ดัน 'ชวน' ชิงนายกฯ


เพิ่มเพื่อน    

ดัน 'ชวน' ร่วมชิงนายกฯ

ปชป.สูญพันธุ์ได้ ถ้า...?

    แม้ศึกชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จะจบสิ้นไปแล้ว โดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลับมาเป็นหัวหน้าพรรค ปชป.อีกสมัย แต่แรงกระเพื่อมภายในพรรคยังคงมีให้เห็น เช่นเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา กับกรณีนายถาวร เสนเนียม แกนนำพรรค ปชป.ที่หนุนหลัง นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ลงชิงหัวหน้าพรรคกับนายอภิสิทธิ์ เปิดบ้านพักให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ใช้เป็นสถานที่รับสมัครสมาชิกพรรค รปช.ที่บ้านพักใน จ.สงขลา จนสร้างความไม่พอใจให้แกนนำพรรค ปชป.หลายคน

    ทิศทางของพรรค ปชป.ต่อจากนี้กับการเข้าสู่สมรภูมิศึกเลือกตั้งในปีหน้า นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ  รองหัวหน้าพรรค ปชป. ที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่พรรค วิเคราะห์ไว้ทุกแง่มุมบนความเชื่อมั่นที่ว่า หลังเลือกตั้งปีหน้าอย่างไรเสียพรรค ปชป.ก็เป็นพรรครัฐบาลแน่นอน และการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในส่วนของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 3 รายชื่อ ตอนนี้คนในพรรคเรียกร้องให้นายชวน หลีกภัย อดีตนายกฯ มีชื่ออยู่ในบัญชีเป็นชื่อที่ 2 ต่อจากนายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรค โดยย้ำว่าพรรค ปชป.ไม่ถึงกับปิดประตูในการที่จะทำงานการเมืองร่วมกับพรรคเพื่อไทยเสียทีเดียว แต่หากว่าจะให้พรรค ปชป.ที่ถ้าได้เสียง ส.ส.มาอันดับสอง แล้วให้พรรคไปสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.น้อยกว่าพรรค ปชป. เช่นกรณีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ มองว่าเป็นความเสี่ยงทางการเมืองของพรรค ปชป.ที่อาจทำให้พรรคสูญพันธุ์ได้ถ้าทำเช่นนั้น

    การสนทนาเริ่มต้นคุยกันในเรื่องการเมือง-การเลือกตั้ง โดยเมื่อถามความเห็นต่อกลยุทธ์การเมืองของฝ่ายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยที่ใช้วิธีการตั้งพรรค ทำพรรคออกเป็นพรรคเครือข่ายหลายพรรคในเวลานี้ เช่น ไทยรักษาชาติ, เพื่อชาติ ที่เรียกกันว่าแตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย เรื่องนี้ นิพิฏฐ์-รองหัวหน้าพรรค ปชป. มองว่าเรื่องแบงก์พันแตกเป็นแบงก์ย่อยเราก็เคยคิด ผมเคยคุยกับคนเขียนรัฐธรรมนูญ เช่น ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ อดีต กรธ.และนักวิชาการคนหนึ่ง ตอนไปร่วมเวทีดีเบตตั้งแต่แรกๆ แล้วว่าเขียนระบบออกมาแบบนี้ ระวังพรรคการเมองจะใช้วิธีแบงก์พันแตกเป็นแบงก์ย่อย แต่ตอนนั้นผมใช้คำว่า แตกเป็นพรรคลูก พรรคแม่ ผมพูดไป ดร.ชาติชายก็บอกว่าผมเป็นนักการเมืองหัวโบราณ เพราะการเมืองและพรรคการเมืองเขาปฏิรูปแล้ว

    ...เขาบอกว่าผมหัวโบราณ เป็นนักการเมืองที่ไม่ยอมปฏิรูป เขาอ้างว่าการที่พรรคการเมืองใหญ่จะแตกเป็นพรรคลูก พรรคเล็กๆ ประชาชนเขารู้ เขาจะไม่ตามไปเลือก เขาบอกแบบนั้น ผมก็บอกไปว่า ผมก็คิดจากพื้นฐานความเป็นจริง สังคมก็บอกว่าผมคิดแบบโบราณ แต่สุดท้ายมันก็เกิดขึ้น

...เราก็เคยคิด หลังเห็นช่องว่างตรงนี้ ผมก็เคยคุยกับผู้ใหญ่ของพรรคว่า เราแตกลูกไหม แตกลูกเราจะไม่เสียเปรียบ ถ้าพรรคเพื่อไทยแตกลูก ถ้าไม่แตกลูกเราจะเสียเปรียบ แต่ผู้ใหญ่บอกไม่เอา  เราเล่นการเมืองแบบตรงไปตรงมา ผมเคยคิดและผมเคยเสนอด้วย ผู้ใหญ่ในพรรคบอกว่า ปชป.เราเล่นการเมืองตรงไปตรงมา เราไม่เล่นการเมืองแบบนั้น ไม่เอาแตกลูก ปชป.มีพรรคเดียว มีพรรคแม่พรรคเดียว

    ผมก็เคยคิดว่าถ้าจะแตกลูกจะให้ไปแตกที่ภาคใต้ แตกในพื้นที่ซึ่งเราคุมได้เหมือนกับที่พรรคเพื่อไทยแตกลูกในอีสานและภาคเหนือ เราก็บอกว่าถ้าเราแตกได้ แล้วแตกในพื้นที่ซึ่งเราคอนโทรลได้เราควบคุมได้ก็คือภาคใต้ แต่หัวหน้าพรรค แกนนำพรรคบอกว่าเราแตกไม่ได้ ท้ายที่สุดเมื่อเราเล่นการเมืองแบบตรงไปตรงมา แต่พอพรรคอื่นเขาแตกพรรคเราเสียเปรียบ เห็นชัดว่าเราเสียเปรียบแล้ว

    ...ที่บอกว่าเสียเปรียบเพราะเวลาเขาแตกพรรคแล้ว โดยแตกในพื้นที่ซึ่งเขาคอนโทรล ควบคุมได้ เสร็จเลือกตั้งพอเขาไปรวมกัน เขามีโอกาสได้เสียง ส.ส.เกินกึ่งหนึ่ง แต่หากเขาไม่แตก เขาไม่มีโอกาสได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งแล้วเพราะโครงสร้างรัฐธรรมนูญไม่เอื้อให้เขาได้เสียงเกินครึ่งได้ เกิน 250 ที่นั่งได้  เพราะเพื่อไทยมองแล้วคงไม่ถึงกับจะไม่ได้ปาร์ตี้ลิสต์เลย คือได้แต่จะได้น้อย อาจจะได้สิบที่นั่งต้นๆ  หรือต่ำกว่าสิบที่นั่ง จะหายไปเยอะ

-มองโอกาสพรรคแนวร่วมทักษิณ เช่น เพื่อไทย ไทยรักษาชาติ เพื่อชาติ ประชาชาติ เพื่อธรรม จะได้เสียง ส.ส. เกินกึ่งหนึ่ง อันนี้ยังไม่รวมพรรคอนาคตใหม่ และพรรคเสรีรวมไทยของพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส?

