หอบพันชื่อยื่นนายก บีบอจ.แจงทรัพย์สิน


เพิ่มเพื่อน    

    กลุ่ม CHES หอบ 1,369 รายชื่อบุกทำเนียบฯ ยื่นนายกฯ ให้ยืนยันการแสดงบัญชีทรัพย์สินตามเจตนารมณ์กฎหมาย แฉ ม.ขอนแก่นนำงบไปซื้อหุ้นของสถาบันการเงินที่ผู้ทรงคุณวุฒิเป็น กก.สภาฯ บางคนได้รับงานก่อสร้างในมหา'ลัย ลั่นอย่าเอาพระมาอ้าง ป.ป.ช.ถกหาทางออกจ่อขยายเวลาบังคับใช้ 60 วัน "บิ๊กกุ้ย" เสียงแข็งไม่ถอย คอนเฟิร์ม "พระสังฆราช" ไม่ต้องยื่น แต่พระเถระไม่รอด
    เมื่อวันจันทร์ ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (CHES) พร้อมเครือข่าย นำรายชื่อผู้สนับสนุนการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินของฝ่ายบริหารและกรรมการสภามหาวิทยาลัยทุกแห่งตามประกาศของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องการกำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ตามมาตรา 102 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จำนวน 1,369 รายชื่อ ตามที่ปรากฏในเว็บไซต์ของ change.org พร้อมจดหมายเปิดผนึก มายื่นถึง  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ยืนยันการแสดงบัญชีทรัพย์สินตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย    
     นพ.สุธีร์กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันมหาวิทยาลัยหลายแห่งอยู่ในกำกับของรัฐเพื่อให้มีอิสระในการบริหารงาน โดยมีสภามหาวิทยาลัยที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอกจากการสรรหาของผู้บริหารมหาวิทยาลัย ทำให้ผู้บริหารและกรรมการสภามหาวิทยาลัยกลายเป็นพวกเดียวกันทั้งหมด ซึ่งก็มีข้อร้องเรียนจากบางสถาบันว่าพบการทุจริตของผู้บริหาร จากการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ดังนั้นการบริหารงบประมาณปีละ 2,000-3,000 ล้านบาทของมหาวิทยาลัยจึงน่าเป็นห่วง เพราะไม่มีระบบตรวจสอบ มีการปิดบังข้อมูล และอาจเกิดการทุจริตทางนโยบายในการจัดซื้อจัดจ้างการก่อสร้างต่างๆ ได้ง่าย 
    "ขณะเดียวกันยังพบว่า มีการนำงบประมาณของมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปซื้อหุ้นของสถาบันการเงินที่มีผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการสภาฯ รวมถึงเปิดสัมปทานให้ผู้ทรงคุณวุฒิบางคนรับงานก่อสร้างในมหาวิทยาลัย และมอบโควตานักเรียนโรงเรียนสาธิตให้ผู้ทรงคุณวุฒิ โดยไม่มีใครกล้าเข้าไปตรวจสอบ  ผมจึงอยากขอว่าอย่าเอาเรื่องพระและสถาบันการศึกษามาอ้าง กรรมการสภามหาวิทยาลัยทุกสถาบัน  นายกสภามหาวิทยาลัยควรต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน และขอให้ ป.ป.ช.ยืนยันบทบาทของตนเองในการทำหน้าที่"
    นพ.สุธีร์กล่าวด้วยว่า ประชาชนต้องร่วมกันตรวจสอบผู้บริหารเพื่อให้เกิดความโปร่งใส เราต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ไม่ร่วมมือในการทำให้เกิดการทุจริตทุกรูปแบบ อย่างไรก็ตามพวกตนยินดีให้มีการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน แต่ระยะในการเตรียมความพร้อมยื่นบัญชีทรัพย์สินที่เหลือเพียง 1 เดือน ก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 ธันวาคมนั้นเร็วเกินไป จึงอยากขอให้พิจารณาในเรื่องนี้ด้วย
    ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐออกแถลงการณ์ว่า จากการที่ สนช., ทปอ. และอธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาจำนวนหนึ่ง ออกมาคัดค้านการแสดงบัญชีทรัพย์สินของกรรมการสภามหาวิทยาลัย ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ซึ่งประกอบด้วยคณาจารย์และบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ประชาคมมหาวิทยาลัยและประชาชนรู้สึกกังวลใจต่อท่าทีดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง ด้วยสถาบันอุดมศึกษาเป็นเหมือนเสาหลักของสังคม เป็นผู้ที่จะสร้างบรรทัดฐานแห่งความดีงามให้เกิดขึ้นแก่สังคม แต่กลับเป็นผู้บ่ายเบี่ยงที่จะปฏิบัติตามกฎหมายเสียเอง ซึ่งยังเป็นการแสดงความเป็นอภิสิทธิ์ชนอยู่เหนือกฎหมาย และจะเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีไม่งามต่อนิสิตนักศึกษาที่เฝ้าดูเรื่องราวอยู่ในขณะนี้ 
    แถลงการณ์ระบุว่า การอ้างว่าสภามหาวิทยาลัยไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ก็ไม่เป็นความจริง ดังที่เห็นได้จากข่าวหนังสือพิมพ์กรณี "ผู้ว่าฯ สตง.ขอให้ รมว.ศึกษาฯ เอาผิดนายกสภา-อธิการ ม.วลัยลักษณ์" กรณีการก่อสร้างศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตามเว็บไซต์ (https://www.thairath.co.th/content/526938) สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ทั้งอำนาจนิติบัญญัติ  อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ โดยปราศจากการตรวจสอบ จึงมีโอกาสจะเกิดการทุจริตทางนโยบายขึ้นได้ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยจึงเป็นแหล่งผลประโยชน์ขนาดใหญ่ ที่สามารถจะทุจริตคอร์รัปชันได้อย่างง่ายดาย ไม่มีใครสามารถเข้าไปตรวจสอบได้เลย  
    นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า ตนเคยยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.รวม 3 ครั้ง การที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินไม่ได้มีความรู้สึกว่ามีภาระอะไรเลย  (อาจเป็นเพราะมีทรัพย์สินไม่มาก) คิดเพียงว่าเมื่อตนเองรับราชการอยู่ในตำแหน่งที่อาจแสวงผลประโยชน์โดยมิชอบได้ ก็สมควรแล้วที่จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน เพื่อเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ของตนเอง ทั้งคิดว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย จึงยื่นบัญชีทรัพย์สินอย่างเต็มใจด้วยความสบายใจ  ตั้งแต่กฎหมายที่กำหนดให้ข้าราชการระดับสูงต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินมีผลใช้บังคับในปี 2542 ยังไม่มีข่าวว่าข้าราชระดับสูงมาประชุมกันเพื่อแสดงว่าไม่เห็นด้วย ถ้าข้าราชการที่มีทรัพย์สินพอสมกับฐานะในตำแหน่งหน้าที่ของตนเอง หรืออาจจะมีมากเกินตำแหน่งหน้าที่ราชการ แต่มีที่มาของทรัพย์สิน เช่นได้รับมรดกจากบิดามารดาหรือญาติผู้ใหญ่อื่น เป็นต้น ก็ไม่เห็นว่าจะมีภาระอะไรมากมายอันจะถือได้ว่าเป็นการสร้างภาระให้มากเกินควร เว้นแต่มีทรัพย์มากมายเกินฐานะตำแหน่งหน้าที่และยากลำบากในการระบุที่มาของทรัพย์สิน
    ด้าน พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช.กล่าวว่า กรณีดังกล่าว ป.ป.ช.ได้ส่งตัวแทนไปหารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ และรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว โดยรัฐบาลและ สนช.เป็นห่วงกรณีนี้พอสมควร อย่างไรก็ตามในการประชุม ป.ป.ช.ในวันที่ 13  พ.ย.นี้ จะมีการหยิบยกประเด็นปัญหารวมถึงข้อห่วงใยมาพิจารณา ส่วนที่มีการขอให้ ป.ป.ช.ทบทวนบางตำแหน่งที่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินนั้น ยังยืนยันว่าผู้บริหารระดับสูงมีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินตามกฎหมาย แต่เมื่อ ป.ป.ช.ออกประกาศไปแล้วก่อให้เกิดผลกระทบ ทำให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยบางคนประสงค์ที่จะลาออก ดังนั้นจึงต้องมาพิจารณาขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศดังกล่าวทั้งฉบับ 
    ประธาน ป.ป.ช.กล่าวว่า การประชุม ป.ป.ช.ในวันที่ 13 พ.ย.จะมีความชัดเจนมากขึ้นว่าจะขยายเวลาในการยื่นบัญชีทรัพย์สินออกไปเท่าไรเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ เพราะจากเดิมจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 ธ.ค. หากขยายเวลาออกไปอีก 30 วัน รวมเป็น 60 วัน จะมีเวลาเหลือเฟือเพื่อให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยที่มีความประสงค์ที่จะลาออกได้เตรียมตัว เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยที่จะต้องหาคนมาทดแทนกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่ลาออก แนวทางนี้จะทำให้การดำเนินการตามกฎหมายไม่เกิดความสะดุด เพราะเราต้องดูเหตุผลความจำเป็นที่ต้องออกประกาศฉบับนี้มา 
    "การจะทบทวนตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งเพื่อไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินนั้นต้องมีเหตุผลที่สามารถรับฟังได้ และสังคมเองก็มีความเห็นเป็นสองด้าน ที่สุดแล้วต้องดูว่าเกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างไร การจะแก้ไขประกาศหรือไม่นั้น ไม่ได้อยู่ที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยหรือใครจะลาออก การจะลาออกหรือไม่เป็นการตัดสินใจของแต่ละคน เป็นดุลยพินิจของแต่ละคน เราไม่ได้ออกกฎหมายบังคับว่าท่านต้องเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย คิดว่าจะขยายเวลาไปไม่ต่ำกว่า 60 วัน เพื่อให้คนที่คิดจะลาออกได้มีเวลาคิดว่าจะอยู่ต่อหรือไม่"
      เมื่อถามถึงกรณีสมเด็จพระสังฆราช ในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินตามประกาศดังกล่าวด้วย พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวว่า ประเด็นนี้ ป.ป.ช.ได้วินิจฉัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีความชัดเจนว่าสมเด็จพระสังฆราชไม่มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินตามประกาศ ป.ป.ช. เนื่องจากสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานสงฆ์ที่โปรดเกล้าฯ โดยพระมหากษัตริย์ แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงพระเถระชั้นผู้ใหญ่ในสภามหาวิทยาลัย ดังนั้นพระเถระหลายๆ รูปจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินซึ่งก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"