Business model is consumer value creation


เพิ่มเพื่อน    

 วันนี้ขึ้นหัวข้อเป็นภาษาอังกฤษ เพราะจะเขียนข้อความตามหลักวิชาการเรื่องของการทำธุรกิจ ตามหลักการของการจัดการธุรกิจ ตำราบอกไว้ชัดเจนว่าทุกธุรกิจจะต้องสางรูปแบบของการทำธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่าให้แก่ผู้บริโภคด้วยการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และช่วยแก้ปัญหาให้ผู้บริโภค ดังนั้นผู้ประกอบการที่ยึดหลักการนี้จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับผู้บริโภคเป็นอย่างดี ที่เราเรียกว่า Consumer insights คือ ผู้ประกอบการจะต้องรู้ว่าผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายต้องการอะไร ปรารถนาอะไร มีปัญหาอะไร มีรสนิยมอย่างไร มีความคาดหวังอะไร มีรูปแบบในการใช้ชีวิตอย่างไร สนใจเรื่องอะไร ทำกิจกรรมอะไร เป็นต้น เมื่อมีความรู้ดังกล่าวแล้วจึงพัฒนาสินค้าและบริการให้ตรงตามความต้องการและความคาดหวังของผู้บริโภคตามหลัก 3D คือ Value Discovery ค้นพบคุณค่าที่ลูกค้าต้องการ Value Development พัฒนาสินค้าและบริการให้มีคุณค่าตามที่ผู้บริโภคต้องการ และ Value Delivery ส่งมอบคุณค่าที่พัฒนาขึ้นมาให้แก่ผู้บริโภคด้วยการสื่อสารและการกระจายสินค้าให้สอดคล้องตามพฤติกรรมการซื้อและการใช้ของลูกค้า คุณค่าอย่างหนึ่งที่ผู้บริโภคต้องการและให้ความสำคัญก็คือ "ความสะดวก (Convenience)"

ถ้าหากจะยกตัวอย่างว่ามีธุรกิจใดสร้างคุณค่าด้าน “ความสะดวก” เพื่อตอบสนองความต้องการและแก้ปัญหาให้ผู้บริโภคได้ดีและทำให้ประสบความสำเร็จในการแข่งขัน ก็คงจะต้องตอบว่า Seven ของ CP All นี่แหละที่ตอบโจทย์ทั้งด้าน ความสะดวกด้านเวลา (Time Convenience) เพราะเปิด 24 ชั่วโมง เหมือนคำขวัญของเขาที่บอกว่า “หิวเมื่อไหร่ก็แวะมา” และ ความสะดวกด้านสถานที่ (Place Convenience) เพราะเขามีสาขาอยู่เป็นจำนวนมาก บางสาขาอยู่ใกล้บ้าน บางสาขาอยู่ใกล้ที่ทำงาน บางสาขาอยู่ใกล้โรงเรียน ใกล้มหาวิทยาลัย บางสาขาอยู่บริเวณรอรถเมล์ รอรถไฟ รอเครื่องบิน เพราะผู้บริโภคแสวงหาความสะดวกในชีวิต จึงไม่แปลกใจที่หลายคนเป็นลูกค้าของ Seven เพราะสามารถตอบสนองความต้องการและแก้ไขปัญหาเรื่องความไม่สะดวกในการซื้อหรือการใช้บริการจากร้านค้าอื่นๆ ที่ไม่มีความสะดวกทั้งด้านเวลาและด้านสถานที่ เพราะไม่ได้เปิด 24 ชั่วโมง และทำเลที่ตั้งอาจจะไม่เอื้อให้ไปมาสะดวก

บัดนี้มีข่าวว่า Seven จะมีอาหารตามสั่งขาย หลายคนมองพัฒนาการดังกล่าวนี้ด้วยทัศนคติเชิงลบว่า Seven จะกินรวบเพราะมีสินค้าขายสารพัด แต่หากมองตามหลักการของการทำธุรกิจ ก็อาจจะอธิบายได้ด้วยตัว C หลายๆ ตัวที่เป็นไปตามหลักการของการสร้างคุณค่าให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ และที่สำคัญก็คือ CP All ดำเนินธุรกิจได้ทันยุคทันสมัยในบริบทของการตลาด 4.0 สำหรับ C ทั้งหลายที่ว่านั้นก็คือ

                · Consumer insights หมายความว่า CP All มีความรู้ มีความเข้าใจเป็นอย่างดีว่าผู้บริโภคยุค 4.0 ต้องการอะไร มีปัญหาอะไร แสวงหาการแก้ปัญหาต่างๆ อย่างไร เขาจึงคิดว่าการทำอาหารตามสั่งขายใน Seven น่าจะเป็นการแก้ปัญหาของผู้บริโภคที่หาร้านอาหารตามสั่งในบางทีและบางเวลาได้

