แอ่ว…เจียงฮายเมืองศิลปะ หนาวนี้สีสันแห่ง“ดอยตุง”


เพิ่มเพื่อน    

 จังหวัดเชียงราย นับเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางของนักเดินทางในระดับต้นๆ ของประเทศ โดยในปี 2561 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ชูภาพลักษณ์ให้เชียงรายเป็น 1 ในกลุ่มเมืองรอง หรือ Go Local จาก 55 จังหวัด ที่มีจุดเด่นทางด้านธรรมชาติที่งดงาม ชุมชนมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว มีอาหารถิ่นสไตล์ล้านนา โดยมีไฮไลต์สำคัญเป็นเมืองแห่งศิลปะ แหล่งกำเนิดงานศิลป์หลายแขนง

นางสาวกรุณา เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานเชียงราย กล่าวว่า เมืองเชียงรายถือเป็นจุดหมายปลายทางทางการท่องเที่ยวในด้านต่างๆ และหนึ่งไฮไลต์สำคัญที่อยากนำเสนอภายใต้โครงการ “เชียงราย แต้ แต้” คือความเป็นเมืองแห่งศิลปะที่มีสุนทรียภาพจากงานศิลป์ชั้นครู รวมทั้งศิลปินแห่งชาติ ตลอดจนบ้านศิลปินผู้สร้างสรรค์งานศิลป์จำนวนมาก เมื่อผสมผสานเชื่อมโยงเข้ากับแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน ทั้งธรรมชาติ อาหาร วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวบ้าน ทำให้นักท่องเที่ยวที่มาเยือนตลอดทั้งปีเกิดความประทับใจได้

ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังจังหวัดเชียงราย สามารถสัมผัสกับจุดที่ถือเป็นแหล่งสร้างสรรค์งานศิลปะ ได้ทั้งเมือง เริ่มต้นจาก “หอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติ” ถือเป็นแลนด์มาร์คกลางเมือง เป็นงานศิลปะที่แฝงด้วยกลิ่นอายพระพุทธศาสนา นับเป็นสมบัติอันล้ำค่าของจังหวัดเชียงราย สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ออกแบบโดยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) มีการเปิดแสงไฟสลับสี พร้อมกับมีเสียงดนตรีอันไพเราะบรรเลงให้ได้ชมและได้ฟังกันทุกวัน

ส่วนสถานที่ที่ไม่ควรพลาดคือ “วัดร่องขุ่น” ออกแบบและก่อสร้างโดยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เช่นกัน ที่พระอุโบสถตกแต่งด้วยสีขาวเป็นพื้น ประดับด้วยกระจกแวววาว วิจิตรงดงามแปลกตา บนปูนปั้นเป็นลายไทย หน้าบันประดับด้วยพญานาค ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ และห้องแสดงภาพวาดน่าสนใจมาก

                ถัดมา “วัดร่องเสือเต้น” พระอุโบสถใหม่ที่สร้างขึ้น ด้วยศิลปะแบบไทยประยุกต์ ที่มีศิลปะความสวยงดงามแปลกตา จากฝีมือการรังสรรค์ของนายพุทธา กาบแก้ว  หรือ สล่านก ศิลปินท้องถิ่นชาวเชียงราย ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์เฉลิมชัย และเคยเข้าไปทำงานที่วัดร่องขุ่น  เป็นศิลปะประยุกต์ที่เป็นเอกลักษณ์ ใช้เฉดสีเป็นสีน้ำเงินฟ้าตัดกับสีทองสถาปัตยกรรมความงดงามจากช่างปูนปั้น

“วัดห้วยปลากั้ง” เป็นอีกวัดหนึ่งที่นักท่องเที่ยวชอบเดินทางมาชม ภายในวัดมีพระมหาเจดีย์เก้าชั้น มีเจ้าแม่กวนอิมจำลองแกะสลักด้วยไม้หอมตรงบริเวณชั้นหนึ่งของเจดีย์ และแต่ละชั้นจะมีพระพุทธรูปประจำชั้นประดิษฐานอยู่ด้วย มีเจ้าแม่กวนอิมองค์ใหญ่สีขาวเป็นองค์นั่งปางประทานพร ความสูง 79 เมตร สูงขนาดตึก 25-26 ชั้น มีลิฟต์ให้ขึ้นไปข้างบนได้ถึงชั้น 23 มีประติมากรรมนูนต่ำ รอบฝาผนังบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจ และมองเห็นวิวเชียงรายจากมุมสูงได้

