อนุมัติ1.8หมื่นล. อุ้ม'ยาง-ปาล์ม' ให้ไร่ละพันแปด


เพิ่มเพื่อน    

    ครม.อนุมัติ 1.8 หมื่นล้านบาทช่วยชาวสวนยางไร่ละ 1,800 ไม่เกินรายละ 15 ไร่ นายกฯ แจงรัฐบาลช่วยทั้งปาล์ม-ยาง-มะพร้าว มีหลายมาตรการ วอนเกษตรกรอย่าก่อม็อบประท้วง ยันช่วยเหลือทุกเรื่องทั้งระบบ แกนนำชาวสวนยางชง "บิ๊กตู่" ใช้ ม.44 สั่ง อปท.ทั่วประเทศทำถนนยางพาราหมู่บ้านละ 1 กม. ดูดทรัพย์นำยางออกจากตลาด 
    เมื่อวันอังคาร นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบในหลักการมาตรการช่วยเหลือกระตุ้นความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นกับเกษตรกรชาวสวนยาง โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้หารือกับผู้ประกอบและชาวสวนยาง โดยมีแนวทางมาตรการในการช่วยเหลือผู้กรีดยาง ในพื้นที่กรีดยางที่เปิดให้กรีดไร่จริง 1,800 บาท ไม่เกินรายละ 15 ไร่ แบ่งเป็นของเจ้าของสวนยาง 11,00 บาท คนกรีด 700 บาท โดยอนุมัติงบประมาณ 18,604.95 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม จะต้องนำเรื่องเข้าหารือในคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติอีกครั้ง ทั้งนี้ ยังมีพื้นที่ที่ไม่ลงทะเบียนและไม่มีเอกสารสิทธิอีกประมาณ 4 ล้านไร่ ในส่วนนี้กระทรวงเกษตรฯ กับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากำลังหารือว่าจะมีช่องทางอย่างไรในการช่วยเหลือ
    ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวว่า เรื่องของเกษตรกรสวนยาง สวนปาล์ม แม้กระทั่งมะพร้าว วันนี้ได้มีการหารือในที่ประชุมครม. มีหลายมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรหลายรูปแบบด้วยกัน ทั้งมาตรการเร่งด่วน เช่น การรับซื้อน้ำมันปาล์ม 18 บาทต่อกิโลกรัม ประมาณ 1.6 แสนตัน เพื่อนำไปผลิตไฟฟ้า โดยซื้อจากลานเท โรงสกัดน้ำมันปาล์มของเกษตรกรโดยตรง ส่วนระยะยาวจะมีการเพิ่มการใช้น้ำมันบี 20 โดยตั้งเป้าปีละประมาณ 5 แสนตัน อยากให้ทุกคนเข้าใจความต่อเนื่อง การที่จะดูแลพืชการเกษตรดูเหมือนง่าย ดังนั้นต้องแยกให้ออก อะไรคือมาตรการในการแก้ปัญหาเร่งด่วน ระยะสั้น แต่ไม่ใช่จะให้ตลอด เพราะต้องใช้งบประมาณอีกส่วนไปสนับสนุนในส่วนที่ขาด 
    นายกฯ กล่าวว่า ยางพาราประเทศไทยมีการผลิตยางถึง 4.6 ล้านตัน ใช้ในประเทศไม่เกิน 7 แสนตัน แต่วันนี้ใช้ถึง 6 แสนตัน ยังเหลืออีก 4 ล้านตันที่ต้องส่งออกไปขายต่างประเทศ รวมแล้วเรามียางมากกว่าประเทศอื่นในโลก ดังนั้นราคายางจึงขึ้นอยู่กับปริมาณ เราต้องสร้างความเข้มแข็ง เช่น ลดการปลูก แก้ปัญหาการปลูกในพื้นที่บุกรุก วันนี้มีมาตรการเสนอเข้ามาแล้วต้องรอฟังในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติก่อน  โดยจะมีโครงการช่วยเหลือไม่เกิน 15 ไร่ และจะเพิ่มเติมมาตรการในเรื่องใช้ยางในประเทศ แต่ไม่ว่าจะเอายางไปทำอะไรก็ตาม หากต้นทุนสูงขึ้น ราคาผลผลิตที่เกิดจากยางก็จะแพงขึ้น สิ่งเหล่านี้รัฐบาลเสียเงินอยู่แล้ว โดยส่วนแรกคือมาตรการเร่งด่วนช่วยเกษตรกร จากนั้นดูแลผู้ประกอบการที่ต้องถือว่าต้องช่วยต้องดูแลทุกภาคส่วน 
    ส่วนเรื่องยาง ปาล์ม มะพร้าว วันนี้กระทรวงพาณิชย์เสนอมาตรการเข้ามา และตนสั่งการให้ด่านตรวจทุกจุดของทุกหน่วยงานบูรณาการร่วมกันแก้ปัญหาการลักลอบนำสินค้าเกษตรเข้ามาในประเทศ จะต้องมีผลสัมฤทธิ์ในการจับกุมและการดำเนินการ เราจำเป็นต้องใช้นโยบายทางด้านความมั่นคงเข้าไปเกี่ยวข้อง โดยใช้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เข้าไปดำเนินการ รวมถึงเรื่องเร่งด่วนอื่นๆ แต่ทั้งนี้ต้องไม่ให้เกิดผลกระทบโดยรวม
