือ     

 จากเดิมในบางพื้นที่เคยมีผู้สมัครพรรคเพื่อไทยชนะเป็นหลักแสนคะแนน มีดีเพียงแค่คุยโวโออ้วดเท่านั้น แต่ครั้งนี้ไม่เกิดประโยชน์ และคะแนนจะตกน้ำภายใต้สัดส่วนวิธีคิด 7 หมื่นเสียงต่อ ส.ส. 1 บัญชีรายชื่อ

สู้เปลี่ยนยุทธวิธี จากเคยชนะแบบถล่มทลาย แต่จะสละคะแนนไปให้คู่ต่อสู้พรรคเทียม (พรรคสาขาที่เป็นพวกเดียวกันดีกว่า) ดีกว่าหรือไม่

                 ยกตัวอย่างเช่น ในพื้นที่เคยชนะเป็นแสนคะแนน ครั้งนี้ขอชนะด้วยคะแนนสัก 6 หมื่นเสียง สละ 4 หมื่นเสียงให้คู่แข่งเทียม หรือในบางพื้นที่มีคะแนนนิยมประมาณ 5 หมื่นเสียง ก็อาจทอนลง คือพรรคเพื่อไทยชนะสัก 3 หมื่นเสียง อีก 2 หมื่นเสียง จัดสรรให้พรรคเครือเดียวกัน

 เหลี่ยมแก้ของ “นายใหญ่” ทำให้คะแนนฐานเสียงเดิมไม่มีเสียเปล่า พรรคเพื่อไทยยังจะได้ ส.ส.เขตเช่นเดิม ส่วนคะแนนที่เดิมตกน้ำก็จะไปฝากไว้ผ่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเทียม

ยังไม่นับแนวร่วมฝ่ายประชาธิปไตย อย่างเช่น พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ ที่เชื่อว่าหลังเลือกตั้งอาจรวมพลังกัน อาจได้ ส.ส.เกิน 250-300 เสียง และสามารถดึงดูดพรรคกลางต่างๆ กลับลำเข้ามาร่วมซบได้อีกด้วยจนเสียงเกิน 376 เสียง  

ถือเป็นเป็นกลยุทธ์ที่นายทักษิณคิดไปไกล กว่า รธน.มีชัย และมีแนวโน้มชนะ คสช.ผ่านการเลือกตั้งได้  

หันมาดูฝ่ายหนุนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จุดหมายปลายทางยังมีความแตกต่างกัน แถมยังแย่งคะแนนฐานเดียวกันเอง ประกอบกับ รธน.ไม่ได้ออกแบบมาให้ทหารตั้งพรรคการเมือง

แต่เมื่อตั้งมาแล้ว คือ พรรคพลังประชารัฐ กลับยังไม่เห็นสัญญาณว่าจะเป็นพรรคแกนนำหลักได้ จนกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จะประกาศลงเล่นการเมืองพรรคนี้ อีกทั้งก็ยังไม่ทราบที่กลุ่มสามมิตรโวว่าไปดูด ส.ส.ดาวฤกษ์นั้นของจริงหรือไม่ พร้อมเปิดตัวในวันที่ 18 พ.ย.   

 จึงจำเป็นต้องใช้ยุทธวิธีกินรวบไม่ต่างจากระบอบทักษิณในอดีต คือต้องยึดพรรคประชาธิปัตย์ให้สำเร็จ เนื่องจากมีแนวโน้มจะชนะเลือกตั้งเป็นอันดับ 2 ผ่านการเลือกผู้สมัครหัวหน้าพรรค หากสมมุติว่าเป็น นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ร่างทรงของแกนนำ กปปส.   หรือนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่มองว่าถูกส่งมาจาก คสช. เพราะที่ผ่านมาทำงานในแม่น้ำ 5  สาย อาทิ สปช. และรองประธาน สปท. คนที่ 1 คนมองว่ามักคุ้นกับ “บิ๊กทหาร” เป็นอย่างดี คงเป็นงานง่ายกว่านี้

แต่สุดท้าย ผลการหยั่งเสียงหัวหน้าพรรคยังเป็นชื่อเดิมคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือเด็กดื้อในสายตา คสช. ย่อมส่งผลการต่อรองอำนาจให้ยากขึ้นทันที   

ดังนั้นสิ่งที่ คสช.ทำได้คือ เงื่อนไขที่ปฏิเสธไม่ได้เท่านั้น เพื่อขอโอกาสให้ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย ด้วยค่าเสียหายเยียวยาจิตใจหลัง “นายอภิสิทธิ์” ต้องเจ็บปวดกับการที่ คสช.ส่งคนมายึดพรรค และเลื่อยขาเก้าอี้ ที่กว่าจะกลับเข้ามาแทบกระอักเลือด ไม่นับก่อนหน้านี้ลูกพรรคยังถูกดูดไปจำนวนมาก 

ด้วยราคาที่แพงระยับ อาทิ กระทรวงเกรดเอต่างๆ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม หรือตำแหน่งประธานรัฐสภา และอาจต้องยอมแก้กติกา รธน.ให้เกิดการยอมรับ รวมทั้งปฏิรูปประเทศตามแนวทางของ ปชป.

จะหันไปพึ่ง “ลุงกำนัน” นายสุเทพ เทือกสุบรรณ” แกนนำพรรคร่วมพลังประชาชาติไทย (รปช.) หรืออดีตเลขาธิการ กปปส. ยังเอาตัวไม่รอด ผ่านกิจกรรมคารวะแผ่นดิน ก็ถูกด่าว่าเป็นคนโกหกในพื้นที่กรุงเทพฯ แก้เกมออกต่างจังหวัดก็ถูกแนวร่วม กปปส.เดิม นำนกหวีดมาคืน เพราะประชาชนยังมึนงงกับพฤติกรรมย้อนแย้ง จากผู้จัดม็อบล้มการเลือกตั้งปี 2557 แต่วันนี้พรรคการเมืองหนุนการเลือกตั้งปี 2562

ไม่นับ “บิ๊กตู่” ยังต้องถูกพรรคการเมืองขนาดกลางอื่นๆ อาทิ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา บีบจนหน้าเขียว เข้ามาเป็นอะไหล่ เพื่อให้เสียงในสภาฯ มีความเข้มแข็ง ชนะศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ และกฎหมายสำคัญต่างๆ 

 เรียกได้ว่างานนี้ คสช.อาจเหลือแต่กระดูก และสุ่มเสี่ยงถูกนักการเมืองสนตะพายจูงจมูกไม่ต่างจากวัวและควาย

นี่คือชะตากรรมของ “ลุงตู่” ที่เปลี่ยนบทบาทกรรมการมาเป็นผู้เล่นเอง บนขวากหนามมากมาย และนักการเมืองรอขย้ำในวันที่ไม่มีมาตรา 44 ดาบอาญาสิทธิ์ในมือ โดยไม่ศึกษาอดีตและประวัติศาตร์  

เว้นแต่พลังประชารัฐชนะเลือกตั้ง มี ส.ส.ในมือแน่ๆ 126 เสียง และไปรวมกับ ส.ว.สรรหา จำนวน 250 เสียง เพื่อเป็นนายกฯ 376 เสียงก่อน และไปดึงงูเห่าจากพรรคต่างๆ มาหนุน หรือยุบสภาฯ จนอีกฝ่ายหมดกระสุนไปเอง.  

                                                                                                           ทีมข่าวการเมือง

/-/-/-

 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"