    ผมว่าใกล้เคียง ยิ่งหากพรรคอย่างอนาคตใหม่หรือพรรคเสรีรวมไทยมารวมด้วย ก็อาจจะเกิน 250 ที่นั่ง ก็อาจจะยุ่ง คือตั้งรัฐบาลไม่ได้ คนของเขาอาจไม่ได้เป็นนายกฯ แต่ประธานสภาที่จะเลือกตอนประชุมสภานัดแรกที่ใช้เสียงข้างมากของสภา ที่จะเลือกก่อนโหวตนายกฯ ทำให้ประธานสภาอาจจะเป็นคนของฝ่ายเพื่อไทย ตอนนี้ไม่มีใครคิดเรื่องเลือกประธานสภา

    ประธานสภากับนายกฯ อาจจะอยู่คนละขั้วกัน พอได้ประธานสภาจากนั้นประชุมร่วมรัฐสภา เลือกนายกฯ ที่ ส.ว. 250 คนจะมาร่วมโหวตด้วย ขั้วทหารก็อาจได้นายกฯ จากนั้นพอได้นายกฯ เสร็จจะทำอย่างไร กลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย แต่ช่วงนั้นพอได้นายกฯ แล้ว ช่วงฟอร์ม ครม.จะมีการดูดแบบมโหฬารเพราะแรงดูดจะสูงมาก เพื่อให้ได้เสียงเกิน 250 ที่นั่งในการตั้งรัฐบาล หากเสียงไม่เกินก็บริหารไม่ได้ อยู่สามเดือนก็จบแล้ว แค่เสนอกฎหมายงบประมาณก็คว่ำแล้ว พอตั้งนายกฯ ได้เสร็จ ผมก็คิดว่า นายกฯ ก็จะมีศักยภาพที่จะดูด ดูดให้แตก 10 คนเอาไป 1 (โควตารัฐมนตรี)

    ...ถ้าพรรคเพื่อทั้งหลาย เพื่อไทย เพื่อชาติ เพื่อธรรม และไทยรักษาชาติแยกกันแบบนี้ แล้วได้เสียงกันมา เช่น 50 บ้าง 80 บ้าง หากออกมาแบบนี้ผมก็มองว่าโอกาสหลังมีนายกฯ แล้วจะตั้งรัฐบาล มันก็ดูดง่าย

    เมื่อถามแย้งว่า แต่คนในกลุ่มพรรคเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็มาจากสายเพื่อไทย ยังไงก็ต้องอยู่กับฝ่ายเพื่อไทย นิพิฏฐ์ ตอบว่าหากต้านแรงดูดได้ก็จับขั้วกันไป แต่ถ้าต้านแรงดูดไม่ไหวก็มีสิทธิ์แยกออกมา มันดูดง่ายนะ นี่คือจุดอ่อน เล่นปล่อยให้แตกกันมาแบบนี้ เพราะเมื่อแตกออกมาความผูกพันมันขาด แบบนี้โอกาสที่จะดูดได้ง่ายมันมี โอกาสดูดมันง่าย สมมุติอย่างสายเกรียง กัลป์ตินันท์ ที่ออกมาจากเพื่อไทย  หากเขามีคนในกลุ่มหลังเลือกตั้งได้มาสักสิบสองคน ดูดกันจริงๆ มันดูดง่าย ก็ดูดกันแบบ 1 ต่อ 10 หลังมีตัวนายกฯ แล้วจะมีการดูด จุดนี้ก็เป็นจุดอ่อนของการแตกตัวออกมาของพรรคลูก

-ในช่วงเลือกตั้งพรรคเครือข่ายของเพื่อไทยสามารถฮั้วกันได้หรือไม่ โดยเฉพาะในภาคอีสานกับภาคเหนือ?

    ฮั้วกันอยู่แล้ว วิธีการฮั้วอาจไม่ฮั้วเต็มรูปแบบ แต่ส่งตัวที่แข็งกับตัวที่อ่อนมาแข่งกัน โดยตัวอ่อนก็อาจไปเก็บคะแนนมาสักสามสี่พันคะแนน ก็เก็บไปเรื่อยๆ ให้ได้เจ็ดหมื่นคะแนน ให้ได้ปาร์ตี้ลิสต์ ทำให้พรรคอื่นไม่ได้คะแนนเลย หรือสมมุติว่าแข่งกันจริง แต่ผู้ใหญ่ ผู้บริหารของสองพรรครู้กัน ก็บอกให้ผู้สมัครแข่งกันจริงๆ ไปเลย ก็เหมือนเด็กชกมวยกัน จะไม่มีมวยล้ม ล้มมวย เด็กชกกันจริงเจ็บจริง แต่ผู้ใหญ่ล้มมวยได้ ก็เหมือนตอนเลือกตั้งก็อยากชนะกันทั้งนั้น แต่ผู้ชนะก็อยู่ตรงนี้ คนแพ้ก็อาจได้สามหมื่นคะแนน แค่สักสองคนก็ได้ปาร์ตี้ลิสต์หนึ่งคนแล้ว แต่อย่างกรณีของประชาธิปัตย์กับพรรครวมพลังประชาชาติไทย ในภาคใต้ยืนยันว่าสู้กันจริง สู้กันตั้งแต่ในพรรคแล้วไม่ต้องพูดถึงข้างนอก

    นิพิฏฐ์-รองหัวหน้าพรรค ปชป. ยืนยันว่าสำหรับโอกาสของพรรค ปชป.ในสนามเลือกตั้ง อย่าให้ผมประเมินเลย ประเมินว่าได้มากเพื่อนก็หมั่นไส้ ประเมินออกมาน้อยพรรคพวกก็ด่า แต่ยืนยันได้ว่าไม่ต่ำร้อยแน่นอน แต่ก็ต้องยอมรับว่าคงได้น้อยกว่าเดิม แต่ไม่ต่ำร้อยที่นั่ง

    ...อย่างภาคใต้ที่อดีต ส.ส.ออกไป พรรคก็ได้คนใหม่แล้ว ตอนนี้ในภาคใต้ที่มีปัญหาอยู่ก็มีประมาณสี่จังหวัด ทางพรรคก็กำลังแก้ปัญหาอยู่ แต่บางจังหวัดในภาคใต้เราไม่ได้แข่งกับเพื่อไทย เราแข่งกับภูมิใจไทย ส่วนการแข่งขันกับพรรครวมพลังประชาชาติไทยของสุเทพในพื้นที่ภาคใต้ ทางพรรคเขาก็ได้คนของเราไป เช่นสุราษฎร์ธานี  แต่ที่สุราษฎร์ธานีผมก็มั่นใจว่ารวมพลังประชาชาติไทยไม่ชนะพรรคปชป.