    ส่วนเรื่องการประท้วงของเกษตรกรนั้น นายกฯ กล่าวว่า ตนเข้าใจว่าเดือดร้อน ถึงได้เรียกประชุมไปเมื่อวันที่ 19 พ.ย. เพื่อนำแนวทางไปหารือกัน มันต้องใช้เงินมากพอสมควร ขอร้องอย่าประท้วงเลย รัฐบาลดูแลทุกเรื่อง ขออย่างเดียวให้เข้าใจว่าทุกอย่างในกรณีที่รัฐบาลให้เงินไปเพียงแค่บรรเทาความเดือดร้อนเป็นการชั่วคราว สิ่งที่อยากขอคือ การปรับเปลี่ยนตัวเอง และเข้าใจบริบทการค้าการลงทุนในปัจจุบัน ทุกคนทราบดีว่าเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างไร หลายประเทศมีปัญหา หลายประเทศดีขึ้น แต่น้อยมาก เรารักษาสภาพได้ขนาดนี้ถือว่าดีมาก ยืนยันรัฐบาลนี้เตรียมแก้ทั้งยาง ปาล์ม อ้อย เยอะแยะไปหมดหลายเรื่องด้วยกัน เป็นปัญหาที่ต้องแก้ทั้งระบบ
     พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีกลุ่มเกษตรกรชาวสวนปาล์มเตรียมเคลื่อนไหวในพื้นที่ภาคใต้ว่า ตนก็ทำอยู่ และเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ส่วนการแก้ไขปัญหาปาล์ม รัฐบาลจะดูแลให้ เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการเมือง เพราะเขาเดือดร้อนกันจริงๆ ที่ผ่านมารัฐบาลได้แก้ไขปัญหาไปแล้ว อีกไม่นานคงจะเรียบร้อย 
     พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมเคลื่อนไหวของกลุ่มเกษตรกรสวนปาล์มในพื้นที่ภาคใต้ว่า เรื่องความเดือดร้อนของประชาชนเรารับฟังในทุกด้าน เจ้าหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องก็พยายามแก้ไขปัญหานี้อยู่ ยืนยันหน่วยงานต่างๆพร้อมหารือช่วยเหลือ ตนอยากให้ประชาชนได้เสนอสิ่งที่ตัวเองร้องเรียนมาตามช่องทาง ไม่จำเป็นต้องเคลื่อนไหวให้วุ่นวาย 
    นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย  (สยยท.) กล่าวถึงปัญหาราคายางตกต่ำว่า ขณะนี้ปัญหาราคายางต่ำมาก 3 กิโลกรัมไม่ถึง 100 บาท ไม่เคยปรากฏมาก่อนเลย กระทรวงเกษตรฯ แก้ปัญหาด้วยการถามผู้แทนเกษตรกร ขอให้หยุดกรีดยาง 1 เดือนแล้วให้ค่าชดเชย 1,500 บาทต่อไร่ต่อเดือน ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เพราะหากหยุดกรีดยางก็จะไม่มีรายได้ 
    "จากการพูดคุยกับสมาชิก สยยท. มีการเสนอแนวทางแก้ปัญหาโดยให้รัฐบาลช่วยเกษตรกรโดยตรงในกิโลกรัมละ 60 บาท เพราะตอนนี้ต้นทุนอยู่ที่ 63.65 บาท แล้วให้นายกฯ ใช้มาตรา 44 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศทำถนนยางพาราซอยซีเมนต์ หมู่บ้านละ 1 กิโลเมตร ซึ่งจะใช้ยางพารากิโลเมตรละ 3 ตัน(เนื้อยางแห้ง) เป็นราคา 1.8 แสนบาท จะได้ถนนยางพาราซอยซีเมนต์ 84,000 กิโลเมตร จะดูดทรัพย์น้ำยางออกจากตลาด 252,000 ตัน ใช้เงิน 15,120 ล้านบาท จะทำให้เกิดการขายจริงเกษตรกรได้ขายยางของตัวเองโดยไม่ต้องไปผ่านนายหน้า แต่ถ้านายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ จะใช้แนวทางชดเชยที่เสนอมา ซึ่งต้องใช้เงินถึง 20,000 ล้าน จะเป็นวิธีเก่าที่เงินจะไปตกที่นายทุนแล้วเกษตรกรจะไม่ได้อะไรเลย" นายอุทัยกล่าว
    ที่หน้าห้องทำงานผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ศาลากลางจังหวัดตรัง นายศักดิ์สฤษดิ์ ศรีประศาสตร์ ในนามประธานเครือข่ายชาวสวนยางรายย่อยภาคใต้ พร้อมด้วยผู้ชุมนุมเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยกว่า 30 คน ถือป้ายเรียกร้องแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ขึ้นศาลากลางยื่นหนังสือร้องเรียนให้แก่นายลือชัย เจริญทรัพย์ ผู้ว่าฯ ตรัง ไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อหาแนวทางแก้ไขโดยด่วน โดยขอให้ใช้อำนาจตาม ม.44 แก้ไข ปรับปรุงและยกเลิก ระเบียบคำสั่ง กฎกระทรวงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการรับซื้อยางพาราที่เกษตรฝากไว้หรือพ่อค้ารายย่อยหน้าสวนโดยตรง เพื่อนำไปใช้ในการทำถนน พาราแคปซีล พาราคอนกรีต พาราซอย  ผลักดันให้การยางฯ ดำเนินการผลิตยางล้อรถและผลิตภัณฑ์อื่นๆขายให้กับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"