โครงการ "ทางเลียบเจ้าพระยา"  บททดสอบปฏิรูปประเทศ-โจทย์ที่รัฐยังตีไม่แตก


เพิ่มเพื่อน    

โครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา หรือทางเดิน-ปั่นเลียบแม่น้ำ 

 

ทันทีที่พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ   รองนายกรัฐมนตรี สั่งเดินหน้าโครงการพัฒนาทางเลียบริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งปัจจุบันอยู่ขั้นหารือเรื่องภูมิสถาปัตย์และการออกแบบก่อสร้างระหว่างกรุงเทพมหานครและกรมศิลปากร เบื้องต้นหน่วยงานเห็นชอบร่วมกันที่จะก่อสร้างช่วงที่ 1 ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงกรมชลประทาน สามเสน ระยะทางประมาณ 2.99 กิโลเมตร และช่วงที่ 3 ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม เริ่มจากสะพานพระราม 7 ถึงคลองบางพลัด ระยะทาง 3.20 กม.จากทั้งหมด 4 ช่วงระยะทาง 14 กม.  จากนั้นจะจัดซื้อจัดจ้างหรือประมูลผู้รับเหมาในเดือนพฤษภาคมปีหน้าเป็นอย่างช้า เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์เร็วที่สุดและเป็นแลนมาร์กของกรุงเทพฯ นับเป็นสัญญาณล่าสุดรัฐบาลยังไม่ถอยโครงการนี้ 

ย้อนไปเมื่อ3ปีที่แล้ว โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาหรือทางเดิน-ปั่นเลียบแม่น้ำ มาจากนโยบายของรัฐบาลเมื่อปี 2558 ที่ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูทรัพยากรและพัฒนาพื้นที่สาธารณะริมฝั่งแม่น้ำสำหรับประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อคุณภาพชีวิต เสริมศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม  โดยรัฐใช้ชื่อว่า “Chao Phraya For All” หรือ “เจ้าพระยาเพื่อทุกคน” ซึ่งกระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้สำนักโยธา กรุงเทพมหานครจัดทำแผนแม่บทริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา  โดยมีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เป็นที่ปรึกษาการสำรวจออกแบบ และจัดทำแผนแม่บทดังกล่าว

หากแต่ตลอด 3 ปี โครงการทางเลียบนี้ที่จะมีการปักเสาเข็มและสร้างทางลงในแม่น้ำเจ้าพระยามีเสียงท้วงติง และคำถามถึงความเหมาะสมอย่างมากมายจากสมัชชาแม่น้ำ ประชาชน และชุมชนริมน้ำ 

ความเคลื่อนไหวล่าสุดหลังบิ๊กป้อม สั่งให้กลุ่มมูลนิธิศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชน สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมสิ่งแวดล้อม สมัชชาแม่น้ำ และ Friends of the River เปิดเวทีเสวนา"แม่น้ำเจ้าพระยาที่รัก มารักก่อนที่จะสายไป My Chaophraya " ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันก่อน โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความเสี่ยงที่จะทำลายคุณค่าของแม่น้ำเจ้าพระยา หากทางเลียบแม่น้ำเกิดขึ้น

อ.ภราเดช พยัฆวิเชียร กก.ผู้ทรงคุณวุฒิอนุรักษณ์กรุงรัตนโกสินทร์ ท้วงติงความไม่เหมาะสมทางเลียบเจ้าพระยา

อาจารย์ภราเดช พยัฆวิเชียร นายกสภามหาวิทยาลัยศิลปากร และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และกรุงเก่า กล่าวว่า โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามีดำริมาจากพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี เราเห็นด้วยกับแนวคิดรัฐบาล แต่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการคิดและกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ผิดพลาด  มีแบบก่อสร้างออกมาก่อนจัดแผนแม่บทเสียอีก รัฐมีคำตอบก่อนที่จะศึกษาโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา อีกทั้งไม่คำนึงถึงระบบนิเวศน์แม่น้ำเจ้าพระยามีระบบน้ำขึ้นน้ำลง  พื้นที่ริมฝั่งมีคุณค่า มีชุมชน อาชีพที่ผูกพันกับแม่น้ำ หากเดินหน้าโครงการจะสูญเสียสิ่งเหล่านี้ไป