    ...มันจะเป็นวิบากกรรมที่พี่สุเทพและพวกเราเคยพูดไว้ ประชาธิปัตย์รุ่นผม รุ่นพี่สุเทพ เคยพูดไว้ก่อนหน้านี้ว่าหากวันไหนพวกเราย้ายพรรค อย่าตามเราออกมาให้รักษาพรรค ปชป.ไว้ มาวันนี้มันจะคืนสนอง วันนี้คนจะบอกว่าจะไม่ตามคุณจริงๆ เพราะคนรุ่นผม รุ่นพี่สุเทพ เวลาปราศรัยที่ภาคใต้ก็พูดแบบนี้ทุกครั้ง ยืนยันประชาธิปัตย์กับรวมพลังประชาชาติไทยจะสู้กันเต็มที่ ผมยืนยัน อย่างที่สุราษฎร์ธานีรอบนี้รวมพลังประชาชาติไทยสู้พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ แต่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ความผูกพันของพี่น้องประชาชนที่มีต่อประชาธิปัตย์อาจมีน้อยกว่าจังหวัดอื่นในภาคใต้ ทำให้ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะสู้กันหนัก เพราะคู่แข่งมีทั้งพรรคประชาธิปัตย์ รวมพลังประชาชาติไทย  พรรคประชาชาติ ภูมิใจไทย ทุกพรรคแข่งกันได้หมด แต่เพื่อไทยไม่ใช่

    ภาคใต้ผมก็ยังคาดหวังว่าพรรค ปชป.จะได้ ส.ส.กลับมาเท่าเดิม โดยรอบที่แล้วปี 2554 ภาคใต้มีส.ส.เขต 53 ที่นั่ง พรรค ปชป.ได้ ส.ส.เขตภาคใต้มา 50 คน เราแพ้ไป 3 เขต เราแพ้ที่ปัตตานี 2 เขต  แพ้ที่สตูล 1 เขต รอบนี้มี ส.ส.เขตเหลือ 50 ที่นั่ง

-ทำไมคิดว่าคนภาคใต้จะไม่หนุนพรรค รปช.ของสุเทพ?

    ผมว่าไม่เอาอยู่แล้ว ไม่มี เอาเป็นว่าพรรคลุงกำนันวันนี้ยังหาผู้สมัคร ส.ส.เขตไม่ได้เลย เดิม กปปส.เรากลัวว่าจะเป็นคู่แข่งของ ปชป.ในภาคใต้ แต่วันนี้เห็นแล้วว่าไม่ใช่ ตัดออกไปได้เลย

-ถึงตอนเลือกตั้ง การเมืองต้องแบ่งเป็นสองขั้ว ฝ่ายขั้วเพื่อไทยกับอีกขั้ว เช่น ปชป., พปชร., รปช.เป็นต้น?

    ผมยังยืนยันว่าแบ่งเป็นสามขั้ว สามก๊กที่ผมพูดคนแรกเหมือนเดิม คือก๊กเพื่อไทยและแนวร่วม  สอง ก๊กทหาร เช่น พลังประชารัฐและแนวร่วม และสาม ก๊กประชาธิปัตย์ที่มีเราแค่พรรคเดียว แต่ถ้าเป็นเรื่องเลือกนายกฯ ผมว่ามีอยู่สี่ขั้ว สี่ก๊ก หนึ่ง-ก๊กเพื่อไทย สอง-ก๊กประชาธิปัตย์ สาม-ก๊กทหาร สี่-ก๊ก ส.ว. จะมีด้วยกันสี่ก๊กนี้ แต่เวลาตั้งรัฐบาลมีสามก๊ก โดยตัดก๊ก ส.ว.ออกไป เลือกนายกฯ ต้องใช้เสียง 375 ที่นั่ง เลยแบ่งเป็นสี่ก๊ก

    สมมุติว่าฝ่ายเพื่อไทยกับพรรคเล็กพรรคน้อยเขารวมได้เกิน เช่นได้ 270 ที่นั่ง ก็เท่ากับอีกฝ่ายได้  230 ที่นั่ง ก็เป็นนายกฯ ได้ เพราะไปรวมกับ ส.ว. 250 ที่นั่ง ก็เกินเสียงโหวตกึ่งหนึ่งของที่ประชุมรัฐสภาแล้ว เพราะเท่ากับได้ 480 เสียง ก็เป็นนายกฯ หลังจากนั้นพอได้นายกฯ ก็ดูดๆๆ หลังจากนั้นวันสองวัน  ก็แตกยับเยินออกมา

    ปชป.เราพยายามจะหลีกเลี่ยงการตอบคำถามที่ว่าพรรค ปชป.จะไปร่วมกับเพื่อไทยได้หรือไม่  ปชป.ไปรวมกับทหารได้หรือไม่ เราไม่ตอบคำถามแบบนี้แล้วในตอนนี้ แต่เราจะถามใหม่กลับไปว่า  พรรคเพื่อไทยมาร่วมกับประชาธิปัตย์ได้หรือไม่ ถ้าร่วมมือกันได้มีเงื่อนไขอะไร หรือทหารจะมาร่วมกับประชาธิปัตย์ได้หรือไม่ ถ้าได้คุณจะมารวมกับเราภายใต้เงื่อนไขอะไร ที่เราต้องให้คุณตอบเพราะว่าเราคือพรรคหลัก แต่ถ้าถามว่าประชาธิปัตย์ไปรวมกับพรรคทหารได้หรือไม่ จะกลายเป็นว่าประชาธิปัตย์เป็นพรรคอะไหล่ หรือหากมาถามเราว่าประชาธิปัตย์ไปรวมกับเพื่อไทยได้ไหม กลายเป็นว่าเราเป็นพรรคสำรอง ถูกเขาดูดไปรวมทำนองนั้น แต่เราจะบอกว่าเพื่อไทยมารวมกับประชาธิปัตย์ได้ไหม ถ้ามาได้ภายใต้เงื่อนไขอะไร ถ้าพูดแบบนี้แสดงว่าเราเป็นพรรคหลัก หรือทหารมารวมกับประชาธิปัตย์ได้หรือไม่ ถ้าคุณมารวมกับเราได้จะมาภายใต้เงื่อนไขอะไร เราจะเริ่มตั้งคำถามแบบนี้แล้ว แบบนี้เท่ากับเราเป็นพรรคหลัก

