กรรมของเกษตรกร


เพิ่มเพื่อน    

    เคยท่องตั้งแต่เด็กๆ
    ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีเกษตรกรเป็นกระดูกสันหลังของชาติ
    แต่...ไม่น่าเชื่อว่า นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่มีรัฐบาลไหนเลยที่สามารถแก้ปัญหาราคาพืชผลการเกษตรได้อย่างยั่งยืน  
    ไม่มีการวางรากฐานให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้ 
    มีแค่กลืนไปกับระบบราชการ กับนโยบายหวือหวาเช่นจำนำข้าวทุกเมล็ด สุดท้ายนำไปสู่ปัญหาคอร์รัปชัน 
    และสร้างความเสียหายให้งบประมาณแผ่นดินอย่างมหาศาล 
    การเกิดขึ้นของม็อบชาวสวนยาง ซึ่งกำลังชุมนุมที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างว่า รัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมา รวมทั้งรัฐบาล คสช. ไม่ได้มีความประสงค์จะแก้ปัญหาอย่างจริงจัง 
    หากมองโยงว่าม็อบเกิดช่วงก่อนเลือกตั้ง จะต้องมีการเมืองอยู่เบื้องหลังก็มองไป แต่ที่รัฐบาลมองข้ามไปไม่ได้เลยคือ 
    ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำจนเกษตรกรจะอยู่ไม่ได้แล้ว 
    แล้วปัญหามันอยู่ตรงไหน ต้องแก้ไขอย่างไร
    ไปดูยอดส่งออกยางพาราในปี ๒๕๖๐ ประเทศที่มียอดการส่งออก ๕ อันดับแรกของโลกมีดังนี้ 
    ๑.ไทย ๑๙๗,๑๐๐ ล้านบาท (๓๖.๒%)
    ๒.อินโดนีเซีย ๑๖๗,๕๓๕ ล้านบาท (๓๐.๗%)
    ๓.โกตดิวัวร์ ๓๖,๑๓๕ ล้านบาท (๖.๗%)
    ๔.มาเลเซีย ๓๖,๐๐๐ ล้านบาท (๖.๖%)
    ๕.เวียดนาม ๓๒,๘๕๐ ล้านบาท (๖.๐%)
    การที่ประเทศไทยส่งออกเยอะที่สุดในโลกอาจไม่ใช่เรื่องน่ายินดี เพราะลึกๆ แล้วมีปัญหาให้มองได้  ๒ มิตินั่นคือ...
    ปลูกจนล้น กับ แปรรูปในประเทศน้อย 
    ทั้ง ๒ ข้อนี้คือหายนะของเกษตรกรชาวสวนยาง 
    ย้อนกลับไปช่วงรัฐบาลทักษิณ ผู้ให้กำเนิดนโยบายเพิ่มพื้นที่ปลูกยางในภาคเหนือและภาคอีสาน ๑  ล้านไร่ เพราะขณะนั้นราคายางพาราต่อกิโลกรัมเกิน ๑๐๐ บาท 
    ฐานความคิดที่ว่าปลูกเยอะก็ขายได้เยอะ ช่วงตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ จึงมีการปลูกยางพารากันอย่างกว้างขวาง 
    ที่เคยผลิตยางพาราได้ประมาณ ๑.๕ ล้านตันต่อปี จากพื้นที่ปลูกในภาคใต้เป็นส่วนใหญ่
    ในปี ๒๕๕๖ ไทยผลิตยางได้ประมาณ ๔.๑ ล้านตันต่อปี เพราะเพิ่มพื้นที่ปลูกทั่วทุกภาค เกือบทั้งประเทศ 
    เพิ่มขึ้นเกือบ ๔ เท่า
    แค่ใช้หลักเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น "ดีมานด์-ซัพพลาย" มาจับ ก็เห็นหายนะแล้ว 
    การเพิ่มผลผลิตกันอย่างมโหฬารก็ตรงกับช่วงที่ราคายางพาราตกต่ำอย่างหนัก
    ขณะที่การแปรรูปใช้เองในประเทศ รัฐบาลรับปากไปก็เหมือนผายลม ถนนยางพาราผ่านมากี่ปีแล้วทำได้กี่กิโลเมตร 
    ตัวเลขทั้งหมดนี้รัฐบาลรู้ เกษตรกรก็น่าจะรู้ ถ้าจะแก้ปัญหากันจริงๆ ต้องลดพื้นที่ปลูก
    แต่ถามว่า เกษตรกรยอมหรือเปล่า 
    แล้วรัฐบาลกล้าหรือไม่ที่จะประกาศโซนปลูกยางพาราเสียใหม่
    ตอบได้คำเดียวว่า "ยากมาก"
    ฉะนั้นไม่ว่าใครก็ตามที่พูดเรื่องยางพารา ถึงเวลาต้องพูดให้หมดและครอบคลุม ทั้งปัญหาและวิธีการแก้ไข 
    อย่าใช้มาตรการเอาใจเกษตรกรมากเกินไปจนกลายเป็นดินพอกหางหมู
    ส่วนรัฐบาลถ้ายังไม่จริงจังที่จะแก้ปัญหา โดยเฉพาะ "ลุงตู่" หากกลับมาเป็นนายกฯ อีกรอบท่านจะโดนหนักกว่านี้เยอะ 
    ฝีมันเจ็บถ้าไม่ผ่าออก 
    ตอนผ่าก็ยิ่งเจ็บกว่า แต่เจ็บแล้วหาย
    พืชผลทางการเกษตรก็เช่นกัน หากถึงเวลาบังคับปลูกเป็นโซนก็ต้องทำ
    ไม่เช่นนั้นจะติดกับราคาที่ตกต่ำ และการชุมนุมไม่จบไม่สิ้น. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"