" ผมได้ให้ความเห็นกับกรุงเทพมหานคร โดยต้องแยกแผนแม่บทและแผนการศึกษาเพื่อการก่อสร้าง โดยจัดทำเป็นจุดบริเวณ ที่มีความพร้อมและความชัดเจน ไม่ใช่แผนแม่บทยาว 14 กิโลเมตร เป็นก้อนเดียวกันปัจจุบัน กทม. ตัดเป็น 4 ตอน จะทำโครงการนำร่องด้านบน  เพราะไม่ได้อยู่ในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ เพราะก่อนหน้านี้มีมติคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ไม่เห็นชอบกับการศึกษาและกระบวนการทำงานแบบนี้  สะท้อนถึงส่วนราชการไม่สนใจความเห็นของนักวิชาการ ทั้งที่ต้องใส่ใจทำนุบำรุงดูแลสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม เจตนาแบบนี้แสดงว่าหลบเลี่ยงเพื่อให้การก่อสร้างทางเลียบดำเนินไปได้ "  อาจารย์ภราเดช กล่าว 

  ผู้ทรงคุณวุฒิคนเดิมย้ำว่า การดำเนินการของรัฐ ชุมชนต้องได้ประโยชน์จากการพัฒนา แต่ขณะนี้ยังไม่รู้ทางเลียบมีทางเข้า ออกให้ชุมชน บริเวณไหนบ้าง   ตราบใดโครงการไม่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่ตั้งอยู่จะขาดการดูแล มีเสียงคัดค้าน บทเรียนมีมากมายทางจักรยานริมแม่น้ำ ถูกร้านค้ารื้อหมด อยู่ไม่ได้ เพราะไม่เกิดประโยชน์ร่วมกัน ทางเลียบแม่น้ำมา สิ่งที่จะหายไป คือ โอกาสทางเศรษฐกิจ เพราะไม่มีทางเข้า แต่หากมีการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำอย่างแท้จริงจะยกระดับรายได้ ชุมชนอาจรวมตัวกันทำโฮมสเตย์ เปิดร้านอาหาร เมื่อได้ประโยชน์จะดูแล รักและหวงแหน เพราะมีความเป็นเจ้าของ 

" ถ้าโครงการนี้สร้างขึ้นจะแก้ไขไม่ได้ เป็นความเสียหายของประเทศอย่างสูงสุด การพัฒนาที่เป็นทางเลือก ที่ควรเป็น ที่เรายอมรับ คือ มีโครงการนำร่อง แต่หมายความว่า ศึกษาทำบริเวณพื้นที่ใดได้ก่อน ปัจจุบันมีพื้นที่ริมน้ำที่ภาคเอกชนลงทุนพัฒนาแล้ว รวมถึงพื้นที่ชุมชนริมแม่น้ำ สามารถเชื่อมโยงกัน จุดไหนไม่ได้ ให้ใช้ถนนหลังบ้านแทน " อาจารย์ภราเดช กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต กล่าวว่า การพัฒนาประเทศที่ผ่านมา ทำให้แม่น้ำกลายเป็นหลังบ้าน เป็นจุดเริ่มต้นหายนะซึ่งเกิดขึ้นแล้ว และกลายเป็นท่อระบายน้ำทิ้ง  ระบบนิเวศถูกตัดขาด และเขื่อนปูนที่สร้างกั้นยิ่งทำให้วิถีห่างเหินแม่น้ำ อีกทั้งประสบการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ครั้งเดียวนำมาสู่กำแพงกั้นน้ำทั่วประเทศ เกิดความเหลื่อมล้ำ คนรวยยิ่งถมที่ให้สูง คนจนรับกรรม น้ำที่เคยระบายอย่างรวดเร็ว กลับลงแม่น้ำไม่ได้ ติดเขื่อน 

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ย้ำทางเลียบเจ้าพระยาไม่ใช่การพัฒนาแม่น้ำ 