    ถามย้ำว่าแต่ตอนเลือกตั้งมีการหาเสียง ก็ต้องถูกผลักให้เลือกข้าง ให้ ปชป.แสดงจุดยืน เช่นหากบิ๊กตู่ลงแคนดิเดตนายกฯ ของพลังประชารัฐ คนก็ต้องถามว่า ปชป.จะหนุนไหม นิพิฏฐ์ แจงว่า ปชป.เราเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตย เราก็ต้องถามกลับไปว่าแล้วพลเอกประยุทธ์จะหนุนเราไหม เราต้องตั้งคำถามกลับเพราะยังไงฝ่ายพลเอกประยุทธ์ไม่มีทางชนะพรรคประชาธิปัตย์ หาก ปชป.ได้สัก 130 ที่นั่ง ถามว่าพรรคที่มีชื่อพลเอกประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ จะถึงหนึ่งร้อยเสียงหรือไม่ ผมว่ายังไงก็ไม่ถึง

-ถ้าผลเลือกตั้งออกมาโดยเพื่อไทยได้อันดับหนึ่ง ปชป.อันดับสอง พลังประชารัฐได้สาม แต่ฝ่ายขั้วเพื่อไทยรวมกันแล้วไม่เกิน 250 ที่นั่ง แบบนี้ประชาธิปัตย์จะไปหนุนแคนดิเดตนายกฯ  ของพลังประชารัฐ ที่มีชื่อพลเอกประยุทธ์ให้ขึ้นมาเป็นนายกฯ ได้ไหม?

    เราหนุนก็ตั้งนายกฯ ไม่ได้หรอก เพราะการโหวตนายกฯ ต้องได้เสียง 375 ที่นั่งของที่ประชุมร่วมรัฐสภา ปัญหาคือว่าประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยรวมกันแล้วเกิน 375 ที่นั่งหรือไม่ ในส่วนของบิ๊กตู่เขาอาจจะมี ส.ว.แล้ว 250 ที่นั่ง แล้วหลังเลือกตั้งฝ่ายเขาไปบวกพวกพรรคเล็กๆ เข้ามา ก็อีกแค่ประมาณ 125 ที่นั่ง ก็เป็น 375 ที่นั่ง

-แล้วหากฝ่ายบิ๊กตู่มาชวนประชาธิปัตย์ที่ได้เสียงอันดับสองร่วมรัฐบาลด้วย แต่เขายื่นเงื่อนไขว่าขอให้ทางเขาได้เป็นนายกฯ

    อันนี้ยากหน่อย หากประชาธิปัตย์เป็นพรรคอันดับสองแล้วไปให้พรรคอันดับสามเป็นนายกฯ ผมว่ายากนะยากมาก ทำอย่างนั้นเราสูญพันธุ์ได้เลยนะถ้าเลือกครั้งต่อไป เพราะเราไม่รู้ว่ารัฐบาลตั้งขึ้นมาแล้วจะอยู่ได้นานไหม

    หากเป็นอย่างที่บอก บิ๊กตู่ต้องเสียสละให้ประชาธิปัตย์ มันมีความชอบธรรมและอธิบายได้ด้วย ว่าเราได้คะแนนมากกว่า แล้วเราไปอยู่กับคุณ คุณต้องเอานายกฯ ไป สมมุติว่าเราเป็นพรรคอันดับสองแล้วเราให้พรรคอันดับสามเป็นนายกฯ แล้วหากรัฐบาลอายุสั้นมาก อยู่ได้สักหนึ่งปีหรือหนึ่งปีต้นๆ แล้วมีการยุบสภา แล้วไปเลือกตั้งกันใหม่ ประชาธิปัตย์แพ้เลย คือการเลือกตั้งครั้งหน้าเมื่อตั้งรัฐบาลเสร็จแล้วต้องคิดว่ารัฐบาลอยู่สั้น อย่าคิดว่าอยู่ยาว เพราะเวลาเราฟอร์มรัฐบาล อันนี้ความเห็นผมส่วนตัว เราต้องคิดเผื่อด้วยว่าตั้งรัฐบาลร่วมกันแล้ว เราอยู่กันยาวไหม ถ้าเราอยู่กันปีต้นๆ หรือไม่ถึงปี แล้วมีการยุบสภามาเลือกตั้งใหม่ แล้วการที่เราเป็นพรรคอันดับสอง แต่พรรคอันดับสามเป็นนายกฯ เราเอาไปหาเสียงต่อได้ไหม ถ้าเราเอาไปหาเสียงไม่ได้เราก็จบเลย

-ถ้าบอกว่าที่ไปหนุนเพราะกระแสนิยมบิ๊กตู่ดี?

    ถ้าดีแล้วทำไมไม่ชนะเรา ถ้าเสียงคุณดีทำไมไม่ชนะเรา เสียงดีต้องชนะเรา แต่นี่คุณแพ้เราเยอะ เช่นเราได้ร้อยกว่าเสียง แต่เขาจะถึงห้าสิบเสียงหรือเปล่ายังไม่รู้

    คือหากคุณจะมารวมกับเรา เราต้องดูเงื่อนไข หากโอเครวมกันได้ก็รวม คือวันนี้ไม่ใช่มาถามว่า ประชาธิปัตย์จะไปรวมกับทหารได้หรือไม่อะไรแบบนี้ หรือเราจะไปรวมกับเพื่อไทยได้ไหม คือคำถามแบบนี้มันก็ดีอย่างหนึ่ง คือยังไงประชาธิปัตย์ต้องเป็นรัฐบาลหมด จะเป็นรัฐบาลโดยเขามารวมกับเรา หรือเราไปรวมกับเขา