“วัดพระธาตุผาเงา” มีเจดีย์ทรงระฆังขนาดเล็ก ตั้งอยู่บนก้อนหินใหญ่ ด้านล่างเจดีย์มีก้อนหินพาดอยู่ลักษณะคล้ายเงา ตัววิหารปัจจุบันสร้างทับซากวิหารเดิม ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหลวงพ่อผาเงา ซึ่งถูกค้นพบในปี พ.ศ.2519 มีอายุระหว่าง 700-1,300 ปี บนยอดเขาด้านหลังวัดเป็นที่ตั้งพระบรมธาตุพุทธนิมิตเจดีย์ ซึ่งเป็นจุดที่มองเห็นทิวทัศน์สวยงามได้โดยรอบ และยังมีจุดท่องเที่ยวภายในบริเวณวัด ได้แก่ พระอุโบสถไม้สักทอง พระวิหารหลวงพ่อผาเงา หอพระไตรปิฎกเฉลิมพระเกียรติ และศูนย์จำหน่ายสินค้าโอท็อป

ถัดมาคือ “พิพิธภัณฑ์บ้านดำ” สร้างโดยอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ ที่มีฝีมือทางด้านจิตรกรรม ประติมากรรม ได้สร้างงานด้านศิลปะไว้มากมาย ทั้งทางด้านภาพเขียนและด้านประติมากรรมหลายชิ้น ลักษณะของบ้านดำ จะเป็นกลุ่มบ้าน เป็นงานสถาปัตยกรรมแบบล้านนา ทุกหลังทำด้วยสีดำ จึงเป็นที่มาของคำว่า “บ้านดำ” เปิดให้เข้าชมทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์) ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. ปิดช่วงเวลา 12.00-13.00 น. โดยเก็บค่าเข้าชมท่านละ 80 บาท

“บ้านดอยดินแดง” สร้างขึ้นโดยศิลปินเชียงราย อาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ ซึ่งไปร่ำเรียนวิชางานปั้นมาจากมาสเตอร์นากาซาโตะ ทารุเอมอน ศิลปินเซรามิกคนดังแห่งเกาะคิวชู งานเครื่องปั้นดินเผาหลากรูปแบบของอาจารย์ มีวัตถุดิบคือ ดินแดง ที่หาได้ภายในท้องถิ่น ให้สีสวยและเนื้อดี บ้านดอยดินแดงอยู่ภายในอาณาบริเวณร่มรื่น มีพื้นที่ 9 ไร่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของเรือนไม้ที่ดูเรียบง่ายแต่งดงาม มีหลายหลัง รวมถึงโรงงานผลิตเครื่องปั้นดินเผา และมีร้านจำหน่ายของที่ระลึกและร้านกาแฟให้บริการ

“พิพิธภัณฑ์อูบคำ” อาจารย์จุลศักดิ์ สุริยะไชย จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์อนุรักษ์มรดกล้ำค่าของอาณาจักรล้านนาโบราณ เช่น เครื่องใช้ในราชสำนักล้านนา เครื่องใช้ในราชสำนักคุ้มเจ้าต่างๆ ในล้านนา เช่น คุ้มเจ้าแพร่ คุ้มเจ้าเชียงใหม่ คุ้มเจ้าน่าน ฯลฯ ผ้าโบราณอายุ 200 ปี เกิดจากความตั้งใจที่จะรวบรวมของมีค่าสมัยล้านนาที่กระจายอยู่ในที่ต่างๆ ให้คืนกลับสู่แผ่นดินไทย และเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไปในอนาคต ค่าเข้าชม คนไทย ผู้ใหญ่ 200 บาท, เด็ก 100 บาท / ต่างชาติ ผู้ใหญ่ 300 บาท เด็ก 200 บาท เปิดบริการให้เข้าชมทุกวัน 08.00- 17.30 น.

“หอศิลป์ไตยวน” สร้างขึ้นโดยศิลปินเชียงราย อาจารย์ฉลอง พินิจสุวรรณ ผลงานของอาจารย์ทั้งหมดเป็นภาพที่วาดขึ้นด้วยปากกาลูกลื่นเพียงอย่างเดียว ได้รับแรงบันดาลใจจากอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ  เอกลักษณ์ของงานอยู่ตรงที่ใช้ปากกาลูกลื่นฝนจุดให้เป็นวงกลมเล็กๆ ในการสร้างรูปแทนการใช้ปากกาลากเส้นไปมา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

“หอศิลป์ สุวิทย์ ใจป้อม” เป็นศิลปินวาดภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 มาอย่างยาวนาน มีผลงานรูปวาดของในหลวงรัชกาลที่ 9 อยู่มากมาย โดยมีแรงบันดาลใจมาตั้งแต่เด็กๆ ที่ยังไม่รู้จักว่าพระองค์ท่านเป็นใคร แต่ได้รับคำบอกเล่าจากคุณครูว่า ประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติ คอยดูแลประชาชนในประเทศให้อยู่ดีมีสุข ซึ่งก็คือบุคคลที่มีรูปอยู่ในธนบัตร ตั้งแต่นั้นมาก็เป็นแรงบันดาลใจ เริ่มวาดพระองค์ท่านมาตลอด