ผศ.ดร.ปริญญา ยังระบุแม่น้ำเจ้าพระยามีปัญหาวิกฤตขยะ พบขยะทุกประเภทคนทิ้งลงน้ำ ไม่ใช่แค่ขวดพลาสติก ต้องกระตุ้นให้คนไทยหันมารักแม่น้ำอีกครั้งหนึ่ง นายกฯ มีนโยบายฟื้นฟูคลองแสนแสบ ทุ่ม 7 พันล้าน ทำให้น้ำใส ถามว่าจะยั่งยืนมั้ย ถ้าคนไทยยังทิ้งขยะเช่นนี้ เงินที่รัฐใช้ไปจะสูญเปล่า  หากจะแก้ไขได้ทุกคูคลองต้องหยุดปล่อยน้ำเสีย ขยะในแม่น้ำ  น้ำที่ไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีเสื่อมโทรมน้อยลง  เช่นเดียวกับทางเลียบที่มีราคาแพงจะซ้ำเติมปัญหาหรือไม่  

" ทางเลียบเจ้าพระยาคิดแต่เรื่องความสวยงาม แต่จะเกิดผลกระทบทางนิเวศวิทยา มีการปักตอม่อลงในแม่น้ำ ทำให้แม่น้ำแคบลง นอกจากนี้ทำลายคุณค่าชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา วัด สถานที่สำคัญ แต่คนกรุงเทพฯ รู้จักแม่น้ำเจ้าพระยาน้อยมาก  หากต้องการให้คนกรุงเทพฯ เข้าถึงแม่น้ำมากกว่านี้ไม่ใช่ทำถนนเลียบเจ้าพระยา โครงการนี้มีปัญหามีผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ต้องจัดทำรายงานอีเอชไอเอ  ตอนนี้ยังไม่ทำ อีกทั้งกระทบสิทธิชุมชน โครงการนี้แม้รัฐบาลอยากให้เกิด แต่ประชาชนไม่เห็นด้วย ก็เกิดไม่ได้อย่างแน่นอน อยากให้รัฐคำนึงถึงธรรมาภิบาล  แม้พ้นรัฐบาล คสช. รัฐบาลใหม่ก็ไม่ควรทำ มีผู้คัดค้านรอบด้านทั้งสถาปนิก ผังเมือง สิ่งแวดล้อม " ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว และฝากให้คนกรุงเทพฯ ทวงถามนโยบายแต่ละพรรคการเมือง ทั้งพรรคเก่าและพรรคใหม่ต่อโครงการทางเลียบเจ้าพระยานี้ด้วยเพื่อประกอบการตัดสินใจลงคะแนนเลือกตั้ง  

ทางเลียบแม่น้ำสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่ มีมุมมองบนเวทีเดียวกันของ ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า โครงพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา  วิสัยทัศน์ดีจะฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชน ส่วนกระบวนการมีส่วนร่วมของโครงการเขียนไว้ในเอกสารราชการว่า ชุมชนได้รับความเป็นธรรมและยอมรับการตัดสิน แม้ความพยายามในการสร้างการมีส่วมร่วมของประชาชนมีอยู่ โดย 12 ชุมชนริมแม่น้ำร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น  แต่คำถามผู้มีส่วนได้ส่วนได้ส่วนเสียแค่ชุมชน 12 แห่ง เพียงพอหรือไม่กับโครงการพัฒนานี้  หรือจะเป็นคนกรุงเทพฯ ทั้งหมด คนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา คนลุ่มน้ำน่าน เพราะน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา  40% มาจากต้นน้ำน่าน จนกระทั่งนักท่องเที่ยวต่างชาติเกี่ยวข้องหรือไม่  อีกประเด็นการจัดประชาพิจารณ์หลายร้อยครั้ง แต่ไม่ได้ให้ประชาชนร่วมออกแบบตัดสินใจ ก็เป็นเพียงพิธีกรรม  นอกจากนี้ อยากให้รัฐรอ  พ.ร.บ.การมีส่วนร่วมของประชาชนในนโยบายสาธารณะ จะได้มีกติกาการมีส่วนร่วมตามวัตถุประสงค์โครงการ ไม่จำกัดแค่ระเบียบสำนักนายก เอากฎหมายฉบับใหม่นี้มาเป็นกติการ่วมกัน 