ไม่มีทางตั้งรัฐบาลครั้งหน้าโดยไม่มีพรรคประชาธิปัตย์อยู่ด้วย เชื่อผมเถอะ  ผมฟันธงเลย ไม่ว่าใครจะตั้งรัฐบาลก็ต้องมีประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาลด้วยทั้งนั้น ประชาธิปัตย์เป็นพรรครัฐบาลแน่นอน ไม่ใช่พรรครวมพลังประชาชาติไทยอย่างที่คุณสุเทพบอกหรอก ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลแน่ มีโอกาสมากกว่าพรรคอื่น

    เพราะอย่างสมมุติพวกพรรคทหาร คุณจะตั้งรัฐบาลได้หรือถ้าไม่มีพรรคประชาธิปัตย์ไปร่วมด้วย  เขาก็ตั้งไม่ได้ จะตั้งได้อย่างเดียวคือต้องไปรวมกับเพื่อไทย ก็เมื่อคุณไปยึดอำนาจเขามา แล้ววันดีคืนดีจะไปรวมกับเขาได้หรือ ถ้าแบบนั้นผมชอบเลย พลเอกประยุทธ์ไปรวมกับเพื่อไทยเลย ประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านเอง จะเป็นฝ่ายค้านให้คุณดู

    นิพิฏฐ์ กล่าวตอบหลังถามย้ำว่า ที่บอกว่าต้องเปลี่ยนคำถามที่ว่าประชาธิปัตย์จะร่วมกับเพื่อไทยได้หรือไม่ มาเป็นคำถามที่ว่าเพื่อไทยจะมาร่วมกับประชาธิปัตย์ได้หรือไม่แทน จุดยืนพรรคเป็นอย่างไร  เขาบอกว่าก็ต้องดูว่ามีเงื่อนไขอะไร ถ้าเรารับเงื่อนไขเขาได้ก็ทำงานร่วมกันได้

-คือไม่ได้ปิดประตู?

    เราจะบอกว่าปิดประตูเลยทีเดียวไม่ได้หรอก แต่ว่านโยบายเราอย่างนี้ นโยบายคุณอย่างนี้ เราทำงานร่วมกันได้หรือไม่

-หัวหน้าพรรค ปชป.บอกว่าตราบใดที่เพื่อไทยยังถูกครอบโดยระบอบทักษิณ ก็ทำงานร่วมกันไม่ได้?

    ก็โอเค หากเขาบอกว่าไม่มีแล้ว คุณทักษิณอาจประกาศเลยว่ายุติบทบาททางการเมือง โดยให้เพื่อไทยมาร่วมกับเรา ภายใต้นโยบายที่นำความเจริญก้าวหน้า ยุติความขัดแย้งในประเทศ ก็ว่ามา ผมว่ามันต้องมีเงื่อนไขในการร่วมกัน

    ถามถึงว่าหากเพื่อไทยมาอยู่ร่วมกับประชาธิปัตย์ กองเชียร์พรรค ปชป.จะไม่ผิดหวังกับพรรคหรือ  ในเมื่อที่ผ่านมาพรรคสู้กับระบอบทักษิณมาตลอด นิพิฏฐ์ ขยายความจุดยืนพรรคเรื่องนี้ว่า เรารวมกันภายใต้เงื่อนไขอะไร อย่างเช่นเราบอกว่าต่อไปนี้จะไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในระยะนี้ เว้นแต่ว่าประชาชนเขาทำประชามติแล้ว ภายใต้เงื่อนไขอย่างนี้ๆ และไม่มีการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ  ไม่มีการนิรโทษกรรม และมีนโยบายเพื่อแก้ปัญหาปากท้องประชาชนรีบด่วนอย่างนี้ๆ ผมว่าก็มาดูหรือไปรวมกับทหารภายใต้เงื่อนไขอย่างนี้ๆ เศรษฐกิจแบบนี้ ผมว่าก็ว่าไป ผมว่าประชาชนห่วงเรื่องเศรษฐกิจมากที่สุด เราต้องเข้าใจประชาชน อย่าไปทำเพื่อพรรค เพื่อตัวเราเอง เพื่อกลุ่มการเมือง มันต้องทำเพื่อประชาชน

-มีการวิเคราะห์โยงกันไปว่า บางกลุ่มที่เป็นกลุ่มอำนาจเก่าในพรรค ปชป.ต้องการยึดพรรค  จึงจะให้ดันคนขึ้นแทนอภิสิทธิ์ เพื่อนำพรรค ปชป.ไปหนุนพลเอกประยุทธ์?

    คือถ้าเขาคิดว่าจะเปลี่ยนหัวหน้าพรรคจากอภิสิทธิ์เพื่อเอาคนอื่นมา แล้วจะไปหนุนพลเอกประยุทธ์  โจทย์นี้ตอนนี้หมดไปแล้ว เปลี่ยนไม่ได้

-แต่ถ้าใช้จังหวะที่หาก ปชป.แพ้เลือกตั้ง แล้วอภิสิทธิ์ลาออกจากหัวหน้าพรรคทันทีหรือวันรุ่งขึ้น จังหวะนั้นพอหัวหน้าพรรคไม่ใช่อภิสิทธิ์ก็นำพรรค ปชป.ไปหนุนได้?

    ทำไม่ทัน ต่อให้อภิสิทธิ์ลาออกจากหัวหน้าพรรคในวันรุ่งขึ้นหลังเลือกตั้งก็ไม่ทัน เพราะยังไง อภิสิทธิ์ก็ต้องรักษาการหัวหน้าพรรคจนกว่าจะมีการประชุมพรรค ประชุมใหญ่พรรคเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคและหัวหน้าพรรคคนใหม่ ยังไงก็ไม่ทัน เพราะการตั้งรัฐบาลต้องเกิดขึ้นก่อนแล้ว ยังไง กรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบันจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าพรรคจะร่วมรัฐบาลอะไรอย่างไรหรือไม่ แล้วกว่าจะเลือกกรรมการบริหารพรรค ปชป.ชุดใหม่เสร็จ การฟอร์มรัฐบาลก็เสร็จไปแล้ว ปชป.จะเข้าร่วมรัฐบาลอย่างไรหรือไม่ มันจบไปก่อนแล้ว