"หอศิลป์ นายพรมมา อินยาศรี"  ศิลปินจิตรกรรมไทย ที่เขียนสีอะครีลิกบนผ้าใบ ผลงานมีความประณีต วิจิตร ด้วยลายเส้นที่แต้มสี แสงเงาออกมาเป็นลวดลายที่บ่งบอกถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรมไทย ตั้งแต่รอยพระพุทธบาท ช้าง พญานาค ไปจนถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่พำนักของพระอินทร์ และด้วยความรักในงานศิลปะ จึงได้สร้างหอศิลป์เปิดบ้านนายพรมมา เป็นแกลอรีให้เข้าเยี่ยมชมผลงานศิลปะ

"หอศิลป์ อภิรักษ์ ปันมูลศิลป์" โดยอาจารย์อภิรักษ์ ปันมูลศิลป์ ลักษณะของผลงานและแนวความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานภาพธรรมชาติเป็นแบบของทุกสรรพสิ่ง การสร้างสรรค์ บันทึกธรรมชาติในช่วงเวลา ความรู้สึกต่างๆ ตามความแปรเปลี่ยนของฤดูกาล จึงเป็นการถ่ายทอดความงดงามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก ภาพวาดสีน้ำที่มีความฟุ้งกระจาย บวกกับจินตนาการที่รังสรรค์ออกมาอย่างสวยงาม อันเกิดจากผลงานที่วาดออกมาจากการสะสมฝีมือความชำนาญทางศิลปะมาอย่างยาวนาน และความหลงใหลในงานศิลปะนั่นเอง

“แกะสลักไม้ คำจันทร์ ยาโน” งานไม้แกะสลักไม้ เป็นส่วนหนึ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นเชียงราย เพราะภาคเหนืออุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้ สิ่งก่อสร้างประติมากรรมในเชียงรายส่วนใหญ่ทำมาจากไม้ อาจารย์คำจันทร์ ยาโน เป็นผู้หนึ่งที่สืบสานความรู้ภูมิปัญญาเรื่องแกะสลักไม้มาจากบรรพบุรุษ และได้แรงบันดาลใจสร้างสรรค์ศิลปกรรมแกะสลักไม้จากอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี จึงมีผลงานแกะสลักไม้ที่วิจิตรงดงาม กลายเป็นผลงาน ลักษณะของผลงานของศิลปินเล่าเรื่องวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่ดีงามของภาคเหนือที่ควรอนุรักษ์ และควรค่าแก่การรักษาไว้ให้ลูกหลานศึกษาเรียนรู้ต่อไป

ปิดท้ายงานศิลป์ "ขัวศิลปะ" ก่อตั้งโดยกลุ่มศิลปินเชียงราย จากความร่วมมือร่วมใจในการสร้างหอศิลป์สำหรับจัดแสดงผลงาน และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง โดยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ มอบเงินทุน เมื่อต้นปี พ.ศ.2555 ตามมาด้วยทุนจากศิลปินเชียงรายอีกหลายท่าน บริเวณขัวศิลปะมีร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านขายของที่ระลึก ห้องแสดงผลงานศิลปะแบบหมุนเวียนของศิลปินเชียงรายทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่ๆ รวมถึงศิลปินนานาชาติ มาร่วมจัดแสดงผลงานศิลปะแบบหมุนเวียนตลอดปี

นอกจากนี้ พิเศษสุดๆ ในช่วงฤดูหนาว ยังมีเทศกาล  “สีสันแห่งดอยตุง” ครั้งที่ 5 จัดขึ้นบริเวณโครงการพัฒนาดอยตุง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2561 ถึง 27 มกราคม 2562 เวลา 08.00-18.00 น. ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์  ท่านจะได้พบกับกิจกรรมครบรสในดอยเดียว! อาทิ สัมผัสวัฒนธรรมชนเผ่า 6 เผ่าในรูปแบบใหม่ พร้อมเป็นแรงบันดาลใจให้คนในพื้นที่ได้สืบสานคุณค่าและเอกลักษณ์ วิถีชีวิตและสร้างรายได้ในชุมชน  ที่จะพาคุณ ลิ้มรสอาหารชนเผ่าบนถนนคนเดินที่สูงที่สุดในประเทศไทย 

พร้อมลุยเวิร์กช็อปหลากหลาย ได้แก่ ลงมือทำจริงตามคติดอยตุง, ลองแฟชั่นชุดพื้นเมืองเท่ๆ ไม่ได้มีแค่ชุดไทย, เล่นเรียนรู้ธรรมชาติวัฒนธรรมกิจกรรมสนุกๆ สำหรับวัยซนและรุ่นใหญ่ใจยังซน รื่นเริงสำราญไปกับการแสดงและดนตรีอินดอย

นี่คือสถานที่ท่องเที่ยวผ่านงานศิลป์ต่างๆ และกิจกรรมดีๆ สะท้อนอัตลักษณ์เฉพาะตัว ที่จะปลุกเร้าให้ทุกท่านเดินทางมาพักผ่อนและเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ที่เมืองเชียงราย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานเชียงราย โทร. 0-5371-7433, 0-5374-4674-5  https://www.facebook.com/tatchiangrai/  Line Official ID: @chiangrai2018

                                สรณะ รายงาน

 

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"