ดร.บัณฑูร กล่าวต่อว่า มีความกังวลรัฐกำลังจะละเมิดกฎหมายเอง เพราะภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 หมวดที่ 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 58 การดำเนินการของรัฐที่จะกระทบทรัพยากรธรรมชาติ คุณสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต ส่วนได้เสียต่อชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องให้มีการศึกษารายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรือ อีเอชไอเอ  ซึ่งโครงการถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ในข่ายนี้เจ้าของโครงการนี้ได้ตระหนักหรือไม่ว่าทำโครงการละเมิดรัฐธรรมนูญ 

อีกทั้งพบว่า ผู้ทำโครงการได้มีการตอบความเห็นของคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ อย่างคลุมเครือ อย่าง สมาคมสถาปนิกสยามตั้งคำถามโครงการจะลดศักยภาพการไหลและการระบายน้ำ แต่กลับไปตอบว่า การตอกเสาเข็มจะมีการยกตัวของน้ำ ซึ่งมีประเด็นแบบนี้มากมายที่ไม่สามารถทำให้การตัดสินใจเป็นที่ยอมรับได้ เพราะคำอธิบายไม่ตรงกับคำถาม 

" นอกจากนี้ รัฐบาลไทยได้ให้คำมั่นเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน มี 17 เป้าหมาย  เป็นการพัฒนาที่ครอบคลุม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราสามารถนำตัวชี้วัดมาเทียบกับโครงการทางเลียบแม่น้ำ จะทำลายระบบนิเวศ สังคมหรือไม่   จำเป็นต้องทำ เพราะเป็นกติกาสูงสุดของประเทศ " ดร.บัณฑูร ระบุ 

ละเลยทางเลือกเป็นอีกประเด็นที่บัณฑูรหยิบยกมาแลกเปลี่ยน โดยระบุในเอกสารมีการหยิบยกประเด็นทางเลือกพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยา  เสนอทางเลือกไว้ 3 รูปแบบ รูปแบบที่ 1 การเชื่อมโยงเส้นทางพื้นที่ชุมชนและศาสนสถาน รูปแบบที่ 2 พื้นที่สาธารณอื่นๆ บริเวณหลังเขื่อน  ไม่รุกเจ้าพระยา แต่สองรูปแบบแรกไม่ได้ถูกนำมาใช้ กลับเป็นรูปแบบที่ 3 พื้นที่ทางเดินริมแม่น้ำ ตนเห็นว่า  ต้องมีการประเมินการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA เป็นการมองทางเลือกของการแก้ปัญหา  เป็นที่ทราบกันแม่น้ำเจ้าพระยามีปัญหาหลายมิติ ขยะในแม่น้ำ  คุณภาพน้ำ การรุกล้ำ ความเสื่อมโทรมทางกายภาพริมแม่น้ำ   น้ำท่วม เขื่อนริมน้ำ มีทางแก้ในวิธีอื่นๆ  โครงการทางเลียบแม่น้ำไม่ได้ตอบโจทย์เหล่านี้  ฉะนั้น ควรยกระดับความขัดแย้งในการศึกษาไปสู่การประเมิน SEA  

 " โครงการมูลค่ากว่า 1.4 หมื่นล้าน กระทบมากมาย ทางเลือกที่ยังไม่ได้ศึกษา ความสุ่มเสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญ รอให้กฎหมายมีส่วนร่วมประชาชนออกก่อนดีหรือไม่ ไม่ใช่แค่การมีส่วนร่วมในระดับล่าง แต่ประชาชนจะได้มีส่วนร่วมในระดับตัดสินใจอย่างแท้จริง ในแผนจะมีทางจักรยาน 7 กิโลเมตร แต่แลกด้วยต้นทุนทางสังคมชุมชนริมน้ำ ตั้งคำถามว่า ใครจะอยากปั่นเส้นทางนี้ โครงการเร่งรัดไปและคิดทางเลือกไม่ครบถ้วน " ดร.บัณฑูร กล่าว พร้อมทิ้งท้ายโครงการนี้จะเป็นบททดสอบการปฏิรูปประเทศและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ร่วมแลกเปลี่ยนคุณค่าเจ้าพระยา