    นิพิฏฐ์-รองหัวหน้าพรรค ปชป. ยังได้กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคสามรายชื่อที่จะประกาศตอนเลือกตั้งว่า หลายคนเรียกร้องให้ท่านชวน หลีกภัยมาอยู่ในสามรายชื่อด้วย ส่วนรายชื่อที่สามผมไม่รู้ แต่ชื่อที่สองหลายคนอยากให้ท่านชวนมาอยู่ตรงนั้น และผมคิดว่าต้องเคารพความเห็นของสมาชิก สมาชิกพรรคต้องการอย่างนั้น ซึ่งท่านชวนก็ยังไม่ได้แสดงท่าทีอะไร คือท่านชวนเคยบอกว่าจะไม่เป็นหัวหน้าพรรค ปชป. ก็แน่นอนเราเคารพท่าน เพราะท่านเคยเป็นหัวหน้าพรรค ปชป.แล้ว ท่านก็ไม่เป็นแล้ว

    เที่ยวนี้เราจะขอร้องท่านว่าขอให้ท่านมาเป็นหนึ่งในสามรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคได้ด้วยเถอะ เพราะเป็นเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ

    ผมเชื่อว่าคนในพรรค ปชป.ทุกคนพร้อมจะไปบอกท่านชวนว่าขอให้มามีชื่ออยู่หนึ่งในสามรายชื่อของพรรค แต่ท่านจะไปเป็นนายกฯ ต่อหรือไม่เราไม่รู้ แต่หากท่านมาอยู่ตรงนั้นเราจะหาเสียงง่าย ไม่ใช่แค่ภาคใต้แต่ทุกภาค คนยังรักท่าน ผู้หลักผู้ใหญ่ต่างๆ ก็เคารพท่านเพราะท่านเป็นหลักของประชาธิปไตย คนมันมีความหวัง

    ...ขนาดมหาเธร์ โมฮัมหมัด อายุตั้ง 90 กว่ายังกลับมาเป็นนายกฯ ได้เลย ส่วนอีกหนึ่งชื่อก็แล้วแต่สมาชิก แต่เราอาจไม่เสนอก็ได้ เราอาจเสนอแค่สองชื่อคือคุณอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรค กับคุณชวน หลีกภัยก็ได้.

 

ปชป.ยังมีคลื่นใต้น้ำ-อาฟเตอร์ช็อก

แม้ศึกชิงหัวหน้าพรรคจบแล้ว

    นิพิฏฐ์-รองหัวหน้าพรรค ปชป.สายหนุนอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในการสมัครชิงหัวหน้าพรรคปชป. ยอมรับตรงไปตรงมาว่าแม้การเลือกหัวหน้าพรรค ปชป.จะจบไปแล้ว แต่ปัญหาคลื่นใต้น้ำในพรรค คงมีอยู่สักระยะหนึ่ง มันเป็นช่วงการปรับตัว เป็นอาฟเตอร์ช็อก แต่ใช้เวลามันก็จะหายไปเอง ส่วนสาเหตุที่ทำให้นายอภิสิทธิ์ชนะการหยั่งเสียงจากสมาชิกพรรคทั่วประเทศและได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่พรรคให้กลับมาเป็นหัวหน้าพรรค ปชป.อีกสมัย มองว่าคะแนนหยั่งเสียงดังกล่าวคือคะแนนที่เป็นธรรมชาติ คะแนนนิยมส่วนตัว คะแนน popular คุณอภิสิทธิ์เหนือและดีกว่าหมอวรงค์ ซึ่งเหตุผลที่ทำให้นายอภิสิทธิ์กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้งผมมองว่ามาจากหลายปัจจัย แต่ประเด็นแรกผมมองว่าความแตกต่างระหว่างอภิสิทธิ์กับหมอวรงค์มีความแตกต่างกัน ทำให้สมาชิกเห็นว่าอภิสิทธิ์เหนือกว่า เช่นเคยเป็นหัวหน้าพรรคมายาวนาน เป็นอดีตนายกฯ ความรู้ความสามารถเขาเหนือกว่า

    อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนของพรรค ปชป.ต่อจากนี้ ความเปลี่ยนแปลงที่ทุกคนคาดหวังกับการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดนี้เข้ามาคือ การตัดสินใจของหัวหน้าพรรคที่รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์มากขึ้น และเมื่อตอนนี้หัวหน้าพรรคมาจากการเลือกโดยตรงของสมาชิกพรรคทั่วประเทศ ต่อไปการตัดสินใจบางเรื่องก็ไม่จำเป็นต้องขอฉันทามติความเห็นจากคนในพรรคแล้ว ควรใช้อำนาจหัวหน้าพรรคตัดสินใจได้เลย เพราะที่ผ่านมา ปชป.มีคนมากล่าวหาว่าเราตัดสินใจช้าไม่ทันกับสถานการณ์ เราคิดว่าต่อไปพรรคต้องเปลี่ยน ต่อไปหัวหน้าพรรคต้องมีอำนาจเต็มและใช้อำนาจตรงนี้มากขึ้น บางเรื่องหัวหน้าพรรคสามารถเสนอได้เอง

-เสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปพรรคปฏิรูปการทำงาน เช่นเสียงสะท้อนเรื่องคนรอบข้างหัวหน้าพรรค?

    ก็เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับ ว่าสมาชิกส่วนหนึ่งก็ไม่ค่อยพอใจคนใกล้ชิดท่านหัวหน้าพรรค แต่มากน้อยแค่ไหนผมไม่รู้ แต่ได้ยินเสียงว่าไม่พอใจคนใกล้ชิดหัวหน้าพรรค (หัวเราะ)

    นิพิฏฐ์ กล่าวถึงกรณีคนมองกันว่า วัฒนธรรมการเมืองในพรรคให้ความสำคัญเรื่องลำดับอาวุโส ซีเนียร์ ใครมาทีหลังต้องมาต่อคิว โดยแจงว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิดที่ว่าในพรรค ปชป.มีการต่อคิว ใครมาทีหลังต้องต่อคิว แล้วคิวมันยาว ผมว่าไม่ใช่ มันอยู่ที่ความสามารถของแต่ละคน ในพรรค ปชป.หากใครโชว์ความสามารถออกมาได้คุณก็เติบโตไปได้ คุณก็จะมีเส้นทางลัดของคุณ เส้นทางลัดที่ทุกคนก็รู้และยอมรับด้วย