                · Consumer solution การที่ CP All มีการขายอาหารตามสั่งนั้น น่าจะเป็นเพราะเขารู้ว่าผู้บริโภคจำนวนหนึ่งไม่ชอบกินอาหารแช่แข็ง แต่อยากกินอาหารที่ปรุงสดมากกว่า แต่ปัญหาของผู้บริโภคก็คือในบางที่ไม่มีอาหารตามสั่งอยู่ในบริเวณนั้น และในบางช่วงบางเวลา เช่น ตอนเช้ามืดหรือตอนดึกแล้ว ก็ไม่มีร้านอาหารตามสั่งเปิดขาย การที่ Seven อยู่ในบริเวณที่เขาอยู่ ในเวลาที่เขาต้องการ ก็จะแก้ปัญหาได้

                · Co-creation การขายอาหารตามสั่งที่ผู้บริโภคต้องการกิน ณ สถานที่ต้องการ ในเวลาที่ต้องการนั้น ถือว่าเป็นการร่วมกันพัฒนาสินค้าระหว่างผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่ได้แสดงความต้องการและรสนิยมบนพื้นที่ Social media ที่มี Big Data อยู่มากมายที่ผู้ประกอบการรายใดที่มีความสามารถด้านการวิเคราะห์ (Analytics Competency) ก็สามารถผลิตสินค้าที่มีลักษณะเป็น Co-creation ได้ทั้งนั้น

                · Collaboration การทำธุรกิจในยุคนี้จะต้องแสดงให้ผู้บริโภคเห็นว่าการพัฒนาสินค้าและบริการนั้น ผู้ประกอบการให้ความร่วมมือกับผู้บริโภคด้วยการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคตามที่ผู้บริโภคได้แสดงความต้องการและรสนิยมของพวกเขา คือ เมื่อรู้ว่าผู้บริโภคมีความต้องการก็ต้องพยายามตอบสนอง เมื่อผู้บริโภคมีปัญหาก็ต้องหาทางพัฒนาสินค้าและบริการมาช่วยแก้ไข

                · Choice ผู้บริโภคยุคนี้ต้องการทางเลือกในการซื้อสินค้าและบริการ ดังนั้นการขายอาหารตามสั่งในร้าน Seven ก็คือการให้ทางเลือกแก่ผู้บริโภค ใครอยากกินในร้านอาหารจริงๆ ก็กินกันต่อไป แต่สำหรับคนที่อยู่ในสถานที่ที่ไม่มีร้านอาหาร หรือต้องการกินในเวลาที่ร้านอาหารปิดไปแล้ว การเข้าไปใน Seven ก็จะมีให้เลือกว่าจะกินง่ายๆ ด้วยการอุ่นอาหารแช่แข็ง หรืออยากกินอาหารตามสั่งปรุงสด

ทั้งหมดนี้ไม่น่าจะพูดว่า Seven จะกินรวบ เพราะสำหรับผู้บริโภคบางคน หากมีทางเลือกเขาก็อาจจะเลือกร้านอาหารจริงๆ เพื่อเข้าไปกินอาหารตามสั่ง และคนที่เลือกแบบนี้ เขาก็จะกินอาหารตามสั่งใน Seven เฉพาะที่ในบริเวณที่เขาอยู่ไม่มีร้านอาหาร หรือในเวลาที่เขาต้องการกินอาหารตามสั่ง ร้านอาหารบริเวณที่เขาอยู่ปิดไปหมดแล้ว สำหรับผู้บริโภคยุคนี้เขาต้องการ ความสะดวก เขาต้องการ มีทางเลือก เขามีข้อมูลมากพอที่จะฉลาดเลือกตัดสินใจว่าเขาจะซื้ออะไร จะใช้อะไร ผู้ประกอบการก็แข่งขันกันไปตามกติกาที่ไม่ผิดกฎหมาย และเป็นไปตามหลักการของธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่าให้แก่ผู้บริโภค (Consumer value creation) ผู้ประกอบการที่มีความเข้าใจผู้บริโภคอย่างลึกซึ้ง และสามารถพัฒนาสินค้าและบริการมาตอบสนองความต้องการให้ผู้บริโภคได้อย่างโดนใจ และแก้ปัญหาให้ผู้บริโภคให้ได้ตามที่ผู้บริโภคต้องการ หากใช้ความรู้ด้าน Business Model หากเข้าใจการสร้างคุณค่าให้แก่ผู้บริโภค หากมีความสามารถในการวิเคราะห์ Big Data ไม่ว่าใครก็สามารถประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจได้ จะสำเร็จมากสำเร็จน้อยก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการวางยุทธศาสตร์และการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"