ขณะที่ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม  กล่าวว่า แม่น้ำเจ้าพระยามีคุณค่าในมิติต่างๆ วัฒนธรรมไทยดั้งเดิมผูกพันกับแม่น้ำ เป็นทางสัญจร และพื้นที่ทางนิเวศน์ แต่เรากลับหลงลืมและปู้ยี้ปู้ยำแม่น้ำ แม่ของตัวเอง รัฐมุ่งเน้นการพัฒนาเมืองทางเศรษฐกิจ ทำลายสิ่งแวดล้อมและวิถีชุมชนริมน้ำ   สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นคุณค่าของแม่น้ำลำคลอง วันที่ 9 ธันวาคมนี้ จะทรงนำปั่นจักรยานจากพระลานพระราชวังดุสิตข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปคลองลัดโพธิ์ จ.สมุทรปราการ อีกทั้งโปรดเกล้าฯให้จิตอาสาพัฒนาขุดลอกคูคลอง ทรงเป็นแบบอย่างให้คนไทยไม่ทำลายแม่น้ำ   

ปัญญาชนสยาม กล่าวต่อว่า การพัฒนาแม่น้ำมีทางเลือกมากมาย เช่น หากฟื้นฟูคมนาคมทางน้ำได้จะแก้ปัญหาจราจร มลพิษอากาศได้ ขณะที่การรักษาแม่น้ำเจ้าพระยาให้สะอาดคุณภาพน้ำไม่เสื่อมโทรม สัตว์น้ำจะกลับมา แม่น้ำเป็นทั้งความดี ความงาม และความจริง ต้องตีโจทย์ให้แตก  ตนยืนยันว่า การทำทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาจะส่งผลกระทบต่อคุณค่าเหล่านี้ 

ด้าน ภารณี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระ เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม กล่าวว่า เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคมพยายามติดตามทวงถามข้อมูลความคืบหน้าโครงการทางเลียบเจ้าพระยา แต่ก็ไม่ได้รับความชัดเจน อย่างไรก็ตาม จากเว็บไซต์ของสำนักโยธา   กรุงเทพมหานคร มีรายละเอียดของการตั้งงบใน 4 ช่วง  ช่วงละ 2-3 พันล้านบาท ระยะทาง 14 กม. และมีคำสั่งการจากรองนายกฯ จะสร้างช่วงที่ 1 และช่วงที่ 3 ก่อน เราจะปล่อยให้ความเสียหายจากโครงการเกิดขึ้นเป็นรอยด่างของเจ้าพระยาแม่น้ำประวัติศาสตร์ของประเทศไม่ได้ ต้องเคลื่อนไหวเพื่อชะลอโครงการ

" เราไม่ได้คัดค้านการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แต่จะพัฒนาอย่างไรให้ยั่งยืน กระบวนการยุติธรรมประชาชนจะพึ่งได้หรือไม่ ต้องติดตามกัน ข้อเสนอและข้อท้วงติงจากเวทีวันนี้ รวมถึงการเสวนาย่อยที่จะเกิดขึ้นอีก 2 ครั้ง เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคมร่วมกับชุมชนริมแม่น้ำที่ได้รับผลกระทบจะนำมารวบรวมใส่ในเอกสารเตรียมยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในประเด็นแผนงานและโครงการไม่ชอบด้วยกฎหมาย  และยังไม่มีรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมออกมา อีกทั้งขาดกระบวนการส่วนร่วม  ขอเชิญชวนคนรักแม่น้ำเจ้าพระยาไปร่วมแสดงพลังหยุดภัยคุกคามแม่น้ำจ้าพระยาที่ศาลปกครอง วันที่ 21 พฤศจิกายนนี้ โดยพร้อมเพรียงกัน   " ภารณี กล่าวในท้ายที่สุด  .

ประชาชนสนใจนิทรรศการภัยคุกคามทางเลียบแม่น้ำ

 

 

5.โครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา หรือทางเดิน-ปั่นเลียบแม่น้ำ 
 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"