"ภราดรภาพ" ในส่วนผสม รุ่นใหม่-คนมีประสบการณ์


เพิ่มเพื่อน    

         พรรคภราดรภาพ ที่มี ม.ร.ว.ดำรงดิศ ดิศกุล อดีต ส.ส.ไทยรักไทย 2 สมัย เป็นหัวหน้าพรรค คืออีกหนึ่งพรรคการเมือง ที่แม้ชื่อยังไม่คุ้นหูมากนักทางการเมือง แต่แกนนำพรรคก็ประกาศว่าเอาจริงกับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ด้วยการจะส่งคนลงสมัคร ส.ส.ให้ครบ 350 เขต

                ซึ่งพรรคภราดรภาพไม่ใช่พรรคตั้งใหม่ เพราะมีการยื่นตั้งพรรค-จดทะเบียนพรรคมาตั้งแต่ปี 2556 เคยส่งคนลงเลือกตั้งตอนเลือกตั้ง 2 ก.พ.2557 มาแล้ว ซึ่งเวลานี้ก็พบว่าคนในพรรคภราดรภาพก็เริ่มมีการเดินลงพื้นที่หาสมาชิกพรรค แนะนำพรรคต่อประชาชนในหลายพื้นที่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และมีข่าวว่า หลังจากนี้จะมีอดีตคนการเมืองจากบางพรรคมาร่วมงานด้วย อาทิเช่น อดีตคนไทยรักไทยอย่าง น.ท.รวยลาภ เอี่ยมทอง, ร.อ.รชฏ พิสิฐบรรณกร 2 อดีต ส.ส.กทม. ไทยรักไทย และอดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์อีกบางส่วน เป็นต้น

                สำหรับแกนนำพรรคที่เป็นคนหน้าใหม่ทางการเมือง หลังก่อนหน้านี้ทำธุรกิจหลายอย่าง แต่วันนี้กระโดดเข้าสู่การเมืองอย่างเป็นทางการครั้งแรก เพื่อเตรียมเข้าสู่สนามเลือกตั้งเต็มตัว พร้อมกับบทบาทหลักคือ การเป็น "เลขาธิการพรรคภราดรภาพ" พันธ์ยศ อัครอมรพงศ์ เลขาธิการพรรคภราดรภาพ เขาเล่าถึงการเข้ามาทำงานการเมืองครั้งนี้ว่า สนใจการเมืองมาตั้งแต่เด็ก ก่อนหน้านี้เคยมีโอกาสได้เป็นที่ปรึกษาและนักวิชาการประจำ คณะกรรมาธิการเกษตรฯ ยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย ซึ่งตอนนั้นประธานคณะกรรมาธิการคือ นายชาดา ไทยเศรษฐ อดีต ส.ส.อุทัยธานี พรรคชาติไทยพัฒนา ที่ปัจจุบันไปอยู่พรรคภูมิใจไทย ที่เข้าไปตอนนั้น เพราะสนใจการเมือง และเมื่อได้ทำงานในกรรมาธิการฯ ก็เห็นว่า ระบบการทำงานควรต้องมีอะไรใหม่ๆ เพราะการทำงาน กมธ.สมัยดังกล่าวพบว่า ส่วนใหญ่ กมธ.จะเน้นการพิจารณาเรื่องร้องเรียนปัญหาต่างๆ ในวงงานของกรรมาธิการเกษตรฯ เป็นหลัก ก็มองว่าอยากให้มีการประชุมถกเถียงเรื่องการพัฒนา การมองไปข้างหน้าดีกว่า เมื่อมาถึงจังหวะนี้เห็นว่าโอกาสดี รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเปิดช่องให้คนรุ่นใหม่เข้ามาในแวดวงการเมืองได้มากขึ้น

                พันธ์ยศ เล่าถึงก่อนจะมาเป็นเลขาธิการพรรคภราดรภาพว่า ก่อนหน้านี้ได้ลองดูแต่ละพรรคการเมือง ก็มองว่าหลายพรรคยังไม่เป็นกลางเท่าที่ควร อยากได้พรรคที่ดูแล้วเป็นกลาง เป็นพรรคใหม่ๆ จึงจับมือกับคนที่สนใจการเมืองกลุ่มหนึ่งมาทำพรรคภราดรภาพ โดยแนวทางของพรรคมีความใหม่ เน้นเรื่องการให้คนปรองดอง รักกันแบบพี่น้อง อย่างคนในพรรคก็มีหลากหลาย มีทั้งคนรุ่นใหม่ คนมีประสบการณ์ทางการเมืองมาก่อน คนหลากหลาย มีทั้งผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม มาอยู่ด้วยกันก็จับมือกันอย่างดี