    ...เรื่องคิวก็เป็นส่วนหนึ่งก็มีอยู่ แต่ไม่ใช่ปัจจัยหลัก ความสามารถก็เป็นส่วนหนึ่ง ก็มีตัวอย่างเช่น กรณ์ จาติกวณิช ที่เข้ามาแล้วก็ได้เป็น รมว.คลัง แล้วยังมีคนนอกอีกที่มาถึงก็ไม่ต้องต่อคิว เขาก็ได้ตำแหน่งต่างๆ ก็มีเยอะแยะ มานอกระบบ ไม่ได้เป็น ส.ส.ก็มี มันไม่จริงหรอกที่พูดกันว่ามา ปชป.แล้วคิวจะยาวไปพรรคอื่นดีกว่า ในพรรค ปชป.ยืนยันว่าเราเราสนับสนุนคนรุ่นใหม่ หลายคนในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ปชป.ก็มานั่งคุยกับผม ผมสนับสนุนคนรุ่นใหม่ คนที่อยู่ข้างนอก หากฉลาดจริงๆ จับทิศทางการเมืองได้ ตอนนี้เป็นโอกาสดีที่สุดที่จะเดินเข้ามายังพรรคประชาธิปัตย์เพราะโอกาสเยอะมากและมีสิทธิ์เติบโตเร็ว

    ...เพราะอย่างเรื่องช่องว่างจะเห็นได้ว่าเวลานี้ในพรรคมีคนสูงอายุทั้งนั้น อย่างพวกผมอย่างดีอีกสักสองสมัยก็ต้องลาโรงแล้ว แต่ไหนละคนที่จะมาแตะมือกับผม ผมยังไม่เห็นเลย การวิเคราะห์การเมืองก็ต้องมองแบบนี้ อย่างสมัยผมเข้ามา ตอนคุณวีระ มุสิกพงศ์ อดีต ส.ส.พัทลุง ประชาธิปัตย์ ออกจากพรรคไป ผมคิดแล้วว่าผมต้องเกิด ใครจะเกิดหรือไม่ ผมไม่รู้แต่วันนั้นผมคิดว่าผมต้องเกิด วันนี้ประชาธิปัตย์ส่วนใหญ่แล้วเป็นคนที่ค่อนข้างมีอายุ พอคนรุ่นใหม่เข้ามาจะ fast track เลย เขาต้องคิดแบบนั้น เราก็พร้อมให้พื้นที่เขา แต่เขาก็ต้องแสดงฝีมือด้วย

    ถามถึงประเด็นที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ในพรรค ปชป.ที่เรียกตัวเองว่า "New Dem" ได้ชูแนวคิด-นโยบาย  เช่น การยกเลิกการเกณฑ์ทหารมาเป็นระบบสมัครใจว่าเห็นด้วยหรือไม่ นิพิฏฐ์-รองหัวหน้าพรรคปชป. ออกตัวว่าต้องดูก่อน เพราะก่อนหน้านี้ผมก็เคยแสดงความเห็นไปแล้วว่าผมไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร แต่ถ้าเขาจะเสนอให้ยกเลิกเกณฑ์ทหารมาเป็นระบบสมัครใจ ผมก็ต้องดูเขาก่อนว่าระบบที่เขาเสนอมาใหม่คืออะไร ผมต้องวิเคราะห์ก่อน แต่วันนี้จุดยืนของผมยังอยู่ที่ยังต้องเป็นการเกณฑ์ทหารอยู่ แต่ต้องดูเงื่อนไขของเขา หากเหตุผลเขาดีกว่าผมก็พร้อมเปลี่ยนแปลง

    รองหัวหน้าพรรค ปชป. ยังพูดถึงนโยบายที่กลุ่ม "New Dem" จะเสนอให้คนเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ด้วยว่า ผมเป็นคน conservative ผมเคยคุยและเคยเถียงกับคนในพรรค ปชป.ว่าถ้าเรื่องนี้ส่วนใหญ่ต้องการเอาแบบนั้นผมก็ไม่ว่าอะไร ผมจะไม่แสดงความเห็นเรื่องนี้ต่อไป แต่ถ้าให้ผมโหวตผมก็ต้องบอกว่าผมยังไม่สบายใจ เพราะผมเกิดมาในอีกยุคหนึ่งที่ผมไม่อยากเห็นผู้ชายมาแต่งงานกัน ผมก็เถียงกับผู้ใหญ่ในพรรคมาแล้ว ผมยังไม่สะดวกใจ แต่หลายคนในพรรคก็เอาด้วยกับเรื่องนี้ หลายคนก็รู้ว่าผมไม่เอาด้วย แต่หากพรรคอธิบายเรื่องนี้ว่าเป็นความก้าวหน้า ผมอาจเกิดในอีกยุคหนึ่ง ก็ไม่เป็นไร แต่ว่าถ้าบอกว่าอยู่กันแล้วมีกฎหมายพิเศษมารองรับ ไม่ใช่แบบกฎหมายแพ่งฯ กฎหมายครอบครัวอย่างปัจจุบัน ก็โอเค แต่หากถึงกับเปลี่ยนกฎหมายว่าผู้ชายคนหนึ่งเป็นสามี ผู้ชายอีกคนเป็นภรรยา แล้วผู้หญิงอยู่ด้วยกัน ผู้หญิงคนหนึ่งเป็นสามี ผู้หญิงอีกคนเป็นภรรยา แบบนี้ผมไม่ทันสมัยไม่ก้าวหน้าถึงขนาดนั้น แต่ถ้าคุณอยู่ด้วยกันแล้วจะออกกฎหมายว่าทรัพย์สินที่คุณมีอยู่ด้วยกันจะจัดการอย่างไร ผมทำให้คุณได้ แต่ถ้าถึงขนาดว่าคุณจะเดินขึ้นไปยังที่ว่าการอำเภอแล้วจะขอจดทะเบียนกัน  คือแบบนั้นผมไปไม่ถึง

    ขณะที่เรื่องนโยบายให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดพร้อมกันทั่วประเทศ ผมก็ไม่ขัดข้องแต่ต้องมาอธิบายผมอยู่ประเด็นหนึ่งที่ว่า ประเทศไทยที่มีส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ถ้าจะให้เลือกผู้ว่าฯ โดยตรงแล้วจะให้ภูมิภาคไปอยู่ตรงนั้น ต้องมาออกแบบให้ผมดู ก็ไม่มีปัญหา หัวหน้าพรรคต้องการไปสู่จุดนั้น ผมก็ต้องการที่จะทำให้นโยบายหัวหน้าพรรคเดินไปข้างหน้าได้ ผมก็ไม่ขัดข้อง แต่ขอให้ช่วยอธิบายผมว่าแล้วเราจะจัดระบบภูมิภาคกันอย่างไร ตรงนี้ผมยังคิดไม่ออก ก็ต้องมาดูว่าหากเลือกตั้งผู้ว่าฯ หมดแล้ว ภูมิภาคจะหายไปแล้วจะทำอย่างไร ต้องแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็ยังคิดไม่ออกว่าจะเป็นไปได้อย่างไร