                ...พรรคภราดรภาพเวลานี้ มีทั้งอดีต ส.ว. อดีต ส.ส. นักการเมืองท้องถิ่นมาช่วยกันทำพรรคภราดรภาพ ทุกคนมาช่วยและเห็นว่าทิศทางพรรคน่าสนใจ ซึ่งหลังจากนี้ก็จะมีอดีตนักการเมืองจากบางพรรคเตรียมจะเข้ามาทำงานการเมืองร่วมกับพรรคภราดรภาพ

                ...การเกิดขึ้นของพรรคภราดรภาพ เราใช้เวลาดำเนินงานถึงตอนนี้ก็แค่ประมาณ 2 เดือน มาถึงจุดปัจจุบันถือว่ามาได้เร็ว ซึ่งส่วนตัวก็มีพื้นฐานมาร์เก็ตติ้งมาก่อน เวลามามองเรื่องโครงสร้างการเมืองก็นำแนวดีไซน์จากมาร์เก็ตติ้งมาพิจารณา ก็เลยทำให้มีความเข้าใจและทำได้รวดเร็ว

                ...ยืนยันว่าการดำเนินการทางการเมืองของพรรคภราดรภาพ จะทำการเมืองระยะยาว ไม่ใช่ตั้งขึ้นมาเพื่อการเลือกตั้งครั้งนี้เท่านั้น เพราะสมาชิกเราตอนนี้ก็มีหลักพันแล้ว ยื่นเรื่องไปยัง กกต.เรียบร้อย ทางทีมงานของพรรคมียุทธวิธีต่างๆ ในการทำงานการเมือง เช่น ตอนนี้พรรคก็มีการทำโครงการ Walk together หรือเดินไปด้วยกัน เพื่อให้คนรู้จักพรรค โดยจัดมาแล้ว 5-6 ครั้ง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภาพรวม กระแสตอบรับ ถือว่าคนก็เริ่มรู้จักชื่อ รู้จักพรรคภราดรภาพแล้ว

                เลขาธิการพรรคภราดรภาพ ย้ำว่า แนวทางการเมืองของพรรคต้องการเห็นการเมืองเชิงสร้างสรรค์ ไม่ใช่การสาดโคลนโจมตีกัน เรามาทำพรรคก็สัญญากับตัวเองว่าเราจะไม่โจมตีใคร เพราะการสาดโคลนโจมตีกันไม่ได้ทำให้ประเทศดีขึ้นมา มีแต่สร้างผลพวงความขัดแย้งให้มากขึ้น จึงอยากให้การเมืองไทยเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ เพื่อส่งผลต่อประชาชนในเรื่องการดำรงชีวิต เรื่องเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุด อย่าง เรื่องการสร้างความสมานฉันท์สามัคคี พรรคเราทำให้ดูตัวอย่าง ตั้งแต่หัวหน้าพรรค สมาชิกพรรค เราพยายามบอกอยู่เสมอว่าวันนี้บ้านเมืองเรามีความขัดแย้งมาก เราต้องร่วมกันสร้างความรัก ความสามัคคี บางเรื่องเราอาจคิดแตกต่างกันได้ แต่ในความเป็นพี่เป็นน้อง ต้องไม่ขัดแย้งกันรุนแรง

                จากระบบการเลือกตั้งที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว นับทุกคะแนนเสียง เลขาธิการพรรคภราดรภาพ มองว่า ระบบเลือกตั้งดังกล่าวเป็นโอกาสที่ดี เป็นเรื่องของการกระจายอำนาจทางการเมือง ในฐานะคนใหม่เดินเข้ามา มองว่า รธน.ฉบับนี้ทำให้คนรุ่นใหม่ได้มีตัวตน ได้มีโอกาสแสดงความสามารถของตัวเอง ส่วนที่มีข่าวเรื่องการตั้งพรรคเครือข่ายของบางพรรคการเมืองเกิดขึ้นเวลานี้ มองอีกด้านก็มองว่า เป็นโอกาสที่อาจทำให้นักการเมืองรุ่นใหม่ๆ เข้ามา เพราะต้องใช้คนจำนวนมาก ตอนนี้หลายอย่างยังไม่นิ่ง เพราะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกตาม รธน.

                พันธ์ยศ กล่าวถึงหัวหน้าพรรค ม.ร.ว.ดำรงดิศ ดิศกุล อดีต ส.ส.ไทยรักไทย 2 สมัย ที่เป็นหัวหน้าพรรคภราดรภาพในเวลานี้ว่า เป็นผู้ใหญ่ใจดี เป็นกลาง มีประสบการณ์ความรู้ความสามารถ และหลายคนให้ความเคารพนับถือในเรื่องการวางตัว อย่างตอนหัวหน้าพรรคลงพื้นที่ก็ลงมาช่วยทีมงานของพรรคเหมือนคนปกติ เป็นคนไม่ถือตัว เป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพ วันนี้ที่คนโหยหาคนรุ่นใหม่ แต่ผมว่าต้องผสมผสานกันระหว่างแนวคิดของคนรุ่นใหม่กับคนที่มีประสบการณ์นำมาบวกกัน มันน่าจะเหมาะสมกับสังคมไทยในยุคนี้มากที่สุด มากกว่าที่จะฟังแต่คนรุ่นใหม่อย่างเดียว อะไรก็คนรุ่นใหม่ ซึ่งบางทีต้องไม่ลืมว่าวันนี้คนสูงวัยบ้านเราก็มีมากขึ้น คนที่มีประสบการณ์การเมืองสูงๆ จะช่วยได้เยอะ การผสมผสานกันแล้วปรุงรสให้มันดีจะสำคัญ

                ส่วนการเตรียมพร้อมเข้าสู่การเลือกตั้ง เลขาธิการพรรคภราดรภาพ บอกว่า ทางพรรคภราดรภาพตั้งใจไว้ว่าจะส่งคนลงสมัคร ส.ส.เขตให้ครบ 350 เขต เพราะพรรคให้ความสำคัญกับทุกคน ทุกจังหวัดเท่าๆ กัน ตอนนี้ผู้สมัครก็ได้เกือบหมดครบถ้วนแล้ว ซึ่งที่พรรคมีความพร้อมแบบนี้ เพราะคนในพรรคมีการสร้างระบบการบริหารงานที่เป็นแบบพี่แบบน้องกันจริงๆ เมื่อในพรรคมีความเป็นพี่เป็นน้องกัน ทุกคนก็ทำงานกันด้วยหัวใจ จูงมือกันไป โดยไม่ได้คำนึงถึงเงินทุนอะไรมากมายนัก เพราะพรรคเราไม่ได้มีกลุ่มทุนมาสนับสนุน เราระดมทุนกันเองในการทำพรรค ผมเองในฐานะเลขาธิการพรรคก็ตั้งใจจะขับเคลื่อนพรรคไปให้ได้

                “เป้าหมายทางการเมืองของพรรคภราดรภาพ ทางพรรคก็ตั้งเป้าไว้ว่า ต้องการให้พรรคได้ ส.ส.หลังเลือกตั้งประมาณ 10 คน ซึ่งรวมทั้งระบบเขตและปาร์ตี้ลิสต์ เขตไหนที่ตัวผู้สมัครเรามีความเข้มแข็ง ห้าวหาญ ในการทำงานและพร้อมจะสู้ เราก็จะเข้าไปช่วย แต่แน่นอน มันไม่ง่ายอย่างที่คิด พรรคก็ต้องเตรียมตัว แม้จะมีเวลาสั้น แต่ก็พยายามทำ”

                วันนี้แม้ กลุ่มสามมิตร ของสมศักดิ์ เทพสุทิน และสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ จะเปิดตัวเข้าพรรคพลังประชารัฐไปอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวว่า ตอนนี้กลุ่มสามมิตรคงไม่ลงตัวกับแกนนำพรรคพลังประชารัฐในสายรัฐบาล-คสช. ทำให้อาจมีการนำคนในกลุ่มมาอยู่กับพรรคภราดรภาพ จนเคยถูกมองว่าเป็นพรรคเครือข่ายของกลุ่มสามมิตรที่ตั้งรอไว้ เลขาธิการพรรคภราดรภาพ พูดประเด็นนี้ว่า ทางการเมือง ก็คิดกันได้หลายรูปแบบ บางทีก็มีอดีต ส.ส. อดีต ส.ว.ที่อยู่กับเรา สนิทกับกลุ่มสามมิตร ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่นักการเมืองส่วนใหญ่ก็จะรู้จักกันอยู่แล้ว คนในกลุ่มสามมิตรอาจมองเห็นอะไรดีๆ ในพรรคภราดรภาพ ก็เลยให้ความสนใจ ก็เลยทำให้เป็นที่จับตามองเป็นพิเศษ แต่ในความเป็นจริงแล้ว พรรคภราดรภาพไม่ได้ตั้งมาแบบลูบหน้าปะจมูก แต่ตั้งพรรคแบบมีการวางแผนงานการเมือง แม้เราอาจจะเป็นพรรคเล็ก แต่เน้นการทำการเมืองแบบให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับพรรค. 

                 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"