    นิพิฏฐ์-รองหัวหน้าพรรค ปชป. ย้ำว่านโยบายของพรรค ปชป.ที่จะใช้หาเสียง ต่อจากนี้ทุกอย่าง จะไม่เหมือนเดิม จะตอบโจทย์คนทุกกลุ่มแน่นอน อย่างปัญหาเรื่องราคาปาล์ม ผมศึกษามาพอสมควร คุยกับคนที่ทำเรื่องนี้มาเยอะ แก้ง่ายกว่าเรื่องยางพาราเยอะ เรื่องปาล์มคือใช้ในประเทศ 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ ส่งออก 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนยางใช้ในประเทศ 10 เปอร์เซ็นต์ ส่งออก 90 เปอร์เซ็นต์ เรื่องปัญหาราคาปาล์มแก้ง่าย หากผมเป็นรัฐบาลเรื่องการแก้ปัญหาปาล์ม ไม่ใช่สามเดือนแก้ได้นะครับ แต่สามนาทีแก้ได้เรื่องปาล์ม โดยเอาสต็อกส่วนเกินออกจากวงจรเพื่อให้ปาล์มใหม่เข้ามา 

    ถามทัศนะว่าหากฝ่ายเพื่อไทยจะชูนโยบายต่อต้านการสืบทอดอำนาจ คสช. รองหัวหน้าพรรคปชป. ให้ความเห็นว่า ก็จะถามให้คุณตอบเลยที่ว่าต้านผด็จการ แล้วคุณเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตย คำว่าเผด็จการของคุณหมายความว่าอย่างไร ประชาธิปไตยของคุณหมายความว่ายังไง  การที่คุณไปแก้รัฐธรรมนูญ แล้วเราส่งไปตีความที่ศาลรัฐธรรมนูญ จนศาลวินิจฉัยว่าแก้ไม่ได้ คุณเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตย คุณออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อประโยชน์ของคนบางคน จนคนประท้วงทั่วประเทศว่ากฎหมายแบบนี้ไม่เป็นประโยชน์กับประชาชน กฎหมายแบบนี้เป็นกฎหมายเผด็จการหรือกฎหมายที่อิงประชาธิปไตย พรรคเพื่อไทยมีเงื่อนไขความเป็นประชาธิปไตยเพียงเงื่อนไขเดียว คือมาจากการเลือกตั้งเท่านั้นเอง แต่เงื่อนไขความเป็นประชาธิปไตย มันไม่ใช่เงื่อนไขว่ามาจากเลือกตั้งอย่างเดียว แต่ต้องมีทั้งหลักนิติรัฐ นิติธรรม การเคารพเสียงข้างมากแต่คำนึงถึงเสียงข้างมาก การที่ผู้นำพรรคของคุณบอกว่าจังหวัดไหนเลือกคุณเราจะดูแลจังหวัดนั้น จังหวัดไหนไม่เลือกคุณเราจะไม่ดูแลจังหวัดนั้น อันนี้เป็นคำพูดของนักประชาธิปไตยหรือไม่ ถามผม ผมก็ว่าไม่ใช่ แต่เป็นเผด็จการ

    นิพิฏฐ์-รองหัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวสรุปทิศทางพรรค ปชป.หลังจากนี้ว่า 1.หัวหน้าพรรค นายอภิสิทธิ์สามารถใช้อำนาจได้เด็ดขาดมากขึ้น รวดเร็วมากขึ้น 2.การทำนโยบายของพรรคจะรวดเร็ว กะทัดรัด เข้าใจได้ง่ายขึ้น 3.พรรคจะมีคนรุ่นใหม่เข้ามาเสริมมากขึ้น พวกเราที่เป็นผู้อาวุโสก็ต้องยอมเปลี่ยนบางเรื่อง เพื่อให้พรรคเดินไปข้างหน้าได้ก็ต้องยอมเปลี่ยน อย่างผมอาจไม่ชอบนโยบายเกี่ยวกับด้านความหลากหลายทางเพศ ผมก็ต้องยุติเพื่อให้เขาเดินหน้าเรื่องพวกนี้ หรือเรื่องเลือกตั้งผู้ว่าฯ ที่ผมยังไม่เห็นโครงสร้างทางกฎหมายเพราะยังมีระบบราชการส่วนภูมิภาคอยู่ ก็ให้คนเสนอมาบอกว่าเขาจะจัดการภูมิภาคอย่างไร หากเขาจัดการได้โดยไม่มีความขัดแย้งทางกฎหมาย ผมก็ยินดีให้ความเห็นของหัวหน้าเดินไปข้างหน้าได้ ไม่มีปัญหาเลย เราต้องปรับ หากไม่ปรับเราเดินไม่ได้ แต่ผมก็ต้องดูว่าแนวคิดของคนรุ่นใหม่เขาใหม่จริงหรือไม่.

    พอได้นายกฯ แล้วช่วงฟอร์ม ครม.จะมีการดูดแบบมโหฬาร แรงดูดจะสูงมากเพื่อให้ได้เสียงเกิน  250 ที่นั่งในการตั้งรัฐบาล...คิดว่านายกฯ ก็จะมีศักยภาพที่จะดูด ดูดให้แตก 10 คนเอาไป 1...หาก ปชป.เป็นพรรคอันดับสองแล้วไปให้พรรคอันดับสามเป็นนายกฯ ผมว่ายากมาก ทำอย่างนั้นเราสูญพันธุ์ได้เลย...การที่เราเป็นพรรคอันดับสองแต่พรรคอันดับสามเป็นนายกฯ เราเอาไปหาเสียงต่อได้ไหม ถ้าเราเอาไปหาเสียงไม่ได้เราก็จบเลย

    ไม่มีทางตั้งรัฐบาลครั้งหน้าโดยไม่มีพรรค ปชป.อยู่ด้วย ไม่ว่าใครจะตั้งรัฐบาลก็ต้องมี ปชป.ร่วมรัฐบาลทั้งนั้น...หลายคนเรียกร้องให้ท่านชวน หลีกภัยมาอยู่ในสามรายชื่อด้วย ต้องเคารพความเห็นของสมาชิก สมาชิกพรรคต้องการอย่างนั้น...หากท่านมาอยู่ตรงนั้นเราจะหาเสียงง่าย


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"